แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
ครั้งที่ ๒๐๒๔
สาระสำคัญ
ผู้ไม่พักและไม่เพียร
เจริญปัญญาเพื่อจะรู้จักโลภะตามความเป็นจริง
ทุกข์มาจากกิเลส
บารมีทั้งหลายเป็นบริวารของปัญญา
สนทนาธรรมที่โรงแรมฮินดูสถาน กัลกัตตา
วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๓
สุ. ข้อสำคัญต้องเข้าใจว่า สภาพธรรมมีจริงและกำลังปรากฏ และที่เกิดมาก็เป็นสภาพธรรมทั้งนั้น แต่ปัญญาที่จะรู้อย่างนี้ ต้องอาศัยการฟัง การคิดพิจารณา และการอบรมจริงๆ เพราะถ้าใครเพียงฟังเข้าใจแต่ไม่อบรม ก็ผ่านไปอีก ถ้าฟังแล้ว คิดพิจารณาเข้าใจ แต่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ยังไม่ถึงระดับขั้นที่จะเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมจริงๆ
ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนที่จะรู้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น ยิ่งฟัง ในขณะที่ฟังก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่เพียงเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือเสียงที่กระทบนิดเดียวและหมดไป และก็มีแข็งที่กำลังปรากฏ และก็มี การนึกคิดต่างๆ ก็ล้วนเป็นสภาพธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏนั่นแหละ ก็ต้องเป็นเรื่องยากแสนยาก ละเอียดแสนละเอียด ซับซ้อน แสนซับซ้อน เพราะว่าเป็นเรื่องที่วิชชาจะต้องต่อสู้กับโลภะโดยตลอด และโลภะก็มีหลายรูปแบบ โลภะตั้งแต่ทำให้เขวไปหาหนทางอื่น โลภะที่ต้องการผลเร็วๆ โลภะที่ต้องการทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้ารู้ตัวโลภะแล้ว ก็สบายๆ หมายถึงเป็นผู้ไม่พักและไม่เพียร ทั้ง ๒ อย่าง คือ ถ้าพักก็จมไปด้วยอกุศล เดี๋ยวเราก็ไปสนุกสนาน เพียร เราก็ไปคร่ำเคร่งเกินไป ไม่ใช่ทั้ง ๒ ทาง แต่เป็นเรื่อง รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และสภาพธรรมตามความเป็นจริงมีโลภะ ทุกระดับ ตั้งแต่ซื้อของจนกระทั่งใส่เกลือลงไปในอาหารก็เป็นโลภะทุกระดับอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง
นีน่า อาจารย์บอกว่า ใส่เกลือเป็นโลภะแล้ว ดิฉันใส่เกลือบ่อยๆ ชอบมาก ไม่คิดเลยว่าเป็นโลภะแล้ว
ผู้ฟัง ไม่พักและไม่เพียร ถ้าเราพักหมายถึงกามสุขัลลิกานุโยค และ เพียรมากเกินไปก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค
ถ. อุบาสกต้องทำมาหากิน ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธา ไม่พักและไม่เพียร ถ้ามุ่งทำงานอย่างเดียว หรือมุ่งธรรมอย่างเดียว จะเป็นอย่างไร
สุ. นี่ไม่ใช่ชีวิตของอุบาสก คือ คนส่วนใหญ่ยังคิดว่า พระธรรมไม่ใช่ชีวิตประจำวัน แต่ตามความเป็นจริง พระธรรมเป็นสภาพธรรมที่ตรง จริง โลภะมี ก็ต้องมีเพราะมีอวิชชา ไม่ใช่โดยไม่มีปัญญาและจะไม่ให้มีโลภะ ไม่ให้มีอวิชชาเลย นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่
พระพุทธเจ้าท่านทรงทราบว่า มีอัธยาศัยต่างกันเป็น ๒ เพศ คือ บรรพชิต กับคฤหัสถ์ สำหรับคฤหัสถ์ท่านไม่เคยบอกท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเลยว่า ให้ทำอย่างบรรพชิต แต่ให้มีธรรมของคฤหัสถ์ ของอุบาสกที่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย อุบาสกอย่างท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านเป็นพ่อค้า ท่านมีธุรกิจของท่าน ท่านไปเมืองราชคฤห์ทั้งๆ ที่ท่านอยู่เมืองสาวัตถี ท่านไปค้าขาย ไปทำกิจธุระของท่าน แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อได้ยินคำว่า พุทโธ ความปลาบปลื้มของท่านจรดกระดูก เพราะท่านเคยสะสมมารู้ว่า คำนี้มีความหมาย ไม่ใช่เป็นคำธรรมดา แต่ต้องเป็น ผู้บำเพ็ญบารมี มีปัญญาที่จะช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ ให้สามารถเข้าใจสภาพธรรมได้
อย่างเรามีกิจธุระกันทุกคน มีญาติพี่น้อง มีเพื่อนฝูง มีการงาน มีสามี มีภรรยา มีบุตรธิดา แต่เราไม่ละเว้นธรรม ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการไตร่ตรอง เรารู้ว่า ห้ามโลภะไม่ได้ ในขณะเดียวกันเราเจริญปัญญาเพื่อรู้จักโลภะตามความ เป็นจริง เรามีโทสะ เราห้ามโทสะไม่ได้ ขณะเดียวกันเรารู้ว่า มีหนทางเดียว คือ อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้จักโทสะตามความเป็นจริง ไม่ได้ห้ามอะไรเลย เพียงแต่ ขอให้ทุกคนเจริญปัญญา เพราะว่าอย่างอื่นพึ่งไม่ได้เลย นอกจากปัญญาอย่างเดียว
คนที่มีเงินมีทอง มีสมบัติทุกอย่างก็มีทุกข์ ถ้าไม่มีปัญญา แต่ถ้ามีปัญญา แม้ไม่มีอะไรก็ไม่เป็นทุกข์ เราเห็นคนอินเดียแล้วเราสงสาร แต่ความจริงคนอินเดีย ที่เราสงสารมีสมบัติมากกว่าพระภิกษุ ภิกษุมีจีวร ๓ ผืน มีบาตร ไม่มีที่อยู่อาศัยเลย ถ้าไม่มีคนสร้างอารามให้ ท่านอยู่ใต้ต้นไม้ ท่านก็เป็นสุข แต่เรามาสงสารคนอินเดียที่ ไม่มีบ้าน เขาไม่มีบาตร เขาก็ยังมีช้อน มีอะไรๆ เข้าไปที่อยู่ของเขา ก็มีอะไร อีกหลายอย่าง เสื้อผ้าเราก็ไม่รู้ว่าเขามีแค่ ๓ ชุด หรือน้อยกว่านั้น หรือมากกว่านั้น แต่ใจของเขากับพระภิกษุต่างกัน
เพราะฉะนั้น เราจะบอกว่าพระภิกษุจนไม่ได้ หรือจะบอกว่าคนอินเดียจน คนอินเดียจนทางด้านจิตใจ ไม่ใช่ด้านวัตถุ เพราะว่าผ้า ๓ ผืนกับบาตร พอแล้ว อัฐบริขารจริงๆ สามารถอยู่ได้ เพราะว่าทุกข์จริงๆ คือ ทุกข์กายเท่านั้น ทุกข์อื่นไม่ใช่ทุกข์แท้ เป็นทุกข์เพราะความคิดนึกปรุงแต่งของเรา เรื่องความยากจน ก็คิดไป เราไม่เดือดร้อน ร่างกายไม่เจ็บป่วย เราไม่ได้ทุกข์ แต่ใจต่างหากที่ไปคิดว่า นี่เป็นทุกข์และเป็นห่วงเป็นใย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ทุกข์แท้ๆ คือ ทุกข์กายอย่างเดียว ทุกขทุกข์เท่านั้น แต่ความไม่รู้ปรุงแต่งให้ทุกข์มาอีกหลายรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะ ทุกข์กายอย่างเดียว ทุกคนลืมว่า ทุกข์มาจากกิเลส ทุกคนมีกิเลสเยอะ แสวงหามากๆ แสวงหาเหตุที่จะให้เกิดทุกข์โดยไม่รู้ว่านั่นคือทุกข์จริงๆ เพราะว่าจะนำมาซึ่งความไม่พอ โลภะเท่าไรก็ไม่เต็ม และเป็นเหตุให้เกิดโทสะด้วย และเราก็อยู่ในโลกของสังสารวัฏฏ์ เพราะว่ามีเหตุที่จะให้เกิด คือ โลภะยังเต็มเพียบอยู่ เราก็ต้องเกิดต่อไป
เหตุกับผลต้องตรงกัน เราจะมีอย่างไรก็ตาม เพราะเราสะสมมาอย่างนั้น แต่เรายังสามารถสะสมปัญญาเพิ่มเติมได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าใครหยุดสะสมปัญญา เมื่อนั้นคนนั้นก็หมดหนทางที่จะออกจากกองทุกข์
ถ. อาตาปี สัมปชาโน สติมา เป็นความเพียรในกุศล บางครั้งผมไม่ได้คิดเรื่องเจริญกุศลเลย คิดแต่ว่า ตอนนี้ต้องแก้ปัญหาอะไร ตอนนี้ต้องทำอะไร รู้สึกว่า กุศลนี่ถ้าไม่มีความเพียรเกิดยาก ไม่ค่อยอยากจะเกิดด้วย
สุ. เกิดยากกว่าอกุศลแน่นอน อย่างในวันนี้กุศลเกิดกี่ขณะ และอกุศลเกิดกี่ขณะ ปัญหาของคุณประวิทย์นี่ ต้องเข้าใจว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา หมายความถึงมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น เพราะว่าเป็นเอกายนมัคโค เป็นหนทางเดียว ซึ่งต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ และความเพียร สัมมาวายามะ
ถ. ถ้าไม่เพียร ก็เหมือนกับเราไม่มีความตั้งใจเลย ถ้าเราพยายาม ก็เป็นตัวตน ผมก็ทราบว่า ธรรมทั้งหลายอาศัยเหตุจึงเกิดขึ้น นี่เป็นเหตุของสิ่งนี้ ยอมรับการเกิดของปัญญาว่า ต้องฟังธรรม พิจารณาธรรม แต่หลายๆ ครั้งที่เรา ต้องไปประกอบอาชีพ ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร
สุ. เราไม่ใช่บรรพชิต การเป็นอุบาสกเราก็รู้ว่า ต้องมีกิจธุระ ถ้ากิจธุระ ของเรามีมาก เราอาจจะขาดการฟัง แต่กุศลไม่ใช่มีเฉพาะการฟังอย่างเดียว กุศลอื่นก็มี อย่างสติปัฏฐานสามารถจะแทรกได้ แล้วแต่ว่ามีเหตุที่จะให้สติปัฏฐาน เกิดหรือไม่ เพราะฉะนั้น การเข้าใจหนทาง คือ การอบรมเจริญปัญญา สำคัญที่สุด ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ไม่เข้าใจผิด ก็ยังมีปัจจัยทำให้สติเกิดบ้าง แม้ไม่มาก หรือ ความคิดของเราในเรื่องกุศลจิต อกุศลจิต เราก็ยังสามารถมีมนสิการรู้ในขณะที่ทำงาน อย่างงานของคุณประวิทย์ ก็สามารถมีเมตตาต่อลูกค้า มีสัจจะ มีความอดทน หรืออะไรพวกนี้ นั่นก็คือคุณประวิทย์กำลังเจริญกุศลโดยปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะว่าเราไม่สามารถให้สติปัฏฐานเกิดตลอดเวลา แต่เรารู้ว่า ชีวิตของอุบาสกที่ดี มีการเจริญบารมี ๑๐ ตั้งแต่ทานบารมี มีการให้ ปัญญาบารมี ศีลบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ถ้าเราเข้าใจเราและประพฤติปฏิบัติ แม้ว่าเราจะทำงาน ก็เป็นไปได้ คือ โอกาสของกุศลมี แม้แต่ความเป็นมิตร ถ้าลูกค้ามาหาคุณประวิทย์ คุณประวิทย์มีความเป็นมิตรกับลูกค้าอย่างจริงใจ แค่นี้ก็ กำไรมหาศาล กำไรมหาศาลในที่นี้ คือ กุศลจิตเกิดแม้ในขณะที่กำลังทำงานด้วย
ทุกขณะของคนที่มีปัญญาจะรู้ว่า บารมีทั้งหลายเป็นบริวารของปัญญา ในเมื่อเราฟังธรรมเข้าใจแล้ว เรื่องจิต เจตสิก แม้บางโอกาสอาจจะไม่มีการฟัง เพราะว่าเราต้องนอนดึก เราต้องทำงานมาก งานเร่งรัดก็จริง แต่เราปฏิบัติอย่างอื่น เป็นบารมีอื่น เหมือนพระชาติต่างๆ ของพระโพธิสัตว์ บางชาติดูเกือบเหมือน ไม่มีปัญญาเลย แต่แท้ที่จริงที่ท่านทำทั้งหมดเป็นบริวารของปัญญา เพราะฉะนั้น ต้องมีมนสิการ ต้องมีความฉลาดในการติดต่อกับคน ในการช่วยคนอื่น ในการเป็นมิตร เพราะถ้าเราเป็นคนโง่ เราช่วยใครไม่ได้ เราจะเป็นเพื่อนกับใคร เราก็เป็นไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จะเป็นเพื่อนกับเขาอย่างไร ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับปัญญาทั้งนั้น
ถ. สมัยที่ฟังธรรมใหม่ๆ ผมไม่เห็นความสำคัญของบารมี ๑๐ เลย ผมไม่เข้าใจ คิดว่าเมื่อไรก็ตามที่ปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเพียงพอแล้ว แต่นานๆ ไปผมก็รู้ว่า ต้องอาศัยเหตุมากๆ ไม่ใช่เพียงแต่ปัญญา ถ้าเราไม่มีเสบียง ไม่มีความเพียร ไม่มีความตั้งใจมั่น พลาดหรือล้มเหลวได้เลย เพราะฉะนั้น ฟังอาจารย์เรื่องบารมีแล้ว นั่นแหละถูก เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการไปให้ถึงจุดประสงค์
สุ. เพราะว่าสติปัฏฐานเราบังคับไม่ได้ ถ้าเรายังพอกพูนด้วยอวิชชา และกิเลสมากมาย เราก็เหมือนคนไข้หนัก เรารู้ว่าหนทางอยู่นี่ แต่เราไปไม่ได้ หัวเข่าก็ไม่มีแรง ขาก็ไม่มีแรง หนทางอยู่ตรงนี้ แต่เราก็ไปไม่ไหว ถ้าเรามีบารมี เพราะเรารู้ว่า อวิชชา ความไม่รู้มีเยอะ และกิเลสมีแยะ เราก็เจริญบารมีเพื่อให้ กิเลสอ่อนกำลังลง และเราก็แข็งแรงขึ้น ก็มีหนทางที่เราจะเดินไปถึงได้ เพราะว่า เรามีปัญญาที่รู้อยู่แล้วว่าจะไปทางไหน แต่ถ้ารู้แล้วและไม่บำเพ็ญบารมีเลย อวิชชาเต็มที่ อกุศลทั้งหลายมีกำลังเพียบ ต่อให้รู้อย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะว่า เราไม่ได้เจริญเหตุที่จะทำให้กุศลเจริญ
ถ. คุณสมนึกบอกว่า เมื่อสติเกิด มีรูปเป็นอารมณ์ แล้วนามหายไปไหน
สมนึก ถ้าโลภะก็ต้องเป็นนาม แต่ส่วนใหญ่จะใส่ใจในรูปมากกว่า อย่างความอ่อน ความแข็ง ความเย็น ความร้อน หรือรส ใส่ใจในรูปมากกว่า
ถ. ใส่ใจกับไม่ใส่ใจต่างกันอย่างไร
สมนึก ขณะที่มีการพิจารณาสภาพธรรม สติจะเป็นไปในรูปเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นโลภะรู้สึกว่า ไม่ยอมใส่ใจเท่าไร
ถ. เป็นโลภะหมายความว่าอย่างไร ไม่เข้าใจ
สมนึก อย่างดูทีวี หรือกำลังสนุก กำลังเพลิดเพลิน จะไม่ค่อยยอมพิจารณา เพราะกลัวว่าขณะนั้นจะหมดความสนุก หมดความเพลิดเพลิน ก็เลย ไม่ยอมใส่ใจ
ถ. แตกต่างกันอย่างไร ที่คุณเคยมีนามเป็นอารมณ์กับที่มีรูปเป็นอารมณ์ ที่เคยบอกผมว่า บางครั้งก็ใส่ใจในรูป บางครั้งก็ใส่ใจในนาม
สมนึก ใส่ใจในนาม มักเป็นการพิจารณา เคยมีผู้เตือนว่ามีรสเท่านั้นหรือ ก็เลยเป็นเหตุทำให้คิดว่า จริงๆ แล้วขณะนั้นอย่างอื่นก็มี เขาบอกว่า รู้รสมีไหม ไม่ใช่ใส่ใจเพียงรสอย่างเดียว จริงๆ สภาพที่รู้มี แต่ไม่ค่อยใส่ใจ หรืออาจจะไม่มีกำลัง หรือปัญญาไม่ถึง แต่ก็มีการน้อมพิจารณาสภาพลักษณะของสิ่งที่รู้รส มีการใส่ใจว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร มีแค่การพิจารณาเท่านั้น แทนที่จะรู้หรือมีความละเอียด มีความเข้าใจมากกว่านั้น ก็ไม่มี
ถ. และตอนที่คุณใส่ใจ คุณคิดอะไรบ้างหรือเปล่า
สมนึก มีคิด คิดก่อนที่จะใส่ใจว่า ขณะนี้รู้รสเท่านั้น ใส่ใจในลักษณะ ของรส และพิจารณาเป็นเรื่องราวว่า จริงๆ แล้วนอกจากรสยังมีลักษณะของสิ่งที่รู้รส มีสิ่งที่รู้รส แต่เราไม่เคยใส่ใจ ก็น้อมพิจารณาลักษณะของสิ่งที่รู้รสเท่านั้น
ถ. หมายความว่า บางทีก็ เอ๊ะ นี่รส หรือ เอ๊ะ นี่รู้รส ใช่ไหม
สมนึก มีการคิดนึกด้วย คิดนึกก่อนที่จะใส่ใจสภาพธรรม
ถ. ที่ฟังจากอาจารย์บ่อยๆ ว่า สภาพคิดนึกนั้นห่างจากขณะที่เรามีรูป หรือนามเป็นอารมณ์แล้ว หลังจากนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
สมนึก จริงๆ แล้ว การคิดนึกก็สามารถเกื้อกูลทำให้เราใส่ใจได้ ก่อนที่จะหลงลืมสติ ขณะที่มีการคิดนึก ... ขณะนี้หลงลืมสติ จึงมีการน้อมพิจารณาสภาพธรรม มีการใส่ใจสภาพธรรม ในชีวิตประจำวันเคยพิจารณา ขณะที่กำลังขับรถมอเตอร์ไซค์ มีการใส่ใจว่าขณะนี้หลงลืมสติ ก็พิจารณาสี ใส่ใจในสี ใส่ใจในลมที่มาปะทะ หรือ ใส่ใจในลักษณะที่เย็น ใส่ใจทุกอย่าง พยายามน้อมใส่ใจทุกอย่างที่จะเป็นสภาพธรรม และคิดนึก นั่นเป็นแต่ก่อนที่มีความเจาะจง มีความต้องการที่จะพิจารณาในลักษณะมาก เพราะต้องการมีสติ แต่ผมก็เข้าใจว่า นั่นมีผลทำให้เรารู้ความแตกต่างระหว่างการใส่ใจ การเจาะจง กับการไม่เจาะจง หรือการพิจารณาลักษณะ
ถ. อาจารย์ช่วยวิจารณ์ด้วย
สุ. หมายความว่า ทันทีที่สติระลึก มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่เราอาจจะไม่มีความรู้มากหรือคมหรือไวพอที่จะตัดสินได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะฉะนั้น มีทางเดียว บ่อยๆ เนืองๆ อะไรที่ระลึกแล้วไม่รู้ผ่านไป ระลึกใหม่ อะไรที่ไม่รู้ผ่านไป จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เกิด และเป็นความรู้เฉพาะตัวจริงๆ เฉพาะของเรา
นีน่า สิ่งที่ไม่รู้ต้องผ่านไป ระลึกอีก สงสัยว่า อาจจะเป็นทางเลือก ก็อยากจะรู้ สมมติว่าท้องเสีย เวลาไม่สบาย พิจารณาลักษณะยากมาก ไม่แน่ใจ เป็นอย่างไร
สุ. ไม่ได้หมายความว่า เป็นตัวตนที่ระลึก เพราะว่าขณะนี้สติอาจจะระลึก ที่แข็ง แต่ยังไม่ทันจะรู้จริงๆ ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้คืออย่างนี้ และแข็งคืออย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องระลึกบ่อยๆ แต่ระลึกบ่อยๆ ทีนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราเลือกระลึก แล้วแต่สติจะระลึกอีก ระลึกอีก เป็นเรื่องของสติที่จะระลึก และปัญญาจะเพิ่มความค่อยๆ รู้ขึ้น ซึ่งใครจะรู้ช้าหรือรู้เร็วจะเห็นได้ว่าต่างกัน
อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านฟังท่านพระอัสสชิ ในขณะที่ฟัง ท่านมีตาเห็น ท่านพระอัสสชิ ท่านมีหูได้ยินคำของท่านพระอัสสชิ ท่านมีกายที่กระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง แต่ทันทีที่ฟังสภาพธรรมปรากฏกับปัญญา เพราะว่าสภาพธรรมมีอยู่แล้ว แต่คนอื่นที่ไม่ใช่ท่านพระสารีบุตร ฟังข้อความเดียวกัน เอามาอ่านเดี๋ยวนี้ก็ได้ หรือแม้แต่อนัตตลักขณสูตร เอามาอ่านเดี๋ยวนี้ก็ได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพปรมัตถธรรมอะไรเป็นนามเป็นรูป แต่ปัญญาของคนฟัง ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า การสะสมความเข้าใจ แม้แต่เพียงฟังเท่านั้น ความเข้าใจ ต่างกันมาก ฟังเหมือนกันเลย ความเข้าใจของท่านพระสารีบุตร ท่านเข้าใจแค่ไหน สติท่านจึงระลึกและสภาพธรรมปรากฏเลย และเมื่อจบเทศนาท่านสามารถ ประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เป็นเครื่องวัดความเข้าใจ ในขณะที่กำลังฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เช่น เวลาที่สติระลึกและยังไม่เข้าใจลักษณะนี้นามธรรมหรือรูปธรรม ดับไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ไม่ต้องมานั่งคิด ไม่ต้องมานั่งกังวล เพราะว่าหนทางเดียว คือ สติระลึกอีก ไม่ใช่เราเลือกที่จะระลึก แต่หมายความว่าเมื่อสติเกิดจึงระลึก จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และคำว่า จนกว่าจะ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ละคนจะไม่เท่ากัน เป็นเรื่องอบรมเท่านั้นเอง ฟัง เข้าใจ อบรม เจริญไป ถึงเมื่อไรก็เมื่อนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๓ ตอนที่ ๒๐๒๑ – ๒๐๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2020
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2080
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081