แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
ครั้งที่ ๒๐๗๑
สาระสำคัญ
เวลามสูตร ประโยชน์สูงสุดของกุศลขั้นต่างๆ
มาตุสูตร เหตุปัจจัยที่จะทำให้ล่วงทุจริตกรรม
ปฐมราชสูตร การรักษาอุโบสถ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๔
สุ. บางท่านฟังธรรมมาก นาน แต่ก็ยังเป็นผู้ที่พูดไม่จริง ไม่มีสัจจะ หรือว่ามีมายาหลอกลวง แสดงให้เห็นว่า เป็นเพียงได้ยิน แต่ไม่ได้พิจารณาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอย่างนั้นในขณะนั้นตามความเป็นจริง
ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ก็เพื่อรู้จักตัวจริงของธรรม ไม่ใช่เพียงแต่รู้เรื่อง ของธรรม เพราะถ้าเป็นเพียงการรู้เรื่องของธรรม ทุกคนก็กล่าวถึงลักษณะของ อกุศลจิต ๑๒ ดวงได้ว่ามีอะไรบ้าง เกิดกับเจตสิกที่เป็นอกุศลกี่ดวง แต่เวลาที่ อกุศลจิตเกิดจริงๆ ไม่รู้ตัวจริง เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็เพื่อให้รู้ตัวจริงของธรรม ไม่ใช่เพียงรู้เรื่องของธรรมเท่านั้น
ข้อความต่อไป ใน เทวตาสูตร ข้อ ๒๒๓ มีว่า
เทวดาอีกพวกหนึ่งกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันสิ่งของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตลง สดับธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ และรู้อรรถ รู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานบริบูรณ์ ไม่มีความกินแหนงใจ ไม่มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดา ชั้นประณีต
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่ง อย่าประมาทเลย อย่ามีความเดือดร้อนใจในภายหลังเหมือนเทวดาพวกต้นๆ เหล่านั้น
จบ เทวตาสูตรที่ ๙
ท่านผู้ฟังก็คงจะไปเป็นเทวดากันเมื่อเป็นผลของกุศล ซึ่งไม่ทราบชั้นไหน และ คงจะระลึกถึงกรรมที่ทำให้ต่างๆ กันไปว่า เป็นเทวดาที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นเทวดาชั้นประณีต หรือไม่ใช่เทวดาชั้นประณีต เพราะบางท่านที่กล่าวถึงมรณะสติ การระลึกถึงความตาย ไม่ใช่เพียงระลึกเรื่องตาย ระลึกเรื่องตายแล้วเกิดอะไรขึ้น แต่ขณะใดก็ตามที่ระลึกถึงความตายแล้วกุศลจิตเกิด ขณะที่กำลังโกรธ ถ้าระลึกถึงความตายแล้วไม่โกรธ เพราะตายแล้วก็จะเอาความโกรธติดตัวไปมากด้วย จะมีประโยชน์อะไร หรือกำลังริษยาแล้วระลึกถึงความตายก็ไม่ริษยา เพราะรู้ว่า ถ้าริษยาในขณะนั้น ตายไปก็มีริษยานั้นสะสมไปในชาติต่อๆ ไป
เพราะฉะนั้น การเจริญมรณะสติไม่ใช่นึกถึงเรื่องความตายเฉยๆ เท่านั้น แต่เมื่อนึกถึงความตายแล้วกุศลจิตอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดตามขั้นของปัญญา เช่น บางท่านเมื่อระลึกถึงความตายแล้ว สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ชั่วขณะหนึ่งมีสภาพธรรมหนึ่งปรากฏ ชีวิตสั้น เพราะว่าขณะที่กำลัง รู้ลักษณะของสภาพแข็ง หมดแล้ว เปลี่ยนเป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพเห็นที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น จะเข้าใจลักษณะของขณิกมรณะ คือ ความตายของสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นปรากฏสั้นๆ และหมดไปแต่ละขณะ
ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะไม่กลัวสมมติมรณะ เพราะรู้ว่าทันทีที่ตายก็เกิด และเห็นอีก ได้ยินอีก แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะสะสมกุศลที่จะสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้และเป็นผู้มีมรณะสติจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าระลึกถึงความตายเท่านั้น แต่ขณะใดที่เป็นผู้ที่ระลึกถึงความตาย ขณะนั้นกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด
ผู้ฟัง นึกถึงความตาย และก็นึกถึงสมบัติ แทนที่จะถอยจากอกุศลอื่นๆ หรืออกุศลทั้งหลายที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน อาจารย์พูดว่า ถ้านึกถึงความตายแล้ว ก็ควรลดเรื่องมายาบ้าง ริษยาบ้าง มานะบ้าง นี่ตรงมากเลย เอาไปใช้ได้เลย คือ รู้ตัวจริงของธรรม ที่เราฟังกันเรื่องมรณานุสสติ เรายังไม่รู้ตัวจริงของธรรม ที่จะรู้ตัวจริงของธรรม เมื่อนึกถึงความตายปุ๊บก็ให้กุศลจิตเกิดว่า ชีวิตนี้ก็มีอยู่เท่านี้ จะอะไรกันหนักหนา จะแก่งแย่งกันไปขนาดไหน หรือจะต้องไปพูดไม่จริงเพื่อได้ประโยชน์ต่างๆ ในทางทรัพย์สินหรือยศถาบรรดาศักดิ์ เมื่อนึกถึงความตายแล้ว เอาธรรมเรื่องมรณานุสสติที่อาจารย์พูดอยู่เดี๋ยวนี้ ไปใช้ได้เลยทันที
สุ. มรณสติ อย่าให้เพียงระลึกถึงความตาย แต่ต้องเป็นผู้ที่ขณะนั้น กุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบของจิต หรือการเจริญสติปัฏฐาน
ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เวลามสูตร เพื่อ ท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดของกุศลขั้นต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาค ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า
ดูกร คฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ๑๐๐ ท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ๑๐๐ ท่านบริโภค
ท่านที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ พระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ๑๐๐ ท่าน คือ พระโสดาบัน บริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามี ๑๐๐ ท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามี ๑๐๐ ท่านบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามี ๑๐๐ ท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคล เชื้อเชิญให้พระอนาคามี ๑๐๐ ท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ ๑๐๐ ท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทาน ที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ ๑๐๐ รูปบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ รูปบริโภค มีผลมากกว่าทาน ที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทาน ที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ รูปบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค
การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท…
ตอนท้ายของพระสูตรนี้มีข้อความว่า
การที่บุคคลเจริญอนิจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม
เพราะฉะนั้น ท่านที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐานจะทราบว่า การศึกษาทั้งหมดที่ ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องศีล ในเรื่องการอบรมความสงบ ของจิต เป็นการเจริญสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะเป็นผู้ที่ ถึงขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และอบรมเจริญปัญญา ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
นี่เป็นจุดประสงค์จริงๆ ของการฟังพระธรรมเพื่อดับกิเลส มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีหนทางอื่นเลย จะให้ทานสักเท่าไร หรือจะรักษาศีลสักเท่าไร แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ก็ยังดับกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ควรจะได้ระลึกอยู่เสมอว่า มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เข้าใจ และการฟังพระธรรมเรื่องอื่นทั้งหมด เพื่อการขัดเกลา เพื่อเป็นสังขารขันธ์ที่จะให้เห็นว่า สภาพธรรมในขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
และสำหรับการที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเมื่อกิเลสยังไม่ดับ เวลาที่มี เหตุปัจจัยของกิเลสประเภทใด กิเลสประเภทนั้นๆ ก็เกิด โดยที่บุคคลนั้นไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้ว่า วันไหนกิเลสระดับใดจะเกิด เพราะถ้ายังไม่มีปัจจัยกิเลสนั้นก็ ยังไม่เกิด
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มาตุสูตร ข้อ ๕๙๕ - ข้อ ๕๙๖ มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญ ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุมารดา ท่านผู้นี้ก็ไม่จงใจพูดมุสา แต่สมัยต่อมา เราเห็นเขา ถูกลาภสักการะและความสรรเสริญครอบงำย่ำยีจิตแล้ว ก็กล่าวมุสาทั้งที่รู้ได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญ ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักละลาภสักการะและความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้วเสีย และลาภ สักการะและความสรรเสริญที่เกิดขึ้น ก็จักครอบงำจิตของพวกเราตั้งอยู่ไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
จบ มาตุสูตรที่ ๗
ข้อความในพระสูตรนี้แสดงว่า แม้มารดาผู้เป็นที่รักเคารพถูกจับ และพวกโจรจะให้พูดเท็จจึงจะปล่อยมารดาที่จับไว้ไป แต่แม้กระนั้นในกาลนั้นบุคคลนั้นก็ ไม่พูดเท็จ ต่อมาภายหลังเมื่อได้ลาภสักการะและสรรเสริญ บุคคลนั้นก็เปลี่ยนไป เป็นเหตุทำให้ผู้นั้นกล่าวเท็จทั้งที่รู้ได้
แสดงให้เห็นการที่จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะสมัยหนึ่งเป็นบุคคลที่ดี เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยทำให้เป็นผู้ที่แพ้ต่อลาภสักการะ แต่สมัยต่อมาเมื่อมีลาภ สักการะและสรรเสริญ ซึ่งบุคคลนั้นเป็นผู้ที่พ่ายแพ้ต่อลาภสักการะและสรรเสริญ จึงมีปัจจัยที่จะให้ทำทุจริต พูดมุสาแม้รู้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ล่วงทุจริตกรรมได้
ข้อความอื่นๆ ในพระสูตรต่อไป เช่น ปิตุสูตร เรื่องของบิดา ภาตุสูตร เรื่องของพี่ชายน้องชาย ภคินิสูตร เรื่องของพี่สาวน้องสาว ปุตตสูตร เรื่องของบุตร ธีตุสูตร เรื่องของธิดา ปชาปติสูตร เรื่องของภรรยา ก็โดยนัยเดียวกัน
แสดงให้เห็นว่า ทางเดียวที่จะพ้นจากการล่วงทุจริตเมื่ออกุศลมีเหตุปัจจัย คือ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะเป็นผู้ที่ไม่แพ้ต่อลาภสักการะและสรรเสริญ
ถ. เคยฟังท่านอาจารย์กล่าวว่า ลาภ ยศ สักการะเหมือนขวานฟ้า อยากให้ท่านอาจารย์ขยายความ
สุ. ก็ฆ่าคนที่แพ้ต่อลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ
ถ. ลับขวานไม่ดีก็ …
สุ. ทำทุจริตกรรม
ถ. ขอบคุณ
สุ. เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ลาภก็ปรารถนา ยศก็ปรารถนา สรรเสริญก็ปรารถนา แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วถ้าเป็นผู้ที่แพ้ต่อลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ
ก็จะทำให้สามารถกระทำทุจริตกรรมได้
ถ. ขอถามเรื่องอุโบสถศีล ที่ผ่านมาผมถืออุโบสถศีลมาระยะหนึ่ง และ มาเลิกระยะหลัง เพราะว่ายังไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ มาตอนนี้ก็เริ่มต้นใหม่เพราะ ได้ฟังธรรมที่ว่า การเจริญกุศลจะต้องละอกุศลทั้งหมด และเจริญกุศลให้มากยิ่งๆ ขึ้น คำว่า เจริญกุศลให้มากยิ่งขึ้น หมายถึงเมื่อถือศีล ๕ ได้ ก็ควรจะถือศีลให้มากกว่านั้น ผมก็คิดว่า ควรจะถือศีล ๘ ได้ ก็ลองถือใหม่อีกครั้งหนึ่งซึ่งแต่ก่อนไม่ทราบว่า ถือเพราะอะไร อาจจะถือตามๆ กันมา ผมถือมาทุกวันพระ ต้องสมาทานต่อหน้าพระ มีอาจารย์บางท่านบอกว่า การถืออุโบสถต้องสมาทานด้วยการเปล่งวาจาออกมา หน้าพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ ข้อนี้จำเป็นไหมที่จะต้องสมาทานต่อหน้าพระสงฆ์ หรือพระพุทธรูป
สุ. ขอกราบเรียนถามพระคุณเจ้า เจ้าค่ะ
พระ ตามที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายเรื่องของการเจริญกุศลทุกขั้น โดยเฉพาะเรื่องของอุโบสถศีลจะต้องรู้จุดประสงค์ก่อนว่าเพื่ออะไร ในพระไตรปิฎกก็ทรงแสดงเรื่องการขัดเกลากิเลสอันยิ่ง แม้ท้าวสักกะกล่าวก็ยังไม่ใช่ภาษิตที่ถูกต้อง การกล่าวนั้นควรเป็นของพระอรหันต์ ซึ่งชักชวนให้บุคคลทั้งหลายรักษาศีลอุโบสถเยี่ยงกับความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า บุคคลรักษาศีลจะต้องกล่าวต่อหน้าพระพุทธรูปหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของบุคคลนั้นว่า ยินดีจะขัดเกลาอย่างไร และเข้าใจแค่ไหนในเรื่องการขัดเกลากิเลส ซึ่งการขัดเกลากิเลสอันยิ่งของพระอรหันต์นั้น ความเป็นอยู่ของท่านนั้นยิ่งกว่าศีล ๕ เพราะท่านเห็นโทษของ กามคุณต่างๆ จึงออกจากเรือน ยินดีในการหาเครื่องป้องกันไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้อง ในเรื่องของเรือนซึ่งมีความวุ่นวายมาก เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า จะต้องสมาทานกับ พระพุทธรูปหรือเปล่า คงตอบตนเองได้ว่า ไม่เกี่ยวเนื่องกัน ขึ้นอยู่กับการศึกษา พระธรรมจนเข้าใจจุดประสงค์ อย่างที่โยมบอกว่า จะรักษาศีล ๕ ให้ดียิ่งกว่าเก่า ก็เป็นความคิดที่ดี ในเมื่อศีล ๕ เรายังขาดตกบกพร่องอยู่มาก สังเกตจิตว่า แม้กระทั่งถือศีล ๕ เรามีความจริงใจแค่ไหนในการที่จะขัดเกลากิเลส
สุ. ไม่ทราบท่านผู้ฟังเป็นห่วงกังวลเรื่องอะไรหรือเปล่า ในการที่จะต้องทำให้ถูกตามแบบแผน
ถ. มีความยึดติดในสิ่งสมมติ คือ กังวลว่า ในพระไตรปิฎกเขียนไว้หรือ ไม่ว่า ต้องเปล่งวาจาต่อหน้าพระพุทธรูป
สุ. ถ้าท่านผู้ฟังมีความตั้งใจที่จะสมาทาน สมาทาน คือ ถือเอาเป็น ข้อปฏิบัติ ก็ย่อมกระทำได้ หมายความว่าท่านแสดงความประสงค์ตั้งใจที่จะรักษาอุโบสถศีล แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่กระทำอย่างนั้นแล้วจะผิด เพราะการรักษาอุโบสถศีลก็เป็นไปตามเจตนา ขณะที่เจตนาที่จะรักษาอุโบสถศีลก็เป็นเจตนาแล้ว จะกล่าวหรือไม่กล่าว ต่อหน้าหรือลับหลังอย่างไรก็เป็นเจตนา แม้ในชาติก่อนๆ ที่บุคคลในอดีตได้รักษาอุโบสถศีล เช่น พระเจ้าอุทัย ในสมัยที่ท่านรับจ้างทำงานที่ บ้านท่านเศรษฐีชื่อสุจิปริวาร ท่านก็รักษาอุโบสถศีลตามบุคคลอื่น และไม่ได้กล่าวถึงพิธีต่างๆ
พระคุณเจ้ามีอะไรจะเพิ่มเติมไหมเจ้าคะ
พระ อาตมาจะเสริมเรื่องพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาว่า การสมาทาน กับพระภิกษุนั้นจำเป็นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้กล่าวว่า ไม่จำเป็นก็ได้ หรือหากมีศรัทธา ในขณะที่พระภิกษุกำลังกล่าวการสมาทานศีล ในขณะนั้น ถ้ามีศรัทธาจะเปล่งวาจาต่อหน้าพระภิกษุด้วยก็ได้ แต่ไม่มีกำหนดเป็นพิธีกรรมว่า อุโบสถศีลจะต้องเปล่งวาจาต่อหน้าพระภิกษุหรือพระพุทธรูป ไม่มีกล่าวไว้เลย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๘ ตอนที่ ๒๐๗๑ – ๒๐๘๑
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2020
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2080
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081