ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108


    ตอนที่ ๑๐๘

    สนทนาธรรม ที่ เขาเต่า หัวหิน

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ถ้าในขณะที่กำลังฟังแล้วปีติในธรรม ขณะนั้น ชั่วขณะนั้นเป็นกุศลแน่นอน แต่ว่าขณะที่มีความอยาก ไม่ว่าจะอยากได้อะไรทั้งสิ้น ลักษณะที่อยากเป็นลักษณะที่ติดข้อง แต่ถ้าเราจะมีการฟังธรรมต่อไปด้วยศรัทธา ขณะนั้นไม่ใช่ด้วยความอยาก

    ผู้ฟัง เริ่มแรกก็อยาก อยากฟังธรรมให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องแยก ขณะที่ฟังเวลานี้ ทุกคนฟังแล้วไม่ต้องอยาก กำลังฟัง ไม่ใช่ต้องอยากฟัง กำลังฟังอยู่

    ผู้ฟัง ยอมรับว่า ความอยากจะฟังธรรมนี้ก็เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาเกิดขณะใด จะไม่มีโอกาสของอกุศลเลย เช่น ขณะที่กำลังฟัง หรือว่าขณะที่แม้ไม่ได้ฟัง แต่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ต่างกับขณะที่อยากมีสติ เพราะฉะนั้นลักษณะของกุศลจิตกับอกุศลจิตต่างกัน เวลากุศลจิตเกิด เรานึกที่จะทำกุศล ขณะนั้นไม่ใช่เราอยากทำกุศล

    ผู้ฟัง เรานึกว่าทำกุศล

    ท่านอาจารย์ เราคิดจะทำกุศล ไม่ใช่เราอยากทำกุศล

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิดทำกุศลขณะนั้นเป็นกุศลเพราะคิดทำกุศล แต่ขณะที่อยากทำกุศลขณะนั้นเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยให้ความเข้าใจว่า ลักษณะจริงๆ ที่ว่า เป็นกายวิญญัติรูปตอน ๑ แล้ววจีวิญญัติรูปตอน ๑ พอที่จะสังเกตได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึง ”กายวิญญัติ” ก็หมายความถึงลักษณะของรูปที่ทำให้เข้าใจด้วยกาย ถ้าพูดโดยอรรถก็หมายความว่า รูปซึ่งเกิดเพราะจิตต้องการให้รูปนั้นมีความหมาย เป็นเรื่องของจิตของคนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะเห็นหรือจะเข้าใจ แต่ว่าเป็นลักษณะของรูปซึ่งเกิดเพราะจิต ซึ่งต้องการให้รูปนั่นเองแสดงความหมาย เพราะฉะนั้นตาของคนจะมีความหมาย เวลาที่เขาโกรธหรือว่าเวลาที่เขาอยากจะแสดงความหมาย เขาสามารถที่จะใช้อาการลักษณะสภาพของตา ซึ่งปกติไม่มีความหมายอะไรเลย เช่น ถลึงตา เวลาจะห้ามหรือว่าจะอะไร เขาจะมีอาการที่ตานั้นจะบอกความหมาย เพราะฉะนั้นลักษณะของรูปนั้นมีความหมายของกายที่ทำให้มีความหมายโดยจิต แต่เวลาที่คนอื่นเห็นจะเห็นเพียงสี เหมือนกับขณะนี้เห็นแต่สี ไม่สามารถที่จะเห็นกายวิญญัติของคนนั้นได้เลย แต่ว่าอาศัยความจำทำให้เข้าใจในความหมายของสิ่งนั้น แต่ตัวกายวิญญัติไม่ใช่สี ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า ทางตาจะเห็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากสี แต่อาศัยความจำสีซึ่งจิตเป็น “มนินทรีย์” เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ทำให้สามารถจะเห็นอาการที่เปลี่ยนจากสภาพปกติของตาของสีนั้น เป็นสีซึ่งจักขุวิญญาณเมื่อเห็นแล้วทางมโนทวารสามารถจะเข้าใจในลักษณะของสีซึ่งเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้เข้าใจลักษณะสภาพอาการความหมายที่จิตของคนนั้นต้องการจะให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง ลักษณะที่เป็นกายวิญญัติรูป จำกัดหรือกว้างแค่ไหน จึงจะกล่าวว่า นี้เป็นลักษณะของกายวิญญัติรูป

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอาการพิเศษ เกิดจากจิต ซึ่งต้องการให้รูปนั้นมีความหมาย เช่น เวลาที่เรานั่งอยู่เฉยๆ ก็ธรรมดาไม่มีความหมายอะไรเลย ใช่ไหม หรือเวลาที่เดินปกติเราก็เดินเฉยๆ ไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้าเราเดินแรงๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง กระทืบเท้า

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นมันก็มีความหมายใช่ไหมว่า “ทำไม เอ๊ะต้องโกรธแน่ๆ ” เพราะปกติก็เดินเบาดี แต่พอแรงขึ้นมาเรารู้ได้เลยว่า ลักษณะจิตใจขณะนั้นของคนนั้นเป็นอย่างไร เพราะคนนั้นทำไมจึงเดินแรง ต้องมีสภาพของจิตใจที่ต้องการให้รูปนั้นเคลื่อนไหวตามความหมายของเรา ถ้าเราโกรธแต่เราไม่อยากให้เขารู้ เราจะไม่เดินแรงๆ ใช่ไหม แต่ถ้าโกรธ และอยากให้รู้ว่าโกรธจะแรงขึ้นๆ ได้ใช่ไหม แรงแค่นี้ยังไม่รู้ ก็แรงขึ้นอีกให้รู้ว่าโกรธแค่ไหน นี้แสดงถึงระดับของการที่ต้องการให้รูปนั้นแสดงความหมาย เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของจิตของคนนั้นซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กายมีอาการพิเศษ ซึ่งตามความหมายของจิตที่คนที่ทำให้วิญญัติรูปต้องการ แต่ถ้าเป็นคนที่เห็นแล้วไม่ฉลาดก็จะไม่รู้ว่าคนนี้โกรธ ก็อาจจะคิดว่า เขาป่วย เขาเป็นอะไร เพราะฉะนั้นกายวิญญัติไม่เกี่ยวกับคนอื่นว่า จะรู้หรือไม่รู้ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ แต่เกี่ยวกับตัวเองที่ต้องการให้คนอื่นเข้าใจในความหมายนั้น ส่วนคนอื่นทำเท่าไหร่แล้วยังไม่เข้าใจก็ช่วยไม่ได้ จะกวักมือ จะเรียก จะอะไรก็ยังไม่รู้เรื่องว่า เอาอะไร อยู่ที่ไหน ต้องการให้ทำอะไร ทั้งๆ ที่คนนั้นมีความตั้งใจจริงที่จะให้คนนั้นเข้าใจตามที่ตัวเองคิดแต่ว่า อาจจะสื่อไม่พอ หรือว่าทำไม่ดี หรือว่าคนเห็นไม่ฉลาด ก็เลยไม่สามารถที่จะรู้ความหมายนั้นได้

    ผู้ฟัง สรุปว่า กายวิญญัติรูปนี้เป็นรูปพิเศษ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ซึ่งไม่ใช่เป็นอาการของรูปอย่างปกติในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง แล้วทีนี้พอถึงวจีวิญญัติรูป

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน วจีวิญญัติรูป ไม่เกี่ยวกับกาย ไม่เกี่ยวกับการที่จะให้กายมีความหมายพิเศษ แต่ว่าปกติธรรมดาเรานั่ง ไม่มีเสียงปรากฏเลย เราอาจจะคิดในใจ คิดไปเรื่อยว่า จะพูดกับคนนี้ว่าอย่างงั้น คนนั้นจะตอบว่าอย่างไร ก็คิดได้ แต่ไม่มีเสียงออกมาเลย แต่ว่าเวลาที่จะให้เสียงออกมาจะต้องมีจิตซึ่งมีความชำนาญที่จะรู้ว่า เมื่อฐานของเสียงจะเกิด เช่น เวลาที่พูด ปากจะต้องกระทบกันหรือว่าลิ้นจะต้องกระทบฟัน หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วเสียงนั้นๆ จึงจะออกมาตรงตามความต้องการ ในขณะที่มีจิตที่ต้องการจะให้เกิดเสียง และเสียงนั้นก็เกิดตามจิตที่ต้องการว่า จะให้เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาฮอลแลนด์ หรือภาษาเขมร หรืออะไรก็ตามแต่ อาการของรูปที่ทำให้เกิดเสียงที่ต้องการเป็นวจีวิญญัติ ไม่ใช่เสียง เพราะวจีวิญญัติคือ รูปที่ทำให้เกิดเสียงตามที่ใจต้องการ

    ผู้ฟัง เพราะทุกครั้งเวลาที่เราพูด จะเป็นการทักทายก็ดี จะเป็นการสั่งงานก็ดี อันนี้เป็นลักษณะของวจี

    ท่านอาจารย์ เสียงเป็นเสียง แต่ว่ารูปที่ทำให้เกิดเสียงเป็นวจีวิญญัติรูป

    ผู้ฟัง สมมติว่า พวกนักร้องร้องเพลง

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน ถ้าออกมาจากฐานของเสียงแล้วเป็นวจีวิญญัติรูปทั้งหมด

    ผู้ฟัง เรื่องของวจีวิญญัติรูปกับกายวิญญัติรูปนี้ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ อันหนึ่งเป็นเรื่องของกายไม่เกี่ยวกับเสียง อีกอันหนึ่งเป็นเรื่องของเสียง

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่กายเคลื่อนไหว ก็ไม่ใช่เป็นลักษณะของรูปพิเศษ จึงไม่เป็นกายวิญญัติรูป

    ท่านอาจารย์ เราไม่มีความมุ่งหมายที่จะให้คนอื่นเข้าใจ แต่ถ้าเกิดมีความมุ่งหมายอยากจะให้คนอื่นเข้าใจ แล้วเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดขึ้น รูปนั้นถึงจะเป็นกายวิญญัติ ถ้าเป็นเสียงซึ่งเกิดจาก ๒ สมุฏฐานทีละสมุฏฐานคือ เสียงเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานก็ได้ เสียงเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานก็ได้ เช่น เสียงคลื่น ไม่มีใครทำให้เสียงเกิดขึ้นเลย แต่อุตุทำให้เกิด แต่ว่าสำหรับขณะที่พูดจาต้องเป็นเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน และรูปที่ทำให้เกิดเสียงก็คือ วจีวิญญัติรูป

    ผู้ฟัง นี่ก็เข้าใจมากขึ้นแล้ว

    พรชัย รูปที่ทำให้เกิดเสียง มีตัวอย่างไหม เช่น รูปอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณพรชัยไม่พูดจะมีเสียงได้ไหม

    พรชัย ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาที่พูด เฉยๆ หรือว่ามีรูปอะไรที่เคลื่อนไหวที่ทำให้เสียงเกิดขึ้น

    พรชัย อาจจะเป็นที่คอ

    ท่านอาจารย์ ที่ไหนก็ได้ซึ่งเป็นฐานให้เกิดเสียงซึ่งเกิดจากจิต

    พรชัย แต่ไม่ใช่ตัวเสียง

    ท่านอาจารย์ เสียงเป็นสัททรูปไม่ใช่วจีวิญญัติรูป

    ผู้ฟัง ศึกษาในพระอภิธรรมก็รู้แล้วว่า สัททะนี้เกิดจาก ๒ สมุฏฐานเท่านั้นคือ จิต และอุตุ แต่ในพระสูตรบางพระสูตรได้รู้ว่า คนมีเสียงไพเราะก็เพราะมีบุญเป็นกรรมที่ทำให้เสียงไพเราะ แต่กรรมนั้นไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดเสียง

    ท่านอาจารย์ คือถ้าพูดถึงสภาวะของรูป ต้องมีทั้งฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี เพราะเหตุว่า จะต้องเป็นเรื่องของกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ไม่ว่าจะเป็นสีที่ปรากฏ หรือเสียงก็จะต้องมีที่ไพเราะที่ไม่ไพเราะแม้ว่าเราจะชอบหรือเราไม่ชอบก็ตาม อย่างคนไทยเรานี้อาจจะชอบเสียงสูงๆ เสียงแหลมๆ เสียงเล็กๆ แต่ต่างประเทศเขาจะต้องชอบเสียงห้าว เสียงต่ำ เช่น ผู้หญิงต้องไปหัดพูดให้เสียงต่ำๆ ถ้าเสียงแหลม เสียงเล็ก เขาจะบอกว่า เสียงไม่เพราะ แต่นั่นหมายความว่า ตามอัธยาศัยว่าใครจะชอบเสียงอะไร แต่เสียง ลักษณะของเสียงเอง ต้องเป็นเสียงที่เพราะหรือไม่เพราะ มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีคำว่า “อิฏฐารมณ์” หรือ “อนิฏฐารมณ์” ซึ่งเป็นผลของกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากที่จะรู้เสียงนั้น เช่น เสียง ถ้าเป็นโสตวิญญาณจิตกุศลวิบาก ต้องได้ยินเสียงที่เพราะ เราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามแต่ แต่เสียงนั้นต้องเป็นเสียงที่น่าฟัง และถ้าเป็นอกุศลวิบาก เราก็จะได้ยินเสียงซึ่งไม่น่าฟัง แต่เราจะชอบหรือไม่ชอบไม่ใช่เอาชวนจิตของเราตัดสิน แต่หมายความว่า ต้องมีกรรมในอดีตที่ทำให้เกิดกุศลวิบากจิตที่จะได้ยินเสียง ได้เห็นสี หรือได้กลิ่นหอม หรือได้รสอร่อย หรือได้กระทบสัมผัสที่สบาย เพราะฉะนั้นสภาวะของรูปเองจะต้องมีลักษณะที่จำแนกเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์โดยลักษณะของรูปนั้น ไม่เกี่ยวกับการที่เราจะพอใจ เพราะว่า เราอาจจะไปพอใจในกลิ่นที่เป็นอนิฏฐารมณ์แล้วก็ชอบก็ได้นี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งถ้าพูดถึงเรื่องของรูปซึ่งเกิดจากจิต เช่น เสียง เสียงเกิดจากจิต แต่ว่าเวลาที่เสียงเกิดจากจิตก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า มีแต่เสียงซึ่งเกิดจากจิตเท่านั้น เพราะว่าคนเราทำไมเสียงต่างกัน ทั้งๆ ที่จิตอาจจะเหมือนกันก็ได้ เป็นกุศลจิตหรือว่าเป็นอกุศลจิตก็ได้ แต่ว่าเหมือนกัน โลภมูลจิตทุกคนมีแล้วก็ทำให้เกิดเสียงได้ โทสมูลจิตทุกคนก็มีแต่ทำให้เกิดเสียงได้ แต่ทั้งๆ ที่เป็นเสียงที่เกิดจากโทสะด้วยกัน เสียงก็ยังต่างกัน เพราะฉะนั้นแสดงว่า ต้องมีสมุฏฐาน คือ ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันของรูปที่ทำให้เกิดจิตนั้น ซึ่งก็ไม่พ้นจากกรรมด้วย เพราะเหตุว่า จริง รูปซึ่งเกิดจากกรรมก็มีกรรมเป็นสมุฏฐานแล้วดับ กลุ่มนั้นทั้งหมดดับ รูปที่เกิดจากจิตก็มีจิตเป็นสมุฏฐานแล้วก็ดับ รูปที่เกิดจากอุตุก็มีอุตุเป็นสมุฏฐานแล้วดับ ไม่ก้าวก่ายกันเลยสักกลุ่มเดียวของรูปก็จริง แต่แม้กระนั้นเมื่อเป็นรูปที่เกิดเพราะจิต แต่ส่วนสัมพันธ์ของรูปอื่นๆ เช่น ลิ้นหรือกายปสาท ฯลฯ ก็จะทำให้เสียงนั้นเปลี่ยนไปได้ เช่น คนเดียว เสียงเดียว เวลาที่เกิดไม่สบาย ไอ เจ็บคอ แม้แต่ว่า เสียงเป็นคนเก่า และจิตก็เหมือนเดิมคือ เป็นกุศลจิตที่กำลังจะพูดธรรมหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ว่าเกิดเจ็บคอขึ้นมา เสียงของคนนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปแล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องอาศัยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับรูปอื่นด้วย เพราะว่า ฐานของเสียงไม่ได้เกิดจากจิต แต่เวลาที่วจีวิญญัติจะเกิด เฉพาะกลุ่มรูปที่ทำให้เกิดเสียงเกิดจากจิต ที่ร่างกายทั้งหมด บางกลุ่มเกิดจากกรรม บางกลุ่มเกิดจากจิต บางกลุ่มเกิดจากอุตุ บางกลุ่มเกิดจากอาหาร เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า กลุ่มที่เกิดจากอุตุก็เป็นสมุฏฐานด้วย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าหากมีกรรมดีเป็นสมุฏฐาน จิตขณะนั้นก็ต้องเป็นจิตที่ดีด้วยจึงจะทำให้เสียงไพเราะ

    ท่านอาจารย์ ไม่แน่ เพราะว่า ถ้าคนเสียงดีเขาพูดคำอะไรเสียงก็เพราะ เฉพาะตัวเสียงใช่ไหม

    ผู้ฟัง แต่ก็เพราะกว่าตอนที่จิตไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ไม่แน่อีกเหมือนกัน ถ้าจิตเป็นโลภะ อยากจะให้เสียงเพราะ แล้วร้องเพลงเสียงดีๆ ก็ได้ ขณะนั้นร้องด้วยโลภะก็ได้ ทั้งๆ ที่เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง กล่องเสียงนั้นต้องมาจากกรรมที่ดี

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงเสียงซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานคือ กายวิญญัติรูปที่กระทบฐานที่ไหวไปแล้วกระทบฐานต่างๆ ของเสียง เพราะฉะนั้นฐานของเสียงนี้ก็ต้องแล้วแต่กรรม

    ผู้ฟัง กายวิญญัติรู้สึกจะเห็นได้ถนัด อย่างเช่น เราดูทีวีเขาจะแสดงให้เห็นจากตา แสดงอาการโกรธ แสดงอาการชอบใจ ฯลฯ เพราะฉะนั้นรู้สึกง่ายกว่าวจีวิญญัติ

    ท่านอาจารย์ เราอาจจะคิดว่า เราเห็นกายวิญญัติของเขา แต่ความจริงแทบจะเห็นได้คือเพียงสี ซึ่งกายวิญญัติมีแล้วทำให้สีเปลี่ยนจากปกติที่เราเคยเห็น ความที่จิตเป็นมนินทรีย์สามารถที่จะรู้แจ้งอารมณ์ เช่น ทางตา สีของตาจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาแสดงอารมณ์ต่างๆ ทางตาได้ แต่ว่าที่เห็นคือ สี เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นสีอย่างนี้ ความจำจึงจำความหมายว่า สีอย่างนี้ความหมายของใจที่เป็นเหตุให้เกิดสีอย่างนี้คืออะไร เพราะว่า จะรู้ความหมายของใจซึ่งทำให้เกิดสีนั้น ซึ่งเป็นกายวิญญัติแต่ต้องเห็นสีอย่างเดียว

    ผู้ฟัง วจีวิญญัติรูปนี้ทำให้เกิดเสียงขึ้น นาย ก อาจจะเป็นอนิฏฐารมณ์ นาย ข อาจจะเป็นอิฏฐารมณ์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพของรูปจะมี ๒ อย่าง คือ อิฏฐารมณ์กับอนิฏฐารมณ์ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่มีกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ถ้าเป็นกุศลวิบากก็จะเห็นรูปที่น่าพอใจ ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ได้กลิ่นที่น่าพอใจ ลิ้มรสที่น่าพอใจ กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ นั่นคือ กุศลวิบาก ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นการที่จะบอกว่า ขณะนี้เป็นกุศลวิบากสำหรับเราหรือว่าเป็นอกุศลวิบากสำหรับเรา เพราะเราชอบ ไม่ได้ เพราะเหตุว่า วิบากจิตเกิดก่อนชวนวิถีจิต เห็นแล้ว และเมื่อเห็นแล้วจะชอบหรือไม่ชอบนั้นเป็นเรื่องของการสะสม เราอาจจะเห็นสิ่งซึ่งไม่น่าดู แต่เราชอบดูก็ได้ ใช่ไหม หรือว่าได้กลิ่นที่ไม่หอมเลย แต่เราชอบกลิ่นนั้นก็ได้ หรือว่ารสซึ่งไม่อร่อยแต่เราก็ชอบได้ รสขมๆ รสเบียร์ รสอะไรต่างๆ ใช่ไหม แต่เราก็ชอบในรสนั้น เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า วิบากจิตเกิดก่อนชวนจิต

    ผู้ฟัง เสียงในการแสดงธรรมนี้เป็นอนิฏฐารมณ์ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องแยกละเอียดมาก ถ้าพูดถึงแต่ละทวาร เพราะเหตุว่า ยกตัวอย่างที่จะเห็นชัด คนที่ใส่แหวนเพชร รู้สึกแข็งทางกาย สบายไหม แต่ทางตาเป็นกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า อวิชชามากแค่ไหน เราพูดถึงเรื่องกายวิญญัติ วจีวิญญัติ แต่ให้ทราบว่า เพียงเห็นว่า เป็นคน ตรงตามความเป็นจริงหรือเปล่า ยิ่งเห็นละเอียดจนถึงกับจำได้ถึงกายวิญญัติ ความคิด ความรู้สึกของคนที่เห็น ก็ยิ่งเป็นเรื่องความจำของจิตซึ่งละเอียด แล้วก็ทำให้เราไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว เราอยู่คนเดียวในโลกกับเรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง และทำให้เราคิดเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ แท้ที่จริงก็คือ จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์เพียงชั่วขณะเดียว เพราะว่า ความสุข ความทุกข์ มาจากการเห็นแล้วก็คิด ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ก็คิดถึงเรื่องของคนนั้น มีความผูกพัน มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะทางตา เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคนอกจากจะทรงแสดงเรื่องของจักขุวิญญาณกับรูปารมณ์ ก็ยังแสดงเรื่องผัสสะ เรื่องเวทนา เรื่องสัญญา เรื่องเจตนา ซึ่งติดตามมา ความจำ ความรู้สึก ความคิด การปรุงแต่งต่างๆ ซึ่งจากการเห็น ทำให้ไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นจิตชั่วขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ

    สัมโพชฌงค์หมายความถึงองค์ธรรมในขณะที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเหมือนกับองค์ฌานมี ๕ แต่เวลาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม องค์ของการที่จะตรัสรู้มี ๗ นี้เป็นการแสดงความต่างกันของการเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้าเจริญสมถภาวนาต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ที่จะถึงปฐมฌานฉันใด การที่มรรคจิตจะเกิดองค์เหล่านี้ทั้ง ๗ องค์ก็จะต้องพร้อม เป็นองค์ของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ ซึ่งคำถามเป็นเรื่องของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์กับปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ใช่ไหม องค์ธรรมต่างกัน เพราะเหตุว่า ปัสสัทธิเป็นเจตสิกที่ทำให้จิตสงบ เจตสิกดวง ๑ ชื่อว่า “จิตตปัสสัทธิ” ทำกิจให้จิตสงบระงับ และ “กายปัสสัทธิ” ก็เป็นเจตสิกอีกดวง ๑ ให้ทราบว่า การที่จะสงบได้หรือว่าลักษณะสภาพความสงบจะเกิด ก็จะต้องเป็นเพราะลักษณะของเจตสิกทั้ง ๒ ปรากฏหรือเกิด ถ้าเจตสิกทั้ง ๒ ไม่เกิด เราจะไปเข้าใจว่า ขณะที่กำลังเป็นสมาธินั้นสงบ แต่ไม่มีอาการของจิตตปัสสัทธิหรือกายปัสสัทธิเลย ซึ่งความจริงแล้วลักษณะของสมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ไม่ใช่ลักษณะของความสงบเลย ใครที่เข้าใจว่า ทำสมาธิแล้วสงบจะรู้ได้ว่า ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิจะไม่มีจิตตปัสสัทธิ และไม่มีกายปัสสัทธิ เพราะเหตุว่า จิตตปัสสัทธิ และกายปัสสัทธิเป็น “โสภณสาธารณะเจตสิก” ต้องเกิดกับกุศลจิตหรือโสภณจิตทุกประเภท แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ศึกษาเราก็จะเอาสมาธิมาเป็นปัสสัทธิ แต่ตามความเป็นจริงปัสสัทธิต่างหากจากสมาธิ สมาธิเป็นอกุศลได้ เป็นมิจฉาได้ แต่ปัสสัทธิเป็นอกุศลไม่ได้ เป็นมิจฉาไม่ได้ เพราะเหตุว่า ต้องเป็นโสภณสาธารณะเกิดกับโสภณจิตทุกประเภท

    ผู้ฟัง ต้องมีปัสสัทธิ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ……ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเพราะเหตุว่า มิจฉาสมาธิเป็นอกุศล ลักษณะของสมาธิไม่เปลี่ยน คือ ตั้งมั่น แต่ในขณะที่ตั้งมั่นแล้วคิดว่าสงบ เข้าใจผิด เพราะเหตุว่า เป็นอกุศล ตราบใดที่สัมมาสมาธิไม่เกิดหรือว่าเวลาที่กุศลจิตเกิดเล็กๆ น้อยๆ แม้ว่าจะมีสมาธิคือ เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นกุศล แล้วก็มีกายปัสสัทธิ มีจิตตปัสสัทธิ แต่เร็ว และน้อยมากจนไม่ปรากฏ ต่อเมื่อใดความสงบเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า ความสงบคืออย่างนี้ ไม่ใช่สมาธิ เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญปัญญา ที่ลักษณะของกายปัสสัทธิ และจิตตปัสสัทธิจะไม่ปรากฏ ไม่มี จึงได้รู้ความต่างกันว่า สมาธิไม่ใช่สงบ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    5 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ