แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
ครั้งที่ ๒๐๓๓
สาระสำคัญ
การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการละโลภะ ละโทสะ ละโมหะ
ผู้เห็นประโยชน์ของสัจจะ คือ ความจริง
อรรถกถาหริตจชาดก-กำลังของกิเลส
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยวันอาทิตย์ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๔
ถ. แสดงว่าที่ท่านพิจารณาปฏิจจสมุปปาท ท่านเป็นผู้ใฝ่ใจในธรรมเนืองๆ
สุ. พระโพธิสัตว์ทั้งหลายสะสมปัญญาบารมีมามาก เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ความคิดของพระโพธิสัตว์ก็ย่อมต่างจากความคิดของบุคคลอื่น บุคคลอื่นวันนี้คิดเรื่องปฏิจจสมุปปาทบ้างหรือเปล่า แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ท่านต้องสะสมปัญญาที่จะทำให้ท่านไตร่ตรองพิจารณา แม้คืนก่อนที่จะตรัสรู้ก็ต้องมีการพิจารณาปฏิจจสมุปปาท
ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมและมีพระธรรมเป็นสรณะแล้วในชาตินี้ แต่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ เป็นผู้ที่กำลังดำเนินหนทางอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ แต่ละภพแต่ละชาติก็ต้องดำเนินตามรอยของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือ สะสมบารมีต่างๆ
ท่านที่บอกว่า อยากจะปฏิบัติธรรม ซึ่งมีหลายท่านทีเดียว มิตรสหายของผู้ที่สนใจในธรรมด้วยกันก็อาจจะได้ยินบางท่านบอกว่า อยากจะปฏิบัติธรรม แต่สนใจเรื่องของการปฏิบัติธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าการปฏิบัติธรรม คือ การละอกุศล ละโลภะ โทสะ โมหะ
ถ้ากำลังโลภ อยากจะละความโลภในขณะนั้นไหม หรืออยากจะปฏิบัติธรรม โดยไม่เข้าใจว่า ปฏิบัติธรรม คือ ละโลภะในขณะที่โลภะกำลังเกิด นั่นคือปฏิบัติธรรม เมื่อไม่เข้าใจอย่างนี้ ขณะที่กำลังมีโลภะ ไม่ได้ต้องการที่จะละโลภะ แต่อยากจะปฏิบัติธรรม แสดงให้เห็นว่า เพราะไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการละโลภะ ละโทสะ ละโมหะ
ขณะที่กำลังโกรธ และยังโกรธกันอยู่มาก ท่านที่ฟังธรรมแล้วนี่แหละ ยังเป็น ผู้ที่สะสมความโกรธบ้าง สะสมความโลภบ้าง ขณะที่โกรธ อยากจะละ ความโกรธในขณะนั้นไหม หรือว่าอยากจะปฏิบัติธรรม
นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้มีความละเอียดในการพิจารณา ซึ่งจะเกื้อกูลในขณะนั้นว่า ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องรอเวลาอื่น ขณะที่กำลังโกรธนั่นเอง ละความโกรธ เป็นความไม่โกรธ ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม กำลังริษยา กำลังตระหนี่ หรือ อกุศลใดๆ ก็ตามในขณะนั้นซึ่งกำลังเกิด อยากจะปฏิบัติธรรมไหม ถ้าอยาก คือ ละอกุศลในขณะนั้นเท่านั้น
แต่การละอกุศลเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อย่างใจคิดหรือหวัง วันนี้หรือแต่ก่อนนี้ ก็อาจจะมีหลายท่านที่ตั้งปณิธานหรือมีความตั้งใจที่จะละอกุศล แต่ถึงเวลาจริงๆ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แม้พระโพธิสัตว์ซึ่งแต่ละชาติได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ก็ยังต้องเป็นไปตามกำลังของอกุศลที่ยังไม่ได้ดับ
ขอกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ซึ่งท่านได้บำเพ็ญบารมีเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คือ รู้ความจริงของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งสัจจธรรม และเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของสัจจะ คือ ความจริง
สภาพธรรมที่เป็นสัจจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความจริงของจิตเป็นอย่างไร ความจริงของเจตสิกเป็นอย่างไร ความจริงของรูปซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอย่างไร ความจริงของนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับจิต เจตสิก รูปอย่างไร ผู้ที่แสวงหาความจริงต้องการประจักษ์แจ้งความจริง ผู้นั้นต้อง เห็นประโยชน์ของสัจจะคือความจริงที่จะต้องอบรมไปทุกขั้น ตั้งแต่ขั้นของวาจาจริง
ข้อความโดยย่อใน อรรถกถา นวกนิบาตชาดก อรรถกถาหริตจชาดก ที่ ๕ มีว่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี
พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น คือ ท่านพระอานนท์ในชาติสุดท้ายนี้
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ และเพราะท่านมีผิวงามดังทองมารดาบิดาจึงตั้งชื่อว่า หาริตกุมาร เมื่อเจริญวัยและเรียนจบจาก เมืองตักศิลาแล้ว ท่านก็พิจารณาเห็นว่า ทรัพย์สมบัติที่มารดาบิดาแสวงหามานั้น ยังปรากฏอยู่ แต่มารดาบิดาผู้แสวงหาทรัพย์นั้นล่วงลับไปแล้ว หาปรากฏไม่
ทุกท่านที่มีสมบัติมากๆ ก็จะรู้ว่า จากไปแต่ตัว ทรัพย์สมบัติยังเหลืออยู่ ส่วนตัวผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัตินั้นต้องจากไป
เมื่อท่านพิจารณาเห็นว่า ท่านเองก็ต้องเป็นอย่างนั้น ท่านจึงบริจาคทรัพย์ ให้ทาน และไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมวันต์ บำเพ็ญฌานจนได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ เมื่อต้องการเสพอาหารที่มีรสเค็ม รสเปรี้ยว ก็ออกจากป่าไปยังพระนครพาราณสี บรรลุถึงพระลานหลวง พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็น มีพระทัยเลื่อมใส และให้สร้างที่พักในพระราชอุทยานถวาย มีผู้คอยปรนนิบัติ พระดาบส ได้ฉันอยู่ในพระราชวังตลอดมา ๑๒ ปี
ต่อมาภายหลัง พระเจ้าพาราณสีเสด็จไปปราบชายแดนที่ก่อความไม่สงบ และมอบหมายให้พระราชเทวีถวายภัตตาหารแก่พระดาบส ซึ่งพระเทวีก็ได้ทรงอังคาสพระดาบสด้วยพระองค์เอง
วันหนึ่งพระเทวีทรงตบแต่งโภชนะไว้เรียบร้อยแล้ว และพระดาบสยังช้าอยู่ พระนางจึงสรงสนานด้วยน้ำหอม ทรงนุ่งพระภูษาเลี่ยนเนื้อละเอียด ทรงให้เปิด พระบัญชรและประทับบนเตียง ให้ลมพัดต้องพระวรกาย เมื่อพระดาบสเหาะมาถึงพระบัญชร พระเทวีได้ยินเสียงผ้าคากรองของพระดาบสก็เสด็จลุกขึ้นโดยเร็ว พระภูษาเลื่อนหลุดหล่นลง ทันใดที่พระดาบสเห็นเช่นนั้น กิเลสซึ่งหมักดองอยู่หลายแสนโกฏิปี มีอาการดังอสรพิษที่นอนขดอยู่ในข้องก็กำเริบขึ้น ทำฌานให้อันตรธานไป พระดาบสไม่สามารถดำรงสติไว้ได้ จึงเข้าไปจับพระหัตถ์พระเทวีและประพฤติผิดร่วมกัน
ตั้งแต่นั้นมา การกระทำนั้นได้แพร่สะพัดไปทั่วพระนคร พวกอำมาตย์ได้ส่งหนังสือไปกราบทูลพระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีมิได้ทรงเชื่อ โดยทรงพระดำริว่า พวกอำมาตย์ประสงค์จะทำลายพระองค์จึงได้กล่าวอย่างนั้น
เมื่อพระราชาทรงปราบชายแดนให้สงบลงแล้ว ก็เสด็จกลับพระนครพาราณสี และได้ตรัสถามพระเทวีว่า ข่าวเรื่องการประพฤติผิดของพระดาบสและพระเทวีนั้น จริงหรือ พระเทวีกราบทูลว่า จริง พระราชายังมิได้ทรงเชื่อแม้ว่าพระเทวีจะกราบทูลว่า จริง พระองค์จึงเสด็จไปยังพระราชอุทยาน เมื่อนมัสการพระดาบสและประทับ ณ นั่งที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ก็ได้ตรัสถามพระดาบสด้วยคาถาที่ ๑ ว่า
ข้าแต่มหาพรหม ได้ยินเขาพูดกันว่า พระหาริตดาบสบริโภคกาม คำนี้ ไม่เป็นจริงกระมัง ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่แลหรือ
พระดาบสคิดว่า เมื่อเราทูลว่าเราไม่ได้บริโภคกาม พระราชานี้ก็จะทรงเชื่อเราเท่านั้น แต่ว่าในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าที่พึ่งที่เช่นกับความสัตย์ไม่มี เพราะว่าผู้ที่ทิ้งความสัตย์เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถจะนั่งที่โพธิบัลลังก์บรรลุพระโพธิญาณได้ เราควรกล่าวแต่คำสัตย์เท่านั้น
จริงอยู่ ปาณาติบาตก็ดี อทินนาทานก็ดี กาเมสุมิจฉาจารก็ดี สุราปานะก็ดี ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ได้บ้างในฐานะบางอย่าง แต่มุสาวาทที่กล่าวให้คลาดเคลื่อน หักประโยชน์เสีย ย่อมไม่มีแก่พระโพธิสัตว์เลย ฉะนั้น เมื่อพระดาบสจะกล่าว ความสัตย์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำมาแล้วอย่างใด ถ้อยคำนั้นเป็นจริงอย่างนั้น อาตมภาพเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง เดินทางผิดแล้ว
พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาที่ ๓ ว่า
ปัญญาที่ละเอียด คิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้วของท่าน มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร ท่านไม่อาจบรรเทาความคิดที่แปลกได้
คำอธิบายข้อความนี้มีว่า
ธรรมดาเภสัชย่อมเป็นที่พึ่งของคนไข้ น้ำดื่มเป็นที่พึ่งของคนกระหายน้ำ ก็ปัญญาที่ละเอียด คิดสิ่งที่ดีคือที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้วของท่าน มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร ทำไมจึงไม่อาจใช้ปัญญานั้นบรรเทาความคิด ที่ผิดปกตินั้นได้
ลำดับนั้น หาริตดาบสเมื่อจะแสดงกำลังของกิเลสแก่พระราชา จึงได้กล่าวคาถาที่ ๔ ว่า
ข้าแต่มหาบพิตร กิเลส ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มทะ (คือ ความมัวเมา) เป็นของมีกำลังกล้า หยาบคายในโลก เมื่อกิเลสเหล่าใดรึงรัดแล้ว ปัญญาก็หยั่งไม่ถึง เหมือนคนตกลงไปในห้วงน้ำใหญ่
เป็นความจริงสำหรับคนทุกยุคทุกสมัย ซึ่งควรจะกลัวกำลังของกิเลสที่สะสมมาในจิตนานแสนนาน เหมือนกับอสรพิษที่ขดอยู่ในข้อง ยังไม่มีโอกาสออกมาแสดง พิษร้ายได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเล่าถึงอดีตชาติของพระองค์ เพื่อที่จะให้ทุกคนเป็นผู้ที่ไม่ประมาท มีสติระลึกถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรได้
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระราชาได้ทรงสดับคำของดาบสแล้ว จึงตรัสคาถาที่ ๕ ว่า
ข้าพเจ้าได้ยกย่องท่านแล้วอย่างนี้ว่า หาริตดาบสเป็นพระอรหันต์ สมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติบริสุทธิ์ เป็นบัณฑิต มีปัญญาแท้
หาริตดาบสได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๖ ต่อจากนั้นว่า
ข้าแต่มหาบพิตร วิตกอันลามก เป็นไปด้วยการยึดถือนิมิตว่างาม ประกอบด้วยความกำหนัด ย่อมเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญา ผู้ยินดีแล้วในคุณธรรมของฤๅษี
ข้อความนี้เตือนผู้ที่เข้าใจว่าตนเองมีปัญญาและคิดว่าปลอดภัยแล้วว่า ประมาทไม่ได้เลย เพราะว่าผู้ที่มีปัญญาแม้ยินดีในคุณธรรมของผู้ที่ใฝ่ในธรรมแล้ว ก็ยังสามารถให้อกุศลเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญาได้
พระราชาเมื่อจะให้หาริตดาบสเกิดอุตสาหะในการละกิเลส จึงตรัสคาถาที่ ๗ ว่า
ความกำหนัดนี้เกิดขึ้นในกาย เกิดขึ้นมาแล้วเป็นของทำลายวรรณะของท่าน (วรรณะ คือ คำสรรเสริญคุณความดี) ท่านจงละความกำหนัดนั้นเสีย ความเจริญย่อมมีแก่ท่าน ท่านเป็นผู้อันชนหมู่มากยกย่องแล้วว่าเป็นคนมีปัญญา
พระราชาเตือนสติผู้มีปัญญาที่ขาดสติให้กลับระลึกได้
คราวนั้นพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้วกลับได้สติ พิจารณาโทษในกามทั้งหลายแล้ว กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า
กามเหล่านั้นทำแต่ความมืดให้ มีทุกข์มาก มีพิษใหญ่หลวง อาตมภาพ จักค้นหามูลรากแห่งกามเหล่านั้น จะตัดความกำหนัดพร้อมเครื่องผูกเสีย
มูลรากแห่งกามนั้น คือ อโยนิโสมนสิการ การพิจารณาใส่ใจโดยไม่แยบคาย
ดาบสนั้นได้เจริญสมถภาวนาจนได้ฌานอีก เห็นโทษของการอยู่ในที่ไม่สมควร (คือ พระราชอุทยาน) จึงได้กลับไปสู่ป่าให้พ้นจากกลิ่นสตรี และเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ก็เข้าถึงพรหมโลก
เหตุที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ ณ พระวิหารเชตวัน ก็เนื่องด้วยพระภิกษุ รูปหนึ่งเห็นหญิงคนหนึ่งแต่งตัวสวยงามก็เกิดกิเลส ใคร่จะลาสิกขาบท เมื่อ อุปัชฌาย์อาจารย์แนะนำก็ไม่พอใจ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ภิกษุนั้นก็รับว่า จริง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ธรรมดากิเลสย่อมไม่มีความชื่นบาน เพราะขจัดคุณความดี มีแต่จะให้ตกนรก และกิเลสนั้นทำไมจักไม่ทำให้เธอลำบากเล่า ลมแรงพัดเขาสิเนรุ ทำไมจักไม่พัดใบไม้เก่าๆ ให้กระจัดกระจายได้ แม้พระองค์เองในพระชาติที่เป็น หาริตดาบส ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ดำเนินรอยตามพระโพธิญาณ เพราะอาศัยกิเลสประเภทนี้จึงไม่อาจดำรงสติอยู่ได้ ยังต้องเสื่อมไปจากฌาน
พระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมทั้งหลาย ก็เพื่อให้เห็นความไม่เป็นประโยชน์ของอกุศล และให้เห็นกำลังของการสะสมอกุศล ซึ่งข้อความที่น่าฟัง น่าพิจารณา คือ ลมแรงพัดเขาสิเนรุ ลมพัดได้ทุกอย่าง แม้แต่เขาสิเนรุ ทำไมจะไม่พัดใบไม้เก่าๆ ให้กระจัดกระจายได้
ทุกท่านที่มีกิเลสที่ยังไม่ดับ ยังไม่ใช่เขาสิเนรุแน่ ยังคงเป็นเพียงใบไม้เก่าๆ เท่านั้นเอง เบา พร้อมที่ลมจะพัดไปทางไหนก็ไปทางนั้น ไม่ว่าจะเป็นลมโลภะ หรือลมโทสะ หรือลมโมหะ เพราะฉะนั้น ก็จะได้เป็นผู้ไม่ประมาทจริงๆ และจะได้เห็นว่า อกุศลเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ในขณะนั้น ยังจะสะสมเพิ่มกำลังขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อตรัสหริตจชาดกแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงประกาศสัจจธรรม เวลาจบ สัจจธรรม ภิกษุผู้นั้นได้ดำรงอยู่ในอรหัตตผล
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นคุณของสัจจธรรม ความจริงซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสัจจธรรมนั้นได้ เป็นผู้ที่กำลังแสวงหาสัจจธรรม คือ รู้ว่าขณะนี้ทางตา ที่กำลังเห็นนี่ดับ ทางหูก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยชั่วขณะเดียวแล้วดับ ขณะที่กำลังฟังพระธรรมก็เพื่อแสวงหาสัจจธรรม ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เพื่อแสวงหาสัจจธรรมที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นความจริงทุกยุคทุกสมัย ไม่เปลี่ยนเลย เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ คำจริง วาจาจริง กายจริง ทำตามที่พูด และใจจริงต่อกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสัจจะทั้งหมดต้องเป็นไปในกุศลธรรม
ทุกท่านที่ยังมีกิเลสอยู่ พิจารณาดูว่า ท่านยังมีความโกงในตัวของท่านเอง บ้างไหม แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ ความโกง คือ ความไม่ตรงต่อความจริง ถึงแม้จะเป็นผู้รู้ มีปัญญา ได้ฟัง พระธรรมก็ตาม ก็ยังจะต้องเป็นไปตามกำลังของการแอบแฝงของกิเลส ซึ่งในขณะนั้น มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จึงทำให้สภาพธรรมเป็นอกุศล เป็นความโกงซึ่งไม่ใช่สัจจธรรม
ผู้ฟัง เรื่องชาดก พูดกันหลายครั้งว่า อ่านชาดกกับอ่านนิทาน ก็น่าจะเหมือนกัน เป็นเรื่องเป็นราว ไม่เห็นต้องไปหาชาดกอ่าน อ่านก็ยาก เข้าใจยาก ผมเองเคยพูดว่า ไม่เหมือนกัน เพราะว่าชาดกแต่ละเรื่องที่พระพุทธองค์ยกขึ้นมาเปรียบเทียบทีไร จะต้องมีผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม อย่างในเรื่องนี้ พระภิกษุนั้น ได้ถึงพระอรหัต ก็เป็นเรื่องแค่เห็นผู้หญิงแล้วก็ชอบ พระพุทธองค์ก็ทรงยกชาดกนี้ขึ้นมาเปรียบเทียบว่า โลภะ ราคะที่แอบแฝงอยู่เล็กๆ น้อยๆ ประมาทไม่ได้เลย และตอนท้ายที่อาจารย์บอกว่า เรายังมีความโกงอยู่หรือเปล่า ดีจริงๆ ต้องถามตัวเองอยู่บ่อยๆ มีความโกงอยู่หรือเปล่า มีกิเลสเล็กๆ น้อยๆ แอบแฝงอยู่หรือเปล่า ทุกวันนี้จะต้องขัดเกลาสิ่งต่างๆ เพื่อเป็นอุชุปฏิปันโน
ผมเองประกอบอาชีพทนายความมาเกือบ ๓๐ ปี คำว่า มีความโกงอยู่ใน ตัวเราหรือเปล่า ก่อนนี้ไม่ได้ถาม ตอนประกอบอาชีพใหม่ๆ ก็มีมากมาย แต่ไม่ได้โจ่งแจ้งเท่าไร ใช้วิชาความรู้ในทางรังแกเขาบ้าง นี่ก็เป็นความโกงอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ได้ทำงานนี้แล้ว จะทำอยู่บ้างก็เล็กๆ น้อยๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็หายไป ไม่ค่อยมี และเมื่อมาศึกษาธรรม จะต้องเตือนตัวเองว่า เรายังเป็นคนโกงอยู่หรือเปล่า
สุ. ท่านผู้ฟังคงจะเห็นจริงว่า ในขณะนี้มีสภาพธรรม แต่อะไรเป็นอุปสรรคนักหนาเหลือเกินที่ทำให้เราไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ อวิชชาประการหนึ่ง และยังมีโลภะ ความยินดีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางที่จะเห็นโลภะ ความติดในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรปัญญา จึงสามารถละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ
สำหรับพระภิกษุรูปนั้น ท่านยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน เพราะพระภิกษุรูปใด รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่ลาสิกขาบท พระภิกษุรูปนั้นเมื่อท่าน คิดจะลาสิกขาบท แสดงว่าท่านไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แต่ท่านอบรมเจริญปัญญา เพราะท่านสามารถรู้ว่า ท่านยังมีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันไม่ได้ละโลภะ แต่ดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งในระหว่างที่ฟังพระธรรม ภิกษุรูปนั้นต้องเป็นผู้ที่สามารถละความยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน บรรลุถึงคุณธรรมของพระโสดาบัน และเมื่อจบชาดกท่านก็สามารถบรรลุถึงพระอรหันต์ได้
อุปสรรคอยู่ที่โลภะ ความติด ความไม่รู้ในความจริงของสภาพธรรมที่ ไม่เที่ยง และถึงแม้เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังจะต้องรู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นความจริง ที่เกิดดับต่อไป จนสามารถดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๔ ตอนที่ ๒๐๓๑ – ๒๐๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2020
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2080
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081