ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
ตอนที่ ๖๒
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจโดยลำดับว่า พุทธศาสนามี ๓ คือ ปริยัติศาสนา ปฏิปัตติศาสนา และปฏิเวธศาสนา อย่าปะปนขั้นปริยัติคือขั้นฟังเรื่องราว ว่าเป็นขั้นประจักษ์แจ้ง และอย่าปะปนขั้นฟัง ว่าเป็นขั้นระลึกปฏิปัตติ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และอย่าเข้าใจผิดว่า ขณะใดที่สติปัฏฐานเริ่มระลึกถึงลักษณะที่กำลังมีขณะนี้ ด้วยสติ และปัญญาจะเป็นขั้นปฏิเวธ เพราะว่า ๓ ขั้นนี้ต่างกัน
ผู้ฟัง หลังจากที่จะประจักษ์สภาวธรรม
ท่านอาจารย์ เข้าใจ ไม่มีทางที่จะประจักษ์เลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นขั้นปริยัติ ก็จะกระโดดไปถึงปฏิเวธเป็นไปไม่ได้เลย ไม่มีหลังจากนั้น หลังจากนั้นไม่ต้องพูดถึงเลย เป็นพระโสดาบันแล้วยังไงก็ต้องเป็นพระสกทาคามี ต้องเป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ไม่หลงทาง ไม่เข้าใจผิดเพราะรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔
ผู้ฟัง ผู้ประจักษ์ธรรมต้องเป็นพระโสดาบันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ แน่นอน แต่ว่าก่อนนั้นต้องมีวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น กว่าจะถึงมัคคญาณ ผลญาณ
ผู้ฟัง สติปัฏฐาน ๔ ที่คุณโยมบรรยาย เพื่อให้ผู้ฟังธรรมเข้าใจอยู่ในญาณขั้นใด
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะว่าการบรรยายตั้งแต่ครั้งที่ ๑ จนถึงครั้งที่ ๒,๐๐๐ กว่า จะเริ่มต้นตั้งแต่ปริยัติ และปฏิบัติแล้วจะกล่าวถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นด้วย
ผู้ฟัง แสดงว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นก่อนวิปัสสนาญาณ
ท่านอาจารย์ แน่นอน สติปัฏฐานไม่ใช้สติขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นสมถภาวนา ในอีกประการหนึ่ง คำถามของพระคุณเจ้าที่ว่า เห็นขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรม และสภาพรู้หรือธาตุรู้มีจึงเห็น ถ้าสภาพรู้หรือธาตุรู้ไม่มี ก็ไม่สามารถที่จะเห็นได้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไม่ใช่สภาพรู้ไม่สามารถจะเห็นอะไรได้เลย การที่รู้อย่างนี้ประโยชน์อะไร นี่เป็นคำถามของพระคุณเจ้าใช่หรือไม่ การรู้อย่างนี้ เป็นการละอนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสที่ละเอียดมาก ไม่ใช่กิเลสที่ละขั้นศีล หรือว่าขั้นสมาธิ แต่ว่าเป็นขั้นที่สามารถที่จะไถ่ถอนความไม่รู้ในสภาพธรรมที่เคยไม่รู้ และก็เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าตามความจริงแล้วสภาพธรรมทุกอย่างจะเกิดได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยเป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม เป็นสภาพธรรมที่จะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง และเมื่อปรุงแต่งแล้วเกิดปรากฏเดี๋ยวนี้ เป็นสังขตะเดี๋ยวนี้ สังขตธรรมทั้งหมดเกิดแล้วดับ การที่รู้ความจริงคือขณะนั้นเห็นถูก เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเห็นถูกเลย จะกล่าวว่ารู้ความจริงไม่ได้ หรือว่าเห็นความจริงไม่ได้ ต้องเป็นขณะที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วเข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏถูกต้อง ซึ่งต้องใช้เวลาที่นานมาก เพราะว่าไม่ใช่เราที่จะไปใช้สติ ไปทำสติ เพราะไม่มีใครใช้สติได้ ไม่มีใครใช้ปัญญาได้ สติจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย และลักษณะของสติที่เป็นสติปัฏฐานก็คือว่า ขณะนี้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่มีจริงๆ ที่ไม่มีใครไปคิด ไปฝัน ไปทำ แต่ว่าขณะนี้มีเหตุปัจจัยสภาพธรรมนั้นสังขตะปรุงแต่งแล้วเกิดปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่รู้อย่างนี้จะละอนุสัยกิเลส ถ้าละอนุสัยกิเลส คือกิเลสที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่ากิเลส มี ๓ ระดับ กิเลสหยาบ เราเห็นได้จากการประพฤติทุจริต ล่วงศีล แสดงว่ากิเลสนั้นอยาบมีกำลัง กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีล ที่จะออกมากายทุจริต วจีทุจริต แต่เกิด แต่ว่ายังไม่แสดงออกไปเลย ขณะนั้นก็เป็นกิเลสขั้นกลาง ไม่ใช่ไม่มี ความขุ่นใจมี แต่ไม่พูด ไม่แสดง โลภะก็มี แต่นั่งเฉยๆ ใครก็ไม่รู้ว่ามีโลภะ นั่นเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิต จึงปรากฏลักษณะของอกุศลเจตสิกนั้นๆ แต่ที่กิเลสขั้นหยาบหรือกิเลสขั้นกลางจะมีได้ ก็เพราะมีกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งไม่มีใครรู้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ว่า การจะดับกิเลสหมดสิ้นต้องดับอนุสัย ซึ่งเป็นพืชเชื้อที่จะให้กิเลสระดับกลาง หรือว่ากิเลสขั้นหยาบเกิดได้ ตัวอย่างของอนุสัยกิเลส ก็คือขณะที่นอนหลับสนิท พระอรหันต์นอน กับโจรนอน มีใครพอจะบอกความต่างได้ไหม กายวาจาไม่มีอาการปรากฏเลย สภาพของจิตก็เหมือนกัน คือวิปากจิต ขณะที่หลับสนิทไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ เป็นพระโสดาบัน เป็นปุถุชน เป็นสัตว์ เป็นอะไรก็ตามแต่ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึกทั้งหมด เป็นใครชื่ออะไรอยู่ที่ไหนก็ไม่มีเลย ในขณะที่เป็นภวังค์ แต่อกุศลที่เป็นระดับละเอียดมาก คืออนุสัยยังไม่ดับไปเป็นสมุจเฉท แต่สำหรับพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลสประเภทใดๆ ทั้งสิ้นที่จะทำให้เมื่อตื่นแล้วเห็นแล้วเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ความต่างก็คือ เวลาคนที่ยังมีกิเลสอยู่ตื่น มีอกุศลทันทีที่เห็น ที่ได้ยิน แต่เวลาที่พระอรหันต์ตื่น ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไรทั้งหมดเป็นฉฬังคุเบกขา ไม่หวั่นไหว เพราะว่าไม่มีอกุศล และกุศลที่จะเกิด กุศลก็ไม่มี อกุศลก็ไม่มี สำหรับพระอรหันต์เพราะเหตุว่า ถ้ายังมีกุศล อกุศลอยู่ ก็ยังมีเหตุที่จะให้เกิดผล ซึ่งเป็นวิปากจิต ถ้าเป็นอกุศลจิตเป็นกุศลกรรม ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิปากจิตเกิด ถ้าเป็นกุศลที่ได้กระทำสำเร็จเป็นกรรม เป็นปัจจัยที่จะทำให้กุศลวิปากจิตเกิด ไม่มีใครทำให้เห็นเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครทำให้ได้ยินเดี๋ยวนี้ แต่กรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อถึงกาลพร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้น คือในขณะหลับ ให้เห็นไม่ได้ แต่เมื่อตื่นแล้วเห็น ไม่มีใครรู้ว่าเห็นขณะนี้ เป็นผลของกรรมอะไร แต่เห็นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ต้องเห็น จักขุปสาทมีกรรมเป็นปัจจัย แล้วก็พร้อมที่ว่า เมื่อกระทบกับสิ่งที่ปรากฏก็ให้เห็นสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างตามกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นผลของอกุศลกรรม แต่หลังจากที่กุศลวิบาก อกุศลวิบากดับ จิตก็เป็นอกุศล โลภะหรือโทสะ ติดข้อง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ดับกิเลส ก็ยังมีอนุสัยกิเลสพร้อมที่จะเกิด เมื่อถึงกาลที่เป็นชวนจิต การอบรมเจริญปัญญารู้ความจริงที่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา จนกว่าจะดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล จะไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดเลย และจะเป็นการสู่กระแสของการที่จะดับกิเลสต่อๆ ไป จนถึงความเป็นพระอรหันต์ นี่คือประโยชน์ของการที่ว่าเห็น และรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งมีลักษณะอย่างนี้ ปรากฏได้ทางนี้ และสภาพของธาตุที่เห็น ธาตุที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย เพื่อที่จะละความเป็นเราทั้งหมดในชีวิตที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา
ผู้ฟัง ขอโอกาสถามว่า เริ่มต้นตั้งแต่ที่คุณโยมแสดงมา ก่อนที่จะเข้าใจในเรื่องของสติปัฏฐาน ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วย ความคิดใคร่ครวญในเรื่องนั้น หลังจากฟังมาแล้วพอสมควรทีเดียว
ท่านอาจารย์ ฟังไม่ใช่การได้ยิน ต้องพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องของตัวเอง
ผู้ฟัง หลังจากนั้น ก็อยากจะถามต่อไปว่า หลังจากฟังแล้ว เข้าใจแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีลำดับของการอบรม อบรมอธิศีล อธิจิตตภาวนา อธิปัญญาตามลำดับ
ท่านอาจารย์ คือการฟังที่ยังไม่เข้าใจ ถ้าเป็นการเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้นก็จะรู้ว่าต้องเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ก็จะถามเพื่อความเข้าใจว่า อบรมอย่างไร เป็นลำดับอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจในสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ ซึ่งไม่มีใครบังคับให้สติเกิด ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตานี่ลืมไม่ได้เลย ถ้าไม่มีโสตปสาท หรือถ้ามีโสตปสาท แต่เสียงไม่กระทบ จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าขณะนี้จะเป็นธรรมทั้งหมด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นธรรมหมดตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ถ้าความรู้ความเข้าใจไม่พอ ก็หลงลืมสติต่อไป จนกว่าจะฟังอีก เข้าใจอีก เข้าใจอีก จนเมื่อไหร่ที่สติปัฏฐานเกิด พร้อมกับสัมมาทิฏฐิ เพราะเหตุว่าสติปัฎฐานเป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติมีองค์ ๕ ซึ่งจะต้องเกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสังกัปปะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ๕ องค์ ก็จะได้รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เราที่ไปตั้งใจที่จะให้สติเกิด แต่เมื่อมีปัจจัยสติก็ระลึก ซึ่งสติจะระลึกอะไร ก็แล้วแต่ เป็นสติปัฎฐานทั้งนั้น สิ่งที่มีจริงๆ เป็นสติปัฏฐานทั้งหมด และสิ่งที่มีจริง มีทางที่จะปรากฏได้ ๖ ทาง แต่ต้องมีสภาพภาวลักษณะ คือการเกิดดับ จึงจะเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าเป็นเรื่องราวบัญญัติไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ต้องสามารถรู้ความต่างของปรมัตถธรรมกับบัญญัติ ถ้าไม่มีความต่างก็ปะปน แล้วจะเป็นแต่เพียงความคิดนึก
ผู้ฟัง ตามในมัชฌิมนิกายมีอยู่สูตรหนึ่ง ที่บอกหลักของการประพฤติปฏิบัติ ที่มีผู้หนึ่งไปถามพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธองค์บัญญัติ การประพฤติปฏิบัติ การศึกษาเล่าเรียนทางโลก การศึกษาไปตามลำดับ พระองค์มีบ้างไหม ที่บัญญัติข้อปฏิบัติไปตามลำดับบ้าง พระองค์บอกว่ามี อย่างในสูตรนี้ ก็บอกว่า เริ่มตั้งแต่ปาติโมกขสังวรศีลเป็นต้นไป อันนี้อาตมาเข้าใจว่า ก่อนที่จะเข้าใจเรื่อง เรื่องของสติปัฏฐาน ๔ นี้ นอกจากฟังให้เข้าใจแล้ว ยังจะต้องมีการอบรมในเรื่องของ ศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิขึ้นไปตามลำดับด้วย
ท่านอาจารย์ ความหมายของวิสุทธิ ว่าศีล แม้ว่าจะเป็นปาติโมกขสังวรศีล พระภิกษุทุกรูปจะต้องรู้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะไม่ใช่บรรพชิต ไม่ใช่พระภิกษุในพระศาสนา แม้ว่าจะมีการประพฤติปฏิบัติตามปาติโมกข์อย่างสมบูรณ์ แต่ว่าไม่มีการศึกษาคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ขณะนั้นก็เป็นเรา เพราะฉะนั้น เป็นเพียงแค่รักษาศีลปาติโมกข์ แต่ว่าความบริสุทธิ์ของศีลปาติโมกข์ หรือศีลอื่นๆ ทั้งหมดที่จะวิสุทธิจากความเป็นเรา ก็ต่อเมื่อขณะนั้นเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพราะเหตุว่า แม้ไม่มีปัญญา รักษาศีลก็ได้ วิรัติทุจริตก็ได้ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลยได้ ทุกชาติศาสนา เพราะเหตุว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสภาพธรรม ไม่จำกัดเชื้อชาติเลย อย่างเห็น เป็นชาติอะไร ชาติไทยหรือเปล่า ชาติญี่ปุ่น ชาติจีน โลภะ ความติดข้องเป็นชาติอะไร ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นธรรม ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจธรรม แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีศีล จะเป็นพุทธศาสนาหรือไม่ใช่พุทธศาสนาก็ตาม ขณะที่ใครก็ตามวิรัติทุจริต ขณะนั้นก็เป็นวิรตีเจตสิกที่วิรัติ วิรตีเจตสิกเป็นไทยรึเปล่า เป็นฝรั่ง เป็นอเมริกัน เป็นยุโรปหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ได้มีเชื้อชาติ ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้ามีศีล คนนั้นก็เป็นผู้ที่เป็นกุศลจิตขณะนั้น ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด สามารถที่จะรักษาศีลได้ตามสมควร บางแห่งอาจมีศีลมากกว่าพระภิกษุก็ได้ ถ้าเขาจะเพียงบัญญัติขึ้นมาเพิ่มเติมขึ้นไปอีก เพิ่มเติมขึ้นอีก เขาก็ทำได้ แต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เพียงขั้นศีลอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะเป็นศีลวิสุทธิได้ แต่ที่จะเป็นศีลวิสุทธิได้ ต้องมีปัญญาจากการฟังพระธรรม พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจะมีคำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา นี่คือความต่างของพุทธศาสนากับศาสนาอื่น ศาสนาอื่นจะไม่สอนคำนี้เลย ไม่รู้จักคำว่า อนัตตา แต่ว่าพระพุทธศาสนา ทั้งหมดคำสอนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดก็คือ อนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการเข้าใจธรรมที่เป็นอนัตตา ขณะนั้นเป็นปาติโมกขสังวรศีล หนึ่งในปาริสุทธิศีล ๔ แต่ไม่ใช่ศีลวิสุทธิ เพราะฉะนั้น ในวิสุทธิ ๗ ถ้าจะอ่านดูในพระสูตร ไม่ว่าจะเป็นศีลวิสุทธิ หรือจิตตวิสุทธิก็ตาม ลำดับขั้นก็คือ ต้องถึงทิฏฐิวิสุทธิ และไม่ใช่แบบรถยนต์ที่มีคำอุปมาว่า มีทาง ซึ่งจะต้องใช้รถถึง ๗ คันจากคันที่ ๑ ถึงตรงนี้ ต้องเปลี่ยนเป็นคันที่ ๒ จากคันที่ ๒ ต้องเปลี่ยนเป็นคันที่ ๓ ถ้าตามพยัญชนะเราก็คิดว่าเหมือนกัน จากตรงนี้ก็ไปถึงโน้น แต่ความจริงการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ความรู้ตั้งแต่ขั้นต้นที่จะเป็นศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิที่จะถึงทิฏฐิวิสุทธิ จะต้องสืบต่อกันไป เหมือนกับการเดินทางต้องสืบต่อกัน ๗ ช่วง จะขาดช่วงหนึ่งช่วงใดก็ไม่ได้ อย่าไปฟังคำอุปมาแล้วก็คิดเอาเองด้วยความเข้าใจผิดว่า เราก็ลงจากรถคันนี้ก็ไปขึ้นรถอีกคันหนึ่ง แต่ว่าความรู้ที่อบรมมาตั้งแต่ต้นไม่สูญหายเลย และต้องสืบเนื่องกัน ซึ่งแสดงว่า ถ้าไม่มีขั้นต้น ขั้นที่ ๒ ก็เกิดไม่ได้ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ จนถึงวิสุทธิที่ ๗ ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความรู้ทั้งหมดจากขั้นที่ ๑ ไม่ได้หายไป แล้วก็ไปเอาความรู้ขั้นที่ ๒ มา ไปเอาความรู้ขั้นที่ ๓ มา เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องเข้าใจจริงว่าประโยชน์สูงสุดคือ เพื่อความเข้าใจถูก ถ้าไม่ใช่เพื่อความเข้าใจถูกสอดคล้องกัน ก็จะหยิบพระสูตรตอนนั้นบ้าง ตอนนี้บ้าง แต่ว่าไม่ได้สอดคล้องกันเลย แต่ถ้าจะให้สอดคล้องกันจริง คือว่าเข้าใจให้ถูกต้องจุดประสงค์ของการเรียน และก็ความเข้าใจจริงๆ แล้วก็ไม่ทิ้งความเข้าใจตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเป็นบันไดสู่ความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้น
ผู้ฟัง ที่อาตมานำเรื่องนี้มากล่าว ก็เพื่อที่จะให้ผู้ฟังที่นั่งอยู่ในที่นี้ด้วยว่า การอบรมต้องเป็นไปตามลำดับ
ท่านอาจารย์ ต้องมีขั้นฟังก่อน เป็นปริยัติ ถ้าฟังไม่เข้าใจ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าใครเข้าใจ ไม่เข้าใจเราไม่ต้องไปนั่งถาม ไม่ต้องไปนั่งสอบ คุณเข้าใจหรือยัง คุณเข้าใจแค่ไหน แต่คนที่ฟังเองเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจ เข้าใจแค่ไหน นี่คือผู้นั้นเอง เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็ไม่มีใครฝืนมาปฏิบัตินะ จะสอนเรื่องปฏิบัติให้ จะต้องทำอย่างนี้ สติปัฏฐานคืออย่างนั้น แต่เมื่อมีการฟัง และมีความเข้าใจขึ้น ความเข้าใจนั่นเอง จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด ของใครก็ของคนนั้น เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ไม่ใช่ว่าแต่ละคนจะต้องมานั่งพร้อมๆ กัน ทำเหมือนๆ กัน นั่นไม่ได้แสดงว่า ทุกคนมีปัญญาเหมือนกันที่จะทำอย่างนั้นได้
ผู้ฟัง เมื่อคนฟังแล้ว บางทีอาจจะเข้าใจว่า แม้การทำทุจริตนี้ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง เพราะว่ามันเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ก็อาจจะคิดว่าศีลวิสุทธิคงจะไม่จำเป็น หรือว่าอาจจะคิดว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ไม่จำเป็น เพราะว่าตัวเองนั้นใส่ใจสภาวธรรม
ท่านอาจารย์ คิดเอง คิดทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเข้าใจความจริง ก็รู้ว่าพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสอนทุกอย่างตามความเป็นจริง อกุศลมีรึเปล่า อกุศลมีจริง เป็นตัวตนหรือเปล่าว่าเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยที่เกิดขึ้น เพิ่งรู้ตามความเป็นจริงไม่ใช่ไปบิดเบือนว่าอกุศลไม่มี
ผู้ฟัง อยากจะขออาจารย์ กรุณาอธิบายเรื่องคำว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หมายความว่าอะไร
ท่านอาจารย์ คือลักษณะใหญ่ๆ ลักษณะหนึ่งเป็นสภาพรู้ และอีกลักษณะหนึ่ง ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ๒ อย่างนี้ที่ต่างกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ในโลกไหน ขณะไหน เมื่อไหร่ ก็มีธรรมเพียง ๒ อย่าง แต่ ๒ อย่างนี้ เราไม่รู้จริงๆ เลย เราเพียงแต่จำ เวลาได้ยินเขาบอกเราก็จำ มีนามธรรม มีรูปธรรม และนามธรรมก็สามารถจะเห็น สามารถจะได้ยิน แต่ไม่มีรูปร่างลักษณะ ส่วนรูปมีลักษณะเฉพาะ และก็มีรูปเพียง ๗ รูป ที่สามารถจะรู้ได้ตั้งแต่เกิดจนตาย ๗ รูปเท่านั้นที่สามารถจะรู้ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะฉะนั้น ๗ รูปนี้ ชื่อว่าโคจรรูป หรือวิสยรูป ทั้งหมดรูปมี ๒๘ รูป แต่ที่ปรากฏทุกวันๆ ก็ ๗ รูป ปรากฏทุกวันใช่ไหม ๗ รูปอะไรบ้าง ลองนับดู ๗ รูปรึเปล่า
ผู้ฟัง ทางตามีรูป ๑ ทางหู ๑ จมูกอีกรูป๑ ทางลิ้มรส ๑ แล้วทางกายมี ๓ รูป รวมเป็น ๗ รูป
ท่านอาจารย์ กี่ภพ กี่ชาติตลอดชีวิต ๗ รูป ขอฟังความเห็นของคนอื่นด้วย ๗ รูปเป็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ รู้แต่ชื่อ ๗ รูป ๗ รูป
ผู้ฟัง รู้แต่ชื่อ แล้วจำได้ว่า ถ้าเห็นก็เป็นรูปที่เห็นได้ เจริญสติปัฏฐานก็หมายความว่า รู้โดยตรงใช่ไหม
ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะสภาพธรรม เวลานี้รูปกำลังปรากฏ ทางตาก็เห็น ทางหูก็มีเสียงปรากฏ แต่ทั้งๆ ที่เรากำลังฟังเดี๋ยวนี้ สติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะว่าเราบังคับสติไม่ได้ แต่เราต้องเข้าใจก่อน เมื่อเวลาที่เป็นสติปัฏฐาน หมายความว่า เราเคยรู้เรื่อง เคยเข้าใจเรื่องรูป ๗ รูปนี้ และเรื่องนามธรรมซึ่งกำลังเห็น กำลังได้ยิน ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นามธรรมก็จำ นามธรรมก็คิด หรือนามธรรมก็เป็นสุข เป็นทุกข์ พวกนี้เป็นนามธรรมทั้งหมด มีจริงๆ ทุกวัน แต่ว่าเราก็จำชื่อ แล้วก็จำเรื่อง ตราบใดที่ไม่มีการระลึกลักษณะที่มีในขณะนั้น เป็นสติที่ระลึก และปัญญา ค่อยๆ เริ่มเกิด นี่คือการศึกษาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเราศึกษาเพียงชื่อกับเรื่อง อันนั้นเราจะไม่รู้จักตัวธรรมเลยตลอดชีวิต เราก็จำไปตลอดชีวิตว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก แล้วก็เป็นรูปนั้น ตลอดชีวิตจะมีแต่ความจำเรื่องราว แต่ตัวธรรมจริงๆ เราจะไม่รู้จักเลย ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว ที่เราศึกษาธรรมก็เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเราไม่มีการฟังก่อน ไม่มีทางที่สติจะเกิดระลึก เพราะว่าเราต้องมีความเข้าใจจริงๆ เมื่อมีความเข้าใจจริงๆ รู้ว่าสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในหนึ่งชาติ ก็คือขณะที่เราเริ่มจะรู้จักลักษณะของสภาพธรรมโดยสติระลึก ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นปัจจัยให้ แม้ขณะนี้เอง ขณะเห็นสติก็ระลึกได้ ขณะได้ยินสติก็เลยได้ ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ทุกขณะสติระลึกได้ แต่ถ้าเราบอกว่า สติไม่เกิด ไม่ระลึก แสดงว่าไม่มีปัจจัยพอ ที่จะทำให้สติปัฎฐานเกิด แต่ไม่ใช่เราไปแสวงหาว่า แล้วเราจะทำยังไงงั้นไม่ใช่ ไม่มีทางทำ แต่ว่าเราเรียนมาแล้วทั้งหมด ก็คือว่าเราจะต้องเข้าใจถูกจริงๆ เป็นสัจจญาณ เพราะว่าถ้าสัจจญาณไม่มี กิจจญาณ กตญาณก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีเรื่องเดียว หน้าที่เดียว คือฟังสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ กำลังฟังเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน เรื่องนามธรรม เรื่องรูปธรรม เพื่อที่สติปัฏฐานจะได้ระลึกได้ ถ้าเราไม่ฟังก็ไม่มีทาง เหมือนการเตือน ขณะที่ฟังครั้งหนึ่ง ก็เท่ากับเตือนให้เรารู้ครั้งหนึ่งว่า เรามีปัญญารู้สภาพเห็นแค่ไหน หรือยังไม่มีเลย ถ้ายังไม่มี เราก็รู้ว่าเราจำชื่อ จำเรื่อง แล้วก็เข้าใจเรื่องราว
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 63
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 65
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 66
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 71
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 77
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 92
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 120