ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
ตอนที่ ๙๗
ท่านอาจารย์ และที่จริงถ้าจะมีเพียงแค่ศีลธรรม ไม่ต้องอาศัยพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ พ่อแม่ พี่น้อง ครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูง ชีวิตตามความเป็นจริงที่อาจจะสังเกตแล้วถือเอาสิ่งที่เหมาะ ที่ควร ที่ดี ที่งาม เป็นแบบอย่างที่จะประพฤติตาม โดยไม่ต้องศึกษาคำสอนก็ได้ แต่เมื่อมีโอกาสที่จะเกิดในยุคที่ยังมีคำสอนอยู่ ยังไม่อันตรธาน เพราะว่าคำสอนนี้วันหนึ่งต้องหมดหายไปจากโลกนี้แน่นอน เพราะเหตุว่าไม่มีคนศึกษา ถ้าไม่ศึกษาแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ทรงแสดงธรรมละเอียดมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าพระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมอยู่ที่ความรู้ของผู้ที่เป็นชาวพุทธ ถ้าผู้ที่เป็นชาวพุทธไม่ศึกษาแล้วจะบอกว่า พระพุทธศาสนาเจริญไม่ได้ เพราะศาสนาคือ คำสอนที่ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่วัดวาอาราม หรือไม่ใช่พระไตรปิฎกที่เป็นเพียงตัวหนังสือ สีดำ สีขาว แต่ต้องเป็นการศึกษาจริงๆ เข้าใจจริงๆ ว่า ทั้งหมดที่ทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่า ฟังแล้วจะมีศรัทธา เห็นประโยชน์ว่าเป็นสิ่งที่ควรจะศึกษา เพราะว่าแม้เพียงฟังแค่นี้ปัญญายังรู้ว่า เป็นธรรม เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถ้าฟังมากกว่านี้ ศึกษามากกว่านี้ จะเข้าใจธรรมมากกว่านี้ มีประโยชน์มากกว่านี้ หรือว่าบางคนที่ไม่สะสมมาก็คิดว่าพอแล้ว แค่นี้ก็พอ แค่รู้แค่นี้ก็พอ พอไหม ไม่พอ ก็ดีจะได้ฟังต่อไป
ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์แทนเพื่อนๆ ใหม่ๆ เพราะมักจะเข้าใจว่า เวลามาฟังธรรมหรือไปปฏิบัติอย่างผู้พูดเมื่อกี้บอกว่า ได้บุญ ได้กุศล สะสมบารมี แต่แค่มาฟังวันนี้คงจะพูดกันแค่นี้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจะได้บุญตรงไหน ได้กุศลตรงไหน จะละกิเลสได้ตรงไหน
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นต้องเข้าใจให้ถูกต้องก่อนว่า “บุญ” คืออะไร คือทุกอย่างนี้ ต้องคืออะไร ก่อนที่จะพูดก้าวไกลไปมาก ต้องรู้ก่อนว่าคืออะไร แล้วถึงจะพูดได้ เช่น ธรรมคืออะไร ต้องพูดก่อนแล้วถึงจะบอกได้ว่า ธรรมมี ๒ อย่างคือ นามธรรม และรูปธรรม แต่ถ้าไม่พูดให้เข้าใจว่าธรรมคืออะไร แต่ไปพูดเรื่องนามธรรม และรูปธรรมเลย พูดเรื่องจิต เจตสิก เรื่องธรรมอื่นๆ คงไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้าเข้าใจตั้งแต่ต้นตามลำดับคือ ธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงปัญหานี้ก็ตั้งต้นว่า “บุญ” คืออะไร ถ้ายังไม่รู้จักบุญแล้วเอาอะไร อยากจะได้อะไร บุญอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นเรื่อง “ไม่รู้” ไปตลอด จะต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นที่ถูกต้องในเรื่องของธรรม ถ้ายังไม่มีความเข้าใจละเอียด สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเพียงผิวเผิน เช่น คำว่า “ปฏิปัตติ” จะใช้คำแปลว่าอะไร จะไม่ต้องไปที่ไหน อย่างไร แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่จะให้ผู้ฟังได้ไตร่ตรอง ได้พิจารณาจนเป็น “ปัญญา” แม้เพียงเล็กน้อย แต่เป็นปัญญาคือ เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องธรรม ก็ไม่เข้าใจทั้งหมดเลย แต่เมื่อเข้าใจธรรมน้อยๆ และรู้ว่าธรรมมี ๒ อย่างคือ นามธรรม และรูปธรรม สามารถที่จะพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า ปัญญาที่จะรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้นนั้นคืออย่างไร เพราะฉะนั้นจะถามเพราะว่า ดิฉันเป็นคนที่ชอบถาม ถามให้คิด และให้ตอบตามความคิดของตัวเอง “บุญ” เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง ……
ท่านอาจารย์ ใครก็ได้ที่อยากจะตอบ มี ๒ คำจากคำว่า “ธรรม” แล้วแยกออกมาเป็นลักษณะที่ต่างกันของธรรม ต้องเข้าใจอย่างนี้กระจ่างชัด ไม่ปะปนไม่ใช่คิดว่า ชื่อนี้เข้าใจแล้ว ได้ยินความหมายอย่างนี้เข้าใจแล้ว ไม่ใช่แต่ต้องเข้าใจจริงๆ เพราะว่า เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “บุญ” เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง เข้าใจว่าเป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ ถ้ารูปสวยๆ เป็นบุญหรือเปล่า
ผู้ฟัง รูปสวยๆ เป็นบุญหรือเปล่า อาจจะพูดในความหมายว่า เป็นสิ่งที่เป็นบุญเก่ามาแต่เดิม
ท่านอาจารย์ ไม่ คำถามว่า รูปสวยๆ เป็นบุญหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เสียงเพราะๆ เป็นบุญหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบุญไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทำดีทำชั่วไม่ได้ คิดไม่ได้ อะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของรูปหรือวัตถุจะไม่ใช่บุญ แต่ “บุญ” ต้องหมายความถึงสภาพของนามธรรม ซึ่งนามธรรมแยกไปอีกว่ามี ๒ อย่าง เมื่อสักครู่เรียนเรื่องธรรมแล้ว ธรรมมี ๒ อย่างคือ นามธรรมกับรูปธรรม แล้วทราบว่า รูปมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม ถ้าสิ่งนั้นเกิดแต่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เป็นรูปธรรมทั้งหมด ยกตัวอย่าง เช่น เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อนแข็ง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพียงกระทบตาแล้วปรากฏให้เห็นลักษณะที่กำลังเป็นอย่างนี้ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะทุกคนกำลังเห็นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้มีจริง เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปธรรม แต่นามธรรมมี ๒ อย่างคือ จิตกับเจตสิก บางคนซึ่งยังไม่เคยได้ยินเลยจะได้เข้าใจหรือคิดว่าเข้าใจเฉพาะคำว่า “จิต” จะอ่านหนังสือเล่มไหนก็ตาม จะเป็นจิตวิทยา นักปรัชญา หรืออะไรก็ตามจะมีแต่คำว่าจิต เขาจะใช้คำว่าจิตใต้สำนึกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่มีคำว่า “เจสสิก” เพราะว่าผู้นั้นไม่สามารถที่จะรู้ว่า นามธรรมหรือนามธาตุ ยังต่างกันเป็น ๒ อย่างคือ จิตมีจริงๆ ทุกคนรู้จัก และทุกคนรู้จักลักษณะที่โกรธ ลักษณะที่ชัง ลักษณะที่ชอบลักษณะที่เมตตา ลักษณะที่กรุณา เพราะเป็นชีวิตประจำวันที่มีจริงๆ ทุกคนมี แต่นั่นไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น “เจตสิก” คืออะไร “เจตสิก” คือ นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม เจตสิกเป็นนามธรรมที่ต้องเกิดกับจิต ไม่มีเจตสิกใดเลยซึ่งแยกเกิดตามลำพังโดยไม่เกิดกับจิต และทุกครั้งที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย คำว่า “เจ-ตะ-สิ-กะ” ตามภาษาบาลีต้องออกเสียงทุกตัว ขอให้คำใหม่คือคำว่า “เจตสิก” หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิตไม่แยกกันเลย จิตเป็นสภาพรู้หรือเป็นธาตุรู้ซึ่งต่างกับรูปธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิดขึ้น ไม่รู้ไม่ได้ ขณะนี้เห็นไหม เห็นคือ จิตเห็น ขณะนี้ได้ยินไหม ได้ยิน ได้ยินต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีการได้ยิน เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มี ที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น และคนที่ไม่รู้ความจริงไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า สิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า สภาพธรรมใดก็ตามที่จะเกิดขึ้นอย่างเดียวตามลำพังไม่ได้ ต้องมีปัจจัยสภาพธรรมมาอื่นเกิดร่วมด้วย ปรุงแต่งให้เป็นต่างๆ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้ เช่น ถ้าชอบดอกไม้สวยๆ เพราะจิตเห็น จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ คือ ทางตากำลังเห็น เป็นจิต แต่ว่าชอบไม่ใช่จิต เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ชอบอะไร ชอบสิ่งที่จิตเห็น จะเป็นดอกไม้ จะเป็นเสื้อผ้า จะเป็นอะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นความชอบ ความชังทั้งหมด ความดี ความชั่วอย่างที่ได้กล่าวถึงไปแล้วว่า บาปบุญ คือ เจตสิกไม่ใช่จิต ถ้าจะพูดเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องอะไร แต่ถ้าไม่พูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งมีประเภทใหญ่ๆ คือ ๑ เป็นธรรม ๒ ธรรมคือ นามธรรม และรูปธรรม สำหรับนามธรรมแยกเป็น ๒ อย่างคือ จิตกับเจตสิก เรากำลังศึกษาธรรมที่อยู่ในอภิธรรมปิฎกคือ เป็นธรรมล้วนๆ ไม่มีชื่อว่า เป็นท่านพระสารีบุตร หรือท่านพระมหาโมคคัลลานะ ไม่มีชื่อสมมติเรียกธรรมนั้น แต่ตัวธรรมนั้นมีจริง เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม และทรงบัญญัติคำให้เข้าใจว่า หมายความถึงธรรมอะไร เพราะฉะนั้นเวลานี้ความรู้ของเราเพิ่มขึ้นว่า ธรรมที่มีจริงๆ เป็น “ปรมัตถธรรม” ซึ่งไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมนั้นได้เลย ปรมัตถธรรมซึ่งเกิดอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวันมี ๓ คือ “รูปธรรม” เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้วดับ และไม่รู้อะไรเลย แต่ขณะที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด กำลังชอบสิ่งหนึ่งใดนั้น เป็นนามธรรมทั้งหมด เป็นสภาพธรรมที่เกิดแต่ต่างกันคือ “จิต” เป็นสภาพที่เพียงเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ในการเห็น ในการได้ยิน ในการคิดนึกคือ มีสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ จิตก็รู้ จิตมีหน้าที่รู้อย่างเดียวคือรู้ว่า สิ่งนั้นมีลักษณะอย่างไร เสียงขณะนี้ที่กำลังปรากฏ กำลังได้ยินเสียง จิตได้ยินเสียงนั้นมีลักษณะอย่างไร เป็นหน้าที่ของจิต แต่นอกจากนั้นทั้งหมดคือ “เจตสิก” ซึ่งถ้าจะเพิ่มเติมโดยที่คิดว่า เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ไม่น่าจะเบื่อ เพราะว่าเป็นจริงในชีวิตประจำวัน จะได้ทราบว่า เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด เป็นเจตสิกที่เป็นกลางๆ จะเกิดกับจิตที่ดีก็ได้ เกิดกับจิตที่ไม่ดีก็ได้ ส่วนเจตสิกอีกพวกหนึ่งเป็นเจตสิกไม่ดี เมื่อเกิดขึ้นขณะใดจิต ขณะนั้นจะดีไม่ได้เลย จะต้องไม่ดีประการหนึ่งประการใดคือ เป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ หรือเป็นโมหะ เป็นอิสสา เป็นมานะ เป็นความสำคัญตน และเป็นฝ่ายอกุศลทั้งหมด ส่วนทางฝ่ายกุศลมีที่เป็นโสภณเจตสิก ใช้คำว่า “โสภณ” หมายความถึงเจตสิกที่ดีงาม จะเกิดกับจิตที่เป็นกุศลหรือเจตสิกที่ดีงามทั้งหมด คงจะไม่ยากเกินไป และน่าสนใจที่จะเข้าใจตัวเองว่า แท้ที่จริงแล้วคือ “ธรรม” หลงคิดว่า “เป็นเรา” หรือว่า “เป็นของเรา” แต่ความจริงคือ “ธรรม” ได้แก่ “จิต” และ “เจตสิก” และ “รูป” ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในวันหนึ่งๆ จนกว่าปัญญาจะเห็นจริงว่า เป็นธรรมจริงๆ ธรรมแต่ละอย่าง ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เกิดแล้วทุกขณะ ไม่ใช่เกิดตอนเกิดแล้วไปหมดตอนตาย แต่แม้ในขณะนี้เอง สภาพธรรมที่เกิดก็ดับ และมีปัจจัยทำให้เกิดอีก แล้วเกิดอีกแล้วดับ สืบต่อตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ย้อนไปก็ได้จากขณะนี้ ถึงขณะเมื่อกี้นี้ ถึงขณะเมื่อเช้านี้ ถึงขณะเมื่อคืนนี้คือ จิตเกิดดับสืบต่อ เป็นจิตนานาประเภทไม่ใช่จิตเดียวกัน เหมือนกับแสงเทียนเวลาที่จุดเทียนมีแสงเทียนเกิดขึ้นจากไส้เทียน ไม่ใช่อันเดียวกัน ไส้ไหนที่ทำให้เกิดความสว่างอันนั้นไป อันนั้นก็คืออันนั้นแล้วก็ดับ แล้ว ก็มีไส้ต่อไปที่ทำให้เกิดความสว่างต่อไปทีละ ๑ ขณะ จนกว่าจะหมดไส้คือ หมดเหตุปัจจัย หรือถ้าจะอุปมาเหมือนตะเกียงซึ่งหมดน้ำมัน หมดไส้ ไม่มีการที่จะเกิดอีก แต่ต้องทราบว่า ธรรมนั้นละเอียดยิ่งกว่านี้อีก จำแนกออกเป็นมากมายหลายอย่าง จิตมีถึง ๘๙ ชนิดโดยประเภทใหญ่ๆ และเจตสิกมี ๕๒ ประเภท ส่วนรูปทั้งหมดมี ๒๘ แต่ยังแยกละเอียดออกไปด้วยเป็น “สภาวรูป” “อสภาวรูป”
ผู้ฟัง ธรรมคือ สิ่งที่มีจริง แยกออกเป็น ๒ คือ นามธรรมกับรูปธรรม นามธรรมคือ ลักษณะที่รู้เป็นนามธรรม รูปธรรมคือ ไม่รู้ เรียนถามว่า จิตกับเจตสิกเป็นนามธรรมเกิดขึ้นรู้อารมณ์ การรู้ของจิตกับการรู้ของเจตสิกต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องทราบลักษณะของจิตก่อน ใช้คำว่า “มนะ” ก็ได้ “มโน” ก็ได้ “หทยะ” ก็ได้เป็น “มนินทรีย์” คือ เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ถ้าจะเพิ่มอย่างที่ผู้ถามได้กล่าวเพิ่มเติมโดยทุกคนจะฟังหรือว่าจะผ่านไปไม่ได้สังเกตคือคำว่า อารมณ์ ภาษาบาลีจะออกเสียงว่า “อา-รัม-มะ-นะ” หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะว่าเมื่อมีธาตุรู้หรือสภาพรู้จะไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ นี้คือความหมายของธรรม ไม่ใช่ความหมายในภาษาไทยซึ่งเคยใช้มาก่อน ความหมายตรงๆ คือ เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่น ขณะนี้เสียงกำลังปรากฏ เสียงเป็นอารมณ์หรือ “อารัมมณะ” ของจิตได้ยิน คือ จิตรู้อะไรสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิตนั้น แต่ในภาษาไทยการบอกว่า “วันนี้อารมณ์ดี” หมายความถึงปลายเหตุ เราต้องเห็นสิ่งที่ดีๆ ได้ยินเสียงดีๆ ได้กลิ่นดีๆ ลิ้มรสดีๆ กระทบสัมผัสสิ่งที่ดี ไม่โกรธ สบายขณะนั้นรู้ว่า เราอารมณ์ดีเพราะไม่มีอะไรที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ แต่เป็นปลายเหตุ ต้นเหตุจริงๆ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องทิ้งความหมายเก่าที่เคยเข้าใจ และพยายามเข้าใจความหมายจริงๆ ของคำนั้น เช่น เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จำกัดความตายตัวเลยว่า ถ้าจิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต “นิพพาน” มีจริง ทุกคนได้ยิน ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ว่า นิพพานเป็นอย่างไร แต่ได้ยิน ขณะที่เสียงมีปรากฏมีคำว่า “นิพพาน” คำนั้นจิตกำลังคิดถึงคำจากเสียงที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจะละเอียดมาก จะแยกละเอียดยิบยิ่งกว่าเสี้ยววินาที การเกิดดับของจิตเร็วจนกระทั่งไม่ปรากฏ จนกระทั่งเหมือนกับว่าไม่ดับเลย ขณะนี้เหมือนกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนปรากฏตลอดเวลา แท้ที่จริงขณะที่ได้ยินเสียง จิตได้ยินขณะนั้นไม่เห็นอะไร เพียงแต่กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก แต่สืบต่อจนกระทั่งปรากฏเหมือนกับว่า ทั้งเห็นทั้งได้ยินพร้อมกัน แต่สำหรับคนหนึ่งๆ จะมีจิตเกิดซ้อนกัน ๒ ขณะ ๓ ขณะ ๔ ขณะไม่ได้เลย เพราะว่า ถ้ากล่าวถึงโดยนัยของธาตุคือ ความเป็นสภาพของจิต จิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ มีเหตุปัจจัยจึงเกิดๆ แล้วรู้ ธาตุชนิดนี้เป็น “ปัจจัย” ใช้คำว่า ปัจจัย หมายความว่า เป็นสิ่งที่เมื่อจิตขณะนี้ดับลงแล้วจะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ไม่หยุดเลยในสังสารวัฏฏ์ เราเกิดมานานเท่าไหร่ไม่ทราบ เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อมาจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่งโดยไม่รู้ตัวเลย ทีละ ๑ ขณะไปเรื่อยๆ นับไม่ถ้วนเลย เพราะว่า ไม่สามารถที่จะรู้ว่าขณะนี้กี่ขณะแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คนหนึ่งจะต้องมีจิตเพียง ๑ ขณะ เพราะว่า จิตเป็น “อนันตรปัจจัย” ในตัวของจิตเอง ทันทีที่จิตนี้ดับจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่ถ้าจิตนี้ยังไม่ดับจิตอื่นจะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัจจัยในจิต ๑ ขณะมีหลายอย่างที่ทรงแสดงโดยชื่อภาษาบาลี ถ้าทุกคนจะได้ยินคำว่า อนันต์ “อนันตระ” แปลว่าไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การเกิดดับสืบต่อของจิตโดยไม่มีระหว่างคั่นคือ “อนันตระ” จิตไม่หยุดเกิด เพราะว่า ทันทีจิตขณะ ๑ ดับ จิตที่ดับไปเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้นเราเพิ่มความรู้ ความเข้าใจในภาษา ในความหมาย ในลักษณะของจิตว่า จิตเป็นเพียงธรรมที่เกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นอารมณ์ แต่ไม่จำ ไม่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่รัก ไม่ชังเพราะว่า จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะทำหน้าที่คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ส่วนการรัก การชัง ความโกรธ ความริษยา ความเมตตา ฯลฯ เป็นลักษณะของเจตสิกแต่ละชนิดซึ่งเกิดกับจิต พร้อมกับจิต และรู้อารมณ์เดียวกับจิต ไม่ว่าจิตเห็นอะไร จำสิ่งนั้นซึ่งเป็นหน้าที่ของเจตสิกหนึ่ง ที่เราสามารถจำได้ว่า ขณะนี้มีอะไร เป็นจิต เป็นนามธรรมเพราะรูปไม่รู้อะไร ขณะที่จำนั้นคือ เจตสิก ไม่ใช่จิต และเป็นนามธรรม แม้แต่การที่จะเข้าใจคำว่า จิตหรือเจตสิก ขอให้เข้าใจจริงๆ อย่าเพิ่งผ่านไป ต่อไปเวลาที่พูดถึงเรื่องบุญ จะรู้ได้เลยว่า หมายความถึงจิต หรือหมายความถึงเจตสิก ต้องละเอียดที่จะเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตนหรือว่าไม่เป็นตัวตน
ผู้ฟัง หมายความว่า จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์
ท่านอาจารย์ อย่างเดียว
ผู้ฟัง อย่างเดียว ส่วนเจตสิกก็เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ แต่ละอย่างๆ จะทำหน้าที่ของตน
ผู้ฟัง จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้
ท่านอาจารย์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น ขณะนี้กำลังเห็น เป็นจิตที่เห็น เพราะสามารถที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเห็นเพชรกับเห็นแก้ว จิตเป็นสภาพที่เห็นแจ้งลักษณะ แต่ว่าจิตไม่ได้จำ จิตเพียงแต่เห็น เพราะฉะนั้นความจำเป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีใช้คำว่า “สัญญาเจตสิก” แต่ในภาษาไทย สัญญาคือ อาจจะทำ ด้วยกันว่า ฉันจะทำอย่างนี้ ฉันจะทำอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ สัญญานี้เป็นสภาพจำ เป็นเจตสิกซึ่งต้องจำทุกครั้งที่เกิด ไม่มีสัญญาเจตสิกซึ่งเกิดแล้วไม่จำอะไร ไม่ได้เพราะเหตุว่า หน้าที่ของเจตสิกชนิดนี้คือ มีหน้าที่จำ สภาพธรรมทุกอย่างมีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ และมีกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย เช่น บอกว่าเราทำงาน ความจริงจิตเจตสิกทำ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก ไม่มีรูป เราไม่มี แต่เพราะไม่รู้ความจริงว่า ที่เราทำงานคือจิตเจตสิกทำ และทำหน้าที่เฉพาะของจิตเจตสิกนั้นๆ ด้วย เช่น จิตจะไปทำหน้าที่ของเจตสิกไม่ได้เลย จิตจะไปโกรธ จิตจะไปเมตตาไม่ได้ จิตเป็นสภาพที่สามารถจะรู้ลักษณะเฉพาะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะที่เห็น จิตรู้สิ่งที่ปรากฏว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้ ขณะที่เสียงปรากฏ จิตรู้เฉพาะเสียงว่า เสียงนั้นมีลักษณะอย่างนั้น รู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แม้ว่าเจตสิกอื่นๆ ก็ทำหน้าที่เฉพาะของเจตสิกนั้นๆ ไม่ก้าวก่ายกัน ปัญญาไม่ได้ทำหน้าที่ของ “สติ” ปัญญาเป็นเจตสิกเป็น “ปัญญาเจตสิก” เป็นสภาพที่เห็นถูก รู้ถูก เข้าใจถูก ในสิ่งที่ปรากฏแต่ “สติ” ไม่ใช่ “ปัญญา” เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำภาษาไทยหลวมๆ “สติปัญญา” ก็รวมกันไป ไม่ได้แยกเลยว่า สติต่างกับปัญญา สติไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมนี้จะทำให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างกระจ่างชัด ถูกต้อง โดยที่เข้าใจยิ่งขึ้นว่า สภาพนั้นๆ เป็นอนัตตา
ผู้ฟัง แล้วที่มาเรียนธรรม เรียนเพื่อรู้จักแค่นี้เท่านั้นหรือ
ท่านอาจารย์ ความเห็นถูกกับความเห็นผิดจะเลือกอย่างไหน ความไม่รู้กับความรู้จะเลือกอย่างไหน เกิดมาแล้วตลอดชาติไม่รู้เลยว่าเป็น “ธรรม” จึงไม่รู้ไปทั้งชาติ ชาติหน้าก็ไม่รู้อีกเมื่อไม่ได้ฟัง มีความเป็นเรา มีความเป็นตัวตน แต่เราอยู่ที่ไหน จิตเห็นเกิดแล้วหมดไป เวลาหลับสนิทไม่มีจิตเห็น จิตได้ยินเกิดแล้วก็หมดไป เวลาหลับสนิทไม่มีจิตได้ยิน สิ่งที่เราเห็นวันนี้ ได้ยินวันนี้เป็นเราจริงๆ แล้วอยู่ที่ไหน ทุกอย่างเกิด และดับไปหมด สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเกิดตาบอดสิ่งนั้นก็ไม่ปรากฏ จะว่าเป็นของเราได้ไหม เสียงที่กำลังได้ยิน เกิดขึ้นเพราะมีการกระทบกัน ทำให้เสียงเกิด เสียงของใคร ใครเป็นเจ้าของ เกิด และดับไปแล้ว ทุกอย่างที่เพียงเกิดแล้วดับไปเป็นของใคร ถ้ายังคิดว่าเป็นของเรา ถูกหรือผิด
ผู้ฟัง ผิด
ท่านอาจารย์ ฉลาดหรือไม่ฉลาด ในเมื่อไม่มีแล้วก็ยังเป็นของเรา ไม่มีเลย ทุกขณะเกิดแล้วดับหมดไปเลย
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 63
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 65
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 66
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 71
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 77
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 92
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 120