ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
ตอนที่ ๙๕
ท่านอาจารย์ แต่พระธรรมเหมือนกระจกจริงๆ ที่จะทำให้รู้ว่า ขณะนั้นกำลังเป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งเพียงคิด การกระทำใดๆ ของคนนั้นหมดไปแล้ว แท้จริงไม่มีแต่ละคน มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เกิดแล้วดับไปหมดเลย ถ้าใช้คำว่า “ดับ” หมายความว่า ไม่กลับมาอีก เช่น ไฟที่เกิด และดับ ไฟนั้นกลับมาอีกหรือเปล่า หรือว่าอาศัยเชื้อไฟใหม่ที่จะทำให้ไฟใหม่เกิด ไม่ใช่ไฟเก่ากลับมา ฉันใด จิตแต่ละขณะตั้งแต่เริ่มเข้ามาอยู่ในห้องนี้จนถึงเดี๋ยวนี้ เกิดดับนับไม่ถ้วน ตามเหตุตามปัจจัย เช่น เสียงที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เสียงเมื่อกี้นี้ เพราะฉะนั้นจิตที่ได้ยินเสียงเมื่อกี้นี้ไม่ใช่จิตที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ สภาพธรรมถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า เร็วกว่าที่ใครจะประเมินได้ว่า เกิดดับเร็วสักแค่ไหน เพราะฉะนั้นเวลาที่จะพูดถึงกุศลจิต อกุศลจิตให้ทราบว่า พูดถึงจิตแต่ละขณะ และให้ทราบว่า ถ้ามีแต่นามธรรมอย่างเดียวไม่มีรูปเลย ไม่มีใครสามารถรู้สภาพจิต แต่เวลาที่มีการกระทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง พอที่จะรู้ว่าเกิดจากจิตอะไร เช่น เสียงดุ เสียงด่า ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นอกุศลเพราะมีรูปที่เกิดจากจิต เสียงที่เกิดจากจิตมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้เสียงเปล่งออกมาด้วยจิตเองนั้น ถ้าเป็นเสียงซึ่งมีความกรุณา มีความเมตตา ใครกำลังเป็นทุกข์ พูดให้เขาสบายใจ เข้าใจในเหตุในผล เสียงนั้นเกิดจากจิตที่เป็นกุศล หรือการกระทำทางกาย เช่น การทะเลาะวิวาท การดุด่า การเฆี่ยนตีต่างๆ ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นการช่วยเหลือแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เช่น เวลารับประทานอาหาร บางคนลืมแม้แต่จะเพียงคิดว่า มีคนนั่งไกลจากอาหารมาก ถ้าส่งไปให้เขาๆ จะได้รับประทานด้วย ไม่ใช่อยู่ตรงหน้าเราๆ ก็รับประทานไปคนเดียว ขณะนั้นเพียงเอื้อมมือไปหยิบอาหารส่งให้เป็นกุศลจิตแล้ว เพราะฉะนั้นจิตที่ดีงามไม่ใช่ว่าต้องมีวัตถุ ทานเป็นแต่เพียง ๑ ใน ๑๐ ของบุญ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จะทราบว่า “บุญ” คือ สภาพจิตที่ดีงาม ไม่ต้องถามใครอีกต่อไปว่า เป็นบุญไหม ได้บุญมากไหมเพราะว่า เราย่อมรู้ใจของเรา คนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่า ใจเราคิดอย่างไร ขณะใดที่จิตอ่อนโยน มีความเป็นมิตร และช่วยเหลือคนอื่น ขณะนั้นเป็นบุญ หรือว่าเป็นกุศลจิต หรือขณะที่จิตอ่อนโยน สละสิ่งที่มีให้เป็นประโยชน์สุขแก่คนอื่น ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้นกุศลจิตไม่ใช่เป็นเพียงแต่การให้วัตถุ บางคนถามว่า จะได้ผลมากหรือน้อย ไปคิดถึงผล แต่ถ้าเป็นธรรมจริงๆ คนที่เข้ามาสู่พระธรรมจะรู้ว่า ถ้าเป็นผู้ตรงจะเข้ามาด้วยความนอบน้อมต่อการที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่า สิ่งใดไม่ดีพึงละเว้นสิ่งนั้น สิ่งใดดีพึงประพฤติสิ่งนั้น เท่าที่จะประพฤติได้ สะสมได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม ไม่ได้เข้ามาโดยที่ว่า เรียนเก่ง รู้ธรรมมาก จะไปเป็นครูอาจารย์ จะได้ลาภ ได้สักการะ แม้แต่เพียงการชมเชย จึงไม่ใช่เป็นผู้ที่เพื่อสิ่งนั้น ถ้าเพื่อสิ่งนั้นแล้วจะไม่ได้สาระจากพระธรรม แต่ว่าจะได้ความเมาในความรู้ ในความเก่ง หรืออาจจะในลาภสักการะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาเพื่อประโยชน์จริงๆ เพราะเหตุว่า พระธรรมถ้าไม่ศึกษาก็สูญ พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัตถุเลย แต่อยู่ที่ความเข้าใจของชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธไม่เข้าใจ พระธรรมสูญแน่นอน ไม่มีการที่จะดำรงสืบต่อไป มีพระไตรปิฎกจริง แต่เปิดแล้วไม่รู้เรื่องหรือว่าเข้าใจผิด ขณะนั้นจึงไม่ใช่การสืบต่อพระศาสนา เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ มีความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย แม้แต่พระธรรมควรนอบน้อมโดยการศึกษา โดยการพิจารณาด้วยความละเอียดเพื่อที่จะให้ไม่บิดเบือน ไม่เข้าใจผิดในพระธรรม เพราะถ้าเข้าใจผิดจะผิดกันไปตลอด ไม่ตรงกับที่ทรงแสดงไว้ เท่ากับว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความเคารพในพระธรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเคารพในพระธรรม สิ่งใดที่ถูกคือถูก สิ่งใดที่ผิดคือผิด และต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ และต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะแก้ เพราะว่า เราไม่ใช่ผู้รู้ในพระธรรมทั้งหมดทั้ง ๓ ปิฎก และอรรถกถาซึ่งละเอียดมาก แต่เป็นผู้ที่จะต้องศึกษา และช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ยังไม่ได้ศึกษา ให้ได้มีความเข้าใจในพระธรรม นี้เป็นสิ่งซึ่งจะต้องตั้งจิตไว้ชอบแม้แต่การศึกษา มิฉะนั้นจะไม่ได้สาระจากคำจริง
เรื่องบุญคงจบแล้ว เป็นนามธรรม เป็นจิต เจตสิก ที่ดี ขณะนี้เป็นธรรมเพราะอะไร มีจริงๆ โดยไม่ต้องเรียกชื่อ “ปรมัตถธรรม” หมายความถึงสิ่งที่มีจริงแม้ไม่เรียกชื่อ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาต้องเรียกไหม แต่มีปรากฏแล้ว เสียงปรากฏทางหูต้องเรียกไหม แต่เสียงมีปรากฏ และหมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น “ปรมัตถธรรม” หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกว่าอะไรเลย และ “สาธารณะ” คือ ทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะในพุทธศาสนา เพราะ “พุทธะ” คือ ผู้ตื่น ผู้รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธ แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ในโลก นอกโลก ทั้งหมดที่มีจริงๆ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เช่น “แข็ง” เฉพาะคนไทยเท่านั้นหรือที่รู้แข็ง เฉพาะคนใช้ภาษาไทยเท่านั้นหรือถึงจะรู้แข็ง แต่ไม่ใช่เลย จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ อังกฤษ จีน ไทย ได้หมด จะเรียกแข็งว่าอะไรก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของแข็งไม่ได้ นี้คือความหมายของ “ธรรม” “ปรมัตถธรรม” “อภิธรรรม” จิตมีจะไม่เรียกจิตก็ได้ จะใช้ภาษาอะไรก็ได้แต่เปลี่ยนลักษณะของจิตไม่ได้ นี้คือ “ปรมัตถธรรม” ผ่านมาแล้ว ๒๕๐๐ กว่าปีแต่ยังมีโอกาสได้ฟังเรื่องรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ปรมัตถธรรม เหมือนผู้ที่ไปเฝ้าที่พระวิหารเชตวัน ทรงแสดงธรรมอย่างไรที่พระวิหารต่างๆ ในอดีต สิ่งเหล่านั้นจารึกเป็นคำสอนที่สามารถจะให้อ่านได้ แล้วรู้ถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีย้อนไป และกาลข้างหน้าอีก ๒๕๐๐ กว่าปี จะอยู่ที่ไหน ไม่ทราบใช่ไหม แต่ ๒๕๐๐ กว่าปี เราต้องอยู่ และต้องมีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ได้ยินเสียงพระธรรม และเสียงที่สามารถทำให้เข้าใจธรรมได้ แต่ว่าถ้าเป็นเสียงรถ คนไหนก็ได้ยิน เสียงนกเสียงกา คำพูดอะไรก็ได้ยินแต่เสียงที่จะทำให้รู้ว่า มีปรมัตถธรรมจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นผู้ที่เคยสะสมบุญในอดีต แต่ว่าอย่าเพิ่งพอใจเพราะว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการที่จะต้องเข้าใจธรรมให้ลึกซึ้งขึ้น จนกระทั่งประจักษ์ความเป็นอนัตตาไม่ใช่เราอีกต่อไป เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับ นี้คือผู้ที่เป็น “สาวก” คือ ผู้ฟังพระธรรม เป็น “พหูสูต” คือ ผู้ต้องฟังบ่อยๆ ทุกคนที่จะมีปัญญาต้องเป็นพหูสูต คือ ฟังมาก แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ในวิชชาจรณะที่สรรเสริญพระคุณ วิชชาจะระณะสัมปันโน จรณะ ๑ ของพระองค์คือ พหูสูต ต้องเป็นผู้ที่ฟังจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ แล้วจะไม่ฟังต่อไปหรือ
ผู้ฟัง ฟังมาเรื่อย ทั้งชีวิตนี้ฟังเรื่องเกี่ยวกับธรรม แต่ว่าไม่แน่ใจว่า เป็นเฉพาะบุคคลหรือเป็นเฉพาะของตัวเองว่า เมื่อได้ฟังแล้วเข้าใจในพระธรรม แต่พอออกจากวัดแล้ว หรือว่าออกจากสถานที่นั้นแล้วลืม
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่ใส่ใจ สนใจ วันนี้อยู่ตรงไหนก็รู้ว่า เป็นธรรมทั้งหมด มีบุคคลหนึ่งไปแสวงหาธรรม เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก แต่พอเข้าใจธรรมเพียงแค่ลืมตาก็รู้ว่า เป็นธรรม จะไม่มีวันพ้นจากธรรมเลย ทุกอย่างที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ เป็นธรรมทั้งนั้น ถ้าจะให้เข้าใจละเอียด ควรฟังบ่อยๆ หรืออ่านหนังสือ ต่อไปก็จะอ่านพระไตรปิฎกด้วยตัวเอง
ผู้ฟัง การบวชไม่ว่าจะบวชชีพราหมณ์หรือถือศีลที่วัด มีคนถามว่า จัดอยู่ในบุญประเภทไหน
ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่า “ศีล” คืออะไร จึงจะรักษาศีล เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง หรือการบวชใช้คำว่า “บรรพชา” หมายความถึงการสละ เรื่องของความติด เราติดกันมามากมายตั้งแต่เกิด วันนี้ก็ติด เมื่อเช้านี้ก็ติด อาหารอร่อยไหม ไปที่ไหนอย่างไร นี้คือ เรื่องติดทั้งหมด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เรื่องละ ใครจะช่วย ติดกันมากมายเหลือเกิน ติดกันมาแล้วมากๆ เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วเห็นคุณ ท่านสละอาคารบ้านเรือนในครั้งพุทธกาล สละวงศาคณาญาติ สละทุกอย่างเพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต เพราะแท้ที่จริงแล้วการที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ ฟังธรรมเพื่อสละความเป็นเรา อันนี้ก่อนอื่นเลยเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือว่า ยังมีเราหรือเป็นเรา ทั้งๆ ที่รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่อ่อนหรือแข็ง ก็เหมือนอ่อนหรือแข็งที่อื่นคือ แค่อ่อนหรือแข็ง แต่ยังสละไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด ยังคงเป็นเรา สภาพธรรม เช่น ความดีใจ ความเสียใจ ในแสนโกฏิกัปป์ ดีใจคือดีใจ เสียใจคือเสียใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีก มีปัจจัยก็เกิดแล้วดับแต่ยังเป็นเราในขณะนี้ เพราะฉะนั้นปัญญาจริงๆ คือ ขั้นแรกสละความเป็นเรา แต่กว่าจะสละความเป็นเราได้ ลองคิดดู สละของยังง่ายกว่าใช่ไหม ให้ใครยังพอจะให้ได้ แต่สละความเป็นตัวตนหรือเป็นเราต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นความยากของการที่จะสละความเป็นเรา ท่านเริ่มจากการสละอาคารบ้านเรือนในเพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้นในครั้งนั้นเลย พุทธบริษัทมี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แม้ในครั้งนี้หรือครั้งต่อไปจะมีเพียงเท่านี้ แต่ว่ากาลสมัยผ่านมาพระองค์ทรงเห็นว่า เพศหญิงไม่เหมาะไม่ควรต่อการที่จะทรงเพศบรรพชิตเป็นภิกษุณี จึงทรงวางกฏไว้จนกระทั่งขณะนี้ไม่มีภิกษุณี เพราะว่าการบวชนี้ยากกว่าภิกษุ ถ้าศึกษาโดยพระวินัยแล้ว เพราะว่าเพื่อป้องกันไม่ให้มีความเสื่อมเสีย ไม่ให้มีการที่พระพุทธศาสนาจะเศร้าหมอง เพราะฉะนั้นในขณะนี้จึงมีเพียงภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา แต่ภิกษุมีสามเณรด้วยแทนที่จะเป็นภิกษุณีจึงเป็น ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เพราะฉะนั้นเรื่องของการถือศีล หรือมีศีล หรือว่าจะรักษาศีล เพราะเห็นประโยชน์ของศีล ไม่ใช่เพราะอยากมีศีล คือผู้ที่เห็นโทษของกายที่ไม่ดี วาจาที่ไม่ดี และเพียรที่จะเห็นประโยชน์ที่จะรักษาการงดเว้นจากคำหยาบ หรือคำพูดที่ไม่จริง “มุสาวาท” หรือคำพูดที่ส่อเสียด หรือคำพูดที่ไร้ประโยชน์ เพ้อเจ้อ ผู้นั้นในขณะใดที่เจตสิกชนิดหนึ่ง คือ วิรตีเจตสิกเกิดขึ้นทำหน้าที่วิรัต บางคนบอกว่า เมื่อก่อนเคยพูดไม่ดี แต่พอฟังธรรมแล้วอ้าปากค้างคือ จะพูดแต่ว่าไม่มีคำนั้นเปล่งออกไป เพราะว่าเจตสิกที่เป็นวิรตีเจตสิกเกิดขึ้นวิรัตทุจริตทางวาจา เพราะฉะนั้นเรื่องของศีลคือ เรื่องการเว้นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควร ทางกาย ทางวาจา ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ใครมาสรรเสริญว่า ขณะนี้มีศีล ๘ หรือมีศีล ๕ หรือมีศีลเท่าไหร่ เรียกว่า เป็นเรื่องของการละ ที่มานั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าได้ทราบจุดประสงค์ว่ามาเพื่ออะไรซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุด จุดเด่นคือ เพื่ออะไร การที่จะสอนหรือไม่สอน จะช่วยใครหรือไม่ช่วยใครเป็นเรื่องทีหลัง ไม่ใช่ขณะนี้เดี๋ยวนี้ แต่ว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้ประโยชน์ที่สุด คือ เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังว่า ฟังเรื่องอะไร ฟังอะไร แม้ว่าทุกคนมีทุกอย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ แต่ว่าสิ่งหนึ่งซึ่งไม่มี พอจะคิดออกไหมว่า เราไม่มีอะไร คือ ธรรมเป็นเรื่องที่ถ้าคิดจะได้ความเข้าใจ เป็นผู้ที่ไตร่ตรอง คิดคือ ไตร่ตรอง ไม่ใช่เพียงแต่ฟังใครแล้วเชื่อเลย เป็นไปไม่ได้ เพราะว่า ถ้าฟังผิดก็เชื่อผิดๆ แต่ว่าไม่ว่าจะฟังใครก็ตาม เราไตร่ตรองแล้วต้องเป็นตัวเราเอง แต่ละคนคือแต่ละ ๑ ในที่นี้จะไม่มีใครที่ซ้ำกันเลยในความคิด ซ้ำกันในประสบการณ์ ในเรื่องราวของชีวิตแต่ละคน แต่ว่าถ้าไม่เคยศึกษาพระธรรมมาก่อนเลย แม้ว่าจะมีทุกอย่างทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่สิ่งที่ไม่มีคือ “ปัญญา” บางคนคิดว่า ตัวเองมีปัญญาแล้ว รู้แล้ว เข้าใจแล้ว สามารถที่จะเรียน และทำอะไรได้สำเร็จหลายอย่าง แต่ว่าถ้าเป็นปัญญาจริงๆ หมายความว่า คนนั้นจะเกิดมีปัญญาเอง ยากแสนยาก และจะต้องเป็นปัญญาเพียงขั้นต้นนิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้าจะมีปัญญาแท้จริง และลึกซึ้ง และเป็นปัญญาที่สามารถจะเจริญต่อไปได้ ต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม เพราะทุกคนได้ยินคำว่า “พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” ชื่อนี้เป็นชื่อซึ่งคนอื่นจะมีไม่ได้เลย นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์กี่คนจะใช้ชื่อนี้ไม่ได้เลย สำหรับผู้เดียวคือ ผู้ที่ได้อบรมบารมีถึงขั้นที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม และทรงประกอบด้วยพระญาณคือ พระปัญญาหลากหลาย ที่จะทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนอื่นเกิดปัญญาของตนเอง เพราะฉะนั้นถึงใครจะมีอะไรสักเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ฟังธรรมก็ยังไม่มีสิ่งหนึ่งคือ ปัญญา เพราะฉะนั้นปัญญาที่นี้ไม่ใช่ปัญญาที่เราเข้าใจว่ามี หรือสติที่เคยได้ยิน และครูเคยบอกว่า เด็กคนนี้มีสติปัญญามาก ยังไม่ใช้สติ ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมจริงๆ จะเข้าใจผิด จะไม่รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟังธรรมคือ เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ตั้งแต่เริ่มต้นเพราะเหตุว่า ทุกอย่างต้องมีการศึกษาตามลำดับเป็นพื้นฐาน จะพูดเรื่อง อริยสัจจ์ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ขันธ์ ๕ ธาตุ เป็นเรื่องที่ยังไม่ถึงเพราะปัญญาขั้นต้นยังไม่มี เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจะขาดการศึกษาตามลำดับให้เข้าใจจริงๆ ตามลำดับไม่ได้ ขั้นต้นคือ แม้แต่คำที่ได้ยินชินหูก่อนมาฟังที่นี่คือ การฟังธรรม คิดไหมว่า “ธรรม” คืออะไร แล้วรู้จักธรรมหรือยัง คือถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจะไม่ผ่านแต่ละคำ เพื่อที่จะไตร่ตรองว่า ความรู้ที่เข้าใจว่ารู้หรือคิดว่ารู้ เป็นการรู้จริงๆ หรือเปล่า หรือรู้เพียงชื่อว่า ธรรมเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระองค์สอนเรื่องอะไร ก็ต้องสอนเรื่องธรรม แล้วธรรมคืออะไร เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน แต่ถึงพูดอย่างนี้ก็ยังไม่รู้ว่าอะไรอีก มีใครที่ใหม่ที่สุดพอจะตอบได้ไหมว่าธรรมคืออะไร คิด และตอบเองได้ ลองดู
ผู้ฟัง คิดว่าถ้าทำดีแล้วได้ดี และคิดว่า ทุกวันนี้มีทุกอย่างถึงแม้จะไม่ร่ำรวย แต่มีพ่อแม่ที่ดี มีสามีที่ดีมาก ตัวเองมีความรู้ มีความสุขสบาย พอมาถึงจุดนี้รู้สึกว่า มีความสุขมากทุกๆ วัน
ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่รู้จักธรรมใช่ไหม
ผู้ฟัง ยังไม่รู้จักเลย
ท่านอาจารย์ ถึงมีอะไรทั้งหมดก็ยังไม่รู้จักธรรม ธรรมคือ สิ่งที่มีจริงๆ สิ่งใดที่ทรงแสดงสิ่งนั้นไม่เปลี่ยนพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ ไม่ใช่ไปนึกคิดไตร่ตรองเป็นหลายๆ ปีแล้วเอามาแสดง แต่ว่าจากการอบรมมากมายมหาศาลถึง ๔ อสงไขย แสนกัปป์ เป็นเวลาที่ยาวนานมาก ตั้งแต่เกิดจนถึงขณะนี้ไม่สามารถจะนับขณะจิตได้เลยว่าเท่าไหร่แล้ว และนับไม่ถ้วน ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ชีวิตนี้ ผ่านไปทีละ ๑ ขณะโดยไม่รู้ตัว โดยไม่มีการนับ แต่ผู้ที่รู้จริงๆ สามารถที่จะทรงแสดงขณะจิตทีละ ๑ ขณะว่า ขณะนั้นเป็นธรรมอะไร อย่างไร เพราะฉะนั้นธรรมคือ สิ่งที่มีจริง เกิดมาจริง แต่ไม่รู้ว่าที่เกิดเป็นธรรมที่เกิด เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรมจากการตรัสรู้ ถ้าศึกษาธรรมจะไม่ยากตรงที่ว่าคำไหนที่เข้าใจแล้ว คำนั้นไม่เปลี่ยนแปลง เป็นคำจริงไปตลอดทั้ง ๓ ปิฎกไม่ว่าจะเป็น พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎก “ธรรม” คือ สิ่งที่มีจริง นี้เป็นพื้นฐาน ยังไม่ได้แจกแยกอะไรเลย แต่ให้เริ่มมีความเข้าใจถูกว่า ความหมายของธรรมหมายความเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่กล่าวคำนี้แสดงว่า การที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องหลอก ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดเอา แต่เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริง และทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ทุกอย่างจริง เห็นจริง ได้ยินจริง ความรู้สึกเป็นทุกข์ ปวดเมื่อย เจ็บจริง ความพอใจ ติดข้อง ความรัก ความชังจริง ทุกอย่างจริง เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม นี้เป็นสิ่งแรกที่ควรจะได้ทราบ สำหรับคนที่ใหม่จริงๆ ควรที่จะตั้งต้นว่า ทุกอย่างที่มีจริง มีลักษณะสภาพเฉพาะของสิ่งนั้น เช่น ความโกรธเวลาเกิดขึ้นรู้เลย หยาบกระด้าง ขณะนั้นผิดจากธรรมดาปกติ วันที่ไม่โกรธเป็นคนดี สนุกสนาน รื่นเริง แต่พอโกรธเกิดขึ้นมา หงุดหงิด ขุ่นเคือง หยาบกระด้าง และกายวาจาแข็งกร้าว อาจมีการประทุษร้ายหรือลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นความโกรธ ไม่มีใครบังคับบัญชาธรรมได้เลย เพราะว่าธรรมมีอีกความหมายหนึ่ง หรือมีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ธาตุ” หรือ “ธา-ตุ” เวลาที่พูดถึงธาตุ ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่มีเจ้าของ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ถ้าเป็นธรรมที่มีการเกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ธรรมนั้นเกิด เช่น ความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจ ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจโทสะจะเกิดไม่ได้ ความโกรธจะเกิดไม่ได้ แต่ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ฝุ่น เราไม่ชอบ ไม่พอใจ ขณะนั้นจะบอกให้พอใจก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นของเรา หรือเป็นตัวเรา โดยสภาพแท้จริงคือ เป็นธรรมแต่ละชนิดซึ่งมีปัจจัยให้เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดมีอีกชื่อ ๑ หรือขยายความให้กว้างขึ้นคือชื่อว่า “ปรมัตถธรรม” มาจากคำ ๓ คำที่รวมกันคือ ปรมะ+อัตถะ+ธรรม เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะได้เลย ใหญ่ยิ่งจริงๆ คือ มีปัจจัยเกิดแล้วดับเลย ใครจะไปทันทำอะไรกับสภาพธรรมนั้นได้ นี้คือ ลักษณะของสภาพธรรม บางคนอาจจะเคยไปวัด และเคยได้ยินคนที่แก่วัด หรือเข้าวัดตั้งแต่เด็กจะชินหูกับคำว่า “อนิจจัง” “ทุกขัง” “อนัตตา” อนิจจังคือไม่เที่ยง ทุกขังคือเป็นทุกข์ อนันตาคือไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 63
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 65
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 66
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 71
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 77
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 92
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 120