ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111


    ตอนที่ ๑๑๑

    สนทนาธรรม ที่ เขาเต่า หัวหิน

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสำหรับปัญจทวาราวัชชนะเป็นอเหตุกจิต เป็นชาติกิริยา ซึ่งไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล พอถึงจักขุวิญญาณจิตเห็นแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตรับแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อแล้ว พอมาถึงโวฏฐัพพนะเป็นกิจที่ว่าจิตนี้จะต้องกระทำก่อนที่ชวนวิถีจึงจะเกิดได้ เพราะฉะนั้นเป็นเพียงการกระทำกิจโวฏฐัพพนะ แม้ว่าตัวเขาจะเป็นมโนทวาราวัชชนะ แต่พอถึงทางปัญจทวาร เขาก็ทำกิจนี้ เพราะว่าถ้าไม่มีกิจนี้ ชวนจิตเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่เพียงอเหตุกกิริยา ซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ซึ่งกระทำกิจตามการสะสม และหลังจากนั้นก็แล้วแต่ว่าอกุศลจะเกิดหรือว่ากุศลจะเกิด ถ้าจะเอาความหมายจริงๆ แล้วน่าจะเป็นกุศลจิตที่เป็นโยนิโส และอกุศลจิตที่เป็นอโยนิโส

    ผู้ฟัง ถ้าตลอดวัน เราจะดูเพียงว่ากุศลหรืออกุศลนี้จะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ถ้าขณะนี้มีสติขั้นที่จะระลึกรู้ว่าขณะนี้เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นอกุศลเขาก็เป็นอย่างนั้น เพราะว่าการที่สังขารขันธ์จะค่อยๆ ปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นวิริยเจตสิก สัทธาเจตสิก หรือปัญญาเจตสิกก็ตาม เป็นเรื่องที่เขาจะสะสมแล้วก็ปรุงแต่งให้แต่ละขณะนี้เกิด โดยที่ไม่มีใครไปมีอำนาจบังคับบัญชาเลย แม้แต่ในขณะนี้จักขุวิญญาณก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย โสตวิณญาณบางคนกำลังได้ยินก็เพราะเหตุปัจจัย แล้วคิดนึกเรื่องราวต่างๆ แต่ละคนที่กำลังคิดไม่เหมือนกันเลยก็แล้วแต่เหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราแต่ละคนที่แม้แต่คิด แม้แต่ได้ยินเสียง การที่จะมนสิการเป็นกุศล อกุศลต่างระดับขั้นก็ตามเหตุ ตามปัจจัย ก็เป็นแต่เพียงว่า เราจะสะสมเหตุปัจจัยเพื่อที่จะให้กุศลเจริญขึ้นทุกขั้น ไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนแล้วก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เราก็ไม่เร่ง เพราะว่าแล้วแต่การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ที่จะเป็นไป แต่เมื่อเหตุมี ผลต้องมี เหตุคือการฟังมี ความเข้าใจต้องมี แล้วก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการเข้าใจ อย่างไรๆ สติปัฎฐานเกิดไม่ได้ เขาทำของเขาเอง สังขารขันธ์เขาปรุงแต่งค่อยๆ ปรุงไปเรื่อยๆ ให้รู้ว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ไม่ว่าจะเป็นสติขั้นไหน ขณะนี้กำลังมีสติขั้นฟัง อีกขณะอาจจะเป็นสติขั้นระลึกได้ที่ลักษณะของสภาพธรรม หรือยังไม่มีก็ไม่เป็นไรก็ฟัง และความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งให้เป็นความเข้าใจที่ละเอียดขึ้น เพิ่มขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ถ้ามีความเข้าใจ แลh;ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้ว หวังสักเท่าไหร่สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจ สติปัฏฐานจะเกิดช้าหรือเร็ว มากหรือน้อยไม่มีปัญหา เพราะว่าถ้าเกิด และเข้าใจ ไม่ใช่เกิดแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ความเข้าใจต้องเตรียมไว้มากๆ พร้อมที่ว่าเมื่อสติเกิด สามารถที่จะเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมได้ เร็วกว่าคนที่ไม่เคยเข้าใจเลย ไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย เพราะว่าเป็นเรื่องสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง ถ้าเป็นเรื่องเราอยาก ก็เป็นเรื่องอกุศลธรรมฝ่ายโลภะเขาปรุงเองเหมือนกัน เพราะว่าขณะนี้กำลังเห็น ถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็ไม่ผิดปกติเพียงแต่เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าเราเคยจำได้ เคยรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ หลังจากนั้นคิดนึก นี่เริ่มจะแยก เวลาที่สติปัฎฐานเกิดก็รู้ว่าสิ่งนี้ปรากฏ และต่อจากนั้นคือคิดนึก ไม่มีใครนอกจากสิ่งที่ปรากฏให้คิดต่างๆ โลกของความคิดนึกก็จะค่อยๆ ชัดขึ้นว่า แยกออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเรื่องราววันหนึ่ง วันหนึ่งคิดจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เพียงเท่านี้เราก็ต้องค่อยๆ ไต่ไป ตามความเข้าใจอันนี้ จนกว่าจะชำนาญ จนกว่าจะรู้จริงๆ เวลาเห็นก็รู้เลยว่า นี่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้คิด

    ผู้ฟัง ถ้าเราหยุดอยู่แค่คิด ไม่ถึงกับกุศล อกุศล

    ท่านอาจารย์ ที่คิดต้องเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ที่คิดมีอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ชวนจิต คือจิตที่ทำกิจแล่นไปในอารมณ์ โดยเป็นกุศล และอกุศล ถ้าทางปัญจทวารเขากำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ไม่ต้องไปเตรียมกั้นหรืออะไรเลย เสร็จสรรพเรียบร้อยไปแล้วกุศล อกุศลเกิดไปแล้วเรียบร้อย พอมาถึงทางใจ หลังจากที่มาคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้เราถึงจะรู้ว่านี่เป็นอกุศลเพราะคิดนึก แต่ว่าก่อนที่จะคิดนึกเพียงแค่เห็นกุศล อกุศลเกิดจบไปแล้ว โดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นสังขารขันธ์ที่เขาจะปรุงแต่ง ที่นี้ถ้าคนที่เจริญสติปัฏฐานสม่ำเสมอเป็นประจำ พอสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แทนที่จะเป็นอกุศล เขาสามารถที่จะรู้ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดรู้ได้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะว่ากั้นอกุศลได้ทุกทวาร แม้แต่ทางตาที่ว่าเร็วแสนเร็ว สติปัฏฐานเขาก็สามารถที่จะเกิดได้ รู้ได้ ที่เคยมีกุศลมากๆ แต่ละทวารทั้ง ๖ ทวาร สติปัฏฐานเกิดแทนได้หมด

    ผู้ฟัง พอเห็นมีอกุศล

    ท่านอาจารย์ หรือกุศลแล้วเรียบร้อยไปแล้ว

    ผู้ฟัง เรายังไม่รู้สึก

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้เลยนั่นแหละตกใจ และดีใจ และเสียใจ และชอบ และไม่ชอบแล้ว เร็วมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช้สติปัฏฐาน เราไม่มีการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะที่เป็นทางตานี่ไม่ใช่กุศล เป็นวิบาก ก็ไม่รู้ เพราะมันไปปนกับความชอบไม่ชอบซะแล้ว ไปปนความคิดนึกเรื่องราวเสียแล้ว เพราะฉะนั้นกว่าสติปัฎฐานจะค่อยๆ แยกสภาพธรรมออกตามความเป็นจริงว่าทางตา สั้นแสนสั้นเพียงชั่วปรากฏ ทางหูก็สั้นแสนสั้นเพียงชั่วปรากฏ นอกจากนั้นแล้วเรื่องของความคิดนึกทั้งหมด สิ่งต่างๆ ปรากฏสั้นนิดเดียวเพื่อให้คิดนึก อย่างเมื่อตอนกลางวันก็บอกคุณจารุพันธ์บอกว่าให้คิดอะไรก็ได้ คิดเยอะๆ แล้วหลับตา แล้วก็ลืมตามานิดหนึ่ง แล้วก็คิดต่อไปอีกเยอะๆ แล้วก็ลืมตาขึ้นมาหน่อย แสดงว่าความคิดนึกของเรามาก และสิ่งที่ปรากฏทางตานิดเดียวเท่านั้นเอง เพราะว่าเราคิดได้ ไม่เห็นเราก็คิดได้ ถึงแม้ว่าเห็นนิดหนึ่งเราก็คิดได้ แต่ที่เห็นปรากฏเหมือนไม่ดับเลย เพราะฉะนั้นความคิดของเราในสิ่งที่เห็น จึงได้มากมายจนกระทั่งมันปรากฏสืบต่อจนเหมือนกับว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานี้ไม่ดับ เพราะว่าความคิดของเราในเรื่องสิ่งที่ปรากฏมันสืบต่อมา

    ผู้ฟัง แล้วขณะที่เห็นเท่านั้น ทำไมถึงมีอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ารูปมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต แล้วก็เมื่อเกิดขึ้นกระทบกับภวังค์ จิตเห็นยังไม่เกิด เมื่อภวังค์ไหวขณะที่ ๒ จิตเห็นก็ยังไม่เกิด จนกระทั่งกระแสภวังค์สิ้นสุดเป็นภวังคุปัจเฉทะ หลังจากนั้นแล้วจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ วิถีจิตขณะแรกที่รู้อารมณ์ใหม่ ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เริ่มที่จะรู้อารมณ์ใหม่ที่กระทบ แต่ไม่เห็น เพราะฉะนั้นต้องมีกิริยาจิต ๑ ขณะที่เป็นอเหตุกกิริยา ชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนะ เป็นจิตที่นึกถึงอารมณ์ที่กระทบ เพราะฉะนั้นเขาเปลี่ยนอารมณ์จากภวังค์ มารู้ว่ามีอารมณ์กระทบทางทวารไหน อาจจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ยังไม่เห็น แล้วรูปก็ยังไม่ดับเกิดขึ้นขณะหนึ่ง และก็ดับ ถ้าเป็นทางตาคือกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อนไปแล้ว ไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต จิตเห็นเกิดไม่ได้ เมื่อจักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นเห็นขณะหนึ่งดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดดับต่อ สันตีรณจิตเกิดพิจารณาต่อ รูปยังไม่ดับเลย เพราะฉะนั้นจิตนี้เขาจะทำกิจของเขาตามลำดับ ก็เมื่อจักขุวิญญาณจิตเกิดดับแล้ว จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลย กุศล อกุศลจะเกิดไม่ได้เลย ต้องสัมปฏิจฉันนจิตเกิดก่อนรับไว้เท่านั้น ที่เราบอกว่าเร็วแสนเร็ว อกุศลจิตเกิดได้อย่างไร เพราะทันทีที่เห็นดับ สัมปฏิจฉันนะรับทันที เร็วมากยังไม่เป็นกุศล อกุศล พอสัมปฏิจฉันนจิตดับ สันติรณะเกิดต่อพิจารณาอย่างสั้นที่สุดดับไป ต่อจากนั้นกิริยาจิตคือมโนทวาราวัชชนจิตจะทำโวฏฐัพพนกิจ ตามการสะสมว่าเราสะสมกุศลมาก หรืออกุศลมาก โลภะมาก หรือโทสะมาก หรือโมหะมาก เมื่อโวฏฐัพพนจิตทำกิจดับไปแล้ว ชวนจิตคือสภาพของจิตที่ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว ไม่ต้องมารับ ไม่ต้องมาพิจารณาแล่นไปอย่างเร็วในอารมณ์นั้นด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ ด้วยโมหะ หรือด้วยกุศล เพราะฉะนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดทันทีโดยที่รูปนั้นยังไม่ดับ เพราะว่าจิตอื่นทำกิจให้เสร็จหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นวาระที่โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือกุศลจิตจะเกิดในอารมณ์นั้น เราไม่ต้องทำอะไร เราทำไม่ได้ เพราะว่าจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ เขาทำหมดเลย ทำอะไรไม่ได้เลย เป็นไปตามการสะสม ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัยทุกอย่าง พอมาถึงชวนะที่เป็นโลภะ หรือโทสะ โมหะ หรือกุศลดับไปแล้ว ถ้าอารมณ์ยังไม่ดับก็ยังมีวิปากจิตขึ้นมาทำตทาลัพพนกิจ พออารมณ์ดับเป็นภวังค์ยังไม่รู้อะไรเลย เพราะว่าไม่ต้องรู้ ไม่มีใครรู้เขาทำของเขาแล้วเรียบร้อย

    ผู้ฟัง รู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เราจะมารู้ตอนเราคิดใช่ไหม และเราก็มานั่งคิดว่า นี่เป็นกุศล อกุศล แต่ความจริงอารมณ์ดับไปนานแสนนาน

    ผู้ฟัง แล้วอารมณ์เป็นกุศลหรืออกุศลในชวนะนั้น

    ท่านอาจารย์ จิต ไม่ใช่อารมณ์ จิตเป็นกุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง ในชวนะนั้นๆ เป็นวิบากมาหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ เกิดขึ้นเพราะการสะสม คือขณะจิตที่โลภชอบขณะนี้ดับไป จะทำเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด จะเป็นอะไรก็ตามแต่ อาจจะเป็นวิบาก เป็นกิริยา แล้วแต่วิถีจิต แต่โลภะที่เกิด และดับ สะสมอยู่ในจิตขณะต่อไป เพราะฉะนั้นการสะสมจะมีกำลังซึ่งเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่เราใช้คำว่าปกตูปนิสสยปัจจัย ความเคยชินที่ได้เกิดแล้ว กระทำแล้ว ทำให้จิตในขณะนั้นเป็นโลภะตามถนัด หรือเป็นโทสะตามถนัด หรือเป็นกุศลตามถนัดที่ได้สะสมมา

    ผู้ฟัง อนุสัยกิเลส

    ท่านอาจารย์ อนุสัยกิเลสนี้เป็นกุศลไม่ได้ ต้องเป็นกิเลสอย่างเดียว ถ้าเรากำลังทำกุศลอยู่ ทางปัญจทวารก็เป็นกุศลได้ กำลังทำกุศล

    ผู้ฟัง สมมติว่าเรามีสติตอนนั้น

    ท่านอาจารย์ ถึงไม่มีสติ เรากำลังจัดดอกไม้ถวายพระ จิตใจเรากำลังเบิกบานแช่มชื่น เรากำลังช่วยใคร ทางตาก็มี เพราะฉะนั้นกุศลเขาเกิดต่อกันไปเลย ทั้งทางตากับทางใจ ทางหูกับทางใจ

    ผู้ฟัง ได้ยินเป็นมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ทางปัญจทวาร ชวนะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าทางใจไม่ดี ทางตาก็ต้องไม่ดีเป็นอกุศลไปด้วย อย่างโกรธคน ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วเราโกรธคนนั้นแล้วก็เห็นสิ่งนั้นด้วย สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นด้วย เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็ต้องมีโทสะ และอีกอย่างลองคิดดู อย่างขนาดพวกที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ไม่ได้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน อกุศลจิตของเขาในขณะที่เห็นได้ยินพวกนี้ ก็ย่อมมีพื้นฐานที่จะเกิด เพราะฉะนั้นการอบรม การพัฒนา การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ จากอกุศลไปสู่กุศล คือเจริญสติมีความรู้ลักษณะของสภาพธรรม และมีกุศลเกิดทั้งบารมี ๑๐ แล้วจากกุศลเปลี่ยนเป็นกิริยา แม้แต่ขณะที่เห็น ก็ไม่มีเลยที่จะมีอกุศลอีกต่อไป นี่ก็ต้องอาศัยว่าการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ จากอกุศลเป็นกุศล จากกุศลเป็นกิริยา สำหรับชวนะ

    ผู้ฟัง จากกุศลเป็นกิริยา

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างกันของปุถุชนกับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแต่ละขั้นจนถึงขั้นพระอรหันต์ ด้วยปัญญาอย่างเดียว ถ้าไม่มีปัญญาแล้วไม่มีทางที่จะแคะไค้พวกอกุศลนี้ออกมาได้

    ผู้ฟัง กุศลเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นขณะเดียว แล้วก็จิต มีชาติของจิต คือจิตเกิดเป็นกุศลก็เป็นกุศล ๑ ขณะแล้วก็ดับ ถ้าเกิดเป็นอกุศลก็จะไปเปลี่ยนไม่ได้เหมือนกัน คือชาติไหนก็ชาตินั้น ถ้าเกิดเป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดเป็นวิบากคือผลของกรรม เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากก็เปลี่ยนไม่ได้ แล้วถ้าเป็นกิริยาก็เปลี่ยนชาติเขาไม่ได้ด้วย เขามีชาติประจำของเขา แต่ละขณะ

    ผู้ฟัง อย่างหนูคิดว่า หนูเริ่มเจริญสติปัฎฐานโดยการที่พอเห็นอะไรเราก็คิดว่านี้เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คิด เข้าใจ เข้าใจขึ้นว่านี่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วเราก็อยู่ในโลกความคิดที่กว้างใหญ่ของเรามากมายมหาศาล ทำให้เราละการติดในนิมิตอนุพยัญชนะในสิ่งที่ปรากฏ เพราะเริ่มเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เหมือนเห็นรูปภาพซักรูปหนึ่งก็เท่านั้นเอง และต่อจากนั้นก็คิด คิดไปเรื่อยเลยวันหนึ่งๆ คิดตลอด เดี๋ยวคิดทางตา เดี๋ยวคิดเสียงทางหู เดี๋ยวคิดทางกาย เดี๋ยวคิดทางใจ ถ้าจะรู้ความจริงอันนี้ ก็เหมือนเราอยู่ในโลกคนเดียวกับความคิดของเรา ก็เริ่มแยกออกแล้ว จากการที่จะเห็นว่าเป็น มีบุคคลต่างเยอะแยะล้อมรอบ จนกว่าจะรู้ว่าเห็นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้คิดนึก

    ผู้ฟัง หากเราจะไม่ทราบว่าขณะที่มี เกิดมีสติปัฏฐานขึ้นบ้างยังไม่ทราบว่า

    ท่านอาจารย์ เอาความเข้าใจ ทิ้งเรื่องสติไปเลย ขณะใดที่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นสติปัฏฐานแน่นอน เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ และความเข้าใจกำลังเริ่มที่จะเข้าใจ เพราะว่าสติปัฏฐานเขาปกติธรรมดา ธรรมชาติเลย ไม่มีการผิดเพี้ยนหวือหวาอะไรสักนิดเดียว เป็นแต่เพียงขณะที่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นการละ ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะมีความตื่นเต้น และคิดว่านั้นเป็นสติหรืออะไรอย่างนี้ แต่ว่าขณะที่กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตามธรรมดาปกติจริงๆ เพราะฉะนั้นจะทิ้งคำว่าปกติไม่ได้ แล้วเราไม่ต้องคิดว่ามากหรือน้อย นานหรือเร็ว ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจคือพร้อมกับสติ ต้องมีสติถึงได้เข้าใจ หลังจากนั้นพอเป็นเรื่องเป็นราว เป็นอะไรที่ไม่เข้าใจแล้วคือรู้ว่าขณะนั้นไม่ได้เข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นจะผิดจากการปฏิบัติที่เราไปนั่งทำ ใช่ไหม ไม่มีสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจทุกวัน ทุกคืน ขณะนี้เอง เดี๋ยวนี้เองต้องรู้ทางตา ถ้าไม่รู้ก็ไม่มีทางที่จะไปดับกิเลสอะไรที่ไหนทั้งนั้น ในเมื่อสิ่งนี้เกิดมา ตื่นมาก็เห็นอยู่ตลอดแล้วก็ยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่เริ่มเข้าใจ เริ่มที่จะรู้ความจริง ที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เป็นของจริงธรรมดาๆ แล้วสติปัฏฐานต้องเป็นธรรมดาทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ก่อนที่จะไปเปลี่ยนไปแปลง ถ้ามีการไปเปลี่ยนไปแปลง นั่นคือไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์พูดเข้าใจ ทุกครั้งที่มาพอท่านอาจารย์พูดอย่างนี้แล้ว ก็มีแต่ความสงสัย ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ปรากฏปุ๊บเราเข้าใจว่าครั้งแรกเป็นปรมัตถ์แล้วต่อมา

    ท่านอาจารย์ เราไม่ใช้คำว่าปรมัตถ์ก็ได้ ว่าเดี๋ยวนี้มีจริงๆ สิ่งนี้ที่เราจะต้องเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้นในสิ่งนี้ ไม่ใช่ในสิ่งอื่น

    ผู้ฟัง ตอนที่ฟังท่านอาจารย์บรรยาย หรือตอบคำถามอะไรช่วงนี้เข้าใจ หลังจากกลับไปที่บ้านบางครั้งบางคราว สิ่งเหล่านี้เกิดกลับขึ้นมาอีกก็ยังมีแต่ความสงสัย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังสำคัญมากด้วยความใส่ใจ สดับพิจารณา สัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติปัฏฐาน สัญญาที่มั่นคงไม่ใช่สัญญาอื่น สัญญาที่จำเข้าใจในเรื่องที่ได้ยิน ได้ฟัง อย่างฟังว่าขณะนี้มีสภาพธรรมจริงๆ ไม่ต้องใช้คำว่าปรมัตถ์เลย สี เกิดมาทุกคนมีตาเห็นกระทบแล้ว ต้องเข้าใจสิ่งนี้ให้ถูก และสิ่งนี้มีปรากฏทุกวันจนตาย เพราะฉะนั้นพอจะตายแล้วก็รู้ได้เลยว่าเราเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอันนี้มากน้อยแค่ไหน ยังคลุมเครือ หรือว่าค่อยๆ กระจ่างขึ้น ชัดขึ้น ละคลายความสงสัยในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไปมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าปัญญาทำหน้าที่ละคลาย ความไม่รู้กับความสงสัย เวลานี้มีสิ่งที่ปรากฏ มีหลงลืมกับมีการระลึก รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ๒ อย่างเท่านั้นในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง พอท่านอาจารย์พูดอย่างนี้ก็เข้าใจ แล้วก็มีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ว่ามันก็ยังอดสงสัยไม่ได้

    ท่านอาจารย์ พอเข้าใจอย่างนี้ก็มีโอกาสที่ระลึก ขณะที่สติเกิดก็กำลังรู้ กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นแหละ แล้วก็หลงลืมไปก็หลงลืม พอสติเกิดแล้วก็รู้เลยว่ากำลังพยายามค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กที่ละน้อย

    ผู้ฟัง ก็คงจะได้ฟัง ฟังลูกเดียวไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ นี่เสียงก็เสียงธรรมดาอย่างนี้ ที่จะต้องรู้ว่าเสียงนิดเดียว ต่อจากนั้นคิดทั้งนั้น

    สนทนาธรรมวัดตำตำปง ณ กรุงพนมเปญ

    วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

    ท่านอาจารย์ เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง แค่เป็นความคิดว่า เราเดิน ถูกต้องหรือไม่ ตอนนี้ไม่มีใครเดิน กำลังนั่ง ถ้าคิดว่าเป็นเราที่นั่ง ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าเห็นถูกไม่ได้หมายความว่าเราคิดเองว่าถูก แต่ว่าต้องมีสภาพธรรมที่ปรากฎ และเราสามารถที่จะเห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมนั้น แต่ถ้าไม่มีสภาพธรรมปรากฏแล้วก็คิดเอาเองไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน อย่างนั้นจะเป็นเพียงความคิดหรือว่าเป็นการรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเพียงความคิดว่าไม่ใช่เรา ก็ไม่ต้องอาศัยการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ก็แค่คิดกันว่าไม่ใช่เราที่กำลังนั่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นการตรัสรู้สภาพธรรมมตามความเป็นจริงก็คือ ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจถูก เห็นว่าสภาพธรรมนั้นเป็นเรา เพราะฉะนั้นปัญญาความเห็นถูกจะเริ่มเมื่อได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมให้เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมจริงๆ ทุกคนยึดถือสภาพของรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่าเป็นเรา แม้ว่ารูปนั้นไม่ปรากฏ แต่ก็จำไว้ว่ามีรูป ขณะนี้ทุกคนกำลังจำ เป็นอัตตสัญญาความจำว่ามีเรา โดยที่ไม่รู้ความจริงว่าการยึดถือรูปที่ตัวว่าเป็นเรายึดถือรูปอะไร จะมีใครตอบไหมว่ายึดถือรูปอะไรที่ตัวว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ รูปทั้งหมด และมีลักษณะอะไร ถ้าไม่มีลักษณะแล้วจะบอกว่าเป็นรูป ถูกหรือผิด เพราะฉะนั้นต้องมีสภาพธรรม ซึ่งปรากฏแล้วไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงเข้าใจว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นรูปอะไรที่ปรากฏ ที่ตัวที่เข้าใจว่าเป็นเรา เพราะมีรูป ถ้าไม่มีรูปจะเป็นตัวได้ไหม เพราะฉะนั้นรูปอะไรที่ตัว ยังไม่ได้ตอบ

    ผู้ฟัง อยู่ในตัวก็มีเย็น มีร้อน มีอ่อน มีแข็งกันตอนนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้ารูปเย็นหรือร้อน หรืออ่อนหรือแข็ง ไม่ปรากฏ ขณะนั้นจะรู้ไหมว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงรูปที่อ่อน เหมือนที่อื่นก็อ่อน รูปที่ร้อนก็รูปที่อื่นก็ร้อน รูปที่เย็นที่อื่นก็เย็น เพราะฉะนั้นรูปก็คือรูป เป็นของใคร รูปเกิดมาอย่างไร ดับไปอย่างไรก็ไม่รู้เลยซักอย่าง เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกระทั่งละคลายการยึดถือรูปว่าเป็นเรา ถ้าจะกล่าวว่า ปัญญาเห็นถูกในรูป คือเห็นว่ารูปเป็นรูป ไม่ใช่เรา ก็ต้องมีลักษณะของรูปกำลังปรากฏให้ปัญญาเห็นถูกต้อง เพราะฉะนั้นรูปหนึ่งรูปใดที่ปรากฏที่ตัวตามปกติ การรู้ลักษณะความจริงของสภาพธรรมไม่ผิดปกติ เพราะว่าขณะนี้ไม่เคยระลึก ไม่เคยรู้ว่ารูปมีลักษณะอย่างไร ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราอย่างไร เมื่อได้ฟังพระธรรม และก็รู้ว่า ไม่มีอะไรที่เกิดแล้วไม่ดับ และไม่มีอะไรซึ่งเป็นของเรา ทั้งหมดเป็นอนัตตา ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้ก็จะรู้ว่า รูปที่ปรากฏที่ตัวมีลักษณะอย่างไร ขณะนั้นเป็นสติที่กำลังระลึกลักษณะของรูปที่ตัว และค่อยๆ มีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของรูป ก็จะประจักษ์แจ้งว่ารูปเกิด และรูปดับ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่มีแล้วไม่มี ก็จะเป็นของใครไม่ได้ เพราะว่าหมดแล้ว ไม่มีแล้ว ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็สามารถที่จะรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ข้อที่น่าคิดที่ไม่ควรจะลืมคือ ถ้าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วปัญญาจะรู้อะไร

    ผู้ฟัง ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานกับสมถกรรมฐาน ทั้ง ๒ นี้ ธรรมข้อใด ข้อหนึ่งที่ได้ปฏิภาณอย่างรวดเร็วกว่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    7 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ