แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036


    ครั้งที่ ๒๐๓๖


    สาระสำคัญ

    กัณหทีปายนจริยา สัจจบารมีของพระโพธิสัตว์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๑๒ พฤษภาาคม ๒๕๓๔


    ถ. แมวที่วัดหนึ่ง ขณะที่พระเทข้าวที่เหลือไว้ในถาด แมวตัวเล็กตัวน้อย จะมาแย่งกินอาหารในถาดนั้น และมีแมวตัวหนึ่งตัวใหญ่มาก วันไหนแมวตัวใหญ่ มากินก่อน แมวตัวเล็กจะไปไล่แมวตัวใหญ่ให้ออกมา แมวตัวใหญ่ก็ไม่สู้ ออกมานั่งหมอบๆ รอจนแมวตัวเล็กกินเสร็จจึงจะเข้าไปกิน มีความรู้สึกว่า แมวตัวนี้ขี้ขลาด ก็คุยกันว่า ไม่น่าเชื่อแมวตัวใหญ่จะกลัวแมวตัวเล็ก จนกระทั่งวันหนึ่งมีสุนัขเข้ามาแย่งแมวตัวเล็กที่กินก่อน แมวตัวใหญ่ก็เข้ามาไล่สุนัขตัวใหญ่ไปเลย แสดงให้เห็นว่า แมวตัวใหญ่มีเมตตาต่อแมวตัวเล็ก ไม่ใช่ว่ากลัวแมวตัวเล็ก

    สุ. นี่ก็เป็นชีวิตแมว โลกของแมวก็เป็นอีกโลกหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนจะเห็นได้ว่า ไปอยู่ที่ไหนก็ต้องคิด จะเกิดเป็นใครก็ต้องคิด และก็มีเหตุการณ์ที่จะทำให้กุศลจิตเกิด อกุศลจิตเกิดได้ด้วยตามภพภูมินั้นๆ

    อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นสัจจบารมีของพระโพธิสัตว์

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก กัณหทีปายนจริยา ข้อ ๓๑ มีข้อความว่า

    อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นฤๅษีชื่อว่า กัณหทีปายนะ เราไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ยิ่งกว่า ๕๐ ปี ใครๆ จะรู้ใจที่ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ของเรานั้น หามิได้ แม้เราก็ไม่บอกแก่ใครๆ ว่า ความไม่ยินดีมีในใจของเรา

    สหายเพื่อนพรหมจรรย์ของเรา ชื่อมัณฑัพยะ เป็นฤๅษีมีอานุภาพมาก ประกอบด้วยบุรพกรรม คือ กรรมเก่าให้ผล ถูกเสียบด้วยหลาวทั้งเป็น เราทำการพยาบาลมัณฑัพยดาบสนั้นให้หายโรค แล้วได้อำลามาสู่บรรณศาลาอันเป็นอาศรมของเราเอง พราหมณ์ผู้เป็นสหายของเราได้พาภริยาและบุตร ต่างถือสักการะสำหรับต้อนรับแขกรวมสามคนมาหาเรา เรานั่งเจรจาปราศรัยกับสหายและภริยาของเขา อยู่ในอาศรมของตน เด็กโยนลูกข่างเล่นอยู่ ทำงูเห่าให้โกรธแล้ว ทีนั้นเด็กนั้นเอามือควานหาลูกข่างไปตามปล่องจอมปลวก ควานไปถูกเอาศีรษะงูเข้า พอมือไปถูกศีรษะของมัน งูก็โกรธ อาศัยกำลังพิษ เคืองจนเหลือจะอดกลั้นได้กัดเด็กในทันที พร้อมกับถูกงูกัดเด็กล้มลงที่พื้นดินด้วยกำลังพิษกล้า เหตุนั้นเราเป็นผู้ได้รับทุกข์ หรือว่าเรามีความรักจึงเป็นทุกข์ เราได้ปลอบมารดาบิดาของทารกนั้นผู้มีทุกข์เศร้าโศก ให้สร่างแล้ว ได้ทำสัจจกิริยาอันประเสริฐสุดก่อนว่า

    เราผู้ต้องการบุญ ได้ประพฤติพรหมจรรย์มีจิตเลื่อมใสอยู่ ๗ วันเท่านั้น ต่อแต่นั้นมาการประพฤติของเราไม่เลื่อมใส ๕๐ ปีเศษ เราไม่ปรารถนาจะประพฤติเสียเลย ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เด็กนี้เถิด พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่ พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา มาณพหวั่นไหวด้วยกำลังพิษไม่รู้สึกตัวได้ฟื้นกายหายโรคลุกขึ้นได้ ผู้เสมอด้วยความสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็น สัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล

    จบ กัณหทีปายนจริยาที่ ๑๑

    ซึ่งเรื่องก็มีตามข้อความใน อรรถกถา ว่า

    ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์ในกาลนั้นชื่อว่า ทีปายนะ เข้าไปหาดาบสมัณฑัพยะ ผู้เป็นสหายของตนถูกเสียบหลาว ไม่ทอดทิ้งดาบสนั้นด้วยศีลคุณของเขา ได้ยืนพิงอยู่กับหลาวตลอด ๓ ยาม จึงได้ปรากฏชื่อว่า กัณหทีปายนะ เพราะร่างกายมีสีดำ ด้วยเปื้อนเลือดแห้งที่ไหลออกจากร่างกายของมัณฑัพยดาบสนั้น

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระมหาบุรุษในอัตภาพหลายแสนมีอัธยาศัยใน เนกขัมมะ ยินดีอยู่พรหมจรรย์ แต่ในจริยานี้ไม่ยินดีพรหมจรรย์นั้น

    ตอบว่า เพราะความหวั่นไหวแห่งความเป็นปุถุชน

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงไม่ครองเรือนใหม่เล่า

    ตอบว่า เพราะครั้งแรกเห็นโทษในกามทั้งหลาย ด้วยมีอัธยาศัยในเนกขัมมะ จึงบวช แต่เพราะไม่ได้ใส่ใจโดยแยบคายจึงเกิดความไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ พระมหาบุรุษ แม้เมื่อไม่สามารถบรรเทาความไม่ยินดีนั้นได้ ก็รังเกียจ คำติเตียนนี้ว่า กัณหทีปายนะนี้บ้าน้ำลาย กลับกลอกจริงหนอ ละสมบัติใหญ่ ออกจากเรือน ละสมบัติใดก็กลับไปเพื่อสมบัตินั้นอีก เพราะเกรงหิริโอตตัปปะของตนจะแตกทำลาย พระมหาบุรุษแม้ร้องไห้น้ำตานองหน้าด้วยความทุกข์โทมนัส ก็ยังอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สละพรหมจรรย์นั้น

    เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นกัณหทีปายนดาบส มีว่า

    ในอดีตกาลพระราชาพระนามว่า โกสัมพิกะ ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงโกสัมพี แคว้นวังสะ ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในนิคมแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์มีชื่อว่า ทีปายนะ ทีปายนกุมาร มีสหายรักชื่อมัณฑัพยะ

    ต่อมาเมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ทั้งสองเห็นโทษในกาม จึงบริจาค มหาทาน ละกาม บวช แล้วสร้างอาศรม ณ หิมวันตประเทศ เลี้ยงชีพด้วยอาหาร อันเป็นรากไม้และผลไม้ในป่า ด้วยการเที่ยวขออยู่เกิน ๕๐ ปี

    ทั้งสองไม่สามารถข่มกามฉันทะได้ แม้เพียงฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้ สองดาบสเที่ยวจาริกไปยังชนบทเพื่อเสพอาหารมีรสเค็มและเปรี้ยว ถึงแคว้นกาสี

    ณ แคว้นกาสีนั้น ในนิคมหนึ่ง สหายครั้งเป็นคฤหัสถ์ของทีปายนะชื่อว่า มัณฑัพยพราหมณ์อาศัยอยู่ (คนนี้เป็นคหบดี ไม่ได้เป็นดาบส คือชื่อซ้ำกัน) ทั้งสอง จึงเข้าไปหามัณฑัพยคฤหบดีนั้น มัณฑัพยคฤหบดีเห็นดาบสทั้งสองก็ดีใจ สร้างบรรณศาลา บำรุงด้วยปัจจัย ๔ ดาบสทั้งสองอยู่ ณ ที่นั้นได้ ๓ – ๔ ปี ก็ลา มัณฑัพยคฤหบดีนั้นเที่ยวจาริกไปอาศัยอยู่ในป่าช้าเต็มไปด้วยไม้เต็ง ใกล้กรุงพาราณสี

    ต่อมาทีปายนดาบสก็กลับไปหามัณฑัพยคฤหบดีสหายของตนในนิคมนั้นอีก ส่วนมัณฑัพยดาบสคงอยู่ ณ ป่าช้า เต็มไปด้วยไม้เต็ง ใกล้กรุงพาราณสีนั้นเอง

    อยู่มาวันหนึ่ง โจรคนหนึ่งกระทำโจรกรรมภายในเมืองแล้วหนีไป ถูกพวกเจ้าของเรือนและพวกมนุษย์ที่รักษานครติดตามออกไปทางท่อน้ำ โจรรีบเข้าไปใน ป่าช้า แล้วทิ้งห่อทรัพย์ไว้ที่ประตูบรรณศาลาของมัณฑัพยดาบสแล้วหนีไป พวกมนุษย์เห็นห่อทรัพย์จึงคุกคามว่า เจ้าชฎิลชั่ว กลางวันเที่ยวไปโดยเพศของดาบส กลางคืนเป็นคนร้ายทำโจรกรรม แล้วช่วยกันทุบตี พามัณฑัพยดาบสนั้นไปแสดงโทษแด่พระราชา

    พระราชามิได้ทรงสอบสวน ทรงมีพระบัญชาให้เสียบมัณฑัพยดาบสบนหลาวไม้ตะเคียน แต่หลาวก็ไม่ได้เข้าไปในร่างกายของดาบส จากนั้นก็เอาหลาวไม้สะเดามาเสียบ แต่หลาวไม้สะเดาก็มิได้เข้าไปในร่างกายของดาบส จากนั้นนำหลาวเหล็กมา หลาวเหล็กก็ไม่เข้าไปในร่างกายของมัณฑัพยดาบส

    ดาบสนั้นคิดว่า เป็นกรรมเก่าของเรากระมังหนอ ดาบสระลึกชาติได้ ได้เห็นกรรมเก่าด้วยเหตุนั้น นัยว่าดาบสนั้นในอัตภาพก่อนเป็นบุตรของนายช่าง เขาไปยังที่ ที่บิดาถากไม้ จับแมลงวันตัวหนึ่งแล้วจึงเอาเสี้ยนไม้ทองหลางเสียบดุจหลาว บาปของเขาได้โอกาสในที่นี้

    ดาบสรู้ว่าไม่อาจพ้นจากบาปนี้ไปได้ จึงกล่าวกะพวกราชบุรุษว่า หากพวกท่านประสงค์จะเสียบเราที่หลาว พวกท่านจงนำหลาวไม้ทองหลางมาเถิด พวกราชบุรุษได้ทำตามนั้นแล้วเสียบดาบสที่หลาว จัดอารักขาแล้วจากไป

    ในกาลนั้น กัณหทีปายนดาบสคิดว่า เราไม่ได้เห็นสหายมานานแล้ว จึงมาหามัณฑัพยดาบส เมื่อได้ฟังเรื่องราวนั้นแล้วจึงไปยังที่นั้น ยืนอยู่ข้างหนึ่งถามว่า

    สหายท่านทำอะไร

    ดาบสบอกว่า

    เราไม่ได้ทำอะไร

    กัณหทีปายนะถามว่า

    ท่านสามารถรักษาความประทุษร้ายทางใจได้หรือไม่ได้

    มัณฑัพยดาบสตอบว่า

    เราไม่มีความประทุษร้ายทางใจต่อพวกราชบุรุษและพระราชาที่จับเรา

    กัณหทีปายนดาบสกล่าวว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ร่มเงาของผู้มีศีลเช่นท่านเป็นความสุขของเรา

    แล้วนั่งพิงหลาวอยู่

    พวกบุรุษที่ดูแลกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา พระราชาทรงดำริว่า เราไม่ได้สอบสวนทำลงไป จึงรีบเสด็จไป ณ ที่นั้น ตรัสถามทีปายนดาบสว่า

    เพราะเหตุไร พระคุณท่านจึงนั่งพิงหลาวอยู่เล่า

    ดาบสทูลว่า

    อาตมภาพนั่งคอยรักษาดาบสนี้ มหาราช

    พระราชาตรัสถามว่า

    พระคุณท่านทราบความที่ดาบสนี้ทำแล้วหรือ จึงได้ทำอย่างนี้

    ทีปายนดาบสจึงทูลเรื่องกรรมของมัณฑัพยดาบสให้พระราชาทรงทราบ

    ลำดับนั้นทีปายนดาบสกล่าวคำมีอาทิว่า

    ธรรมดาพระราชาควรเป็นผู้ใคร่ครวญก่อนทำ คฤหัสถ์เกียจคร้านบริโภคกาม ไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวมก็ไม่ดี พระราชาไม่ใคร่ครวญก่อนทำก็ไม่ดี บัณฑิตมักโกรธ ก็ไม่ดี

    แล้วแสดงธรรมแก่พระราชา

    พระราชาทรงทราบว่า มัณฑัพยดาบสไม่ผิด จึงรับสั่งให้นำหลาวออก พวกราชบุรุษดึงหลาว แต่ไม่สามารถนำออกได้

    มัณฑัพยะกล่าวว่า

    ข้าแต่มหาราช อาตมภาพได้รับโทษเห็นปานนี้ ก็เพราะโทษของกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน ใครๆ ก็ไม่อาจดึงหลาวออกจากร่างกายของอาตมภาพได้ หากพระองค์มีพระประสงค์จะทรงให้ชีวิตแก่อาตมภาพ ก็ขอได้รับสั่งให้ทำหลาวนี้เสมอกับผิวหนัง แล้วเอาเลื่อยตัดเถิด

    พระราชาทรงให้ทำอย่างนั้น หลาวก็ได้อยู่ภายในร่างกายนั่นเอง ไม่เกิดเดือดร้อนอย่างไร นัยว่าในครั้งนั้นมัณฑัพยดาบสเอาเสี้ยนอย่างเล็กเสียบเข้าไปทางผิวหนังของแมลงวัน เสี้ยนนั้นยังอยู่ในร่างของแมลงวันนั่นเอง แมลงวันมิได้ตายด้วยเหตุนั้น แต่ตายด้วยสิ้นอายุของตนเอง เพราะฉะนั้น แม้มัณฑัพยดาบสนี้จึงยังไม่ตายพระราชาทรงไหว้ดาบสแล้วทรงขอขมา ทรงให้ดาบสทั้งสองอยู่ในพระราชอุทยานนั่นเอง ทรงบำรุง ตั้งแต่นั้นดาบสนั้นจึงมีชื่อว่า อาณิมัณฑัพยะ

    ดาบสนั้นอาศัยพระราชาอยู่ ณ พระราชอุทยานนั่นเอง ส่วนทีปายนดาบส ชำระแผลของมัณฑัพยดาบสจนหายดีแล้ว จึงกลับไปยังบรรณศาลาของตนซึ่งมัณฑัพยคฤหบดีสร้างให้

    พวกพราหมณ์เห็นทีปายนดาบสนั้นเข้าไปยังบรรณศาลา จึงบอกแก่ มัณฑัพยคฤหบดี มัณฑัพยคฤหบดีพร้อมด้วยบุตรภรรยาถือเอาของหอม ดอกไม้ และน้ำผึ้งเป็นต้นเป็นอันมากไปยังบรรณศาลา ไหว้ทีปายนดาบส ล้างเท้า ให้ดื่มน้ำ นั่งฟังเรื่องราวของอาณิมัณฑัพยดาบส

    ลำดับนั้นบุตรของมัณฑัพยพราหมณ์ชื่อว่า ยัญญทัตตกุมาร เล่นลูกข่างอยู่ที่ท้ายที่จงกรม ซึ่งมีงูเห่าอาศัยอยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ลูกข่างที่เด็กโยนลงไปบนพื้นได้ไปตกลงบนหัวของงูเห่าในปล่องจอมปลวก เด็กไม่รู้จึงล้วงมือลงไปในปล่อง งูโกรธเด็กจึงกัดเข้าที่มือ เด็กล้มลง ณ ที่นั้นด้วยกำลังของพิษงู

    มารดาบิดารู้ว่าเด็กถูกงูกัด จึงอุ้มเด็กให้เข้าไปนอนลงแทบเท้าของดาบส กล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณท่านได้โปรดใช้ยาหรือมนต์ทำบุตรของกระผม ให้หายโรคเถิด

    ทีปายนดาบสกล่าวว่า

    เราไม่รู้จักยา เราไม่ใช่หมอ เราเป็นนักบวช

    มารดาบิดาของเด็กกล่าวว่า

    ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณท่านได้โปรดแผ่เมตตาในกุมารนี้แล้วทำสัจจกิริยาเถิด

    ดาบสกล่าวว่า

    ดีแล้ว เราจักทำสัจจกิริยา

    จึงเอามือวางไว้บนศีรษะของยัญญทัตตะ ได้ทำสัจจกิริยา

    สัจจกิริยาที่ทีปายนดาบสกล่าวมีข้อความว่า

    เราต้องการบุญ ได้ประพฤติพรหมจรรย์ มีจิตเลื่อมใสอยู่ ๗ วันเท่านั้น ต่อแต่นั้นมาการประพฤติของเราไม่เลื่อมใส ๕๐ ปีเศษ เราไม่ปรารถนาจะประพฤติเสียเลย ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เด็กนี้เถิด พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่

    ... พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา เด็กหวั่นไหวด้วยกำลังพิษไม่รู้สึกตัวได้ฟื้นกายหายโรค ลุกขึ้นได้

    อรรถกถาชาดก แสดงว่า

    ด้วยสัจจกิริยาของพระมหาสัตว์ พิษได้ตกจากเบื้องบนอกของกุมารแล้วไหลไป ด้วยสัจจกิริยาของบิดา พิษตกจากบนสะเอวของเด็ก ด้วยสัจจกิริยาของมารดา พิษตกจากร่างกายที่เหลือของเด็กแล้วไหลไป

    สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

    มัณฑัพยคฤหบดีกล่าวสัจจวาจาว่า

    บางครั้งเราเห็นแขกมาเรือนก็ไม่ยินดีจะให้ อนึ่ง สมณพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต ก็ไม่รู้ความที่เราไม่รัก เราไม่ปรารถนาจะให้ ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี แก่เจ้า พิษจงระงับ ขอยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่เถิด

    นางพราหมณีมารดาของยัญญทัตตกุมารก็ได้กล่าวสัจจวาจาว่า

    ดูก่อน พ่อยัญญทัตตะ อสรพิษมีพิษร้ายออกจากปล่องได้เห็นเจ้า วันนี้ความพิเศษไรๆ ไม่มีแก่เรา เพราะความไม่รักในอสรพิษนั้นและในบิดาของเจ้า ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เจ้า พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่เถิด

    พระโพธิสัตว์เมื่อเด็กหายจากโรคแล้ว จึงให้บิดาของเด็กนั้นตั้งอยู่ในความเชื่อกรรมและผลของกรรมว่า ชื่อว่าผู้ให้ทาน ควรเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมแล้วพึงให้ ดังนี้

    พระโพธิสัตว์เองก็ทรงบรรเทาความไม่ยินดีในพรหมจรรย์ แล้วยังฌานและอภิญญาให้เกิด ครั้นสิ้นอายุก็ไปเกิดในพรหมโลก

    มัณฑัพยคฤหบดีในครั้งนั้น ได้เป็นท่านพระอานนท์เถระในครั้งนี้ ภริยาของมัณฑัพยะนั้น คือ นางวิสาขามิคารมาตา บุตร คือ พระราหุลเถระ อาณิมัณฑัพยะผู้ถูกเสียบหลาว คือ พระสารีบุตรเถระ กัณหทีปายนะ คือ พระโลกนาถ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๔ ตอนที่ ๒๐๓๑ – ๒๐๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    1 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ