พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137


    ตอนที่ ๑๓๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพียงแค่กล่าวกับทำจริงๆ ก็ต่างกันแล้ว ใช่ไหม เลื่อนลอยโดยการเพียงขอ แต่ไม่รู้อะไร กับการที่ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้นในสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะว่าเมื่อฟังแล้วก็จะได้ยินคำว่า “จิต เจตสิก รูป นิพพาน” และก็จะรู้ว่าจิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ขณะนี้สิ่งที่มีเกิดปรากฏ ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเกิดแล้วจึงปรากฏ แต่ว่าไม่ได้ประจักษ์การดับ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง แล้วก็จะรู้ความต่างของจิต เจตสิก รูป และนิพพาน ต้องตามลำดับขั้น เราจะข้ามขั้นไม่ได้ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจในทุกขอริยสัจ ยังไม่รู้จริงๆ ว่าโลภะที่เรามีกันมากมายในวันหนึ่งๆ เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์คือสังสารวัฏฏ์ การเกิด เพราะว่าโลภะเกิดร่วมกับอวิชชา เมื่อมีความไม่รู้จึงมีความติดข้อง และถ้ายังคงไม่รู้ และติดข้องก็จะเป็นปัจจัยให้ทำกรรมที่สภาพธรรมก็จะเกิดขึ้นตามกรรมนั้นๆ และก็มีการสะสมของกุศล อกุศล ซึ่งก็เป็นอัธยาศัยต่างๆ กันตามการสะสม

    เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นเรื่องละเอียดที่เราสามารถจะเข้าใจตามลำดับได้ แต่ต้องเข้าใจถูกว่าเพียงได้ยินชื่อยังไม่ใช่สัจจญาณ แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูกต้องที่มั่นคงในอริยสัจ ๔ จึงจะเป็นสัจจญาณ ซึ่งจะทำหรือนำไปสู่การปฏิบัติถูก ถ้าไม่ใช่สัจจญาณ ปฏิบัติผิด ไม่ใช่หนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทำอย่างอื่นที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ได้ยินคำว่า “สัจจญาณ” แม้ได้ยินคำว่า “ทุกขอริยสัจจ” หรือ “สมุทัยสัจจ” “นิโรธ” หรือ “มรรค” ได้ยินเพียงชื่อก็ไม่ใช่สัจจญาณ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องรู้ว่าจะใช้คำนี้เมื่อใด ถ้าเป็นสัจจญาณจะนำไปสู่การประพฤติที่ถูกต้องจริงๆ แต่ถ้าแม้ศึกษาพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติไม่ตรงที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมจะไม่ใช่สัจจญาณ เพราะฉะนั้นสัจจญาณก็ไม่ใช่เพียงชื่อที่กล่าว แต่ต้องเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องมั่นคงจริงๆ

    ผู้ฟัง การบรรยายจะมีประโยคหนึ่งของท่านอาจารย์ที่บอกว่า “เรากำลังศึกษาธรรมหรือเรากำลังศึกษาตัวเองหรือเรากำลังศึกษาสภาพธรรม” ไม่เข้าใจตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะได้ฟังธรรมมีเรา และก็มีเรื่องราวมากมายโดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นจริงๆ แล้วถ้าไม่มีสภาพธรรม เรื่องราวต่างๆ ก็ไม่มี เราก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นเรา แล้วก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เราจะไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วขณะนั้นจริงๆ คืออะไร ก่อนที่เราจะคิดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ต่างๆ ต้องมีอะไร ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแต่ละอย่าง ก็ไม่สามารถที่จะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็คือจิต ใช้คำว่า “จิต” “เจตสิก" "รูป" นิพพาน” ทำไมมีเพียงเท่านี้ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ต่างๆ ก็มากมายเหลือเกินในวันหนึ่งๆ มีทั้งเรา มีทั้งเขา มีทั้งเรื่องราวมากมายในหน้าหนังสือพิมพ์ ในนิตยสารต่างๆ แต่ทรงแสดงว่าสภาพธรรมที่มีจริง มีเพียง ๔ อย่างคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาธรรม เราก็ยังมีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่ามีเราแน่นอน แล้วก็มีสิ่งต่างๆ ด้วยตามเหตุการณ์ต่างๆ แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยว่าแท้ที่จริงแล้ว อย่างอื่นไม่มีจริงๆ แต่สิ่งที่มีจริงๆ ก็คือจิต เจตสิก รูป เท่านั้นเองที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ส่วนนิพพานก็มีด้วยเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าผู้ที่สามารถจะรู้นิพพานโดยการประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ต้องเป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้วจากการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้นสำหรับชาวโลกที่ไม่ได้ฟังธรรมเป็นอีกโลกหนึ่ง คือโลกของเรื่องราว บัญญัติ สมมติต่างๆ เรื่องของชื่อต่างๆ เรื่องของภาพต่างๆ เรื่องของเหตุการณ์ความคิดนึกต่างๆ แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมก็เริ่มที่จะเข้าใจว่าตามความเป็นจริง โลกที่เคยเป็นเรา และเป็นเหตุการณ์ต่างๆ นั้นไม่มีเลย แต่มีสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ มีจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง เวลาพบเห็นเหตุการณ์ เรากำลังศึกษาตนเองหรือกำลังศึกษาสภาพธรรม หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าขณะนี้เราทราบว่ามีจิต เจตสิก รูป แต่เคยรู้จักไหม จิต เจตสิก รูป หรือรู้จักเรา รู้จักเพื่อนเรา รู้จักเหตุการณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าทราบว่ามีจิต เจตสิก รูป ศึกษาเรื่องจิต ขณะนั้นเป็นการศึกษาสภาพธรรม เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แม้ว่าขณะนี้ มีจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ก็ยังไม่ได้รู้ความจริงของจิต เพียงแต่ได้ยินชื่อจิต และก็รู้ว่ามีจิต แต่ยังไม่ได้รู้จิตตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าการศึกษาไม่ใช่เพียงฟัง แล้วก็รวบรัดว่าเรารู้แล้ว แต่ตามความเป็นจริงเพียงแค่ฟังรู้ว่าขณะนี้มีจิต แต่ว่าขณะนี้จิตกำลังเห็น จิตกำลังได้ยิน จิตกำลังคิดนึก ไม่ได้รู้เลย เป็นเราทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น การศึกษาสภาพธรรมก็คือการศึกษาเรื่องสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจขึ้นว่าสิ่งที่มีจริงนั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราไม่ได้ไปศึกษาเหตุการณ์ แล้วก็มาวิเคราะห์ วิจัยว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นอะไร มาอย่างไร แต่เราศึกษาเพื่อเข้าใจสภาพของธรรมที่กำลังมีในขณะนี้จริงๆ ให้เข้าใจขึ้นจนกระทั่งคลายความเป็นเรา และมีความมั่นคงที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่เคยเป็นเหตุการณ์ต่างๆ หรือเป็นเราก็คือจิต เจตสิก รูป ขณะนี้เราเพียงฟัง พูดตาม เริ่มเข้าใจ แต่ลักษณะของจิตไม่ได้ประจักษ์แจ้งว่าไม่ใช่เราอย่างไร เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ซึ่งต่างกับสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคำก็เป็นสิ่งที่ไตร่ตรองจนกว่าจะถึงการประจักษ์แจ้ง ไม่ได้หมายความว่าเพียงแค่เข้าใจแล้วก็พอแล้ว เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วก็เข้าใจเพียงขั้นฟัง ซึ่งในขณะนี้ต้องรู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา และสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาที่เกิดขึ้นก็คือจิต เจตสิก รูป นี่คือการศึกษาธรรม ไม่มีเรื่องราวที่เป็นเราเข้ามาปะปนว่าวันนี้เราทำอะไรบ้างตั้งแต่เช้า ขณะนั้นเป็นจิตอะไร เป็นจิตเห็น เป็นจิตได้ยิน คือเอาเรื่องราวมาศึกษาว่าเป็นจิต แต่ขณะที่กำลังศึกษาเรื่องจิต ไม่มีเรื่องราวที่เป็นว่าเมื่อเช้านี้เราทำอะไร แต่ว่าจิตมีกี่ประเภทมีกี่ชาติ แบ่งอย่างไร ต่างกันอย่างไร นี่คือการศึกษาเรื่องจิต แต่ไม่ใช่เอาเหตุการณ์นั้นมาคิดว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็แล้วแต่ พอเราฟังแล้ว เรียนแล้ว ก็ต้องน้อมเข้ามาตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเราจะไม่ศึกษาเมื่อเช้าเราทำอะไร เป็นจิตอะไรใช่ไหม มีความโกรธเกิดขึ้นบ่อยไหม พอเห็นอาหารแล้วโลภหรือไม่ อาหารชนิดนี้ปรุงรสแล้วเป็นไปทางทวารไหน นี่คือไปศึกษาเรื่องราวว่าเป็นทวารไหน เป็นอะไร แต่ขณะนี้จะไม่มีเรื่องราวอย่างนั้น ในขณะที่ศึกษาธรรมก็คือว่ากำลังมีการเข้าใจเรื่องจิตเพิ่มขึ้นจากการฟัง และการไตร่ตรอง

    ผู้ฟัง ค่อนข้างที่จะลึกซึ้ง เข้าใจได้ยากมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะมีเราที่กำลังศึกษา หรือว่ามีการฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจ เพื่อที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ถ้ามีเรากำลังศึกษา ก็เป็นเราที่รู้ และเป็นเราที่อยากรู้เรื่องต่างๆ และเป็นเราที่กำลังคิดด้วย แต่ทั้งหมดก็คือยังเป็นเราอยู่ แต่ถ้าศึกษาเรื่องจิตก็คือเริ่มที่จะให้เข้าใจแม้ขณะที่ฟังว่าไม่มีเรา แต่มีจิต ฉะนั้นจิตที่ว่าเป็นอย่างไร ไม่มีรูปร่างใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง คำว่า “ธาตุ” ใครก็จะไปบังคับไม่ได้ใช่ไหม เช่น สิ่งที่แข็งก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ใครก็เปลี่ยนลักษณะที่แข็งไม่ได้ จะบังคับให้แข็งไม่เกิดก็ไม่ได้ แข็งเกิดแล้วไม่ดับก็ไม่ได้ นี่คือธาตุชนิดหนึ่ง แต่ยังมีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่หวาน ไม่ใช่เค็ม แต่ธาตุชนิดนี้สามารถที่จะรู้ที่จะเห็นเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเมื่อใช้คำว่า “ธาตุรู้” หรือ “สภาพรู้” ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่กัน เพราะฉะนั้นขณะนี้มีเห็น เห็นหรือไม่ เราไม่ได้เอ่ยชื่อว่าใครเห็น ใครนั่งบนเก้าอี้ข้างหน้าซ้ายขวา แต่เรากำลังพูดถึงสภาพที่กำลังเห็น นี่คือเพื่อที่จะให้ระลึกว่าขณะนี้ลักษณะนั้นกำลังมีจริงๆ กำลังเริ่มที่จะเข้าใจว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วดับไป โดยที่ว่าแม้ยังไม่ประจักษ์ แต่ก็เริ่มรู้ว่าลักษณะของสิ่งนี้เป็นอย่างนี้คือไม่ใช่แข็งไม่ใช่อ่อน แต่เป็นธาตุหนึ่งที่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าย้อนกลับ สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏหมายความว่าต้องมีสภาพที่กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตก็ไม่มีเราเลย แต่มีเห็น มีได้ยิน มีจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วจากการรู้แล้ว แล้วอย่างไรต่อ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางแล้ว เพราะว่าขณะนี้จิตเกิดดับก็ยังไม่ได้รู้

    ผู้ฟัง พอบอกสิ่งที่ปรากฏ แล้วจากนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของจิตแต่ละชนิด เพราะว่าไม่ใช่มีแต่เห็น ได้ยินก็มี เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร

    ผู้ฟัง สิ่งนี้ที่บอกเป็นอนัตตาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าบังคับบัญชาไม่ได้ บังคับไม่ให้เกิดไม่ได้ แล้วก็บังคับให้จิตซึ่งเป็นธาตุซึ่งเกิดแล้วดับไป ก็จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดสืบต่อ ก็บังคับไม่ได้ว่าไม่ให้เกิดสืบต่อ เพราะเหตุว่าจิตเป็นปัจจัย เป็นอนันตรปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมที่เป็นจิตเกิดต่อเมื่อจิตขณะนั้นดับไป นี่ก็คือการศึกษาเรื่องจิต ไม่ใช่ศึกษาเรื่องเหตุการณ์

    ผู้ฟัง แต่ในกรณีที่จิต เจตสิก รูป ที่เป็นปรมัตถ์ ถ้าศึกษาในลักษณะที่ปรากฏอะไรต่างๆ แต่พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็เป็นเรา ไปพูดถึงเรื่องกรรม ก็ต้องมีตัวตนอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาคือขณะที่กำลังพูดเรื่องสภาพปรมัตถธรรม แต่เวลาที่เราไม่ได้ฟังเรื่องนี้ เราก็จะมีการคิดการไตร่ตรอง เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าเวลาที่เราไตร่ตรองเรื่องโลก เรื่องชื่อต่างๆ เรื่องวิชาการต่างๆ ขณะนั้นเราไม่ได้ไตร่ตรองเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่เราได้ยินได้ฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากการที่ฟังแล้วก็ไม่ลืม ก็ยังมีสัญญาความจำปรุงแต่งให้มีการคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง และก็ไตร่ตรองจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดมีจริงๆ เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง เพราะฉะนั้นฟังแล้วก็ยังไม่ประจักษ์สภาพนั้นๆ จึงยังไม่พอ ก็ยังจะต้องมีการที่จะได้ยินได้ฟังต่อไป จนกว่าสามารถจะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะพระธรรมที่ทรงแสดงในขั้นของฟังเป็นปริยัติ แต่ถ้ามีแต่ปริยัติอย่างเดียว ใครเป็นผู้รู้ ใครเป็นผู้ทรงแสดง ก็ต้องมีบุคคลเดียว แต่ผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดงสามารถที่จะบัญญัติคำเป็นธรรมเทศนาที่จะให้คนอื่นที่ได้ยินได้ฟัง สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขั้นฟัง ในขั้นที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้น และในขั้นที่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงด้วย เพราะฉะนั้นความงามของพระศาสนาจึงมีทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และที่สุด คือไม่ใช่ฟังเปล่าๆ รู้เปล่าๆ เข้าใจเปล่าๆ แต่สามารถที่จะถึงกาละที่รู้แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงด้วย แต่ต้องเป็นผู้ตรง

    ผู้ฟัง ศึกษาเรื่องของปรมัตถ์แล้วย้อนกลับไปจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะบอกว่าเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นกรรม เป็นผลของกรรม นั่นก็เหมือนเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคิด แต่ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้น ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แทนที่จะคิดก็มีการรู้ตรงลักษณะที่ได้ยินได้ฟัง นั่นก็คือการศึกษา หรือสิกขาที่เป็นไตรสิกขา พร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ที่กำลังรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าฟังแล้วคิดเรื่องธรรม ก็เป็นการวิเคราะห์หรือตรึกถึงชื่อ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ แต่ว่าขณะที่กำลังเป็นชีวิตประจำวัน เมื่อฟังแล้วก็รู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรม “แข็ง” กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรม “เห็น” เป็นสภาพธรรม “ได้ยิน” เป็นสภาพธรรม นี่คือรู้ชื่ออีก รู้เรื่องอีก จนกว่าจะรู้ลักษณะ โดยที่ขณะนั้นลักษณะเท่านั้นกำลังปรากฏจริงๆ ไม่ต้องคิดเพราะเหตุว่าฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ว่าเป็นลักษณะแต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง เห็นขณะนี้เป็นสภาพธรรม และเห็นขณะนี้เป็นผลของกรรมหรือ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องฟังต่อไปว่าการเห็นบังคับบัญชาไม่ได้ ทุกคนอยากจะเห็นสิ่งที่ดี แต่ว่าบางคนก็เห็นสิ่งที่ดี บางคนก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี ใช่ไหม หรือบางกาละจิตก็เห็นสิ่งที่ดี บางกาละจิตก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ไม่ดีตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ต้องรู้ด้วยว่าเหตุปัจจัยนั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันจริงๆ จากการศึกษาพระธรรม ขณะที่เรามีความต้องการ เรารู้สึกตัวว่าเราพึงพอใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็จะบอกกับตัวเองว่าเป็นโลภะ แล้วเราก็เข้าใจผิดว่าสิ่งนี้คือการที่เราศึกษาพระธรรมมา แล้วเราก็ระลึกถึงสิ่งที่เกิดในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อวานท่านอาจารย์บอกว่าสภาพธรรมไม่มีชื่อ

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาบอกว่าเวลาที่ติดข้องก็บอกว่าบอก คือนึกถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง คือนึกแล้วก็พูดออกมาด้วย

    ท่านอาจารย์ พูดด้วย พูดกับใคร

    ผู้ฟัง โลภะเกิด บางทีก็พูดกับตัวเอง หรือถ้ามีเพื่อนหรือสหายธรรมก็อาจจะบอกว่าวันนี้โลภะมีมากตั้งแต่เช้าแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะที่เห็น ต้องบอกไหมว่าเห็น เมื่อสักครู่บอกโลภะ บอกใครๆ ว่าเป็นโลภะ บอกตัวเองบางทีก็บอกว่าเป็นโลภะ แล้วกำลังเห็นนี่เคยบอกไหมว่าเป็นจิต

    ผู้ฟัง ไม่ได้บอก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีชื่อไหม เห็น

    ผู้ฟัง แต่เราก็คิด เพราะขณะที่เรามองออกไป เราก็คิดว่าสิ่งนี้คือดอกไม้ แล้วก็กล้วยไม้

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นเห็นมีชื่อหรือไม่ ถ้าคุณสุกัญญาไม่เรียกชื่อ โลภะก็เป็นโลภะ เกิดแล้วทำหน้าที่ของโลภะ ถ้าเป็นชาวต่างประเทศใช้คำอื่น แต่โลภะอาจจะยังใช้เพราะเหตุว่าเป็นภาษาที่สากลสำหรับพุทธศาสนา

    ผู้ฟัง จากการศึกษาพระธรรม เมื่อก่อนเมื่อเรามีความต้องการหรืออะไรก็ไม่ใช่เปล่งวาจาหรือไม่ได้คุยกันว่าวันนี้เรามีโลภะ สิ่งนี้คือการจากการศึกษาพระธรรมที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถจะระลึกได้ว่าในวันหนึ่งๆ เรามีสิ่งนี้เกิดขึ้น จากการศึกษาของเราๆ รู้ว่านี่คือสภาพจิตที่เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจคำที่ว่า “สภาพธรรมไม่มีชื่อ” แต่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำให้เข้าใจถึงสภาพธรรมอะไร เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีชื่อที่จะเรียก ที่จะบอก แม้ว่ากำลังเห็น ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่ากำลังหมายความถึงเห็น หรือหมายความถึงคิด หรือหมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นจึงต้องมีคำสำหรับให้รู้ว่ามุ่งหมายถึงสภาพธรรมอะไร เช่นถ้าพูดว่าเห็น จะไม่คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา และถ้าพูดว่าได้ยิน ก็จะไม่คิดถึงเห็น นี่คือความจำเป็นที่จะต้องใช้คำที่จะทำให้รู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ มีลักษณะอย่างไร สภาพธรรมที่เกิดแล้วมีลักษณะเฉพาะอย่าง เกิดแล้วดับไปเลย ให้เห็นความรวดเร็วว่าเราอยู่ในโลกของอะไร ของความทรงจำในสิ่งที่เกิดดับ จนกระทั่งสัญญาจำรูปร่างเรื่องราว เสียงต่างๆ แล้วก็เข้าใจว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีจริง เป็นจริง แต่สิ่งที่มีจริงคือถ้าจิตไม่เกิดคิด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน สิ่งต่างๆ ก็ไม่มีที่จะทำให้ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ คือจิต เป็นธาตุรู้เมื่อเกิดแล้วต้องรู้ กำลังนอนหลับสนิทไม่ใช่คนที่ตายแล้ว มีจิตเกิดดับไหม เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่อารมณ์ไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่จิตต้องเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ ไม่ต้องเรียกอะไรเลย ไม่มีใครเรียกอะไร ก่อนการตรัสรู้ จิต เจตสิก รูปก็เกิดดับสืบต่อ ก็ไม่มีใครไปเรียกอะไรใช่ไหม แต่เมื่อได้ตรัสรู้แล้วทรงแสดงก็มีผู้ที่ใช้คำให้รู้ถึงว่าสภาพที่มีจริงๆ ให้รู้ว่าสภาพนั้นมีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่ออะไร สภาพธรรมนั้นก็มี เช่น โลภะเกิดแล้ว แล้วคุณสุกัญญาเรียกในภายหลัง แต่จริงๆ แล้วลักษณะนั้นเกิดแล้ว ไม่อย่างนั้นคุณสุกัญญาก็ไม่ได้คิดถึงคำนี้ใช่ไหม แล้วลักษณะที่เกิดแล้วก็ดับแล้วด้วย เวลาที่กำลังคิดว่าโลภะขณะนั้นลักษณะของโลภะที่เกิดดับแล้วๆ จิตขณะนั้นก็นึกถึงคำว่า “โล” แล้วก็นึกถึงคำว่า “ภะ” จึงเป็น “โลภะ”

    ผู้ฟัง แต่จากการที่เราศึกษาพระธรรมก็รู้ ตัวเรามีความรู้ในสภาพที่เป็นจริงเพิ่มขึ้น แต่ว่ายังไม่เข้าใจหรือว่ายังไม่ประจักษ์ลักษณะของปรมัตถธรรมที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงจิต เจตสิก หรือรูปจริงๆ เลย แต่พอเราศึกษาพระธรรมแล้ว เรามีความเข้าใจในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมากขึ้น นั่นก็เหมือนกับว่าเราบังคับตัวเราให้ต้องสำรวมกาย วาจา อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นเราไปจนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง แต่ว่าถ้าฟังท่านอาจารย์ว่าสภาพธรรมไม่มีชื่อ สิ่งที่เราบีบบังคับตัวเองให้สำรวมกาย วาจาก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก จะเป็นอย่างนั้นไหม ที่ว่าเป็นเราคืออะไร

    ผู้ฟัง ที่เป็นเราตามสภาพธรรมก็คือจิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ นี้คือศึกษาเพื่อให้เข้าถึงความเข้าใจสื่งนี้จริงๆ ว่าไม่มีเราแต่มีจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นเรียนเรื่องจิต เจตสิก รูป ให้เข้าใจขึ้นเพื่อที่จะได้รู้ว่าเป็นจิต เจตสิก รูป แต่ละประเภท

    ผู้ฟัง แล้วที่เราสำรวมอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีจิต เจตสิก หรือ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นจิต เจตสิก ไม่ใช่เรา แต่ไม่รู้ว่าเป็นจิต เจตสิก

    ผู้ฟัง แต่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกว่าจะมีความรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่เราก็จะต้องมีการฟัง และมีการอบรม แล้วเราจะรู้ว่ายากแค่ไหนเพราะว่าเคยเป็นเรา แม้ว่าจะไม่พูดว่าเรา ก็เป็นเรา หรือแม้จะพูดว่าเรา หรือจะพูดว่าไม่ใช่เรา ก็ยังคงเป็นเราที่พูด ยังคงเป็นเราที่คิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567