ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
ตอนที่ ๙๖
ท่านอาจารย์ คนที่แก่วัดหรือเข้าวัดตั้งแต่เด็กจะชินหูกับคำว่า “อนิจจัง” “ทุกขัง” “อนัตตา” อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ทุกขัง คือ เป็นทุกข์ อนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิด หากไม่รู้ตามความเป็นจริงจะไม่รู้เลยว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง เป็นเราไปหมด เป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุ สิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่จากการตรัสรู้ และทรงแสดงก็ได้ประจักษ์ความจริงว่า เมื่อมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ต้องมีความทุกข์เกิดขึ้น เพราะว่า สิ่งใดๆ ก็ตามไม่สามารถจะเป็นไปตามความต้องการของเราได้ ทุกคนอยากสุข แต่ทุกคนก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้ามีการยึดถือสภาพธรรมว่า “เป็นเรา” จะมีความทุกข์แค่ไหน สิ่งที่เคยเป็นเราเปลี่ยนไป แก่ เจ็บ และตาย ซึ่งไม่มีใครพ้นไปได้ ทรงแสดงให้เห็นว่า แม้แต่คำเดียวจากธรรม ก็ต้องเข้าใจอรรถ “ปรมะ” กับ “อัตถะ (อรรถ) ” กับ “ธรรม” ถ้าธรรมไม่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ จะไม่มี “อรรถ” คือ คำที่แสดงความหมายของสิ่งนั้น แต่เพราะเหตุว่าลักษณะของธรรมต่างกัน เช่น เสียงมีจริงๆ เป็นธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ เอาของแข็งมากระทบกันเกิดเสียงแล้วดับ เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อทุกอย่างเกิดแล้วดับเป็นธรรม จึงไม่ทิ้งความหมายนี้ตลอดทั้ง ๓ ปิฎก ถ้าใครถามว่า “ธรรม” คืออะไร ต่อไปจะตอบได้ว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมทั้งหมด ทำไมตอบว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของสภาพธรรมได้ เกิดเพราะมีปัจจัยที่จะเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทุกอย่างที่มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ เช่น ความโกรธ ไม่ต้องเรียกชื่อ จะใช้ภาษาบาลี “โทสะ” หรือความโกรธเรียกเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส จะใช้คำอะไรก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของความโกรธนั้นได้ เพราะความโกรธต้องเป็นความโกรธ มีลักษณะโกรธเกิดขึ้นแล้ว ต้องขุ่นเคือง ต้องหยาบกระด้าง เป็นธรรมทุกอย่างที่มีจริง เสียงมีจริงบังคับไม่ให้เสียงเกิดไม่ได้ เดี๋ยวก็มีเสียง เมื่อมีปัจจัยเสียงจึงเกิด และดับ ไม่ได้อยู่ตลอดไป ทุกอย่างเกิดแล้วหมดทันที นี้เป็นสิ่งใหม่มากสำหรับคนที่ไม่เคยฟังธรรมเลย เพราะคิดว่า “ไม่เที่ยง” คือเมื่อเกิดแล้วค่อยๆ โต แล้วค่อยๆ แก่ แล้วเจ็บ แล้วตาย แล้วมีเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นคือคิดว่าไม่เที่ยง แต่จากการตรัสรู้ “ไม่เที่ยง” เร็วกว่านั้นมาก ทุกอย่างขณะนี้กำลังเกิดดับ ยากที่จะเชื่อ ยากที่จะรู้ได้ แต่ว่าไม่ใช่ไปเข้าห้องทดลอง หรือว่าไปทำอะไรขึ้นมา แต่ต้องเป็นปัญญาที่อาศัยการฟังพระธรรมที่แสดงละเอียดกว่านี้อีกคือ แสดงว่าขณะ ๑ ที่เกิดคืออะไร เป็นธรรมจริงแต่เป็นธรรมประเภทไหน ชนิดไหน เกิดเพราะเหตุปัจจัยอย่างไร ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงได้ จนกระทั่งมีผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาไม่ใช่แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว พระสาวกในอดีตที่เป็นพระอรหันต์บ้าง เป็นพระอนาคามีบุคคลคือ ผู้ที่ดับกิเลสแต่ว่ายังไม่หมดสิ้นอย่างพระอรหันต์ เพียงขั้นพระอนาคามีหรือว่าน้อยกว่านั้นคือ พระสกทาคามีหรือน้อยกว่านั้นคือ พระโสดาบัน สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ในครั้งนั้นมีมาก แต่ก่อนที่จะถึงเวลานั้นคือเวลานี้ คือเวลาที่เริ่มฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจธรรมจนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น จนกว่าจะถึงขณะนั้นคือ “อภิสมัย” สมัยที่ยิ่งใหญ่จริงๆ คือสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมเลย ไม่รู้จักคำว่า “ธรรม” ไม่รู้จักว่า ธรรมเกิดขึ้น และดับไปอย่างเร็วมาก แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว จะค่อยๆ เห็นความจริง ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน อยากละหรือเปล่าตัวตนนี้ หรือว่ามีไว้ก็ดี ตามความเป็นจริง การฟังธรรมต้องทราบว่า ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลส ผู้ดับกิเลสแล้ว ทรงแสดงกับผู้ที่กำลังเริ่มซึ่งยังมีกิเลสมากๆ ความคิดเห็นจะให้เห็นจริงจังอย่างผู้ที่ได้รู้แจ้งแล้วเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อมีกิเลสก็ยังดีที่มีการฟังให้รู้ว่า มีอะไรตรงไหนที่ไม่ดี เพราะว่ากิเลสไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย เป็นสิ่งที่จะนำความทุกข์มาให้ มากหรือน้อยแล้วแต่ว่าเป็นกิเลสที่หนาแน่นแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้ผู้ที่ได้ละความยึดถือตัวตนแล้ว เป็นผู้ที่เห็นถูกต้องว่า เพราะมีตัวนี้ สภาพนี้ จึงแก่ จึงเจ็บ จึงตาย ถ้าไม่มีตาก็ไม่มีโรคตา ไม่มีหูก็ไม่มีโรคหู ไม่มีร่างกายก็ไม่ต้องมีโรคใดๆ เลยทั้งสิ้น สบายไหม ไม่ต้องรับประทานอาหาร ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องทำอะไรตั้งหลายอย่าง แต่พอมีแล้วก็เป็นของเรา ทะนุถนอมอย่างดีเยี่ยมจริงๆ รักมากทะนุถนอม เช้า สาย บ่าย ค่ำ ทำทุกอย่างเพื่อรูปนี้จนกว่าจะเกิดการเห็นว่า รูปนี้เป็นทุกข์อย่างไร ไม่เป็นไปตามใจอย่างไร เป็นเหตุที่นำมาซึ่งความทุกข์ แล้วแต่ว่าจะติดข้องมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องพิจารณาว่า สิ่งที่ได้ฟังแม้ว่ายังไม่เห็นจริงอย่างนั้น ยังไม่ประจักษ์อย่างนั้น แต่เป็นความจริงอย่างนั้นหรือเปล่า เพียงแค่ว่ามีตัวดีหรือไม่มีดี ตอบตามความเป็นจริงเลย ปัญญาระดับไหนคือระดับนั้น กิเลสขณะไหนคือขณะนั้น
ผู้ฟัง ทุกอย่างเป็นธรรม บัญญัติเป็นธรรมหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่มีจริง ที่ปรากฏ ที่มีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นๆ เช่น เสียงมีจริงๆ ทำไมบอกว่ามีจริง เพราะมีการได้ยินเสียง เสียงปรากฏให้รู้ว่า เสียงมีจริงๆ ไม่ใช่ไปนั่งคิด นั่งหลอก ฝันในสิ่งที่ไม่มี แต่ขณะนี้เสียงมี สิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นเป็น “ธรรม”
ผู้ฟัง บัญญัติมีโดยคิด แต่ว่าไม่มีสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ ตอนนี้คงจะยังไม่พูดถึงเพราะว่า ที่ยังไม่รู้จักคือ “ธรรม” ควรจะรู้จักธรรมก่อน และสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม เรื่องราวที่คิดนึกต่างๆ ไม่มีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น
ผู้ฟัง ขอตอบคำถามที่ว่า บัญญัติเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นธรรมโดยปรมัตถธรรมคือ ไม่เป็น ต้องเข้าใจอย่างนี้ อยากจะพูดเลยไปถึงคำว่า ธรรมที่ท่านอาจารย์พูดมาเมื่อสักครู่ ธรรมหรือธาตุ คือความจริงที่ท่านอาจารย์พูดแล้ว ความจริงนั้นคือ ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน มีภาวะของตน ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า “สนฺโต ภาโว สภาโว” ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน สภาพของธรรมที่ทรงไว้มีคุณลักษณะอย่างนั้น ทรงไว้ซึ่งเป็นสภาพที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่อะไรทั้งนั้นคือ ทรงไว้ ซึ่งเป็นความจริงทั้งหมดเลย
ท่านอาจารย์ ตั้งต้นด้วยคำว่า “ธรรม” ก็ยังไม่พอใช่ไหม เพียงแค่เริ่มรู้ว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ว่าธรรมนี้ ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงในเรื่องของสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะละเอียดสักเพียงไหน และถึง ๓ ปิฎก ตามที่ทราบกันคือ ปิฎกที่ ๑ พระวินัยปิฎก ปิฎกที่ ๒ คือ พระสุตตันตปิฎก ปิฎกที่ ๓ คือ พระอภิธรรมปิฎก พระวินัยปิฎกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของบรรพชิตเป็นส่วนๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสาระอื่นเลย มีแม้แต่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรมกับใคร ที่ไหน เช่น โปรดชฎิลหรืออนัตตลักขณสูตรมีอยู่ในพระวินัยปิฎก เพราะพระวินัยโดยศัพท์ที่ท่านผู้รู้บาลี เช่น คุณนิพัทธ์เป็นผู้ที่รู้บาลี “วินยะ” คือ กำจัด การกำจัดกิเลส กิเลสมีมากเหลือเกิน กิเลสที่เกิดแล้วมีทางออกคือ ทางกายหรือทางวาจา เพราะเหตุว่า ถ้าอกุศลจิตเกิดยังไม่มีการประพฤติทางกายทางวาจา ผู้อื่นไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ถ้าถึงกับมีกายที่เคลื่อนไหวไป หรือมีวาจา แสดงให้เห็นแล้วว่า ขณะนั้นจิตเป็นอะไร เพราะว่าจิตซึ่งทุกคนมี กำลังจะไปถึงธรรมว่าตั้งตนด้วยคำว่า “ธรรม” แต่แจกธรรมออกเป็น ๒ ลักษณะที่ต่างกัน คือนามธรรมกับรูปธรรม ก่อนที่จะไปถึงธรรมอื่นซึ่ง ดีก็มี ชั่วก็มี ไม่ดีไม่ชั่วก็มี มีทุกอย่างในตัวของเรา ในโลก แต่ว่าไม่เคยรู้มาก่อนเลย ต่อเมื่อใดที่เริ่มศึกษา เมื่อนั้นจะเริ่มเข้าใจขึ้นว่า ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษาคือขณะนี้ ในเมื่อมีความเข้าใจละเอียดคือ สามารถเห็นว่าเป็นธรรมจริงๆ เพิ่มขึ้น การที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก็น้อยลง แต่ถ้าเพียงรู้จักคำว่า “ธรรม” แต่ยังไม่รู้ว่าธรรมมีอะไรบ้างก็ไม่พอ จะได้ทราบว่า “ธรรม” มี ๒ อย่างที่ต่างกันโดยเด็ดขาด คือ สภาพธรรมอย่าง ๑ แม้เกิดขึ้นจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิน ทางภาษาธรรมใช้คำว่า “รูปธรรม” เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรม ทิ้งความหมายในภาษาไทย และให้เข้าใจความหมายในภาษาบาลีที่ทรงแสดงไว้ ถ้าได้ยินคำว่า “รูปธรรม” หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นแต่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องไตร่ตรอง เสียงเป็นธรรม เป็นรูปธรรม เดิมเข้าใจว่า รูปต้องมองเห็นด้วยตา ถ้าเปลี่ยนความคิดใหม่ จะมองเห็นหรือไม่มองเห็นก็ตาม สภาพธรรมใดก็ตามแม้มีจริงแต่สภาพธรรมนั้นไม่สามารถรู้อะไรได้ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่หิว ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่คิด ไม่จำ ลักษณะนั้นมีแต่เป็น “รูปธรรม” เพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถรู้อะไรได้พอจะยกตัวอย่างได้ไหม ได้ฟังแค่นี้พอที่จะยกตัวอย่างอีกได้ไหมว่า อะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรเลย สิ่งที่มีจริงไม่จำเป็นว่าต้องมองเห็น เช่น เสียงมองไม่เห็นแต่มีจริง เสียงไม่สามารถที่จะรู้ เสียงไม่เห็น เสียงไม่คิด เสียไม่จำ เสียงไม่หิว เสียงไม่โกรธ เสียงไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เพียงปรากฏเมื่อมีของแข็งกระทบกันสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ เสียงเกิดขึ้น และปรากฏเมื่อคนนั้นมี “โสตปสาท” คือ มีหูจึงสามารถที่จะรู้ว่าเสียงมี เพราะฉะนั้นนอกจากรูป คือ เสียง อะไรอีกที่เป็นรูป สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม และสิ่งที่มีจริงมี ๒ อย่าง คือ สภาพอย่างหนึ่งเป็นนามธรรม สภาพอย่างหนึ่งเป็นรูปธรรม ขอยกตัวอย่างรูปธรรมก่อนว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ได้คิดฝัน มีลักษณะปรากฏให้รู้ว่า มีจริงๆ แต่ไม่ใช่สภาพรู้คือ ไม่สามารถจะรู้อะไรทั้งสิ้น ไม่คิด ไม่จำ ไม่เห็น ไม่โกรธ ไม่รัก แต่ว่าเกิดขึ้นมีลักษณะเฉพาะคือ เสียงต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้น ไม่ปรากฏทางตาเพราะมองไม่เห็นเสียง นอกจากเสียงที่เป็นรูป ไม่ใช่มีแต่รูปอย่างเดียวที่เป็นเสียง ลองคิด เพียงแค่ฝันแค่นี้แล้วคิดจะตอบได้ว่า อะไรอีกที่มีจริงแต่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรมเพราะเหตุว่า ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ลองคิดว่ามีอะไรอีกไหม
ผู้ฟัง แข็ง
ท่านอาจารย์ แข็งมีจริงๆ ไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เห็นแข็งได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่เห็นแต่รู้สึก
ท่านอาจารย์ แต่รู้แข็งเมื่อไหร่ เมื่อกระทบกับกายเท่านั้น ถ้าสิ่งใดก็ตามไม่กระทบกายแม้จะจำว่า ร้อน เช่น ไฟ เวลาไฟไหม้รู้เลยว่า ไฟร้อน แต่ร้อนไม่ปรากฏที่กายเพราะเหตุว่าไม่ได้กระทบกาย แต่เมื่อรูปนั้นกระทบกายจะมีลักษณะของรูปที่ปรากฏ คือ เย็น ขณะที่เย็นบอกได้ว่าต้องกระทบกาย จับน้ำแข็ง ถ้าน้ำแข็งอยู่บนโต๊ะ ไม่เย็น ไม่รู้สึกว่าเย็นอย่างไร แต่พอกระทบกายจะมีลักษณะที่ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวปรากฏ นี้เป็นรูปทั้งหมดเลย เพราะว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ และไม่ใช่สภาพรู้ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรม มีอีกไหม นอกจาก เย็น ร้อนอ่อน แข็ง ตึง ไหว เสียง อะไรอีกที่พอจะเข้าใจได้ว่า เป็นรูป เป็นสิ่งที่มีจริง
ผู้ฟัง ร้อน เย็น
ท่านอาจารย์ เย็นหรือร้อนรู้ได้ทางกาย อ่อนหรือแข็งรู้ได้เมื่อกระทบกาย ตึงหรือไหวรู้ได้เมื่อกระทบกายเสียงรู้ได้เมื่อกระทบกับโสตปสาทหรือหู อะไรอีกที่เป็นรูปที่ไม่สามารถจะรู้อะไรแต่มีจริงๆ ในวันหนึ่งๆ ธรรม คือ ชีวิตประจำวัน ทรงตรัสรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน เพราะว่าถ้าขณะนี้ไม่จริง ขณะไหนจะจริง
ผู้ฟัง รักกับโกรธ
ท่านอาจารย์ เป็นความรู้สึกไม่ใช่รูปธรรม ความรู้สึกไม่ใช่รูปธรรม
ผู้ฟัง ทางจมูกมีไหม ทางลิ้นมีไหม
ท่านอาจารย์ ความรู้สึก โกรธเป็นความรู้สึก คนตายมีแต่รูปแต่ไม่โกรธเพราะความโกรธเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม
ผู้ฟัง เค็มกับหวาน
ท่านอาจารย์ ใช่ ถูกต้อง เค็มกับหวานนี้แน่นอนเป็นรูป รู้ได้ทางลิ้น ขนมหวานๆ อยู่บนโต๊ะนี้ไม่มีทางรู้ กระทบลิ้น สัมผัสลิ้นเมื่อไหร่ จะมีสภาพนามธรรมที่ลิ้มรส คือ สามารถจะรู้ว่า รสหวานนั้นแค่ไหน หวานอย่างไร ต้องเป็นนามธรรมที่รู้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย กี่ภพ กี่ชาติ จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเทวดา เป็นเทพ เป็นพรหม ต้องมีสภาพธรรม ๒ อย่างซึ่งต่างกัน คือ “นามธรรมกับรูปธรรม” รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่นามธรรมสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง เห็นก็ได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ๆ กำลังปรากฏ ได้ยินก็ได้ เสียงนี้กำลังเป็นอย่างนี้ๆ เพราะมีสภาพที่กำลังได้ยิน รู้เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเมื่อฟังคำว่า “ธรรม” ต้องเข้าใจคำนี้จริงๆ ได้ยิน ได้ฟังอะไร ขอให้เข้าใจจริงๆ อย่าเปลี่ยนแปลง อย่าไปคิดว่า ก็มองไม่เห็นจะเป็นรูปได้อย่างไร นั้นคือไม่เข้าใจความหมายว่า รูปเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ามองไม่เห็น เช่น หวานมองไม่เห็น เค็มก็มองไม่เห็น ลองคิดดูถึงรสที่รับประทาน จะเป็นกล้วยมีเปลือกอยู่ข้างนอก ต้องปอกออกมา แล้วรสที่อยู่ในเนื้อกล้วย จิตหรือสภาพรู้ยังสามารถจะลิ้มได้ รู้ได้ว่า รสนั้นมีลักษณะอย่างไร รสทุเรียนจิตก็สามารถที่จะลิ้มได้ ขอแค่ให้มากระทบสัมผัสลิ้น จิตซึ่งเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ สามารถจะรู้สิ่งนั้นได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใจร้อนเกินไป หรืออาจจะขอความหมายของคำว่า นามธรรมกับรูปธรรม ก็ได้คือ “รูปธรรม” หมายความถึงสิ่งที่มีจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ส่วน “นามธรรม” ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีรูปร่างใดๆ ทั้งสิ้น ใครจะไปเอาตามองพยายามแสวงหา เอาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ไปจับให้รู้ลักษณะของนามธรรม เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า “นามธรรม” หรือ”นามธาตุ” เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน เป็นธาตุ แต่ว่าธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นธาตุรู้จะไม่รู้ไม่ได้ ถ้าไม่รู้คือ “รูปธาตุ” แต่ถ้ารู้คือ “นามธาตุ” และการรู้ที่นี้ ไม่ใช่รู้อย่างปัญญาว่า สิ่งนี้คืออะไร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ธาตุรู้เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏให้รู้ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง แต่ที่มากกว่านั้น คือ ทั้งทางใจด้วย แต่จะพูดถึงเพียงให้สามารถที่จะเห็นความต่างของลักษณะที่เป็น “นามธรรม” กับลักษณะที่เป็น “รูปธรรม” พอจะแยกได้ใช่ไหม รสไม่ใช่สภาพที่กำลังรู้รส รสไม่รู้อะไรเลย รสในขนม รสในผลไม้ รสก็คือรสซึ่งไม่รู้อะไร แต่มีสภาพที่ลิ้มรสทันทีที่กระทบลิ้น ขณะนั้นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นรู้รสนั้นแล้วดับ ขณะที่เห็นไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย ขณะที่ได้ยินไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย ขณะที่เห็นคือรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตาโดยอาศัยตาขณะนี้ มีลักษณะอย่างนี้ๆ คือ รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้รู้ทางหนึ่งทางใด พอจะแยกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมได้ไหม นี้คือขั้นต้นที่สุด นี้คือพื้นฐาน ไม่ได้อยู่ในหนังสือเลยใช่ไหม อ่อนหรือแข็งไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่อยู่ที่ตัว เวลาที่กระทบสัมผัสมีจริงๆ ได้ฟังธรรมบ้างวันนี้ และเข้าใจเรื่องนามธรรม และรูปธรรม พอใจที่จะฟังต่อหรือพอแล้ว
ผู้ฟัง ก็น่าสนใจ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นจุดที่สำคัญ คนที่ไม่ได้สะสมมาจะรู้สึกว่า เรื่องมาก ยุ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกคนมี ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล น่าจะพอ แต่ว่าถึงจะรู้อย่างนั้นก็ดับกิเลสไม่ได้เลย ยังคงเดี๋ยวก็รัก เดี๋ยวก็ชัง ทั้งๆ ที่รู้ว่า อกุศลไม่ดี ก็ยังมีใช่ไหม ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลดี ก็ยังไม่ได้ทำ หรือว่าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะว่าเป็นอนัตตา แต่ละคนมีอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆ กัน จะเห็นว่า บางคนไม่ได้ฟังธรรมแต่ไม่ค่อยโกรธ และมีเมตตา ตามการสะสม แต่ถึงคนที่ฟังธรรมแล้วแต่สะสมมาที่จะยังโกรธก็โกรธ แต่รู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม บุคคล ๒ บุคคลคนไหนจะดีกว่ากัน
ผู้ฟัง คนที่ไม่ได้ฟังธรรมแต่ไม่โกรธ
ท่านอาจารย์ แล้ววันหนึ่งต้องโกรธแน่นอน เพราะว่า ยังไม่ดับความโกรธ แต่คนที่รู้ว่าเป็นธรรม ค่อยๆ อบรมปัญญา วันหลังก็จะดับความโกรธ ไม่เกิดอีกเลย แล้วถ้าโกรธซึ่งต้องโกรธ ทุกคนก็ต้องโกรธแล้วรู้จักว่า โกรธคืออะไร เป็นเราหรือเป็นสภาพธรรม กับไม่รู้เลยแล้วถือว่า “เราโกรธ” ถ้ายึดถือว่าเราโกรธ ไม่ใช่แค่วันเดียว หลายเดือน หลายปี หลายสิบปี ก็ได้ยังโกรธเรื่องเก่าอยู่ เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรมซึ่งเพียงเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า การฟัง ต้องมีการพิจารณาโดยแยบคาย แม้แต่ผู้ที่กำลังฟัง มีการสะสมอะไร มากน้อยแค่ไหน เห็นคุณประโยชน์ของการฟังจริงๆ หรือเปล่า เพียงแค่นี้ และยังมีอีกมากที่ทรงแสดง และเป็นประโยชน์มากมายมหาศาลจริงๆ เพราะว่าทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่ออนุเคราะห์ให้คนได้เกิดปัญญาถึงขั้นระดับที่สามารถจะดับกิเลสได้ ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักกิเลสเฉยๆ ว่ามี แต่ว่าไม่สนใจที่จะเข้าใจยิ่งขึ้น หรือว่าหนทางอบรมที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงจนถึงขั้นที่สามารถจะดับกิเลสได้คืออย่างไร เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ บางคนฟัง ไม่ใช่ไม่ฟัง พอได้ยินว่ามีธรรมก็อยากฟัง แต่พอฟังแล้ว มากเกินไป ละเอียดเกินไป ยุ่งยากเกินไป ฟังก็เท่านั้น ไม่ฟังก็มีความสุขดีแล้ว ก็จะละเลยหรือทอดทิ้ง คือ ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรมซึ่งทรงแสดง ๔๕ พรรษา สำหรับคนในยุคนั้นไม่ต้องถึง ๔๕ พรรษา เพราะได้อบรมการฟังจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ มาแล้ว เพราะฉะนั้นไม่นานนักก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงสำหรับพวกเรารุ่นนี้ที่จะต้องฟังโดยละเอียด โดยรอบคอบ โดยพิจารณา ให้เป็นปัญญาจริงๆ มิฉะนั้นจะเข้าใจผิดในคำสอนได้ และที่จริงถ้าจะมีเพียงแค่ศีลธรรม ไม่ต้องอาศัยพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 63
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 65
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 66
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 71
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 77
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 92
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 120