ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80


    ตอนที่ ๘๐

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ผู้ฟัง ขณะที่เดินทางมา บางทีก็เห็นสัตว์นอนตายอยู่กลางถนน ความรู้สึกทุกครั้งก็เห็นแค่ว่า ความตายนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่บางคน ขณะเห็น เขาระลึกถึงความเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่สามารถที่จะระลึกถึงในสภาพอย่างนั้นได้ เพียงแต่เคยได้ยินอาจารย์พูดอยู่เสมอว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็คือสิ่งที่เราสามารถเห็นได้ แต่พอเห็นเป็นความตายทุกครั้งก็ไม่สามารถที่จะระลึกเป็นลักษณะอย่างนั้นได้เลย

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษาปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าถ้าเราไม่ศึกษาปรมัตถธรรม ก็เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา ที่เห็น แล้วก็เป็นคนอื่นที่เขาระลึกได้ แต่เราระลึกไม่ได้ แต่แท้ที่จริงแล้วทุกคนอยู่ในโลกของตัวเอง เปลี่ยนโลกย้ายโลกแลกโลกกับใครไม่ได้เลย คือขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้น ถ้าขณะนั้นไม่คิดเรื่องคน ก็จะเป็นจิตประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่จิตคิด เช่น จิตเห็น ก็จะเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตได้ยินก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตคิดก็เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่เห็นแล้วก็ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้นความคิดของแต่ละคนก็หลากหลายตามการสะสม เราจะแลกความคิดกันไม่ได้ ใช่ไหม หรือว่าคนนั้นเขาสติปัฏฐานเกิดแต่เราไม่เกิด นั่นคือขณะนั้นคิด ความจริงไม่มีเขา และไม่มีเรา แต่เมื่อไหร่ที่คิดว่ามีเขาคือเขามี เมื่อคิด แต่ถ้าคุณปรียาไม่คิดเลยถึงเขา ขณะนั้นเป็นเห็น ขณะนั้นเป็นเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่เขาคนที่คุณปรียากำลังคิด เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตขณะหนึ่งๆ ว่าขณะนั้นเป็นอะไร ให้รู้ว่าไม่มีเราเลย เป็นชั่วขณะที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ทุกคนก็มีโลกคนละใบกับความคิด หลังจากที่เห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วคิดแล้วคิดว่ามั่นคงถาวร ก็ยังมีความเป็นสัตว์ เป็นบุคลอยู่ ถ้าเราศึกษาโดยที่เราไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เราก็จะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากการที่เราศึกษา แต่อย่าลืมว่าเราบังคับสภาพธรรมใดๆ เลย เหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดก็คือ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจธรรมถูกต้องเพิ่มขึ้น ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจธรรมถูกต้องเพิ่มขึ้น ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องรอ สติปัฏฐานก็มีปัจจัยเกิดขึ้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือเราเรียนไปด้วยความเป็นเรา และก็ต้องการด้วย คือต้องการกุศล และก็ต้องการสติปัฏฐาน แต่ที่จริงถ้ารู้จนจรดกระดูกจริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และทุกอย่างจะเกิดได้เมื่อมีเหตุปัจจัย การเรียนของเราก็เรียนแบบอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่า ทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยอกุศลเกิดได้ไหม ไม่ได้ อกุศลเกิด และทำอะไรได้ไหม ใครจะทำอะไรกับอกุศลที่เกิดแล้ว เพราะอกุศลที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ก็ยังเป็นทุกข์อีกใช่ไหม ทั้งๆ ที่อกุศลเกิดแล้วดับ ก็ยังอุตส่าห์เป็นทุกข์ เพราะว่าไม่รู้ความจริงว่า แม้แต่ขณะที่เป็นทุกข์ หรือกังวล หรือไม่ชอบอกุศลนั้น ก็คือสภาพธรรม จนกว่าจะทุกอย่างเป็นธรรม นี่คือการที่เป็นจิรกาลภาวนา

    ผู้ฟัง มานะเป็นเครื่องกั้นของปัญญา กั้นอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ มานะเป็นอกุศล ตรงข้ามกับฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นคนที่มีมานะเข้าใจว่าตัวเองรู้ เขาก็จะไม่แสวงหาความรู้เพิ่มเติมหรือว่าที่ถูกต้องได้ และปัญญาก็คือความรู้

    ผู้ฟัง ที่ว่าพระโสดาบันท่านละทิฏฐิความเห็นผิดนั้น ก็คือเป็นสักกายทิฏฐิ ด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สักกายทิฏฐิ เป็นต้นตอของทิฏฐิ ที่เป็นความความเห็นผิดทั้งหมด

    ผู้ฟัง ทำไมท่านไม่รู้สึกว่าเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ เห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรม เพราะท่านอบรมเจริญปัญญาเห็นถูกตามลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณ

    ผู้ฟัง แต่ว่าอนาคามีท่านก็ยังความเป็นตัวตน ด้วยความเป็นมานะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ด้วยทิฏฐิ ด้วยโลภะ ด้วยมานะ แต่ไม่ใช่ด้วยทิฏฐิ

    ผู้ฟัง เป็นคนละองค์ธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดจะไม่,uเลย หลังจากที่เป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง แต่ท่านยังมีความเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ ด้วยอะไร ด้วยมานะ ด้วยโลภะ แต่ไม่ใช่ด้วยทิฏฐิ

    ผู้ฟัง รบกวนให้อาจารย์ช่วยแสดงว่า ความเป็นตัวตนด้วยมานะ ด้วยโลภะ ด้วยทิฏฐิ ในรายละเอียด หรือว่ายกตัวอย่าง

    ท่านอาจารย์ ปริเฉทที่ ๑ โลภมูลจิต ๘ ดวง ที่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เพราะว่าเวลาที่มีความเห็นผิด เราไม่เห็นโลภะ เห็นแต่ความเห็นผิด แต่ขณะนั้นต้องมีความติดข้องในความเห็นนั้น จึงเห็นอย่างนั้น ถูกต้องไหม เราทำไมไม่เห็นอย่างอื่น เพราะว่าเราไม่ได้ติดข้องในความเห็นอย่างอื่น แต่เรากำลังติดของในความเห็นอย่างนั้น เวลาที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น จะไม่เห็นลักษณะของโลภะ แต่เห็นความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะใดที่ไม่มีความเห็นผิดก็มีโลภะมีความติดข้อง แล้วแต่ว่าเราจะติดข้องในอะไร ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส โผฏฐัพพะแล้วแต่ แต่เวลาที่มีความสำคัญตนเกิดขึ้น คนละขณะกับเวลาที่มีความเห็นผิด เพราะเหตุว่าโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะมีมานะเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่มีมานะเกิดร่วมด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นต่างขณะกัน บางคนก็ไม่ยอมเลย บอกเวลามีมานะมันไม่สบาย เหมือนกับเป็นโทสะ ใครที่มีมานะ สบายไหม ไม่สบาย แต่ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่โทมนัสเวทนา แต่ลักษณะของความเป็นเรา มีชั่วขณะหนึ่งซึ่งไม่ใช่โทสะ เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่พยายามที่จะเข้าใจว่า มานะกับโทสะ คนละขณะจิต เพราะว่าสำหรับเขาเหมือนกับขณะใดที่มีโลภะเกิดขึ้นเขาไม่สบายใจ แต่ถ้าเขารู้ว่าใครเป็นผู้ตรัสรู้ ใครเป็นผู้ทรงแสดง ความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อกันของจิต เหมือนอย่างเห็นกับได้ยิน ใครจะบอกได้ว่าเป็นอย่างเดียวกัน แต่ว่าใครจะแยกได้ว่าไม่ใช่ขณะเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาถึงระดับที่สามารถที่จะรู้ได้

    ผู้ฟัง อยากจะให้อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า มานะ

    ท่านอาจารย์ ความสำคัญตน เวลาที่มีมานะ โดยที่ว่าไม่มีคนอื่นได้ไหม แต่มีความสำคัญตน ได้

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า สติปัฏฐานเกิดขึ้นตอนที่หลับได้ไหม

    ท่านอาจารย์ หลับเป็นภวังคจิตใช่ไหม ไม่รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และขณะที่เป็นสติปัฏฐานรู้อารมณ์หรือเปล่า รู้ ทางไหน

    ผู้ฟัง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน เวลาที่เรานอนหลับ เป็นภวังค์ ระหว่างนั้นจะมีการรู้อารมณ์ทางอื่นบ้างได้ไหม เช่นฝัน

    ผู้ฟัง ทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ คือคิดนึก ทางมโนทวารใช่ไหม คือคิดเรื่องราวต่างๆ โดยที่ว่าสิ่งนั้นไม่ปรากฏจริงๆ ขณะนั้นไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน เพราะฉะนั้นความต่างของฝันกับไม่ฝันที่เป็นมโนทวารก็คือว่า เวลาที่ไม่ใช่ฝัน ก็มีการเห็น แล้วมโนทวารรู้สิ่งนั้นต่อ ทางหูที่กำลังได้ยินขณะนี้ แล้วบอกว่าเราไม่ได้ฝัน เพราะมีเสียง และมโนทวารก็รู้เสียงนั้นต่อ เวลาที่เรารู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปกติ และมโนทวารรู้ต่อ เราบอกว่าเราไม่ได้ฝัน แต่มโนทวารก็ยังต้องเป็นมโนทวาร จะเป็นทางอื่นไม่ได้ ฉะนั้นมโนทวารมีทั้งที่รับรู้อารมณ์ต่อจากตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือแม้ว่าไม่มีอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลย เราก็นึกคิดได้ แต่ขณะนั้นเราก็ไม่ได้บอกว่าเราฝัน เช่นในขณะนี้ คิดนึกได้แต่ไม่ได้บอกว่าฝัน แต่ความจริงแล้วก็มีอารมณ์ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ว่าเราไม่ได้สนใจในสิ่งนั้นเลย แต่เวลาที่นอนหลับสนิท อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นเวลาฝัน ไม่ใช่เห็นได้ยินอย่างนี้ แต่ว่ามโนทวารจำเรื่องราวต่างๆ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ จึงปรากฏเป็นฝัน และถ้าสติปัฏฐานจะเกิดขณะนั้น เป็นทางมโนทวาร ถ้าตื่นขึ้นมายังรู้ว่าขณะนั้นเพิ่งระลึกลักษณะของสภาพธรรม หรือถ้าไม่ตื่น เรื่องราวของความฝันก็มาต่อ มาปิดบังได้ เหมือนกับว่าสติระลึกรู้ในขณะที่กำลังฝัน เพราะว่าเป็นการสลับกันของสภาพธรรมทางปัญจทวาร ทางมโนทวารพวกนั้น คือสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แล้วแต่ว่าจะมากหรือจะน้อย จะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัว ถ้าสติปัฏฐานปกติไม่เคยเกิดแล้วไปเกิดในฝันได้ไหม ได้อย่างไร ปกติก็ยังไม่เกิดเลย แล้วก็จะไปเกิดในฝัน ฝันถึงสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง มันเป็นเรื่อง ฝันว่าเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าสติไม่ได้เกิด

    ท่านอาจารย์ ฝันเป็นเรื่อง ขณะนั้นไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด ขณะนั้นต้องมีความไวพอที่จะรู้ว่าสติปัฏฐานเกิดแล้วตื่น รู้เลยว่าเมื่อกี้กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไร แต่ถ้าไม่ตื่นความฝันก็มาต่อ ก็เป็นเรื่องราวอื่นไป แล้วมากล่าวว่าสติปัฏฐานเกิดในฝัน แต่ตามความจริงต้องเป็นผู้ที่ตรงแล้วก็รู้จริงๆ ว่าขณะที่สติปัฏฐานเกิดนี่คืออย่างไร ถึงได้ถามคุณหมอว่าปกติธรรมดาสติปัฏฐานไม่เกิดเลย แล้วไปเกิดในฝันได้ไหม

    ผู้ฟัง อย่างคนที่มีงานทำเยอะ ไม่ทราบจะมีปัจจัยอะไรที่เกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวเลย ถ้าเช่นนั้นก็มีเราเป็นกฎเกณฑ์ แต่เราสามารถที่จะรู้ได้ว่า จริงๆ แล้ว โลภะ เขาจะอยู่ข้างหน้าบ้าง อยู่ข้างหลังบ้าง อยู่ข้างๆ บ้าง โดยเราไม่รู้ตัวเลย พยายามหาสถานที่ ไม่ต้องทำอะไรเลย อยากให้สติปัฏฐานเกิด แล้วผลเป็นอย่างไร กับการที่เราไม่ห่วงใย เราอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ และรู้ว่าการที่จะละความเป็นตนได้ ต่อเมื่อปัญญารู้ทั่ว ทั่วคือไม่ว่าเมื่อไหร่ที่สติเกิด ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ความจริงในขณะนั้น เพราะว่าเวลาที่สติปัฏฐานเกิด เป็นขณะที่อบรมปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่สติระลึก ไม่มีเวลาอื่นอีกแล้ว ถ้าเป็นเวลาอื่น ก็เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่คิดนึกตรึกตรอง เป็นระดับขั้นคิด เฉพาะเวลาที่สติระลึกเท่านั้น ที่ปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งน้อยมาก เหมือนจับด้ามมีด จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์ ถึงจะรู้ว่าถ้าไม่มีสติปัฏฐานเกิดทีละเล็กทีละน้อย ปัญญาระดับนั้นก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ขณะที่ฝันนี้เป็นวิถีจิตทางมโนทวาร ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ฉะนั้นขณะที่ฝัน จิตจะมีรูปปรมัตถ์เป็นอารมณ์ได้หรือ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่นอนหลับ คิดว่าฝัน ได้ยินสลับบ้างได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เห็นสลับบ้างได้ไหม มีใครเปิดไฟ

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ กลิ่นปรากฏบ้างได้ไหม แต่เรื่องราวในฝันก็ปิดบัง เพราะความรวดเร็วเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้นจิตจึงมีหลายประเภท โมหมูลจิตก็มี ใช่ไหม ทำให้ไม่รู้สึกตัวในขณะนั้น เพราะฉะนั้นสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนี้เป็นอย่างไร มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดเมื่อไหร่ เราเลือกไม่ได้เลย แต่เราสามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นสติปัฏฐาน ขณะใดไม่ใช่สติปัฏฐาน อาจจะเป็นสติปัฏฐานชั่วนิดเดียวแล้วก็เป็นเรื่องฝันต่อไปเลย เพราะฉะนั้นความเล็กน้อยของขณะที่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็มีเรื่องราวต่างๆ เกิดสืบต่อ ก็จะทำให้เราคิดว่าเราฝัน แต่ว่าต้องเป็นผู้ตรง ถ้าเป็นผู้ที่สติปัฏฐานเกิดจริงๆ ผู้นั้นก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน แต่ส่วนใหญ่จะตื่น เพราะว่ามีสติที่เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น แต่ข้อสำคัญที่สุดคือทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องสงสัย ไม่ใช่เรื่องอยาก ไม่ใช่เรื่องไม่อยาก แต่เป็นเรื่องที่อะไรจะเกิดก็เกิด แล้วอาจหาญร่าเริง ตรงไหนเมื่อไหร่ที่จะรู้ความจริงว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะว่าจริงๆ แล้ว กว่าจะอาจหาญร่าเริงได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นมาก มั่นคง ไม่อย่างนั้นเราก็จะหวั่นไหว เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องมโนทวาร เรื่องปัญจทวาร ว่า ฝันกับไม่ฝันต่างกัน

    ผู้ฟัง ขณะที่เดินทางมา เวลาเห็นลูกหมูบ้าง คนเลี้ยงโคบ้าง ก็ระลึกถึงเรื่องราวในพระสูตรต่างๆ ทำให้จิตใจน้อมระลึกถึงคุณของพระบรมศาสดาว่า พระองค์ขณะที่ตั้งปฏิญาณตนที่จะเป็นพระพุทธองค์ ท่านก็คงจะรู้ว่าแน่นอนท่านจะต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย และต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ทั้งที่เป็น มนุษย์ สัตว์ เทวดาบ้าง พรหมบ้าง ทำให้มีความระลึกถึงพระคุณของท่านมาก แต่ว่านี้ก็เป็นปัญญาซึ่งมีน้อยมาก ก็ระลึกได้แค่นี้ เป็นเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวของพระสูตรซึ่งได้รู้แค่เล็กน้อย แต่เพราะสูตรยากๆ ต่างๆ ไม่สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้

    ท่านอาจารย์ วันนี้ยัง วันต่อไปก็เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ขอถามคุณอรรณพ เรื่องก่อนตรัสรู้ อภิญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นอย่างไรถึงแจ้งหมด

    อรรณพ ณ สถานที่ตรงนี้ ในวันที่ตรัสรู้ พระองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นพุทธวิปัสสนา คือเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องพิจารณา จึงจะได้บรรลุ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

    ผู้ฟัง ที่พระองค์ท่านได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาทจนได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นระดับเราซึ่งเป็นสาวกหรือว่าเป็นผู้ที่น้อมที่จะประพฤติตาม แล้วก็เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ โดยมากคนคิดว่าปฏิจจสมุปบาท เป็นชื่อ แล้วก็เป็นหัวข้อ เป็นองค์ธรรมแต่ละองค์ ใช่ไหม เช่นอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ขณะนี้ เราสามารถจะรู้ได้ไหมว่าเป็นปัญญาหรือเป็นอวิชชา เราไม่จำเป็นต้องไปเรียงตามลำดับ แต่ว่าความเข้าใจของเราที่เพิ่มขึ้น ยังไงก็ต้องไปถึงองค์ของปฏิจจสมุปบาทแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้จักอวิชชาเลย แล้วเราจะมีปัญญาได้ไหม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นอวิชชา อยู่ที่ไหน และเมื่อไหร่ เป็นปฏิจจสมุปบาทอยู่ในหนังสือ หรือว่าขณะไหนที่เห็น แล้วก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น ก็จะทำให้เข้าใจจริงๆ ว่า เพราะไม่รู้ จึงจะต้องมีการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ โดยนัยที่กลับกัน คืออวิชชานี้เป็นเรื่องที่จะทำให้ก่อให้เกิดสังสารวัฏฏ์ แต่ว่าปัญญาจะทำให้ละคลายจากสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้นก็เป็นขณะที่เราสามารถที่จะเข้าใจตัวอวิชชาได้ในขณะที่เป็นความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าขณะนั้น ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นระดับขั้นของการคิดนึกหรือการพิจารณา แม้แต่ในยามที่ตรัสรู้ พอเราพูดถึงว่าทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐานอยู่ที่ไหน ไม่ได้พูดสักคำ เพราะฉะนั้นบางคน ซึ่งเป็นคนที่เผลอ ก็จะคิดว่าเมื่อพิจารณาปฏิจจสมุปบาทแล้วก็ตรัสรู้ได้ แต่ว่าไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะทรงแสดงหนทางไว้ว่าจะต้องมีการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ผู้ที่ไม่เคยฟังธรรมมาก่อนเลยไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลยว่า สติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะ หรือสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนนี้คืออย่างไร แต่ผู้ที่อบรมพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ พร้อมทั้งบารมีที่จะถึงกาลที่จะตรัสรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏกับปัญญาที่สามารถเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ เพราะจริงๆ แล้ว ขณะนี้เป็นธรรม แต่ทำไมไม่เข้าใจ เพราะว่าอวิชชา และทำไมถึงไม่สามารถที่จะรู้ได้ถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะว่านอกจากอวิชชาแล้ว ยังมีโลภะเป็นเครื่องฉาบทา เพราะฉะนั้นปัญญาจึงไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมได้ ตราบใดที่ยังมีอวิชชา และยังมีความติดข้อง แต่ถ้าคอยอบรมบารมี บารมีทุกบารมี ก็สามารถจะค่อยๆ ขจัดความเป็นเรา แม้ว่ายังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม แต่พระมหากรุณาคุณตั้งแต่เริ่มสร้างปณิธานที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงถึงพระมหากรุณาต่างระดับกับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครก็ตามในขณะนี้ ที่ใคร่จะเกื้อกูลช่วยเหลือให้คนอื่นเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม เทียบกับพระมหากรุณาของพระองค์ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าผู้ที่สามารถจะทำได้ในยุคนี้ คือผู้ที่ศึกษาตามที่ได้ทรงตรัสรู้ และได้ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่มีการตรัสรู้เลย และมีผู้ที่บำเพ็ญพระบารมีถึงกาลที่ควรที่ปัญญาระดับนั้น และการละคลายความติดข้องที่ได้สะสมมาเป็นบารมีต่างๆ สามารถจะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ สามารถที่จะสละละความเป็นเรา ประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรม เป็นวิปัสสนาญาณ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี จนถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นก็เป็นปัญญา และบารมีซึ่งต่างระดับขั้นกันมาก การที่เราได้ฟังธรรมมาแล้วบ้าง ในอดีตจะเป็นกี่ชาติก็ตามแต่ บางกาล เรายังมีการคิดถูก เห็นถูก เช่น เราอาจมีการตรึกขึ้นมาว่า ที่ใดมีกิเลสที่นั่นก็มีปัญญาได้ หมายความว่าตัวกิเลสซึ่งเกิด ก็สามารถจะทำให้ปัญญาสามารถรู้ถูก เห็นถูก เข้าใจถูกว่า กิเลสเป็นธรรม เพราะฉะนั้นการสะสมของแต่ละคนที่ผ่านมา ก็เป็นเครื่องที่แสดงให้เห็นว่ามีการที่เป็นปัจจัยที่จะให้มีการตรึก ตามแนวของการที่จะเข้าใจธรรม และก็สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมได้ สำหรับผู้ที่เคยสะสมอบรมมาแล้ว แต่ไม่ใช่อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างระดับกันมาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    24 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ