พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134


    ตอนที่ ๑๓๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้วทั้งโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด และไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ขณะนั้นอกุศลใดๆ ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ ต้องเป็นปัญญาจึงจะสามารถจะรู้ได้ ถึงแม้ว่าจะมีโสมนัสเวทนาก็เป็นเรา หรือว่ามีอุเบกขาเวทนาก็เป็นเรา คือ เป็นเราไปทั้งหมดตราบใดที่ไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เรียนท่านอาจารย์ตามคำบรรยาย ทุกอย่างก็เป็นเราๆ เวลากุศลจิตเกิดก็ไม่รู้ อกุศลจิตก็ไม่รู้ แต่ทุกครั้งที่เราเดินทางหรือเราไปบูชาพระธาตุหรือไปอะไรต่างๆ เหมือนกับที่มีบางท่านกล่าวว่า ก็ “ มีแต่ปิติ” แล้วก็ได้เพลิดเพลิน ได้นั่งรถอะไรอย่างนี้ ในขณะนั้นก็ต้องไม่ใช่กุศลจิต แล้วก็ติดข้องไปแล้วใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แต่เรื่องจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด ขณะที่เป็นกุศลไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้นกุศลจิตเกิดได้ และก็ดับไป และอกุศลจิตก็เกิด และก็ดับไป สลับกัน พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่ออนุเคราะห์ให้ผู้ที่ได้ฟังมีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกจนกว่าจะประจักษ์ความจริงอย่างที่ได้ทรงตรัสรู้ เวลานี้เราฟัง เราพิจารณาได้ว่าเป็นอนัตตา เป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี้คือขั้นคิดจากการฟัง แต่จะต้องถึงขั้นประจักษ์แจ้งด้วย เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังก็ทราบว่ากุศลจิตก็เป็นจิตไม่ใช่เรา อกุศลจิตก็มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอกุศลแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เรา แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมก็ยังคงมี ยังไม่ได้ดับหมดเลย ถ้าไม่รู้ เราก็คิดว่าเรารู้แล้ว แต่ความจริงขณะนี้ ถ้าจะเกิดความติดข้องขึ้น ขณะนั้นเพียงคิดถึงลักษณะที่ปรากฏสืบต่อ แต่ว่าความจริงก็เกิดดับทุกขณะ ก็แสดงให้เห็นว่าแม้สิ่งที่ปรากฏ การประจักษ์แจ้งต้องประจักษ์แจ้งจนถึงที่สุดจริงๆ จึงจะสละความเป็นเราได้ หรือความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ก็ยังอีกไกล แต่ว่าในระยะทางที่สั้นๆ นี้ ทุกครั้งที่เราทำกุศลกันส่วนใหญ่จะอาศัยเหตุการณ์ อาศัยเรื่องราว อาศัยสถานที่อะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นกุศลจิตจะเกิดเองต้องเป็นปัญญาจริงๆ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ตามการสะสม เพราะว่าบางคนสะสมอุปนิสัยที่เราจะเห็นได้ แม้เป็นเด็กเล็กๆ ก็มีทานกุศลได้ มีศีลกุศลได้

    ผู้ฟัง มีความรู้สึกว่าพอยิ่งฟังไปมากๆ บางท่านที่ไม่ได้ไป กุศลต้องไม่มี บุญต้องไม่มี

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญคือบุญใคร ถ้าบุญเรา กับขณะที่ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม และมีความเข้าใจขึ้น มั่นคงขึ้นว่าไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ตรงไม่ใช่ตัวตนคงจะยากมาก ทุกอย่างก็ต้องเราไปถวาย ตัวเราทำสิ่งนี้ เราต้องเข้าไปทำสิ่งนั้น เราต้องหยิบ เราต้องจับ ก็ยังเราเป็นอยู่

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่มีใครประมาทเลยว่าจะไปรู้ได้หรือละกิเลสได้ ถ้าไม่อาศัยความเข้าใจของเราจากการฟังพระธรรม ฟังเพื่อให้เป็นความเข้าใจของเราเอง อันนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่มีปัญญาละกิเลสอะไรไม่ได้เลย และกิเลสก็ไม่ใช่ของคนอื่น ก็สะสมอยู่ที่จิตที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ก็จะต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น

    ผู้ฟัง กล่าวถึงการสะสม ถ้าสมมติไม่มีปัญญา ไม่ได้ฟังอะไรเลย สิ่งที่สะสมมาก็แสดงออกมา แล้วก็ยังดื้ออีกว่าถูก ก็ยิ่งยากเพิ่มมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อครู่นี้เราเพียงกล่าวถึงว่าหลับแล้วก็ต้องตื่น เพราะเหตุว่าถึงกาลที่กรรมทำให้วิบากจิตจะต้องเกิดขึ้นเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่ชีวิตในวันหนึ่งซึ่งตื่นแล้ว ส่องไปถึงการสะสมแม้ในขณะที่กำลังหลับ ซึ่งละเอียดมาก ความคิดของเราตั้งแต่เริ่มตื่นจนกระทั่งมาถึงขณะนี้แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วส่วนใหญ่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล และอกุศลก็ละเอียดมาก เช่น โลภะที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย แต่มีความสำคัญตนเกิดร่วมด้วย นี้ก็ค่อยๆ แสดงมาให้ค่อยๆ เข้าใจ ทั้งๆ ที่มีแต่ก็เคยเป็นเรา แต่เวลาที่เรากล่าวถึงธรรมก็จะแสดงลักษณะของธรรมนั้นให้เข้าใจขึ้น ให้ละเอียดขึ้น ให้เห็นว่าสภาพธรรมชนิดนี้ต่างกับความเห็นผิด และการที่จะดับกิเลสได้ต้องดับตามลำดับอย่างไร เพราะสำหรับมานะซึ่งมีกันทุกคน ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ดับด้วยอรหัตตมรรค นี้คือผู้ที่ทรงตรัสรู้ความละเอียด เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เรามีการเคลื่อนไหว เรามีความคิด เรามีการพูด เรามีการกระทำโดยไม่รู้ตัวเลย ทั้งๆ ที่เราก็เรียนเรื่องจิตแต่ละประเภททั้งโลภมูลจิต โทสมูลจิต วิบากจิต แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แต่ไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าแม้สภาพธรรมนั้นจะมีเป็นอย่างที่ทรงแสดง แต่การที่จะรู้ก็ต้องรู้ตรงด้วยปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา และการคลายความเป็นเรา จึงจะเป็นปัจจัยให้กุศลอีกประเภทหนึ่งคือสติสัมปชัญญะมีปัจจัยที่จะเกิด เพราะรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมมีลักษณะต่างๆ กำลังปรากฏ จึงต้องฟังไปจนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันก็มาจากการกระทำ มาจากวิบากที่ได้รับ แล้วขณะนี้เวลาสิ่งมีที่กระทบที่ว่าเป็นวิบาก แต่ก็ไม่สามารถรู้ว่านี้เป็นวิบาก แต่ทันทีที่เกิดเหตุใหม่แล้ว ก็หมายความว่าปัญญาก็ไม่เกิดอีกเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ทุกอย่างที่มีเพียงอาศัยระลึก พอระลึกแล้วก็หมด และก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏจึงจะเห็นว่าสภาพธรรมนั้นไม่เที่ยง และมีลักษณะที่ต่างกัน แล้วก็ละเอียดมากด้วย ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดด้วย

    ผู้ฟัง เหตุใหม่ที่กระทำใหม่บางครั้งก็ร้ายแรง แสดงว่าไม่มีสติใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศล สติจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย

    ผู้ฟัง ถ้าเหตุใหม่ที่เป็นกุศล ก็มาจากโลภะหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็คนละขณะ แต่ความจริงเราไม่ประมาท เพราะเวลาที่เราได้ยินคำว่า “บารมี” ต้องเข้าใจว่าคือกุศลจิต กุศลธรรม ความดีในชีวิตประจำวัน ถ้าเราละเลยหรือเมินเฉยชีวิตประจำวัน เราจะค่อยๆ ดีขึ้นได้อย่างไร เราไปคอยตอนไหนให้โลกุตตรจิตเกิด และก็ไปดับความเห็นผิด แต่ว่าชีวิตประจำวันของเราซึ่งไม่เคยสนใจเลยว่าขณะนี้แท้ที่จริงขณะใดทีมีความเข้าใจถูก มีความอดทนเพิ่มขึ้น เช่น ในขณะที่ฟัง รู้ว่าอีกไกล มีความอดทนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ความท้อถอย ความเบื่อหน่าย ซึ่งก็คือวิริยบารมี ซึ่งค่อยๆ มี ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เพิ่ม หรือแม้แต่ทานบารมี การที่จะให้วัตถุแม้เพียงเล็กน้อย บางทีเราอาจจะให้ของชิ้นใหญ่ๆ ได้ ให้เงินให้ทองจำนวนมากทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ แต่ของในบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้ใครไม่ได้ อาหารอร่อยๆ สักชิ้นสักคำให้ไม่ได้ เช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าขณะใดที่กุศลจิตเกิด สภาพธรรมจะเปลี่ยน แต่ถ้าขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ก็เป็นอย่างนั้น แล้วบารมีอยู่ตรงไหน ถ้าไม่ลืมสามารถที่จะให้ได้ ค่อยๆ ให้ ค่อยๆ ให้ จนกระทั่งเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นบารมีหนึ่งบารมีใด ไม่ว่าจะเป็นเมตตาบารมี ศีลบารมี ทางกาย ทางวาจา เป็นผู้สงบเพราะกุศลจิตเกิด จึงไม่มีกายที่ดุร้าย ทำร้าย วาจาก็เป็นวาจาที่เพิ่มความเอื้ออาทรถึงความรู้สึกของคนอื่นเพิ่มขึ้น เราก็เห็นวาจาของคนที่พูดดีๆ ทำไมเราไม่พูดบ้าง เพียงเท่านี้ทำไม่ได้ แล้วจะสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งยากกว่านี้อีก เพราะว่าต้องสละความติดข้องถึงเนกขัมมบารมี คือรู้ว่าเป็นแต่เพียงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะได้สิ่งใดมา ก็พอใจในสิ่งที่ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีมากดีน้อยหรืออย่างไรก็ตามแต่ ก็เป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อน ไม่ขวนขวายเหมือนเดิม ค่อยๆ สละ ค่อยๆ ละ ปัญญาก็จะค่อยๆ เข้าใจความจริงในขณะนั้นเพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นตามการสะสมก็สามารถคลายได้บ้างใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็มีหลายระดับ คลายระดับไหน ระดับธรรมดา ระดับชาวบ้าน หรือว่าระดับที่เป็นวิปัสสนาญาณที่สามารถที่จะรู้ว่าธาตุที่เรากล่าวถึง ธรรมที่เรากล่าวถึง ลักษณะจริงๆ แท้ๆ ปรากฏเป็นอย่างไรทีละอย่าง ต้องมีความชัดเจน เพราะฉะนั้นจึงเป็นญาตปริญญา เพราะว่าสามารถที่จะรู้รอบคือไม่มีความสงสัยในสิ่งที่กำลังปรากฏ ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง ถ้าฟังอย่างนี้ก็คงต้องเพียรศึกษาไป

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่ว่าดีกว่าเราเข้าใจผิดใช่หรือไม่ คิดว่าใกล้แล้ว ถึงแล้ว ทำอย่างนั้นก็ได้ ทำอย่างนี้ก็ได้ ซึ่งไม่ใช่หนทางเลย แต่เป็นหนทางผิด ไม่สามารถเป็นปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง จิตฝันแล้วก็ตื่น บางครั้งตื่นขึ้นมาก็ผวาตื่นขึ้นมา ฝันร้ายทั้งนั้น สิ่งนี้เป็นภวังคจิตหรือไม่ เพราะไม่มีความจริงทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ จะหลับ จะตื่น จะฝัน เรื่องอะไร เพราะฉะนั้นทุกขณะจริงๆ แล้ว ถ้าพิจารณา ถ้าฟังเข้าใจก็จะเห็นความเป็นอนัตตาทั้งหมด ไม่ว่าจะยกตัวอย่างอะไรขึ้นมาทั้งสิ้น ก็จะแสดงถึงความเป็นอนัตตาทั้งนั้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่าไม่มีเรามีแต่สภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ตรงนี้ที่ฝันนี้นับเป็นภวังคจิตหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นภวังค์หมายความว่าขณะนั้นไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ภวังค์ที่เกิดดับสืบต่อที่จะปรากฏให้เห็นได้ว่าเป็นภวังค์ก็คือขณะที่หลับสนิท แต่ขณะใดที่ฝันไม่ใช่ภวังค์ เพราะว่าเป็นการคิดนึกทางใจ เพราะขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส วิถีจิตที่ไม่ใช่ภวังค์ เพราะว่าจิตถ้าแบ่งโดยประเภทใหญ่ๆ ก็คือจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตได้แก่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต นอกจากนั้นแล้วจะเป็นจิตอะไรทั้งหมดเป็นวิถีจิตทั้งนั้น

    ผู้ฟัง เสียงที่ได้ยิน สมมติว่าเรานั่งอยู่ในห้อง ๕๐ คน เราก็ได้ยินเสียงของอะไรหล่นลงมาดัง หรือว่าสักครู่หนึ่งก็ได้กลิ่นคนเจียวไข่ข้างนอก จะว่าเป็นโกรธ เป็นโทสะ เป็นโมหะ เป็นกุศลหรืออกุศล ไม่เท่ากันอย่างนี้จะอธิบายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตามการสะสม

    ผู้ฟัง ของแต่ละคนไม่ใช่อยู่ที่เสียง

    ท่านอาจารย์ ไม่ เสียงเป็นรูป เสียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แม้แต่ได้ยินเสียงเดียวกัน เสียงด่าเหมือนกัน คนหนึ่งอาจจะชอบ คนหนึ่งอาจจะไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นหลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว จิตจึงต่างกันหลากหลายมาก จิตของพระอรหันต์ไม่หวั่นไหวเลย ไม่มีแม้อกุศลเพียงเล็กน้อย ก็เทียบได้เลยกับผู้ที่ยังมีกิเลส

    ผู้ฟัง แล้ววิบากก็เหมือนกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ วิบากจิตได้แก่ จักขุวิญญาญ คือจิตเห็น โสตวิญญาณ คือ จิตได้ยิน ฆานวิญญาณ คือ จิตได้กลิ่น ไม่ใช่เราเลย ชิวหาวิญญาณ คือจิตลิ้มรส กายวิญญาณคือจิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าไม่กล่าวถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ จิตอื่นนี้ที่เป็นวิบากปลีกย่อย แต่เท่าที่เราสามารถจะรู้ได้ในวันหนึ่งคือหลังจากที่วิบากได้ยินบ้าง เห็นบ้าง ก็เป็นไปตามการสะสม ซึ่งแต่ละบุคคลก็ต่างกันไป เห็นได้ชัดอย่างพระอรหันต์ไม่มีกิเลสใดๆ เลย

    ผู้ฟัง คือความสงสัยของผมคือทุกคนเห็นเหมือนกัน ได้ยินเสียงเหมือนกันหมด

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าทางที่จะรับผลของกรรมเหมือนกันคือ ๕ ทางตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ เหมือนกันทุกคน และเจตสิกที่ประกอบกับจิตก็เท่ากันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันหรือปุถุชนเหมือนกันหมดเลย เพราะว่าเป็นจิตซึ่งเป็นธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เวลาที่กุศลวิบากจิตเกิดเป็นจักขุวิญญาณ กุศลวิบากหรือจักขุวิญญาณอกุศลวิบากมีเจตสิกประกอบเท่ากันหมด ๗ ประเภท ๗ ดวง แต่ต่อจากนั้นแล้วการสะสมตั้งแต่กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิ แม้ว่าเกิดเป็นมนุษย์ แต่กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิก็ประมวลมาซึ่งกรรมอื่นๆ ที่สามารถที่จะให้ผลในชาตินั้นๆ ตามควรแก่การปฏิสนธิด้วย กรรมอื่นๆ ก็ประมวลให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นปฏิสนธิจิตที่เป็นผลของกรรมชั้นเลิศหรือว่าชั้นกลาง หรือว่าชั้นต่ำก็ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเช่นนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจชัดเจนคือทุกคนก็จะมีวิบากเหมือนกันหมด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเอาชื่อออก จักขุวิญญาณเกิดขึ้น มีเจตสิกประกอบ ๗ ดวง แล้วก็เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อเป็นจักขุวิญญาณ แล้วก็ดับเป็นชาติวิบาก กรรมทั้งหมดที่ทำไปที่จะให้ผลเป็นอเหตุกะคือไม่ประกอบด้วยเหตุก็จะมีเพียงอกุศลวิบาก ๗ และก็กุศลวิบาก ๘ ที่เป็นอเหตุกวิบากเหมือนกันหมดเลย เพราะฉะนั้นธรรมเป็นธรรมเอาชื่อออก ไม่ว่าใครไม่เว้น แม้การเห็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้หรือว่าหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว จักขุวิญญาณเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไร ไม่เป็นของใครเลย เพราะว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นประกอบด้วยเจตสิก ๗ ประเภท รู้สภาพธรรมเฉพาะทางของตน เช่นจักขุวิญญาณจะเห็นอย่างเดียว ได้ยินไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป และเวลาที่จิตขณะต่อไปเกิดก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคล

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นรูปารมณ์สำหรับมนุษย์กับรูปารมณ์สำหรับสัตว์จะเกิด โลภะ ชวนะที่เป็นโลภะมากน้อยหรือต่างกันอย่างไร อย่างเช่น ลิงเห็นแก้วเห็นพลอย เขาก็ไม่ยินดียินร้าย มนุษย์เห็นเพชรเห็นพลอย ส่วนใหญ่ก็จะเกิดโลภะต่างกัน รูปารมณ์ทำให้เกิดชวนะขณะนี้ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีรูปลักษณะที่เป็นลิง ถ้าไม่มีรูปซึ่งทรงจำไว้ว่าลักษณะนั้นเป็นงู ถ้าไม่มีรูปที่จำลักษณะนั้นว่าเป็นคน ไม่มีรูปเลย จิตเห็นก็คือจิตเห็น แต่ทีนี้เราก็เอารูปรวมด้วยก็เป็นลิงเห็น คนเห็น งูเห็น นกเห็น แต่รูปไม่ใช่นามธรรม เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงปรมัตถธรรมสภาพธรรมที่เป็นจิตก็เฉพาะจิตจริงๆ ว่าจิตต่างกันเป็นประเภทต่างๆ ไม่ใช่รูปต่างกันเป็นประเภทต่างๆ แต่ลักษณะของจิตต่างหากที่ต่างกันเป็นประเภทต่างๆ แล้วประเภทหนึ่งประเภทใดก็เป็นประเภทนั้น ไม่ต้องเอาคนเอาชื่อ ไม่เอารูปร่างใดๆ มาเกี่ยวข้องเลย เช่นยกตัวอย่างจิตเห็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับจิตเห็นอื่นๆ จิตเห็นก็คือจิตเห็น มีเจตสิกประกอบเท่ากันเป็นวิบากเหมือนกัน เป็นผลของกรรมเพราะว่าเป็นชาติวิบาก เป็นกุศลไม่ได้ จิตเห็นเป็นกุศลไม่ได้ ไม่ว่าจิตเห็นของใคร จิตเห็นต้องเป็นวิบาก หลังจากนั้นแล้วสำหรับพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกุศลบ้างอกุศลบ้าง ก็แล้วแต่ว่าเป็นจิตของใคร สะสมมาอย่างไร เห็นอย่างเดียวกันบางคนก็คิดรังเกียจ บางคนก็เมตตา นี้คือความต่างของการสะสม บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ สุนัขหน้าตาประหลาดๆ บางท่านเห็นแล้วก็ดีใจ น่ารัก หน้าตาแปลกดี อีกท่านก็เห็นว่าหน้าพิกล นี้ก็แสดงให้เห็นว่าสะสมมาต่างกัน ทั้งๆ ที่เห็นสิ่งเดียวกัน

    ผู้ฟัง สุนัขหรือมนุษย์ก็เห็นเหมือนกัน แต่ทีนี้ปรุงแต่งต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ตามการสะสม เพราะฉะนั้นหลากหลายมาก เห็นเหมือนกันดับไปแล้ว แต่หลังจากนั้นแล้วก็จิตนี่แหล่ะประมาณไม่ได้ว่าต่างกันแค่ไหน ริษยาก็ได้ เมตตาก็ได้ มุทิตาก็ได้ ก็แล้วแต่ โลภะก็ได้ โทสะก็ได้ ไม่ใช่เรา ข้อสำคัญคือเป็นธรรม ฟังเพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ ให้มีความมั่นคงเป็นสัจจญาณว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง กว่าจะแยกสมมติบัญญัติ และปรมัตถ์ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมก็มีจิต เจตสิก รูป เท่านั้น นิพพานด้วย

    ผู้ฟัง เราก็จะไปทิ้งสมมติบัญญัติไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทิ้งอะไร แต่หมายความว่า

    ผู้ฟัง หมายถึงว่าเราจะพิจารณาจิตที่พิจารณาขณะนี้คือสมมติ ขณะนั้นคือปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เข้าใจถูกก็เป็นจิตประเภทที่ดีประกอบด้วยปัญญาก็ไม่ใช่เรา ต้องไม่ใช่เราไปจนตลอดถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็อบรมต่อไป เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนิดเดียว การฟังพระธรรม หรือ การอ่านพระไตรปิฎก ต้องเข้าใจด้วยว่าพระธรรมที่ทรงแสดงจริง แต่ปัญญาของเราระดับไหน เช่น บอกว่าโลภะเป็นอกุศล ต้องดับโลภะใช่หรือไม่ ถ้าจะรู้แจ้งสัจจธรรมก็ต้องคลายความติดข้อง เราก็ต้องรู้ตัวเราใช่หรือไม่ว่าถึงระดับไหน ไม่ใช่ไปทำอย่างคนที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจนกระทั่งประจักษ์การเกิดดับค่อยๆ ชำนาญจนกระทั่งค่อยๆ คลายก็ยังไม่ถึงระดับนั้น ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ว่าจะทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่เราอยู่ตรงไหน ไม่มีใครไปฝืนได้ ถ้าผู้ที่เพิ่งได้ยินคำว่า จิต เจตสิก รูป จะให้เข้าใจไปตลอดจนถึงความเป็นอายตนะ เป็นธาตุ เป็นปฏิจสมุปปาทไม่ได้เลย หรือว่าแม้จะได้ฟัง ได้เรียน ได้อ่าน ได้จำ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ไม่ได้เข้าถึงอรรถของคำว่าอายตนะหรือธาตุ เพียงแต่ว่ารู้ว่าคำว่า “ธาตุ” หมายความว่าอะไร คำว่า “อายตนะ” หมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าให้เราไปฝืน หรือไปพยายามทำในสิ่งซึ่งเรารู้ว่าไม่ใช่ความสามารถ แต่ความสามารถขณะนี้สำหรับแต่ละคนที่จะรู้จักตัวเอง คือว่า เป็นความสามารถที่สามารถจะอดทน เป็นความเพียรที่จะฟังเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    การศึกษาธรรม และการสนทนาธรรม ก็คงไม่หลงประเด็นว่าเราจะต้องไปติดที่ชื่อ แต่รู้ว่าสิ่งที่เราจะได้ยินได้ฟังหรือสนทนากันก็เพื่อจะให้เข้าใจสิ่งที่มี แต่เราไม่เคยรู้มาก่อน โดยเฉพาะคือที่ตัวของเราเองซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา ความจริงก็คือสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ และสภาพธรรมใดที่เกิดแล้วดับแล้วก็ไม่เหลือเลย เมื่อวานนี้ยังมีอยู่หรือไ่ม่ ไม่เหลือเลย เราคงไม่ต้องย้อนไปถึงชาติก่อน เพียงวันนี้เท่านั้นแล้วเราคิดถึงเพียงเมื่อวานนี้ พอที่จะรู้ได้หรือไม่ว่าอะไรเกิดมาก วิบากเกิดแน่นอนเพราะว่ามีกรรมที่ได้กระทำแล้วที่ทำให้มีการเห็น การได้ยิน ซึ่งเลือกไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าเป็นกาลของกรรมใด แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วกิเลส และกุศลที่สะสมมาที่เป็นอาสยะแต่ละขณะที่เกิดแล้วดับแล้วเมื่อวานนี้ไม่ได้ไปไหนเลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567