แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
ครั้งที่ ๒๐๗๖
สาระสำคัญ
ทุกบารมี มีโลภะเป็นปฏิปักษ์
จริยาปิฎก ปกิณณกกา - บุคคลผู้มีฉันทะใหญ่ยิ่ง
ธรรมสโมธาน ๘ ประการ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๕
ถ. เรื่องอธิษฐานบารมี ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องความมั่นคงก็เข้าใจ แต่ภาษาชาวบ้าน อธิษฐานตัวนี้ ผิดจากนี้ไปโดยสิ้นเชิง หรือว่าโยงใยกันอยู่
สุ. อย่างบางท่านที่ให้ทานแล้วอธิษฐานขอผลของทานให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ก็หมายความว่าผู้นั้นมีความต้องการอย่างมั่นคงจึงขอให้เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่ขออย่างอื่น ทำไมอธิษฐานเฉพาะอย่าง ก็หมายความว่าต้องการสิ่งนั้น อย่างมั่นคง
ถ. แล้วดีหรือไม่ดี
สุ. ถ้าเป็นไปในกุศล เป็นสิ่งที่ควร
ถ. ถ้าอธิษฐานขอให้เป็นพระราชินี
สุ. โลภะหรือเปล่า
ถ. แม้ไม่รู้ ก็ได้นี่
สุ. ได้ แล้วเป็นโลภะหรือเปล่า
ถ. ได้ก็ดี
สุ. ถ้าให้หมดกิเลส
ถ. ไม่หมดแน่
สุ. เพื่อวันหนึ่งจะได้มีโอกาสบรรลุถึงการดับกิเลส ให้มีโอกาสเกิดปัญญา ให้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ให้มีโอกาสละคลายกิเลสได้มากๆ ถ้าอธิษฐานบารมีแล้วต้องเป็นไปในกุศลซึ่งจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
ถ. ขอถามตรงๆ เลย เพราะผมยังไม่ถึงกับจะตัดกิเลส ทำบุญอย่างดีเลย และอธิษฐานให้ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ ออกจากนิโรธสมาบัติ ก็อธิษฐานให้เป็นพระราชินี และกุศลอันนี้ก็ได้เป็น
สุ. ใคร
ถ. ผมก็จำไม่ได้ ... ที่ถวายน้ำผึ้งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วอธิษฐาน
สุ. แล้วตอนไหนเป็นกุศล
ถ. กุศลตอนถวาย
สุ. ตอนไหนเป็นอกุศล
ถ. อกุศลอย่างละเอียด ก็ตอนอธิษฐานจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
สุ. กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลต้องเป็นอกุศล
ถ. สรุปพูดกับชาวบ้าน จะสอนเขาอย่างไรดี หรือให้หลุดพ้นอย่างเดียวดี
สุ. เวลาที่พระผู้มีพระภาคได้รับนิมนต์ไปเสวยภัตตาหาร หรือพระภิกษุทั้งหลาย พระสาวกทั้งหลาย เมื่อฉันภัตตาหารแล้ว ท่านอนุโมทนาโดยการแสดงเหตุและผล เมื่อเหตุเป็นกุศล ผลที่ได้รับก็ต้องเป็นกุศลวิบาก แสดงสัจจะ คือ ความจริงโดยเหตุและโดยผล
เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงธรรมกับใคร ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือใครก็ตาม ก็ให้เขาเข้าใจให้ถูกในเรื่องของเหตุที่เป็นกุศลว่าจะต้องนำมาซึ่งผลคือกุศลวิบากแน่นอน และถ้าเขาทำอกุศล แม้ว่าเขาจะขอร้องหรืออธิษฐานสักเท่าไร ย่อมไม่ได้ตามความปรารถนา แต่เมื่อกุศลเป็นเหตุมี ผลคือกุศลวิบากย่อมมี แม้ไม่ขอก็ต้องมี แล้วทำไมต้องขออีก ในเมื่อมีเหตุ ผลก็ต้องมี จะเอาผลไปทิ้งไว้ที่ไหน
ถ. ผลมี แต่ไม่ตรงกับที่ต้องการ
สุ. บางคนอาจจะคิดว่า น้อยไป ใช่ไหม
ถ. ไม่ใช่น้อย แต่ไม่ตรง
สุ. ตรงอย่างไร
ถ. ตรง คือ อยากให้เป็นอย่างนี้ แต่เป็นอย่างโน้น
สุ. น้อยไปหรือเปล่า
ถ. ถ้าไม่ตรงก็น้อย
สุ. ผลที่ต้องการนั้นใหญ่ไหม
ถ. ใหญ่ เป็นพระราชินีนี่ใหญ่มาก
สุ. และเหตุใหญ่ไหม ต้องทำเหตุให้เสมอกับผลที่จะได้รับด้วย และ ในขณะเดียวกันต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล สัจจธรรมจริงๆ คือ เมื่อกุศลซึ่งเป็นเหตุมี ผลคือกุศลวิบากต้องมีแน่นอน จะขอหรือไม่ขอก็ตามแต่ เพราะฉะนั้น ทำไมจะต้องมีอกุศลด้วยในเมื่อจะได้รับกุศลวิบากนั้นอยู่แล้ว เพราะว่า มีเหตุคือกุศลแล้ว
ถ. ก็จะได้ไม่ตรงกับที่ต้องการ
สุ. นั่นแหละ คืออะไร
ถ. โลภะ เป็นอกุศล
สุ. เพราะฉะนั้น ก็ไม่ถึงฝั่ง ก็เวียนว่ายไป
ถ. สรุปแล้ว ผมฟังอาจารย์ จะให้ถึงฝั่ง ทั้งหมดเป็นกุศลได้อย่างเดียว คือ ตั้งใจอธิษฐานด้วยความมั่นคงเพื่อความหลุดพ้นเท่านั้น นอกเหนือจากนี้เป็นโลภะ เป็นอกุศล ใช่ไหม
สุ. และต้องทราบด้วยว่า บารมีทุกบารมี มีโลภะเป็นปฏิปักษ์
ถ. อย่างให้เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แบบนี้คงโลภะแน่
สุ. ไม่ใช่ให้เจริญด้วย เจริญอยู่แล้ว เพราะเหตุมีแล้ว ไม่ต้องไปให้ ให้ได้อย่างไร คุณชินวุฒิจะให้คนอื่นได้ไหม
ถ. ตรงนี้เข้าใจ
สุ. เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นไม่ได้ให้ เพียงแต่แสดงเหตุและผลเท่านั้นเองว่า เมื่อเหตุที่ดีมี ผลที่ดีก็มี และผลที่ดีก็คืออย่างนั้นๆ
ถ. ตอนท้ายที่พระอวยพร ให้ผลแห่งกุศลนั้นเป็นไปตามที่ปรารถนา เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตอนจบนี่เป็นอกุศลหรือกุศล
สุ. แสดงผลของกุศลว่า ผลของกุศลย่อมนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ
ถ. ตามที่อธิษฐานหรือเปล่า
สุ. ทุกคนก็ต้องการสิ่งที่ดีทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครต้องการสิ่งที่ไม่ดี
ถ. เป็นอกุศล ใช่ไหม
สุ. ทุกคนยังมี จนกว่าจะถึงฝั่ง
ถ. สรุปรวมความว่า การอธิษฐานของชาวบ้าน ถ้าจะเป็นกุศลต้องถึงฝั่งอย่างเดียว ใช่ไหม
สุ. เรื่องที่เป็นไปในกุศลทั้งหมด ขอให้เกิดปัญญา ขอให้มีความเห็นถูก ขอให้ได้ฟังพระสัทธรรม ขอให้เกิดในประเทศที่มีพระสัทธรรม หรือแม้แต่ขอให้ พระสัทธรรมจงรุ่งเรือง ความคิดอย่างนั้นก็เป็นกุศล มีทางใดที่จะช่วยกันทำให้ พระสัทธรรมรุ่งเรือง นั่นคือเจตนาของผู้ที่ทำกุศลก็ได้
ถ. อย่างท่านสุเมธดาบสท่านคิดว่า ถ้าจะเป็นพระอรหันต์สาวกก็ กระทำได้ แต่ก็ได้ขอเป็นพระพุทธเจ้า ขออย่างนี้เป็นกุศลหรืออกุศล
สุ. เป็นพระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นโดยง่าย ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทน มีบารมี ที่ยิ่งใหญ่จริงๆ มิฉะนั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ ต้องเป็นผู้ที่เสียสละอย่างมาก สำหรับผู้ที่เป็นสาวก อย่างบำเพ็ญบารมีเป็นมหาสาวกก็หนึ่งแสนกัป แต่ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างน้อยที่สุดต้อง ๔ อสงไขยแสนกัป
เพราะฉะนั้น ใครจะเป็นเพียงสาวกซึ่งน้อยกว่าแสนกัปก็ได้ ถ้าไม่ถึงมหาสาวก หรือใครพร้อมที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะต้องบำเพ็ญบารมี อย่างละเอียด อย่างมาก อย่างพิเศษ อย่างเกินกว่าบุคคลทั้งหลายแล้ว ก็ต้องบำเพ็ญถึง ๔ อสงไขยแสนกัป
ถ. ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล
สุ. คิดดู ถ้าจะช่วยคนอื่น เป็นกุศลหรืออกุศล
ถ้าเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยที่ไม่ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็สามารถดับกิเลสได้ แต่ไม่สามารถพร้อมด้วย พระญาณต่างๆ ซึ่งในกาลสมบัติมีบุคคลอีกมากมายหลายแสนหลายโกฏิ นับไม่ถ้วนที่พระองค์สามารถให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ และแม้ว่าพระผู้มีพระภาค ได้ทรงตรัสรู้ถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งเป็นเวลานานมากแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่พระธรรมคือคำสอนของพระองค์ยังดำรงอยู่ ก็ยังมีผู้ที่สามารถศึกษา สามารถเข้าใจ สามารถที่จะไม่หลงผิด สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญารู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ ตราบใดที่พระสัทธรรมยังไม่อันตรธาน
แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณา ซึ่งบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถกระทำได้ เพราะฉะนั้น จะเป็นกุศล หรือไม่ใช่กุศล ถ้ามีความกรุณา ถึงอย่างนี้ที่จะช่วยคนอื่น
ถ. ไม่สามารถจะเดา
สุ. ไม่ต้องเดา เพียงเท่านี้ก็เห็นพระมหากรุณาแล้วว่า ต้องเป็น พระมหากรุณามากจริงๆ เวลานี้บางคนอาจจะกรุณาเพียงท่านที่กำลังลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์ยาก แต่แม้ผู้ที่ไม่ลำบาก ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ทุกข์ยาก สำหรับ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีพระมหากรุณาที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากการเกิด พ้นจากการติด พ้นจากความทุกข์ใจที่เร่าร้อน
ถ. ตอนนั้นท่านสุเมธดาบสยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า
สุ. แต่ทราบว่ามีการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีพระพุทธเจ้า คือ พระทีปังกรพุทธเจ้าด้วย
ถ. ถ้าเป็นไปในกุศลก็หมายความว่า ที่อาจารย์เติมประโยคขึ้นมาว่า เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่ที่ผมถามนั้น อยากเป็นพระพุทธเจ้า ท่านปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคล คิดว่าในขณะนั้นท่านสุเมธดาบสยังไม่ถึงขั้น ปหานสักกายทิฏฐิได้ ผมคิดว่าเป็นเช่นนั้น
สุ. แต่ต้องเป็นความละเอียด เพราะว่าความอยากของคนมีมาก คนที่ไม่มีปัญญาอยากง่ายมาก เห็นอะไรก็อยาก เพียงได้ยินคำว่า นิพพาน ก็อยาก ได้ยินว่า ปฏิบัติ ก็อยาก แต่คนที่มีปัญญาแล้วมีฉันทะ ต้องมีการไตร่ตรอง ต้องมีการเห็นประโยชน์ ต้องมีการเสียสละ ต้องเป็นผู้ที่มีฉันทะยิ่งใหญ่จริงๆ จึงสามารถปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นความปรารถนาที่สูงยิ่งกว่าความปรารถนาอื่นใดทั้งสิ้น และกว่าจะถึงได้ ไม่ใช่ถึงได้ด้วยความอยาก แต่จะต้องถึงได้ด้วยการบำเพ็ญบารมีทุกประการ
ถ. อย่างผมอยากจะเป็น เป็นอกุศล และผมก็ไปทำตามที่ท่านอาจารย์พูด คือ เจริญกุศลทุกประการ มีความมั่นคงอยากจะเป็น สมมติขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าอย่างนั้นอกุศลก็ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้หรือ
สุ. ไม่ได้ เพราะถ้าเพียงอยาก ไม่พอ เพราะผู้ที่เพียงคิดว่า อยากจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีทางสำเร็จเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
การปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติประการใดบ้าง มีข้อความโดยละเอียดใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ซึ่งเริ่มตั้งแต่การตั้งความปรารถนา และขณะที่ปรารถนานั้นจะต้องพร้อมด้วยอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าใครก็อยากได้ หรือในขณะนี้ ถ้าใครจะอยาก ก็ไม่สำเร็จ ยังไม่ชื่อว่าตั้งปณิธานหรือมีมหาอภินิหารที่จะทำให้สำเร็จได้
ถ. ถ้าผมเป็นท่านสุเมธดาบส ผมคิดว่า เป็นพระอรหันต์สาวกก็ช่วยเหลือคนอื่นได้ แล้วก็ปรินิพพาน และถึงแม้จะเป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า ก็ปรินิพพานเหมือนกัน ถ้าคิดจะช่วยเหลือก็น่าจะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ช่วยเหลือ ช่วยพระทีปังกรพุทธเจ้าไปก็ได้นี่
สุ. อีกนานแสนนานกว่าความคิดนี้จะค่อยๆ ประกอบด้วยปัญญา ทีละเล็กทีละน้อย ทีละชาติ จนกระทั่งถึงความสมบูรณ์ถึงกาลที่จะตั้งปณิธานได้ พร้อมด้วยคุณสมบัติต่างๆ และกว่าจะบำเพ็ญบารมีต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ความคิดเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ยังไม่พร้อม ยังจะต้องสะสมประกอบด้วยปัญญาอีกมาก ในแต่ละชาติ
ถ. อย่างที่ฝรั่งบอกว่า ไม่มีปุถุชนคนใดที่มาหาพระเจ้าโดยไม่ขอ
สุ. ที่นี่ไม่มีพระเจ้า
ขอกล่าวถึงข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เพื่อแสดงให้เห็นบุคคลผู้มีฉันทะใหญ่ยิ่ง ใหญ่หลวง ในการที่จะปรารถนาความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้อความมีว่า
พึงทราบความที่ฉันทะเป็นความใหญ่หลวง ในบทว่า ฉนฺทตา นี้ โดยนัย มีอาทิดังต่อไปนี้
บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดสามารถข้ามท้องจักรวาลนี้ทั้งสิ้น อันมีน้ำท่วมนอง เป็นอันเดียวกัน ด้วยกำลังแขนของตนเท่านั้นแล้วจะถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักข้ามถึงฝั่งได้ ไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย
อนึ่ง บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดเหยียบจักรวาลนี้ทั้งสิ้น อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลวไฟ ปราศจากควันไฟ ด้วยเท้าทั้งสองสามารถก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย
ไม่ท้อถอย ไม่แสดงความไม่พอใจแม้เล็กน้อย แม้จะได้ฟังมาว่า การที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะต้องข้ามท้องจักรวาลทั้งสิ้นที่มีน้ำท่วมนอง เป็นอันเดียวกันด้วยกำลังแขนของตนแล้วจะถึงฝั่งได้ เท่านั้นก็เป็นที่พอใจแล้ว ที่จะมีความเพียรถึงความเป็นพระพุทธเจ้า หรือผู้นั้นจะต้องเหยียบจักรวาลทั้งสิ้น ไม่ใช่โลกนี้โลกเดียว จักรวาลทั้งสิ้น อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงปราศจากเปลวไฟ ด้วยเท้าทั้งสองสามารถก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักก้าวเลยไปถึงฝั่งได้
ข้อความต่อไป
อนึ่ง บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดทะลุจักรวาลนี้ทั้งสิ้นปกคลุมด้วยพุ่มไม้ไผ่หนาทึบ รกรุงรังไปด้วยป่าหนามและเถาวัลย์ แล้วก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักถึงฝั่งได้ เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย
อนึ่ง บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดที่หมกไหม้ในนรกตลอดอสงไขยแสนกัป จะพึงบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักหมกไหม้ในนรกนั้นแล้วบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย
พร้อมไหม และถึงแม้จะคิดว่าทำได้ แต่ยังไม่มั่นคง ยังจะต้องสะสมด้วยปัญญาอย่างละเอียดต่อไปจนกว่าจะถึงคุณสมบัติที่พร้อม ซึ่งเมื่อได้เฝ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยคุณสมบัติครบที่จะตั้งปณิธานได้ จึงจะ เริ่มตั้งปณิธานที่จะบำเพ็ญบารมี
ถ. หมายความว่า แม้จะตกนรกก็ยอม
สุ. แสดงให้เห็นถึงความยาวนานที่กว่าจะได้บำเพ็ญบารมีพร้อม แสดงถึงความไม่ท้อถอย
พระ คุณสมบัติของผู้ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ตามข้อความที่ว่า แม้ตกนรกหมกไหม้ตลอดเวลายาวนานก็ไม่หวั่นไหว แสดงว่าท่านจะต้องมีอภิญญา ท่านย่อมรู้ผลของกรรมว่า นรกนั้นร้อนขนาดไหน มีกำลังมากขนาดไหน ท่านรู้ ยิ่งกว่าเราว่านรกนั้นจะร้อนขนาดไหน และท่านยังเข้าใจว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อได้ ทำกรรมที่จะไปนรกแล้ว เพราะฉะนั้น ในระยะเวลาก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งปรารถนาอยู่ ก็ต้องเป็นเวลาอันยาวนาน และท่านรู้ตามความเป็นจริงด้วย เพราะฉะนั้น ท่านย่อมไม่หวั่นไหวในขณะที่จะต้องไปนรกแน่ๆ แล้ว ซึ่งเป็นเวลา อันยาวนาน ถ้าเป็นเราเจอไฟร้อนๆ ในเตา แค่เอามือใส่ลงไป ก็คงจะไม่ยอมเป็นแล้ว อาตมาคิดว่า ประกอบด้วยเหตุและผลจริงๆ ตามที่ได้แสดงคุณสมบัติมา
สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการคิดชั่วครั้งชั่วคราว หรือคิดเล่นๆ หรือคิดว่าการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นได้โดยไม่ยาก แต่จะต้องเห็นจริงๆ ว่า ยากแสนยากกว่าจะได้บำเพ็ญบารมีที่จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ตามปกติ สามารถที่จะละคลายดับอกุศลได้หมดเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
และสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็น อภินิหารใหญ่ สำเร็จเพราะ ธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ลิงคสมบัติ ๑ เหตุ ๑ เห็นพระศาสดา ๑ บรรพชา ๑ คุณสมบัติ ๑ อธิการ ๑ ความพอใจ ๑
ความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เป็นมนุษย์ ปรารถนาไม่สำเร็จ
ลิงคสมบัติ ต้องไม่เป็นสตรีในชาติที่ปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหตุ คือ ต้องถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ไม่ใช่เพียงแต่อยากนิดๆ หน่อยๆ แต่ต้องถึงพร้อมจริงๆ
เห็นพระศาสดา คือ มีพระศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เฉพาะหน้า และความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ผู้ปรารถนาในสำนักของพระพุทธเจ้าซึ่งยังทรง พระชนม์อยู่ ไม่ใช่เมื่อปรินิพพานแล้ว ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ความปรารถนาย่อมไม่สำเร็จในสำนักของ พระเจดีย์ ที่โคนโพธิ์ ที่พระปฏิมา หรือที่สำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวก ของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุไร เพราะไม่มีอธิการ คือ วิสัยที่ทำยิ่ง มีกำลัง ความปรารถนาจะสำเร็จในสำนักของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะอธิการนั้นยังไม่ถึงความมีกำลังโดยความเป็นอัธยาศัยอันยิ่ง
แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ได้พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ความคิด ความปรารถนาก็ยังไม่มีกำลังพอ
ประการต่อไป บรรพชา คือ ต้องเป็น ผู้บวชในสำนักของดาบสหรือ ในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นกรรมวิริยวาที คือ ผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม ไม่สำเร็จแก่ผู้ตั้งอยู่ในเพศคฤหัสถ์
แม้แต่ในเวลาที่ตั้งปณิธานเพื่อจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต เพศบรรพชิตต้องมีความมั่นคงมากกว่า ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่เป็น ผู้ที่บรรพชา ความปรารถนานั้นก็ไม่สำเร็จ
ประการต่อไป คุณสมบัติ
บทว่า คุณสมฺปตฺติ คือ ถึงพร้อมด้วยคุณ มีอภิญญาเป็นต้น
ไม่ใช่อยากเท่านั้น
เพราะความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่บรรพชิตผู้ได้สมาบัติ ๘ มีอภิญญา ๕ เท่านั้น ไม่สำเร็จแก่ผู้ปราศจากคุณสมบัติตามที่กล่าวแล้ว เพราะเหตุไร เพราะสามารถค้นคว้าบารมีได้ พระมหาบุรุษบำเพ็ญอภินิหาร เป็นผู้สามารถค้นคว้าบารมีได้ด้วยตนเอง เพราะประกอบด้วยอุปนิสัยสมบัติและอภิญญาสมบัติ
ประการต่อไป อธิการ
บทว่า อธิกาโร คือ มีอุปการะยิ่ง ผู้ใดแม้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติตามที่ กล่าวแล้ว แม้ชีวิตของตนก็สละแด่พระพุทธเจ้าได้ ย่อมทำอุปการะอันยิ่งในกาลนั้น อภินิหารย่อมสำเร็จแก่ผู้นั้น ไม่สำเร็จแก่คนนอกนี้
อย่างตอนที่ท่านสุเมธดาบสได้ทอดกายลงระหว่างทางที่พระพุทธเจ้าจะ เสด็จผ่านซึ่งยังทำไม่เสร็จ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๘ ตอนที่ ๒๐๗๑ – ๒๐๘๑
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2020
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2080
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081