พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132


    ตอนที่ ๑๓๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความคิดเป็นสิ่งที่เมื่อเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผู้นั้นก็จะรู้ว่าตามการสะสม ไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหนก็ตาม เราจะมีความคิดต่างๆ เกิดขึ้น อย่างท่านผู้หนึ่งก็มาขอโทษ กล่าวว่าขอโทษที่ท่านคิดไม่ดีด้วย ดิฉันก็ไม่ทราบว่าคิดไม่ดีคิดอะไร แต่ก็ไม่ได้สนใจ ก็ได้กล่าวไปว่าไม่เป็นไรความคิดก็คือความคิด จะคิดอย่างไรก็คือว่าเกิดแล้วคิดแล้วหมดไปแล้วทั้งนั้นใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่คิดเท่านั้นเอง ถ้าเรามีความเข้าใจในสภาพธรรมจริงๆ เราก็จะไม่เป็นช่างคิดที่คิดนอกเรื่อง หรือว่าคิดนอกแนว หรือคิดในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ว่ากว่าทุกคนจะมีความคิดถูกได้ก็เป็นเรื่องที่ยากเพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ ถ้าจะดูความคิดของเราตั้งแต่เช้ามา เราคิดเรื่องอะไรบ้าง เรื่องน่าคิดหรือว่าเรื่องไม่น่าคิด เรื่องควรคิดหรือว่าเรื่องไม่ควรคิด เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวงอย่างละเอียด เพราะว่าทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท และความคิดของเราเองไม่มีทางที่จะเจริญในทางที่ถูกได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงแม้ได้ฟังแล้วก็ยังต้องเป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบ ที่จะรู้ว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้พิจารณา ถูกต้องจริงๆ หรือไม่ หรือว่ายังมีสิ่งใดที่ไม่สมบูรณ์ ยังรู้สึกว่ายังไม่ถูกต้องทีเดียว ก็จะได้พิจารณาให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะเป็นความคลาดเคลื่อนไป นี้แสดงให้เห็นว่ากว่าความคิดจะเป็นความคิดที่ถูก และก็เป็นสัมมาสังกัปปะที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐานในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นเรื่องของการปรุงแต่ง นี้แสดงโดยกว้างมากทั่วไปว่าความเห็นผิดจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และความเห็นถูกจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง พวกนักตรึกก็คือคิดแล้ว แต่ถ้าเราจะถึงโดยปุถุชนเพื่อจะให้นักตรึกนี้ลดน้อยลงไป จะช่วยเกื้อกูลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จากช่างคิดแปลจากนักตรึก ก็เป็นคนที่ช่างคิด แล้วทุกคนก็คิด ก็ไปคิดในเรื่องที่ไร้สาระมากมาย ก็เปลี่ยนมาเห็นประโยชน์ในการที่จะไม่คิดในเรื่องที่ไม่ไร้สาระ แต่จะตรึกคิดพิจารณาพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังจนกว่าจะเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจากเราทุกคนที่นั่งอยู่ตามปกติอย่างนี้ แล้วก็ความคิดก็มีหลากหลาย แต่ว่าเวลาที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็เห็นประโยชน์ ความคิดของเราทราบได้เลยว่าคิดอย่างอื่นไม่มีประโยชน์เท่ากับคิดเรื่องธรรม นี้คือสิ่งที่ทราบ แต่ว่าห้ามความคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ อบรม ทุกอย่างต้องอาศัยการอบรม ค่อยๆ อบรมจนกว่าจะเห็นว่าการคิดสิ่งที่มีประโยชน์กับเรื่องที่ไร้สาระต่างกันมาก ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ความคิดเรื่องไร้สาระจะค่อยๆ น้อยลงตามความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ข้อสำคัญที่สุดคือความเข้าใจธรรม เราเข้าใจจริงๆ หรือไม่ หรือว่าเราเข้าใจเพียงชื่อ หรือว่าเราอยากจะรู้ความหมายของคำว่า “สัมมาสังกัปปะ” ที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐาน ขณะนั้นก็คือไกลไปจนกระทั่งถึงขณะที่จะรู้คำนั้น จะเข้าใจความนั้น แต่จริงๆ แล้วก็คือว่าความคิดที่ถูกค่อยๆ ถูกขึ้น ค่อยๆ ตรงขึ้น แล้วเวลาที่ฟังธรรม เมื่อมีการไตร่ตรองเข้าใจก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นเวลาที่สัมมาสติเกิดก็จะมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแม้ว่าไม่ปรากฏ มีสัมมาสมาธิเจตสิกเกิดร่วมด้วยแม้ว่าไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่ปรากฏได้ ก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นก็ให้เข้าใจว่าขณะนั้นที่สัมมาสติเกิดก็จะมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วยพร้อมกับสติสัมปชัญญะ ถ้าเข้าใจจริงๆ เช่น ขณะที่เราสนทนาธรรมกัน เราจะรู้เลยว่าขณะนั้นทำให้เราได้พิจารณาธรรม และได้เข้าใจขึ้น ประโยชน์กว่าอย่างอื่นเพราะเหตุว่าบางคนเข้าใจว่าตัวเองกำลังฟังธรรม แต่ความจริงขณะนั้นเขาไม่ได้ศึกษาหรือไม่ได้ฟังธรรม แต่เขาศึกษาเรื่องตัวเอง เหตุนี้ต้องเข้าใจความต่าง เพราะว่า ถ้ามีคำถามว่าวันนั้นฉันเดินไปที่หนึ่ง และฉันพบเด็กคนหนึ่งน่าสงสารมาก จิตขณะนั้นเป็นอะไร นี้ศึกษาธรรมหรือศึกษาตัวเอง นี้ก็เป็นความต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าศึกษาธรรมคือสิ่งที่มีจริง และไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นจิต เป็นเจตสิก ที่เรากำลังศึกษาขณะนี้คือเรื่องของจิตที่มีความติดข้อง และก็มีความติดข้องในความเห็นที่ผิด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นใครที่ไหน เมื่อไหร่ ถ้าจิตนี้เกิดขึ้นก็แสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นจิตที่ยินดีในความเห็นผิด หรือว่าจิตที่เกิดความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขณะนั้นก็จะรู้ว่าเป็นจิต ไม่ใช่เรา แทนที่เราเป็นอย่างนี้คือจิตอะไร ขณะนั้นคือพยายามที่จะไปรู้ตัวเอง เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่สนทนากัน ถ้าเป็นการสนทนากันแต่เรื่องของแต่ละบุคคลก็คือศึกษาเรื่องตัวเอง ไม่ได้ศึกษาเรื่องจิต แต่ถ้าศึกษาเรื่องจิตก็มีความเข้าใจเรื่องจิต เพราะฉะนั้นเมื่อจิตประเภทไหนเกิดขึ้นก็ยังสามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของจิตประเภทนั้นๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่การศึกษาธรรมก็ต้องเข้าใจให้ถูกว่าศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่ศึกษาเรื่องเรา ว่าขณะนั้นเรามีจิตอะไร

    อ.อรรณพ การฟังธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ฟังสิ่งที่ถูกต้องก็มีโอกาสที่คิดถูกต้อง ฟังสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็คิดด้วยความเห็นผิดได้ ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ใครจะพูดผิด พูดอะไร เราก็ต้องฟังเพื่อให้รู้ความเห็นของเขา ก็เหมือนเราฟังอสัทธรรม แต่เรามีความเข้าใจ เหตุใดเราต้องไปฟังด้วย

    ท่านอาจารย์ คำถามว่า เหตุใดเราต้องฟังอสัทธรรมด้วย ก็เพราะเหตุว่าถ้าเรามีความเห็นที่ถูก เราสามารถที่จะรู้ว่าคำใดไม่จริงเป็นอสัทธรรม ก็สามารถที่จะแสดงเหตุผลในสิ่งที่ไม่จริงให้เข้าใจได้ถูกต้อง ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้องแล้วก็สามารถจะชี้แจงได้ว่าคำที่ไม่ถูกต้องนั้นเพราะอะไร คืออย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าฟังเพื่อที่จะไปเห็นตามความเห็นที่ไม่ถูกต้องนั้น

    อ.อรรณพ ในสมัยพุทธกาล เช่น ท่านอนาถบิณฑิกะจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ถ้าท่านไปก่อนเวลาท่านก็จะเข้าไปยังสำนักอัญญเดียรถีย์เพื่อที่จะไปฟังความเห็นของเขา เพราะฉะนั้นการฟังตรงนั้นเป็นการฟังอสัทธรรม แต่ว่าเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ และก็มีความตรึกถูก ความคิดถูก สามารถแยกแยะได้ถูก

    ท่านอาจารย์ และก็มีจิตอนุเคราะห์ด้วยที่จะอนุเคราะห์ให้เขาเกิดความเห็นถูกได้ เพราะรู้ว่าเขาเกิดความเห็นผิดอย่างไร

    ผู้ฟัง ความเห็นผิดนี้ดูกันที่ว่าคนพาล ดูที่ศีลจะได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย ต้องสนทนา ต้องเป็นความเห็น ต้องเป็นคำพูดว่าคำพูดนั้นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง แม้ผู้นั้นจะปฏิบัติถึง ๒๒๗ ข้อแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องฟังตุผล ที่มีข้อความที่กล่าวว่ารู้ว่าผู้ใดมีศีล ไม่ใช่ว่าเพียงเห็น แต่ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ ก็ยังไม่พอ แล้วต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาด้วยจึงจะรู้ว่าผู้นั้นมีศีลจริงๆ หรือเปล่า แล้วถ้าจะเห็นสมาธิ เมื่อมีอันตรายเฉพาะหน้าเกิดขึ้น และถ้าจะรู้ว่าใครมีปัญญาก็ต้องสนทนากันเท่านั้น

    ผู้ฟัง สำหรับการฟังธรรมก็มีความรู้สึกว่าถ้าเราไปฟังอสัทธรรมก็เสียเวลา เพราะพระสัทธรรมที่เราฟังในชีวิตประจำวัน ก็หมดเวลาแล้ว ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะต้องไปนั่งฟังอสัทธรรมของใครๆ เพื่อที่จะมาเปรียบเทียบว่าอย่างไหนขาว อย่างไหนดำ โดยส่วนตัวนั้นไม่เห็นด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าต้องฟัง ถ้ามีโอกาสที่จะฟังๆ อะไร ก็ต้องฟังสัทธรรม ไม่ใช่ฟังอสัทธรรม แต่ถ้าไม่มีโอกาสฟังสัทธรรม ฟังอสัทธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นอสัทธรรมอย่างไร มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนอย่างนั้นเพราะอะไร เพื่อเราจะได้ชี้แจงได้ เกื้อกูลได้ใช่หรือไม่ว่าความเห็นอย่างนั้นๆ ไม่ถูกเพราะอย่างไร ถ้าเพื่ออนุเคราะห์ ไม่ใช่คบ แต่พบคนพาล เพราะว่าคบนี่คือการไปมาหาสู่ การสนิทสนม และการคบแต่ละบุคคลก็คือเหมือนการคบกับความเห็น แล้วแต่ว่าคนนั้นมีความเห็นอย่างไร คนอื่นอาจจะไม่ทราบว่าค่อยๆ คล้อยตามไปทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่เรื่องของการโฆษณาสินค้าก็ต้องอาศัยการคบบ่อยๆ ฟังบ่อยๆ ชี้ชวนบ่อยๆ จิตของคนที่ได้ยินได้ฟังก็จะค่อยๆ คล้อยตามไป นั่นแม้แต่ในเรื่องทางโลก ฉะนั้นทางธรรมไม่รู้สึกเลยว่าการที่ได้คบกับผู้ที่มีความเห็นผิด รับฟังบ่อยๆ ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะคล้อยตามไปได้

    ผู้ฟัง การคบเพื่อมีจิตที่จะอนุเคราะห์ แต่ด้วยความที่ไม่มีวิริยะ ปัญญาก็เล็กน้อย ก็เลยไม่ต้องพบ ไม่ต้องคบไปเลย

    ท่านอาจารย์ นั่นก็ถูกต้อง มิฉะนั้นจะเป็นการเสียเวลา อีกประการหนึ่งก็ต้องทราบว่าเขาพร้อมที่จะให้อนุเคราะห์หรือไม่ นี้ข้อสำคัญที่สุด ถ้าเขาไม่พร้อม ไม่มีประโยชน์เลยสักคำเดียว จึงต้องหมายความว่าผู้นั้นพร้อมฟังก็อนุเคราะห์ได้ เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก สมัยนี้ก็เป็นมัยที่ห่างไกลพระศาสนาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี ความคิดความเห็นต่างกันมาก แม้เพียงในครั้งพุทธกาลก็เริ่มที่จะมีความเห็นแตกแยก ก็เริ่มที่จะมีการสังคายนามาตลอดแต่ละกาล เพราะฉะนั้นในสมัยนี้มีหนังสือ มีบทความ และมีรายการธรรมซึ่งหลากหลาย ถ้าสิ่งใดใช้คำว่า “ไร้สาระ” คือไม่มีสาระเลยก็ไม่ต้องฟัง เพราะรู้เลยว่าตลอดทั้งหมดไม่มีสาระ แต่ถ้าเป็นเรื่องของวิชาความรู้ซึ่งบางท่านก็อาจจะศึกษามาก็ควรที่จะได้ฟังว่าเมื่อมีการศึกษา แม้ว่าเป็นพระไตรปิฎกฉบับเดียวกัน แต่ความคิดความเข้าใจต่างกัน ตรงไหน เพราะเหจุใด เพราะฉะนั้นก็จะเป็นประโยชน์ ที่จะได้รู้ว่าสำหรับสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปก็ต้องมีความละเอียดรอบคอบ แต่ละคนก็มีตนเป็นที่พึ่งจริงๆ ในการที่จะศึกษาพระธรรมเพื่อประการเดียว คือ เพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มั่นคง และจริงใจ เราก็จะฟังพระธรรมด้วยความรอบคอบ ไม่ได้ฟังว่าบุคคลนี้หรือบุคคลนั้น และข้อความที่ได้ยินได้ฟังก็ต้องพิจารณาด้วยว่าขาดตกบกพร่องหรือสมบูรณ์อย่างไร ซึ่งถ้ามีสาระเล็กน้อยที่พอจะฟังก็จะได้รับฟัง แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่การศึกษามากก็จริง แต่มีความเห็นที่ผันแปรไปตรงกันข้ามกับพระสัทธรรม ก็เป็นอันว่าถึงจะอ่านกี่เล่ม กี่เรื่อง หรือฟังสักเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่คิดว่า ถ้าจะฟังเพื่อประโยชน์ที่จะเกื้อกูล ก็ฟังเฉพาะส่วนที่เห็นว่าตรงนั้นเป็นส่วนที่ไม่สมบูรณ์ และสามารถที่จะเกื้อกูลด้วยเหตุผล ก็จะกล่าวธรรมแสดงส่วนที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลเท่าที่ได้พิจารณาแล้วให้คนอื่นพิจารณาได้

    ผู้ฟัง ก็อยากจะมีจิตที่จะอนุเคราะห์แต่ว่าต้องใช้ความเพียรมากแล้วก็อะไรหลายๆ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญเขาพร้อมที่จะฟังหรือไม่ เราเพียรได้

    ผู้ฟัง ไม่พร้อม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่พร้อม ความเพียรนั้นก็ไร้ประโยชน์

    ผู้ฟัง ถ้าไม่พร้อม และเราก็ไม่มีความเพียร ให้เราวางเฉยหรือ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถที่จะเปลี่ยนบุคคลที่มีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิให้เป็นความเห็นถูกได้หรือไม่

    ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ทรงแสดงไว้ตามการสะสม แล้วเราเป็นใคร ถ้าพยายามจะเหนื่อยหรือไม่ หรือเราจะใช้วิริยะกับผู้ที่รับฟัง

    ผู้ฟัง พูดถึงในส่วนที่เป็นธรรม คงทำอะไรได้ไม่มาก แต่ในฐานะที่เป็นบุตรก็ต้องบำรุงท่าน

    ท่านอาจารย์ ก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และจริงๆ ก็เป็นมารดาบิดากันเฉพาะในชาตินี้ หรืออาจะเคยเป็นกี่ชาติมาแล้วก็ตามแต่ แต่เราก็ต้องทำหน้าที่เท่าที่จะทำได้ ในครั้งพุทธกาลก็มีบุตรที่บิดามารดาที่มีความเห็นผิด ก็เป็นเรื่องธรรมดาแน่นอน เพราะฉะนั้นแล้วแต่ว่าเราสามารถที่จะทำหน้าที่ของบุตรได้แค่ไหน ถ้าในเรื่องของธรรม อาจจะไม่สามารถที่จะเกื้อกูล เพราะเหตุว่า มารดาบิดาท่านก็มีความเห็นว่าเราเป็นบุตรของท่านตลอดกาล ความคิดเห็นใดๆ ของเราที่มี ท่านก็คิดว่าของท่านต้องถูกต้องกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำหน้าที่อื่นด้วยความอดทน ด้วยวิริยะ ค่อยๆ ทีละเล็ก ทีละน้อยโดยไม่พูดถึงความเห็นที่ต่างกันในทันที เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงความเห็นที่ต่างกันทันทีก็อาจไม่สามารถที่จะรับได้ และก็ยังคงมีความเห็นว่าผิด และเห็นว่าบุคคลอื่นที่นำเรื่องต่างๆ มาให้เป็นฝ่ายที่ถูก เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยความใกล้ชิด และความเข้าใจ ความกตัญญูวิริยะหลายๆ อย่าง จนกระทั่งถึงขณะที่จะพูดถึงเรื่องธรรมดาๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ก้าวไปสู่เรื่องของความเห็น แต่ว่าเรื่องของความเห็นก็คงจะไม่ต้องกล่าวไปชัดเจนว่าที่ถูกคืออย่างนี้ หรือที่ผิดเป็นอย่างนี้ คือไม่ใช่เป็นผู้ที่ชี้ให้เห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่กล่าวถึงเรื่องราวซึ่งให้ท่านวินิจฉัยว่าอย่างไหนจะถูกต้อง และฟังความเห็น และเราก็ค่อยๆ แสดงความเห็นของเราทีละเล็กทีละน้อย นี้ก็เป็นเรื่องซึ่งอาจจะได้รับผลมากน้อยก็แล้วแต่ หรือว่าอาจจะไม่ได้รับผลเลย แต่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ท่านผู้ใหญ่ที่มีความเข้าใจว่าความเห็นของท่านถูกต้อง จะได้รับฟังความเห็นของเรา แต่ว่าไม่ใช่โดยการเสนอว่าอย่างนี้ถูก อย่างนั้นถูก แต่ค่อยๆ ใกล้ชิด ค่อยๆ ให้เข้าใจโดยยกเรื่องขึ้นมา แล้วให้ท่านพิจารณาวินิจฉัยด้วยตัวของท่านเอง ก็อาจจะทำให้ท่านได้รู้ว่าสิ่งที่ท่านกล่าวถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่

    อ.วิชัย เรียนถามเรื่องทิฏฐิ ที่กล่าวถึงความสำคัญตน ด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ถ้าเป็นเพียงการคิดนึก ขณะนั้นจะมีความสำคัญตนด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่คิด

    อ.วิชัย ชอบดอกไม้สวย จะมีความสำคัญตนด้วยตัณหาหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่น่าจะ เพราะเวลาที่มีความสำคัญตนเกิดขึ้น ลักษณะของความสำคัญตนปรากฏอย่างหยาบๆ ในขณะใดก็ตามที่ความสำคัญตนเกิดขึ้น ขณะนั้นจะมีความรู้สึก แต่ว่าความรู้สึกในขณะนั้นพลาดจากการที่รู้ว่าเป็นโลภะที่เกิดร่วมกับความสำคัญตนกลายเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ เพราะเกิดจากความสำคัญตน เวลาที่มีความสำคัญตนอย่างเราไปที่ไหน เราอาจจะคิดว่าไม่มีใครรู้จัก หรือว่าต้อนรับ หรือว่ามาเป็นมิตรสหาย ขณะนั้นเราก็อาจจะคิดว่าเราด้อยกว่า หรือทำไมเขาไม่เป็นอย่างนั้น ขณะนั้นความรู้สึกอย่างนั้นเป็นความสำคัญตน แต่ความสำคัญตนที่เกิดร่วมกับความติดข้องในความสำคัญตนในขณะนั้นไม่ได้ปรากฏ แต่ปรากฏเป็นความไม่สบายใจเพราะความสำคัญตน เพราะฉะนั้นขณะใดที่เข้าไปในร้านอาหาร อาจจะนั่งคอยนาน แล้วโต๊ะอื่นทำไมได้อาหารทั้งๆ ที่เขามาทีหลัง ขณะนั้นมีความรู้สึกอย่างไร แม้เพียงเล็กน้อยมีความสำคัญตนเกิดขึ้นหรือไม่ และข้อสำคัญที่สุดความสำคัญตนละเอียดจนกระทั่งถึงกับดับด้วยอรหัตตมรรค เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความสำคัญตนของบุคคลที่ยังเป็นปุถุชน และความสำคัญตนของบุคคลที่เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ใช่ถึงความเป็นพระอรหันต์ นี้ก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่มีละเอียดมาก อกุศลทั้งหลายมีทั้งที่ปรากฏอาการอย่างเล็กน้อย และอย่างหยาบพอที่จะรู้ได้ หรือว่าบางครั้งเราอาจจะพูดสิ่งที่เหมือนกับการตำนิ แต่ขณะนั้นเราไม่รู้หรอกว่าด้วยอะไรที่ตำนิ ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิด ด้วยความเห็น แต่ว่ามีความสำคัญตนในความเป็นเราที่สามารถกล่าวตำนิบุคคลอื่นหรือไม่ แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเหตุนี้ยิ่งมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะยิ่งเห็นความละเอียดจริงๆ ว่าการที่เราสะสมมา สติสัมปชัญญะสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมประเภทไหน ประเภทที่อย่างหยาบ หรือว่าสามารถที่จะรู้ถึงประเภทที่ละเอียด เช่น การกล่าว เวลาที่อาจจะได้ดูละครดูหนังด้วยกัน จะได้ยินเสียงคำวิจารณ์ใช่หรือไม่ ก็แสดงให้เห็นว่าคนนั้นมีความสำคัญตน ยิ่งกล่าวถึงความไม่เก่งของคนอื่น ยิ่งคิดว่าเราทำได้ดีกว่า ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นคือความสำคัญตน เพราะฉะนั้นลักษณะของความสำคัญตนมี เพียงแต่ว่าจะสังเกตหรือไม่สังเกต จะรู้ในอาการที่ไม่สบายใจเพราะความสำคัญตน เพราะไม่ชอบ ขุ่นเคือง เพราะเราเก่งกว่า แต่บุคคลอื่นทำสิ่งที่ไม่เก่งกว่า แม้แต่คำเล็กๆ น้อยๆ อย่าง โอ้โห นั่นสีแดงแจ๊ดๆ ก็มาแล้วว่าเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดีกว่านั้น เล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ก็คือลักษณะของความสำคัญตน

    อ.อรรณพ เรียนถามว่าถ้าเป็นมานะที่ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ บุคคล ขอให้ช่วยขยายตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ฐานะ ทรัพย์สมบัติ ความรู้ ตำแหน่ง ก็แล้วแต่ว่าทุกอย่างเป็นที่ตั้งของมานะ เป็นที่ตั้งของความสำคัญตนได้ แม้แต่ขณะนี้จะเกิดความรู้สึกเล็กน้อยว่าเราเก่ง หมายความว่าเราเก่งกว่าหรือไม่ ถ้ามีความรู้สึกว่าเราเก่ง แม้เพียงเล็กน้อยเช่นนี้แล้วลักษณะของอกุศลเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเร็วมาก

    อ.อรรณพ แต่ถ้าเป็นเพียงโลภะที่พอใจในอาหารอร่อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ความคิดว่าเราทำได้อร่อยกว่า ขณะนั้นก็ไม่ใช่มานะ

    ผู้ฟัง ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ไม่ได้เปรียบเทียบกับใครเลย เช่น นั้นจะเป็นมานะหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้น รู้สึกเพียงความติดข้องเท่านั้นก็ไม่ใช่มีมานะเกิดร่วมด้วย เป็นเพียงความพอใจ

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็สำคัญ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจะห้ามไม้ให้คิดเปรียบเทียบ ก็ห้ามไม่ได้ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็ขอยกตัวอย่างอะไรเล็กๆ น้อยๆ ถ้ามีการขัดรองเท้า อุ๊ย มัน เงาดี ชอบ ขณะนั้นก็เป็นโลภะ เราทำได้ดีกว่าคนอื่น เห็นหรือไม่

    คุณอุไรวรรณ เป็นมานะ

    ท่านอาจารย์ นิดเดียวที่ต่างกันไป

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเราไม่เชื่อ คืออย่าให้มีโลภะเกิดขึ้น ผมก็ว่ามันน่าจะเข้าใจความจริง เข้าใจธรรมมากขึ้น ผมมีความคิดเห็นแค่นี้

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตที่กำลังคิดเรื่องนี้เป็นอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    26 ม.ค. 2567