ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
ตอนที่ ๑๑๔
สนทนาธรรม ที่ ประเทศกัมพูชา
ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่มีใครจะไปฝืนอัธยาศัยที่ได้สะสมมานานแสนนานแสนโกฏิกัปป์ หรือนานกว่านั้นอีกได้ แต่เราสามารถจะรู้ตัวจริงของธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่สะสมมาที่จะเกิดในขณะนี้ เป็นอย่างนี้ เพราะว่ามีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนี้ เราไม่ได้ไปต่อต้าน เราไม่ได้ฝ่าฝืน เราไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์อะไร เพราะเหตุว่าเรารู้ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ ทำกฎเกณฑ์อะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นตัวเรา คนละหนึ่ง คนละหนึ่ง ไม่ซ้ำกันเลย ไม่มีใครซ้ำใคร ทุกคนที่สะสม เป็น ๑ ๑ ๑ เท่านั้นเอง ไม่มีกฎอะไร นอกจากว่ามีปัญญา แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น พอจะเห็นหรือไม่ว่าเป็นบาป ที่ไปนั่ง
ผู้ฟัง เห็น
ท่านอาจารย์ รู้สึกว่าพูดง่าย ว่าเห็นเป็นบาป ทั้งๆ ที่กำลังสบายใจ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไม่เข้าใจจริงๆ เวลาที่เรารู้สึกสบายใจ มันไม่ใช่กุศล แล้วเราก็ไปลงคิดว่าเป็นกุศล และอีกอย่างหนึ่งคล้ายๆ กับว่าเราต้องไปทำขึ้นมา ด้วยความพอใจของเรา และจริงๆ เดี๋ยวนี้เราพอที่จะมีกุศล โดยที่ไม่ต้องไปนั่งโดยที่ไม่ใช่กุศลก็ไปคิดว่าเป็นกุศล จะดีกว่าไหม ถ้ามีความเข้าใจเมื่อไหร่ เมื่อนั้นขณะนั้นก็เป็นกุศลประเภทหนึ่ง กุศลมีหลายประเภท ไม่ใช่มีประเภทเดียว โดยมากคนคิดว่า เฉพาะทานการให้เท่านั้นที่เป็นกุศล แต่ความจริงขณะที่เป็นศีลก็เป็นกุศล หรือขณะที่กำลังฟังธรรมในขณะนี้ก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นกุศลที่สูงกว่าขั้นทานขั้นศีล เพราะเหตุว่าทานศีล ถึงไม่ใช่พุทธศาสนาก็มี แต่ว่าปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ศาสนาอื่นไม่ได้สอน เพราะว่าเขาไม่ตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม
ผู้ฟัง จำเป็นหรือเปล่าว่า จะต้องจำธรรมที่ศึกษามาได้ทุกข้อ
นิพัทธ์ ความจำเป็นจริงๆ ในการศึกษา และสนใจธรรม คือความเข้าใจธรรมเป็นหลัก เพราะว่าการจำ ใครมีความจำดีก็จำได้มาก หรือใครอ่านบ่อย เห็นบ่อย ก็อาจจำได้ แต่ว่าความเข้าใจบางครั้ง เรานึกข้อธรรม นึกชื่อไม่ออก พอเราเห็นแล้ว อ่านแล้ว ได้ยินคนอื่นพูด เราเข้าใจ ความเข้าใจเป็นหลักสำคัญ เป็นหลักใหญ่ที่สุด เพราะความเข้าใจนี่เอง ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้คุณธรรมอย่างอื่นเกิดเจริญขึ้น
กุลวิไล ถ้าถามว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมอะไร เรื่องของความจำ ก็คือสัญญาเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกชาติทุกดวง มีทั้งอกุศล และกุศล แต่ถ้าเป็นความเข้าใจเป็นปัญญาเจตสิกเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้นในการศึกษาถ้าเป็นการท่องจำแล้ว ก็เหมือนกับเรียนวิชาการทางโลก เราก็จะไม่เข้าถึงสภาพธรรมที่เป็นจริง และบ่อยครั้งก็อาจจะเป็นความจำที่เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ แต่ถ้าเราศึกษาพระธรรม และเรามีความเข้าใจในสภาพธรรม เราก็ไม่จำเป็นต้องท่องจำ แต่เป็นความเข้าใจที่เราเข้าใจจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ
ท่านอาจารย์ ความจำอย่างไรก็เป็นสติไม่ได้ ความจำต้องเป็นสัญญาเจตสิก เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เวลาที่เราผ่านพยัญชนะใด พยัญชนะแรกอธิบายว่าอย่างไร เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ ถ้าเป็นสัญญาเจตสิก สัญญาที่เกิดกับความเพียร สัญญาที่เกิดร่วมกับปัญญา ก็ทำให้สัญญานั้นยังคงเป็นสัญญา แต่ว่าเพิ่มเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย สัญญาที่มั่นคงขึ้นก็เพราะเหตุว่ามีปัญญาเกิดร่วมด้วย และสัญญาที่จำธรรมดากับสัญญาที่เกิดร่วมกับวิริยะที่เป็นอีกระดับหนึ่ง สัญญานั้นก็มีอีกชื่อหนึ่ง เราจะทิ้งความหมายความหรือเข้าใจที่ถูกต้องเดิมไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะคิดว่าขณะใดที่จำเรื่องนั้นเป็นสติหรือเป็นสัญญาก็แล้วแต่ แต่ว่าต้องรู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างต้องเป็นแต่ละอย่าง
ผู้ฟัง สติระลึกรู้ในธรรม ในการฟังธรรม หรือการอ่านหนังสือต่างๆ การระลึกในธรรม
ท่านอาจารย์ หนังสือต่างๆ คือ หนังสืออะไร
ผู้ฟัง หนังสือพระไตรปิฏก
ท่านอาจารย์ ต้องชัดเจน เวลานี้เรากำลังจะพูดถึงเรื่องสภาพของสัญญาเจตสิกกับสติเจตสิต สติต้องเป็นโสภณ คือเวลาที่อ่านหนังสือธรรม ไม่ได้หมายความว่าเพียงอ่านแล้วจะเข้าใจได้ ทุกคนอ่านออกหมดเลย หยิบพระไตรปิฏกมาก็อ่านออก แต่ความเข้าใจของแต่ละคน จะเท่ากันหรือไม่ จะเป็นสติเหมือนกันหมดหรือไม่ หรือว่าไม่ใช่สติ หรือเป็นแต่สัญญาที่จำแต่ไม่มีสติเกิดร่วมด้วยเลย ในขณะที่ไม่เข้าใจ จริงๆ แล้วก็อยากจะให้ปัญหาของคุณสวนชัดเจน เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ คือเรื่องที่คนคิดว่าความจำสำคัญ แต่ความจริงคุณสวนก็เคยจำอะไรมาตั้งเยอะแยะ ลืมบ้างหรือไม่ ลืม แต่ถ้าเป็นการที่เข้าใจแล้วจำ หรือจำสิ่งที่เราเข้าใจแล้ว ผิดกันมาก เราจะไม่ลืมสิ่งที่เราเข้าใจ แต่ว่าถ้าเราเพียงแต่จำชื่อ จำเรื่อง โดยเฉพาะหัวข้อต่างๆ เราลืมได้ อย่างเวลาที่เราจะพูดถึงข้อธรรม บางทีเราไม่ได้กล่าวตามลำดับ จำเป็นไหมที่จะต้องตามลำดับ ประโยชน์มี แต่เราต้องรู้ถึงประโยชน์ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดว่า เมื่อตำราว่าอย่างไรเราก็ตามตำราหมด โดยที่ว่าไม่เข้าใจความมุ่งหมายเลย แต่เมื่อตำราเป็นอย่างนี้ และเราเข้าใจความมุ่งหมายด้วยว่า ทำไมเป็นลำดับอย่างนี้ ก็ยังจะทำให้เราสามารถเพิ่มความเข้าใจขึ้นได้ และรู้ด้วยว่าทำไมจึงควรที่จะเข้าใจหรือว่าจำตามลำดับด้วย นั้นก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นเรื่องของวิชาการ แต่ก็ไม่สำคัญเท่าการที่เราจะเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ถ้าคุณสวนสามารถที่จะเอาสิ่งที่ได้จำแล้วทั้งหมด มาใช้กับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อธิบายถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ด้วยความเข้าใจจริงๆ อันนี้ก็เป็นความเข้าใจของเราเอง ซึ่งเกิดจากการอ่าน การฟัง การคิด การพิจารณา การไตร่ตรอง การระลึกจนรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นเรา จะเคยเรียนพระไตรปิฏกมาในชาติก่อนๆ แค่ไหน ใครจำได้ แล้วในชาตินี้ ถ้าเราไม่เข้าใจสภาพธรรม เราก็ต้องมานั่งจำใหม่ ปรมัตถธรรม ๔ จิต เจตสิก รูป มีอะไรบ้าง แต่ถ้าเราเข้าใจสภาพธรรม ทันทีที่ได้ฟังเราก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ เพราะมีปัจจัยที่เกิดจากการฟัง และพิจารณาจนเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม พอใครพูดเรื่องรูปธรรมหรือนามธรรม เราไม่ได้คิดว่าเป็นเพียงชื่อ คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาธรรม พอได้ยินคำว่า นาม ทุกคนก็ต้องรู้ว่าเป็นชื่อ แต่ว่าจริงๆ แล้วหมายความถึงสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ ขณะใดที่จิตเจตสิกเกิด ต้องเป็นสภาพรู้ ซึ่งต่างกับลักษณะของรูป นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจ ไม่ใช่เราไปจำชื่อเฉยๆ ถ้าเรามีความเข้าใจ แล้วเราไปพบคำนี้ ก็พอรู้ว่าคือนามกับรูป ทั้งๆ ที่คนทั่วไปอาจจะคิดว่ามันชื่อ รูป เป็นรูปภาพ หรืออะไรต่างๆ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแต่ละคน ถ้ามี ก็สามารถที่จะเข้าใจคำที่ได้ยินโดยที่ว่าไม่สับสน มิฉะนั้นแล้วก็สับสนไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้ามีความเข้าใจ จะจำได้เอง เข้าใจถูกไหมว่า ขณะที่ฟังเรื่องธรรม แล้วเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง กุศลจิตเกิด ในขณะนั้นมีสติขั้นฟังเกิด สติขั้นฟังเกิด เมื่อสัญญาเจตสิกเกิดร่วมกับสติขั้นฟัง สัญญาความจำนั้นจะมีกำลังมากถึงทำให้จำได้
ท่านอาจารย์ สัญญา เกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตอะไร ถ้าเกิดกับกุศลจิตขั้นทาน เกิดกับขั้นศีล เกิดกับขั้นสมถะจิตสงบ เกิดกับขั้นสติปัฏฐานก็ได้ เพราะฉะนั้นระดับของสัญญาก็ต่างกัน แต่สัญญาไม่ใช่สติ
ผู้ฟัง บุญคืออะไร และบาปคืออะไร
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นบาปก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม บุญคือสภาพธรรมที่ดีงาม ถ้าพูดอย่างนี้โดยไม่ศึกษา เราก็จะตัดสินด้วยตัวเราเองซึ่งผิดๆ ถูกๆ ว่า ตอนนี้คือบุญ ตอนนั้นคือบาป แต่ความจริงธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับเร็ว อย่างจิตกับเจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล แล้วก็สลับกัน จนกระทั่งเราบอกไม่ถูกว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จึงต้องอาศัยการศึกษาให้ละเอียดพอสมควรที่จะรู้ว่า ขณะใดก็ตามที่เป็นบาปหรืออกุศลความหมายเดียวกัน ก็คือขณะนั้นเป็น โลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลอื่น ที่เราเคยได้ยินได้ฟังอิสสา ริษยา ตระหนี่ มัจฉริยะ พวกนี้ก็เป็นลักษณะของธรรมที่เป็นอกุศลทั้งนั้น ถ้าเป็นกุศลหรือเป็นบุญก็ตรงกันข้าม คือเป็นธรรมที่ดีงาม ธรรมที่ดีงามคือขณะที่จิตเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ดีงามเกิดร่วมกัน เวลาที่มีจิตใจที่ดีงามเกิดหรือว่าจิตใจที่ไม่ดีเกิด ก็จะมีทางของจิต กายกับวาจา เป็นทางของกุศลอกุศล เพราะเหตุว่าเราไม่ได้มีแต่จิต เรามีรูปด้วย ถ้ามีแต่จิตที่เป็นกุศลอกุศล คนอื่นจะเดือดร้อนหรือไม่ ถ้าอกุศลจิตของเราเกิด ไม่เดือดร้อนใช่หรือไม่ แต่เพราะเหตุว่าเรามีรูปด้วย เวลาที่อกุศลจิตเกิดก็มีทางคือกายวาจาที่ไม่ดี ซึ่งเกิดจากอกุศลจิตนั้น เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ความจริงเวลาที่อกุศลธรรมเกิด เบียดเบียนเราก่อน คนที่มีอกุศลไม่สบายเลย ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะ แต่ว่าขณะที่เป็นโลภะเราอาจจะคิดว่าดี เป็นความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เวลาที่ได้มาแล้วเราก็ดีใจมาก เพลิดเพลินเป็นสุข แล้วก็สนุกสนานเพลิดเพลิน คิดว่าขณะนั้นก็ดี เพราะฉะนั้นดีของเรากับดีของธรรมคนละอย่าง ดีของเราคือความรู้สึกเป็นสุขสนุก เมื่อสักครู่ที่ไปสนุกหรือไม่ อาหารอร่อยไหม นี่คือดีของเราใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วคืออกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่ติดข้อง ติดข้องนิดหน่อยก็ไม่พอ ไม่สมใจ ต้องหนักหนาสาหัส คือมากกว่านั้น ให้โสมนัสเลย ถ้าเพียงแต่อุเบกขาเวทนาเฉยๆ ก็ยังไม่พอใจ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ขอให้ถึงความรู้สึกที่เป็นโสมนัสเวทนา ไม่ใช่เพียงอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าถ้าไม่ศึกษาธรรม เราเข้าใจธรรมผิด เวลาที่เราสบายใจไปนั่งสมาธิ เราก็คิดว่าขณะนั้นเป็นกุศลแล้วใช่ไหม โดยที่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วขณะนั้นมีโลภะ แล้วก็มีโมหะ มีความไม่รู้กับมีความติดข้อง เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรม ก็จะทำให้เราเข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ขณะที่เป็นกุศลต้องไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แล้วเป็นไปขณะไหนบ้าง เพราะว่าจิตใจเรารู้ยาก แต่ถ้ามีการแสดงออกทางกายทางวาจา พอจะรู้ แต่ต้องตรง ไม่เช่นนั้นก็ถูกลวง หรือไม่ก็เข้าใจผิด อย่างเวลาที่เราเห็นคนยากไร้ เราคิดที่จะช่วย ขณะคิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลที่จะช่วย นั้นเป็นกุศลแล้ว ดีงามแล้ว คือธรรมตรงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพียงคิดก็เป็นกุศล แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะเหตุว่ายังไม่มีการกระทำ ถ้าอย่างนั้นทุกคนต้องรวยกุศล เอาแต่คิดอย่างเดียวจะช่วยคนนั้นช่วยคนนี้ แต่ความจริงไม่ช่วยเลย และก็หวังกุศล ก็คิดว่าแค่นั้นพอ แต่ความจริงนั้นเป็นปุพพเจตนา เพียงแต่ความคิดก่อนการกระทำ ซึ่งไม่แน่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดหรือไม่เกิด กุศลมีประกอบทั้ง กาลก่อนที่กุศลจะทำ เรียกว่าบุพเจตนา หรือ ขณะที่กำลังทำ จิตเป็นกุศล และหลังจากทำแล้ว จิตของเราผ่องใสที่เราได้มีโอกาสช่วยคนอื่นให้เขาสะดวกสบายขึ้น มีความรู้สึกสบายใจกับเขาด้วยที่เขาได้พ้นจากความทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้นมี ๓ กาล คือ ก่อนให้ หรือ ก่อนทำกุศล และ กำลังทำ และ หลังจากทำ นี่ก็เป็นเรื่องของทางของกุศล ซึ่งเป็นบุญกิริยา ทางกาย ทางวาจา มี ๓ อย่าง สรุปคือ ทาน ศีล ภาวนา สำหรับพระภิกษุ ก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเหตุว่าท่านไม่มีวัตถุทานอย่างเรา แต่จริงๆ แล้วท่านก็มีโอกาสเหมือนกันแต่น้อยกว่า จุดมุ่งของท่านเน้นไปที่ ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะว่าเป็นเรื่องโดยตรงของภาวะที่ต่างกันของบรรพชิตกับคฤหัสถ์ นี่ก็พอจะเข้าใจได้ใช่หรือไม่ว่า บุญอยู่ที่ใจเป็นธรรมที่ดีงาม บาปอยู่ที่ใจเป็นธรรมที่ไม่ดี อย่างไร เช่น โลภะ โทสะ โมหะ วันนี้บุญเยอะ หรืออกุศลเยอะ ความตรงเท่านั้น ผู้ที่ตรงจะเป็นผู้ที่ได้สาระในพระธรรม แต่ถ้าไม่ตรง คดไปคดมา ก็ไม่ได้ เข้าข้างตัวเองก็ไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าตรง แต่ยังเป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ เป็นแต่ว่าตรง อย่างน้อยคือว่ารู้ว่าตรง
ท่านอาจารย์ เบี้ยวๆ ก็อยากจะให้เป็นกุศล ทั้งๆ ที่เป็นอกุศลก็ยังอยากจะให้เป็นกุศล เห็นไหมว่า ความไม่ตรงนี้มี เข้าใจว่าทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้เป็นคนดี ถ้าเทียบแล้วต้องเป็นคนดี เราไม่ได้เป็นคนร้าย เราไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดต่างๆ เราก็เป็นคนดีระดับหนึ่ง แต่ว่าดีอย่างนี้ไม่ใช่สามารถที่จะรู้ว่าเป็นคนดี ไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเกิดกุศลจิตหรือเกิดอกุศลจิต ก็ไม่รู้ตัว เวลาทำอกุศลก็ไม่รู้เป็นอกุศล หรืออาจจะรู้บ้างแต่ก็ยังทำ ก็ได้ แต่ว่าไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นก็มีดีหลายขั้น แต่ความจริงก็คือว่า กุศลคือดี อกุศลคือไม่ดี แต่ถ้าจะรู้ก็ต้องมีปัญญาที่จะรู้ ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่รู้
ผู้ฟัง มีคำถามว่า ผู้ที่ฟังธรรมแล้วมีความเข้าใจในสภาพธรรมในขั้นการฟัง จะต่างกับผู้รู้แจ้งธรรมอย่างไร ทั้งๆ ที่ต่างก็รู้ธรรม และเห็นความเป็นคนสัตว์สิ่งของเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ปัญญา ระดับปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ไม่เหมือนกัน
ผู้ฟัง จะขอให้ท่านอาจารย์ช่วยบรรยาย ปัญญาระดับที่ต่างกัน ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรปรากฏ
ผู้ฟัง แข็ง
ท่านอาจารย์ ปริยัติ ใช่หรือไม่ ถ้าอยากจะรู้ว่าปริยัติคืออย่างไร ปัญญาขั้นปริยัติคืออย่างไร ให้ถามว่า “ขณะนี้อะไรปรากฏ” ถ้าตอบว่า “แข็ง” นั่นแหละคือ ปริยัติ
ผู้ฟัง ถ้าตอบว่า “เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง”
ท่านอาจารย์ ที่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็จะต้องหมายความว่า ขณะนั้น ทำไมตอบอย่างนี้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็ถามต่อไปอีกว่า “ที่ตอบอย่างนี้เพราะอะไร” จึงตอบว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง เพราะว่า จำได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม
ท่านอาจารย์ นี่ก็ ปริยัติ ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะเข้าใจว่าความรู้ระดับปริยัติคืออย่างไร ก็คืออย่างที่ตอบ
นิพัทธ์ ในสมัยพุทธกาล การศึกษาธรรม ไม่มีหนังสืออ่าน หนังสือมีใช้แล้วสมัยนั้นแต่ไม่นิยมเอามาเขียนภาษาธรรม การศึกษาธรรมในสมัยนั้นฟังโดยตรงจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจากพระอรหันต์ จากพระสาวกทั้งหลายที่ท่านรู้ ฟังโดยตรง ไม่ผ่านตำรา ไม่ผ่านตัวหนังสือ ฟังตรงเสียงตรงจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสู่ผู้ฟัง และผู้ฟังก็เข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงอะไรที่พระพุทธองค์ตรัส ถ้าเราอ่านแต่ตำราอย่างเดียว ยึดติดแต่ในตำราอย่างเดียว โดยไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏในชีวิตประจำวันของเรา ทำให้เราห่างเหินจากความจริง ถ้าเราเข้าใจความจริงจากสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันของเราแล้ว ก็ตรงกับตำราที่ท่านว่าไว้ แต่เราจะเอาตำรามาเป็นเครื่องทดสอบ เราจะพลาด ถ้าเราจะเอาปริยัติไปพิสูจน์ความจริง มันก็เป็นเพียงชื่อ เพียงเรื่องราวที่ไปพิสูจน์
ท่านอาจารย์ นี่คือความต่าง เหตุว่าปกติธรรมดา เราจะเข้าใจชื่อของสติ แล้วเวลาที่เป็นสติเป็นไปในทาน เราไม่รู้เลย เพราะไม่ปรากฏ เป็นไปในศีลก็ไม่ปรากฏ ถ้าเป็นสมถภาวนาก็ไม่ปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน แต่เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน หมายความว่า ลักษณะของสติปรากฏ เพราะเหตุว่าธรรมดาเรากระทบสิ่งที่แข็ง ทุกคนตอบได้แข็ง เผ็ด ร้อน หวาน ตอบได้หมด เสียงอะไรก็ตอบได้ เพราะได้ยิน ก็เป็นวิญญาณแต่ละทาง เช่น จักขุวิญญาณกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ โสตวิญญาณกำลังได้ยินเสียง ถ้ามีกลิ่นฆานวิญญาณกำลังรู้กลิ่น ถ้ากำลังลิ้มรส ชิวหาวิญญาณก็กำลังลิ้มรส ถ้ากระทบสัมผัสกายวิญญาณเป็นสภาพที่รู้แข็ง ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นกายวิญญาณที่รู้แข็งเป็นปกติธรรมดาที่ทุกคนตอบได้ เด็กเล็กก็ตอบได้ ใครก็ตอบได้ แต่ถ้าขณะใดที่สัมมาสติเกิดระลึก ต้องมีการฟัง มีความเข้าใจว่าไม่มีตัวตนเลย แต่ว่ามีธาตุ หรือสภาพธรรม ที่สามารถที่จะปรากฏ ถ้าทางกายก็คือ ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ซึ่งขณะนี้กำลังปรากฏ แต่ว่าปรากฏแล้วผ่านไปเร็วมาก ทางมโนทวารวิถีก็เกิดต่อเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นอะไรไป แต่ถ้าขณะใดที่เกิดระลึกที่จะไม่ต่อไปเป็นบัญญัติ แล้วก็มีความเข้าใจเล็กน้อยค่อยๆ เกิดขึ้นว่า ลักษณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมโดยไม่ต้องพูด แต่รู้ว่าแข็ง มีจริงๆ เป็นสภาพธรรม และลักษณะของแข็ง ก็ไม่ใช่ลักษณะที่รู้แข็ง ขณะนั้นมีสภาพธรรม ๒ อย่างที่แข็งปรากฏ คือแข็ง กับ รู้แข็ง เพราะฉะนั้นขณะนั้น ที่รู้ว่ากำลังค่อยๆ เข้าใจ เพราะเร็วมากเลยสั้นนิดเดียวเอง จะเข้าใจทันทีไม่ได้ แต่ต้องทีละเล็กทีละน้อยที่รู้ “ลักษณะรู้” คืออย่างนี้ ที่กำลังรู้แข็งคืออย่างนี้ มีจริงอย่างนี้ นี่คือสติปัฏฐาน แต่ว่ายังไม่ใช่เป็นปฏิเวธ เป็นแต่เพียงการเริ่มที่จะอบรมความรู้ถูกความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเคยเป็นคน เป็นสัตว์ เคยเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นเพียงธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีจริงๆ คนนั้นก็จะรู้ว่าขณะไหนหลงลืมสติ ขณะไหนมีสติ นี้เป็นขั้นต้นคือต้องรู้ความต่างของขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ ซึ่งเป็นปัจจัตตัง เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนี้สติของใครระลึกที่ไหนหรือไม่ หรือสติไม่เกิด คนนั้นก็รู้เอง
ผู้ฟัง การที่สติเกิด ระลึกรู้สภาพโทสะ ไม่เป็นปฏิบัติธรรมอย่างไร
ท่านอาจารย์ ใครไม่รู้ เวลาโกรธ ใครไม่รู้บ้างว่าโกรธเป็นยังไง
ผู้ฟัง โทสะมีหลายขั้น ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เวลาที่โทสะเกิด ทุกคนรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่กุศล ลักษณะของโทสะก็หยาบกระด้าง แล้วใครไม่รู้ลักษณะของโทสะ
ผู้ฟัง คงจะไม่มี
ท่านอาจารย์ ขณะนั้น ชื่อว่าปัญญาหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ชื่อว่าปัญญา เพราะทุกคนที่ไม่ทราบ ไม่เข้าใจธรรมก็รู้ได้ แล้วถ้าเป็นปฏิบัติจะระลึกรู้สภาพโทสะอย่างไร
ท่านอาจารย์ หมายความว่าเวลาที่โทสะเกิด สติก็รู้อาการลักษณะของโทสะว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่เรา เพราะปกติเราโกรธ แต่เวลาที่สติเกิด ก็มีลักษณะของความโกรธให้ปรากฏ ให้ระลึก ให้รู้ว่าขณะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริง ปัญญาจะต้องเจริญจนกระทั่งว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะทุกอย่างคือเดี๋ยวนี้หมดเลย เสียงนิดหน่อยพวกนี้เป็นธรรมทั้งหมดทุกทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 63
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 65
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 66
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 71
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 77
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 92
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 120