ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
ตอนที่ ๑๑๘
สนทนาธรรม ที่ วัดวังตะกู จ.นครปฐม
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมิจฉามรรค มิจฉาสมาธิ เป็นโลภมูลจิตเป็นสภาพที่ติดข้องต้องการที่จะให้จิตอื่นโดยที่ว่าไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่ให้ติดข้องโดยที่ไม่มีปัญญารู้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เลย แต่ว่าเวลาใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ฉะนั้นเอกัคคตาเจตสิกต้องมี เพราะว่าเกิดกับจิตทุกดวง แต่เอกัคคตาเจตสิกก็ยังคงเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ จะเปลี่ยนเป็นเจตสิกอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิดต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงเกิดร่วมด้วย ซึ่งมีเจตสิกซึ่งสงบเกิดทุกครั้งที่เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้นสงบที่นี่อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นการจดจ่ออยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อย่าเข้าใจผิดว่าขณะที่ไม่ได้คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ และก็เข้าใจว่าขณะนั้นสงบ แต่สงบในพุทธศาสนาหมายความว่า สงบจากอกุศล ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐาน มรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนา และสำหรับการอบรมความสงบ ที่เราใช้คำว่าสมาธิ เวลาที่กล่าวถึงข้อความในวิสุทธิมรรค ชื่อเรื่องบอกแล้ว “วิสุทธิมรรค” หนทางของความบริสุทธิ์จากกิเลส ต้องเป็นฝ่ายโสภณะฝ่ายดี ฝ่ายกุศล มิจฉาสมาธิจะไม่เกี่ยวข้องเลย การศึกษาธรรมต้องทราบว่าขณะนั้นกำลังศึกษาเรื่องอะไร หัวข้ออะไร ถ้าพูดถึงเรื่องอกุศลจะใช้คำว่าทิฏฐิเจตสิก ไม่ต้องใช้คำว่ามิจฉาก็ได้ เพราะเหตุว่าเป็นอกุศลก็ต้องผิดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกเป็นอกุศลเจตสิก เป็นเรื่องที่ว่าถ้าพูดถึงเรื่องกุศลขณะนั้นถ้าใช้คำว่าสมาธิก็ต้องหมายถึงสัมมาสมาธิ จะหมายถึงมิจฉาสมาธิไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เวลาที่จิตสงบจากอกุศล เป็นกุศล กุศลที่เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น อบรมขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ลักษณะของความสงบจะตั้งมั่นคง จนกระทั่งลักษณะของสมาธิที่ประกอบด้วยความสงบ ปรากฏเป็นลำดับขั้น แต่ว่าถ้าไม่มีการที่จะรู้ว่าขณะนี้จิตสงบหรือไม่สงบ ไม่มีการที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาได้เลย เพราะเหตุว่าทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา เป็นญาณสัมปยุตต์ หมายความว่าจิตขณะนั้นต้องประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ถ้าขณะนั้นไม่มีปัญญาเจตสิกเป็นมิจฉาทั้งหมด เพราะว่าจะถูกไม่ได้ เมื่อไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง จึงต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องทราบว่า ใครก็ตามที่พูดเรื่องสมาธิ คนนั้นมีความเข้าใจสมาธิว่าอย่างไร ใครก็ตามที่ใช้คำว่าสมถะหรือสงบ คนนั้นเข้าใจสงบว่าอย่างไร หรือเขาไม่เข้าใจเลย แต่เอาสมาธิมาเป็นความสงบ นั่นก็เป็นเรื่องที่พระธรรมจะทำให้เราพ้นจากความเห็นผิด พ้นจากความเข้าใจผิด ถ้าไม่ศึกษาเราก็ยังคงไม่รู้ ซึ่งก็จะต้องคิดเอาเองแล้วก็เข้าใจเอง ซึ่งไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง
ผู้ฟัง มีคำถามเข้ามาว่า ทำไมกำหนดเวทนาแล้วก็สามารถบรรลุธรรมได้
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ฟังดูเหมือนว่าทำได้โดยไม่ต้องมีปัญญาเลย แต่ความจริงมหาสติปัฏฐานเป็นการอบรมภาวนา ให้ปัญญาเจริญขึ้นตั้งแต่การที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เป็นนามธรรม และรูปธรรม แต่ว่าเพียงฟังเรื่องราวของนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาอีกระดับหนึ่งต้องเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นจนกว่าจะสมบูรณ์ถึงมรรคจิตที่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ถ้าปัญญาขั้นต้นๆ ไม่มี ที่ปัญญาจะเจริญขึ้นก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ใครก็ตามก็อ่านอีก เวทนานุปัสสนา ก็จะพยายามไปรู้เวทนาด้วยความเป็นเรา แต่ว่าธรรมต้องสอดคล้องกันตั้งแต่คำต้นจนถึงคำท้าย ธรรมเป็นธรรม ไม่เรียกอะไรก็ได้ แข็ง จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ หรือแม้ไม่เรียกแต่สามารถที่จะรู้ด้วยกายสัมผัสได้ เพราะว่าสิ่งนั้นมีจริง เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ ว่าเป็นธรรม ก็จะไม่มีเราที่จะไปดูเวทนา เพราะว่าจะดูสักเท่าไหร่ก็เป็นเราที่ดู จึงเห็นเวทนาอะไรก็เป็นเราที่เห็น ขณะนั้นเป็นสุขก็ยังคงเป็นเราที่สุข ไม่มีการที่สามารถที่จะรู้ได้เข้าใจได้ว่าลักษณะของสติไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ความต้องการที่ต้องการจะดู แต่ต้องรู้ว่าขณะนี้สติเกิดหรือหลงลืมสติ นี่เป็นขั้นต้นสำหรับสติปัฏฐาน หรือวิปัสสนาภาวนา ถ้าเป็นขั้นของสมถะ ต้องมีปัญญาระดับที่สามารถที่จะรู้สภาพจิตที่ต่างกันว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต แล้วจึงจะค่อยๆ กันนิวรณธรรมซึ่งได้แก่อกุศลจิตทุกชนิดออกไปได้ เพราะว่าขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต และยังต้องรู้เหตุที่กุศลจิตเกิดว่าเพราะอะไร เพราะว่าคนเราที่ไม่คิด ไม่มี คิดทุกคน แต่ว่าคิดเป็นกุศลหรือว่าคิดเป็นอกุศล คิดประกอบด้วยปัญญา หรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นเวลาที่คิดเป็นอกุศล ขณะนั้นก็จะอบรม หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็อบรมไป คือขณะนั้นทำให้โลภมูลจิตเพิ่มขึ้น ต้องการเพิ่มขึ้น ต้องการที่จะจดจ้องโดยการที่ไม่ได้ละคลายเลย ปัญญาของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาเป็นปัญญาต่างขั้น แต่ต้องเป็นปัญญา เพราะเหตุว่าปัญญาของสมถะสามารถที่จะรู้ความต่างของกุศลจิต และอกุศลจิต และรู้ว่าเมื่อตรึกระลึกถึงสิ่งใด จิตจะค่อยๆ สงบจากอกุศล จนเพิ่มกำลังขึ้น แต่ต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต ถ้ากำลังจดจ้องต้องการขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา แล้วก็เป็นโลภะด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ละอกุศล กุศลก็เจริญไม่ได้ แต่เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นกุศลได้เพราะเหตุเข้าใจผิด ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีปัญญาต่างขั้นคือปัญญาของสมถะนั้นเพียงสามารถที่จะอบรมกุศลจิตให้เจริญให้ตั้งมั่น แต่แม้กระนั้นก็ไม่สามารถที่จะละความเป็นตัวตนหรือความเป็นเราได้ นอกจากสติปัฎฐาน วิปัสสนาภาวนาแล้ว ไม่มีทางอื่นที่จะทำให้ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นแม้แต่คำที่ว่า ละเสีย อย่ายึดมั่น ก็เป็นสิ่งที่เพียงฟัง แต่เมื่อไม่แสดงหนทางอบรมเจริญปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะละได้ เพราะเหตุว่าแม้สมถภาวนา จิตที่สงบยังละความเป็นตัวตนไม่ได้
ผู้ฟัง อยากจะให้ท่านอาจารย์ใช้เวลาที่เหลือนี้ จริงๆ ใช้คำว่าสรุปคงไม่ได้ เพราะว่าสภาวธรรมใดๆ ไม่มีบทสรุปโดยตลอด แต่ก็อยากให้ใช้คำนั้น เพราะว่าในหัวข้อแห่งมหาสติปัฏฐาน ให้เกิดความสว่างกระจ่างชัดแก่ผู้ฟังที่จะได้เรียนรู้สภาวธรรมในโอกาสต่อไป
ท่านอาจารย์ ถ้าจะสรุปก็คือว่า พุทธบริษัทต้องศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยความละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้นแล้วก็จะมีการเข้าใจผิด และทำให้พระธรรมเสื่อมสูญไปเพราะความเข้าใจผิดของพุทธบริษัท เพราะว่าผู้อื่นก็ไม่สามารถที่จะทำลายพุทธศาสนาได้ นอกจากพุทธบริษัท ถ้ามีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิดก็จะผิดต่อกันไปเรื่อยๆ แต่หนทางเดียวที่จะรักษาพระศาสนา เพราะว่าศาสนาเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ และต้องเป็นผู้ตรงสิ่งใดถูกก็คือถูก สิ่งใดผิดก็ผิด แล้วก็มีความกล้าที่จะทิ้งสิ่งที่ผิด เพื่อที่จะได้อบรมเจริญสิ่งที่ถูกให้มั่นคงขึ้น ถ้าพูดถึงพุทธศาสนาคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทราบว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งละเอียดกว้างขวางมาก เพราะว่าทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา บางคนเกิดมาตายไปก่อนอายุ ๔๕ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งใกล้ที่จะถึงเวลาพักผ่อน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีมากทีเดียว และการที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากเป็นก็เป็นได้ แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาก ใช้คำว่าบารมี แสดงให้เห็นว่าเราต้องให้เข้าใจคำนี้จริงๆ เพราะมิฉะนั้นเราก็เคยพูดบ่อยๆ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ นี่ยังเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยศรัทธาก็ต้องมากกว่านั้นอีก ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยวิริยะก็ต้องมากยิ่งกว่านั้นอีก นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมีเหตุที่สมควร ไม่ใช่ว่าใครก็ตามนึกอยากจะเป็นก็ได้ และเมื่อได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะเห็นพระมหากรุณาที่ได้ทรงแสดงพระธรรม สำหรับพวกเราในยุคนี้ด้วย เพราะเหตุว่าคำสอนที่ผู้ที่ได้รับฟังจากพระโอษฐ์ ก็ได้สืบทอดต่อๆ มาจนกระทั่งจารึกเป็นพระไตรปิฎกแล้วก็ยังไม่สูญสิ้นไป เพราะฉะนั้นเราก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมแท้ๆ จากที่ได้ทรงแสดงแล้ว แล้วก็จารึกไว้ เพราะฉะนั้นจะเห็นพระมหากรุณาว่าแม้จะปรินิพพานไปแล้ว แต่พระธรรมก็ยังอยู่ เป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณาให้เป็นความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าฟังแล้วก็จะไปจำ จำนวนเลข หรือว่าจะไปเป็นผู้ที่ได้กุศลเยอะๆ แต่เป็นผู้ที่ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่าธรรมคืออะไร พระธรรมคืออะไร แล้วถึงจะเห็นพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณของพระผู้มีพระภาคได้
เพราะฉะนั้นขอเริ่มจากคำว่า “บารมี” เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจคำนี้ เราก็ใช้คำนี้โดยได้ยินได้ฟัง คนไทยต้องเคยได้ยินคำว่าบารมี แต่ว่าจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน บารมีผู้ที่เป็นผู้รู้บาลี ท่านก็ได้แปลว่า หมายความถึงธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง แสดงให้เห็นว่าพวกเรามีแม่น้ำกว้างใหญ่ขวางหน้า เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีบารมีจะข้ามจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฝั่งนี้คืออะไร ฝั่งนี้ก็คือฝั่งของคนซึ่งมีกิเลสทั้งนั้น ถ้าไม่มีกิเลสไม่เกิด เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมาแล้ว ต้องเป็นคนที่มีกิเลส พระชาติสุดท้ายที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าพระองค์หมดกิเลสแล้ว แล้วถึงได้ประสูติ และตรัสรู้ แต่ต้องยังมีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ยังไม่ได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนที่เกิดไม่ว่าใครทั้งหมดต้องมีกิเลส เพราะฉะนั้นการที่เราเกิดมา และกิเลสในวันหนึ่งๆ มาก แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยสนใจกิเลสของตัวเองเลย เห็นกิเลสของใคร เห็นกิเลสของคนอื่น บางคนก็จะมีเรื่องราวของกิเลสของคนอื่นทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะพูดถึงใครก็พูดถึงแต่กิเลสของคนอื่น แต่ว่ากิเลสของตัวเองไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น อย่างนั้นจะมีประโยชน์ไหม การเห็นกิเลสของคนอื่นแต่ไม่เห็นกิเลสของเรา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมจริงๆ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดแก่ทุกคนที่มีโอกาสได้ฟัง ไม่ว่าจะเกิดเป็นใครชาติไหนอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อได้มีโอกาสฟังพระธรรม และพระธรรมสำหรับทุกคนจริงๆ ที่จะไตร่ตรองให้เข้าใจว่า เราเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสจึงได้เกิดมา เมื่อเกิดมาแล้วก็ยังมีกิเลสขวางกั้น เหมือนกระแสน้ำที่กว้างใหญ่ กว่าจะถึงอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นฝั่งที่ดับกิเลส
ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์เกี่ยวกับการระงับโทสะหรือความขุ่นใจ คือมีผู้หนึ่งถูกทำให้เข้าใจผิดในการรับตำแหน่ง มีการแต่งตั้งตำแหน่ง แล้วก็มีคนผู้หนึ่งหลอกล่อ โดยกีดกันทำให้เข้าใจผิดให้รับตำแหน่งหนึ่ง ทำให้เขาเสียโอกาสในการที่จะรับตำแหน่งที่ดี และสูงกว่า เพราะถ้ารับตำแหน่งนี้แล้ว อีกตำแหน่งก็จะไม่ได้เลย เขาก็รู้สึกว่าเขาเสียรู้คน ซึ่งคนนั้นเขารู้สึกว่าทำงานกันมาตั้งนานหลายปีแล้ว และก็ไม่น่าจะทำอย่างนั้น ความขุ่นใจนี้ก็ทำให้เกิดความเสียใจน้อยใจ อย่างนี้จะเจริญเมตตาอย่างไร ถึงจะให้ความขุ่นใจหรือโทสะ อกุศลจิตคลาย
ท่านอาจารย์ คงต้องหลายๆ คนช่วยกันแนะนำ เพราะว่าทุกคนก็มีโทสะทั้งนั้นในหลายรูปแบบ สำหรับดิฉันเอง ถ้าเข้าใจว่าทุกอย่างต้องมีเหตุปัจจัยคือกรรม ทุกคนหนีไม่พ้น อะไรจะเกิดก็ตามแต่ ถ้ารู้ละเอียดไปยิ่งขึ้นว่าขณะใดบ้างที่เป็นผลของกรรม ก็จะทำให้เรารู้เลยว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรรม แต่คนอื่นก็คงจะมีคำตอบอื่นๆ ด้วย เชิญช่วยกัน ไม่ทราบว่าแค่นี้พอจะหายเสียใจบ้างไหม
ผู้ฟัง คือคนพวกนี้เขาอยากหาคนที่จะสามารถวิ่งเต้นได้ แต่ก็ความซื่อก็คงไม่ได้ทำ
ท่านอาจารย์ เหมือนกันหมดเลย เริ่มตั้งแต่เกิดดีกว่าถ้าอย่างนั้น เกิดมาไม่มีใครมาบงการ ตั้งแต่เกิดขณะแรกที่เกิดก็เป็นผลของกรรมแล้ว ขณะที่เห็นก็เป็นผลของกรรม ขณะที่ได้ยินก็เป็นผลของกรรม ถ้าแยกออกมาโดยละเอียดจะเห็นชัดได้เลยว่า นอกจากกรรมแล้วแม้ขณะอื่นนั้นจะเกิดโลภะหรือโทสะก็มีปัจจัยที่จะเกิดเป็นอย่างนั้น เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติที่จะเป็นอย่างนั้น แต่เพราะมีความเป็นเรา ก็เลยไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อยังมีเราอยู่ ก็ต้องมีทุกข์มากๆ หลายกรณีหลายเรื่อง เพียงแต่ไม่ได้ตำแหน่ง กับการที่จะต้องสูญเสียสิ่งที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้น จะเลือกเอาอย่างไหน ถ้าได้ตำแหน่งมาแล้วสูญหมดทุกอย่าง พ่อแม่พี่น้องไม่เหลือ ตายจากกันไปหมดทรัพย์สมบัติวงศาคณาญาติ กับการที่เสียเพียงตำแหน่ง หรือพลาดเพียงตำแหน่ง แต่ทีนี้คนเราไม่เคยยอมรับผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ แต่หวังอยู่ตลอดว่าเราจะมีความสุข เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามีความทุกข์ทางหนึ่งทางใดที่เกิดขึ้น ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งมหาศาล แต่ว่าชั่วขณะแล้วก็หมด กาลเวลาก็ผ่านไป ขณะนี้ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างอื่นเรื่อยๆ ให้ทราบว่าทุกอย่างที่เกิดไม่มีอะไรที่จะคงที่ เกิดแล้วดับหมดไป แล้วมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นแล้วดับหมดไป ยังมีแต่ความทรงจำซึ่งเราจำอยู่ ก็เฉพาะชาตินี้ชาติเดียวที่ระลึกจำได้ แต่พอถึงชาติหน้าเราก็จำว่าเขาเคยมาล่อหลอกเราให้เสียตำแหน่งหรือเปล่า ก็จำไม่ได้ ชาติก่อนเราอาจจะไปเคยล่อหลอกเขาให้เสียตำแหน่ง แต่เราจำไม่ได้ พอถึงชาตินี้เขาล่อหลอกเราก็จะเป็นจะตาย ใช่ไหม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องค่อยๆ พิจารณาหลายๆ อย่าง แล้วเราก็จะเข้าใจเหตุผลยิ่งขึ้นว่า สิ่งใดก็ตามที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย และก็ลองคิดดูเลือกเอาว่า ถ้าเราเสียแค่นี้หรือเสียมากกว่านี้ นี่ยังโชคดีที่เสียเท่านี้เอง แล้วเรื่องของความที่จะไม่ทุกข์ก็คงจะผ่านไปแล้วที่ว่า เราก็ทุกคนที่เชื่อว่ามีกรรมเป็นของเรา ทุกอย่างที่จะเกิด ถ้าเราไม่เคยทำมาก่อนมันก็จะไม่เกิดกับเรา ไม่ทราบว่าคุณแก้วเคยสงสารคนที่เขาตกทุกข์ได้ยากบ้างไหม
ผู้ฟัง ตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ สงสารตลอดเวลา คนที่เขาโกงเราเขากำลังจะเป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง ก็เริ่มสงสาร
ท่านอาจารย์ อย่างนั้นถูกต้อง หมายความว่า ถ้าเริ่มสงสารก็จะไม่มีความโกรธ
ผู้ฟัง ว่าทำไมอยากอะไรมากมายขณะนั้น น่าเวทนาจริงๆ
ท่านอาจารย์ และเวลาที่เขาได้รับผล จะสงสารจริงๆ เพราะฉะนั้นสงสารตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย จบเรื่องของเราซึ่งเป็นผลของกรรมเก่า แต่เขาเป็นกรรมใหม่ที่เขาจะต้องได้รับผลอย่างนั้น แต่ถ้าจะเชื่อให้มั่นคงจริงๆ ก็ต้องศึกษาละเอียดว่า กรรมได้แก่อะไร ในเมื่อสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้นกรรมได้แก่ปรมัตถ์อะไร
ผู้ฟัง ถ้าหากเราศึกษาเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดธรรมต่างๆ จะทำให้ความรู้สึกเรื่องนี้มั่นคงขึ้น
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องตั้งต้นที่ปรมัตถ์ ไม่ว่าจะพูดเรื่องปัจจัยก็หนีปรมัตถ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดเรื่องกรรม กรรมคืออะไรนี่ก็ตอบได้ ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นเจตสิก
ท่านอาจารย์ เจตสิก แต่เจตสิกก็ต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นโดยมากทุกคนก็โละไปที่จิต แต่ความจริงแล้วคือเจตสิก อย่างโลกุตตรจิตก็คือโลกุตตรปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาระดับนั้น จิตนั้นก็เป็นโลกุตตระไม่ได้ แต่ว่าถ้าพูดถึงความละเอียด ต้องแยกจิตกับเจตสิก
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ มีความรู้สึกว่า ถ้าหากว่าเคยฟังเทปท่านอาจารย์ครั้งหนึ่งว่าจิตมีอยู่ ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือเหตุ กลุ่มหนึ่งคือผล แต่ก็ฟังอาจารย์แล้วก็ยิ่งเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ว่ายังไม่เห็นว่าเหตุมาให้ผลตรงไหน เมื่อไหร่
ท่านอาจารย์ นั่นคือการศึกษาคร่าวๆ ถ้ารายละเอียดต้องคืออะไรก่อน เจตนาเป็นเจตสิก เป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ ขณะนี้มีไหม นี่คือของจริงๆ จะต้องรู้แล้วถึงจะพูดเรื่องปัจจัยอะไรได้ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ก่อน เจตนาเป็นความจงใจ ความตั้งใจขณะนี้มีไหม บอกมาซิเจตนาอะไร
ผู้ฟัง ฟังธรรมเพื่อจะละคลายกิเลส
ท่านอาจารย์ แต่ว่าถ้าศึกษาละเอียด เจตนาเราไม่รู้ทั้งหมด เรารู้บ้างเจตนา เช่น เจตนาที่จะทำกุศลหรืออกุศล คิดเป็นกุศล คิดเป็นอกุศล เจตนานั้นพอจะรู้ได้ แต่ว่าจิตมีถึง ๔ ชาติ ได้แก่อะไร ทราบไหม จิต ๔ ชาติ นี่คือต้องตั้งต้นก่อนให้มั่นคง แล้วก็จะพูดถึงเรื่องอะไรทีหลังได้ แต่ตรงนี้ไม่มั่นคง การที่จะพูดถึงเรื่องอื่นก็เป็นเพียงการพูดเรื่องชื่อ แต่ธรรมเป็นเรื่องเข้าใจ เข้าใจสภาพที่กำลังมีจริงๆ อย่างที่เราบอกว่า เจตนาคือความจงใจ ความตั้งใจจริง เป็นเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นบางขณะเท่านั้นที่รู้ได้ แต่ที่รู้ไม่ได้ก็มี เพราะเหตุว่าจิตมี ๔ ชาติ กุศล ๑ เจตนาที่เป็นกุศลพอจะรู้ อกุศล ๑ เจตนาที่เป็นอกุศลก็พอจะรู้ เจตนาที่เป็นวิบากกับเจตนาที่เป็นกิริยาใครรู้ แต่มี นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจตรงนี่ก่อน
ผู้ฟัง ขอถามจิตกับเจตสิก ความเข้าใจยังไม่ค่อยชัดเจน จิตคือการรู้ แต่ว่าเจตสิกเป็นการรู้อารมณ์ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิตกันเจตสิกแยกกันได้หรือไม่
ผู้ฟัง แยกกันได้หรือไม่ น่าจะไม่ได้ ไม่น่าจะได้ เพราะว่าพอจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีอารมณ์ตามมาทุกครั้ง
ท่านอาจารย์ อารมณ์คิดอะไร
ผู้ฟัง คือความรู้สึก
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นี่เพียงฟังต้องละเอียด ต้องละเอียดมาก แม้แต่ขณะที่ฟัง ๒ คำต่างกันที่ว่า จิตเป็นสภาพรู้ อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จะมีสภาพรู้โดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ หรืออารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ เวลาที่เสียงปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพที่ได้ยิน เสียงก็ปรากฏไม่ได้เลยขณะนั้นอะไรเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง ยังไม่ค่อยเข้าใจดี
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะเกิดโดยไม่รู้ไม่ได้เลย ต้องแม่น ต้องเข้าใจจริงๆ แต่ละคำไม่เปลี่ยน ขณะเกิดมีจิตไหม
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ที่ว่า เป็นคน เป็นสัตว์เกิด ต้องมีสภาพรู้หรือธาตุรู้ อย่างนี้ไม่รู้อะไรเลย นี่ก็ไม่รู้อะไรเลย เวลาที่ใช้คำว่าสภาพรู้หรือธาตุรู้ บางทีอาจจะใหม่มาก เพราะว่าทางโลกนี้เราเคยคิดว่า ต้องรู้ด้วยความเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 61
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 62
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 63
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 65
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 66
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 71
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 73
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 74
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 77
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 80
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 84
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 92
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 95
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 96
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 97
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 120