แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
ครั้งที่ ๒๐๔๒
สาระสำคัญ
ปฏิสัมภิทามรรค การดับวิปลาสเป็นขั้นๆ
โคสิงลสาลสูตร - ป่าโคสิงคสาลวันจะงามด้วยภิกษุที่มีความประพฤติอย่างไร
โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒ จิต ๘ ดวงนี้ วิปลาสหรือไม่วิปลาส
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๒๖ พฤษภาาคม ๒๕๓๔
ผู้ฟัง เรื่องวิปลาส ท่านอาจารย์อ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถาอย่างมาก ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า วิปลาสนี้เป็นเรื่องของอกุศลทั้งหมดหรือเฉพาะโลภมูลจิต ๘ ดวงเท่านั้น และพวกเราจะบังอาจกล้าวินิจฉัยหรือ
สุ. คงไม่ถึงกับวินิจฉัย แต่เป็นข้อที่ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป เพราะเท่าที่ ค้นดู ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์อรรถกถา ทุกเล่มข้อความเหมือนกันหมด คือ สำหรับ อกุศลธรรมประเภทอื่นยังมีการบอกไว้ชัดเจนว่า ได้แก่อกุศลเจตสิกประเภทใด ได้แก่ จิตประเภทใด แต่สำหรับวิปลาสไม่ได้บอกไว้ชัดเจน เมื่อไม่ได้บอกไว้ชัดเจนก็เป็นที่เข้าใจว่า ปกติธรรมดาขณะที่อกุศลจิตเกิดเป็นวิปลาส และเพราะสัญญาวิปลาส มีกำลังอ่อนมาก ก็เป็นขณะที่อกุศลจิตเป็นไปอย่างเบาบางในวันหนึ่งๆ แต่เวลา ที่เป็นจิตตวิปลาส ไม่ใช่เพียงสัญญาจะวิปลาสเท่านั้น ความคิดก็วิปลาสมากจนกระทั่งทำให้ตัวเองหรือคนอื่นอาจจะรู้ความวิปลาสของความคิดของตัวเองได้ เช่น คนที่คิดเพ้อฝัน และคิดมากโดยที่ว่าเรื่องก็ไม่มีจะให้คิด แต่ก็คิดเสียใหญ่โต เป็นเรื่องเป็นราว นั่นก็จะเห็นชัดในขณะที่ไม่ใช่เพียงสัญญาวิปลาสตามปกติ แต่ จิตตวิปลาสมีกำลังมากกว่าสัญญาวิปลาส
เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาอีกนัยหนึ่งว่า เวลาที่โทสมูลจิตเกิด มีความโกรธมากๆ ไม่ใช่เป็นความไม่พอใจหรือความขุ่นเคืองใจเพียงเล็กน้อย ก็เห็นความวิปลาส อย่างมาก ซึ่งสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสที่ได้แก่โลภมูลจิต เป็นมูลให้เกิด จิตตวิปลาสที่เป็นโทสมูลจิตก็ได้ หรือที่ท่านไม่บ่งชี้ชัด ก็เพราะว่าในขณะนั้น เป็นสภาพของจิตที่เห็นชัดเจนว่าต้องเป็นวิปลาสแน่นอน แต่ถ้าเฉพาะโลภมูลจิต อย่างเดียว ก็ต้องถือว่าที่โทสมูลจิตมีอาการวิปลาสอย่างมาก ก็เพราะว่า มีความวิปลาสโดยสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ในสภาพธรรมที่ไม่งามว่างาม เป็นเหตุ
ถ. ถ้าเราไปกังวลกับสิ่งที่ยังไม่ชัดเจนเช่นนี้ จะทำให้ปิดกั้นการเจริญ สติปัฏฐานหรือไม่
สุ. ไม่ปิดกั้นเลย ทุกขณะไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพนามธรรมและรูปธรรม แม้แต่จิตที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดก็สามารถเป็นอารมณ์ของสติที่สติจะระลึกและรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
จะค่อยๆ สะสมเพิ่มกำลังขึ้นจากลักษณะไปสู่อีกลักษณะหนึ่ง คือ ขั้นต้นจากการที่ไม่รู้เลยว่านามธรรมมีลักษณะอย่างไร รูปธรรมมีลักษณะอย่างไร
การศึกษาเรื่องอกุศลจิต ๑๒ ประเภท หรือการศึกษาเรื่องอเหตุกจิต การศึกษาเรื่องกามาวจรจิต เรื่องจิตประเภทต่างๆ เป็นเครื่องลับปัญญาให้ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของจิตซึ่งทุกคนกำลังมี ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพื่อที่สติจะได้ระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏและสามารถแยกได้ว่า ลักษณะของนามธรรมต่างกับลักษณะของรูปธรรม นี่เป็นความรู้ขั้นต้น และผู้นั้นเองจะค่อยๆ รู้ว่า รู้ลักษณะของรูปทางหนึ่งทางใด หรือรู้ลักษณะของนามทางหนึ่งทางใด เพราะว่าบางคนที่เริ่มได้ฟังพระธรรม และสติเพิ่งจะเกิดก็กล่าวว่า ระลึกรู้ลักษณะของรูปขณะที่กระทบสัมผัสบ้างแล้ว คือ ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน
และท่านหนึ่งก็บอกว่า ไม่รู้ลักษณะของนามรูปทางจมูก เวลาที่มีกลิ่นปรากฏ ก็เริ่มที่จะสงสัยว่า ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปธรรมเป็นอย่างไร ซึ่งก่อนที่จะได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน คนนั้นก็อาจจะได้กลิ่นเรื่อยๆ
คือ ท่านผู้นั้นกำลังปอกทุเรียน พอได้กลิ่นทุเรียนท่านก็คิดว่า นี่นามธรรม หรือรูปธรรม ซึ่งท่านก็เคยปอกทุเรียนมาหลายปีในชีวิตของท่าน และกลิ่นของทุเรียน ก็กระทบจมูกทุกครั้งที่ปอกทุเรียน แต่ก่อนนั้นไม่เคยคิดเรื่องนามธรรมและรูปธรรม แต่เวลาที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรม ในขณะที่กลิ่นปรากฏ ขณะนั้นก็มีการระลึกเพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งขณะนั้นสติปัฏฐานของท่านผู้นั้นระลึกที่ลักษณะของนามอื่นรูปอื่นที่ไม่ใช่ทางจมูก เพราะฉะนั้น ท่านก็เกิดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางจมูก
นี่แสดงให้เห็นถึงการเก็บเล็กผสมน้อยของปัญญาที่ค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น แม้ขณะที่จิตกำลังสงสัยหรือกำลังคิดเรื่องของวิปลาสหรือจะเป็นเรื่องอื่นก็ตาม ขณะนั้นสติปัฏฐานคมกว่า จึงรู้ว่าแม้ขณะนั้น ก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ในพระไตรปิฎกก็คงจะได้ผ่านหลายพระสูตร แม้แต่ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะเป็นต้น เมื่อได้วินิจฉัยข้อความซึ่ง ท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยากเลย เช่น ข้อความในโคสิงคสาลสูตร ซึ่งขณะนั้นท่านพระเถระเหล่านั้นอยู่ในป่าโคสิงคสาลวัน และคำถามของท่านก็ดูจะ ไม่แปลกหรือน่าอัศจรรย์ เพราะว่าเป็นเรื่องธรรมดา คือ ท่านถามว่า
ป่าโคสิงคสาลวันจะงามด้วยภิกษุที่มีความประพฤติอย่างไร
เพียงเท่านี้ และแต่ละท่านก็ตอบไปตามความถนัดที่ท่านสะสมมา เมื่อ ท่านเหล่านั้นตอบแล้ว ท่านก็ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อทูลถามว่า คำตอบของท่านผู้ใดถูกต้อง
แสดงให้เห็นว่า ทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไม่ยาก และท่าน พระอรหันต์เถระเอตทัคคะเหล่านั้นเป็นผู้แสดงความคิดเห็น ท่านก็ยังต้องไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเพื่อทูลถาม เพื่อจะได้ไม่กล่าวตู่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงแล้ว
เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็ทราบได้ว่า ท่านจะต้องศึกษา และพิจารณาแล้วพิจารณาอีกในพระธรรม ซึ่งในสมัยนี้ไม่มีพระผู้มีพระภาคที่จะไปทูลถามได้ ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว และควรต้องแสดงตรงตามพระธรรม
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า สภาพของโมหมูลจิตตรงกับข้อความที่ว่า ขณะใดหมดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำให้คิดว่า จะว่าเป็นโมหมูลจิตไม่ได้ ก็ไม่ใช่ และโทสมูลจิต เช่น ชามแตกแล้วไม่พอใจ จะให้มันเที่ยง ชามแตกแล้วจะให้ไม่แตก ก็รู้สึกว่า โทสะก็ยังมีวิปลาสในสภาพที่ไม่เที่ยงเห็นว่าเที่ยง ส่วนโลภะนี่แน่นอน ทั้งหมดเลย คือ สิ่งที่ไม่เที่ยงก็เห็นว่าเที่ยงได้ สิ่งที่เป็นทุกข์ก็เห็นว่าเป็นสุขได้ สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนก็เห็นว่าเป็นตัวตนได้ สิ่งที่ไม่งามก็เห็นว่างามได้
สุ. เป็นอกุศลนั้นแน่นอน ที่จริงแล้วก็ได้แก่สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ถ้าตัดทิฏฐิวิปลาสออกไป เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นโมหมูลจิต สัญญาก็เป็นวิปลาส จะได้หรือเปล่า
ผู้ฟัง คำว่า อกุศล ก็ต้องคลุมไปทั้งหมด อกุศลจิตมี ๑๒ อย่าง ไม่ว่า อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก็เป็นจิตตวิปลาส ผมมีความเห็นอย่างนี้ และเคยพูดเคยสอนนักเรียนมาอย่างนี้
สุ. สำหรับวิปลาสมี ๓ คือ สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปลาส ๑ ในวัตถุ ๔ คือ ในสภาพที่ไม่เที่ยงเห็นว่าเที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ เห็นว่าเป็นสุข ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนเห็นว่าเป็นตัวตน ในสภาพที่ไม่งามเห็นว่างาม และวิปลาสนั้นไม่ใช่มีแต่เฉพาะทิฏฐิ ความเห็นผิด แต่มีทั้งสัญญา ความจำ ก็วิปลาส และจิตก็วิปลาสด้วย
นี่เป็นข้อที่จะเห็นความละเอียด เพราะถ้าพูดถึงทิฏฐิวิปลาสก็ไม่ยากที่จะเข้าใจ เวลาที่มีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากสภาพธรรม ขณะนั้นแน่นอนต้องเป็นวิปลาส คือ เห็นผิดจากความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น สำหรับทิฏฐิวิปลาส ไม่ยาก ได้แก่ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง
อกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ ดวง เป็นโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง สำหรับโลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ ดวง และเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง
สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เมื่อเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง อกุศลจิตที่เหลือ ๘ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ โทสมูลจิต ๒ และ โมหมูลจิต ๒ จิต ๘ ดวงนี้ วิปลาสหรือไม่วิปลาส ซึ่งข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า
สัญญาวิปลาสย่อมปรากฏในกาลแห่งกิจของตนมีกำลังด้วยอกุศลสัญญาปราศจากทิฏฐิ ในฐานะแห่งกิจของจิตมีกำลังอ่อน
และท่านอาจารย์สมพรก็ได้ตรวจสอบแล้วว่า ไม่มีข้อความเกินกว่านี้ เพราะฉะนั้น ด้วยอกุศลสัญญาปราศจากทิฏฐิ เมื่อมีข้อความเพียงเท่านี้ก็วินิจฉัย ได้เลยว่า ได้แก่อกุศลจิตอื่นที่ไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิ เพราะถ้าได้แก่โลภมูลจิตเท่านั้น ก็ต้องบอกแยกออกมาเลยว่า ได้แก่โลภมูลจิตปราศจากทิฏฐิ แต่ข้อความนี้กล่าวว่า ด้วยอกุศลสัญญาปราศจากทิฏฐิ จึงวินิจฉัยได้ว่า ได้แก่อกุศลจิตทั้งหมดที่มีสัญญาวิปลาสเกิดร่วมด้วย
ในขณะที่เป็นอกุศล จะไม่วิปลาสไม่ได้เลย เมื่อเป็นอกุศลก็ต้องวิปลาส แม้แต่สัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือแม้โมหมูลจิตเมื่อเป็น อกุศลก็วิปลาส เพราะว่าเป็นอกุศล ไม่ได้เป็นกุศลในขณะนั้น เนื่องจากอกุศลเจตสิกเกิดได้เฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น ไม่เหมือนโสภณเจตสิกซึ่งเกิดได้ทั้งกับกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต แต่สภาพของอกุศลธรรมคืออกุศลเจตสิกจะเกิดกับจิต ประเภทอื่น คือ จะเกิดกับวิบากจิตหรือกิริยาจิตไม่ได้ กับกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ จะเกิดได้เฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาอีกจะเห็นได้ว่า สัญญาวิปลาสย่อมปรากฏในกาลแห่งกิจของตนมีกำลังด้วยอกุศลสัญญาปราศจากทิฏฐิ เพียงแต่บอกว่า อกุศลสัญญาที่ปราศจากทิฏฐิเท่านั้น เพียงคำนี้ ก็รวมอกุศลจิตทุกประเภทได้
ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นประการใด พิจารณาแล้ว พิจารณาอีก
และสำหรับ จิตตวิปลาส
จิตตวิปลาส ย่อมเป็นไปในกาลแห่งกิจของตนเป็นอกุศลจิตปราศจากทิฏฐิ มีกำลัง
ข้อความนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าได้แก่เฉพาะโลภมูลจิต ก็น่าจะมีข้อความที่ แสดงชัดออกไปเลยว่า ได้แก่ โลภมูลจิตปราศจากทิฏฐิ แต่ข้อความของจิตตวิปลาส มีว่า จิตตวิปลาส ย่อมเป็นไปในกาลแห่งกิจของตนเป็นอกุศลจิตปราศจากทิฏฐิมีกำลัง ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นวิปลาส ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องรู้ความจริงของ สภาพธรรม แม้เพียงกุศลก็เป็นไม่ได้ในขณะนั้น เพราะอกุศลเจตสิกทั้งหลายที่ เกิดร่วมด้วย
วิปลาสไม่ใช่เฉพาะความเห็น แต่เป็นไปแล้วตามปกติ จึงไม่เห็นตาม ความเป็นจริง เพราะว่ามี ๒ ฝ่าย เห็นตามความเป็นจริง กับไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นตามความเป็นจริง คือ เห็น แต่ขณะใดที่ไม่เห็นขณะนั้นก็วิปลาส เพราะว่าไม่เห็นตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอกุศลเจตสิกและอกุศลจิต ทั้งสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ถ้ายกทิฏฐิวิปลาสออกไป โดยไม่ต้องมานั่งคิด หรือไม่ต้องมีความคิดใดๆ แต่เป็นไปแล้วเพราะว่าเป็นอวิชชา ความไม่รู้ อกุศลจิตขณะใดเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นไปแล้ว จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เป็นไปแล้วกับความวิปลาสโดยที่ไม่รู้ตัว
มี ๒ ฝ่าย คือ เห็นตามความเป็นจริง กับไม่เห็น เพราะฉะนั้น ที่เห็นต้องเป็นฝ่ายโสภณ และที่ไม่เห็นต้องเป็นฝ่ายอกุศล เพราะอกุศลไม่เห็นแน่ๆ เมื่อไม่เห็น ก็คือไม่เห็นทั้งหมดนั่นแหละ คือ ไม่เห็นในสภาพที่ไม่เที่ยง ไม่เห็นในสภาพที่เป็นทุกข์ ไม่เห็นในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่เห็นในสภาพที่ไม่งาม ไม่เห็นหมดเลยในขณะนั้น เหมือนวิสัญญี ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะได้พิจารณา และวินิจฉัยตามเหตุผลที่พิจารณากันเพิ่มขึ้นด้วย
ผู้ฟัง ในวิปัลลาสกถา ผมอ่านพบอย่างที่ว่านี้ มีการใช้คำว่า อกุศลสัญญา ในขณะที่เป็นสัญญา หรือในขณะที่เป็นจิตก็ใช้คำว่า อกุศล ทั้ง ๒ ที่เลย อยากจะสนับสนุนว่า ขณะที่เป็นอกุศลน่าจะเป็นวิปลาส ด้วยเหตุผลที่ว่าขณะที่เป็นโทสะก็ดี ขณะที่เป็นโมหะก็ดี ขณะนั้นก็มีจิตเกิดขึ้น ขณะที่มีจิตเกิดขึ้น สัญญาซึ่งเป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุผลนี้ ในขณะที่เป็นโทสะก็ดี โมหะก็ดี ก็น่าจะวิปลาส
สุ. เวลาที่โทสมูลจิตเกิด หรือความโกรธเกิดขึ้น และมีอาการวิการต่างๆ ท่านผู้ฟังก็เห็นได้ว่า ต้องวิปลาสแน่นอน ซึ่งในคราวก่อนได้นำเรื่องนี้มาให้ท่านผู้ฟัง ได้พิจารณา เพราะว่าในกาลข้างหน้าก็คงจะมีผู้ที่ศึกษา และอาจจะมีความสงสัย เพราะฉะนั้น ถ้าได้มีการพิจารณา ปรึกษา สรุป ก็คงจะเป็นแนวทางให้ผู้ที่ศึกษา ในกาลข้างหน้าได้พิจารณาในความถูกต้อง ถ้าไม่ยกมากล่าวถึงเลย ในกาลข้างหน้ามี ผู้ที่เกิดความสงสัย ก็จะไม่มีข้อวินิจฉัย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๕ ตอนที่ ๒๐๔๑ – ๒๐๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2020
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2080
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081