ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
ตอนที่ ๗๔
สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ฟังพระธรรมอีกครั้งหนึ่ง สติปัฏฐานเกิดสภาพธรรมปรากฏ มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกบำเพ็ญบารมี ๑ อสงไขยแสนกัปป์ แต่ก็ไปเป็นลูกศิษย์ของสัญชัย จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมจากท่านพระอัสสชิ เพียงสั้นๆ ก็สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นปัญญาที่ได้สะสมอบรมมาไม่ใช่เพียงขั้นปริยัติ แต่ต้องเป็นขั้นที่อบรมเจริญการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนถึงกาลที่สามารถจะรู้ความจริงเพราะสติสัมปชัญญะเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ถึงกาลที่จะรู้แจ้ง ไม่นานเลยเร็วมาก เวลาที่ถึงความสมบูรณ์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นเวลาที่ไม่นาน แต่นั่นเป็นผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล คือสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของธรรมรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในเวลาสั้นๆ ไม่นาน แต่ว่าไม่ใช่มีแต่อุคฆฏิตัญญูบุคคลหรือวิปัญจิตัญญูบุคคล ซึ่งอาศัยการเทศนามากกว่าอุคฆฏิตัญญูบุคคล จึงสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ยังมีผู้ที่จะต้องอบรมมากกว่านั้นจึงจะรู้ได้คือเนยยบุคคล ทั้งๆ ที่ฟังมาก แสดงธรรมมาก อบรมเจริญปัญญามาก ปัญญาของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นเนยยบุคคลก็ต่างกัน บางท่านก็จะมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น เพียง ๒-๓ ญาณ และก็ต้องอบรมต่อไปอีก กว่าจะก้าวไปถึงมหาวิปัสสนา หรือว่าพลววิปัสสนาต่อๆ ไป เพราะฉะนั้นต้องฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่า จุดประสงค์สูงสุด ชาตินี้คืออบรมเจริญปัญญา ด้วยความเป็นผู้ตรงว่า ขณะนี้รู้หรือไม่รู้สภาพที่เป็นธรรม ไม่ใช่อะไรเลยทั้งสิ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่มีอะไร นอกจากเป็นชั่วขณะที่กระทบกับจักขุปสาท เกิดแล้วก็ดับไป ถ้ายังไม่รู้ ธรรมทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ศึกษา ให้ฟัง ให้ไตร่ตรอง ให้เข้าใจ จนกว่าสัมมาสติจะเกิด และเมื่อสัมมาสติเกิด ก็ยังต้องมีอุปสรรคคือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่จะทำให้เนิ่นช้าต่อไปอีก เพราะฉะนั้นผู้ที่ฟัง และเข้าใจจริงๆ อบรมมาแล้ว ก็จะคลายความเป็นตัวตน ก็จะทำให้สามารถเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมจรดกระดูก คือไม่มีการเปลี่ยนเลย รู้ว่าสภาพธรรมขนาดนี้เป็นสัจจธรรม และผู้ที่รู้จริง ประจักษ์แจ้งเป็นอริยสัจจธรรม จนกว่าจะถึงวันนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งสามารถที่จะอบรมไปได้ และก็ต้องเป็นเรื่องขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง คนที่อดทนที่บอกว่าอดทนเก่งๆ พอมาถึงธรรมเขาจะเข้าใจความหมายเลยว่า อดทนที่ว่าเก่งแล้ว จะอดทนฟังพระธรรม อดทนพิจารณา อดทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เมื่อสติปัฎฐานเกิดมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นเราที่จะทำ เพราะถ้าเป็นเราก็หมายความว่า ความเข้าใจเรื่องธรรมไม่ตรง ความเข้าใจเรื่องอนัตตาไม่จริง เพราะเหตุว่า เมื่อรู้ว่าเป็นธรรมก็ต้องเป็นธรรม เมื่อรู้ว่าเป็นอนัตตาก็ต้องเป็นอนัตตา จะเป็นอื่นไปไม่ได้
ผู้ฟัง ในเรื่องของการฟังพระธรรม ท่านอาจารย์เคยแสดงว่า จงใส่ใจในการฟังพระธรรม เหมือนเอาน้ำมันไขข้อของราชสีห์ หยอดลงไปในหลอดแก้วทองคำ ในที่นี้หมายความลึกซึ้งแค่ไหน
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีเสียงอะไรบ้าง เสียงนก เสียงกา ทางตามีอะไรปรากฏบ้าง เพราะฉะนั้นผู้ที่ใส่ใจอย่างในครั้งก่อนก็จะกล่าวว่า ให้นั่งใกล้ ให้สดับ หมายความว่าตั้งใจที่จะฟังอย่างเดียว ไม่สนใจอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้นเราจะสังเกตได้ไม่ว่าจะเป็นที่หนึ่งที่ใดที่มีการแสดงธรรม แม้แต่ในรถที่เรานั่งมา จะรู้ได้เลยว่า ขณะนั้น ใครกำลังเหมือนกับน้ำมันราชสีห์ซึ่งค่อยๆ หยอดลงไป ในหลอดแก้วทองคำที่เล็กมาก หมายความว่าผู้นั้นต้องตั้งใจจริงๆ ที่จะฟัง ไม่ใช่ว่าผ้าส่าหรีหรือว่าอาหารอะไรๆ หรือว่าจะง่วงเหงา หรือจะอะไรต่างๆ หรือจะมองไปข้างทางหรืออะไร เพราะฉะนั้นแต่ละคน ก็จะรู้ความจริงได้ว่า ความจริงของขณะที่ฟังพระธรรมของแต่ละคน ต่างกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าจริงๆ เสียงอื่นก็ไม่สนใจ สิ่งอื่นที่ปรากฏทางตาก็ไม่สนใจ มีความสนใจที่จะรับฟังด้วยความเคารพ ด้วยการรู้ว่า การที่พระองค์จะทรงแสดงพระธรรมแต่ละพุทธวจนะได้ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ด้วยการบำเพ็ญพระบารมี ด้วยพระมหากรุณาที่มีจิตมั่นคงที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งต้องอาศัยบารมีที่ต้องอบรมมากกว่าการเป็นเพียงสาวก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ขณะไหนที่ใครไม่ใช่เป็นน้ำมันราชสีห์ซึ่งหยอดลงไปในหลอดแก้วที่เล็กที่สุด ก็รู้ได้ใช่ไหม
ผู้ฟัง สภาพธรรมของรูปธรรมก็เป็นทุกข์ นามธรรมก็เป็นทุกข์ แต่เคยได้ยินท่านอาจารย์แสดงบอกไว้ว่า รูปธรรมเป็นสาเหตุของความทุกข์ของเราในแต่ละวันมากที่สุด
ท่านอาจารย์ ในกามาวจรภูมิ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ ซึ่งเป็นสุคติภูมิ และก็อบายภูมิอีก ๔ เป็นกามาวจรภูมิ หมายความถึงภูมิซึ่งเต็มไปด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งผู้ใดที่ยังติดข้องอยู่ ก็ไม่สามารถไปสู่รูปพรหมภูมิ หรืออรูปพรหมภูมิได้ เพราะฉะนั้นเราอยู่ตรงไหน ธรรมเป็นเรื่องที่รู้ความจริงเลย ทำไมเราไม่ไปเกิดเป็นพรหมแต่เราเกิดที่นี่ ทำไมเราไม่เกิดเป็นอรูปพรหมแต่เราเกิดที่นี่ นี่ก็แสดงว่าเรามีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่ว่าการที่จะละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้ ต้องถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เทวดาที่เป็นปุถุชนหรือว่าพระพรหมทั้งหลาย ซึ่งเกิดในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ ก็ยังมีกามราคานุสัย ยังไม่ได้ละ ยังไม่มีปัญญา เพราะเหตุว่าการละกิเลสต้องตามลำดับ การเกิดในพรหมภูมิเป็นแต่เพียงการระงับด้วยกุศลที่มั่นคงสงบจนปรากฏเป็นลักษณะของสมาธิที่ใกล้ต่อการที่จะเป็นอัปปนาสมาธิ และเมื่อถึงอัปปนาสมาธิเมื่อไหร่ ก็ถึงฌานจิต ซึ่งมีขั้นต่างๆ ทำให้เกิดเป็นพรหมบุคคลในภูมิต่างๆ แต่ว่าก็ยังไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมตราบใด พระโสดาบันก็ไม่ถึง ไม่สามารถที่จะเป็นพระโสดาบันได้ เพราะฉะนั้นการที่จะละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นขั้นแรกที่เราพูดว่า ละโลภะ ก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ไม่ใช่โลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แต่เป็นโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่วันนี้ทุกคนอย่ารับประทานอาหารอร่อย อย่าแต่งตัวสวย ไม่ใช่ ทุกอย่างเป็นความจริง เราไม่สามารถที่จะละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสได้ ตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เมื่อถึงความเป็นพระอนาคามีเมื่อไหร่ จึงจะดับความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสได้ ต้องเป็นผู้ตรง และก็อาจหาญที่จะรู้ความจริงว่า ประการแรกที่ละ ก็คือละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน กำลังแต่งตัว สติเกิดได้ไหม แน่นอน กำลังรับประทานอาหารอร่อยสติเกิดได้ไหม เดี๋ยวก็จะกลัวจนอาหารอร่อย ก็ไม่กล้าจะรับประทาน น้ำตาล น้ำปลาไม่ใส่หมด นั้นคือผู้ที่ไม่รู้มรรค หรือหนทางที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคล
ผู้ฟัง ขอความกระจ่างเรื่องว่า กรรมเป็นที่อาศัย กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นกำเนิด แล้วก็กรรมเป็นทายาท เพราะว่าที่เราเรียนธรรมว่า ธรรมทั้งหลายคืออนัตตา แต่เราเกิดมาที่มีญาติ มีพี่น้อง มีเพื่อน มีอะไร แล้วก็มาเรียนอย่างนี้ส่วนตัวแล้วสุดท้ายก็คือไปโดยตัวเอง บางครั้งก็มีความรู้สึกว่ามันเห็นแก่ตัว ก็รู้ว่าทุกคนก็มีกรรมของเขา ขอแสดงความกระจ่างตรงนี้
ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะช่วยคนที่ถือว่าคุณเป็นญาติ เพื่อนฝูงได้ไหม ช่วยได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจความหมายของคำถาม
ท่านอาจารย์ คุณเกิดมาคนเดียว ขณะนี้เห็นคนเดียว มีใครร่วมกับจิตเห็นของคุณบ้าง
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ และญาติของคุณ แค่ไหน
ผู้ฟัง ตราบใดที่เห็นจิต เจตสิก รูป ก็รู้ว่าเคยชาติก่อนอาจจะเป็นญาติกันถึงมาเจอกัน
ท่านอาจารย์ มากน้อยญาติของคุณ
ผู้ฟัง เยอะมาก
ท่านอาจารย์ เยอะกว่านั้นอีกเป็นทั้งโลกได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะห่วงคนทั้งโลกหรือว่าเฉพาะญาติ เรามาจากพี่น้องวงศาคณาญาติต่างๆ กัน แต่ว่าเราก็ได้มีโอกาสศึกษาธรรม เป็นวงใหญ่เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เป็นวงธรรม แต่ว่าญาติอื่น ก็เป็นแต่เพียงญาติซึ่งเกิดมาตามสายโลหิต แต่ว่าญาติจริงๆ ของเรา ก็คือว่า ขณะใดที่เรามีความหวังดีเกื้อกูลกัน แม้ว่าจะไม่ได้ร่วมสาโลหิต แต่ก็เป็นญาติได้ และเราจะมีความหวังดีแต่เฉพาะวงศาคณาญาติของเราเท่านั้น หรือไม่ว่าใครทั้งหมด
ผู้ฟัง ใครทั้งหมดก็ได้แต่ว่า คือเหมือนว่าฟังพระธรรมแล้วก็รู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เกื้อกูล ออกจากความทุกข์ได้ แล้วก็เห็นคนเกิดมาก็เป็นทุกข์มาก แล้วก็สงสารว่าทำไมเกิดมาเป็นอย่างนี้ ไม่สามารถได้เจอพระธรรมทั้งที่ใกล้มากขนาดนี้ ก็มีความโทมนัส
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณชินช่วยตัวเองก่อน คุณสามารถจะช่วยคนอื่นได้ แต่ถ้าเราไม่ได้ช่วยตัวเราเองก่อนเราจะช่วยคนอื่นก็ยาก จะช่วยผิดช่วยถูกยังไงก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นถูก เมื่อมีความเห็นถูกแล้วไม่จำกัดวงศาคณาญาติ ใครก็ตามที่สะสมมา ที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญา ก็เสมือนญาติ ไม่ต้องเป็นห่วงเฉพาะวงศาคณาญาติเท่านั้น
ผู้ฟัง ขอถามเรื่องการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน สำหรับคนเราที่ทำเจริญเป็นขั้นต้น ในคำสอนของพระพุทธเจ้ามีสิ่งที่ควรรู้ใช่ไหม ควรรู้ควรศึกษา หมายความว่า ไม่รู้ไม่ศึกษาจะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แล้วมีสิ่งที่จะรู้จะศึกษาก็ได้ แต่ว่าไม่รู้ไม่ศึกษายังเจริญสติปัฏฐานได้ใช่ไหม ขอช่วยอธิบายในเรื่องนี้
ท่านอาจารย์ ไม่รู้ไม่ศึกษา แล้วใครจะเจริญสติปัฎฐาน เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่รู้ ไม่ใช่เป็นเราเลย ถ้าไม่มีความรู้เรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดจากการฟัง เวลาฟัง ทุกคนก็ฟัง แต่ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจมากน้อยต่างกัน ถ้าเราฟังเพียงครั้ง ๒ ครั้งแล้วเราจะไปเจริญสติปัฎฐาน ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าธรรมต้องสอดคล้องตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงขั้นสุดท้าย ในเมื่อทราบมาทุกอย่างเป็นธรรมก็จริง และก็ทราบด้วยว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ๒ คำนี้ลืมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นธรรมก็คือไม่ใช่เรา แต่ว่าต้องเป็นปัญญาที่ได้ฟังพระธรรม มีการพิจารณาเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมซึ่งปัญญาสามารถที่จะอบรม จนกระทั่งประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้แต่ละอย่าง อย่างทางตาที่กำลังเห็น ก็ไม่ใช่ทางหูที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดนึก เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วแต่ว่าปัญญาของใครถึงขั้นที่สติปัฎฐานมีปัจจัยที่จะเกิด ก็ระลึกเป็นปกติ ธรรมเป็นธรรมดา เป็นปกติขณะนี้เอง แต่ว่าผู้ที่ท่านเคยอยู่ ณ สถานที่นี้เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี อย่างที่พระพุทธเจ้า ท่านกล่าว ก็เต็มไปด้วยพระอรหันต์ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอานนท์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ท่านเหล่านั้นก็เห็นอย่างนี้ เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี และก็มีจิตที่คิดนึกด้วยทุกอย่างเป็นปกติ แต่ว่าปัญญาที่ได้อบรมแล้ว สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามลำดับขั้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ และไม่ใช่แต่เฉพาะถึงความเป็นพระโสดาบัน ถึงความเป็นพระอรหันต์ และก็ไม่ใช่พระอรหันต์ที่เป็นสาวกธรรมดา แต่เป็นผู้ที่มีคุณวิเศษ เป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าธรรมที่มี ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นปกติที่สุด และปัญญาจะรู้อะไร เป็นธรรมดาอย่างนี้ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังคิดนึก แต่ผู้ที่ศึกษาแล้ว อบรมเจริญปัญญาแล้ว สามารถที่จะเข้าใจได้ไม่ใช่เพียงเห็นแค่นี้ เหมือนเคย แต่จะต้องมีการประจักษ์แจ้งสภาพที่แท้จริง จนกระทั่งสามารถที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เราจะทำ แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่าทุกขณะที่เกิด เป็นสภาพธรรมที่มีเหตุมีปัจจัยจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ เฉพาะอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น จะสลับสับกันก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่าเป็นปัจจัยของสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นก็เกิด ถ้าเรามีความมั่นคงอย่างนี้ เราก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นไม่ใช่มีความจงใจตั้งใจ แต่ขณะที่เกิดระลึกที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ขณะนั้นก็มีสภาพธรรมที่เป็นโพธิปักขิยธรรมที่ค่อยๆ เจริญขึ้น เช่น สติก็ต้องมี แล้วก็วิริยะก็ต้องมี อินทรีย์ต่างๆ ก็ต้องมี จนกว่าจะถึงความเป็นพละ ถึงความเป็นโพชฌงค์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่ไม่เคยรู้อะไรมาก่อนเลย แล้วเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจ เริ่มศึกษาก็จะรู้ว่ามีอีกมากมายที่ปัญญาจะต้องรู้เพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่ว่าทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรเลยก็จะไปเป็นโสดาบัน แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่ตรงว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมปัญญารู้หรือเปล่า ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าไม่รู้เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้นหรือเปล่า เพราะเหตุว่าปัญญาในภาษาบาลี ก็ต้องเริ่มด้วยความเข้าใจถูก ปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในขั้นการฟัง ในขั้นการที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นแล้วแต่สติจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมไหน ก็แล้วแต่สติ
ผู้ฟัง ที่พูดถึงเมื่อสักครู่ วิริยะในโพธิปักขิยธรรม
ท่านอาจารย์ โพธิปักขิยธรรม ๓๗
ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมมีลักษณะชนิดหนึ่งใช่ไหม แล้วไม่ทราบลักษณะของวิริยะ จะรู้ได้ในชีวิตประจำวันไหม
ท่านอาจารย์ สภาพของเจตสิกทั้งหมดมีใช่ไหม วิริยะก็เป็นเจตสิกหนึ่ง จะรู้วิริยะได้ไหม
ผู้ฟัง ถ้าปรากฏเกิดขึ้นจะรู้ได้
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว เราพูดถึงปัญญาของผู้ที่รู้แล้ว ที่ท่านรู้ละเอียดมาก ท่านสามารถที่จะรู้ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทริยะ มนสิการ อกุศลเจตสิก โสภณเจตสิก เพราะท่านรู้ว่าสภาพธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมก่อน แต่เรารู้ชื่อก่อน และเราก็หาไม่เจอ อย่างขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ผัสสเจตสิกอยู่ที่ไหน เวทนา สัญญา เจตนาอยู่ที่ไหน เราหาธรรมไม่เจอเลย เราได้ยินแต่คำว่าเป็นธรรม และเรารู้ว่ามีธรรมด้วย แต่เราไม่ได้รู้ลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด จนกว่าสติปัฎฐานจะเกิดระลึก แล้วถึงจะรู้ว่า สิ่งที่มีในชีวิตประจำวันทั้งหมด เมื่อมีปัญญาแล้วจึงรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่งๆ ๆ ซึ่งต้องเป็นปัญญา ที่เกิดพร้อมสติจึงระลึกได้ ไม่เช่นนั้นเราก็จะศึกษาเรื่องลักษณะของเจตสิกต่างๆ แต่ว่าลักษณะของเจตสิกต่างๆ ก็เกิดไปดับไปพร้อมๆ กันอย่างรวดเร็ว แต่ว่าสติไม่ระลึกลักษณะของเจตสิกได้เลย เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญขึ้นตามลำดับ ยังไม่ต้องไปห่วงว่าเราจะรู้ลักษณะของเจตสิกอะไร หรือว่าจิตประเภทไหน หรือธรรมอะไร แต่ให้ทราบว่าก่อนอื่นมีความมั่นใจจริงๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะธรรมหมายความถึง ธาตุหรือธา-ตุ เป็นสิ่งที่มี เป็นสิ่งที่เกิดปรากฏ ซึ่งถ้าปัญญาไม่เกิด สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าสภาพธรรมจะมีแต่ก็ไม่รู้ จนกว่าจะฟังเพิ่มขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วเวลาที่สติปัฏฐานเกิดก็จะรู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่หลงลืมสติ ทุกคนคงจำพระโอวาทสุดท้ายได้ใช่ไหม ปัจฉิมโอวาท ตั้งแต่ที่จะปลงอายุสังขาร แล้วก็แสดงเรื่องของสติปัฏฐานตลอด ระหว่างที่จะมาปรินิพพานที่นี่
ผู้ฟัง เมื่อคืนนี้พูดเรื่องปรารภสติ แต่มีความรู้สึกว่า ตัวเองเป็นสติบังคับ และไม่สงสัยว่าปรารภสติโดยไม่บังคับ เพราะว่ามีตัวตนบังคับรู้โดยปริยัติ
ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัฎฐานไม่เกิดจะรู้ไหมว่ากำลังบังคับ และมีตัวตน ค่อยๆ เห็นทีละน้อย แม้ว่าขั้นแรกอาจจะเป็นการคิดเรื่องราว ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่เริ่มพิจารณาว่าขณะใดมีมานะ นี่เป็นการเริ่มพิจารณาซึ่งแต่ก่อนไม่เคย เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังธรรมแล้ว เรื่องที่เราคิด จะเป็นเรื่องของธรรม ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยฟังธรรมก็ไม่คิดเรื่องธรรม แต่ก็ต้องทราบว่า ขณะนั้นก็ยังเป็นการคิด ยังมีความเป็นเรา แล้วก็ยังมีความจงใจ ฟังอะไรมาก็อยากจะให้สติปัฏฐานเกิด ฟังว่าปรารภสติ สติเริ่มเกิดก็เป็นเราที่กำลังจะทำไปทั้งหมด จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจว่าขณะไหนเป็นสัมมาสติ ขณะไหนเป็นความจงใจ ซึ่งไม่ใช่สัมมาสติต้องรู้ ต้องรู้ละเอียดขึ้นด้วย
ผู้ฟัง ที่ท่านบรรยายในเทปบอกว่า ปัญญาที่มีสมาธิมากจะทำให้มีอานิสงส์อะไรมาก คำว่าสมาธิตรงนั้น หมายถึงความจดจ้องใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ฟังธรรมฟังตอนเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องฟังตั้งแต่ต้นแล้วก็รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร แล้วการพูดถึงปัญญา พูดถึงปัญญาขณะไหน อย่างไร
ผู้ฟัง เคยได้ฟังมาว่า การศึกษา เพื่อความค่อยๆ เข้าใจ นี่ก็คือศึกษาสภาพธรรมตัวเราเอง ที่จะสามารถเข้าใจได้ ตรงนี้หมายความว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏหรือว่าค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของการศึกษาระดับปริยัติ
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าศึกษาคืออะไร ถ้าใช้คำว่า เรากำลังศึกษาธรรม หรือว่าที่มานั่งอยู่ตรงนี้ ฟังธรรม ศึกษาธรรม ก็คือศึกษาให้เข้าใจธรรมตัวจริงซึ่งมี เราไม่ได้ศึกษาสิ่งที่เลื่อนลอยเลย แต่ศึกษาสิ่งที่มีอยู่ทุกวันตั้งแต่เกิดจนตาย ให้รู้ความจริงว่าสภาพนั้นๆ ไม่ใช่เรา
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 63
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 65
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 66
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 71
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 77
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 92
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 120