พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130


    ตอนที่ ๑๓๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วัน อาทิตย์ ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง ขอเรียนให้ท่านอาจารย์อธิบายคำว่า “โยนิโสมนสิการ” คือปัญญาที่เห็นถูกในทางถูก ถ้าอโยนิโสมนสิการก็จะเป็นในทางที่ผิด แต่ท่านได้แสดงตรงนี้ไว้จึงขอสนทนาตรงนี้อีกนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ก็มีทั้งจิต และก็เจตสิก ก็อย่างที่คุณสุรีย์กล่าวถึงก็คือมนสิการเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะ หมายความว่าเมื่อมีอารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏแล้ว หลังจากจิตเห็น และวิบากจิตดับไปแล้วก็จะเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งเราเลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา ตามการสะสม แต่มีความเข้าใจว่าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นคืออโยนิโสมนสิการเพราะว่ามนสิการเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก และขณะใดที่เป็นอกุศล เจตสิกนั้นก็ทำหน้าที่ใส่ใจในอารมณ์โดยความไม่แยบคาย โดยความไม่ถูกต้องตามคลองของธรรม จึงเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น เรากล่าวถึงสภาพธรรม แต่ขณะนี้เหมือนอยู่ในความมืด คือ ไม่ปรากฏเลย แม้แต่มนสิการเจตสิกซึ่งเกิดดับทุกขณะ เกิดกับจิตทุกประเภทก็ไม่ได้ปรากฏ แม้แต่ขณะที่เป็นอกุศลจิต จะรู้ตัวหรือไม่ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลๆ ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นถูกต้องว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ขณะนั้นจึงเป็นอกุศล แต่ถ้าขณะนั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่อกุศล เพราะเหตุว่าเป็นความเห็นถูก เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจธรรม ไม่ใช่ว่าเราจะมีตัวตนที่จะไปเปลี่ยนแปลงหรือไปตั้งใจหรือพยายาม แต่เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมด ก็จะทำให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เรา แต่โดยมากอกุศลจิตเกิด เราไม่ชอบ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ และก็อาจจะพยายามที่จะให้เป็นกุศลด้วยความเป็นเรา แต่ธรรมเป็นเรื่องจริงจากการทรงตรัสรู้ เป็นการฝืนกระแสของโลภะ เราไม่ค่อยรู้ว่าเรามีโลภะเป็นนายหรือเป็นอาจารย์หรือเป็นลูกศิษย์มานานแสนนานตลอดเวลา แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าเรื่องของโลภะ พ้นยากเหลือเกิน ต้องอาศัยปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าเราสะสมความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และความติดข้องในลักษณะของสภาพธรรมวันหนึ่งไม่ทราบว่าเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นชาติหนึ่งก็ประมาณไม่ได้เลย แต่ว่าการฟังพระธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้จักโลภะ และก็รู้ว่าทั้งหมดเป็นไปเพื่อละโลภะด้วยความเข้าใจธรรมที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นความเข้าใจธรรมจะมากจะน้อยสักเท่าไหร่ ก็เป็นตามความเป็นจริงที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น แม้แต่โยนิโสมนสิการขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นก็เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรุงแต่งเป็นกุศล ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรุงแต่งเป็นอกุศล ก็จะคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็เป็นความเข้าใจของเราจริงๆ เป็นความมั่นคงที่จะรู้ว่าธรรมเป็นธรรม แล้วก็ฟังความละเอียดเพื่อที่จะได้เห็นธรรมละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง โยนิโสมนสิการ กับปัญญา เหมือนกันหรือไม่เหมือนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มนสิการเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่ปัญญาเป็นโสภณเจตสิก

    ผู้ฟัง แต่ในขณะนั้นก็ดูเหมือนมีปัญญาเกิดด้วย

    ท่านอาจารย์ มนสิการเกิดกับจิตทุกประเภท เกิดกับโลภะ เกิดกับโทสะ เกิดกับโมหะ เกิดกับวิบาก เกิดกับปัญญา ก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดกับปัญญาๆ เป็นสภาพที่รู้ เห็นถูก แต่มนสิการเป็นสภาพที่ใส่ใจด้วยดีในขณะนั้น ปัญญาจึงเห็นถูก

    ผู้ฟัง ในที่นี้ท่านหมายถึงมนสิการเจตสิกคือการใฝ่ใจด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ด้วยดี แยบคาย ด้วยความถูกต้อง เป็นกุศล จะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่มี แต่จิตนั้นก็เป็นกุศลเพราะโยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง คำว่า “แยบคาย” ของท่านอาจารย์ในที่นี้หมายถึง

    ท่านอาจารย์ ตามความถูกต้อง แยบคาย คือ ด้วยดี ด้วยความเข้าใจที่เป็นไปตามคลองของความเป็นจริงของธรรม

    ผู้ฟัง มนสิการเป็นเจตสิก ปัญญาก็เป็นเจตสิก ทีนี้ที่กล่าวว่ามนสิการร่วมกับปัญญา ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่

    ท่านอาจารย์ มนสิการเกิดร่วมกับปัญญาเจตสิกได้ ปัญญาเกิดกับจิตดวงใด มนสิการเกิดกับปัญญา และจิตในขณะนั้นหรือไม่

    ผู้ฟัง มนสิการเป็นสัพพจิตตสาธารณะเกิดกับจิตทุกดวง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะมีปัญญาเจตสิกเกิดหรือไม่มีปัญญาเจตสิกเกิด และขณะที่ปัญญาเกิด มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ (มี) และขณะที่ปัญญาไม่เกิด มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ (มี)

    ผู้ฟัง โยนิโสมนสิการ ตัวมนสิการมีปัญญาเกิดร่วมด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ โยนิโสมนสิการคือมนสิการที่พิจารณาโดยแยบคายจึงเป็นกุศล ไม่ว่าจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ตาม ขณะที่โยนิโสมนสิการเจตสิกเกิด จิตเป็นกุศลหรือเป็นโสภณซึ่งจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ เพราะเป็นกุศลจึงเป็นโยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง ในกรณีที่มีอกุศลจิตเกิดขึ้น แล้วเรามีโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ เราจากไหน ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นมีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะอโยนิโสมนสิการขณะนั้นจึงเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ทำโยนิโสแยบคายไว้ในใจ ง่ายๆ ช่วยยก

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตก็เกิด กุศลจิตก็ดับ วิบากจิตเกิด อกุศลจิตเกิด ที่เกิดนั้นก็ดับ แล้วใครจะรู้ ไม่ใช่ว่าเราเรียนแล้วเราสามารถที่จะรู้ แต่เรียนเพื่อเห็นถูก เพื่อเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เราเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดที่เราฟังธรรมมาจะกี่ภพกี่ชาติก็ตามเพื่อให้เข้าใจถูก เพื่อให้เห็นถูกว่าไม่มีเรา มีสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งชาติไหนก็ตามที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เราที่เกิด แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะเข้าใจถูก เห็นถูก ว่าไม่ใช่เราก็ต้องอาศัยการฟังจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง ไม่ว่าจะฟังเรื่องจิตเห็นก็จะรู้ว่าจิตเห็นก็เป็นสิ่งที่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถจะเห็นธาตุที่ปรากฏทางตา ฟังอะไรก็ได้แต่ให้มีความเห็นที่ถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องหวังอะไร เพราะว่าถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วก็ไม่สามารถจะเจริญจนกระทั่งประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังก็คือพิจารณา ขณะนั้นเป็นเราหรือไม่ ไม่ใช่ เป็นอะไร อยากจะเรียกชื่อก็ได้ ถ้ากุศลจิตเกิดเมื่อครู่นี้ อยากจะเรียกใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง พิจารณาว่าเป็นธาตุใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นโยนิโสมนสิการ หาตัวก็มีแต่ชื่อ ตราบใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด แล้วก็ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ มนสิการไม่ได้ปรากฏเลย แล้วเราจะไปมีสติระลึกรู้ลักษณะของมนสิการเพื่อที่จะรู้ว่ามนสิการไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นไปไม่ได้ นั่นคือความไม่รู้ แต่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อไหร่จะรู้ ถ้ายังไม่รู้ก็คือว่าต้องอบรมจนกว่าจะไม่ใช่เราจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดง่าย แต่ผมฟังปฏิบัติยาก

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนที่จะปฏิบัติเลย ต้องเป็นการอบรมของสภาพธรรมจากที่คุ้นเคยกับฝ่ายอกุศลจนค่อยๆ คุ้นกับฝ่ายกุศลจากขั้นการฟัง แม้ขั้นการฟังคุ้นกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยเพียงไหนว่าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ฟังมาอีกอย่างก็พิจารณาตรงไตรลักษณ์เป็นโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไตรลักษณ์หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณะ ไตรคือ ๓ ลักษณะ ๓ ของอะไร ของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏจะประจักษ์ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์อรรณพ ว่า มโนทวาราวัชชนจิตก็เป็นมนสิการเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก รู้สึกทำให้ยังสับสนเล็กน้อย

    อ.อรรณพ ตามที่คุณสุกิจกล่าวก็คือ มนสิการ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก แค่จิตเห็น มนสิการนั้นก็ใส่ใจในอารมณ์ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงความเป็นวิบากจิต และวิบากเจตสิกที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา เพราะฉะนั้น มนสิการเจตสิกก็เป็นเพียงเกิดขึ้นที่จะกระทำให้จิตนั้นใส่ใจในอารมณ์เท่านั้น แต่ถ้าเป็นมนสิการเจตสิกที่เกิดกับอกุศล มนสิการนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการเพราะไม่แยบคายแล้วที่จะเป็นอกุศล ขณะที่เป็นอกุศลต้องไม่แยบคาย แต่ไม่แยบคายด้วยความเป็นอกุศลที่เป็นความติดข้อง แล้วก็มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นอโยนิโสมนสิการที่เกิดกับโลภเหตุ แล้วก็มีทิฏฐิสัมปยุตต์ด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้นเป็นอโยนิโสมนสิการ แต่ถ้าจะกล่าวถึงว่า ก่อนที่ชวนะที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ซึ่งเป็นอโยนิโสมนสิการจะเกิด จิตก่อนหน้านั้นก็คือมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งทำกิจอาวัชชนะทางมโนทวาร และทำกิจโวฏฐัพพนะทางปัญจทวารตามการสะสม แม้ว่าจะเป็นกิริยาจิตแต่ก็กระทำทางให้ชวนะนั้นเกิดเป็นโลภะ แล้วก็เป็นโลภะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แล้วมนสิการนั้นก็ไม่แยบคายเป็นอโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้นทุกประการที่พระองค์ทรงแสดงสอดคล้องกันหมดแต่เป็นในขณะเดียวกันบ้าง หรือว่าเป็นปัจจัยกันโดยต่างขณะบ้าง นั่นก็คือลักษณะของสัมปยุตตธรรมที่เกิดขึ้นในขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น และก่อนที่โลภมูลจิตจะเกิดขึ้นนั้น ก็ต้องมีชวนปฏิปาทกมนสิการก็คือมโนทวาราวัชชนจิตขณะนั้น

    อ.วิชัย กล่าวถึงโวฏฐัพพนะ และเหตุใกล้ของกุศลก็คือโยนิโสมนสิการ บางแห่งก็มุ่งหมายถึงโวฏฐัพพนะ แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ ที่เป็นโยนิโสมนสิการจริงๆ ก็ต้องหมายถึงขณะที่เป็นกุศล แต่ถ้ากล่าวถึงเหตุใกล้ ก็คือโดยสภาพของโวฏฐัพพนะเป็นชาติกิริยา เพราะฉะนั้นตัวสภาพที่เป็นโยนิโสก็เป็นกุศลจิต ในส่วนของโลภมูลจิตที่ต่างออกเป็นหลายประเภท ฉะนั้น ถ้าพิจารณาว่าจิตแต่ละขณะเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นเรียกว่าสังขตธรรม หมายถึงว่าปรุงแต่งแล้ว แต่สังขารธรรมหมายถึงว่ามีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ฉะนั้นการเกิดขึ้นของโลภมูลจิตก็มีธรรมที่เกิดร่วมด้วยเป็นปัจจัยต่างๆ ฉะนั้นธรรมที่เกิดร่วมด้วยเรียกว่าเจตสิก แต่เจตสิกนั้นก็มีหลายประเภท ในส่วนที่เป็นอกุศลเจตสิก ถ้ากล่าวถึงอกุศลเจตสิกแล้ว ในส่วนที่เป็นโลภเจตสิกก็จะมีธรรมที่เกิดร่วมกันกับโลภเจตสิกด้วยที่เป็นทิฏฐิหรือมานะ แต่เมื่อทิฏฐิเจตสิกเกิดขึ้น ขณะนั้นจะไม่มีมานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือถ้ามานะเจตสิกเกิดขึ้นก็จะไม่ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่การเกิดขึ้นของโลภมูลจิตย่อมไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่การเกิดขึ้นทุกครั้งของอกุศลจิตก็ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่เป็นกลุ่มของโมหะ จะมีโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ ส่วนวิจิกิจฉาเจตสิกก็จะไม่เกิดร่วมกันกับโลภมูลจิต แต่เกิดร่วมกันกับโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ส่วนถีนมิทธะบางคราวก็เกิดร่วมกับโลภะก็ได้ บางคราวก็ไม่เกิดร่วมกับโลภะก็ได้

    ผู้ฟัง อบรมสติ อบรมสัมปชัญญะ อย่างไรถึงจะละคลายให้ตัวเราเล็กลงไป นอกจากการฟัง

    ท่านอาจารย์ คือการฟังต้องทราบว่าฟังเพื่อเข้าใจเท่านั้นเองตลอดชาติ หรือกี่ภพกี่ชาติก็ตาม เข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีโอกาสรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งจะใช้คำว่าธาตุต่างๆ แต่ละอย่างก็ได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าไม่ต้องกังวลถึงปฏิบัติ ไม่ต้องกังวลถึงปฏิเวธ แต่ฟังเพื่อเข้าใจ เวลาที่ฟังเพื่อเข้าใจก็ต้องมีการพิจารณาด้วย ถ้าเราไม่พิจารณา เราก็ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เราได้ยิน ขณะที่ฟังแล้ว ขณะที่กำลังฟังก็เข้าใจ และหลังจากฟังแล้ว ก็ยังพิจารณาไตร่ตรองเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจนเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าถ้าเราได้ฟังเพียงนิดเดียวก็หมดไป แต่ถ้าได้ฟังแล้วยังคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็พิจารณาไตร่ตรอง อย่างในวันนี้ก็มีเรื่องของมนสิการเจตสิก ฟังแล้วเข้าใจในขณะที่ฟัง แล้วก็ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น เวลาที่เราจะพบข้อความใดในพระไตรปิฎก ในอรรถกถาหรือได้ฟังจากผู้ใดก็ตามถ้าเรามีความเข้าใจของเราเองที่มั่นคง เราก็สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เป็นจริงหรือไม่ ถ้าจะมีคนกล่าวว่ามนสิการได้แก่จักขุวิญญาณอย่างนี้เราก็รู้แล้วว่าไม่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความเข้าใจแล้วเรารู้ว่าการฟังทั้งหมดไม่ได้เข้าใจเพียงจากฟัง และจากไตร่ตรอง แต่จะต้องถึงการเข้าใจของลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทั้งหมด ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องนามธรรม รูปธรรม ขณะนี้ก็กำลังปรากฏ ขยายไปเป็นจิต และเจตสิกก็เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ปรากฏเช่นกัน เพื่อที่จะให้เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏชัดเจนในความเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ของใคร มีปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้ตั้งแต่ต้นว่าฟังเพื่อเข้าใจ ขณะนั้นก็จะกัน และละโลภะที่คิดว่าเราจะปฏิบัติหรือเราจะรู้แจ้งสภาพธรรมซึ่งความจริงจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าการฟังแล้วไม่เป็นความเข้าใจของเราที่เพิ่มขึ้น เป็นความเข้าใจของเราเองที่ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย และทีละเล็กทีละน้อยเรารู้ว่ายังไม่ใช่การประจักษ์แจ้งแน่นอน แต่ว่าเราไม่ไปคิดถึงว่าเราจะประจักษ์แจ้งได้อย่างไร เมื่อไหร่ เพราะเรามีความรู้ว่าเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเริ่มต้น และค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทั้งวันเราจะไม่ไปคิดถึงสติปัฏฐาน หรือว่าการที่จะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งกำลังเกิดดับ แต่เราจะรู้ว่าเรามีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏจากการได้ยินได้ฟัง และการพิจารณาของเราเพียงไหน เช่น ทางตา จะได้ยินได้ฟังบ่อย จักขุปสาทเป็นรูป เป็นธาตุไม่ใช่เรา กระทบกับรูปารมณ์ซึ่งเป็นรูป เป็นธาตุ เป็นรูปธาตุ ไม่ใช่เรา แม้แต่เพียง ๒ คำ เตือนแล้ว เป็นธาตุก็ไม่ใช่เราทั้งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และจักขุปสาทซึ่งกำลังกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากกฏมีจริงๆ ถ้าไม่มีการกระทบสิ่งนี้ จักขุปสาทไม่มี สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไม่ได้ แต่ว่าขณะนั้นจักขุปสาทไม่ได้ปรากฏ แต่ให้มีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นความเข้าใจของเราจริงๆ ว่าเป็นเรื่องของธรรม เป็นเรื่องของธาตุ ซึ่งมีทั้งรูปธาตุ และจักขุธาตุคือจักขุปสาทรูป แล้วก็มีจิตที่กำลังเห็นก็เป็นจักขุวิญญาณธาตุ ถ้าเรามีความเข้าใจในเรื่องธาตุ ในเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังฟังเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจขึ้น วันหนึ่งก็จะต้องมีการค่อยๆ เข้าใจ กำลังเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือในจิตซึ่งเป็นสภาพกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ตราบใดที่ยังไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เราจะเรียนศึกษาไปมากน้อยเท่าไหร่ก็ตาม ชาติหน้าเมื่อเป็นเพียงเรื่องราวเราก็ลืม เหมือนเราคิดชาตินี้ เราคิดในภาษาไทย แต่ว่าชาติก่อนเราคิดภาษาอะไรไม่รู้ อาจจะคิดเป็นภาษาบาลีก็ได้ แต่พอถึงชาตินี้ก็ลืมหมดในภาษานั้น แต่กลับมาเข้าใจในภาษาที่เราสามารถจะเข้าใจได้โดยอาศัยภาษานั้นทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ ก็คือว่าฟังให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ สะสมความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏจากขั้นฟังจนกระทั่งขณะที่กำลังเห็นก็กำลังค่อยๆ เข้าใจ ขณะนั้นคือสติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะซึ่งจะนำไปสู่การประจักษ์แจ้ง ซึ่งเป็นปัญญาที่รู้แจ้งจริงๆ ที่เป็นวิปัสสนาญาณจนถึงปฏิเวธ แต่อย่างไรก็ตามเราก็เป็นผู้ที่รู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และก็กำลังฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจขึ้น ทางตาทางเดียวนี่พิสูจน์ได้เลย เราได้ยินได้ฟังว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธาตุ ธาตุคือสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้สิ่งนี้กระทบกับจักขุปสาท ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้สิ่งนี้ปรากฏ ถ้าจักขุวิญญาณจิตเห็นไม่เกิด ก็แสดงให้เห็นว่าเราจะต้องมีความเข้าใจให้ละเอียดขึ้น ขณะนี้แม้แต่คำว่ารูปธาตุ เราทราบว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้มีจริงๆ ลักษณะนี้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้จะเปลี่ยนเป็นหวาน จะเปลี่ยนเป็นแข็ง จะเปลี่ยนเป็นเสียงไม่ได้เลย นี่เป็นลักษณะเฉพาะของธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าได้ยินคำว่า “ธาตุ” เป็นเราหรือไม่ ไม่เป็นเรา เป็นรูปธาตุ รู้จักรูปธาตุหรือยัง รู้จักโดยฟัง ทั้งๆ ที่รูปธาตุกำลังปรากฏ ถ้ารู้จักยิ่งขึ้นก็มีความเข้าใจยิ่งขึ้นว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วกระทบจักขุ แล้วจักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่เราจะมีความเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้คือเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งมีอายุที่สั้นมากเลย การคิดนึกทรงจำเรื่องสีสันวัณณะก็ติดตามมาเป็นเรื่องราวมากมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นเราจะไม่ข้ามพยัญชนะหนึ่งพยัญชนะใดเลย เรียน ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏเพื่อให้รู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ มากน้อยแค่ไหน นี่คือการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นการละโลภะไปในตัว เพราะเหตุว่าไม่ได้ไปทำขวนขวายให้ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567