ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84


    ตอนที่ ๘๔

    ท่านอาจารย์ จะต้องรู้ว่าความเข้าใจที่ถูกคือปัญญา ซึ่งต้องอาศัยการฟัง จะมากหรือน้อย อยู่ที่ฟังมากหรือฟังน้อย ฟังมากหรือฟังน้อยอยู่ที่ฟังแล้วเข้าใจมากหรือเข้าใจน้อย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่ามีวิธีการที่จะไปให้ปัญญาเกิดมากๆ แต่ว่าต้องรู้ว่า เมื่อเป็นความเข้าใจแล้ว ก็จะต้องอาศัยการฟัง การไตร่ตรอง และการเข้าใจขึ้น ไม่มีวิธีอื่น อันนั้นก็เป็นความเห็นถูก ถ้ามีความมั่นคงในการเข้าใจธรรม เราจะรู้เลยว่าปัญญาคือความเข้าใจ แล้วเราจะไม่ทำอย่างอื่นทั้งหมด เพราะเหตุว่ายังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมี จะไปทำอะไรที่จะให้เข้าใจ จะทำอย่างไรก็ไม่เข้าใจ

    พระ เราก็ไม่ต้องเรียนวิปัสสนาเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คนที่พูดว่าเรียนวิปัสสนา หรือทำวิปัสสนา ไม่ได้เข้าใจว่าวิปัสสนาคืออะไร

    พระ ตามที่อาตมาเข้าใจคือการมีสติ คอยตามดูการเคลื่อนไหวของจิต มันคือ วิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ วิปัสสนาคือปัญญาที่สามารถจะประจักษ์ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ แต่อย่าลืมว่า ถ้าใช้คำว่า”ปัญญา” หมายความถึง ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กำลังเห็น เข้าใจลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรม ที่เป็นจิตที่กำลังเห็นหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจจะไปทำอย่างอื่นอย่างไร ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ภาวนาคือการอบรมให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้น ให้เจริญขึ้น ให้เพิ่มขึ้น เพราะ ภว คือการเกิด หรือการมี ซึ่งถ้าเราพูดว่าเรามีปัญญาแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไร ถ้าจะบอกว่าจะใช้ปัญญา ก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะเรามีปัญญาจะใช้แล้ว แต่ถ้าเราเข้าใจว่าปัญญายังไม่มี ต้องอบรมเจริญให้เกิดขึ้น อันนี้จะถูกหรือจะผิด

    พระ วิธีการของอาจารย์คือ ให้เรียนมาก ให้ฟังมาก จะเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะปัญญาคือความเข้าใจ ถ้าทิ้งความหมายอันนี้แล้ว จะผิดหมด

    พระ แสดงว่าต้องใช้ปัญญาธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ใช้ปัญญาไม่ได้เลย เพราะไม่มีปัญญา ต้องเจริญให้เกิดขึ้นให้มีขึ้นก่อน

    พระ วิธีการที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น ในความรู้สึกของอาจารย์ มันคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ เข้าใจหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น

    พระ แล้วจะให้เข้าใจอย่างไร เพราะที่ท่านพูดมาเข้าใจหมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดเองไม่เข้าใจ ต้องฟังพระธรรม

    พระ ควรจี้เข้าไปเลยว่า ต้องเข้าใจในลักษณะอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้อง นี่คือความเข้าใจผิดว่า ไปบังคับไปทำ แต่จริงๆ แล้วภาวนาคือ จิรกาลภาวนา จิระ แปลว่ายาวนาน กาล แปลว่าเวลา ถ้าเราจะปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง ต่อให้เป็นต้นที่ขึ้นยากเย็นสักเท่าไหร่ ก็ยังง่ายกว่าการที่จะอบรมเจริญปัญญา ให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ เพราะเหตุว่าปัญญา ไม่ใช่เป็นการที่เพียงฟัง ซึ่งการฟัง เป็นขั้นต้นจริงๆ อย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวว่า เข้าใจจากการฟัง แต่พระธรรมมี ๓ ระดับ ปริยัติศาสนา คำสอนเรื่องสภาพธรรม เราไม่เคยรู้มีจิต ไม่รู้มีเจตสิก ไม่รู้ว่ามีรูป ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา แต่จากการฟัง ทำให้เรารู้ว่า อนัตตาคืออะไร เพราะเราได้ยินบ่อย คนเราเกิดมาที่อยู่ที่นี่เมืองไทย ไม่ได้ยินคำว่า อนัตตา คงยาก หรือว่าไม่ได้ยินคำว่า ทุกขัง อนิจจัง ก็คงยาก เพราะว่า ๓ คำนี้ไปด้วยกัน คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แสดงถูกในขณะที่พูดนี่ว่าทุกคนต้องชินหูกับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่อะไรเป็นอนิจจัง อะไรเป็นทุกขัง อะไรเป็นอนัตตา ต้องมีความเข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจแล้ววิปัสสนาไม่ได้เด็ดขาด จะไปทำวิธีอื่นก็ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่ต้องเข้าใจว่า อนิจจังหมายความถึง สภาพธรรมใดที่เกิดสภาพธรรมนั้นดับ ทันทีเร็วมาก ถ้าดับช้า คนก็สามารถที่จะประจักษ์ได้ อย่างเกิดแล้วก็ดับตอนตาย จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ความโกรธเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัย ความโกรธก็หมด ไม่ได้โกรธทั้งวันทั้งคืน ความติดข้อง ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่ใช่ว่าชอบสิ่งนั้นตลอดชีวิต เห็นเกิดขึ้นก็ต้องดับ ถ้าเห็นยังไม่ดับ จิตที่จะได้ยินเกิดขึ้นได้ยินไม่ได้ แสดงถึงความรวดเร็วของสังขารธรรม หรือสังขตธรรม ที่ว่าธรรมใดเกิด ธรรมนั้นดับ สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ลักษณะที่เกิดดับ ไม่ประจักษ์จึงเห็นว่า เป็นสิ่งน่าต้องการ เพราะว่าเห็นว่ามีอยู่ตลอดเวลา กลิ่นหอมนี้ก็หอมอยู่นาน สิ่งที่สวยก็ยังสวยอยู่ มองไปทีไรก็น่าดู แต่ถ้ารู้ความจริงว่า ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม นับเป็นสีสันวรรณะที่ปรากฏทางตา เกิดแล้วดับ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ต้องประจักษ์ลักษณะที่เป็นอนิจจัง จึงเห็นว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่าพอเราป่วยไข้ที่หนึ่ง ก็เป็นทุกข์ เราค้าขายขาดทุนทีหนึ่ง ก็เป็นทุกข์ เรามีเรื่องญาติพี่น้องเป็นทุกข์เดือดร้อน เราก็เป็นทุกข์ ไม่ใช่เลย นั้นเป็นทุกข์จร แต่ว่าทุกข์จริงๆ คือทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดแล้วดับ จึงจะเข้าใจซึ้งถึงความหมายของคำว่าอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ของเราหมด แขนของเรา ผมของเรา แต่จริงๆ แล้ว รูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็นความร้อนก็มี รูปที่เกิดจากอาหารก็มี ชื่อว่ารูปธรรมแล้วจะไม่เกิดจากสมุฏฐานหนึ่ง สมุฏฐานใด คือธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิด ๑ใน ๔ นี้ ไม่มี อย่างนี้ไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่มีจิตไม่ต้องเกิดจากจิต แต่เกิดจากอุตุ คือความเย็น ความร้อน ที่เหมาะควร ที่พืชพันธุ์ชนิดนี้จะเกิด แล้วก็จะมีดอกเมื่อถึงกาล รูปอื่นนอกกายทั้งหมด เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็นหรือความร้อน แม้แต่เสียงที่เราได้ยิน ก็ต้องมีธาตุที่เหมาะสม ที่จะทำให้เสียงเกิดขึ้น โดยการกระทบกัน ถ้าไม่มีอะไรกระทบ เสียงก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้าสิ่งที่กระทบไม่อ่อนไม่แข็งกระทบไม่ได้ ก็สืบสาวราวเรื่องไปจนกระทั่งถึงว่าทุกอย่างที่เกิด เกิดแล้วก็ดับ จึงเป็นอนัตตา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านี้ เป็นรูป เพราะฉะนั้นจะเป็นของเรา หรือจะเป็นเราได้อย่างไร ในเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นมีตา เกิดขึ้นมีหู เกิดขึ้นแขน เกิดขึ้นเป็นศีรษะ เกิดขึ้นเป็นร่างกาย ก็มีเหตุที่จะให้รูปนี้เกิด เหมือนกับรูปข้างนอก รูปข้างนอกก็มีเหตุให้เกิด รูปนี้ก็มีเหตุให้เกิด แล้วจะเป็นของใคร เพราะว่ากำลังเกิดดับ อยู่ตลอดเวลา จิตใจก็ไม่ใช่ของใคร เราบอกว่าเป็นเราโกรธ ความจริงโกรธเกิดขึ้นเป็นลักษณะโกรธแล้วก็ดับ โกรธที่ดับไปแล้ว อยู่ที่ไหน ถ้าใช้คำว่าดับก็เหมือนกับไฟดับ ไฟที่ดับแล้วไม่มีที่อยู่ เพราะฉะนั้นความโกรธที่เกิดแล้วดับก็หมด แต่ก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นรูป ไม่ว่าเป็นความโกรธ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็ตาม ล้วนเป็นอนัตตาคือไม่ใช่ของใคร และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้แล้วไปทำวิปัสสนาอย่างไร ไม่มีความเข้าใจเลย วิปัสสนาคือขณะนี้ คือการเริ่มต้นของการที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรม ซึ่งถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจ จะมีการเริ่มต้นที่จะเป็นวิปัสสนา เพราะฉะนั้น วิปัสสนาคือปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่กำลังเป็นจริงอย่างนี้ ซึ่งต้องอาศัยการฟังคือการอบรม นี้คือการตั้งต้น ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ถ้าทำอย่างอื่นแล้ว อย่างไรๆ ก็ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่วิปัสสนา

    พระ มีสำนักวิปัสสนาขึ้นมา ก็ยังต้องถือว่าไม่ถูกต้องใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นการถือ แต่ว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น สำนักนั้นทำให้เข้าใจสภาพธรรม ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ตามปกติหรือเปล่า ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ผู้ฟังสามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดดับ เพราะว่าท่านเหล่านั้นสะสมปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรม มีสำนักปฏิบัติที่ไหนสำหรับคฤหัสถ์ ท่านอนาถบิณฑิกะ เป็นผู้เลิศฝ่ายทานของอุบาสก ไม่มีสำนักของท่านอนาถบิณฑิกะเลย วิสาขามหาอุบาสิกาก็เป็นผู้เลิศทางฝ่ายอุบาสิกาผู้ถวายทาน ก็ไม่มีสำนักของอุบสิกาวิสาขา ในครั้งนั้นไม่มีสำนักปฏิบัติ เพราะเหตุว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องปฏิบัติหน้าที่ของธรรมนั้นๆ โลภะปฏิบัติกิจของโลภะ คือติดข้อง จะไปปฏิบัติกิจของโทสะไม่ได้ โทสะเกิดขึ้น ขุ่นใจ จะไปปฏิบัติกิจของโลภะ ติดของไม่ได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจคำว่าอนัตตาแล้ว ก็คือสภาพธรรมใดปฏิบัติ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่สภาพธรรม ซึ่งเป็นเจตสิก คือสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ๘ ชนิด ไม่ใช่เราเลยใช่ เพราะฉะนั้นต้องการอบรมคือการฟังให้เข้าใจ ความเข้าใจนั่นคือปัญญา และปัญญานั่นเองที่กำลังฟังในขณะนี้ วันหนึ่งก็จะทำให้สามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม เพราะเจตสิกซึ่งเป็นมรรคเกิดขึ้น ทำกิจ ระลึกตรงลักษณะซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ขณะนี้เป็นเพียงการฟังเรื่องราวให้เข้าใจก่อน เพราะฉะนั้นธรรมคือธรรม ถูกคือถูก ผิดคือผิด ความเห็นถูกเป็นความเห็นถูก ความเห็นผิดคือความเห็นผิด ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ถ้าไม่ทำให้เกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง ที่นั่นก็ไม่ใช่แสดงธรรม หรืออบรมปัญญา ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    พระ เนื้อหาตามหลักสูตร เกี่ยวกับเรื่องปัญญา ที่ได้ยินมาเห็นบอกว่ามีอยู่ ๓ ระดับ คือ สุตมยปัญญา เป็นการที่เกิดจากการฟัง เช่น อาจารย์พูด จินตมยปัญญา เป็นการคิดนึก ตามคำพูดที่อาจารย์พูด ทั้งสองอย่าง ยังไม่สามารถรู้เห็นธรรมในระดับละเอียดได้ เพราะเป็นปัญญาแบบตรรกศาสตร์ ปัญญาที่เราเรียนกันในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย อยากจะรู้ธรรมในระดับที่ลึกลงไปภายในจิตใจตัวเอง ต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการภาวนา คือการจ้อง การมอง การเข้าไปศึกษาอย่างละเอียด

    ท่านอาจารย์ ภาวนาไม่ได้หมายความถึง การจ้อง การมอง และ ๓ ระดับนี้ต้องอาศัยกัน ถ้าไม่มีการศึกษาขั้นฟัง จะเอาอะไรมาพิจารณา จะเอาอะไรมาเข้าใจ แล้วถ้าไม่มีการฟัง การเข้าใจ จะเอาปัญญาที่ไหน มารู้ความจริงของสภาพธรรม

    พระ ปัญญาที่ตัดกิเลสได้ คงจะไม่พอ ความคิดเห็นส่วนตัว แค่สุตมยปัญญาคงไม่พอ ต้องเอาสุตมยปัญญา พัฒนากลายเป็น ภาวนาปัญญา

    ท่านอาจารย์ ใครภาวนา ขณะนั้น

    พระ เป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวเรา ก็เอาตัวเราออกไม่ได้ ไม่มีปัญญาที่จะเห็นธรรมตั้งแต่ระดับต้นว่า เป็นอนัตตา

    พระ ขอแย้งอาจารย์ แย้งด้วยความศรัทธา อาจารย์อาจจะแยกคำพูดมากไป คือมีความหมายทางคำพูด ทางภาษามากไป อยากจะเอาเนื้อหาจริงๆ ไม่ต้องไปแยกว่า ปัญญาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นภาษา เป็นการให้ความหมายทางถ้อยคำ อาตมาพูดว่าเราต้องเป็นผู้เจริญ อาจารย์ตีไปว่า เราไม่ได้ เราไม่เห็น คืออันนั้นก็เข้าใจแล้ว แต่ว่าในที่นี้พูดว่าก็ต้องเรา เราจะจัดกิเลส ก็จะเป็นคนอื่นได้อย่าง

    ท่านอาจารย์ มรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นด้วย สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว อบรมเจริญไม่ได้ และองค์อื่นก็จะเป็นสัมมามรรคไม่ได้

    พระ อย่างที่เราเรียน เรียนสุตะ จินตะ อย่างที่อาจารย์ว่า แล้วเราก็ไปปฏิบัติเลย หรือเอาที่เรียนมาปฏิบัติ ปฎิบัติให้เป็นปัจจุบันธรรม ขณะนั้นจะเรียกว่าเป็นภาวนาปัญญาได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดยังไม่รู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ ขณะนั้นก็อบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะว่าเป็นเราทำ

    พระ นั่นคือรายละเอียดในภาวนามยปัญญา

    ท่านอาจารย์ มิได้ คือผู้ที่จะอบรมเจริญภาวนาไม่ได้หมายความว่าต้องไปสำนัก ไปนั่ง ไปจ้อง ภาวนาคือการอบรมปัญญา ตั้งแต่ขั้นฟังเดี๋ยวนี้ นี่คือขั้นต้น นี้คือกำลังภาวนาอยู่ คือกำลังอบรมอยู่ที่จะให้ปัญญาเกิดตามลำดับขั้น เพราะเหตุว่าถ้าขั้นต้นฟังไม่เข้าใจ แล้วจะไปประจักษ์ว่า ขณะนี้เป็นนามธรรม กำลังเกิดดับ ไม่ใช่เรา เป็นไปไม่ได้เลย เป็นเรื่องของความเข้าใจ ถ้าเราตัดคำว่าปัญญาในภาษาบาลี และมาใช้คำภาษาไทยว่าเข้าใจ เราจะรู้เลยว่าเราเข้าใจหรือเปล่า เราไปนั่งอย่างนั้นเราเข้าใจอะไรหรือเปล่า กำลังเห็นขณะนี้ เราเข้าใจเห็นหรือเปล่า เราเข้าใจลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมหรือเปล่า ในเมื่อกำลังไปนั่งทำ ปัญญาไม่เกิด

    พระ ฟังแล้วยังไม่จุใจ ขออภัยด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าอ่านประวัติของพุทธสาวก อดีตชาติแสนกัปป์มาแล้ว ทั้งนั้นเลย เวลาที่มีข้อความในพระไตรปิฏกว่า บุคคลนี้ได้บรรพชาอุปสมบทในเวลาไม่นาน ก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม มีข้อความอธิบายว่า ในเวลาไม่นาน ๑๐ ปี ๑๖ ปี ๒๐ ปี ๖๐ ปี และเราจะทำอะไรกับการที่เราฟังวันนี้ แล้วเราจะไปปฏิบัติ

    พระ ที่ฟังมา ที่อ่านมา เข้าใจหมดแล้ว แต่ถามตัวเองหมดกิเลสหรือยัง ตอบได้เลยว่าอย่างไรก็ไม่หมด

    ท่านอาจารย์ มิได้ เข้าใจไม่หมด

    พระ ถ้าเราจะทำเข้าใจหมด เราก็ต้องพัฒนาปัญญา

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังจนกว่าจะเห็นจริงๆ ว่าเป็นอนัตตา

    พระ บัดนี้ก็เห็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ยัง กำลังฟังเรื่องนิดเดียว

    พระ เห็นทั่วโลก ทั่วจักรวาล ไม่เห็นอะไรที่ไม่เป็นอนัตตา อาตมามองเห็นจนขนาดที่ว่า

    ท่านอาจารย์ นี่ไม่ได้มองเห็น อันนี้ฟังชื่อ และเข้าใจความหมายว่า อนัตตาหมายความว่าอย่างนี้

    พระ นี่คือความเข้าใจในระดับหนึ่งใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่พอใจ ยังไม่พอเลย

    พระ เพราะเหตุนั้นอาตมาเลยคิดว่ามันไม่พอ เราจะต้องสร้างปัญญา อย่างกระชั้นชิด ให้สว่างไสว

    ท่านอาจารย์ นี่คือจุดที่ทุกคนจะไปผิด เป็นจุดหันเห ที่จะทำให้เกิดมิจฉามรรค เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฏก ไม่ได้มีแต่สัมมามรรค มิจฉามรรคก็มี เหมือนกับมรรคทุกอย่าง ๘ องค์เหมือนกัน แต่ว่าเริ่มต้นด้วย มิจฉาทิฎฐิ ความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะ มิจฉากัมมันตะ มิจฉาวาจา มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสมาธิ มิจฉาสติ เหมือนกันทุกประการ แต่เป็นมิจฉา ทำไมทรงแสดงไว้ ครบ ๘ แต่ว่าเป็นมิจฉา เพราะฉะนั้นผู้ฟังต้องละเอียดจริงๆ ว่าไม่ต้องการอะไร แต่ว่าขณะนี้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมระดับฟัง หรือระดับที่สติอีกขั้นหนึ่ง เราพูดถึงสติ แม้แต่การฟัง เราต้องเข้าใจว่าในขณะที่ฟัง สติเกิด แต่เราไม่เคยรู้ เหมือนกับเวลาที่เราทำความดี เราไม่รู้เลยว่าขณะนั้น มีสภาพธรรมที่ดี ที่ใช้คำว่าเจตสิกเกิด อย่างน้อยที่สุดฝ่ายดีเจตสิก ๑๙ ชนิด มีทั้งศรัทธา มีทั้งหิริ มีทั้งโอตตัปปะ มีทั้งอโลภะ มีทั้งอโทสะ แต่เราไม่รู้ เพราะว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นทำกิจการงานของเขา แต่ว่าสภาพธรรมนี้จะปรากฏทีละอย่าง เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ จะต้องรู้อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏให้รู้ทีละ ๑ เท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราคิดว่า เราเห็นความเป็นอนัตตา พอบอกปุ๊บเราเข้าใจเลย เป็นอนัตตาหมด

    พระ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะรู้อย่างไรว่าตรงนี้เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่มีคำถามอันนี้ หมายความว่า โลภะกำลังทำกิจของโลภะว่า จะรู้อย่างไร แต่ถ้าปัญญา ทำกิจของปัญญา คือขณะนี้เข้าใจแค่ไหน แล้วก็จะต้องเข้าใจอีก ฟังมากขึ้นอีกจนกว่าสติจากการฟังเป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฎฐานเกิด เพราะเหตุว่า สติมีหลายขั้น ที่กำลังจะกล่าวถึงเมื่อกี้ว่ากำลังฟังนี้ก็ต้องมีสติ กำลังให้ทานก็ต้องมีสติ คือเราคิดว่าเป็นเราให้ แต่ความจริงสติระลึกเป็นไปทาน จึงมีการให้ทานเกิดขึ้น ขณะที่วิรัติทุจริตไม่ฆ่า ขณะที่จะฆ่าแล้วไม่ฆ่า จะพูดไม่จริงแล้วหยุดพูดไม่จริง ขณะนั้นเพราะสติระลึกเกิดขึ้น ที่จะไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นเจตสิกที่ดี ที่เกิดขึ้นขณะนั้น ทำกิจในขณะนั้น เพราะฉะนั้นสติขั้นฟัง ขั้นฟังเรื่องราว ต้องฟังจนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่มีสติระดับนี้ระดับเดียว สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ เป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงฟังเรื่อง แต่เมื่อเข้าใจเรื่อง จิต เจตสิก รูป สภาพนามธรรม รูปธรรม ความเป็นอนัตตาหมดแล้ว เป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงแต่งให้ มีการระลึกทันที ขณะนี้กำลังแข็งปรากฏ ตั้งแต่เช้ามาแข็งปรากฏบ่อยเหลือเกิน จับช้อนก็แข็ง หยิบแปรงสีฟันก็แข็ง แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แม้แต่สติที่เป็นกุศลก็ไม่เกิด แต่ถ้าสติปัฎฐานเกิด ลักษณะที่แข็งปรากฏกับสติที่กำลังระลึก ที่จะรู้ว่าขณะนั้น มีสภาพที่รู้แข็ง ซึ่งแต่ก่อนนี้เป็นเรา แต่เดี๋ยวนี้กำลังรู้ว่าลักษณะรู้เป็นอย่างนี้ อาการที่กำลังรู้เป็นอย่างนี้ และลักษณะที่แข็งก็เป็นอีกอย่าง นี่คือรู้ความต่างกันขณะที่สติเกิดกับหลงลืมสติ นี่คือการอบรมเจริญภาวนา ซึ่งจะทำให้ประจักษ์แจ้ง การเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม แต่ไม่ใช่ไปสำนัก ไม่ใช่ไปนั่งจ้องหรือทำอะไร แต่เป็นการที่รู้ความต่างกัน ของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะเหตุว่าใครจะบังคับให้สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ เหมือนกับถ้าเสียงไม่กระทบหู ใครจะบังคับให้ได้ยินเกิดก็ไม่ได้ สำหรับคนที่ไม่มีโสตปสาท หูหนวกไปแล้ว ต่อให้มีเสียง ใครจะไปบังคับให้จิตได้ยิน เกิดได้ยินก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสติปัฎฐานอีกระดับหนึ่ง ใครจะไปจงใจ ไปที่ไหน ไปตั้งใจ ทำอย่างไรที่จะให้สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานเป็นอนัตตา จะเกิดต่อเมื่อมีความเข้าใจจริงๆ ในหนทางซึ่งเป็นสัจจญาณ เพราะฉะนั้นทรงแสดงธรรมไว้ละเอียดมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการอบรมเจริญภาวนาว่า จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจในญาณ ๓ รอบ คือสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็ไปเอาคนที่ไม่มีปัญญามานั่งจ้อง ให้ประจักษ์การเกิดดับของนามรูป เป็นไปไม่ได้เลย หรือบอกเขาว่ามีนามมีรูปเป็นอนัตตา แล้วให้เขาไปนั่งดูนามดูรูป ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่การเข้าใจสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งละเอียดยิบ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าสติจะเกิดหรือสติไม่เกิด ก็ต้องรู้ว่าเป็นแต่เพียงแต่สภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นการทวนกระแสของโลภะ เพราะฉะนั้นความยากของพระธรรมอยู่ที่ว่า สัตว์โลกคุ้นเคยกับความติดข้องต้องการ ต้องการทุกอย่าง รูปก็ต้องการ เสียงก็ต้องการ กลิ่นก็ต้องการ รสก็ต้องการ สัมผัสที่ดีๆ ก็ต้องการ กุศลก็ต้องการ อยากได้บุญมากๆ นี่คือความเป็นไปของโลก คือมีความติดข้อง แต่พระพุทธศาสนา ชี้เลย โลภะหรือความติดข้องเป็นสมุทัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ตั้งของความทุกข์ทั้งปวง เราต้องเข้าใจเลยว่า ทวนกระแสของความต้องการ ซึ่งคอยมาในชีวิตประจำวันอยู่โดยตลอด ถ้าเป็นไปกับโลภะก็ไม่มีทาง

    พระ แสดงว่าเราจะต้องอบรมจิตของเรา ให้มีสติรู้ตัวกับการเคลื่อนไหวภายในใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่หวังถึงขั้นนั้น หวังไม่ได้ แต่ว่า ค่อยๆ ฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น แล้วปัญญาเขาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    26 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ