พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
ตอนที่ ๑๓๙
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ ทำไมไม่รู้ว่าลักษณะที่โกรธก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งต่างกับเห็น เพราะขณะที่โกรธ ถ้าไม่หลับตาก็เห็นในสิ่งที่กำลังโกรธด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ต่างกัน จะเห็นได้ว่ากว่าเราจะรู้ทั่วตรงกับที่ได้ยินได้ฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงชื่อที่จำหรือท่องหรือพยายามคิด ไม่ใช่อย่างนั้น แต่มีลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ทุกขณะที่ไม่หลับก็สามารถที่จะรู้ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจจากการฟังทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่าความไม่รู้ซึมซาบอยู่ในจิตเหมือนกับสิ่งซึ่งยากที่จะเอาออกได้ ต้องอาศัยปัญญาอย่างเดียว ศีลเท่านั้นก็ไม่สามารถจะทำให้ดับกิเลสได้ เพียงแค่ระงับการกระทำทางกายทางวาจาที่ไม่ถูกต้องที่เป็นไปทางฝ่ายอกุศล สมาธิหรือสมถภาวนาก็เป็นจิตที่สงบระงับชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่าปัญญาขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา นี่เป็นความต่างกันของคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับคำสอนของผู้ที่ไม่ได้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง การที่เราต้องพูดถึงเรื่องอกุศลมากๆ ก็เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง เช่น เมื่อวานนี้ก็กล่าวถึงเรื่องเพียงแค่เห็น แต่ไม่ใช่แค่เห็น เพราะฉะนั้นก็หมายความว่าเวลาที่สิ่งที่ปรากฏกระทบกับจักขุปสาททางตา จะมีจิตเห็นเกิดขึ้นเล็กน้อยสั้นมาก แต่เวลานี้เราเห็นเป็นคน เห็นเป็นสิ่งต่างๆ มากมายเกินกว่าที่จะเห็น เพียงธูปที่จุดแล้วแกว่งจนกระทั่งปรากฏว่าเป็นวงกลม ขณะนั้นก็เห็นได้ว่าเป็นนิมิตของสิ่งที่มี แล้วก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ฉันใด ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏจากการศึกษาก็ทราบว่าเป็นธรรมที่กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว ฉันนั้น เพราะฉะนั้นอะไรปรากฏ นิมิต เพราะไม่มีการรู้การเกิดดับ ก็จะมีสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อจนปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานเป็นความทรงจำในนิมิตส่วนหยาบ ในอนุพยัญชนะส่วนละเอียด เพียงแค่ทางตา ไปไกลแค่ไหนแล้วจากความเป็นจริงคือเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องราวตามมาสารพัดตลอดชีวิตทุกขณะที่เห็น ก็แสดงว่ากว่าจะรู้ตัวว่าอกุศลมีมากเท่าไร ลึกแค่ไหน แล้วจะค่อยๆ รู้จริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้จริงๆ เป็นสมุทเฉทเป็นพระอริยบุคคลก็ต้องอาศัยความรู้เท่านั้น ซึ่งความรู้ก็ต้องอาศัยกาลเวลาอีกใช่ไหม ไม่ใช่เพียงแค่ระลึกนิดเดียวแล้วก็ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่หมดกิเลส นั่นคือไม่ได้เข้าใจปริยัติโดยถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นการเข้าใจปริยัติโดยการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมที่ถูกต้อง ต้องเข้าใจความจริงที่จะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องคืออบรมเจริญปัญญาที่จะเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือผลของปริยัติคือการศึกษาด้วยความเข้าใจ แต่ถ้าไม่ศึกษาด้วยความเข้าใจจะไม่นำไปสู่สติปัฏฐานหรือสภาพที่กำลังรู้ตรงลักษณะด้วยการที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้
เพราะฉะนั้น ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวท ปริยัติคือการเรียน การฟังเรื่องราวของสภาพธรรมเพื่อที่จะให้ถึงขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะจริงๆ ทีละลักษณะ นั่นคือปฏิบัติ จนกระทั่งถึงปฏิเวทคือการประจักษ์แจ้งความจริงที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประจักษ์แจ้ง แล้วก็ทรงพระมหากรุณาแสดงให้ผู้ที่ได้สะสมมามีโอกาสได้สะสมความเห็นถูกต่อไป มีโอกาสได้ฟังได้ไตร่ตรองด้วยความละเอียด ด้วยความถี่ถ้วน ด้วยการละ ไม่ใช่ยิ่งฟังแล้วยิ่งอยาก สิ่งนั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง ในกรณีที่พวกเรากำลังศึกษาธรรม มีความเห็นว่าอนุสัยกิเลสน่าจะโดนขูดออกไปบ้าง ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าจะใช้คำว่า “ขูด” อะไรขูด มีอะไรที่จะไปขูด
ผู้ฟัง ธรรมขูดอนุสัย
ท่านอาจารย์ คงไม่ใช่เล็บใช่ไหม ถ้าใช้คำว่าขูด ก็ต้องรู้ว่าถ้าสติไม่เกิดซึ่งเป็นหนทางเดียวที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ความรู้ลักษณะของสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ก็เป็นเพียงขั้นฟังเรื่องราว และก็สะสมความรู้ความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และก็มีปัจจัยให้กุศลขั้นอื่นๆ เกิดได้เช่นขั้นทานบ้าง ขั้นศีลบ้าง แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึงการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่การที่จะมีการขูดจริงๆ มีแต่เพียงการละด้วยธรรมฝ่ายตรงข้าม เพราะเหตุว่าขณะนี้เรากล่าวว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ไม่รู้ จริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นอะไรที่จะทำให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏถ้าจะใช้คำว่า “ขูด” และอะไรจะขูดอย่างที่ว่านี้ สติสัมปชัญญะซึ่งจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ที่เราศึกษามามากมาย แล้วทำไมมารู้ตรงที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏนั้นไม่เหมือนกับที่เราได้ศึกษามามากมายอย่างนั้นจริงๆ
ท่านอาจารย์ ต้องเหมือน จะไม่เหมือนไม่ได้ เพราะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตามี พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงเรื่องจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมเท่านั้นซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้นก็ต้องตรงกัน
ผู้ฟัง ขณะนี้ก็มีโลภะ มีนิมิตอนุพยัญชนะ พอจะรู้พอจะเข้าใจได้ไหมในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ ถ้าฟังเรื่องนิมิต ขณะนี้รู้ว่ากำลังเห็นนิมิตแน่นอน แต่ว่าไม่เคยมีการระลึกได้บ่อยๆ ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นนิมิต เป็นสังขารนิมิต นิมิตของสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะว่าไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ก็เห็นเพียงนิมิตของสิ่งซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นในขณะนี้ เห็นอะไร ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแต่เห็นนิมิต เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ และถ้ากำลังรู้รายละเอียดส่วนละเอียดขณะใดก็คือขณะนั้น ก็เข้าใจความหมายว่าขณะนั้นมีอนุพยัญชนะเป็นอารมณ์ ก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันแต่ไม่เคยรู้ แต่ว่าเมื่อได้ฟังก็รู้ว่าตรงตามที่ได้ฟังทุกอย่าง แม้แต่ความหมายของคำว่านิมิต หรืออนุพยัญชนะ หรืออนุสัยกิเลส เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังมีการไตร่ตรอง มีการพิจารณาจึงจะเป็นความเข้าใจของเราเอง ในพระไตรปิฎกจะมีคำว่า “เห็น” และ “นิมิตอนุพยัญชนะ” ถ้าเราไม่เคยฟังเรื่องจิต เรื่องปรมัตถธรรม เรื่องเกิดดับ เราจะเข้าใจไหม เราก็เข้าใจเผินๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานนี้คือนิมิต และส่วนละเอียดนั้นก็คืออนุพยัญชนะ แต่เราจะไม่รู้ว่าปรากฏได้อย่างไร นิมิตที่กำลังมีในขณะนี้ที่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เกิดมีได้ คิดถึงนิมิตต่างๆ เหล่านั้นได้เพราะอะไร ถ้าไม่มีสภาพธรรม นิมิตอนุพยัญชนะก็ไม่มี ถ้าประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ไม่มีนิมิตอนุพยัญชนะเพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ขณะใดที่ไม่มีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก ประมาณไม่ได้ก็ทำให้เห็นเป็นสิ่งที่สืบต่อจนกระทั่งเป็นสัณฐานต่างๆ เพราะฉะนั้นเราก็จะมีความเข้าใจขึ้นว่าแม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ความจริงมีอะไรเป็นของจริง เกิดปรากฏเป็นอย่างนี้ได้เพราะอะไร
ผู้ฟัง รู้ทีละเล็กทีละน้อยไปอย่างนี้หรือ
ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าไม่มีตัวตน แต่มีสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความหมายที่ว่าทุกอย่างหรือธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สิ่งที่มีไม่ใช่ไม่มีแต่เป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้นที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้ ก็ต้องมีความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ผู้ฟัง ผู้ที่มีโลภมูลจิตแต่ละคนมีความติดข้อง เรามาเรียนธรรมที่นี่ ก็พยายามมาทุกสัปดาห์ สิ่งนี้ก็นับว่าเป็นความติดข้อง เป็นโลภะหรือไม่
ท่านอาจารย์ ทำไมไม่ไปเที่ยว ที่นี่มีอะไรสนุก หรือว่ามีสิ่งที่ทำให้เข้าใจ
ผู้ฟัง สิ่งนี้คือความติดข้อง
ท่านอาจารย์ ประโยชน์ที่ได้ มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นความเข้าใจ ขณะนั้นละความไม่เข้าใจ แต่ส่วนเรื่องติดให้ทราบว่ามากมายมหาศาล แม้แต่กำลังนั่งอยู่ขณะนี้ แค่มือเคลื่อนไหวไปนิดหนึ่ง โลภะแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องจริง ยิ่งเข้าใจถูกต้องว่ามีกิเลสมากยิ่งเป็นผู้ไม่ประมาทที่จะต้องอบรมความรู้ความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ไปคิดว่าอ่านโน่น อ่านนี่ คิดนั่น คิดนี่ ก็จะเป็นปัญญาที่สามารถจะดับกิเลสได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่ได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างรวดเร็ว พูดถึงโลภะ เหลียวไปก็โลภะแล้วก็ไม่รู้ ใช่ไหม ก็เต็มไปด้วยความไม่รู้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงฟังเพื่อให้รู้ถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นการเตือนให้รู้ตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง ขอความเข้าใจในลักษณะสภาพธรรมของสติเจตสิกกับปัญญาเจตสิก
ท่านอาจารย์ สติเจตสิกเป็นสภาพที่ระลึกรู้เพราะเมื่อเป็นนามธรรมก็ต้องรู้ แต่เวลาที่ใช้คำว่า “ระลึกรู้” ในภาษาไทย เราคิดว่าเราไปคิดถึงอะไร ระลึกถึงอดีต อนาคตระลึกหรือไม่ มีใครระลึกถึงอนาคตไหม ถ้าใช้คำว่า “คิดถึง” เราคิดถึงได้ใช่ไหม แต่ส่วนใหญ่เวลาเราใช้คำว่าระลึกถึง เราจะคิดถึงสิ่งที่ได้ล่วงไปแล้วในภาษาไทย แต่ไม่ทราบว่าผู้รู้ในภาษาไทยท่านก็อาจจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมอย่างไร แต่ภาษาสามัญ ภาษาชนบท ภาษาชาวบ้านที่ใช้กันก็คือว่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว คือระลึกถึง แต่ว่าสติเจตสิก เราจะไม่ใช้คำว่า “ระลึก” ก็ได้ แต่โดยศัพท์ใช้คำว่า “ระลึก” เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เป็นนามธรรมที่เกิดเป็นสภาพรู้ ต้องเกิดขึ้นรู้ ไม่รู้ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องรู้ แล้วแต่ว่าจะรู้โดยฐานะของจิต หรือรู้โดยฐานะของเจตสิก เพราะฉะนั้นสำหรับสติเจตสิกไม่ใช่จิต ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างจิตโดยการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เป็นสภาพที่รู้ในขณะที่เกิดขึ้นโดยการเป็นไปในสิ่งนั้น เช่น ขณะนี้เราไม่มีการคิดที่จะให้ทาน แต่ขณะใดที่เกิดเป็นไปในทาน เป็นไปในการคิดแม้จะให้ ขณะนั้นสภาพที่ระลึกเกิดขึ้นเป็นไปในทานเพราะคิดถึงการให้ นั่นคือสภาพของสติเจตสิก ต่างกับวิตกเจตสิก ซึ่งวิตกเจตสิกคิดได้ทั้งกุศล และอกุศล จะคิดเรื่องไม่ดีก็ได้ จะคิดเรื่องดีก็ได้ แต่ถ้าเป็นสติเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดี เพราะฉะนั้นเมื่อสติเจตสิกเกิดขึ้นขณะใด จิตขณะนั้นเป็นโสภณ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลระดับใด หรือว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรือว่าจะเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ สติก็เป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในขณะนั้น เช่น ขณะนี้ได้ฟังว่าเป็นธรรมทั้งหมด เห็นสิ่งที่ปรากฏก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ต่างกับธรรมอื่นแน่นอน ต่างกับเสียง ต่างกับกลิ่น และขณะนี้กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสติระดับที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะของสภาพธรรม คือไม่ได้ใส่ใจหรือคิดถึงสิ่งอื่น กำลังมีสิ่งที่ปรากฏก็อยู่นิดหนึ่งคือไม่ไปที่อื่นนิดหนึ่ง ด้วยการที่มีความเข้าใจนิดหนึ่งที่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมลักษณะหนึ่ง นี่คือสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงทีละเล็กทีละน้อย เหมือนกับทางกาย ขณะนี้มีแข็งกำลังปรากฏ ขณะที่ไม่ได้ฟังตรงแข็ง เรื่องแข็ง ก็ไม่มีการรู้ตรงแข็ง หรือขณะที่แม้ฟังว่าแข็งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะรู้ตรงแข็งที่กำลังปรากฏ เพราะว่ามีแข็งปรากฏให้รู้ ขณะที่รู้ตรงแข็งขณะนั้นก็คือสติที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพราะได้ยิน ได้ฟัง ได้เข้าใจถูกต้องว่ามีแข็งจริงๆ ใครก็บังคับเปลี่ยนลักษณะของแข็งให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และแข็งก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่ง แม้แข็งก็เกิดไม่ได้ หรือแม้แข็งที่มีอยู่ที่จะปรากฏได้ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยคือต้องมีกายปสาทที่สามารถกระทบแข็งเท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีจิตที่เกิดขึ้นเพราะการกระทบของกายปสาท และแข็ง จิตรู้แข็งจึงเกิดขึ้น นั่นคือปกติธรรมดา แต่เมื่อได้ฟังแล้วรู้ว่าแข็งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งก็ไม่ละเลยขณะที่แข็งปรากฏก็รู้ตรงแข็ง ขณะนั้นก็คือสติเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง แต่จะเห็นได้ว่ากว่าจะรู้จริงๆ ทีละอย่างจนกระทั่งไม่มีเราก็ต้องอาศัยการเกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ของสติสัมปชัญญะที่จะรู้ตรงลักษณะนั้น แล้วก็เห็นความต่างว่าเวลาพูดถึงแข็งโดยไม่ได้รู้ตรงแข็งก็ไม่ได้มีลักษณะของแข็งปรากฏ แต่เวลาที่พูดเรื่องแข็ง มีความเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งก็มีปัจจัยที่จะรู้ตรงแข็ง นั่นคือขณะนั้นเป็นสติระดับที่เป็นสติปัฏฐานเพราะว่ามีลักษณะแข็งเป็นที่ตั้งของสติที่ระลึกรู้
ผู้ฟัง ปัญญาเจตสิก คือ ...
ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก
ผู้ฟัง ถ้าเราฟังธรรมแล้วเรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เราก็มีปัญญาทีละเล็กทีละน้อย แต่เราก็ยังไม่มีสติที่ระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ขณะที่มีปัญญา ขณะนั้นต้องมีสติแล้วแต่ว่าจะเป็นระดับไหน เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังฟังเข้าใจ มีวิตกเจตสิก มีวิจารเจตสิก มีเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิกมากมาย แต่ไม่รู้เลย จะรู้ได้ก็ทีละลักษณะ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเข้าใจจากการฟังก็มีความเข้าใจเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟัง แต่เป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้นขณะนั้นถ้าไม่มีสติจะไม่มีการเข้าใจเรื่องราวหรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเลย เพราะฉะนั้นจะมีคนที่บอกว่าฟังแต่ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่ไม่เข้าใจคือขณะนั้นไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ขณะใดที่มีปัญญาเข้าใจ ขณะนั้นเพราะมีสติ และโสภณเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นการศึกษาที่จะทำให้เห็นสติขั้นต่างๆ ขั้นทานเกิดขึ้นเพราะอุปนิสัยที่สะสมมาเป็นทานุปนิสัยโดยที่ไม่ได้ฟังธรรมเลย ไม่เข้าใจเลย แต่การสะสมอาสยะฝ่ายดีก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการให้ มีการระลึกเป็นไปในการให้ขึ้น
ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เป็นสติเจตสิกเกิดโดยที่ไม่ได้มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นทางฝ่ายกุศลที่เป็นกามาวจรกุศลที่ใช้คำว่ามหากุศลเป็นไปหลากหลายทั้งในขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นของบุญกิริยาวัตถุ ขณะนั้นก็มีสติเกิดร่วมด้วย แต่จะมีปัญญาหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็แบ่งกุศลเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก และไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก แต่กุศลทุกประเภทต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้โสภณวิบากผลของกุศลก็ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง ถ้าเราเจริญกุศลโดยที่ไม่มีปัญญา เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก เดินทางถูกได้
ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาก็คงมีมิตรสหายหรือหลายๆ คนที่รู้จักที่ท่านมีอัธยาศัยสะสมมาในกุศลขั้นทานบ้าง ขั้นศีลบ้าง แต่ว่าท่านไม่สนใจการศึกษาเรื่องธรรม เพราะฉะนั้นเวลาศึกษาธรรม เอาชื่อออกหมดก็เป็นธรรมที่สะสมมาแต่ละบุคคล แต่ละอัธยาศัย แล้วก็มาเรียกชื่อต่างๆ กันไป เพื่อให้เข้าใจว่าหมายความถึงการสะสมของขันธ์ไหน สืบต่อมาจนกระทั่งถึงชาตินี้เป็นอย่างนี้มีชื่ออย่างนี้
ผู้ฟัง เรื่องของกามราคานุสัยกับภวราคานุสัย ถ้ากามราคานุสัยก็พอจะเข้าใจว่าเป็นความยินดีพอใจในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส เมื่อดับไปแล้วก็เป็นการสั่งสม ถ้าเป็นภวราคานุสัย จะเห็นได้ในชีวิตประจำวันหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าแยกก็กล่าวว่ามีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสเป็นกามราคานุสัย แต่ถ้าไม่แยกยินดีในภพด้วยเพราะเหตุว่ามีความมี ความเป็น ที่จะเป็นบุคคลที่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่ถ้าแยกก็เป็นกามราคานุสัย ภวราคานุสัย เพราะเหตุว่าผู้ที่ดับกามราคานุสัยได้แก่พระอนาคามีบุคคล แต่ว่าผู้ที่จะดับภวราคานุสัยคือพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นกล่าวรวมได้บางครั้งบางแห่งอย่างกามุปาทานหมายถึงความยินดีติดข้องทั้งในกาม และในภพ
อ.วิชัย ถ้าจะกล่าวถึงความเป็นพรหมบุคคลก็จะเห็นได้ว่าไม่มีความติดข้องในกาม แต่ว่ายังมีความยินดีเป็นภวราคะอยู่
ท่านอาจารย์ แต่ว่าความติดข้องในภพของผู้ที่ยังอยู่ในกามภูมิอยู่ก็คือติดข้องในภพที่เป็นไปในกาม และธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระปัญญาที่ตรัสรู้สภาพธรรมทั้งปวงโดยสิ้นเชิงจะเห็นได้ว่าละเอียดมาก โลภะเป็นปัจจัยให้เกิดทิฏฐิ เช่นเดียวกันทิฏฐิก็เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะได้ เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวโดยปัจจัยที่กว้างขวางทุกอย่างก็เป็นปัจจัยกันได้ แต่ถ้ากล่าวโดยปัจจัยเฉพาะอย่างๆ ก็ต้องแยกด้วย นี่ก็คือความละเอียดของพระธรรม
เรื่องของธรรมก็ป็นเรื่องชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะได้ฟังแล้วฟังอีกหลายๆ ชาติ แต่ประโยชน์สูงสุดก็คือได้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะตั้งแต่เกิดจนตายก็จะต้องมีสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็ไม่เคยขาดเลย แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏก็เป็นสิ่งที่ปรากฏเพียงชั่วคราว สั้นมาก เล็กน้อยมาก แต่ถ้าเราไม่ได้ยินได้ฟังถึงเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏเราก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงซึ่งผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ และได้ทรงแสดง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว และอีกไม่นานจะอันตรธาน นี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราที่มีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง ก็ฟังด้วยความนอบน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม แม้ในขั้นของกาย วาจา ใจ และก็การอบรมเจริญปัญญาด้วย เพราะถ้ารู้ ก็รู้ว่าเรื่องของกิเลสมากมายมหาศาล แต่ถ้าไม่รู้ก็ไม่เห็นมีอะไร เราก็ไม่ได้ไปทำทุจริตกรรมอะไร แต่ถ้าระหว่างที่ไม่ได้ทำทุจริตกรรม จิตเศร้าหมองเป็นอกุศลหรือว่าจิตผ่องใสเป็นกุศล ก็เป็นสิ่งที่ถ้าพระธรรมไม่ได้ทรงแสดงโดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีบุคคลใดที่สามารถจะรู้ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็นเกิดขึ้น และดับไป
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180