แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
ครั้งที่ ๒๐๒๙
สาระสำคัญ
ปัญญาขั้นฟัง หมายความว่า ฟังจนกระทั่งเข้าใจธรรม)
ค่อยๆ ใกล้ชิดชินต่ออรรถของสภาพรู้
อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย
สัญญาจำ จำเรื่องที่คิด ถ้าไม่จำแล้วก็คิดเรื่องนั้นไม่ได้
การเจริญอานาปานสติ กัมมัฏฐาน
สนทนาธรรมที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันที่อาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๔
ถ. ตกลงเรารู้แต่เพียงว่า เป็นสภาพธรรม เป็นนาม เป็นจิต จิตเป็นอย่างไรๆ เราไม่ต้องไปจดจำท่องไว้ อย่างนั้นใช่ไหม เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน
สุ. ต้องเข้าใจธรรม หมายความว่าฟังจนกระทั่งเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่า เวลาใครบอกว่า ให้เจริญสติปัฏฐาน ให้ระลึกที่กาย ให้ระลึกที่เวทนา ให้ระลึกที่จิต ให้ระลึกที่ธรรม ก็คิดว่าจะไปทำ ไม่ใช่เลย ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้น และปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นลำดับ แม้ขณะเวลาที่สติระลึกก็ไม่ใช่ว่าปัญญาสามารถรู้ตามที่ฟังและเข้าใจ เป็นคนละเรื่อง คนละตอน
ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว แต่เวลาสติเกิดที่จะระลึกลักษณะของรูปบ้างนามบ้าง ยังจะต้องอบรมความเข้าใจในลักษณะนั้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ
ถ. อย่างนี้ได้ไหม เจริญสติว่า เป็นรูป เป็นนาม เป็นนามก็เจริญว่า นี่จิตหดหู่ จิตไม่หดหู่ อย่างนั้นหรือ
สุ. นั่นไปรู้ชื่อ และอาจจะท่อง ขณะนี้จิตประเภทใดเกิดปัญญารู้ตามความเป็นจริงและจะรู้ว่า เท่าที่เคยได้ยินได้ฟังมาทั้งหมด ตรงกับที่กำลังรู้
จิตประเภทแรกของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สราคจิตตัง จิตที่ประกอบด้วยราคะ มีราคะหรือโลภะเป็นมูลเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ทำไมจิตนี้จึงเป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพแรก ก็เพราะว่ามีอยู่เป็นประจำตลอดทั้งวัน ถ้าเป็น ผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สติระลึกจะรู้จิตนี้ แต่ถ้าระลึกแล้วไม่รู้จิตนี้ เป็นอันว่ายังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และถ้าระลึกรู้ลักษณะของจิตนี้ คือโลภมูลจิตต่อไป ก็จะรู้จิตอื่นๆ ที่ต่างกับโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น เมื่อจำแนก ไปแล้วก็ตรงตามที่ทรงแสดงไว้ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ถ้าไปท่องจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไว้หมด จิตหดหู่ ไม่หดหู่ ก็จะสงสัยว่าขณะไหน เมื่อไร หดหู่นี่จะระลึกอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะทำ ไม่ใช่เป็นเรื่องรู้ ไม่ใช่ เป็นเรื่องเข้าใจ แต่การอบรมเจริญปัญญาให้ทราบว่า ตั้งแต่ขั้นฟัง เข้าใจจริงๆ และ รู้ว่าปัญญามีหลายขั้น ปัญญาขั้นฟัง เข้าใจ ไม่สงสัยเลย เรื่องของจิตสามารถบอกได้ โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เหล่านี้ แต่เวลาที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เอาชื่อไปใส่ว่าขณะนี้จิตดวงไหนดี ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุวิญญาณ หรือสัมปฏิจฉันนจิต หรือสันตีรณจิต ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเรื่องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าก่อนที่ปัญญาจะรู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรม ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เป็นเรามาโดยตลอด เห็นก็เป็นเราเห็น ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน แต่เมื่อ ได้ฟังก็รู้ว่า เห็นเป็นจิต เป็นสภาพรู้ ซึ่งต้องอาศัยตาจึงเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ได้ยินก็เป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งต้องอาศัยหูจึงได้ยินเสียง ที่กำลังได้ยินในขณะนี้เป็นจิต
ฟังอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสติระลึกโดยที่ไม่ใช่เรา และขณะใดที่กำลังเข้าใจในสภาพรู้ที่กำลังได้ยินในขณะนี้ หรือที่กำลังเห็นในขณะนี้ ซึ่งสลับกัน ขณะนั้นไม่ต้องมีใครมาบอกว่าสติมีลักษณะอย่างไร คนนั้นก็รู้ลักษณะ ของสติ เพราะว่าขณะที่สติเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติแน่นอน ขณะที่หลงลืมสติ เห็นตลอดวันก็ไม่เคยรู้ว่ากำลังเห็นเป็นสภาพรู้ แต่ขณะใดที่เห็นและเริ่มค่อยๆ เข้าใจว่า สภาพที่กำลังปรากฏมีจริง และสภาพที่กำลังเห็นก็เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพรู้ นี่คือการอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ
ถ. ผมเข้าใจแล้วเรื่องจิตเป็นอย่างไร ของผมเจริญเพียงแค่นี้ได้ไหม เวลาโกรธให้รู้ตัวว่าโกรธ และคอยตรวจความรู้สึกว่า จิตเป็นกุศล หรืออกุศล ให้มีความสำนึกอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้แจกแจงรายละเอียด
สุ. ถ้าอย่างนั้น ขณะนี้เป็นปัญญาขั้นไหน
ถ. ขั้นชาวบ้าน
สุ. ขั้นคิด ขั้นพิจารณา แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นการ รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ต้องแยกลักษณะที่เป็นสภาพรู้ สามารถเข้าใจในอรรถ ของสภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ว่า คือเพียงรู้เท่านั้นเอง เป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรืออาการรู้ หรือธาตุรู้แต่ละอย่าง คือ ค่อยๆ ใกล้ชิดชินต่ออรรถของสภาพรู้ จึงจะค่อยๆ คลายการยึดถือว่าเป็นเรา ถึงแม้ไม่ใช้ชื่อว่า จิต ถ้ารู้ว่าเป็นลักษณะรู้ อาการรู้ ก็ถูก ถึงแม้ไม่ใช้คำว่า เจตสิก แต่ขณะนั้นเป็นสภาพที่รู้สึก เป็นสภาพที่จำ ขณะนั้นก็ถูก โดยที่แม้ไม่ใช้คำว่าเจตสิกก็ตาม เพราะว่าลักษณะของเจตสิกแต่ละอย่างปรากฏ ให้ระลึกรู้ได้
ถ. ท่านอาจารย์พูดเสมอว่า ให้มีสติระลึกรู้ว่า ไม่ใช่เรา อย่านึกว่า เป็นตัวเรา ถ้าเราก็ผิด ผมนึกไปถึงห่วงรัดติดพัน เรียกว่า สังโยชน์ ๑๐ อันแรกคือ สักกายทิฏฐิ ที่ท่านอาจารย์สอนผมเดาว่าไปอยู่ ๒ จุด จุดหนึ่งจะเป็นพระอริยบุคคลต้องผ่านด่านแรก หลุดจากห่วงแรก คือ สักกายทิฏฐิ ไม่ใช่เป็นตัวเรา และอีกจุดหนึ่ง คือ นามรูป ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณอันแรก นามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ทราบว่า ผมเดาผิดหรือเปล่า เพราะ ๒ อันจะปนๆ กันอยู่ เจริญสติปัฏฐานอย่านึกว่าเป็นเรา เป็นเพียงสภาพรู้ มีสติระลึกรู้ เพื่อจะหลีกเลี่ยงสักกายทิฏฐิ ใช่ไหม กับนามรูปปริจเฉทญาณ ที่เรารู้นี่เพื่อเจริญไปถึงวิปัสสนาญาณขั้นอื่น อย่างนั้นใช่ไหม
สุ. ปัญญาต้องรู้ตรงตั้งแต่ต้น หมายความว่าสภาพธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ไม่มีการรีบเร่ง หรือใจร้อน หรือจะทำ ถ้าเข้าใจอนัตตา จริงๆ แล้วจะต้องรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และมีสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น เห็นขณะนี้ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วด้วย ไม่มีใครไปทำ ขณะที่ได้ยิน ได้ยินก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ
ถ้าจะพิจารณาสภาพธรรมทุกอย่างทั้งนามธรรมและรูปธรรมก็รู้ว่า ไม่มีใครสามารถไปบันดาลได้ เพราะฉะนั้น เราจะไปทำสติ เป็นไปไม่ได้ แต่สติก็ต้องอาศัยความเข้าใจขั้นต้น เมื่อรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาและปัญญาที่จะรู้ความจริง ก็คือรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็สามารถรู้ได้ว่า สติเกิดหรือเปล่า ถ้าสติไม่เกิด หลงลืมสติ ก็เพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีปัจจัยที่จะ ให้หลงลืมสติก็หลงลืมสติ และเวลาที่สติเกิดก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึก และสติ ในขณะนั้นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยด้วย จึงจะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนตั้งแต่เบื้องต้น ซึ่งจะต้องเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถตัดการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้เป็นสมุจเฉท ตามลำดับขั้น แต่ต้องเริ่มถูกตั้งแต่ต้น
ถ. เข้าใจแล้ว ยังเหลือเรื่องธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สติปัฏฐาน ๔ มีกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา ตามตำราบอกไว้มีตั้ง ๕ อย่าง มีนิวรณ์ ขันธ์ อายตนะ โพชฌงค์ และอริยสัจจ์ มี ๕ บรรพ
สุ. ดูเหมือนเป็นชื่อ แต่เป็นชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง และถ้าเข้าใจธรรมแม้เพียงบรรพเดียว รวมหมดทุกอนุปัสสนา ทั้ง ๔ ปัฏฐาน เพราะว่ากาย ก็เป็นธรรม เวทนาก็เป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม ธรรมอื่นๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในหมวดของกาย ของเวทนา ของจิต ก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเรื่องธรรมแล้วไม่ห่วงเลย ในเรื่องชื่อของบรรพต่างๆ เหล่านี้
ถ. โยงกับขันธ์ ๕ อย่างไร
สุ. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพที่ ๑ คืออะไร
ถ. นิวรณ์
สุ. นิวรณ์มีไหม นิวรณ์คืออะไร นิวรณ์เป็นอกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ สอดคล้องกันไหมกับที่ได้ศึกษามาแล้วเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ประเภท โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง เวลาที่เกิดขึ้นกระทำกิจ กั้นคุณความดี หรือการกระทำดีต่างๆ ขณะใดที่มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ขณะนั้นเป็นกามฉันทนิวรณ์ ซึ่งเราก็รู้ได้ ในชีวิตประจำวัน กำลังสนุก อยากจะดูโทรทัศน์ หรืออยากจะอ่านหนังสือ ก็เลย ไม่ได้อ่านธรรม ไม่ได้สนทนาธรรมก็ได้ ใช่ไหม นี่ก็มองเห็นอยู่ สภาพธรรมเหล่านี้ มีจริง และเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่ตัวตนด้วย
เพราะฉะนั้น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ขณะนั้นสติสามารถระลึกรู้สภาพของจิต เพราะว่าขันธ์ ๕ ก็รวมทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ การฟังจะทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นระลึกรู้ลักษณะของขันธ์ใด จะเป็นรูปขันธ์ก็ได้ หรือจะเป็นเวทนาขันธ์ก็ได้ หรือถ้าอบรมเจริญปัญญามากๆ ซึ่งตอนต้นยังหาสัญญาขันธ์ไม่เจอ เพราะว่าสติปัฏฐานยังไม่เคยระลึกที่สัญญาขันธ์ สักครั้งหนึ่ง ระลึกที่รูปบ้าง ระลึกที่จิตประเภทนั้นประเภทนี้บ้าง แต่สัญญาที่จำ ยังไม่ได้ระลึก ซึ่งความจริงสัญญาเกิดกับจิตทุกดวง แม้เพียงขณะที่นอนเฉยๆ และนึก ทุกคนคิด ขณะที่คิด ถ้าสติปัฏฐานระลึกจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่จำเรื่องที่คิด ถ้าไม่จำ คิดเรื่องนั้นไม่ได้แน่
การเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานและละเอียด จะทำให้สามารถรู้ได้ว่า สัญญาขันธ์ในขณะใด ขณะที่คิด เวลาที่อยู่เฉยๆ ก็เห็นชัด เรื่องทุกเรื่องเพราะคิด และแม้ในขณะที่ไม่ได้อยู่เฉย ก็มีการคิดด้วย
เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสัญญา ความจำมากขึ้น ก็สามารถรู้ได้ว่า เพียงชั่วขณะที่คิด จะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วคิด ก็ตาม ขณะนั้นก็เพราะสัญญาจำ เพราะฉะนั้น สามารถรู้ความจริงของขณะจิตหนึ่งละเอียดขึ้นว่า แม้ในจิตขณะเดียวที่เกิดขึ้นก็มีสัญญาที่จำในขณะที่จิตคิด และ สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่ง คือ ขณะนั้นคิดวิจิตรมากมายหลายอย่างตามกำลังของ การสะสมว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่สะสมในทางใด ก็จะนึกคิดวิจิตรต่างๆ ในทางนั้น จะเห็นได้อย่างคนที่ทำกับข้าว หรือตัดเสื้อ จัดดอกไม้ ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ความคิดของเขาจากสัญญา ความจำ และมีสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้เกิดความวิจิตรต่างๆ หรือคนที่คิดเรื่องเก่าๆ ไม่ลืม และโกรธ ก็จะรู้ได้เลยว่า สังขารขันธ์ปรุงอีกแล้ว เมื่อกี้อยู่ดีๆ ไม่โกรธ นึกถึงเรื่องนั้นก็เกิดโกรธ เพราะสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งทำให้ขณะนั้นเปลี่ยนสภาพของจิต เป็นการปรุงแต่งแล้วแต่ว่าจะเป็นสังขารขันธ์ฝ่ายดี หรือสังขารขันธ์ ฝ่ายไม่ดี
ก็เป็นการเข้าใจสภาพธรรมละเอียดขึ้น ที่จะทำให้ละคลายการยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ว่าจะเป็นนิวรณ์ หรือขันธ์ หรืออายตนะ โพชฌงค์ อริยสัจจ์
ถ. ทำไมเอาเพียงแค่นี้ อย่างอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ไม่พูดถึง
สุ. รวมหมดอยู่ในนั้น ธรรมข้อเดียวก็แตกออกไปได้ สืบเนื่องเกี่ยวเนื่อง ถึงกันหมด
ผู้ฟัง ในระยะนี้ผมได้อ่านในสฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย ผมพิจารณาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงสฬายตนวรรค ทั้งเล่มพูดเรื่องอายตนะทั้งหมดเลย มาเกี่ยวข้อง กับที่เราสนทนาธรรมกันอย่างไร อย่างเช่น เมื่อกี้พูดกันถึงอิริยาบถบรรพ เดินก็รู้ว่า เราเดิน ที่อาจารย์พูดไว้ว่าต้องทั้งพระไตรปิฎก ต้องทุกปิฎก จึงจะพิจารณาเรื่อง กายานุปัสสนาได้ถูกต้อง เพราะถ้าเอาอภิธรรมเข้ามาพิจารณาแล้ว เราไม่มี สภาพธรรมไม่มีเรา นั่นเป็นอภิธรรมปิฎก เกี่ยวกับว่าเดินก็รู้ว่าเราเดิน ในขณะที่ เดินก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี อิริยาบถ ๔ พยัญชนะ ๔ คำนี้ จะทำให้คนเข้าใจ เรื่องกายานุปัสสนา เรื่องอิริยาบถบรรพ คลาดเคลื่อนกันแทบทั้งนั้น แต่ถ้าเอาเรื่อง สฬายตนะเข้าไปจับแล้ว ขณะเดินก็ดี หรือขณะยืนอยู่เฉยๆ ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ถ้าอายตนะภายในและอายตนะภายนอกซึ่งแปลว่าบ่อเกิดที่เกิดไม่มีเสียแล้ว สภาพธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า อายตนะเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าอายตนะภายใน เริ่มตั้งแต่กายายตนะซึ่งก็คือกายปสาทนั่นเอง จะเดินก็ดี จะนั่งก็ดี จะนอนก็ดี ถ้าไม่มีกายปสาทเสียแล้ว ไม่มีการสัมผัสกัน ธรรมจะไม่เกิดเลย
ผมมีความเห็นว่า ถ้าเอาเรื่องอายตนะเข้ามาจับแล้ว เรื่องอิริยาบถบรรพ จะคลายความสงสัยไปได้มากทีเดียว
สุ. ธรรมต้องประกอบกันทั้งหมด ถ้าง่ายๆ อย่างที่เข้าใจตามพยัญชนะว่า เดินก็รู้ว่าเดิน ถ้าเท่านั้นจริงๆ ปัญญาอยู่ที่ไหน ธรรมดาทุกคนเดินก็รู้ว่าเดิน นอน ก็รู้ว่านอน นั่งก็รู้ว่านั่ง พูดก็รู้ว่าพูด แต่ปัญญาอยู่ที่ไหน ถ้ารู้เพียงเท่านั้น
แสดงให้เห็นว่า การที่ปัญญาจะรู้ความจริง ต้องลึกและละเอียดมากกว่านั้น ซึ่งจะต้องอาศัยการศึกษาให้เข้าใจจริงๆ เพราะว่าความเข้าใจคือการเริ่มต้น ของปัญญา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๓ ตอนที่ ๒๐๒๑ – ๒๐๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2020
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2080
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081