ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
ตอนที่ ๑๐๙
สนทนาธรรม ที่ เขาเต่า หัวหิน
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญปัญญา ที่ลักษณะของกายปัสสัทธิ และจิตตปัสสัทธิจะไม่ปรากฏ ไม่มี จึงได้รู้ความต่างกันว่า สมาธิไม่ใช่สงบ สมาธิเป็นแต่เพียงสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสัมมาสมาธิที่เกิดกับสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสติ ขณะที่ตั้งมั่นจะทำให้มีความชัดเจนของการรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้นด้วยกำลังของสมาธิที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์นั้น แต่ในขณะนั้นก็จะต้องมีลักษณะความสงบจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของสมาธิ
ผู้ฟัง ธรรมดาๆ ก็ต้องมีอยู่แล้ว เพราะว่าเป็นสัพพจิตสาธารณเจตสิก
ท่านอาจารย์ แต่เล็กน้อยมากเหลือเกิน
ผู้ฟัง ที่พูดมาหมายความว่า จวนจะได้บรรลุมรรคผลแล้วใช่ไหม องค์ธรรมนี้
ท่านอาจารย์ เป็นองค์ของการตรัสรู้
ผู้ฟัง และที่มาพูดระดับล่างก็แสดงว่า
ท่านอาจารย์ แน่นอน และก็ต้องค่อยๆ เจริญขึ้น ข้อสำคัญที่สุดคือ กุศลเล็กน้อยในวันหนึ่งๆ น้อยมากจนไม่ได้สังเกตลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตกับอกุศลจิต แล้วพอเจริญอบรมปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน ความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นก็น้อยมาก เพราะเหตุว่า ต้องเป็นการรู้ชีวิตจริงๆ ซึ่งทุกคนมีโลภะ ทุกคนก็ยังทิ้งโลภะไม่ได้ และบางคนก็อาจจะคร่ำครวญกับโลภะของตัวเองว่า “ทำไมถึงได้มากอย่างนี้” แต่ไม่ใช่เรื่องคร่ำครวญ เป็นเรื่องปัญญาที่จะต้องอบรมแล้วรู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานคู่กันไประหว่างอกุศลกับกุศล จะทิ้งอกุศลทันทีไม่ได้ ไม่มีใครทิ้งได้ เพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่อกุศลจะเกิด เรายังรับประทานอาหารอร่อย เรายังฟังเสียงนก และรู้สึกว่า “เพราะดี” เพราะฉะนั้นอกุศลจิตก็เกิด เพราะเหตุว่ามีปัจจัย แต่ก็มีปัจจัยให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ รู้ขึ้นในสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ใครก็ตามที่จะหนีชีวิตจริงๆ ในขณะนี้ หรือขณะอื่นๆ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็จะไปบังคับ ไปข่ม ไปทำอะไรก็ตามด้วยความไม่รู้ นั่นไม่ใช่ปัญญาเลย เพราะเหตุว่า การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ละคนต้องรู้สภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดกับตนตามเหตุตามปัจจัย จึงจะรู้ได้ว่า ธรรมทั้งหลายเกิดเพราะเหตุปัจจัย เช่น โทสะจะเกิด ความขุ่นใจจะเกิด ก็ห้ามไม่ได้ มีเหตุปัจจัยก็เกิดแล้วจึงปรากฏ แต่ปัญญาจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่มีใครไม่รู้เวลาโกรธ ใช่ไหม ความโกรธมีลักษณะอย่างไร ไม่สบายใจอย่างไร เดือดร้อนใจอย่างไร หงุดหงิดอย่างไร เป็นห่วง เป็นทุกข์อย่างไร ทุกคนรู้จัก แต่ว่าเมื่อเกิดแล้วผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมลักษณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง ไม่มีใครต้องการให้เกิดก็เกิด หรือว่าธรรมอื่นมีใครอยากจะให้เกิดก็ไม่เกิด เพราะเหตุว่า แต่ละขณะจิตต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น การที่รู้ถึงเหตุปัจจัยจะทำให้คลายการที่จะไปพยายามทำอย่างอื่น แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการเจริญกุศลจึงต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน การละคลายก็ละคลายจากการยึดถือโลภะบ้าง โทสะบ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ว่าเป็นตัวตน เจริญคู่กันไป แต่ทางฝ่ายอกุศลก็จะต้องมากกว่า เพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่จะเกิดบ่อยกว่า แต่ทางฝ่ายกุศลจริงๆ แล้วมีกำลัง แต่ว่ากำลังน้อยหรือกำลังมาก ถ้าขณะที่ยังไม่เจริญมากก็มีกำลังเล็กๆ น้อยๆ พอที่จะแทรกเกิดได้ เช่น วันนี้เราก็มีกุศลแทรกเกิดขณะที่ฟังวิทยุ หรือว่าขณะที่สนทนาธรรม ก็ยังมากกว่าหลายคนที่เกิดมาในชาตินี้ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะว่า ถึงมากอย่างไรก็ลองเทียบดูกับอกุศลในวันนี้ว่ามากแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็ต้องค่อยๆ ขยับไป คู่กันไปเรื่อยๆ จนกว่าทางฝ่ายกุศลมีกำลังเมื่อไหร่ ก็สามารถที่จะดับอกุศลตามลำดับขั้นได้ แต่ไม่ผิดปกติ ต้องเป็นปกติจริงๆ
ผู้ฟัง ที่จะเป็นโพชฌงค์คือจะเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน เช่น การมีสติธรรมดาจะเรียกว่า เป็นโพชฌงค์ได้หรือไม่ หรือการที่จะวิจัยธรรมธรรมดาๆ จะเป็นโพชฌงค์ได้หรือไม่ หรือว่าการวางเฉยอย่างที่ว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์จะเป็นขั้นไหนถึงจะเรียกว่า โพชฌงค์ หรือว่าขั้นไหนถึงจะไม่เรียกว่า โพชฌงค์
ท่านอาจารย์ เจริญโพชฌงค์ไม่ได้หมายความว่า โพชฌงค์สมบูรณ์แล้วถูกไหม เจริญสติไม่ได้หมายความว่า สติสมบูรณ์แล้ว เจริญปัญญาไม่ได้หมายความว่า ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่สติเกิด และกำลังศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น ก็กำลังเจริญ แต่ยังไม่สมบูรณ์ หมายความว่า ฌานมีองค์ ๕ ฉันใด องค์ ๗ นี้ก็เป็นองค์ของการที่จะตรัสรู้เป็นสัมโพชฌงค์ เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ไม่มีตั้งแต่ต้น มี เป็นองค์ของการที่จะเจริญขึ้นจนกว่าจะถึงขั้นอัปปนาที่จะแนบแน่นในอารมณ์นั้นฉันใด พวกโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ก็จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้นจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้นจะเอาตอนไหน อย่างไร คล้ายๆ จะมีเครื่องวัดว่า ตอนนี้จะเป็นโพชฌงค์ไหมหรืออะไรอย่างนี้ ไม่ต้องไปห่วง เจริญโพธิปักขิยธรรม
ผู้ฟัง ท่านผู้หนึ่งบอกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้มันถึงระดับไหน ท่านก็ตอบว่า ต้องถึงสังขารุเปกขาญาณ จะต้องเป็นวิปัสสนาญาณถึงขั้นสังขารุเปกขาญาณถึงจะเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ถ้าท่านตอบว่าอย่างนี้เลยคิดว่า สติที่เราระลึกกันธรรมดาๆ อย่างนี้ บอกว่า นี้คือเจริญสติสัมโพชฌงค์จะถูกหรือไม่ หรือว่าวันๆ หนึ่งขณะที่มีความเห็นถูก และพิจารณาไตร่ตรองธรรมจะเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์หรือไม่
ท่านอาจารย์ เหมือนกับกำลังเจริญสติปัฏฐาน คือ ทั้ง ๓๗ ประการกำลังเจริญ
ผู้ฟัง ในขณะที่องค์ทั้ง ๗ ของสัมโพชฌงค์จะต้องเกิดพร้อมกันทั้ง ๗ องค์ใช่ไหม และก็แล้วแต่สติหรือปัญญาจะระลึกรู้แต่ละองค์ที่ปรากฏใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไประลึกรู้องค์ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และไม่ต้องไปห่วงสัมโพชฌงค์หรือไม่สัมโพชฌงค์ทั้งนั้น ให้มีปัญญาค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมขึ้น โดยทฤษฎีคือ เจริญโพธิปักขิยธรรม ไม่ใช่ไม่มีสัมมัปปธาน ไม่ใช่ไม่มีสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไม่มีอินทรีย์ ไม่ใช่ไม่มีพละ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เวลาที่โลกุตตรจิตเกิดหมายความว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ บริบูรณ์ ทีนี้บริบูรณ์ถ้าไม่ค่อยๆ เจริญมาเรื่อยๆ จะบริบูรณ์ได้ยังไง จะไปเอาอันไหนทิ้งไว้ตรงไหน เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจสภาพจิตด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่อย่างงั้นก็เหมือนกับอยู่ในหนังสือ หรือว่าเป็นเรื่องข้างนอกตัว แต่เวลาที่เกิดกับเราจริงๆ เราอาจจะไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือว่าเป็นอกุศลจิต เพราะเหตุว่า ต้องคิดถึงศัตรูใกล้ เช่น โลภะกับเมตตา เวลาที่เรารักใคร ญาติ พี่น้อง มิตรสหายใกล้ชิด เราจะทำทุกอย่างให้เขา แต่กับคนอื่นเราทำได้หรือเปล่า นี้เป็นเครื่องที่จะเปรียบเทียบว่า เป็นโลภะหรือว่าเป็นเมตตา คนในบ้านก็ใกล้ชิดกันตามลำดับตั้งแต่ พ่อ แม่ ลูก ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก เป็นเมตตาหรือว่าเป็นโลภะ ธรรมต้องเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ขณะจิตว่า ขณะใดเป็นโลภะกับบุคคลนี้ ขณะใดเป็นเมตตาแม้กับบุคคลคนเดียวกัน เพราะเหตุว่า เราจะมีแต่โลภะตลอด ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องเมตตาสำหรับคนที่เรารัก เช่น ลูก พ่อแม่จะรักใครยิ่งกว่าลูก แต่ว่า ความรักเป็นอกุศล ถ้าพ่อแม่คนไหนเข้าใจจริงๆ ว่า ความรักลูก แม้ความรักลูกที่ว่าสะอาดที่สุดหรือว่าหวังดีที่สุดยิ่งกว่าใครก็ตาม แต่ว่าขณะนั้นเป็นโลภะหรือว่าเป็นเมตตา ความรักคนอื่นก็ไม่ต้องพูดถึงหมายความว่า ก็ยิ่งจะรู้ว่าเป็นโลภะหรือว่าเป็นเมตตาได้ แต่สำหรับลูก ถ้าเราฉลาดพอที่จะรู้ว่า เรารักไม่ใช่เมตตา ก็คือในขณะที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ ถ้าเราคิดว่า ลูกเรา ที่จะเป็นเมตตาคือเหมือนลูกคนอื่น หรือว่าไม่ต้องเป็นลูก แต่เหมือนคนอื่น และสิ่งที่เราทำต่อลูกเรา เหมือนกับที่เราสามารถจะทำให้กับคนอื่น ตัดเยื่อใยความผูกพันว่า “ของเรา” หรือว่า “ลูกของเรา” ออก ถ้าสมมติว่า คนในบ้านเราเป็นแม่ก็มีลูก เป็นพี่ก็มี เป็นน้องก็มี เป็นคนรับใช้ก็มีคนในบ้าน ถ้าเราสามารถที่จะทำกับบุคคลทั้งหมดเสมอกัน ด้วยจิตใจที่โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หวังดี คิดถึงเขาว่า ลูกเราก็อยากได้รับประทานอาหารอร่อย พี่เราก็รับประทานอาหารอร่อย น้องเราจะไม่ใช้คำว่า น้อง พี่ ฯลฯ ได้หมด เพราะทุกคนเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นการกระทำของเราที่มีต่อบุคคลในบ้านทุกคนเสมอกันขณะไหน ขณะนั้นเป็นเมตตา แต่ถ้ามีความไม่เสมอกัน ส่วนที่ไม่เสมอ อะไรทำให้ไม่เสมอ สามารถที่จะจับได้ใช่ไหมว่า อะไรทำให้ไม่เสมอ ซึ่งความจริงถ้าเป็นกุศลแล้ว เสมอ กุศลก็ต้องหวังดีต่อทุกคนเท่ากัน เสมอกัน แต่ถ้ามีความไม่เสมอก็ต้องมีเหตุผลว่า ที่ไม่เสมอเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสมมติว่า ไม่เสมอกับมารดา เพราะเหตุว่า มารดาเป็นผู้มีพระคุณ อันนั้นเป็นกุศลไม่ใช่เป็นโลภะ แต่ว่าต้องมีเหตุผลว่า ที่ไม่เสมอเป็นเพราะเหตุว่า ระลึกถึงพระคุณของท่าน เพราะฉะนั้นท่านเป็นผู้มีคุณมากกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำต่อมารดาก็ต้องมากกว่าคนอื่น ถ้าขณะนี้ก็เป็นกุศล แต่ถ้าเรารักแม่เรามาก ขณะนั้นเราไม่ได้คิดถึงพระคุณของแม่เลย แต่ว่าเป็นแม่ของเราๆ ก็ต้องรักแม่ ขณะนั้นก็เป็นโลภะฉันใด กับลูกก็ต้องเหมือนกันฉันนั้น หรือกับญาติพี่น้อง แล้วก็ขยายวงกว้างออกไปจนถึงเพื่อนฝูง มิตรสหาย ก็ต้องเป็นอย่างนั้น คือ เมตตาไม่ใช่แต่เฉพาะต่อหน้า แม้ลับหลังเวลาที่คิดถึง ก็คิดถึงด้วยเมตตา ไม่ใช่คิดถึงด้วยโลภะ สามารถเมตตาได้
ผู้ฟัง แต่มันยาก
ท่านอาจารย์ ไม่เห็นจะยากอะไร ก็หัด หัดแล้วเราจะไม่มีศัตรูเลย เป็นสิ่งที่สบายมาก คือว่า ศัตรูก็อยู่ที่ใจของเรา ในเมื่อเราคิดว่า “เขาเป็นศัตรู” แต่เมื่อไหร่ที่เราไม่ได้คิดว่า “เขาเป็นศัตรู” แม้ว่าเขาจะเป็นศัตรู เพราะว่าเขาไม่ชอบเรา แต่เราไม่ได้มีจิตเหมือนกับเขา เรายังมีความหวังดี มีการคิดที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ขณะนั้นเราสบาย และเราก็ไม่ถือว่า “เขาเป็นศัตรู” เขาไม่ชอบเราเรื่องของเขา เราจะให้คนทั้งโลกชอบเราได้อย่างไร ก็ต้องมีคนที่ไม่ชอบเราบ้าง เรื่องของเขา ไม่ชอบเราเรื่องของเขา แต่เรื่องของเราไม่เดือดร้อนเลย ถ้าคนที่ไม่ชอบเราจะอยู่ตรงนี้ เราก็ยังเป็นเพื่อนกับเขาได้ หวังดีต่อเขาได้ ทำดีต่อเขาได้
ผู้ฟัง ขยายกายวิเวก
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึง “กายวิเวก” หมายความว่า เราละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยการที่อยู่ เดี่ยวๆ หรือว่าอยู่ตามลำพัง แต่ว่าในขณะนั้นถ้าปัญญาไม่เกิดก็ไม่ใช่กายวิเวก เพราะฉะนั้นวิเวกจริงๆ ที่แปลว่า “สงัด” ก็ต้องหมายความว่า สงัดจากกิเลส สงัดจากโลภะ สงัดจากโทสะ สงัดจากโมหะ ที่จริงที่นี่ก็วิเวกพอสมควรไม่เหมือนหน้าโรงหนังใช่ไหม ไม่เหมือนกลางตลาดวโรรส จะกล่าวว่า ที่นี่เป็นที่วิเวกก็ได้ แต่ว่า คนที่เดินชมสวน วิเวกหรือเปล่า เป็นเรื่องของจิต แต่ว่าถ้าเราเป็นผู้ที่เห็นโทษของ รูป เสียง กลิ่น รส แล้วก็รู้ว่า ถ้าเรายังมุ่งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ อย่างมัวเมา เพลิดเพลิน ร้านเพชร หรือว่าร้านอะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นไม่มีการละ แต่ว่าบางกาล บางขณะ ก็ยังมีโอกาสที่จะอยู่ตามลำพัง แต่ว่าการที่อยู่ตามลำพังที่นี่ เรื่องสถานที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย เพราะเหตุว่า ทุกคนอยู่ตามลำพังได้ มีโอกาสที่จะอยู่ตามลำพังทุกขณะ เช่น เวลาที่เราอยู่ในบ้าน ไม่ใช่ว่าบ้านเราจะมีคนอยู่ในห้องแน่นขนัดอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นทุกๆ แห่งเราจะมีการอยู่ตามลำพัง เรื่องของกายวิเวกจึงเป็นเรื่องซึ่งไม่มีอะไรที่เราจะต้องคำนึงมากนัก นอกจากผู้ที่ต้องการกายวิเวกจริงๆ ถึงกับสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต นั่นแหละเรียกว่า เป็นผู้ที่แสดงเจตนาที่จะมีกายวิเวก แต่ถ้าสละแล้วก็ยังเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็หมายความว่า ผู้นั้นยังไม่เข้าใจเรื่องของกายวิเวก
ผู้ฟัง กายในที่นี้หมายถึงร่างกายหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ การที่จะเอาตัวห่างออกจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เท่าที่จะกระทำได้ โดยเฉพาะก็หมายความถึงเพศที่ต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต เพราะเหตุว่า คฤหัสถ์อย่างไรๆ ท่านก็ยังกล่าวว่า แวดล้อมไปด้วย บุตร ภรรยา ข้าทาส
ผู้ฟัง ถามเรื่องทานมี ๓ ขั้นที่ประกอบด้วยปัญญากับไม่ประกอบปัญญา ยังไม่ค่อยเข้าใจ ปัญญาเชื่อในกฎของกรรมก็ได้ใช่ไหม ก็เป็นปัญญาเหมือนกันใช่ไหม ถ้าเราให้ทานโดยเชื่อว่า ผลของทานมีจริง จะให้ผลเป็นสุขจริง แล้วให้ทานไป อย่างนี้เป็นทานที่ประกอบด้วยปัญญาเหมือนกันใช่ไหม แต่อันนี้ไม่ใช่ทานบารมีที่ให้ไปด้วยรู้ว่า ผลของทานมีจริงแล้วจะให้ผลเป็นสุข
ท่านอาจารย์ ถ้าถามว่า เป็นบารมีหรือไม่เป็นบารมี ก็ต้องเข้าใจ และก็ไม่ลืมว่า “บารมี” หมายความถึงธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งคือ การดับกิเลส แม้แต่ในขณะที่ให้ทาน ถ้าให้ทานเพราะหวังผล ขณะนั้นก็ไม่ใช่บารมี เพราะเหตุว่าผลที่ต้องการไม่ใช่การดับกิเลส พิจารณาได้ง่ายนิดเดียว กุศลใดๆ ที่ทำไปมีการหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเปล่า ถ้าเป็นการหวังผลที่จะต้องเกิดดี เป็นเศรษฐี มั่งมี มีความสุข มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ ขณะนั้นความคิด ความหวัง ความต้องการนั้นจะเป็นบารมีไม่ได้ ตอนที่ท่านสุเมธดาบสได้พบพระทีปังกร ท่านตั้งความปราถนา และท่านก็พิจารณาหาธรรมที่จะเป็นเครื่องอุปกรณ์สำหรับการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็พบว่า ต้องมีบารมี ๑๐ หลังจากนั้นแล้วท่านก็กระทำ ไม่ใช่ว่าท่านจะทำ ขอให้ลองพิจารณาดูถึงคนที่ไม่มีปัญญา เพียงแต่ได้ยินคำว่า บารมี อยากมีอีกแล้ว เหมือนกับได้ยินคำว่า “นิพพาน” ก็อยากไปนิพพาน อยากถึงนิพพาน อยากอยู่ในนิพพาน แล้วแต่ว่าจะคิดอย่างไร แต่ว่าไม่ใช่ปัญญาเลย ถ้าคิดอย่างนั้น เช่นเดียวกันกับบารมี พอได้ยินว่า เป็นสิ่งที่ดี ก็อยากจะมีแล้ว และก็อยากจะทำด้วย แต่ว่าการ “เป็นบารมี” กับการ “จะทำบารมี” ลองพิจารณาดูว่า เพียง ๒ อย่างจะมีความต่างกันหรือเปล่า คนที่ในขณะนี้เข้าใจเรื่องธรรม เข้าใจเรื่องการอบรม เจริญปัญญา เข้าใจเรื่องอริยสัจจะ เข้าใจเรื่องการที่จะต้องรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แล้วก็ทำๆ ทุกอย่างด้วยความเคารพในธรรม ซึ่งความเคารพในธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า “ไปไหว้พระไตรปิฏกในตู้” ฯลฯ แต่หมายความว่า ทุกอย่างที่ทำเพื่อธรรม ไม่ใช่เพื่อตัวเอง หรือว่าไม่ใช่เพื่อหวังผลในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้นที่กำลังทำอยู่เพื่อธรรมเป็นบารมี ที่จะถามว่า ทานเป็นบารมีหรือไม่เป็นบารมี ก็ไม่ต้องมานั่งสอบ นั่งถามกันอีกแล้วว่า “ทานตอนนี้เป็นบารมีหรือเปล่า” หรือ “ทานตอนโน้นเป็นบารมีหรือเปล่า” ถ้ามีความเข้าใจถูกแล้วไม่หวังผลอื่น ไม่หวังผลการเกิดในสวรรค์ หรือว่าไม่หวังอะไรทั้งนั้น แต่ทำเพราะเหตุว่าเป็นกุศล เป็นสิ่งที่จะทำให้อกุศลค่อยๆ ลดลงไปได้ และถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ปัญญานั้นก็จะทำให้บารมีอื่นๆ เกิดด้วย ไม่ใช่ว่า เมื่อมีความเข้าใจ และความเข้าใจนั้นก็อยู่เฉยๆ ขี้เกียจ คร้านหรืออะไรอย่างนั้น ไม่ใช่ ปัญญาความเข้าใจจะทำให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้น และบารมีอื่นๆ ก็เจริญขึ้นด้วย โดยที่เป็นอุปนิสัย และก็เป็นการกระทำที่เกิดจากการสะสม เช่น พระโพธิสัตว์ ทุกๆ ชาติของท่านหลังจากที่ท่านเป็นสุเมธดาบสแล้ว ถ้าอ่านชาดกจะเห็นได้ว่า ท่านทำ ไม่ใช่ท่านคิดว่า ท่านจะ แต่ท่านทำ เพราะฉะนั้นเวลาที่ “จะ” ดูเหมือนว่า จะมีความหวังหรือแฝงไว้ด้วยความต้องการที่อยากที่จะทำ แต่ตรงกันข้ามไม่ต้องคิดว่า จะทำทานบารมี จะทำศีลบารมี หรือว่าจะทำวิริยะบารมี แต่ชีวิตตามความเป็นจริงที่กำลังทำอยู่เป็นบารมี เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่หวังผลอย่างอื่น เช่น เวลาที่ให้ทาน ไม่จำเป็นต้องมานั่งคิดว่า ถ้าไม่ทำกับพระภิกษุสงฆ์ อานิสงส์จะน้อย หรือว่าถ้าไม่ทำกับพระภิกษุสงฆ์แล้วก็จะไม่ใช่บารมี ฯลฯ แต่ว่า เมื่อถึงเวลาที่ทานกุศลจะเกิด จิตผ่องใส มีศรัทธา มีสติ มีอโลภะ มีอโทสะ มีตัตตรมัชฌัตตตา พวกนี้ที่เป็นโสภณสาธารณเจตสิกเกิด ขณะนั้นกุศลจิตเกิด ให้ทานโดยไม่ต้องคิด ไม่ใช่ก่อนจะให้ “นี่เป็นบารมีหรือเปล่า” ถ้าไม่ใช่บารมีก็ไม่ทำ อย่างนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย ที่จะถามว่า เป็นบารมีไหมหรือว่าจะไม่เป็นบารมี ในขณะนั้นจะแฝงไปด้วยความที่ว่า ถ้าไม่ใช่บารมีจะทำหรือเปล่า แต่ที่จริงตลอดทุกชาติของพระโพธิสัตว์ที่ท่านมีการให้ทาน ไม่ว่าในชาติใดๆ ก็ตาม ถึงแม้ไม่ใช่ในชาติที่ท่านเป็นพระเวสสันดร การให้แต่ละครั้งของพระองค์ก็เป็นทานบารมี ถ้าไม่มีการให้อย่างนี้ การให้อย่างอื่น โอกาสอื่น ขณะอื่น จะมีได้ไหม และไม่ใช่ว่า จำเป็นที่จะต้องเลือกให้เฉพาะที่ว่า จะได้อานิสงส์มากๆ ให้คำนึงถึงผู้รับ คำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับแล้วทำ ไม่ใช่คำนึงถึงตัวเองว่า จะได้กุศลมากๆ จึงจะทำ นี้เพื่อแสดงให้เห็นความต่างกัน ถ้าเป็นบารมีจริงๆ ก็ขัดเกลา ไม่ได้หวังประโยชน์ของตนเอง ไม่มีการคิดว่า เพื่อตัวตน เพราะเหตุว่า ตัวตนนี้จะต้องเล็กลงทุกทีจนกระทั่งไม่เหลือเลย
เรื่องของบารมีไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมานั่งคิดว่า ขณะไหนเป็น ขณะไหนไม่เป็น เมื่อเรามีความเห็นถูก และรู้ว่าอกุศลเรามาก และทุกครั้งที่เราทำกุศลเรารู้ว่า กุศลนี้เป็นสิ่งที่จะตรงข้ามกับอกุศล และกุศลนี้วันหนึ่งจะทำให้เราถึง ไม่อย่างนั้นเราจะทำกุศลทำไม ซึมเข้าไปในจิตใจของเราโดยที่เราไม่ต้องนึก เช่น วันนี้ที่เราจะมาจากกรุงเทพฯ แล้วมาสนทนาธรรม มีใครคิดบ้างว่า จะทำให้เป็นบารมี แต่ขณะที่เรากำลังทำทั้งหมดนี้เป็นบารมี
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 63
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 65
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 66
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 71
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 77
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 92
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 120