แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
ครั้งที่ ๒๐๕๕
สาระสำคัญ
คุ้นเคยกับอวิชชา
ความเคยชินกับความคิดนึก ซึ่งเป็นบัญญัติเรื่องราว
ปรมัตถธรรมต่างกับบัญญัติอย่างไร
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๔
พระ ในการเจริญสติปัฏฐาน ขณะใดสติเกิดระลึกลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ ขณะนั้นที่รู้ว่าเป็นจิต เนื่องจากปัญญาเกิดขึ้นรู้ว่าเป็นสภาพ รู้แจ้งอารมณ์ เช่น รูปารมณ์ ในขณะนั้นมีความมั่นใจว่าเป็นสภาพรู้รูปารมณ์ ขณะที่ปฏิบัติ เราไม่พูดถึงปริยัติ สภาพที่รู้รูปารมณ์ในขณะนั้น เรามั่นใจได้เพราะว่า มีรูปารมณ์สลับอยู่ในขณะที่ระลึกสภาพรู้ ในขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกลักษณะของรูปด้วย แต่ระลึกที่ลักษณะของสภาพรู้ ความมั่นใจอย่างนี้ที่ว่าเป็นสภาพรู้รูปารมณ์ อาจจะผิดหรือถูก ขอให้ท่านอาจารย์แนะนำ
สุ. ส่วนใหญ่ผู้ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมในตอนต้น ก็จะมีความสงสัย คือ ไม่แน่ใจว่าขณะนั้นสติกำลังระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งเป็น สิ่งที่ปกติธรรมดา เช่น ในขณะนี้ เวลาพูดถึงเรื่องสติปัฏฐานขอให้ทราบว่า ไม่จำกัดเวลาและไม่จำกัดสถานที่ ผู้ที่ตรัสรู้ธรรมแล้วรู้ว่า ไม่มีอะไร นอกจากนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ลืมตาจนหลับตา แต่ผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจว่า ธรรมมีอยู่ล้อมรอบทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และแม้จะได้ฟังอย่างนี้ก็ยากที่จะเข้าใจว่า ทางตาในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ส่วนในขณะนี้ ที่กำลังเห็นปกติธรรมดาอย่างนี้ เป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้
นี่เฉพาะทางเดียว คือ ทางตา ซึ่งตลอดชีวิตก็มีการเห็นพร้อมที่จะให้พิสูจน์ พร้อมที่จะให้ปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง แต่ที่ยากเพราะว่าคุ้นเคยกับอวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมทางตาซึ่งเห็นมานานแสนนาน เพราะฉะนั้น ก็คุ้นเคยที่จะหลงลืมสติ ที่จะไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางตา
แต่ขณะใดที่มีการระลึกได้ แม้ในขณะนี้ที่กำลังเห็น และค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ขณะนั้นจะไม่สงสัยในลักษณะของรูปธรรมว่า เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ และในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ซึ่งมีสิ่งที่กำลังปรากฏก็รู้ว่า ต้องมีสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ที่เคยไม่รู้ว่าสภาพรู้เป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ฟังว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ก็ต้องค่อยๆ ชินที่จะระลึกได้ ที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนี้ปรากฏกับสภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงเห็น ขณะนี้ที่เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เท่านี้เอง
พระ ขณะที่สติระลึก ปัญญาต้องรู้อารมณ์ทีละอย่าง แน่นอน ใช่ไหม
สุ. ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในขณะนี้อาจจะมีบางท่านที่กำลังฟังและรู้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และแทนที่จะไปนึกถึงเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็กำลังรู้ตรงสภาพที่กำลังปรากฏและก็รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง และขณะนี้ก็มี สภาพเห็นซึ่งเป็นของจริง และสติก็ดับ ทุกอย่างดับ และทุกอย่างที่เกิดมีชีวิตคืออายุ ที่สั้นมาก น้อยมาก เมื่อดับไปแล้วก็มีการได้ยิน เพราะฉะนั้น เสียงก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ถ้าชินต่อการระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็จะไม่ไกล แต่สักประเดี๋ยวก็ไกลไปอีกแล้ว คือ หลงลืมสติเป็นเรื่องเป็นราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือมิฉะนั้นทางใจก็คิดนึกเรื่องอื่น แทนที่จะระลึก ที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาซ้ำอีก เพราะเมื่อกี้ระลึกนิดหนึ่งและหลงลืม ไปคิดเรื่องอื่น
ถ้าจะชินก็คือว่า ระลึกอีกทางตาที่กำลังเห็น ว่าเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือทางหู ยังไม่เคยระลึกหรืออาจจะระลึกบ้างขณะที่ได้ยินเสียงก็รู้ว่า เสียงขณะที่กำลังปรากฏก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งแน่นอน ปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยินเสียง เมื่อยังไม่ชิน สักประเดี๋ยวก็หลงลืมไปอีก ไปคิดเรื่องอื่นอีก เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็น ผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ และเป็นปกติจริงๆ คือ ไม่มีความคิดว่า กำลังปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิบัติเป็นหน้าที่ของจิตเจตสิก ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นหน้าที่ของสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ในหนทางปฏิบัติว่า สภาพธรรมมีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และ การที่จะรู้จริง ก็เพราะมีความเข้าใจถูกในขั้นการฟัง เป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ ในขณะที่กำลังเห็นบ้าง กำลังได้ยินบ้าง กำลังคิดนึกบ้าง เรื่อยๆ
พระ อาตมาฟังท่านอาจารย์แล้วเข้าใจว่า เป็นเรื่องของปัญญาที่ต้องอบรมจนกว่าจะคลายความสงสัย เนื่องจากรู้ลักษณะทีละลักษณะไปเรื่อยๆ และที่อาตมาออกมาถาม เพราะกลัวว่าจะมีความเห็นคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับขณะที่ปัญญาเริ่มศึกษาและรู้ลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งในการรู้อย่างนี้ปัญญาไม่ได้เจริญจนกระทั่งสามารถแยกสิ่งต่างๆ ทีละขณะๆ ได้ จึงทำให้ดูเหมือนกับว่าในการระลึกแต่ละครั้ง เราไม่รู้ว่า ปัญญาขณะนั้นรู้เพียงอารมณ์เดียวหรืออย่างไร ยกตัวอย่างขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นจิต ในขณะนั้นรู้เพียงลักษณะเดียวโดยไม่มีลักษณะของอารมณ์เข้ามาปนด้วย อย่างนี้ถูกไหม ถ้าความพร้อมของปัญญาเกิดขึ้น
สุ. นี่กำลังเป็นการคิดนึกเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ในขณะที่กำลังเห็นและกำลังพยายามหรือเริ่มที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา สั้นๆ ชั่วขณะที่กระทบ ก็เป็นความถูกต้อง แต่ไม่ไปคิดเรื่องยาวเกี่ยวกับสิ่งที่ปรากฏทางตา
เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่าผิดหรือถูก คือ ถ้าไปทำอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นผิด นั่นไม่ใช่หนทางที่ถูก แต่เมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏ จากการฟังรู้ว่า ไม่มีตัวตน เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถ้าฟังแล้วเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ขณะนี้ที่ กำลังเห็นก็รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริง และไม่ใช่สภาพรู้ เพราะว่ากำลังปรากฏ ส่วนสภาพรู้นั้นคือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เท่านี้
ไม่ต้องคิดเรื่องขณะนี้ที่เห็นจะต้องไม่มีได้ยิน หรือต้องไม่มีอย่างอื่น ต้องมีสภาพธรรมอย่างเดียวปรากฏ คือ ไม่ต้องคิดเรื่องใดทั้งหมด เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจ
พระ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ถ้าปรากฏตามที่ได้ศึกษาก็รู้ว่า ลักษณะนี้เป็นการศึกษาถูกลักษณะ และในขณะที่ศึกษาลักษณะของรูปธรรมก็ศึกษาถูกลักษณะ เพราะฉะนั้น สภาพ ๒ อย่างนี้ย่อมต่างกัน โดยเป็นสภาพรู้กับไม่รู้ ขณะนั้น ธรรมกำลังปรากฏเท่านั้นจึงจะมีความรู้ได้ ไม่ใช่มีการคิดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งใดในขณะนั้น ใช่ไหม เจริญพร
สุ. ขณะนี้สภาพธรรมปรากฏแน่นอน ทางตา กำลังเห็นเป็นสภาพธรรม ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏแน่นอน ทางหู คือ เสียงกำลังปรากฏเป็นสภาพธรรม แต่ที่จะรู้ว่าเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องอาศัยค่อยๆ เข้าใจขึ้นเมื่อสภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ ทีละเล็กทีละน้อย ตามปกติ
ในขณะใดที่หลงลืม ก็จะเป็นการคิดเรื่องอื่น หรือเป็นการนึกเรื่องราวของ สภาพธรรม แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีจริงๆ และเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น จนกว่าสติจะระลึกและ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา ไม่ผิดเลย
คือ ผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้วทรงแสดงว่า สภาพธรรมทางตาเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ก็ขณะนี้เอง ที่กำลังปรากฏ เพียงแต่สติจะต้อง ระลึกได้ และค่อยๆ เข้าใจ คือ อบรมเจริญความรู้จนกว่าจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เพราะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ส่วนสภาพรู้ก็ขณะที่เห็น เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง เป็นจักขุวิญญาณธาตุ ขณะที่ได้ยินเสียงเป็นอีกธาตุหนึ่งแล้ว อาศัยโสตปสาทเกิดได้ยินและดับ ก็เป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน รู้อารมณ์ต่างกัน
พระ ขอทวนความเข้าใจว่าจะถูกหรือผิดจากการได้ยินในครั้งนี้อีกครั้ง คือ ปัญญาเริ่มเกิดขึ้นในขณะที่ธรรมกำลังปรากฏ ศึกษาความเป็นจริงในขณะนั้น จนปัญญาค่อยๆ เติบโตขึ้นทีละเล็กทีละน้อยตามแนวปริยัติที่ได้ศึกษามา เพราะฉะนั้น เป้าหมาย คือ คลายการยึดถือสภาพธรรมที่ผิดๆ ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ถูกไหม
สุ. เจ้าค่ะ แต่การคลายต้องตามขั้นของปัญญา ถ้าปัญญายังไม่เกิด คลายยังไม่ได้ ในขณะนี้ที่กำลังเห็นทุกท่านก็จะยังรู้สึกว่า เป็นคน มีคนแน่ๆ มีโต๊ะ มีเก้าอี้ นั่นคือความเคยชินกับความคิดนึกซึ่งเป็นบัญญัติเรื่องราว แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นเป็นบัญญัติอารมณ์ทั้งหมด
นี่เป็นการเริ่มแยกเพื่อให้เข้าใจว่า ปรมัตถธรรมจริงๆ นั้นคืออย่างไร เพื่อจะได้แยกทางตากับทางใจว่า ขณะที่คิดนึกนั้นต้องเป็นหลังจากเห็น แต่เพราะไม่คุ้นเคย ไม่เคยชินกับการที่สติจะระลึกว่า ทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมที่เห็น ส่วนทางใจนั้น คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่เห็น เมื่อไม่ชินอย่างนี้ ก็ต้องอาศัยการฟังจนกระทั่งรู้ว่า ขณะใดที่สติเริ่มเกิดจะมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมทางตา และจึงจะค่อยๆ รู้ว่าต่างกับขณะที่คิดนึก ซึ่งในขณะนี้ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่างๆ ซึ่งเป็นการสืบต่อกัน
ทั้ง ๖ ทางนี่เป็นสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยสติ มีการระลึกได้ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถแยกลักษณะของธาตุต่างๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันจนปรากฏเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น แต่ละท่านฟังแล้วก็ทราบว่า ภาวนาคือการอบรมเจริญปัญญานั้นเป็นจิรกาลภาวนา คือ ต้องอาศัยกาลเวลานาน เป็นการอบรมจริงๆ เป็นปัญญา จริงๆ ที่รู้สภาพธรรมจริงๆ ของจริงที่กำลังปรากฏ
วันนี้ไม่รู้มานานเท่าไร และขณะนี้สติอาจจะเพิ่งเกิด เพิ่งระลึก เพิ่งค่อยๆ รู้ ขณะนั้นก็รู้ได้ว่า มรรค หนทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็คือในขณะที่ระลึกได้ และพิจารณา และค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
พระ โดยที่ได้ยินได้ฟังมา ปัญญาก็ค่อยๆ ศึกษาลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรมที่มีจริง ส่วนการนึกถึงรูปร่างสัณฐานของคน ของสัตว์ ไม่มีอยู่จริง เพราะว่าไม่ใช่ปรมัตถธรรม การได้ยินได้ฟังอย่างนี้ อาตมาก็พอเข้าใจขั้นหนึ่ง แต่ที่สงสัยคือ เมื่อหลับตาและนึกถึงภาพที่เคยเห็นมาก่อน หรือฝันก็ดี ดูเหมือนคล้ายๆ ภาพนั้น แต่ไม่ใช่เป็นรูปที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่สามารถพิจารณาชัดเจนอะไรได้ ขณะนั้นความคิดนึกไปในรูปที่ผ่านไปแล้วเป็นอดีต ขณะที่มีนามธรรมรู้อารมณ์นั้น ซึ่งดูเหมือนรู้รูปธรรม แต่อาตมาได้ยินได้ฟังจากท่านอาจารย์ก็ได้ไปพิจารณาดูว่า สิ่งนั้น ไม่มีอยู่จริง เพราะรูปธรรมจริงๆ ต้องปรากฏเดี๋ยวนี้ เห็นชัดๆ จึงระลึกรู้แต่ลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรมที่รู้ได้และมีอยู่จริง แต่ยังสงสัยว่า หลังจากนั้นก็มีการ คิดนึกถึงบัญญัติรูปร่างสัณฐาน คิดถึงเรื่องในภาพอีก ซึ่งก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่ ต่างจากภาพ ขณะนั้นเป็นเรื่องของสัญญาที่จำภาพหรือจำรูปในอดีตได้ เป็นลักษณะของสัญญาเจตสิกในนามที่คิดนึก ถูกไหม
สุ. สัญญาเกิดกับจิตทุกดวง ทุกขณะ แต่ข้อสำคัญที่จะต้องทราบ คือ ปรมัตถธรรมต่างกับบัญญัติอย่างไร ถ้ายังไม่เข้าใจจริงๆ การเจริญสติปัฏฐานก็ยาก และอาจจะสับสน ข้อสำคัญ คือ ขณะใดที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมที่ปรากฏ แต่เป็นการ คิดถึงเรื่องของปรมัตถธรรมทั้งหมดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นบัญญัติ
ท่านผู้ฟังอาจจะคิดถึงวงกลมสีแดงและเคยจำไว้ว่า เป็นพระอาทิตย์ ไม่ว่าจะเห็นในกระดานดำหรือกระดาษที่พิมพ์สีต่างๆ เวลาเห็นวงกลมสีแดงก็คิดว่า เป็นพระอาทิตย์ เข้าใจว่าเป็นพระอาทิตย์ เพราะว่าความจำสีที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ใช่เป็นเพียงปรมัตถธรรม แต่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้เข้าใจว่า ขณะที่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะนั้นเป็นบัญญัติ ไม่ใช่เป็นปรมัตถ์
เวลาที่ฝัน ก็เป็นเรื่อง มีคนที่ฝันแล้วไม่เป็นเรื่องไหม เมื่อคืนนี้ฝันต้องเป็น เรื่องแน่ๆ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม ขณะใดก็ตามที่ดูเสมือนว่า เป็นสีสันวัณณะ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นความจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนั้น ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นบัญญัติ
ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก่อนที่จะจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือความหมายของปรมัตถธรรม ซึ่งสั้นมากและเล็กน้อยมาก เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่ทันทีทันใดที่ไม่ว่าจะเป็นเพียงวงกลมสีแดง ยังไม่เป็นสีสันวัณณะที่เป็นคน เป็นสัตว์ เพียงวงกลมสีแดง และมีความจำว่าเป็นพระอาทิตย์ หรืออาจจะจำว่าเป็น สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ เช่น ดวงกสิณ ซึ่งบางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นกสิณหรือเป็นอะไร อย่างนั้น ขณะนั้นให้ทราบว่า เมื่อสิ่งที่ปรากฏนั้น ในความทรงจำเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์
ด้วยเหตุนี้ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ว่าสั้นและเล็กน้อย เกิดขึ้นปรากฏและหมดไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ เช่น ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนถาวร เพราะฉะนั้น แสดงว่า มีการกระทบกับจักขุปสาท และก็มีการเห็น และมีวาระของวิถีจิตซึ่งรู้รูปที่ ยังไม่ดับ แต่สั้นแสนสั้น และก็มีภวังค์คั่น มีมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ มีภวังค์คั่น และก็มีการได้ยินเสียง มีภวังค์คั่น มีมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ มีภวังค์คั่น และก็มี การกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา มีภวังค์คั่น มีมโนทวารวิถีจิตคั่น เป็นไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งทำให้ดูเหมือนกับว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ดับเลย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๖ ตอนที่ ๒๐๕๑ – ๒๐๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2020
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2080
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081