แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025


    ครั้งที่ ๒๐๒๕


    สาระสำคัญ

    ภัยและโทษของกิเลส

    การเริ่มต้นของการอบรมเจริญปัญญา

    สติกับหลงลืมสติ

    ปัญญาประเสริฐสุด

    คิดเรื่องของความโกรธ

    ความจงใจหรือความจะดู หรือความจะพิจารณา


    สนทนาธรรมที่โรงแรมฮินดูสถาน กัลกัตตา

    วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๓


    สมนึก ผมคิดว่า การเจริญธรรมและอบรมเพื่อให้รู้สภาพธรรม อย่างหยาบเท่านั้น อย่างผมขณะที่พิจารณาสภาพธรรม รู้แข็ง รู้เย็น รู้ร้อน หรือรส อะไรต่างๆ เหล่านี้ ยอม แต่ถ้าให้รู้โลภะ ไม่ยอม คือ กลัวว่าจะเกิดไม่อร่อย เกิดไม่สนุก หรือเกิดไม่เพลิดเพลิน ไม่ยอม ซึ่งคงเป็นเพราะเราติดมาก และไม่ยอม ขัดเกลาธรรมขั้นละเอียด ยอมขัดเกลาแต่ขั้นหยาบเท่านั้น

    สุ. เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไร ในเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาจากการฟัง จากการพิจารณา จากการที่สติค่อยๆ ระลึก นี่เป็นเครื่องวัดสภาพธรรมที่แต่ละคนสะสมมาตรงตามความเป็นจริง แต่ละคนเหมือนกันหมด กำลังสนุกๆ ซื้อของสนุกๆ กำลังดูทีวีสนุกๆ จะให้สติระลึก ยอมไหม

    แสดงให้เห็นถึงเครื่องวัดปัญญาของเรา ถ้ามีโยนิโสมนสิการจริงๆ คนนั้นจะขวนขวายในการที่จะเจริญกุศลที่เป็นบารมีทุกอย่างเพิ่มขึ้นอีก เพราะเห็นภัย เห็นโทษของกิเลส ซึ่งสะสมมาจนกระทั่งแม้ขณะนั้นสติจะระลึกให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ก็ยังไม่ยอม

    ถ. สละโลภะ ระลึกรู้ลักษณะของโลภะเมื่อโลภะเกิดเท่านั้น ใช่ไหม

    สุ. แต่คุณสมนึกเขากำลังสนุกมากๆ เขาก็กลัวเหลือเกินว่า ถ้าสติปัฏฐานเกิดเวลานี้ จะขาดตอนไป ความจริงแล้วคุณสมนึกไม่ต้องกลัว พระโสดาบันท่าน มีโลภะเท่าคุณสมนึก คุณสมนึกจะมีโลภะสักเท่าไร พระโสดาบันท่านก็มีเท่านั้น นางวิสาขาท่านมีลูกมีหลานเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ปัญญาเกิดรวดเร็วมาก มากจนกระทั่งไม่ต้องกลัว แต่เราคิดว่าปัญญาเกิดช้าจึงคิดว่า จะขาดตอน จะไม่สนุก จริงๆ แล้วกำลังสนุกมากๆ ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ให้สติเขาเกิด เพราะอย่างไรๆ ชั่วขณะนั้นเขาจะเกิดไม่มาก เพราะว่าเขาไม่มีกำลัง ก็ยังต้องเพลินต่อไปอีก

    เรื่องของการเพลิน คือ เรื่องของสมุทัย ขณะที่เรากำลังเพลินมาก ก็คือ เราเพิ่มสมุทัยขึ้น จึงควรให้โอกาสกับสติโดยที่ว่า แม้กำลังสนุก ถ้าสติเกิดก็เกิด โดยรวดเร็ว ไม่ได้ทำลายความสนุกอะไรเลย

    ผู้ฟัง พูดถึงพอใจหรือไม่พอใจที่จะโกรธ แอ๊วคิดว่า เราโกรธมากๆ จิตใจ ไม่มีความสุขเลย เหมือนมีไฟไหม้อยู่ตลอดเวลา ก็มีสติระลึกขึ้นได้ว่า ขณะนี้เรามีความโกรธ มีโทสะอย่างแรง และเราต้องการให้มีโทสะเกิดต่อไปหรือ คือ เราจะมี จิตเป็นกุศลดีหรือเป็นอกุศลดี เมื่อคิดได้อย่างนั้น ความโกรธของแอ๊วหาย เราต้องการมีกุศลจิตมากกว่าอกุศลจิต ขณะนั้นความโกรธหายไป เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่แอ๊วต้องการ ก็ตัดสินใจไปขอโทษสามี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของแอ๊ว

    ผู้ฟัง ผมขออนุโมทนาด้วย ผมเคยอยู่ในฐานะยอมเป็นผู้แพ้แม่บ้านผม หลายครั้ง และเมื่อผมนึกถึงก็เกิดปีติที่สามารถเอาชนะตัวเองได้ เป็นสิ่งที่ต้องสะสมต่อไป

    ผู้ฟัง แอ๊วยอมรับว่า ธรรมทำให้แอ๊วเปลี่ยนเป็นอย่างนี้ คิดยาวขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนคิดสั้น คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น เป็นคนใจร้อน แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าดีขึ้นเยอะ

    นีน่า ดิฉันอยากจะฉวยโอกาส เพราะว่าตอนหลังอาจจะไม่มีโอกาสอีก อาจารย์สุจินต์บอกว่า ระลึกอีก ระลึกอีก แต่ถ้าสติไม่เกิดจะทำอะไร ดิฉันคิดว่า ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ต้องระลึกอีก ต้องระลึกอีก หมายความว่าพิจารณา ใช่ไหม

    สุ. ไม่ได้สั่งว่า ต้องระลึก แต่หมายความว่า ถ้าสติไม่เกิดระลึกก็ไม่มีทาง ที่ปัญญาจะเจริญขึ้น การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นก็เมื่อสติเกิดระลึก มีเหตุปัจจัย แต่ไม่ใช่โดยสั่ง

    ถ. สมมติว่าลักษณะของโทสะเกิดในขณะนั้น สติเราไม่เกิด เราก็สามารถศึกษาลักษณะของโทสะขณะนั้นโดยไม่ต้องมีสติปัฏฐานเกิดก็ได้ จะเป็นไปได้ไหม ศึกษาลักษณะของโทสะ หรือสังเกต สำเหนียก ได้ไหม

    สุ. สติสัมปชัญญะมีหลายขั้น นี่เป็นความละเอียดที่เราจะต้องเป็นผู้ตรง เช่น ทุกคนไม่ใช่ไม่รู้ลักษณะของความโกรธ บางคนก็ไปรู้ถึงลักษณะความโกรธของ คนอื่นด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วความโกรธเป็นสภาพที่เกิดกับจิต ทำให้จิตนั้นหยาบกระด้างทันที และเผาด้วย มีความรู้สึกไม่สบายในขณะนั้น นี่เป็นเหตุที่คนส่วนมากไม่ชอบความโกรธ เพราะเขามีความรู้สึกว่า ขณะนั้นไม่สบายใจ เขาอยากให้ใจเขาสบาย แต่ในขณะที่เขารู้ว่าเขากำลังโกรธ ไม่ได้หมายความว่ามีสติ ต้องรู้ว่า เป็นแต่เพียง คิดเรื่องของความโกรธ ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น

    นี่เป็นความใกล้ชิดและต่างกันมาก เหมือนกับการที่เรารู้แข็ง ถามเด็กๆ ก็ตอบว่าแข็ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กมีสติ เพราะฉะนั้น ถ้าใครกำลังโกรธและเขาบอกว่าเขาโกรธ ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นมีสติ เพียงแต่ลักษณะของความโกรธ เป็นอย่างนั้น เขายังยึดถือว่าเขาโกรธ ความโกรธนั้นเป็นเขา จึงไม่ใช่การมีสติ

    จากการฟังพระธรรม เราจะสังเกตได้ว่า ถ้าเข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานจริงๆ จะรู้ว่า สภาพธรรมตามปกติไม่เปลี่ยน จักขุวิญญาณหรือจักขุทวารวิถีจิต จิตที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็คือขณะนี้ เราก็เห็นมาตลอด ไม่มีใครไม่เห็น แต่ขณะที่ หลงลืมสติ คือ ไม่ได้คิดเลยหรือไม่ได้เข้าใจเลยว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ นั่นคือขณะหลงลืมสติ

    และทั้งๆ ที่เห็น เห็นทุกอย่าง เวลาที่สติเกิดการเห็นก็เหมือนปกติอย่างนี้ แต่มีความรู้หรือค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นแต่เพียงอาการรู้ ลักษณะรู้อย่างหนึ่ง แม้จะน้อยสักเท่าไรก็ตาม แต่เป็นการเริ่มต้นของการอบรมเจริญปัญญา โดยที่เราไม่หวังว่า เราจะระลึกได้บ่อยๆ เพราะขณะนั้นต้องระลึก ต้องมีสติถึงจะรู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งที่กำลังเห็นทางตา คนตายไม่เห็น ลักษณะเห็นเป็นของจริง มีจริงๆ เป็นสภาพรู้ ชั่วขณะ อาศัยการฟังจะทำให้เราสามารถละคลายการยึดถือสภาพเห็นว่าเป็นตัวตน ต้องฟังมาก เหมือนกับมีดที่จะตัดอะไรได้ต้องคม ถ้าไม่มีการศึกษาปริยัติ ไม่มีการฟังโดยนัยต่างๆ ไม่มีการตื่นขึ้นมาคิดอีก พิจารณาอีก เข้าใจอีก ระลึกอีก ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะคมขึ้นมาได้

    ทั้งๆ ที่มีคนบอกว่า เห็นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่เรา ปัญญาใครละได้ ถ้าเพียงแค่นี้ ต้องอาศัยคนที่มีบารมี และเคยอบรม เคยเจริญ เคยเข้าใจ เคยระลึก เคยรู้มามากจนกระทั่งเพียงคำเตือนนิดเดียวว่า ธรรมทั้งหลาย เท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนแล้ว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ทางตาต้องเห็นเลยว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ทางหูก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เมื่อรู้ลักษณะที่ต่างกันของมีสติกับหลงลืมสติเราก็รู้ว่า สติจะเกิดเมื่อไร วันไหนที่ไหน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไรก็ได้ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องตกใจว่า จะไม่สนุก จะไม่ครึกครื้น เพราะเป็นแต่เพียงสิ่งที่แวบเข้ามาเหมือนกับ จากโลภะเป็นโทสะ หรือจากเห็นเป็นได้ยิน ซึ่งเร็วมาก ไม่มีใครไปยับยั้งได้ ถ้ามีปัจจัยที่จะให้สติระลึก สิ่งที่กำลังปรากฏตามธรรมดาและสติระลึก เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มจาก การฟังเรื่องสติปัฏฐานให้เข้าใจจริงๆ ลักษณะของสติเป็นอย่างไร และยังต้องเข้าใจจริงๆ เมื่อสติปัฏฐานเกิด

    นี่เราฟังเป็นแนวทาง และเราได้เปรียบเทียบกับการจงใจ หรือการจะดู การจะพิจารณา คนละเรื่อง ใช่ไหม ถ้าเราเข้าใจแล้วจะรู้ว่า สติปัฏฐานไม่ได้ มีตลอดเวลา แต่การฟังและการเจริญกุศลขั้นต่างๆ เป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะ ขั้นอื่นเกิด อย่างที่เราใช้คำว่า สมถะ หรือความสงบของจิต เวลาที่กุศลจิตเกิด กุศลจิตทุกประเภทสงบจากอกุศล แต่สั้นและน้อยจนกระทั่งเราไม่สังเกตเลยว่า ลักษณะที่สงบต่างกับลักษณะที่เป็นอกุศล ลักษณะที่เป็นกุศลจิตต่างกับลักษณะ ที่เป็นอกุศลจิต

    ทุกคนเรียนเรื่องกุศลจิต อกุศลจิต แต่เวลาที่กุศลจิตเกิดจริงๆ อกุศลจิต เกิดจริงๆ ไม่สามารถแยกได้ เพียงแต่รู้จากตำราว่า มีทั้งกุศลและอกุศล ทั้งๆ ที่อกุศลมี เรานึกถึงเรื่องอกุศล หรือกำลังรู้ลักษณะของอกุศล ขณะที่กำลังรู้ลักษณะของอกุศล สติสัมปชัญญะขั้นไหน เราจะรู้เลย ใช่ไหม ถ้าขณะนั้นมีลักษณะของอกุศลเกิด และเราเพียงแต่บอกว่า นี่โทสะ นี่โทสะ จะไม่ช่วยอะไรเลย เพราะว่าไม่ใช่ กุศลจิตที่รู้โทษของโทสะ

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นเป็นกุศล เห็นโทษและ สงบจากอกุศล มิฉะนั้นก็นี่อกุศลๆ นี่โทสะๆ ๑๐๐ ครั้งก็นี่โทสะ และโทสะก็เกิด ไปเรื่อยๆ จนถึง ๑๐๐

    นีน่า พูดเรื่องการเห็น ต้องมีลักษณะของการเห็น แต่การคิดเรื่องดอกกุหลาบเร็วที่สุด ยาก ไปไม่ได้ แต่ดิฉันรู้ว่า ถ้ามีสติปัฏฐานที่อบรมแล้วย่อมทำได้ แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกยากเกินไป

    สุ. ยากแน่ๆ แต่ต้องเพียรไปเรื่อยๆ มีความอดทน ระลึกลักษณะของสภาพธรรมไปเรื่อยๆ

    นีน่า เพียรไปโดยไม่มีโลภะ

    สุ. แน่นอน ถ้าโลภะเกิดก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ทุกอย่างที่เคย เป็นเราจะต้องหมด

    ผู้ฟัง ที่สำคัญที่ทำให้ปัญญาอบรมเจริญขึ้นได้ โดยทั่วๆ ไปแล้วจะต้องตั้งตนแบบไหน

    สุ. รู้คุณค่าของปัญญา รู้ว่าปัญญาประเสริฐสุด ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ก็ไม่ประเสริฐเท่าปัญญา แต่มีทางใดที่จะทำให้เราเกิดปัญญา เพราะว่าเรายังมีโลภะ ยังมีอวิชชา ยังมีกิเลสเยอะ และเราจะปล่อยกิเลส โลภะทั้งหมด อวิชชาทั้งหมด มาหาปัญญา ก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อรู้อย่างนี้ เราก็เจริญธรรมควบคู่กันไปกับอกุศล คือ ไม่ทิ้ง ชีวิตของเราจะดำเนินไปอย่างไรๆ เราก็ไม่ทิ้งการสะสมอบรมเจริญปัญญา โดยทุกวิถีทาง และก็เป็นความจริงด้วย คือ ตามกำลังของเราซึ่งยังมีโลภะ มีอวิชชา มีอกุศลทั้งหลาย จะให้ทำเกินสติกำลังก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ละคนก็มีแต่ละชีวิตแต่ละแบบ ที่เรามารวมกันอย่างนี้เพราะเราคิดว่า เรามานมัสการสังเวชนียสถาน และมีโอกาสได้เจริญกุศล หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันกลับไป ชีวิตก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย อาจารย์บอกว่า ปัญญาสำคัญที่สุด

    สุ. เราจะมุ่งเฉพาะสติปัฏฐานไม่ได้ คือ ทุกคนต้องมีชีวิตตลอดไปในชาตินี้ จะรูปแบบไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งนั้น และมีชาติหน้ากับชาติต่อๆ ไปด้วย คนที่มีปัญญาจะไม่คิดเฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ถ้าชาตินี้ชาติเดียวเสวยสุขให้เต็มที ปัญญาอะไรๆ ก็แล้วไป แต่ถ้าคนมีปัญญา ชาตินี้ถ้าไม่มีกุศล ชาติหน้าก็เต็มไปด้วยอกุศลอีก เพิ่มพูนอีก ถ้าชาตินี้ปัญญาน้อยและไม่ขวนขวาย ปัญญาก็มีเท่านี้เองแล้วเมื่อไรจะถึง ในเมื่อชาติปัจจุบันมีโอกาสสะสมปัญญาอย่างมาก ยังไม่มีกำลังพอ ถ้าเรายิ่ง ทอดทิ้งไป ละเลยไป ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร เราจะมีโอกาสสะสมกุศลและปัญญาอย่างนี้ไหม

    เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการเขาจะมีได้ซึ่งไม่ใช่เรา แล้วแต่ขณะจิต ที่จะเกิดเป็นกุศลประเภทไหน เป็นกุศลในทางหนึ่งทางใดก็แล้วแต่ กว่าเราจะเห็นประโยชน์ของกุศล เห็นประโยชน์ของปัญญา จะเป็นผู้ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง และ ไม่เห็นสิ่งอื่นสำคัญกว่า อย่างเรามาที่นี่ แต่ละคนก็สละหลายอย่าง ทุกคนเลย ทางโลกก็ต้องสละ คนที่มีบุตรหลาน มีบ้านช่อง ก็ต้องสละ ต้องอะไรๆ สารพัดอย่าง เพราะเห็นประโยชน์ เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราจะตายพรุ่งนี้หรือเปล่า หรือข้างหน้าเราจะมีโอกาสเจริญกุศลอย่างนี้ไหม ในเมื่อเรารู้ว่าการมาของเรา ไม่ใช่มีกุศลเพียงแค่ได้มานมัสการ แต่ยังมีโอกาสได้ฟังธรรม ได้เจริญกุศลระหว่างเพื่อนธรรมด้วยกันอีกมากมายด้วย

    นี่เป็นเหตุที่เมื่อเห็นว่ากุศลอยู่ใกล้พอที่จะเอื้อมถึงและเจริญได้ เราจึงยอมมา แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยที่สุดกุศลก็ยังมีกำลังมากกว่าอกุศล และเราก็รู้คุณค่าว่า เราควรจะเป็นอย่างนี้เพิ่มขึ้น ถ้าเราสามารถจะทำได้

    ถ. ถ้ากลับไปบ้าน หลงลืมสติ สติไม่เกิด

    สุ. และเวลานี้ล่ะ เพราะฉะนั้น ก็ไปเรื่อยๆ นิดหนึ่งๆ ไปเรื่อยๆ แล้วแต่โอกาสของสติ ไม่ต้องคิดถึงข้างหน้ายาวไกล เพราะถ้าคิดถึงข้างหน้ายาวไกล อาจจะผลัด แต่ถ้าเราคิดว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว และจิตนี้จะเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศล จะให้ขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เราตัดสินใจได้ ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ

    ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เป็นเรื่องที่เราจะคิดได้หลายอย่าง ที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด ถ้าคุณโจนาธานโกรธคนที่เขาไม่รู้ธรรมและระลึกได้ว่า ทำไมโกรธคนที่ไม่รู้ ในเมื่อเรารู้ เรารู้แล้วเราโกรธ แต่เขาไม่รู้แล้วเขาโกรธ ใครดีกว่าใคร ใครเลวกว่าใคร มีหลายอย่าง ที่เราจะคิดได้ที่จะเป็นกุศล

    ถ. เมื่อความโกรธเกิดขึ้น นึกถึงพระสูตร นึกถึงธรรม เช่น บุคคลฆ่า ความโกรธได้ย่อมอยู่เป็นสุข หรือบุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ ชื่อว่าเลวกว่า บุคคลผู้โกรธเพราะความโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลที่โกรธอยู่ ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ธรรมเหล่านี้ เวลาโกรธผมก็นึกถึง จนกระทั่งผมไม่นึกแล้ว เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง เหมือนว่าเราพยายามหลอกตัวเอง บางครั้งอยู่ในสภาพที่เป็น อกุศลมากๆ โกรธมากๆ จะต้องโกรธให้ได้ พยายามไม่นึกถึงธรรมที่จะทำให้ หายโกรธ แต่ความจริงไม่ถูก ผมเข้าใจ

    สุ. จริงๆ แล้วขณะนั้น ถ้าเราสามารถรู้ได้ นั่นคือการลองกำลังของอกุศล และเราจะชนะ หรือเราจะแพ้ คือ เขามีกำลังมากถึงขนาดมาบอกเราว่า ไม่ให้นึกถึงธรรม ขณะนั้นคิดดูซิว่า ใคร อกุศล ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เราจะเป็นผู้แพ้อกุศล ถ้าเราไม่รู้จักเขา แต่ถ้าเรารู้เลยว่า นี่อกุศลทำอย่างนี้ อกุศลทั้งนั้นที่คิดอย่างนี้

    ถ. ถ้าอย่างนั้นเว้นเหตุ ไม่ให้มีเหตุที่ทำให้เกิดความโกรธ แต่ยาก คงต้องเตือนตัวเองจึงจะดีที่สุด ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร บางครั้งมีมานะแทรกอย่างแรงทีเดียว มานะนี่เป็นปัจจัยของความโกรธอย่างมากๆ

    สุ. แต่จริงๆ แล้ว ทุกอย่างที่เป็นธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดเลย และอกุศลธรรมก็เป็นอกุศลธรรม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่ขณะอื่นเป็นอกุศลจิตก็ช่วยไม่ได้

    ถ. ต้องเป็นความรู้สึกจากใจจริงๆ ถ้าขณะที่อยากเป็นผ้าเช็ดธุลี ผมก็ยินดีทุกอย่าง แต่ขณะที่โกรธ ไม่เอาสักอย่างเลย

    สุ. จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่มีทางเลย ธรรมก็ไม่ยอม อะไรๆ ก็ไม่ยอม ทุกสิ่งทุกอย่าง ใช่ไหม แต่ถ้ารู้ว่าขณะนั้นเป็นความคิดนึกของเรา และเป็นสัญญา ความจำ เรื่องของเราโกรธขันธ์ซึ่งเขาเกิดดับไปแล้ว และอกุศลของใคร ก็อกุศลของคนนั้น คำดูหมิ่นหรือดูถูก หรือคำสรรเสริญ คำยกย่อง ก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนติดในคำอย่างนี้ เกิดโลภะแล้ว ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ชอบในคำอย่างโน้น เราจะหลีกเลี่ยงคำอย่างนี้จากใคร แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังถูกเรียกว่า คนถ่อย และเราเป็นใครในสังสารวัฏฏ์

    ขณะที่เรากำลังได้รับคำที่เราไม่ชอบใจ เหมือนคำดูถูก หรืออะไรอย่างนี้ ไม่ใช่เขา แต่เป็นกรรมของเราที่ทำมา ทำให้โสตวิญญาณของเราได้ยิน คนที่ดูถูกเราหรือชมเรา อาจจะอยู่ในใจเขา เขาไม่บอกเราเลยก็ได้ และทำไมเราไม่โกรธ ก็เพราะไม่ถึงเวลาที่กรรมของเราจะให้ผลทำให้โสตวิญญาณของเราได้ยินคำนั้น แต่เมื่อ โสตวิญญาณของเราเกิด ต้องรู้ว่าไม่ใช่คนอื่นทำให้เราเลย กรรมของเราจริงๆ ต่อให้เราแสนดี คนก็ดูถูกเราได้ เพราะฉะนั้น ไม่เกี่ยวกับคนอื่นเลย การที่ โสตวิญญาณของเราจะเกิดเมื่อไร จักขุวิญญาณของเราจะเกิดเมื่อไร เราทำเองทั้งหมด เมื่อเป็นเราทำเองแล้ว เราจะไม่โกรธคนนั้นเลย ต่อให้เขามาเลื่อยขาจริงๆ ก็กรรมของเรา เมื่อเป็นกรรมของเราแล้ว เราจะโกรธคนนั้นได้อย่างไร เพราะว่า อกุศลของเขาก็อกุศลของเขา เขาก็จะได้รับผลของกรรมที่มาเลื่อยขาเราไป แต่กรรมของเราต่างหาก ใครทำ เราทำทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น เราจะไม่โกรธคนอื่นเลย นอกจากนั้นเรายังสงสารคนที่มี อกุศลจิตจนกระทั่งใช้คำพูดอย่างนั้น เป็นอกุศลของเขา เขาไม่น่าสงสารหรือ เพราะเขาสะสมไป ถ้าคิดถึงกุศล อกุศล เราจะรู้ได้เลยว่าขณะไหนกุศลจิตเกิด เราอนุโมทนา แต่ขณะไหนอกุศลจิตไม่ว่าของเขาหรือของเราก็เป็นอกุศลเสมอกัน ไม่มีตัวตน ทั้งเขา ทั้งเรา เป็นสภาพธรรมชั่วขณะจิตในสังสารวัฏฏ์ ชั่วขณะเดียว และเลือกไม่ได้ด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๓ ตอนที่ ๒๐๒๑ – ๒๐๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    5 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ