ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
ตอนที่ ๑๑๖
สนทนาธรรม ที่ วัดวังตะกู จ.นครปฐม
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
ท่านอาจารย์ การศึกษาโดยละเอียดจะทำให้เราเริ่มเข้าใจถูก มีความเห็นถูกว่า แม้การที่จะอบรมเจริญปัญญา ต้องเข้าใจความหมายจริงๆ ว่าเราไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ต้องเข้าใจว่าปัญญาคือความเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง อาศัยการฟัง และขณะที่ฟังก็ต้องฟังด้วยดี ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องหรือไม่ ถ้าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง อันนั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าถูกต้องหมายความว่าตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และการฟังคือการศึกษาแต่ละครั้ง ก็จะทำให้เข้าใจธรรมขึ้น ปัญญาก็จะเจริญขึ้นตามลำดับจนกว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่เราจะไปทำ แต่เพราะเหตุว่า ปัญญามีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้สติอีกระดับหนึ่งเกิดขึ้นเป็นสติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ความหมายของคำว่า”ถูกต้อง” สภาวธรรมหรือสภาพธรรมที่ถูกต้องสภาวธรรม หรือสภาพธรรมที่ปรากฏที่ถูกต้อง มีความหมาย มีขั้นตอน และ มีข้อแม้อย่างไร ที่จะพิสูจน์ได้ว่า อย่างไรแค่ไหนถูกต้อง และอย่างไรแค่ไหนไม่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ถูกต้องตรงกับสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้อะไรมาเลย แต่ถ้าเห็น หรือเข้าใจสัมผัส หรือสำเหนียก พิสูจน์ได้ว่าสภาวธรรมที่ปรากฏนั้นถูกต้อง ก็ถือว่าเรารู้จริง รู้ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจก็จะรู้ไม่ได้เลย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีนามธรรมกับรูปธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่แยกขาดจากกัน รูปธรรมเป็นธรรมที่มีจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรเลย แต่เวลาที่กระทบสัมผัสกาย บางคนอาจจะเข้าใจว่า รูปสามารถที่จะมีความรู้สึกได้ เพราะว่าไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว ขณะมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่รูป แต่อาศัยรูปเกิดขึ้น เช่นขณะนี้ทางตา มีเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปพิเศษที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าใครก็ตามที่กรรมไม่เป็นปัจจัยให้ปสาทรูปเกิด สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏไม่ได้ นี่คือความถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมที่แม้มีจริง แต่ว่าต้องมีปัจจัยที่จะทำให้มีสภาพที่เห็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นจริงปรากฏ คนตาบอดไม่รู้ลักษณะของสีสันวรรณะ สีสันวรรณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มีปัจจัยที่จะให้มีธาตุรู้สี หรือเห็นเกิดขึ้น นี่คือความถูกต้อง แต่ถ้าเป็นเรา ก็หมายความว่าไม่เข้าใจอะไรเลย
ผู้ฟัง อย่างคนตาบอดไม่รู้ถึงสีสันวรรณะ แต่คนตาบอดสามารถสัมผัสถึง กลิ่น เย็น ร้อน อ่อนแข็งได้ อย่างนี้ถือว่ารู้จักสภาวธรรมหรือสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ ทุกคนกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ถามใครๆ ก็บอกว่าแข็ง ถามเด็กๆ ก็บอกว่าแข็ง แต่นั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจอรรถของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติใช้คำว่า ปัญญา แล้วก็จะมีชื่ออีกหลายชื่อสำหรับสภาพธรรมที่มีความเห็นถูกตามระดับขั้นด้วย ต้องเข้าใจว่าปัญญาเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาทางโลก ซึ่งเราสามารถที่จะศึกษาวิชาการทางโลก ซึ่งไม่รู้ตัวจริงของธรรมเลย เพียงแต่เป็นความทรงจำเรื่องราวของธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว และก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นวิชาการสาขาใด เช่น วิชาการแพทย์ ก็จะมีการทรงจำในรูปร่างสัณฐานของรูปธรรมของสีสันวรรณะที่ต่างกัน บัญญัติว่าเป็นหัวใจ ตับ ปอด ม้าม ฯลฯ แต่ว่าลักษณะแท้ๆ สิ่งนั้นปรากฏเมื่อไหร่ ถ้ามีจักขุปสาท สีสันวรรณะเท่านั้นปรากฏ ถ้ากระทบสัมผัส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเท่านั้นปรากฏ สภาพธรรมจริงๆ ปรากฏเมื่อจิตเกิดขึ้น รู้สิ่งนั้นทีละอย่าง อย่างรวดเร็ว เรียกว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ จะเกิดในคนหนึ่งซ้อนกัน ๑๐ ขณะ หรือ ๑๐ ประเภทหลายๆ ดวงพร้อมกันนั้นไม่ได้ แต่ว่าคนหนึ่งคนหนึ่งจะมีธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ทางใจซึ่งคิดนึก ก็ต้องคิดถึงทีละคำ เพราะฉะนั้นจิตของแต่ละคนก็จะมีทีละหนึ่งขณะ ซึ่งจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง จิตไม่จำ จิตไม่สุข จิตไม่ทุกข์ ความสุขความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดจากการเห็น การได้ยิน เป็นลักษณะของเจตสิก ซึ่งโดยศัพท์หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต รู้อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ อย่างเดียวกับจิต คือจิตรู้อารมณ์อะไร เจตสิกก็รู้อารมณ์นั้น คำว่า “อารัมมณะ” อีกคำหนึ่งในภาษาบาลี ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า “อารมณ์” ไม่เหมือนกับความหมายที่เราเข้าใจ เพราะเหตุว่าคนไทยภาษาไทยเราเอาภาษาบาลีมาใช้ แต่ใช้ไม่ตรงกับความหมายในพระพุทธศาสนา เวลาเราบอกว่า วันนี้อารมณ์ดี เพราะเหตุว่าเห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี คิดนึกเรื่องราวดีๆ ก็บอกว่าอารมณ์ดี แต่คำว่า “อารัมมณะ” ต้องคู่กับคำว่า “จิต” เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ หรือว่าจิตกำลังรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ เสียงในป่า เสียงนอกศาลา เสียงใดๆ ก็เกิดขึ้นได้เมื่อมีการกระทบกันของของแข็ง แต่สิ่งที่ไม่ปรากฏ ไม่ใช่อารัมมณะหรืออารมณ์ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีจิตที่รู้เสียงนั้น สิ่งนั้นเกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป แต่ขณะใดก็ตามเสียงปรากฏ หมายความว่า เสียงปรากฏกับสภาพรู้ที่กำลังได้ยินเสียง ขณะนี้มีจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นก็จะต้องทราบการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของสภาพธรรม แล้วก็รู้ว่าตัวจริงของธรรมแต่ลักษณะนั้นมีอะไรบ้าง รู้อารมณ์ทางไหนบ้าง ส่วนเรื่องราวทางโลกที่บอกว่าคนนั้นมีปัญญาก็เป็นแต่เพียงความทรงจำเรื่องราวโดยไม่รู้สภาพธรรม เพราะฉะนั้นวิชาการทางโลกซึ่งมีผู้ที่มีความสามารถต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ถ้าเป็นปัญญาเจตสิกคือ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ อย่างถูกต้องตามลำดับขั้น จึงจะเป็นสัมมาทิฎฐิหรือปัญญาเจตสิก
ผู้ฟัง อาจารย์กำลังจะบอกให้เราได้เข้าใจกันว่า สภาพธรรมที่ตรง และถูกต้อง เกิดจากกระบวนการแห่งธาตุรู้แห่งจิต ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ในทางพระพุทธศาสนาละเอียดมาก คือต้องทราบว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วหนึ่งขณะจิต ที่เกิด และดับ แต่ว่าจิตที่เกิดทุกขณะ มีพลัง หรือว่ามีสัตติในการที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีที่จิตนั้นดับลง เวลาที่พระคุณเจ้าสวดพระอภิธรรมจะมีคำว่าเหตุปัจจะโย อารัมมะนะปัจจะโย จนถึง นัตถิปัจจะโย สิ่งที่มีแล้วปราศ เพราะฉะนั้นจิตในขณะนี้มี เกิดแล้วดับ การดับคือการปราศไป จิตขณะนี้เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ถ้าจิตขณะนี้ยังไม่ดับ ยังไม่ปราศไป จิตขณะต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคนจะมีจิตเพียงหนึ่งขณะ ทีละหนึ่งขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อ ตั้งแต่เกิดจนตายแล้วก็เกิดอีกแล้วก็ตายอีก แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เพราะฉะนั้นจิตทำหน้าที่เกิดขึ้นดับ เมื่อรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็ดับแล้วเกิดอีกแล้วดับอีก เพราะฉะนั้นเป็นขณิกมรณะ หมายถึงความตายจริงๆ ทุกขณะ ไม่ใช่สมมติมรณะ ความตายที่เราใช้กันเวลาที่เกิดมาแล้วก็ตายไปนั้นเป็นสมมติมรณะ และไม่ใช่สมุจเฉทมรณะ คือการตายจริงๆ ไม่เกิดอีกเลยของพระอรหันต์ซึ่งเราใช้คำว่าปรินิพพาน เพราะฉะนั้นการที่จะมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมก็ต้องศึกษาพระธรรม และก็เริ่มความเห็นถูก แต่ว่าไม่ใช่มีเราจะไปประจักษ์ หรืออยากจะทำเพื่อที่จะให้เห็น แต่ต้องเป็นการอบรมปัญญาคือความเข้าใจถูก แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นเรื่องเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ตามที่ได้เข้าใจถูกต้องแล้ว
ผู้ฟัง หมายถึงการศึกษาธรรมต้องไม่มีตัวกูของกูในการศึกษา
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เรา ก็เป็นแต่ความคิด เพราะเหตุว่าขณะนั้นปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา สภาพธรรมที่ไม่ใช่เราคือ สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมก็เป็นรูปธรรม สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมก็เป็นนามธรรม ถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ถูกต้อง แยกขาดจากกัน ก็จะค่อยๆ ละความเป็นเรา จนกว่าจะดับหมด เมื่อเป็นโสดาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งนิพพาน จึงสามารถที่จะดับความสงสัยความไม่รู้ความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรมได้
ผู้ฟัง ขอถามคำถามว่า สภาพธรรมที่ตรง และถูกต้องจะเกิดได้กับสัญญาหรือไม่ สัญญาจะทำให้เกิดสภาวะหรือสภาพธรรมที่ปรากฏตรงหน้าถูกต้อง
ท่านอาจารย์ สัญญาเป็นอีกคำหนึ่งซึ่งคนไทยใช้ผิด ถ้าเป็นสภาพปรมัตถธรรม สภาพธรรมของสัญญาเจตสิก เป็นสภาพจำเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะว่าจิต ๑ ขณะที่เกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ขณะ อย่างน้อยที่สุด ๗ ขณะ เช่น ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้กลิ่น ขณะที่กำลังเห็น ขณะกำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิต ๑๐ ดวงซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่เห็น ขณะนี้มีจิตเกิดดับสลับกัน จิตที่เห็นดับไปแล้ว และจิตที่ติดข้องในสิ่งที่เห็นเกิดสืบต่อ คนละขณะ เพราะฉะนั้นชั่วขณะที่เพียงเห็น ขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ขณะ
ผู้ฟัง ถ้าเราจะเข้าใจว่าในจิตที่เกิดดับนั้น มีองค์ประกอบด้วยสภาพรู้ ธาตุรู้ กับสัญญา ถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ ต้องมีอย่างน้อยที่สุด เจตสิก ๗ ชนิด ไม่ใช่เฉพาะสัญญาเจตสิก
ผู้ฟัง มีหลายท่านถามผมว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมกับการปฏิบัติธรรม ค่อนข้างที่จะไม่ค่อยไปด้วยกันได้ ตอนนี้ความคำถามกระจ่างโดยการตอบของท่านอาจารย์แล้วว่า จริงๆ แล้วการศึกษาปริยัติธรรมกับการปฏิบัติธรรมอยู่คู่กันได้ ถ้าเราไม่มีคำว่า ตัวกูหรือว่าตัวเราอยู่ในการศึกษาหรือตัวเราอยู่ในการปฏิบัติธรรมนั้น ถือว่าสรุปถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามี ๓ ระดับ ปริยัติศาสนา คือศึกษาให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงก่อน เพราะว่าถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย จะไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไร ธรรมอยู่ที่ไหน ขณะนี้เป็นเราหรือว่าเป็นธรรม แต่เมื่อมีความเข้าใจถูกก็จะถึงอีกระดับหนึ่งคือ มีปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องราวของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ขณะที่ฟังสภาพธรรมเกิดดับ ทำหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละประเภท แต่ว่าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย เพียงแต่กำลังฟังให้เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมเท่านั้น ต่อเมื่อใดมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเป็นสังขารขันธ์ ทำให้มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ศึกษา ฟังเข้าใจแล้วแล้วค่อยๆ ศึกษาอีกระดับหนึ่งคือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา จนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฎิเวธ ต้องตรงกัน แยกกันไม่ได้เลย ใครก็ตามที่ไม่มีปริยัติ ไม่มีการศึกษาให้เข้าใจเรื่องสภาพธรรม แล้วจะปฏิบัติต้องผิด ใครก็ตามไม่ได้ศึกษาแล้วปฏิบัติ หมายความว่าคนนั้นไม่มีพระธรรมเป็นสรณะ เพราะว่าคิดเอง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ต้องผิด เพราะเหตุว่าใครจะมีความรู้ หรือมีความสามารถที่จะเข้าใจธรรมโดยไม่ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้นต้องเป็นสิ่งที่ค่อยๆ พิจารณาในความสมบูรณ์ของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งในขั้นปริยัติ ปฏิบัติ ปฎิเวธ
ผู้ฟัง ที่ว่าเรากำลังเข้าสู่กระบวนการของสติปัฏฐาน แบบไหลลื่น แบบที่ไม่ว่าจะรู้สึกตัว หรือไม่รู้สึกตัวก็ตาม วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ตรง และถูกต้อง และเป็นวิธีที่เราค่อยๆ เติม เป็นวิธีที่ทำให้เราสามารถเข้าใจได้บ้าง ขอให้ท่านอาจารย์นำเราเข้าสู่ มหาสติปัฏฐานสูตร ที่เป็นความเข้าใจล้วนๆ ที่ไม่มีคำว่าเป็นเราอยู่ในกระบวนการ
ท่านอาจารย์ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ทำให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษา ผู้ที่เป็นพุทธบริษัท เกิดปัญญาของตนเอง นี่คือประโยชน์สูงสุดที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบให้ ไม่ได้มอบทรัพย์สินเงินทอง เพราะเหตุว่าทรัพย์สินเงินทองมีวันหมดสิ้นไป แต่สิ่งที่ได้มาแสนยากคือปัญญา ซึ่งกว่าที่พระองค์จะทรงบำเพ็ญพระบารมีจนกระทั่งตรัสรู้ถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยศรัทธาถึง ๘ อสงไขยแสนกัปป์ สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยวิริยะถึง ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์ เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด ซึ่งผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนต้องทราบว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสมบูรณ์ด้วยพระปัญญาระดับเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทรงแสดงพระธรรมให้ผู้ฟังได้ฟังได้พิจารณาจนเป็นปัญญาของตนเอง ที่ท่านกล่าวเมื่อสักครู่ว่า เริ่มเข้าสู่กระบวนการสติปัฏฐาน ก็หมายความว่า เริ่มมีความเข้าใจ มีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมในเรื่องราวของธรรม แปลว่าไม่มีใครทำ ไม่มีใครจะปฏิบัติ ต้องค่อยๆ แม้แต่ในขั้นฟังให้ถูกต้องว่าไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรม การที่รู้ว่าเป็นธรรมจะเป็นการเตือน เป็นสัญญาความจำที่ทำให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะคำว่าสติปัฏฐาน หมายความถึงสิ่งที่มีจริงซึ่งสติกำลังระลึก เพื่อรู้ความจริงของสิ่งนั้น เช่นในขณะนี้กำลังเห็น สติปัฏฐาน ระลึกที่ลักษณะของนามธรรม หรือระลึกที่ลักษณะของรูปธรรม แต่แม้แต่คำว่าระลึก ก็ไม่ใช่เพียงพูดแล้วก็จะระลึกได้ ตามที่ได้ยินได้ฟังกันมาก็ทราบว่า มีขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ แต่ไม่เข้าใจจริงๆ เพราะเหตุว่าเราจะทำ ถ้าผู้ที่จะทำหมายความว่า ไม่เข้าใจขันธ์ ๕ ไม่เข้าใจธรรม ไม่เข้าใจปรมัตถธรรม ไม่เข้าใจอภิธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม รู้ว่าเป็นอภิธรรม รู้ว่าจำแนกเป็นขันธ์ ๕ จิต เจตสิก รูป รูปทุกชนิดทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ หมายความว่าเป็นส่วนของรูป เป็นประเภทรูป ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่ว่ารูปในอดีต รูปขณะนี้ รูปอนาคต รูปก็เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ไม่ไม่ใช่สภาพที่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นรูปขันธ์หมายถึง ธรรมส่วนของรูปที่เป็นกอง ไม่ว่าจะเป็นรูปอดีต ปัจจุบัน อนาคต รูปใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด ภายใน ภายนอก เพราะว่ารูปมีเปลี่ยนไป เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยแล้ว ดับไป ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็คงเป็นเพียงรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ส่วนสัญญาเจตสิกเป็นสภาพจำ ในอดีตก็จำเรื่องต่างๆ แม้ขณะนี้ก็กำลังจำ สัญญาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกดวง สังขารขันธ์ได้แก่ เจตสิก ๕๐ สติเป็นสังขารขันธ์ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์ ความเพียรเป็นสังขารขันธ์ โลภะเป็นสังขารขันธ์ สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทั้งหมดซึ่งเป็นนามธรรม ที่ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่มีเราจะทำ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์ ขณะที่ฟังเข้าใจ เริ่มที่จะสะสม ปรุงแต่ง ที่จะให้มีการระลึกได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สติปัฏฐานเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครคนหนึ่งคนใดจะบอก หรือว่าจะทำ แต่ผู้นั้นจะเข้าใจได้ถูกต้องว่า มีความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พอที่จะรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ หรือเปล่าในขั้นการศึกษา ในขั้นการศึกษาเมื่อรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ จากการฟังโดยละเอียดก็มีปัจจัยที่จะทำให้สติระลึกที่ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมเมื่อใด สตินั้นจึงเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งจำแนกเป็น กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งได้แก่ จิต เจตสิก รูป นั้นเอง
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วเรากำลังเข้าสู่กระบวนการของมหาสติปัฏฐานสูตร กาย เวทนา จิต ธรรม หลายๆ ท่านอาจจะรู้สึกงง แล้วเราจะนำมาทำเป็นรูปธรรมได้อย่างไร เพราะกระบวนการการปฏิบัติธรรมหลายท่านมีความคิดว่า จะต้องมีวิธีการ เช่น ต้องหลับตามทำสมาธิ หรือต้องเดิน ต้องย่อง ต้องยก ต้องเหยียบ หรือต้องหายใจเข้าออก กระบวนการเหล่านี้ จัดได้หรือไม่ว่าเป็นกระบวนการของมหาสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย
ผู้ฟัง มีใครสงสัยหรือไม่ แสดงว่าที่ผ่านมา เราไม่ผิด เคยมีคำถามว่ามาเจริญสติปัฏฐาน แต่ทำไมไม่มีการนั่งสมาธิ หรือสอนให้ปฏิบัติเลย
ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังนั่ง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเลย เพราะสภาพธรรมเกิด และดับเร็วมาก ไม่มีใครไปจัดการ ถ้าจัดการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ หรือทำกริยาอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น ขณะนั้นเป็นเรา ไม่ใช่สติที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยจึงเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด ไม่มีใครสามารถมีกุศลจิตได้ตลอดเวลา ประเดี๋ยวก็เป็นอกุศลประเภทต่างๆ ตามปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ แต่สติสามารถจะระลึกลักษณะนั้นว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 63
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 65
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 66
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 71
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 77
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 92
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 120