แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
ครั้งที่ ๒๐๖๖
สาระสำคัญ
อรรถกถาอสันกชาดกที่ ๖ สิ่งที่ยากกว่าการให้ ให้แล้วไม่เสียดาย
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๘ กันยายน ๒๕๓๔
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องชาดกซึ่งแสดงให้เห็นว่า การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทำให้ยากที่จะทำอะไรบ้าง เช่น ยากที่จะสละวัตถุให้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น นั่นก็ยากแล้ว แต่สิ่งที่ยากกว่าการให้ก็ยังมีอีก มีใครคิดได้ไหมว่า อะไรเป็นสิ่งที่ยากกว่าการให้
เรื่องของการสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้ ก็ยากที่จะเอ่ยหรือ ที่จะกระทำ แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นก็ยังมี อะไรที่ยากกว่านั้น ซึ่งบางท่านหลังจากที่ได้ฟังชาดกนี้แล้ว อาจจะกล่าวว่า คิดไม่ถึงว่าจะเป็นอย่างนั้น
อรรถกถา สัตตกนิบาตชาดก อรรถกถาทสัณณกชาดกที่ ๖ มีข้อความว่า
ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เป็นเสนกบัณฑิตอำมาตย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นอายุรบัณฑิตอำมาตย์ และท่านพระสารีบุตรเป็นปุกกุสบัณฑิต ของพระเจ้าพรหมทัต
ครั้งนั้น บุตรของราชปุโรหิตได้มาเฝ้าพระราชา เมื่อเห็นอัครมเหสีของพระราชา ก็มีจิตปฏิพัทธ์ นอนอดอาหาร เมื่อพระราชาทรงทราบก็ทรงมอบพระอัครมเหสีให้ ๗ วัน แล้วให้นำมาส่งคืน แต่ปรากฏว่าบุตรของราชปุโรหิตและพระมเหสีต่างมีจิต รักใคร่กัน และพากันหนีไปเมืองอื่น
ฟังดูเป็นนิยายน้ำเน่าสำหรับยุคนี้สมัยนี้ แต่เป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้น เรื่องเน่าคงไม่มี ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ในอดีตชาติ และเป็นเรื่องจริง ชีวิต ของท่านพระอานนท์ ชีวิตของพระผู้มีพระภาค ชีวิตของท่านพระสารีบุตร ของท่านพระมหาโมคคัลลานะ และของบุคคลอื่นๆ ในครั้งนั้น ซึ่งผู้ที่ยัง ไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ไม่ไปไหน นอกจากมีสังสารวัฏฏ์สืบต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น บุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง จนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบัน อาจจะเป็นท่านผู้ฟังที่นี่ ใครคนหนึ่งคนใดก็ได้ แล้วก็จำเรื่องของตัวเองในอดีตไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่าเป็นใคร ที่ไหน
พระราชาทรงโศกเศร้าจนประชวรหนัก หมอหลวงทั้งหลายก็ไม่สามารถ รักษาได้ พระโพธิสัตว์รู้ว่า พระราชาไม่ทรงมีโรคอะไร นอกจากเสียพระทัยที่ไม่ทรงเห็นพระมเหสี จึงคิดอุบายแก้ไข โดยจัดแสดงการกลืนดาบให้พระราชาทอดพระเนตร เมื่อพระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นชายคนหนึ่งกลืนดาบแก้วที่คมกริบยาว ๓๓ นิ้ว จึงตรัสถามอายุรบัณฑิตว่า สิ่งที่ทำยากกว่าการกลืนดาบนี้มีไหม
อายุรบัณฑิตในครั้งนั้น ซึ่งในชาติสุดท้ายเป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลว่าการพูดว่าเราจะให้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่านั้น
คิดดู ให้ไปกลืนดาบคมกริบยาว ๓๓ นิ้ว ยังง่ายกว่าการที่จะพูดว่า จะให้ นี่คือการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งแสนยากจริงๆ ที่จะสละได้ ให้ทำอะไรก็ยังง่ายกว่าการพูดว่าจะให้ ด้วยความโลภ ติดข้อง จึงทำให้พูดไม่ได้
เป็นความจริงไหม ทุกท่านพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน วันนี้พูดคำนี้บ้างหรือยัง หรือว่าปีหนึ่ง เดือนหนึ่งจะพูดสักกี่ครั้ง
พระราชาทรงสดับคำของอายุรบัณฑิตแล้ว ก็ทรงพิจารณาพระองค์
นี่คือบัณฑิต ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังสิ่งใดทั้งหมด เมื่อฟังแล้วพิจารณาตน
พระราชาทรงสดับคำของอายุรบัณฑิตแล้ว ก็ทรงพิจารณาพระองค์ว่า พระองค์ได้ตรัสออกไปแล้วว่า จะให้พระมเหสีแก่บุตรของราชปุโรหิต พระองค์ก็ ทรงสามารถกระทำกรรมที่ทำได้ยากแล้ว
คือ สามารถเอ่ยปากตรัสให้พระมเหสีแก่บุตรของราชปุโรหิต แสดงว่าพระองค์ทรงกระทำสิ่งที่ยาก
ความเศร้าโศกในพระราชหฤทัยก็เบาบางไปแล้วหน่อยหนึ่ง
เพราะว่าเป็นผู้ที่ได้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก
พระองค์ทรงดำริว่า แต่กรรมอย่างอื่นที่ทำได้ยากกว่าการพูดว่า เราจะให้ของสิ่งนี้แก่ผู้อื่นนั้น ยังมีอยู่หรือไม่หนอ
พูดก็ยาก แต่อะไรจะยากกว่าพูด
พระราชาจึงตรัสถามปุกกุสบัณฑิตว่า
สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการบอกว่าเราจะให้นั้นยังมีอยู่หรือ
มีอะไรที่ทำได้ยากกว่านั้นอีก
ลำดับนั้นปุกกุสบัณฑิต เมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวาย จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า
คนทั้งหลายไม่รักษาคำที่พูดไว้ คำที่พูดออกไปนั้นก็ไม่มีผล และผู้ใดให้ปฏิญญาไว้แล้ว ก็บั่นทอนความโลภได้ การบั่นทอนความโลภของผู้นั้นนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบและการให้ปฏิญญานั้น
นี่เป็นเรื่องของสัจจะ ความจริงใจ ความตรงต่อความคิดหรือคำที่ได้กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อพูดแล้วว่าจะให้ สิ่งที่ยากกว่าก็คือให้จริงๆ ไม่ใช่ว่าพูดแล้ว แต่ให้ไม่ได้ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า อะไรยากกว่า เวลาที่มีศรัทธาเกิดขึ้นก็พูดให้ได้ แต่พูดแล้วไม่ให้ก็มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ผู้ที่พูดแล้ว และก็ให้ ย่อมทำสิ่งที่ยาก คือ ไม่เพียงแต่พูด แต่มีสัจจะ มีความจริงใจ สามารถกระทำตามที่ได้พูดแล้วด้วย
เหตุอย่างอื่นทุกอย่างเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด
ความจริงก็เป็นความจริงทุกกาลสมัย แม้ในสมัยโน้นจนถึงสมัยนี้
เมื่อพระราชาทรงสดับคำนั้นแล้วก็ทรงพิจารณาว่า พระองค์ตรัสไปแล้วว่า จะให้พระเทวีแก่บุตรของปุโรหิต และพระองค์ก็ได้ให้พระเทวีตามที่ตรัสแล้ว พระองค์จึงได้ทรงกระทำกรรมที่ทำได้ยากแล้วหนอ ความเศร้าโศกก็เบาบางลงกว่าเดิม
นี่คือผู้ที่พิจารณาตนเอง และเห็นว่าพระองค์สามารถสละ คือ ตรัสแล้วและ ได้กระทำตามพระวาจาที่ได้ตรัสแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นความสามารถของพระองค์ ยิ่งกว่าการกลืนดาบที่คมกริบยาว ๓๓ นิ้ว
ลำดับนั้น พระองค์ได้มีพระปริวิตกว่า คนอื่นที่ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดกว่า เสนกบัณฑิตไม่มี เราจักถามปัญหานี้กะเสนกบัณฑิต
ซึ่งในพระชาติสุดท้ายก็เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์จึงตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า
สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการให้สิ่งของนั้นมีอยู่หรือ
พูดว่าให้ แล้วก็ให้ จะมีอะไรที่ยากกว่าการให้สิ่งของนั้น
เสนกบัณฑิตเมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวายพระองค์ จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า
คนควรให้ทาน จะน้อยหรือมากก็ไม่ว่า แต่ผู้ใดครั้นให้แล้ว ไม่เดือดร้อนใจ ในภายหลัง (คือ ไม่เสียดาย ไม่เศร้าโศก) การไม่เดือดร้อนใจนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ยากกว่าการกลืนดาบ ยากกว่าการพูดว่าจะให้สิ่งของ และยากกว่าการให้สิ่งของ ที่รักนั้น เหตุอย่างอื่นทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้
จริงไหม พูดว่าจะให้ พูดแล้วและให้ด้วย แต่ให้แล้วเสียดาย จะทำอย่างไรกับโลภะซึ่งติดตามการให้ได้ ทั้งๆ ที่ให้ไปแล้วก็ยังเสียใจ เศร้าโศก หรือเสียดาย ในภายหลัง
เมื่อพระราชาทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว ก็ทรงพิจารณาจิตของพระองค์ ซึ่งเมื่อให้พระเทวีแก่บุตรของปุโรหิตไปแล้วก็เศร้าโศก ซึ่งไม่สมควรเลย และ ทรงพิจารณาว่า หากพระเทวีพึงมีความเสน่หาในพระองค์ ก็คงไม่ทอดทิ้งอิสริยยศนี้หนีไป แต่เมื่อพระเทวีไม่มีความเสน่หาในพระองค์หนีไป จะมีประโยชน์อะไรที่ทรงเศร้าโศก
เมื่อพระองค์ทรงมีพระดำริดังนี้ ความเศร้าโศกทั้งหมดก็หายไป เหมือนหยดน้ำที่กลิ้งตกจากใบบัวฉะนั้น ในทันใดนั้นพระองค์ทรงไร้พระโรค ทรงพระเกษมสำราญ เมื่อจะทรงสดุดีพระโพธิสัตว์ จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า
อายุรบัณฑิตแก้ปัญหาแล้ว และปุกกุสบัณฑิตก็แก้ปัญหาแล้ว ส่วน เสนกบัณฑิตครอบปัญหาหมดทุกข้อว่า คนให้ทานแล้ว ไม่ควรเดือดร้อนใจภายหลัง อย่างที่เสนกบัณฑิตพูด
ก็พระราชาครั้นทรงทำการสดุดีแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยแล้ว ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่เสนกบัณฑิตนั้น
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ทรงประกาศสัจจธรรมทั้งหลายแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจจธรรม ภิกษุผู้ใคร่ลาสิกขาเพราะการยั่วยวนของภรรยาเก่า ซึ่งในอดีตกาลครั้งนั้นเป็นพระเจ้าพรหมทัต ก็ได้บรรลุโสตาปัตติผล อายุรบัณฑิตได้เป็นพระมหาโมคคัลลานเถระ ปุกกุสบัณฑิตได้เป็นพระสารีบุตรเถระ ส่วนเสนกบัณฑิตได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล
ชาติหนึ่งนี่มีเรื่องมากหลายเรื่อง เรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง ถ้าเป็นบัณฑิตก็พิจารณาเพื่อที่จะขัดเกลาและสะสมกุศล เพราะถ้าไม่สะสมกุศลจริงๆ ไม่มีทางเลย ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขณะนี้สภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กำลังเกิดดับ ต้องประจักษ์แจ้งได้จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
เพียงแต่ฟังและเข้าใจ และสติเกิดเพียงเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่มีกำลังที่จะละ การยึดถือสภาพธรรมที่เคยติดเคยถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ถ้าไม่มีปัญญาที่สะสมมาจริงๆ พร้อมบารมีอื่น ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้
แม้แต่ในชาดกนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นความสำคัญของการไม่เสียดาย เพราะว่าขณะที่เสียดายแสดงให้เห็นถึงเยื่อใยการติดในวัตถุที่สละที่เป็นเพียงวัตถุสิ่งภายนอก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีใครสามารถยึดครองเป็นเจ้าของได้ตลอดไป เพียงชั่วขณะที่ตาเห็นและเกิดความพอใจ แต่ขณะอื่นเมื่อไม่เห็น ก็เป็นเรื่องอื่นไปแล้ว
เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า เยื่อใยความเสียดายที่ยังมีอยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ให้ไปแล้ว เวลาที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมก็ยังเสียดาย คิดดู เสียดายที่จะทิ้งไป เสียดายที่จะละไป เสียดายที่จะไม่มีตัวตน เสียดายที่ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา อีกต่อไป เพราะฉะนั้น กำลังของกุศลและกำลังของปัญญาต้องมีมากที่จะเป็นผู้ที่ มีชีวิตอย่างจิรกาลภาวนา คือ สะสมอบรมเจริญกุศล ซึ่งใช้กาลเวลาที่ยาวนานที่จะ รู้สภาพจิตของตนและสามารถรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ถ้ายังคงมีความเสียดายแม้เล็กน้อย ก็ให้คิดว่า เวลาที่สติปัฏฐานเกิดแล้วจะต้องเสียดายแน่ๆ ในนามรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ยอมที่จะทิ้งที่จะละว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
นี่เป็นเหตุที่วิปัสสนาญาณต้องมีมากมายหลายขั้น เพราะถึงแม้จะประจักษ์ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้วก็จริง แต่ยังเสียดายที่จะทิ้งไป ความติดข้องในความเป็นตัวตน ในสภาพธรรมมีมาก นี่เป็นแต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เห็นว่า ความเสียดายแม้เพียงในวัตถุก็ยังมีได้ เพราะฉะนั้น ในความเป็นตัวตนก็ต้องมีมากอยู่
ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีประสบการณ์ในชีวิตที่จะเล่าให้ฟังบ้างหรือเปลา เหตุการณ์จริงๆ ความรู้สึกจริงๆ อกุศลจริงๆ ที่เกิดกับท่าน
ผู้ฟัง มีประสบการณ์ ๒–๓ วันนี้เอง ผมจะเซ้งบ้าน ประกาศไว้ สองล้าน ห้าแสนบาท มีคนมาต่อเหลือ สองล้านสามแสนบาท ผมก็ให้เลย ต่อมาก็มาพูด ขอลดอีกห้าหมื่นบาท ผมก็ให้ และก็กลับมาคิดว่า เขาก็พูดไปอย่างนั้นเอง เราไม่น่าจะให้เลย พอคิดเช่นนั้น ก็มีสติคิดว่า นี่กิเลสพูดแล้ว ไม่ควรจะเสียดาย
และเมื่อวานนี้เอง ผมก็มีบ้านที่จะเซ้งอีกห้องหนึ่ง ผมบอกไว้สามล้าน ห้าแสนบาท ท่านก็ต่อเหลือ สามล้านหนึ่งแสนบาท ผมบอก สามล้านสองแสนบาท ก็ตกลง แต่มาคิดว่าตอนตกลงนั้น ท่านมีอายุมากแล้ว อยากจะอยู่บ้านสบายๆ ลูกหลานไม่อยากให้อยู่ จึงมาเซ้งบ้านและจะอยู่คนเดียว ผมสงสารก็ให้ ผมก็มาคิดเสียดายว่า ให้ไปง่ายๆ ถ้าเราทำมาหากินก็คงจะลำบากหน่อย ใช้เวลามาก ก็นึกเสียดาย แต่ไม่มากเหมือนครั้งแรก ก็คิดว่า กิเลสนี่ทำได้ทั้งนั้น แม้จะให้ไปแล้ว พอมาหวนนึกถึงสิ่งที่เราให้ ก็มีความรู้สึกเสียดายอย่างที่อาจารย์พูด เป็นเช่นนั้นจริงๆ
สุ. นี่ก็เป็นสติที่จะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต และจะเสียดายอะไร ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ในเมื่อสภาพธรรมเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เราจะทำสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดสักขณะหนึ่งขณะใด ให้เกิดขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย แสดงความไม่มีเจ้าของอยู่แล้ว เพราะไม่มีใครสามารถ ที่จะกระทำอะไรได้เลย เห็นในขณะนี้ ได้ยินในขณะนี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะว่าไม่มีใครสามารถทำให้เห็นหรือได้ยินในขณะนี้เกิด หรือความคิดนึกในขณะนี้เกิด
เพราะฉะนั้น จิตซึ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง มีปัจจัย คือ เจตสิกบ้าง รูปบ้าง ทำให้เกิดขึ้นโดยปัจจัยต่างๆ และก็ดับไป เท่านั้นเอง
ถ. ในเรื่องการให้ ผมมีความเข้าใจอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะถูกหรือเปล่า คือ ถ้าเราให้สิ่งที่เกินกำลังของเรา เราเดือดร้อนภายหลัง ผมคิดว่าสิ่งนั้นเราไม่ควรให้ นึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า วิเจยฺยทานํ การเลือกให้ การเสียสละที่เกินกำลังของตนเอง แล้วเกิดอกุศลภายหลัง คิดว่าคงไม่ถูกต้อง เกิดความเดือดร้อนภายหลัง จะเป็น อย่างนั้นไหม
สุ. ข้อความในชาดกนี้กล่าวว่า การให้สิ่งที่ไม่ว่าจะน้อยจะมากก็ตาม คือ ไม่ได้หมายความว่าต้องให้มาก ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะน้อยจะมากก็ตาม ให้แล้ว สิ่งที่ยากกว่านั้น คือ ไม่เสียดาย เพราะว่าบางคนให้ได้จริง แต่เสียดาย
มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านมีหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป ส่วนตัว ๑ เล่ม ซึ่งท่านอ่านและจดข้อความที่เป็นส่วนตัวของท่าน และมีท่านผู้หนึ่งอยากได้หนังสือ เล่มนั้นมาก ท่านก็คิดอยากจะให้ แต่ท่านก็เสียดายข้อความที่ท่านเขียนไว้เป็น การส่วนตัวนั้น ท่านก็บอกเขาว่า มีหนังสือเล่มเดียวนะ และเขียนไว้ด้วย ซึ่งท่าน ก็อยากจะให้เขาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นไม่เอาหรอก แต่ตรงกันข้าม ท่านผู้นั้นบอกว่า ไม่เป็นไร และก็ขอไป พอให้ไปแล้ว ท่านผู้นั้นก็เสียดาย ซึ่งความจริงแล้วก็ชั่วขณะจิต ขณะนั้นใครจะยับยั้งไม่ให้เกิดเสียดายก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ และเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่สั้นแสนสั้นจริงๆ ทุกอย่างนี่ ชั่วขณะจิตซึ่งเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ
จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ แล้วดับ แล้วก็หมด แม้แต่ความเสียดายในขณะนั้นที่เป็นอกุศลก็หมดไปแล้ว เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างอื่นไปแล้ว ทุกวัน ทุกขณะ จะไม่มีการดำรงอยู่ คงอยู่ ที่จะให้เป็นสิ่งที่ถาวรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็น่าจะเข้าใจซึ้งถึงสภาพปรมัตถธรรมจริงๆ ชั่วขณะจิตซึ่งนามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม ที่เกิดร่วมกัน คือ จิตเกิดเพราะเจตสิก และเจตสิกก็เกิดเพราะจิตใน ๑ ขณะนั้น เป็นอัตถิปัจจัย คือ เป็นปัจจัยในขณะที่ยังมีอยู่เท่านั้น
จิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิกในขณะที่จิตกำลังมีอยู่ และเจตสิกก็เป็นปัจจัยแก่จิต ชั่วขณะที่เจตสิกมีอยู่ ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเพียงชั่วขณะสั้นๆ ซึ่งยังมีอยู่ ยังไม่ดับไป โดยความเป็นอัตถิปัจจัย คือ เป็นปัจจัยในขณะที่สภาพนั้นยังมีอยู่ ชั่วขณะหนึ่ง
และในขณะที่เป็นปัจจัยในขณะที่มีอยู่ ยังไม่ปราศไป การเป็นปัจจัยโดย ยังไม่ปราศไปนั้นเป็นอวิคตปัจจัย คือ เพราะยังไม่ปราศไป จึงยังเป็นปัจจัยให้ทั้งจิตและเจตสิกต่างอาศัยกันและกันเพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วดับ หมดแล้ว เท่านี้เอง
ถ. ผมอยากจะมองมุมกลับ ตอนนี้ท่านอาจารย์สอนว่า การพูดว่าจะให้ ยาก การให้จริงๆ ยากกว่า ยิ่งให้แล้วไม่เสียดาย ยากที่สุด ถ้าเราคิดมุมกลับว่า ถ้าเราให้ไปแล้วเสียดาย เป็นอกุศลที่สุด เพราะฉะนั้น อย่าให้เลย จะได้ไม่เกิดอกุศล จะดีไหม
สุ. ที่ว่าจะให้ก็ยาก ก็เข้าอยู่ในข้อที่ ๑ คือ คิดไปคิดมาก็อยู่ในข้อที่ ๑ คือ ไม่ให้ เพราะฉะนั้น ติดมากสักแค่ไหน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๗ ตอนที่ ๒๐๖๑ – ๒๐๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2020
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2080
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081