แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
ครั้งที่ ๒๐๖๙
สาระสำคัญ
อรรถกถาสามัญญผลสูตร
ความหมายของอุโบสถ ศีล ชื่อว่า อุโบสถ
วันที่ควรจำศีล ชื่อว่า อุโบสถสัจสูตร
อุโบสถมีองค์ ๙
อุโบสถขันธกะ
การสวดพระปาติโมกข์ คังคมาลชาดกที่ ๕
อานิสงส์ของอุโบสถ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๔
สำหรับความหมายของอุโบสถ
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อรรถกถาสามัญญผลสูตร มีข้อความว่า
ชื่อว่าอุโบสถ ด้วยอรรถว่า วันเป็นที่เข้าไปอยู่ คือ เป็นผู้เข้าถึงด้วยศีล หรือด้วยอาการที่ไม่ขวนขวาย ชื่อว่าเป็นผู้อยู่จำศีล
ศีล ชื่อว่าอุโบสถ คือ ศีลประกอบด้วยองค์ ๘
ไม่ใช่องค์ ๕ เพราะว่าองค์ ๕ นั้น ควรเป็นนิจศีลทุกวันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นโอกาสพิเศษ วันพิเศษ ก็ควรจะไม่ใช่เพียงศีล ๕ เท่านั้น แต่ต้องเป็นศีล ที่ประกอบด้วยองค์ ๘
วันที่ควรจำศีล ชื่อว่าอุโบสถ
เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทรงบัญญัติวันสำหรับให้ภิกษุประชุม สวดปาติโมกข์และแสดงธรรม
ท่านที่สนใจในเรื่องอุโบสถศีล จะค้นคว้าความละเอียดได้จาก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ซึ่งข้อความทุกสูตรเป็นการรักษาอุโบสถมีองค์ ๘ น้อมประพฤติตาม พระอรหันต์ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลว่า ต้องมีจุดประสงค์เพื่อการขัดเกลากิเลส พระอรหันต์เป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลสแล้ว เป็นผู้ที่ทุกคนใคร่จะถึงคุณธรรมขั้นนั้น คือ ไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เวลาที่ท่านมีความรู้สึกขุ่นใจไม่สบายใจ ก็คิดเปรียบเทียบว่า พระอรหันต์ท่านไม่มีเลย ความขุ่นใจแม้เพียงเล็กน้อยนิดเดียวก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ความสุขที่เป็นความสงบของพระอรหันต์จะมาก มั่นคง และเป็นปกติเพียงใด เวลาที่ท่านมีความรู้สึกริษยา พระอรหันต์ไม่มีความริษยา เวลาที่ท่านมีความตระหนี่ พระอรหันต์ไม่มีความตระหนี่ เวลาที่ท่านมีความผูกโกรธ พระอรหันต์ไม่มีความผูกโกรธ เวลาที่ท่านมีความแข่งดี พระอรหันต์ไม่มีความแข่งดี
แสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของการเป็นผู้ที่น้อมประพฤติตามพระอรหันต์ ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้อุโบสถศีลจึงไม่ใช่เพียงศีล ๘ ข้อ ที่ท่านนับว่าท่าน ครบแล้ว แต่เป็นศีลที่อบรมเจริญการขัดเกลากิเลสจนกระทั่งเป็นความคุ้นเคยบ่อยๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ท่านถึงคุณธรรมของพระอรหันต์ได้ และต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่ด้วยศีล แต่ต้องด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้น สำหรับชาวพุทธ อุโบสถศีลต่างกับอุโบสถศีลของศาสนาอื่น ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงตรัสรู้ ก็มีศาสดาหลายศาสดา และมีอุโบสถด้วย พวกนิครนถ์ หรือพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ก็มีวันพิเศษเป็นการอยู่จำ ซึ่งเป็นวันที่เขาประชุมกัน และกล่าวธรรมตามความคิดความเข้าใจของเขา
แต่ถ้าเป็นอุโบสถของชาวพุทธ ก็ต้องมีความหมาย มีจุดประสงค์ และมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากกว่าเพียงการเว้นอาหารในเวลาวิกาล เหมือนอย่างกับอุโบสถ ของพวกเดียรถีย์นิครนถ์ต่างๆ
ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สัตตสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระภิกษุถึงอุโบสถมีองค์ ๙ คือ นอกจากอุโบสถศีลมีองค์ ๘ แล้ว ก็เพิ่มเมตตาด้วย แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของผู้ที่จะรักษาอุโบสถศีล ไม่ใช่เพียงรักษาแล้ว ก็โกรธกัน ทะเลาะกัน และพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย ควรจะทราบว่า ถ้าท่าน มีศรัทธาถึงกับจะรักษาศีลอุโบสถคือเข้าจำในวันนั้นแล้ว ควรกระทำอะไรบ้าง
มังคลัตถทีปนีแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย กถาว่าด้วยกรรม อันหาโทษไม่ได้ ซึ่งเป็น มงคลคาถาที่ ๕ มีข้อความว่า
มงคล ๔ ข้อ ในคาถาที่ ๕ คือ ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ กรรม ๔ อย่างมีทานเป็นต้นนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด
กรรมอันไม่มีโทษประการหนึ่ง คือ การสมาทานอุโบสถศีลเป็นต้น แสดง ให้เห็นถึงการกระทำที่ไม่มีโทษที่เพิ่มขึ้นจากปกติ
มังคลัตถทีปนี ข้อ ๑๐๑ – ๑๓๒ เป็นเรื่องของอุโบสถศีลโดยละเอียด คือ
ปฏิชาครอุโบสถ มีการรับอุโบสถ ถืออุโบสถ และส่งอุโบสถ
ปาฏิหาริยอุโบสถ เป็นการรักษาอุโบสถนานกว่าปกติ คือ อาจจะตลอดฤดูฝน หรือถ้าไม่สามารถ ก็แล้วแต่ว่าจะกระทำได้มากน้อยเพียงใด อาจจะถึง ๗ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วัน ซึ่งมากกว่าปฏิชาครอุโบสถ
ข้อความโดยละเอียดมีแล้วทั้งนั้นในอรรถกถาสำหรับท่านที่สนใจ แต่ข้อที่ควรสนใจ คือ จุดประสงค์ของการที่ท่านจะรักษาอุโบสถ ควรเป็นจุดประสงค์ที่ตรงจริงๆ ซึ่ง ข้อ ๑๐๘ ใน มังคลัตถทีปนี มีว่า
ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า การกระทำอุโบสถในวันใดวันหนึ่งก็ใช้ได้ คำนั้นไม่เหมาะ เพราะวันที่บัณฑิตกำหนดไว้จะถึงความเป็นวันไร้ประโยชน์ ด้วยว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ วันที่บัณฑิตกำหนดไว้ว่า วัน ๑๔ ค่ำ เป็นต้น พึงเป็นวันไม่มีประโยชน์ แต่วันที่บัณฑิตกำหนดไว้นั้น หาเป็นวันไร้ประโยชน์ไม่ เหตุนั้นในอรรถกถาอุตตรวิมาน พระอรรถกถาจารย์จึงแสดงความที่อุโบสถกรรมนั้นเป็นกิจอันบุคคลพึงทำในวันที่ ท่านกำหนดไว้เท่านั้นอย่างนี้ว่า อุโบสถกรรมนั้นบุคคลควรรักษาในวันเหล่าใด อุโบสถเช่นใดควรรักษาโดยอาการใด นางอุตตราเมื่อจะแสดงวันรักษาอุโบสถกรรมเช่นนั้นและอาการนั้น จึงกล่าวคำว่า จาตุททสี เป็นต้น
นี่เป็นข้อความที่ท่านผู้ฟังน่าจะพิจารณา เพราะว่าดิฉันเคยเรียนถามท่านผู้หนึ่งซึ่งรักษาอุโบสถว่า ถ้าวันนั้น คือ วันหนึ่งวันใดก็ตามเป็นวันที่ท่านรู้สึกปลอดโปร่งมาก ไม่มีกิจธุระเลย พร้อม สะดวกที่จะรักษาอุโบสถศีล แต่วันนั้นไม่ใช่วันอุโบสถ ท่านจะรักษาไหม เดาคำตอบของท่านผู้นั้นได้ไหม ท่านตอบว่า ไม่รักษา แสดงให้เห็นแล้วว่า ทำไม ถึงแม้ไม่ใช่วันอุโบสถ แต่พร้อมที่จะเป็นเหมือนวันอุโบสถ อย่างวันอุโบสถ แต่ทำไมไม่รักษา ในเมื่อเป็นโอกาสที่จะกระทำได้
ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ศีล ๘ รักษาได้แม้ไม่ใช่ในวันอุโบสถ เพียงแต่ ในวันอุโบสถถ้ารักษาศีล ๘ นั่นชื่อว่าอุโบสถศีล เพราะว่ารักษาศีล ๘ ในวันอุโบสถด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อรักษาศีลอุโบสถแล้ว วันอื่นที่อาจรักษาได้ก็ไม่รักษา เพราะว่าไม่ใช่ วันอุโบสถ ด้วยเหตุนี้การฟังและการพิจารณาเหตุผลในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา จึงควรพิจารณาจริงๆ ว่า การกระทำอุโบสถในวันใดวันหนึ่งก็ใช้ได้ คำนั้นไม่เหมาะ เพราะวันที่บัณฑิตกำหนดไว้จะถึงความเป็นวันไร้ประโยชน์ ด้วยว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ วันที่บัณฑิตกำหนดไว้ว่า วัน ๑๔ ค่ำ เป็นต้น พึงเป็นวันไม่มีประโยชน์
ข้อนี้ควรพิจารณาว่า วันอุโบสถเปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติไว้ แต่การรักษาศีลจะเป็นวันหนึ่งวันใดย่อมได้
พระ เรื่องวันอุโบสถเป็นการกระทำอุโบสถนั้น พระภิกษุมีกำหนดวัน ที่แน่นอนในการทำอุโบสถ แต่ไม่ได้หมายความว่า วันอื่นไม่ให้รักษาศีล นั่นเป็น เรื่องพระวินัย ซึ่งมีการซักถามในอรรถกถา ตั้งเป็นผู้ถามและผู้ตอบ ท่านถามว่า การทำอุโบสถทำวันอื่นได้ไหม ไม่สมควร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงกำหนดวัน แล้วแต่สมัยของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เพราะว่าอายุของมนุษย์ก็ต่างกันไป อย่างในสมัยของพระพุทธเจ้าที่มีอายุมากๆ การทำอุโบสถก็ยาวต่างกันออกไป แต่ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคสมณโคดมพระองค์นี้ ก็ทุก ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ทุกกึ่งเดือน อาจจะเป็นเรื่องของพระภิกษุด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่วินิจฉัยในวันอุโบสถ อาตมา มีความเห็นว่า ในการรักษาศีลอุโบสถ เช่น ไปรักษาที่วัดเพราะจะกระทำเยี่ยง พระอรหันต์นั้น เป็นการสละอาคารบ้านเรือน เพราะเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่ครองเรือน เพราะเพศท่านสูง ใช่ไหม
สุ. เจ้าค่ะ
ขอกล่าวถึงความเป็นมาของวันอุโบสถเพื่อกิจกรรมของสงฆ์ คือ การสวด พระปาติโมกข์
พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ ข้อ ๑๖๖ มีข้อความว่า
ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า วันอุโบสถมีเท่าไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วันอุโบสถนี้มี ๒ คือ อุโบสถมีในวัน ๑๔ ค่ำ อุโบสถมี ในวัน ๑๕ ค่ำ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วันอุโบสถ ๒ นี้แล
ท่านที่รักษาอุโบสถศีลก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ท่านหวังอะไรจากการรักษาอุโบสถศีลหรือเปล่า พอที่จะบอกให้ทราบได้ไหมว่า หวังอะไรหรือเปล่า เพราะว่า ธรรมเป็นเรื่องที่สนทนากัน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น
ท่านผู้ฟังบอกว่า หวังบุญ ซึ่งคงเป็นเพราะได้ยินได้ฟังเรื่องอานิสงส์ของอุโบสถ เมื่อได้ฟังว่า การรักษาศีลเป็นกุศล และถ้าเป็นอุโบสถศีลก็ต้องมีผลมากกว่าศีล ๕ เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านรักษาอุโบสถศีล เพราะแม้ในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเองก็ได้ตรัสเรื่องผลของอุโบสถศีล อย่างข้อความใน ขุททกนิกาย อัฏฐกนิบาตชาดก คังคมาลชาดกที่ ๕ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องในอดีตกาล ให้ภิกษุทั้งหลายฟัง พระองค์ตรัสว่า
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระเจ้าอุทัย ด้วยผลของบุญในชาติก่อน ซึ่งท่านเป็นผู้รับจ้างทำการงานในบ้านของท่านเศรษฐีผู้หนึ่งและได้รักษาอุโบสถศีล เพียงกึ่งวัน เพราะท่านไม่ทราบว่าที่บ้านนั้นรักษาอุโบสถศีล เมื่อท่านไปรับจ้างทำงาน ท่านก็ออกไปทำงานแต่เช้าแล้วกลับมาตอนค่ำ เมื่อได้ทราบว่าที่บ้านนั้นรักษา อุโบสถศีล ท่านก็คิดว่า ท่านจะรักษาได้ไหม คนที่บ้านนั้นก็ตอบว่า รักษาได้ครึ่งเดียว เพราะเหตุว่าล่วงเวลาไปเสียแล้ว แต่กระนั้นท่านก็มีศรัทธาที่จะรักษาอุโบสถศีล ขณะที่ท่านใกล้จะสิ้นชีวิตก็ปรารถนาที่จะได้เป็นพระราชา ด้วยเหตุนี้ผลของกุศลนั้น ทำให้ท่านได้เกิดในพระครรภ์ของพระมเหสี เมื่อประสูติแล้วก็ได้นามว่า อุทัยราชกุมาร และในที่สุดก็ได้ครองราชย์สมบัติ
ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระเจ้าอุทัย ท่านพระอานนท์เกิดเป็นบุรุษรับจ้างที่เก็บทรัพย์กึ่งมาสกไว้ที่ซอกอิฐกำแพงเมือง
ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ทราบเรื่องนี้แล้วว่า บุรุษรับจ้างผู้นี้ คือ ท่านพระอานนท์สมัยหนึ่ง
ภรรยาของเขาก็รับจ้างตักน้ำ และมีเงินกึ่งมาสก ทั้งสองคิดจะเอาเงินที่เก็บไว้ไปเที่ยวกัน บุรุษรับจ้างนั้นก็เดินร้องเพลงไปขณะที่เหยียบทรายร้อนราวกับถ่านไฟ ไปตามพระลานหลวงในเวลาเที่ยง พระเจ้าอุทัยทอดพระเนตรเห็นก็ทรงพระดำริว่า
อะไรหนอที่ทำให้บุรุษนี้ไม่ย่อท้อต่อลมและแดดเห็นปานนั้น มีความร่าเริงยินดีเดินร้องเพลงไป จึงทรงส่งคนไปเรียกบุรุษนั้นมาสอบถาม
นี่ก็เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งเหตุการณ์อย่างนี้ใครจะพบจะเห็นเมื่อไรก็ย่อมเป็นไปได้ทั้งนั้น
เมื่อทรงทราบว่า ทรัพย์ที่บุรุษนั้นเก็บฝังไว้มีไม่ถึงแสน ไม่ถึงห้าหมื่น ไม่ถึง สี่หมื่น ไม่ถึงสามหมื่น ไม่ถึงสองหมื่น ไม่ถึงหนึ่งหมื่น ไม่ถึงห้าพัน ไม่ถึงห้าร้อย ไม่ถึงสี่ร้อย ไม่ถึงสามร้อย ไม่ถึงสองร้อย ไม่ถึงหนึ่งร้อย ไม่ถึงห้า ไม่ถึงสี่ ไม่ถึงสาม ไม่ถึงสอง หรือไม่ถึงหนึ่งกหาปณะ ครึ่งกหาปณะก็ไม่ถึง หนึ่งบาท สี่มาสก สามมาสก สองมาสก ก็ไม่ถึงแม้หนึ่งมาสก มีเพียงครึ่งมาสกเท่านั้น
พระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานเงินครึ่งมาสกให้เขา โดยเขาไม่ต้องเดิน ตากแดดร้อนๆ ไปเอา เพราะพระองค์ทรงจำอดีตชาติได้ว่า การที่พระองค์ได้รับผลของบุญเกิดเป็นพระเจ้าอุทัยเพราะเป็นผลของการรักษาอุโบสถศีลเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ก็เห็นกรรมในอดีตชาติว่าได้ทำกรรมใดมา จึงไม่มีความเสียดายหรือติดข้องในสมบัติ
พระองค์จะประทานเงินครึ่งมาสกนั้นโดยที่เขาไม่ต้องเดินตากแดดร้อนๆ ไปเอา แต่บุรุษนั้นก็ทูลว่า แม้พระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานเงินครึ่งมาสกให้เขา เขาก็ยังจะเดินตากแดดไปเอาเงินกึ่งมาสกที่เขาฝังไว้นั้น
พระเจ้าอุทัยก็ตรัสว่า จะพระราชทานให้หนึ่งมาสก สองมาสก เพิ่มขึ้นๆ จนถึงโกฏิ ร้อยโกฏิ เขาก็ยังจะไปเอาเงินที่ฝังไว้นั้นด้วย ในที่สุดพระเจ้าอุทัยก็จะพระราชทานให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐี แต่เขาก็จะไปเอาเงินที่ฝังไว้นั้นด้วย ในที่สุด พระเจ้าอุทัยก็แบ่งพระราชสมบัติออกเป็น ๒ ส่วน และให้บุรุษนั้นครองราชย์สมบัติครึ่งหนึ่ง เขาจึงได้ยินยอมรับพระดำรัสนั้น
แต่บางอาจารย์กล่าวว่า แม้บุรุษนั้นครองราชย์สมบัติครึ่งหนึ่งแล้ว ก็ยังไป ทิศอุดรนั้นด้วยความยินดีในทรัพย์ครึ่งมาสกนั้น เพราะเหตุนั้นเขาจึงได้นามว่า อัฑฒมาสกราช
นี่เป็นความต่างกันของผู้ที่สามารถสละราชสมบัติครึ่งหนึ่ง กับผู้ที่ยังติดอยู่ แม้ในทรัพย์ครึ่งมาสก
พระเจ้าอุทัยสละราชสมบัติครึ่งหนึ่งให้ เพราะว่าทรงจำชาติก่อนที่พระองค์ ทรงเกิดเป็นบุรุษรับจ้างในบ้านของเศรษฐีชื่อสุจิบริวารได้ว่า สมัยนั้นท่านรักษา อุโบสถศีลตามบุคคลในบ้านนั้นได้เพียงครึ่งวัน เพราะว่าธรรมดาเศรษฐีบอกลูกจ้าง ทุกคนเรื่องการรักษาอุโบสถ แต่ไม่ได้บอกท่าน
จิตที่ไม่มั่นคงในกุศลย่อมกลับกลอกและเปลี่ยนแปลงได้
ภายหลังพระเจ้าอัฑฒมาสกราชคิดจะฆ่าพระเจ้าอุทัย ทั้งๆ ที่แบ่งสมบัติให้ กึ่งหนึ่งแล้วให้ครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าอัฑฒมาสกราช เพราะท่านคิดว่า จะเสวยราชสมบัติเพียงผู้เดียว
เรื่องของความโลภ ความติดในทรัพย์สมบัติ ในกามวัตถุ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในลาภ ไม่มีวันพอ
พระเจ้าอัฑฒมาสกราชคิดที่จะฆ่าพระเจ้าอุทัย แต่ภายหลังก็เกิดสติระลึกได้ว่า โลภะเช่นนี้จะทำให้ท่านเกิดในอบายภูมิ เห็นโลภะของตนเองชัดเจน เพราะว่าพยายามจะฆ่าแล้วก็ไม่ฆ่า พยายามจะฆ่าแล้วก็ไม่ฆ่า พยายามจะฆ่าอีกแล้วก็ไม่ฆ่า จนในที่สุดก็รู้สึกตัวว่า เพราะโลภะนี้จะทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ จึงได้ทูลให้ พระเจ้าอุทัยทรงทราบ
พระเจ้าอุทัยเห็นว่า พระเจ้าอัฑฒมาสกราชอยากจะได้สมบัติ ก็จะมอบให้ และพระองค์จะเป็นเพียงอุปราช แต่พระเจ้าอัฑฒมาสกราชเกิดสติรู้ว่า โลภะมีโทษมาก จึงได้ทูลลาบวช ซึ่งภายหลังได้บรรลุฌานและอภิญญา
เมื่อพระเจ้าอัฑฒมาสกราชทูลลาบวช พระเจ้าอุทัยทรงเปล่งอุทานว่า
การที่เราได้เป็นพระเจ้าอุทัยถึงความเป็นใหญ่ นี้เป็นผลแห่งกรรมมีประมาณน้อยของเรา มาณพใดละกามราคะออกบวชแล้ว มาณพนั้นชื่อว่า ได้ลาภดีแล้ว
ซึ่งไม่มีใครรู้เนื้อความของคาถาที่พระเจ้าอุทัยตรัส
เพราะว่าเป็นความรู้เฉพาะตัวของพระเจ้าอุทัยถึงอดีตชาติของพระองค์
ภายหลังเมื่อพระอัครมเหสีทรงทราบจากพระเจ้าอุทัยว่า ช่างกัลบกชื่อคังคมาล ควรทำอย่างไรจึงจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าอุทัยในการแต่งพระมัสสุของพระองค์ พระมเหสีจึงตรัสให้นายคังคมาลช่างกัลบกทำอย่างที่พระเจ้าอุทัยทรงพอพระทัย และให้ทูลขอพร ให้ตรัสบอกเนื้อความของคาถาที่พระองค์ทรงเปล่งอุทาน
เมื่อช่างกัลบกทูลถาม ทั้งๆ ที่พระเจ้าอุทัยก็ทรงละอายที่พระองค์ได้รับผล ของกรรมทำให้เกิดเป็นพระเจ้าอุทัยเพียงจากกุศลกรรมเล็กน้อยเหลือเกิน และ ในอดีตชาติก็เป็นเพียงบุรุษรับจ้าง แต่พระเจ้าอุทัยทรงกลัวมุสาวาทกรรม จึงตรัสเล่า ให้นายคังคมาลฟังว่า ในภพก่อน พระองค์เกิดเป็นคนจนที่เมืองพาราณสีนี้ แต่ก็มีศรัทธารักษาศีลอุโบสถศีลครึ่งวัน เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ได้เกิดเป็นพระเจ้าอุทัย สหายของพระองค์ คือ พระเจ้าอัฑฒมาสกราช ละกามราคะบวชแล้ว ส่วนพระองค์เป็น คนประมาทหลงครองราชย์สมบัติอยู่ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเปล่งอุทานคาถานั้น
ภายหลังเมื่อนายคังคมาลได้เห็นโทษของกาม ก็รู้ว่าควรจะมีที่พึ่งยิ่งกว่านั้น คือ การอบรมเจริญกุศล ก็ทูลลาไปบวช และภายหลังได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๗ ตอนที่ ๒๐๖๑ – ๒๐๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2020
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2080
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081