แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052


    ครั้งที่ ๒๐๕๒


    สาระสำคัญ

    โสตวิญญาณธาตุ

    ฆานวิญญาณธาตุ

    ชิวหาวิญญาณธาตุ

    กายวิญญาณธาตุ

    มโนธาตุ ๓

    อภิสมยสังยุตต์ พุทธวรรค เมื่อพระโพธิสัตว์จะตรัสรู้พระองค์ทรงพิจารณาธรรมอย่างไร

    มหาศักยมุนีโคตมสูตร พระปริวิตก


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๔


    ถ้ากล่าวถึงวิญญาณธาตุ ๗ ก็ได้แก่ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ และที่พิเศษต่างไป คือ มโนธาตุ ๑ กับมโนวิญญาณธาตุ ๑ รวมเป็นวิญญาณธาตุ ๗ ซึ่งทุกคนกำลังมี อยู่ครบในขณะนี้ แต่แยกไม่ออก จึงต้องอาศัยการฟัง เพื่อจะได้เข้าใจ

    จักขุวิญญาณธาตุ คงจะไม่มีข้อสงสัย ต่อไปก็ข้อความโดยนัยเดียวกัน เพื่อให้ท่านผู้ฟังระลึกได้และพิจารณา และไม่ลืม โดยฟังบ่อยๆ นั่นเอง

    โสตปสาท ชื่อว่าโสตธาตุ

    โสตปสาทเป็นรูป เกิดขึ้นเพราะกรรม เป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบเฉพาะเสียงอย่างเดียว กระทบรูปอื่นไม่ได้เลย

    สัททารมณ์ ชื่อว่าสัททธาตุ

    เสียงเป็นอารมณ์เมื่อกระทบกับโสตปสาท และโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยิน เสียงนั้น เสียงนั้นจึงจะเป็นสัททารมณ์ เสียงอื่นซึ่งจิตไม่ได้ยินไม่ใช่สัททารมณ์ สัททะเป็นเสียง จะเปลี่ยนสภาพของเสียงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่เมื่อเสียงนั้นไม่ได้เป็นอารมณ์ของจิต คือ โสตวิญญาณไม่ได้เกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงไม่ใช่สัททาอารมณ์ แต่โดยความเป็นธาตุก็เป็นสัททธาตุนั่นเอง

    จิตที่มีโสตปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่าโสตวิญญาณธาตุ

    สำหรับโสตวิญญาณธาตุมี ๒ ดวง ได้แก่ โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ถ้าพูดภาษาไทยธรรมดาๆ ก็คือ ได้ยินขณะใด ขณะนั้นเป็นเพียงโสตวิญญาณธาตุซึ่งเป็นจิตที่มีโสตปสาทเป็นที่อาศัย

    จะมีใครบันดาลหรือใครสร้างได้ไหม โสตวิญญาณธาตุในขณะนี้กำลังได้ยิน มีโสตปสาทรูปจึงมีจิตนี้เกิดขึ้น คือ ต้องเกิดที่โสตปสาทรูปจึงจะทำกิจได้ยิน คือสวนกิจได้ และเพียงชั่วขณะที่ทำกิจได้ยินแล้วก็ดับ นี่คือความเป็นอนัตตาของ สภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    สำหรับธาตุต่อไปทางจมูก

    ฆานปสาท ชื่อว่าฆานธาตุ คันธารมณ์ ชื่อว่าคันธธาตุ จิตที่มีฆานปสาท เป็นที่อาศัย ชื่อว่าฆานวิญญาณธาตุ

    เวลาที่ได้กลิ่น ให้ทราบว่า ไม่ใช่ตรงอื่น แต่ต้องตรงฆานปสาทรูป เวลานี้ไม่มีใครสามารถจับกระทบสัมผัสหรือมองเห็นฆานปสาทรูปได้ แต่จะรู้ว่ามีฆานปสาทรูป ก็ชั่วในขณะที่กำลังได้กลิ่นเท่านั้น แต่เวลาที่ไม่มีการได้กลิ่น จะมีใครสามารถรู้ ฆานปสาทรูปได้ไหม ในขณะนี้ ทุกคนมี แต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน จมูกทั้งจมูกไม่ใช่ ฆานปสาทรูป ฆานปสาทรูปเป็นปสาทรูปภายในจมูกซึ่งสามารถกระทบเฉพาะ กลิ่นเท่านั้น และจะรู้ได้เพียงชั่วขณะที่กำลังได้กลิ่น แต่แม้กระนั้นตามความเป็นจริง ในขณะที่กลิ่นปรากฏซึ่งบ่อยๆ เช่น กลิ่นพวงมาลัยดอกมะลิก็กระทบ และได้กลิ่น แต่ขณะนั้นปัญญาเกิดหรือไม่เกิด เพราะว่าตามปกติแล้วชินกับอวิชชาที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ชินกับปัญญาและสติที่จะระลึกและรู้ลักษณะที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ของสภาพธรรมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าทางตาจะเห็น ทางหูจะได้ยิน ทางจมูกจะได้กลิ่น ยังไม่ชินกับการที่สติจะระลึกได้ แต่อาศัยการฟังบ่อยๆ และสติซึ่งเป็นอนัตตาก็อาจจะเกิดระลึกในขณะหนึ่งขณะใด ทางหนึ่งทางใด แม้ในขณะนี้เอง เวลาที่ได้กลิ่นจริงๆ ในขณะนั้น ก็จะมีกลิ่นเท่านั้นที่กำลังปรากฏ

    กลิ่นมาจากไหนในขณะที่กลิ่นกำลังปรากฏ มองไม่เห็นเลย แต่ความจำ ก็จำว่า กลิ่นพวงมาลัยดอกมะลิ เพราะว่าเป็นกลิ่นมะลิ แต่จริงๆ แล้วกลิ่นนั้นมา จากไหน กลิ่นนั้นเพียงเกิดขึ้นกระทบจมูก เพราะฉะนั้น ต้องมีปัจจัยจึงทำให้เกิดกลิ่น และต้องอาศัยวาโยธาตุคือธาตุลมที่จะทำให้ได้กลิ่นนั้นด้วย มิฉะนั้นแล้วกลิ่นก็ ไม่กระทบจมูก ไม่มีการรู้กลิ่นในขณะนั้น

    ด้วยเหตุนี้ในขณะที่แม้กลิ่นกำลังปรากฏ ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ไปสืบสาวราวเรื่องของกลิ่น แต่ขณะนั้นมีลักษณะของกลิ่นปรากฏ เพราะว่ากำลังรู้กลิ่น จึงสามารถพิจารณารู้ลักษณะของกลิ่น แต่ไม่ใช่ไปคิดนึกว่า นี่เป็นกลิ่นมะลิลอยมาจากพวงมาลัยดอกมะลิในพานหรือในภาชนะอื่นใด เพราะว่า ในขณะนั้นจริงๆ ไม่มีภาชนะที่ใส่ดอกมะลิ เพียงแต่มีกลิ่นเท่านั้นที่กระทบกับฆานปสาท เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงในขณะนั้นก็คือว่า ในขณะนั้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่มี ในขณะที่กำลังได้กลิ่น มีเฉพาะกลิ่นกับสภาพที่กำลังรู้กลิ่น และโดยการศึกษาทราบว่า ขณะนั้นมีฆานปสาทซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมด้วย แม้ไม่ได้ปรากฏ เพราะว่ากลิ่นปรากฏ และมีสภาพที่กำลังรู้กลิ่น

    ในขณะนั้นด้วยปัญญาที่เคยฟังมาแล้วว่า จิตที่มีฆานปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่าฆานวิญญาณธาตุ รู้ได้เลยว่า ขณะนั้นสภาพรู้อยู่ตรงฆานปสาทและเกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยจึงรู้กลิ่นที่กระทบฆานปสาทในขณะนั้นแล้วดับ เพียงชั่วขณะหนึ่ง ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะพิจารณาได้โดยสติระลึกทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเมื่อมีความคุ้นเคยกับการที่ปัญญาจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นก็จะรู้ได้ว่า ตลอดชีวิต หรือทุกขณะ ไม่ต้องรอ และไม่ต้องหวัง เพราะว่ามีสภาพธรรมเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยทุกขณะ ไม่มีใครต้องทำอะไรเลยสักอย่าง

    เห็นในขณะนี้ก็มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ได้ยินในขณะนี้ก็มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าต้องอาศัยการฟังพระธรรมให้มากพอที่สติจะค่อยๆ คุ้น ค่อยๆ ชินกับการ ที่จะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ตามความเป็นจริง

    ทวารต่อไป หรือว่าธาตุต่อไป คือ

    ชิวหาปสาท ชื่อว่าชิวหาธาตุ รสารมณ์ ชื่อว่ารสธาตุ จิตที่มีชิวหาปสาท เป็นที่อาศัย ชื่อว่าชิวหาวิญญาณธาตุ

    ข้อความธรรมดาดูไม่ตื่นเต้น แต่เป็นความจริง และจะรู้ความจริงในขณะที่กำลังลิ้มรส ไม่ให้ลิ้มรสไปเปล่าๆ โดยปัญญาไม่เกิด เพราะว่าการลิ้มรสเปล่าๆ โดยปัญญาไม่เกิดนั้น นานแสนนานมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มใหม่ ที่จะต้องเป็นผู้ไม่ท้อถอยในการที่สติและปัญญาจะระลึกและรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ โดยเมื่อมีการฟังเพิ่มขึ้นเท่านั้นจึงจะเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ แต่ไมใช่ว่าจะทำ หรือจะรู้ หรือจะดู ซึ่งในขณะที่คิดก็เป็นเรา เป็นตัวตนตลอดที่จะทำ ไม่ใช่รู้ว่า สติเป็นอนัตตา ขณะใดที่สติเกิด สติก็ทำกิจระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงแต่ฟังพระธรรมและรู้ว่า ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นจิตที่มีชิวหาปสาทเป็นที่อาศัยเกิดขึ้นลิ้มรสและดับไป เมื่อรู้เพียงว่าเป็นจิตเกิดขึ้นทำกิจการงาน จะเบื่อบ้างไหม ก็ยังไม่เบื่อ เพราะว่าอย่างไรๆ ก็เบื่อยาก ไม่มีทางเลย นอกจากปัญญาจะเพิ่มขึ้น สมบูรณ์ขึ้นตามลำดับจริงๆ

    ท่านที่หน่ายหรือท่านที่คลายความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ดูเหมือนกับว่าท่านฟังข้อความสั้นๆ และไม่นานท่านก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ให้ทราบว่า กว่าจะถึงขั้นนั้น ระดับนั้นจริงๆ ต้องเป็นปัญญาของตนเองซึ่งค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และตราบใดที่ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณแท้ๆ จริงๆ ก็ยังไม่ใช่เป็นความหน่ายโดยที่รู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นแต่เพียงความคิดชั่วขณะบางครั้งบางคราวเท่านั้นเอง ซึ่งไม่มีกำลังพอที่จะละ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    ธาตุต่อไป ทางกาย

    กายปสาท ชื่อว่ากายธาตุ โผฏฐัพพารมณ์ ชื่อว่าโผฏฐัพพธาตุ จิตที่มีกายปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่ากายวิญญาณธาตุ

    กายวิญญาณธาตุ ก็ได้แก่ กายวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง

    นี่เป็นจิตโดยย่อในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งท่านที่ได้ศึกษามาแล้วโดยละเอียด ท่านก็แจกได้ว่า ในจิต ๘๙ ดวง เป็นวิญญาณธาตุ ๑๐ ดวง เป็นมโนธาตุ ๓ ดวง ที่เหลือเป็นมโนวิญญาณธาตุ เท่านี้เอง โดยการฟังเท่านั้น แต่โดยความเป็นจริง จะต้องรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    มโนธาตุ ๓ ชื่อว่ามโนธาตุ

    นี่เป็นข้อความในอรรถกถา ซึ่งท่านที่ได้ศึกษาแล้วก็ทราบว่า มโนธาตุ ๓ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นมโนธาตุ ๓ เพราะว่าสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์

    สำหรับวิญญาณธาตุแต่ละวิญญาณธาตุ เช่น จักขุวิญญาณธาตุ จะมีสี เป็นอารมณ์เท่านั้น จะมีเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ไม่ได้ สำหรับ โสตวิญญาณธาตุ คือ จิตได้ยิน ก็มีเสียงเป็นอารมณ์เท่านั้น จะมีสี มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ไม่ได้ สำหรับฆานวิญญาณธาตุก็เป็นชั่วขณะที่กำลัง ได้กลิ่นเท่านั้น ฆานวิญญาณธาตุจะรู้เสียง รู้สี รู้รส รู้โผฏฐัพพะไม่ได้ สำหรับ ชิวหาวิญญาณธาตุก็เป็นชั่วขณะที่กำลังลิ้มรส จิตที่กำลังลิ้มรสไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นี่ก็แสดงให้เห็นถึง ความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สำหรับกายวิญญาณธาตุ ในขณะนี้ มีการกระทบสัมผัสสิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ไม่ใช่ตัวตน เป็นกายวิญญาณธาตุ รู้แข็งตรงไหน กายวิญญาณธาตุอาศัยกายปสาทรูปเกิดรู้แข็งตรงนั้นและดับตรงนั้น จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ข้อความต่อไป

    ขันธ์ ๓ มีเวทนาเป็นต้น (หมายถึงเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั่นเอง) สุขุมรูป และนิพพาน ชื่อว่าธรรมธาตุ มโนวิญญาณแม้ทั้งหมด ชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ

    ก็ในข้อนี้ ธาตุ ๑๖ อย่าง เป็นกามาวจร ธาตุ ๒ สุดท้าย เป็นไปในภูมิ ๔

    นี่เป็นเรื่องการศึกษาปริยัติ ซึ่งท่านที่ได้ศึกษาแล้วสามารถเข้าใจได้ ในเมื่อ รู้เรื่องวิญญาณธาตุ ๕ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เพิ่มความรู้เรื่องมโนธาตุ ๓ ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ เป็นมโนธาตุ ๓ เพราะว่าสามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ส่วนจิตที่เหลือเป็นมโนวิญญาณธาตุ เพราะสามารถรู้อารมณ์ทางใจได้ และสำหรับธรรมธาตุนั้นก็ได้ทั้งรูปและนาม

    จิตเป็นอะไร ก่อนที่จะรู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน

    จิตเป็นสภาพรู้

    ทางตาที่กำลังเห็น จิตเห็นเกิดที่จักขุปสาท ขณะที่คิดคำว่า เกิดจากมันสมอง เป็นจิตที่คิด ไม่ใช่จิตที่เห็น เพราะฉะนั้น ที่เกิดของจิตมี ๖ ที่ คือ

    จักขุปสาทรูป เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณขณะที่เห็น

    โสตปสาทรูป เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณขณะที่ได้ยิน

    ฆานปสาทรูป เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณขณะที่กำลังได้กลิ่น

    ชิวหาปสาทรูป เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณขณะที่กำลังลิ้มรส

    และขณะที่กำลังรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวตรงไหน กายวิญญาณอาศัยปสาทรูปเกิดที่ตรงนั้นและดับไป

    นอกจากนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตอื่นนอกจากนี้เกิดที่หทยวัตถุ

    ผู้ฟัง เรื่องที่อาจารย์บรรยายมา วิญญาณธาตุ ๗ ก็เกี่ยวกับการ เจริญสติปัฏฐานที่อาจารย์พูดอยู่เสมอๆ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง อย่างรูปธาตุก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าคนที่ไม่ได้อ่านหนังสืออภิธัมมัตถสังคหะ จะคิดว่าพูดบาลีมาก นอกเหนือจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งความจริงเป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งนั้นเลย

    สุ. บางท่านได้อ่าน แต่ก็ยังไม่หมดความสงสัย นอกจากจะพิจารณา ธรรมนั้นจริงๆ อย่างถ้าจะกล่าวว่า จักขุวิญญาณธาตุ ก็พูดตามได้ เป็นธาตุที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังและเข้าใจแล้วด้วย แล้วแต่ว่าจะสามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมใด อย่างมโนธาตุ ๓ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิตและสัมปฏิจฉันนจิต ไม่มีใครสามารถรู้ได้

    แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ต่างกับจิตที่เห็น รูปารมณ์เป็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นรูป เป็นเพียงรูปที่กระทบตาและดับอย่างรวดเร็ว นี่คือการที่จะต้องติดตามพระธรรม ด้วยการอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย มิฉะนั้นแล้วก็เป็นแต่ความเข้าใจเรื่องชื่อว่า มโนธาตุ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิตและสัมปฏิจฉันนจิต และจิตที่เหลือนอกจากจิต ๑๓ ดวงนี้แล้วเป็นมโนวิญญาณธาตุ ก็เป็นการจำชื่อเท่านั้น แต่ไม่สามารถรู้จริงๆ แม้คำว่า ธาตุ หรือลักษณะของธาตุที่ไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมปัญญาต่อไป

    การสะสมความคิดของแต่ละคน ในแต่ละวัน จะค่อยๆ ปรับปรุงเจริญขึ้น ทางฝ่ายกุศล ทางฝ่ายปัญญา จนกว่าจะเป็นไปตามคลองของสภาพธรรมที่จะพิจารณาเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และพิจารณารู้ถึงเหตุปัจจัยของ สภาพธรรมนั้นๆ ด้วย

    ขอกล่าวถึงพุทธวิปัสสนา ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะใคร่ที่จะทราบว่า เมื่อพระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงพิจารณาธรรมอย่างไร

    ข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมยสังยุต พุทธวรรค มีว่า

    พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ออกจากจตุตถฌาน อันมีลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ มีญาณหยั่งลงในปัจจยาการ (คือ ปัจจัย) พิจารณาปัจจยาการนั้นโดยอนุโลมและปฏิโลม ย่อมเป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวให้ชื่อว่า พุทธวิปัสสนา

    คือ รู้ปัจจยาการในชีวิตประจำวันในขณะนั้น ไม่ใช่ในขณะอื่นเลย ในขณะที่ประทับนั่งที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์หลังจากที่ออกจากจตุตถฌานแล้ว

    มหาศักยมุนีโคตมสูตร

    ว่าด้วยพระปริวิตกของพระบรมโพธิสัตว์

    ข้อ ๒๖

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรายังเป็นพระโพธิสัตว์ ก่อนตรัสรู้ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า

    โลกนี้ถึงความยากแล้วหนอ ย่อมเกิด แก่ ตาย จุติ และอุปบัติ และเมื่อ เป็นเช่นนั้น ก็ยังไม่รู้ธรรมอันออกจากทุกข์คือชราและมรณะนี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี

    วันนี้มีใครคิดอย่างนี้บ้างไหม คนเกิดก็มี แก่ก็มี เจ็บก็มี ตายก็มี ที่จะคิดว่า โลกนี้ถึงความยากแล้วหนอ ย่อมเกิด แก่ ตาย จุติ และอุปบัติ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ยังไม่รู้ธรรมอันออกจากทุกข์คือชราและมรณะนี้

    คิดที่จะออกหรือยัง ในเมื่อรู้แน่ๆ ว่า นี่คือทุกข์ ชราและมรณะนี่ต้องเป็นทุกข์ เกิดมาแล้วไม่ชรา ไม่ตาย ไม่มี และเมื่อไรจะมีธรรมที่สามารถออกจากชราและ มรณะได้

    เกิดมาแล้วกี่ชาติ จะมีสักชาติหนึ่งไหมที่จะคิดอย่างนี้ แต่นี่เป็นพระปริวิตก ของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ซึ่งพระองค์จะพิจารณาหาปัจจยาการ คือ ปัจจัยของสภาพธรรมทุกอย่าง เพราะการที่จะดับสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องรู้เหตุของสิ่งนั้นและดับเหตุ ผลจึงจะดับได้ แต่ถ้าไปเพียรสักเท่าไรที่จะดับผลโดยที่ไม่รู้เหตุ ก็ไม่สามารถดับทุกข์ได้จริงๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๖ ตอนที่ ๒๐๕๑ – ๒๐๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    21 มี.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ