ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73


    ตอนที่ ๗๓

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะมีความเข้าใจสภาพธรรมโดยความเป็นอนัตตาตั้งแต่ต้น และโดยการละตั้งแต่ต้นด้วย เพราะเหตุว่าเรื่องของการละเป็นเรื่องที่ยากที่สุด โลภะเกิดเดี๋ยวนี้ละได้ไหม ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งนั้น ละสักหน่อยก็ยังไม่ได้ ความที่เขาสะสมมาก เพราะฉะนั้นเห็นกำลังของโลภะว่ามีทุกอย่างเป็นอารมณ์ได้ เว้นโลกุตตรธรรม เพราะฉะนั้นโลภะเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ถ้าไม่รู้ เราก็ทำตามโลภะไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็คือศึกษาไป โดยการที่รู้ว่า ทุกคนมีอกุศลเป็นของธรรมดา ถ้าเดือดร้อนกับอกุศลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็คือเรา ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นอนัตตา ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ถ้าขณะใดมีการระลึกได้ว่าเป็นธรรม จะเพียงขั้นคิด ขณะนั้นก็เป็นกุศลระดับหนึ่งซึ่งทำให้จิตสงบได้ แต่ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นก็มีกุศลหลายขั้นหลายระดับ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะไปกะเกณฑ์ได้ว่าขณะนี้เป็นกุศล ขณะนั้นให้เป็นอกุศล หรือขณะที่เป็นอกุศลขอให้เป็นอกุศลน้อยๆ แล้วขอให้กุศลเกิดแทน คือธรรมเป็นเรื่องธรรมดาของปัญญาที่ค่อยๆ มั่นคงในความเป็นอนัตตาขึ้น ก็จะทำให้เราไม่เดือดร้อนเวลาที่อกุศลจิตเกิด หรือว่าบางคนพอเรียนเรื่องอกุศลก็กลัวอกุศลเหลือเกิน กลัวก็คือเรากลัว ยังมีเราอยู่ แต่อกุศลยั่งยืนหรือว่าเที่ยงหรือเปล่า และเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ แล้วก็ใครไม่มี ถ้ารู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้เราก็ไม่เดือดร้อน เดี๋ยวก็จะมีคนบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็เลยเป็นอกุศลไปเรื่อยๆ ไม่ว่าเป็นอกุศลมากเพิ่มขึ้น นั่นก็คือไม่เข้าใจการสะสมของปัญญาซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ต้องไม่ลืมว่าอวิชชานำมาซึ่งอกุศลทั้งปวง และวิชชาก็นำมาซึ่งกุศลทั้งปวงด้วย

    ผู้ฟัง ขยายอีกครั้งหนึ่งที่ว่า ไม่หย่อนแล้วก็ไม่ตึง

    ท่านอาจารย์ กิเลสมีก็มีไป หย่อนไหม ช่วยไม่ได้ กิเลสจะเกิดก็เกิดไป ธรรมก็ไม่ต้องฟัง อะไรก็ไม่ต้องอบรม

    ผู้ฟัง หย่อน

    ท่านอาจารย์ ถ้าตึงก็อยากจะให้วันนี้มีกุศลมากๆ หรือว่าให้มีปัญญามากๆ ให้สติปัฎฐานเกิดมากๆ ตึงไหม ตึง แล้วเมื่อไหร่จะไม่ตึงไม่หย่อน มีไหม เมื่อไหร่จะไม่ตึงไม่หย่อน

    ผู้ฟัง เมื่อเข้าใจขณะนั้นแค่นั้น

    ท่านอาจารย์ เมื่อสัมมาสติเกิดเมื่อไหร่ มัชฌิมาปฏิปทา

    ผู้ฟัง พูดถึงมัชฌิมาปฏิปทา ตรงนี้คือถึงมรรคแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ สติปัฎฐานเกิดก่อน

    ผู้ฟัง แค่สติปัฏฐานก็ไม่หย่อนไม่ตึงแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นจะทำยังไงได้ ก็เป็นอย่างนี้ไปเดี๋ยวรัก เดี๋ยวชัง เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลงไปเรื่อยๆ ถ้ารู้สึกว่าอาหารอร่อย อยากจะให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาทำไง ทานน้อยๆ หรือว่ายังไง เรียกว่า พยายามหลีกเลี่ยงของที่ชอบ

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรา ยังมีเราที่จะเลือก ถ้ายังมีเราที่จะเลือก ขณะนั้นก็ไม่มีการเข้าใจสภาพธรรมพอ ที่สัมมาสติจะเกิด และก็ไม่สามารถจะรู้ด้วยว่าสัมมาสติเป็นอนัตตา เพราะว่ากำลังเป็นเราที่จะจัดการ แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็คือว่าแม้แต่จิต ๑ ขณะที่จะเกิดเดี๋ยวนี้ ก็มีปัจจัยจึงเกิด

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ขณะที่เรามีชีวิตอยู่ แทบจะทั้งวันเลย เป็นไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง แล้วก็โมหะบ้าง ถ้าหากว่าเรามีการเจริญกุศลบ่อยๆ เนืองๆ ในเรื่องทาน เรื่องศีล ก็เพราะคงจะยังไม่เป็นเหตุปัจจัยเพียงพอใช่ไหม ในการที่ว่าจะทำให้เราเป็นไปเพื่อออกจากสังสาระ เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยที่สำคัญในการที่ออกจากสังสาระก็คงเป็นการศึกษาพระธรรม ในเรื่องของพระอภิธรรมให้เข้าใจ ทีนี้ในการศึกษาพระอภิธรรมให้เข้าใจ จะต้องเริ่มจากการศึกษาเรื่องราวอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็พูดถึงชีวิตประจำวัน ซึ่งก่อนการตรัสรู้ ก็ได้มีการเจริญกุศลประการต่างๆ เช่นทาน ก่อนการประสูติ การตรัสรู้ การทรงแสดงธรรมก็มีเป็นของประจำโลก ศีลก็มี สมถภาวนาความสงบของจิตก็มี แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีหนทางที่ทานหรือศีล หรือสมถภาวนาจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ จนกว่าผู้ที่ได้สะสมบารมี พร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลใด ก็จะมีการตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ทรงแสดงหนทางเพื่ออุปการะสัตว์โลกให้สามารถอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นด้วย เพราะฉะนั้นกาลที่มีการประสูติ การตรัสรู้ การทรงแสดงธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่มีบุญที่ได้สะสมมาแล้ว ก็มีโอกาสที่แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมที่สืบทอดกันมา จากการทรงแสดงธรรมของพระองค์ ก็ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่จะได้ฟัง ได้ศึกษา ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎก ทรงแสดงธรรมทุกประการ เรื่องของทานก็เลยละเอียดมากเพราะว่าเป็นเรื่องของจิต ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจความละเอียดของธรรม ก็จะมีแต่เพียงการให้ทานเท่านั้น แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจความละเอียดของธรรม ก็จะรู้สภาพของจิตในขณะที่กำลังให้ทานด้วย นี่เป็นประโยชน์ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเราให้ทานเหมือนเดิมแต่ก่อน แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพของจิตในขณะที่ให้ทาน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นกุศลระดับใดทั้งสิ้น ก็ไม่ใช่ว่าเมื่อเข้าใจพระธรรมแล้ว ก็จะไม่มีกุศลแบบนั้นอีกต่อไป คือจะไม่มีทาน ไม่มีศีล ไม่มีสมถะ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ปัญญาสามารถที่จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน เพราะเมื่อศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมจึงเรียกว่าอภิธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดมาก เมื่อตรัสรู้แล้วทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมนั้น ซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความจริงนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ความจริงนั้นจึงเป็นอภิธรรมด้วยความละเอียดยิ่ง ด้วยความประเสริฐยิ่ง ที่สามารถจะทำให้ผู้ที่ศึกษา มีโอกาสที่จะเข้าใจสภาพธรรมแท้จริง ว่าเป็นธรรมไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นของใคร ทุกขณะในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ ถ้าสิ่งใดขณะนี้ไม่ปรากฏหมายความว่าสิ่งนั้นยังไม่เกิดจึงไม่ได้ปรากฏ หรือมิฉะนั้นก็สิ่งนั้นก็เกิดแล้วดับไปแล้ว โดยที่ว่าไม่ได้กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นปรากฏ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็จะทำให้เข้าใจความหมายของธรรมหรือตัวธรรม ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดธรรมเลย เพียงแต่ว่าปัญญาของผู้ที่เริ่มศึกษาสามารถจะเข้าใจธรรมได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงมีทั้งขั้นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าไม่อาศัยคำก็ไม่มีการที่จะเข้าใจลักษณะสภาพของธรรมซึ่งหลากหลาย เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรมคือจิต และเจตสิกประเภทต่างๆ เป็นรูปต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยคำหรือบัญญัติ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ได้ฟังในโอกาสเข้าใจความหมายของคำๆ นั้นว่า หมายความถึงสภาพธรรมใด แต่เพียงคำที่เข้าใจ ไม่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จนกว่าผู้ที่ศึกษาเข้าใจจริงๆ ว่า พระธรรมทั้งหมด ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงทุกขณะในชีวิตประจำวัน เมื่อนั้น ความเข้าใจธรรมก็จะละเอียดขึ้น แล้วก็รู้ว่าการฟัง เป็นแต่เพียงแนวทางที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ อบรมจนกว่าสามารถจะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมตามที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ซึ่งก็ต้องอาศัยการเวลาที่ยาวนานมาก ได้คุยกับท่านผู้หนึ่งระหว่างที่รับประทานอาหารเช้า ในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ได้ยินเรื่องรูปารมณ์ สภาพธรรมที่ปรากฏตาตลอดมาหรือว่าตลอดไปอีก แต่ความที่จะค่อยเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่มีทางอื่น ไม่ใช่ว่าเรามีตัวตนที่พยายามจะไปจ้อง หรือว่าพยายามที่จะทำอย่างอื่นที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา แต่เป็นความเข้าใจว่า เป็นเราที่สามารถที่จะทำ ที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นการฟังที่ละเอียดขึ้น ที่จะรู้ว่าปัญญารู้อะไร และก็ปัญญาจะอบรมได้อย่างไร คือรู้ว่าปัญญาต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏได้ ถ้าไม่สามารถจะรู้ได้ ก็หมายความว่าไม่ใช่ปัญญาระดับที่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เป็นแต่เพียงปัญญาซึ่งเกิดจากการฟัง การคิด การไตร่ตรอง ซึ่งไม่มีใครบังคับ บอกว่าอย่าคิด อย่าไตร่ตรองไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่มีเรา ไม่มีตัวตนซักขณะเดียวซึ่งจะไปสั่ง หรือไปทำให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น แต่สภาพธรรมทุกขณะที่ปรากฏเกิดแล้ว ต้องทราบว่าที่ปรากฏนี้ เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นก็น่าจะเบาใจ คือไม่ต้องไปทำอะไรเลย แต่ว่าสะสมโดยการฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี ให้มั่นคงจนกระทั่งสามารถที่จะเห็นความต่างของปัญญาซึ่งเกิดร่วมกับสติในขณะที่ฟังว่า ต่างกับปัญญาที่เกิดร่วมกับสติสัมปชัญญะในขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ฟังมานานแล้ว แม้ในขณะนี้ ก็มีกำลังปรากฏ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยว่ามีปัจจัยพร้อมพอที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมหรือยัง และเมื่อสติปัฏฐานเกิด และผู้นั้นก็เป็นผู้ตรง ที่จะรู้ว่าไม่มีหนทางอื่น เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีลักษณะจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ถ้าเพียงคิด หรือว่าทำอย่างอื่น คิดว่าจะเป็นเครื่องประกอบ เป็นเครื่องอุดหนุน เป็นอุปการะกับการที่จะให้สติปัฎฐานเกิด ก็จะเป็นผู้ทำอย่างนี้ไปเรื่อย โดยตลอด โดยไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วสามารถที่มีปัจจัยจากการฟังเข้าใจที่จะไม่กั้นสติปัฎฐาน แล้วแต่ว่าสติปัฏฐานเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็เป็นขณะที่กำลังศึกษาพยายามค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏแล้วในขณะนี้ตามปกติ เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็จะเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมด้วยความเข้าใจว่า ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมในขณะนี้ จนกว่าสติปัฎฐานจะเกิดระลึก เมื่อเกิดแล้ว ก็ยังต้องค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นอริยสัจจธรรมตามลำดับ คือตั้งแต่ทุกขสัจจ์ สมุทยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ และมัคคสัจจ์ ก็เป็นเรื่องของการที่ผู้นั้นเป็นผู้ตรงว่าไม่ได้มีตัวตนที่ต้องการอะไรอื่น ต้องการที่จะไปทำทานหรือว่าจะรักษาศีลเพื่อสิ่งนี้ แต่ว่ารู้ว่าเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละ เมื่อปัญญาเกิดขึ้น คือวิชชาเกิดขึ้น ย่อมนำมาซึ่งกุศลทั้งปวง ไม่ต้องห่วงว่า ผู้ที่มีปัญญาแล้วจะไม่ทำกุศลหรือเจริญกุศล แต่ว่าผู้ที่มีปัญญาสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สะสมกุศลประเภทใด และก็ไม่ว่าขณะใดที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ขณะใดที่กุศลเกิดขึ้นหรือว่าจะเจริญกุศลประเภทใด ขณะนั้นก็ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นจุดสำคัญ คือเข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ เพื่อเป็นการละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าไม่ทราบว่าทุกคน ชาติต่อไปจะอยู่ที่ไหน แต่ชาตินี้อยู่ที่นี่ ได้มีโอกาสกราบนมัสการบูชาระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย ก็เป็นการที่เราพยายามจะทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้บุคคลทั้งหลายได้มีโอกาสที่จะมีความเห็นถูกมีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่าที่จะกระทำได้

    ผู้ฟัง พระองค์ทรงแสดงไว้ว่าขันธ์ ๕ เป็นภาระอย่างยิ่ง ที่นี้ขันธ์ ๕ ถ้าเราจะมองในแง่ของรูปธรรม เข้าใจว่าในแง่ของความเป็นภาระก็คือ ต้องดูแลปรนนิบัติให้ดำเนินไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต แต่ในเรื่องของนามธรรม ภาระในเรื่องของนามธรรมเป็นยังไง และความหมายของคำว่าภาระในที่นี้ กินความมากน้อยแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ภาระเป็นของหนัก น่าจะปลดปล่อย แต่ว่าไม่มีใครปลดปล่อย ติดในภาระ คนที่มีภาระนี้เขาก็มีความกระตือรือร้นที่จะทำภาระนั้นๆ แต่ว่าจริงๆ แล้วถ้าเข้าใจความหมายของภาระ เป็นเรื่องหนัก รูปเกิดมาแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะติดเลย เพราะเหตุว่า แท้ที่จริงแล้วต้องบำรุงรักษาบริหารตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ทุกวันตื่นขึ้นมาแล้ว ก็มีเรื่องร่างกายที่จะต้องบริหารเป็นภาระ ถ้าเราไม่ต้องบริหารร่างกายนี้ก็คงจะดี แต่เป็นไปไม่ได้เลย ทั้งความสะอาด ทั้งเรื่องอาหาร ทั้งในความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัยต่างๆ ด้วย สำหรับนามธรรมก็เป็นภาระอย่างยิ่งคือ ขณะนี้จะมีใครเข้าใจความจริงว่ากำลังเห็น เพราะต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้ มีใครบ้างที่จะไม่ต้องเห็น ในเมื่อมีเหตุปัจจัยที่เห็นเกิดในขณะนี้ ก็ต้องเห็น และเห็นก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่ว่าจะเป็น แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เห็นก็เหมือนอย่างนี้ คือเป็นสภาพหรือธาตุธรรมซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาว่า สิ่งที่ปรากฏทางตามีลักษณะอย่างนี้ๆ ต่อไปข้างหน้าอีกแสนโกฏิกัปป์ ถ้ายังไม่ออกจากสังสารวัฎฏ์ก็ต้องเห็น เป็นภาระหรือเปล่า ที่ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ต้องคิดนึก จิต เจตสิกทำงานไม่มีหยุดเลย ไม่ว่าจะหลับหรือจะตื่น เป็นกิจการงานหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งถ้าไม่ทำเสียได้ จะดีไหม นั่นคือผู้ที่จะปลงภาระ เพราะเห็นว่าเป็นภาระจริงๆ แต่ถ้าตราบใดที่ยังพอใจ ที่จะเห็น ที่จะได้ยิน ที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่จะคิดนึก ก็หมายความว่า ไม่ได้คิดที่จะปลงภาระ และชีวิตคือความจริง สัจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ วันนี้กว่าจะมานั่งตรงนี้ มีภาระเท่าไหร่โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นภาระ หรือว่าแสวงหาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาซึ่งภาระ โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นภาระ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมจนเห็นว่าเป็นภาระ ก็คือขณะนั้นไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเราอยู่ก็สนุกดี เห็นก็เห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ ไปตลาดซื้อของ มีผัก มีผลไม้ มีทุกอย่าง นำมาซึ่งความรู้สึกตื่นเต้นบ้าง ดีใจบ้าง ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็เสียใจบ้าง ก็ไม่เห็นเบื่อหน่าย คือไม่เห็นว่าเป็นภาระ จนกว่าจะไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด และเมื่อเกิดไม่มีธรรมใดเลย ที่ไม่ดับ ไม่คงที่ เกิดมาช่วงเวลาที่สั้นแสนสั้น แล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏแต่ละทาง คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยไม่พร้อมกันด้วย ทีละอย่าง สิ่งใดที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นดับ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หรือปรากฏทางหู ปรากฏทางจมูก ปรากฏทางลิ้น ปรากฏทางกาย ปรากฏทางใจ เป็นภาระที่จะต้องรู้สิ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลือเลย ทุกอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่เพียงภาระหน้าที่ของสภาพธรรมซึ่ง เมื่อมีอวิชชา ก็จะต้องมีการติดข้องขนขวาย จนกระทั่งทำให้สภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ ไม่หยุดการเกิด ยังมีการเกิดต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ดับไปแล้ว ก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมเกิดต่อไปอีก เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่าเป็นภาระ ก็คือต้องมีการศึกษาให้มีความเข้าใจจริงๆ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนประจักษ์แจ้งว่า พระธรรมที่ทรงแสดงทุกพุทธวจนะเป็นความจริง เป็นสิ่งซึ่งแต่ละท่านสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา พิสูจน์รู้แจ้งในความจริงนั้นได้

    ผู้ฟัง ฟังแล้วคิดด้วย และชอบคิดเรื่องปรมัตถธรรม แต่อาจารย์บอกว่าถ้าคิดเสมอไม่มีอะไรอื่น แต่เข้าใจว่า เป็นสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ ความคิดต้องเกิดแน่นอน ไม่เกิดไม่ได้เลย มีใครเพียงเห็นแล้วไม่คิด มีใครเพียงได้ยินแล้วไม่คิด มีใครเพียงได้กลิ่นแล้วไม่คิด มีใครเพียงลิ้มรสแล้วไม่คิด มีใครที่เพียงกระทบสัมผัสแล้วไม่คิด เพราะฉะนั้นโลกของความคิด ประมวลมาทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏทางตา นานแสนนานมาแล้ว ก็ยังคิดถึงได้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจโดยนัยเดียวกัน ความคิดของคนที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะเป็นไปในเรื่องของความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมเลย แต่ว่าผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็จะมีความคิดใหม่ คือคิดเรื่องธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แต่ว่าเพียงความคิดไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่เป็นส่วน เพราะเหตุว่าพระศาสนามี ๓ ระดับปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา ปฏิเวธศาสนา คำสอน สอนแม้ในขั้นของปริยัติคือ เรื่องราวของสภาพธรรม ซึ่งต้องฟัง ฟัง และไม่ใช่ฟังเฉยๆ ขณะนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนไม่ได้คิดเลย ฟังแล้วก็คิดด้วย แต่ไม่ใช่เป็นเราที่คิด เพราะฉะนั้นบางคน ก็พยายามที่จะให้เป็นเราไปคิดให้ดี ให้เป็นกุศล แต่ขณะนั้นเขาไม่รู้เลยว่า เพียงแต่จะคิดอย่างนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หนีไม่พ้นสภาพธรรมคือจิต เจตสิก และรูป แต่ว่าความยึดถือสภาพธรรมก็คือ เดี๋ยวยึดว่าจะต้องคิดดี จะต้องทำดี แต่ผู้ที่รู้ความจริงจะรู้ว่า แม้ขณะคิดก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อละความเป็นเราหรือละความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องเข้าใจความต่างของธรรมที่เป็นคำสอน ๓ ระดับ คือขั้นปริยัติสอนให้เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่เข้าใจเรื่องราว แล้วก็จะมีขณะที่สติปัฎฐาน สติสัมปชัญญะเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านก็ได้อบรมปัญญามานานมาก ในชาติสุดท้ายที่ท่านยังไม่ได้ฟังพระธรรม ท่านจะมีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมไหม ไม่มี แต่เพราะเหตุที่ท่านฟังมานานมากหลายชาติ เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ฟังพระธรรมอีกครั้งหนึ่ง สติปัฎฐานเกิด สภาพธรรมปรากฏ มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    21 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ