พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
ตอนที่ ๑๒๒
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้แต่ขั้นเรื่องราวก็จะเห็นได้ว่าเวลาที่สนทนากัน จะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะจิตในขณะนั้นแม้แต่คำพูด บางคนก็อาจจะตื่นเต้นกับเหตุการณ์ซึ่งไม่ได้เป็นจริง แต่ว่าเข้าใจว่าเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด อย่างที่กล่าวว่าบางทีแม้เป็นอกุศลก็เข้าใจว่าเป็นกุศล เพราะว่าบางคนก็ไปพยายามทำจิตให้นิ่ง และในวันหนึ่งๆ มีแต่เรื่องวุ่นวาย ก็พยายามที่จะไปนั่งไม่ให้คิดเรื่องอะไร บอกว่าให้จิตดิ่งบ้างหรือให้เฉยบ้าง ขณะนั้นก็เข้าใจว่าเป็นกุศล แต่ความจริงเป็นอกุศล นี่ก็คือความเห็นผิด
เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดในเรื่องราวก็มี ความเห็นผิดหลากหลายต่างๆ ก็มี ถ้าสนทนากันก็จะได้ทราบว่าขณะนั้นผู้ที่กำลังเห็นผิดอย่างนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมกับความรู้สึกโสมนัส หรือว่ามีความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับอุเบกขา เพราะว่าถ้าจะพิจารณาแล้วสำหรับความรู้สึกที่จะเกิดกับความติดข้องคือโลภมูลจิตจะมีเพียง ๒ อย่างคืออุเบกขาเวทนา อทุกขมสุข เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์อย่างหนึ่ง และโสมนัสเวทนาอีกอย่างหนึ่ง ถ้าขณะใดที่ขุ่นใจแม้นิดเดียว ไม่ใช่สภาพของโลภมูลจิตที่ติดข้องในสิ่งนั้น แต่เป็นโทสมูลจิต เพราะฉะนั้นลักษณะของเวทนาก็พอที่จะให้เห็นความต่างของโลภมูลจิตกับโทสมูลจิต แต่สำหรับโมหมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว นี่ก็เป็นความละเอียดที่จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจสภาพของจิตว่าขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทใด แต่สำหรับความเห็นผิดจะเห็นได้ว่าเกิดกับความรู้สึก ๒ อย่าง บางคนเห็นผิดแล้วก็โสมนัส ร้องเพลง สรรเสริญ เต้นรำ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราจะเห็นการบูชายัญใช่ไหม ที่เข้าใจว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วๆ จะพ้นจากบาป อาจจะร้องเพลง อาจจะเต้นรำ อาจจะสนุกสนาน ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แต่บางคราวก็ไม่เป็นอย่างนั้นก็เป็นความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ยังยึดมั่นในความเห็นนั้นแต่ก็ไม่ใช่ด้วยโสมนัส เป็นอุเบกขาได้
และสำหรับเรื่องของความเห็นผิดก็ยังแยกออกเป็นมีกำลังกล้าเพราะว่าสะสมความเห็นผิดๆ ด้วยตัวเอง บางคนเขาคิดของเขาขึ้นมาเองว่าต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ แต่ที่คิดนั้นผิดทั้งนั้น แต่ว่าเขาคิดเอง เพราะฉะนั้นก็จะมีลัทธิที่แตกแยกออกไปอีกมากมายตามความคิดเห็น อาจจะมีการร้องเพลงกี่รอบ และก็บูชาเท่าไร แล้วก็จะขึ้นสวรรค์หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ นั่นก็เป็นเรื่องของความเห็นผิดต่างๆ ซึ่งถ้าสะสมมาก็จะเกิดเอง แต่ว่าบางคนตอนแรกก็ไม่ได้มีความเห็นผิด แต่ว่าฟังไปฟังมา ฟังมาฟังไปก็เลยเชื่อในความเห็นนั้น สามารถที่จะเปลี่ยนแม้จากความเห็นที่ถูกไปสู่ความเห็นที่ผิดได้ นั่นก็เป็นทิฏฐิที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นอุเบกขาเวทนาหรือโสมนัสเวทนา และก็มีกำลังกล้าเป็นความเห็นของตนเอง หรือว่าอาศัยการใกล้ชิดชักชวนของบุคคลอื่นก็ทำให้ค่อยๆ คล้อยตาม ก็เป็นทิฏฐิประเภทที่มีกำลังอ่อนกว่าที่สะสมมาที่จะเกิดเอง ซึ่งภาษาบาลีก็มี ก็คงจะได้กล่าวถึงในภายหลัง แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่เกิดกับเราเอง แต่เวลาที่ได้ฟังความเห็นต่างๆ เราก็พอจะรู้ได้ว่าขณะนั้นจิตที่ทำให้คิดอย่างนั้น เชื่ออย่างนั้น กล่าวอย่างนั้น เป็นจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา หรือว่ามีกำลังกล้าเป็นความเห็นของเขาเอง หรือว่าคล้อยตามความเห็นของคนอื่น
อ.ธีรพันธ์ ลักษณะของโลภะมีทั้งประกอบด้วยความเห็นผิดก็มี และไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็มี มีระดับของการยึดติดประกอบด้วยเวทนา เวทนาเกิดกับจิตทุกประเภท แต่ว่าเวทนาที่เกิดกับโลภะที่จะสังเกตเห็นได้ในชีวิตประจำวันก็มีโสมนัสเวทนาประการหนึ่งกับอุเบกขาเวทนา ผู้ที่มีความเห็นผิดก็เพราะว่าไม่ได้ฟังพระสัทธรรมหรือเมื่อประสบกับอารมร์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้วก็ไม่พิจารณาโดยแยบคายทำให้เกิดความเห็นผิด
อ.ธิดารัตน์ ขอเรียนถามท่านอาจารย์ มีข้อความในอรรถสาลินีที่ท่านแสดงไว้ว่าเป็นผู้ไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นเหตุใกล้ให้เกิดของทิฏฐิ ท่านอาจารย์จะช่วยขยายความว่าทำไมเขาถึงไม่อยากเห็นพระอริยเจ้า
ท่านอาจารย์ เขาไม่รู้ว่าพระอริยเจ้าเป็นอย่างไร เขาจะอยากเห็นหรือไม่
อ.ธิดารัตน์ คนที่สะสมความเห็นผิดมา แม้กระทั่งเราสนทนากับเขา รู้สึกว่าเขาก็จะปฏิเสธไม่ยอมรับ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าเขาไม่สะสมมาที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ
อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้น พวกที่เขามีความเห็นผิดมากๆ แม้กระทั่งฟังพระอริยเจ้า เขาก็จะไม่เข้าใจ และก็จะปฏิเสธ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าเขาไม่ได้ต้องการที่จะรู้ความจริง ข้อที่น่าคิดก็คือว่าเราอาจจะเข้าใจว่าคำสอนอื่นๆ ผิด ไม่ตรงตามความเป็นจริง แต่ว่าสำหรับผู้ที่เป็นชาวพุทธเข้าใจถูกหรือว่าเข้าใจผิด ก็น่าคิดใช่ไหม หรือว่าเมื่อเป็นชาวพุทธแล้วเข้าใจถูก เห็นถูกหมด ไม่เห็นผิดเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมทั่วไปเกือบจะไม่ต้องใช้คำว่าชาวอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใช้คำว่าศาสนาไหนหรือไม่ใช้อะไรเลย แต่ความเห็นผิดก็เป็นความเห็นผิด ไม่ว่าจะเกิดกับคนที่กล่าวว่าเป็นชาวพุทธหรือไม่ใช่ชาวพุทธก็ตาม ความเห็นก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อเป็นความเห็นผิดก็คือเห็นผิดจากความเป็นจริง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ผู้ประมาทที่คิดว่าเมื่อนับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็จะเห็นถูก แต่ต้องรู้จริงๆ ว่า ถ้ากล่าวถึงศาสนาคือคำสอน พุทธศาสนาคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่เรียนไม่ศึกษาโดยละเอียดจะเข้าใจถูกไหม เพราะว่าแม้แต่การศึกษาก็ต้องละเอียดด้วย ต้องพิจารณาให้เข้าใจในเหตุในผล และเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องของตัวเองยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นความเข้าใจของคนอื่นที่เรารับฟังมาแล้วเราก็เชื่อ แต่ต้องพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็พิจารณาจนเป็นความเข้าใจของตัวเอง
แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปพยายามพากเพียรจำ แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น ทิฏฐิเจตสิกเป็นความเห็นผิดจะเกิดกับโทสะได้อย่างไร ในเมื่อโทสะปฏิเสธอารมณ์ ไม่ชอบอารมณ์นั้น ไม่ยินดีในสิ่งนั้นก็ไม่ติดข้องในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นก็จึงไม่ยินดี แต่เวลาที่มีความติดข้องเกิดขึ้นก็จะติดข้องในความเห็นที่ผิด
ถ้ามีความเห็นถูก มีความเข้าใจเหตุผลของสิ่งที่ถูกชื่อว่าติดข้องหรือไม่ เพราะความถูกต้องเป็นกุศล เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นการที่จะได้เห็นความต่างกันของกุศลจิตกับอกุศลจิต อกุศลจิตจะเป็นกุศลจิตไม่ได้ กุศลจิตก็จะไปเป็นอกุศลจิตไม่ได้ฉันนั้น เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นความเห็นถูก เมื่อเป็นความเห็นถูกขณะนั้นจะเป็นความเห็นผิดไม่ได้ แต่การศึกษาถ้าไม่ละเอียดก็อาจจะทำให้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทที่จะรู้ว่าธรรมที่ทรงแสดงเป็นทางที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งต้องตรงกันด้วย
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันเราพบสิ่งที่ไม่น่าพึงใจหรือเป็นอกุศล แล้วเราก็ทำจิตแบบแค่รับรู้ แต่ไม่รู้สึกอะไร
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็คือความคิด รู้ก่อนหรือไม่ว่าจะคิดอย่างนี้ รู้ล่วงหน้าหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ พอเราประสบแล้วก็ทำจิตได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นความเป็นอนัตตาไหม แม้แต่ความคิดเราก็ยับยั้งไม่ได้ เราจะเปลี่ยนความคิดที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนั้นให้เป็นอื่นก็ไม่ได้ แต่บางขณะเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่คิดอย่างนี้ก็ได้ ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นแม้แต่ความคิดแต่ละขณะก็ส่องไปถึงความเป็นอนัตตา และสภาพธรรมว่าจิตขณะนั้นที่คิดแต่ละคนจากการสั่งสมของแต่ละคน สั่งสมมาอย่างไรก็น้อมที่จะมีปัจจัยที่จะทำให้คิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นแม้แต่ความเห็นถูกก็ยากที่จะเกิดถ้าไม่มีปัจจัย แต่เวลาที่เราคิดแล้วเราเกิดไม่โกรธ ขณะนั้นก็มีปัจจัยที่ไม่โกรธ แต่ว่าถ้าคิดแล้วยังโกรธก็อาจจะเป็นไปได้ใช่ไหม ถึงคิดแล้วก็ยังโกรธ บางคนก็บอกว่าให้นับหนึ่งถึง๑๐ ถึง ๑๐๐ ก็ยังโกรธ ไม่ใช่เพียงแค่๑๐ ใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแล้วแต่ว่าเราจะคิดอย่างไร อุบายอย่างไร และความคิดที่จะเกิดเพื่อที่จะระงับความโกรธอย่างไร ก็แล้วแต่สิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาชาตินี้ชาติก่อนทุกขณะผสมผสานกันเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดสภาพธรรมแต่ละขณะ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็มีสภาพที่เกิดขึ้นคิดอย่างนั้นซึ่งไม่ใช่เรา ให้รู้ว่าเป็นธรรม เป็นสภาพคิดซึ่งเป็นจิตประกอบด้วยเจตสิกในขณะนั้นด้วย
ผู้ฟัง และการคิดแบบนี้ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ คือไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะใส่ชื่อหรือปิดป้าย แต่เป็นเรื่องเข้าใจ ขณะนั้นคิดเรื่องอะไร เช่น บางคนพอเรียนเรื่องจิตประเภทนี้ ก็พยายามไปดูว่าเมื่อไรจิตประเภทนี้จะเกิด ความจริงเกิดอยู่แล้วแต่ไม่รู้ก็มี เช่น จิตที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีเป็นประจำวันไม่ต้องไปหา แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นก็คือจิตที่เรากล่าวถึง เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาสภาพธรรม ถ้าเรามีความเข้าใจแล้ว เราก็จะรู้ว่าเป็นจิตใดที่กล่าวถึง เช่น ถ้าสนทนากับคนที่มีความเห็นผิด แล้วเขาก็พอใจมากในความเห็นผิดนั้นเป็นโสมนัส เราก็อาจจะเกิดความเข้าใจได้ว่าขณะนั้นก็คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังจากการเรียนว่าความเห็นผิดต้องเกิดร่วมกับความติดข้องซึ่งต้องเป็นโลภะ ถ้าขณะที่เป็นโมหะจะไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลยเพราะมืด ไม่รู้อะไร ไม่มีแม้ความเห็นผิด เป็นแต่เพียงความไม่รู้เท่านั้น ขณะนั้นจึงเป็นโมหมูลจิตที่ไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต แล้วถ้าเป็นโทสมูลจิตกำลังโกรธไม่พอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจะไม่มีความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความเห็นเป็นทิฏฐิต้องมีความพอใจในขณะนั้นจึงเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสำหรับทิฏฐิเจตสิกจะเกิดกับโลภมูลจิตประเภทเดียว นี่ก็เป็นการที่เราค่อยๆ เข้าใจว่าเพราะเหตุใดเวลาที่ทิฏฐิความเห็นผิดเกิดขึ้นต้องเกิดกับจิตที่ติดข้องพอใจในความเห็นนั้น และบางขณะก็เป็นโสมนัส บางขณะก็เป็นอุเบกขา และบางขณะก็มีกำลังกล้าเกิดขึ้นเอง ชอบความเห็นนั้นเอง หรือบางขณะก็เกิดเพราะได้รับฟังบ่อยๆ นี่ก็คือโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดซึ่งจะมีความต่างโดยเวทนา และก็ต่างโดยมีกำลังกล้า และมีกำลังอ่อน แต่ไม่ใช่ถามว่าแล้วนี่เป็นอะไร แต่เป็นความเข้าใจของเราค่อยๆ เข้าใจขึ้น
อ.ธิดารัตน์ ที่ท่านแสดงไว้ในเรื่องของความเห็นผิด ท่านก็มีแสดงหลักใหญ่ๆ ว่าเห็นว่าเที่ยงอย่างหนึ่ง หรือว่าเห็นว่าขาดสูญ และสักกายทิฏฐิที่เป็นทิฏฐิอย่างสามัญก็คือการยึดมั่นขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน และโดยจำแนกโดยละเอียดก็จะมีท่านแยกเป็นจำพวกของนักคิดด้วย นักคิดซึ่งกล่าวแสดงปฏิภาณของตนตามที่ตรึกได้ ตามที่คิดได้อย่างเช่นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชื่อว่าเป็นอัตตาไม่เที่ยงแปรปรวน ส่วนจิตหรือว่าวิญญาณชื่อว่าเป็นอัตตา เป็นของเที่ยงยั่งยืน อย่างนี้เขาก็คิดว่าอย่างหนึ่งไม่เที่ยง อย่างหนึ่งเที่ยงอะไรอย่างนี้ เช่น ผู้ที่ได้ศึกษาธรรมอาจจะมีความรู้เรื่องลักษณะของจิต เจตสิก รูป แต่ก็ยังมีการยึดว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยงเพราะว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ อย่างนี้ก็ได้หรือว่าเป็นพวกที่นักคิดที่ได้ยินเรื่องราว ได้ยินเรื่องที่เขาพูดกัน แล้วก็มาคิดเอาเองในสิ่งเหล่านั้นโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง เชื่อว่ามีแค่ชาตินี้ ชาติหน้าไม่มีหรือว่าชาตินี้มีตัวเราหรือว่าชาติหน้าก็ยังมีตัวเราไปเกิดอีก อย่างนี้เป็นต้น เป็นการคิดตรึกถึงเรื่องราว
ผู้ฟัง ตามที่บอกว่าฟังเพื่อที่จะละ ไม่ได้ฟังเพื่อต้องการ การที่เรามาฟังนี่ เราฟังเพื่อที่จะละความเห็นผิดมากกว่าหรือละความติดข้อง หรือละความเข้าใจผิด ในขณะที่เกิดตรงนั้นมีความต้องการอยากที่จะเจริญกุศล ความรู้สึกหรือลักษณะของสภาพธรรมจะต่างกันตรงนั้น
ท่านอาจารย์ เมื่อฟังคุณธนกรจบแล้วก็ทราบว่าคุณธนกรจะเห็นความต่างของจิตในขณะที่มีความต้องการที่จะทำเพราะคิดว่าทำแล้วก็จะได้ผล แต่หนทางนั้นไม่ใช่หนทางที่ถูก เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังธรรมแล้วก็รู้ถูกเห็นถูกว่าฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อละความเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างกันไหม ว่าแต่ก่อนจะเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูก กับขณะที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจขึ้น รู้ว่าขณะนั้นไม่ถูก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเพียงความเห็นผิดแล้วก็ไม่ทำ ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่ทำ แต่อาจจะมีความเห็นตามแต่ยังไม่ได้ทำ ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิดที่ไม่ใช่สีลัพพตปรามาสกายคันถะ แต่ว่าเป็นความเห็นผิด แต่ถ้ามีการกระทำเกิดขึ้น และการกระทำนั้นไม่ใช่เป็นการกระทำที่เป็นเหตุที่จะให้ได้รับผลที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความเห็นผิดในการกระทำสิ่งที่เข้าใจว่าหนทางนั้นจะเป็นหนทางที่ถูก เพราะทำอย่างไรก็ไม่ถูก นอกจากจะเห็นผิดเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เข้าใจผิด ไม่เชื่อ ทำไหม หรือทำไปอย่างนั้นเอง
ผู้ฟัง เป็นความเห็นผิดด้วย
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อย่างนั้นจะทำได้อย่างไร
ผู้ฟัง เพราะขณะนั้นสภาพจิตมีความรู้สึกว่าไม่มีความเห็นผิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ใครก็ตามที่เห็นผิดคนนั้นไม่รู้ว่ามีความเห็นผิด คนที่มีความเห็นผิดจะไม่รู้ ถ้ารู้เมื่อไรไม่ใช่ความเห็นผิดเมื่อนั้น
ผู้ฟัง ขณะที่ศึกษาธรรมขณะนี้ทราบว่าตอนนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่เราจะย้อนกลับไปขณะนั้น บางครั้งความรู้สึกตรงนั้นก็มีเกิดขึ้นสลับในขณะนี้ก็มี ยากที่จะรู้ว่าเป็นความเห็นผิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหลายไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่กำลังเชื่อยึดมั่นในความเห็นผิดจะไม่รู้ว่าเป็นความเห็นผิด เพราะถ้ารู้ว่าเป็นความเห็นผิดก็คงจะไม่เชื่อเพราะรู้ว่าเห็นผิด แต่เพราะไม่รู้จึงเห็นผิด
ผู้ฟัง เหมือนกับว่าไปตรงนั้นก็ได้เจริญกุศลด้วย ทำให้เราเห็นการเจริญกุศลตรงจุดนั้น
ท่านอาจารย์ ถึงไม่ไปก็เจริญกุศลนั้นได้ ถ้าพูดถึงเรื่องทาน แม้ไม่ไปก็เจริญกุศลนั้นได้ เพียงแต่ทราบว่าขณะนี้ทุกคนมีจิต แล้วจิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้เลย ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วจิตจะเป็นจิตที่ดีเป็นกุศลหรือเป็นจิตที่ไม่ดีเป็นอกุศลก็เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นอกุศลเจตสิกเกิด จิตนั้นจะเป็นโสภณดีงามไม่ได้ และในขณะเดียวกันถ้าจิตนั้นเกิดร่วมกับโสภณเจตสิก จิตนั้นจะเป็นจิตที่ไม่ดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ถ้าพูดหรือได้ยิน หรืออ่าน หรือสนทนากันเรื่องอะไรก็จะทำให้ความคิดของเรากว้างขวาง โดยที่ว่าสามารถจะเข้าใจลักษณะของจิตซึ่งมีกับเราไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร เช่นพูดเรื่องอกุศลจิต ดีไหม พูดเรื่องเรามีอกุศลจิตให้รู้ว่ามีจริงๆ และก็เป็นอกุศลด้วยนี่ก็เป็นประโยชน์ และอกุศลก็ไม่ใช่มีแต่โลภะอย่างเดียว โทสะก็มี โมหะก็มี ทั้งหมดมีอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท แต่ถ้าจะกล่าวถึงจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิกที่เป็นอันตรายมาก เป็นภัยจริงๆ ก็จะต้องเป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด สิ่งนี้เราอาจจะไม่คิดเลยว่าเราเห็นผิดบ้างหรือไม่ เห็นผิดในอะไรบ้าง เห็นผิดมากน้อยอย่างไร แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ยังไม่ได้ดับทิฏฐานุสัยคือสภาพของความที่เป็นอกุศลอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิต แม้ในขณะปฏิสนธิในขณะที่เป็นภวังค์ ในขณะที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินอะไรทั้งสิ้น หรือแม้ในขณะที่เป็นกุศล ถ้าอนุสัยกิเลสยังไม่ดับก็หมายความว่าหลังจากที่กุศลจิตนั้นดับแล้ว อกุศลจิตก็มีปัจจัยเกิดได้ นี่เป็นเหตุที่เมื่อไร และทำไมอกุศลถึงไม่หมดไปเสียที มีมานานแสนนาน และก็เกิดอีกๆ ทุกวันแล้วเมื่อไรจะหมด ที่จะหมดได้ต้องด้วยปัญญาที่มีความเห็นถูกเข้าใจถูก แล้วก็ไม่ใช่เข้าใจถูกในสิ่งที่มีอยู่ในหนังสือ แต่ต้องเข้าใจถูกตามสภาพธรรมที่มีกับตนเอง รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะไหนเป็นอกุศล
ถ้าจะจำแนกประเภทของอกุศลจิต ก็จะมี ๓ ประเภท คือ โลภมูลจิตประเภทหนึ่ง โทสมูลจิตประเภทหนึ่ง โมหมูลจิตประเภทหนึ่ง โมหมูลจิตไม่มีโลภเจตสิก ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ยังมีไหม หรือว่าหมดไปแล้ว ยังมีแน่นอน แต่ว่ารู้ยากไหม เพราะว่าขณะนั้นไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ไม่เห็นว่าขณะนั้นคือขณะไหนที่เป็นอกุศล ถ้าโทสะเกิดนี่รู้เลยใช่ไหมว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าโลภะมากๆ ก็รู้ได้ แต่ว่าโลภะธรรมดาปกติในชีวิตประจำวันไม่สามารถที่จะรู้ได้ถ้าไม่ได้ฟังว่าขณะนั้นเป็นโลภะแล้ว
เพราะฉะนั้น สำหรับอกุศลจิตทั้ง ๓ ประเภท คือ โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ซึ่งที่เป็นโทษมากก็คือโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด เพราะว่าทุกคนมีโลภะถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ๆ เท่านั้นที่ไม่มีโลภะเลย พระอนาคามีไม่มีโลภะที่เป็นไปในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งแม้พระสกทาคามี และพระโสดาบันก็ยังมี แต่พระโสดาบันไม่มีความเห็นผิด นี่ก็แสดงว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันมีความเห็นผิด แต่ว่าโลภมูลจิตที่จะเกิดร่วมกับความเห็นผิดเมื่อไร นี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเหตุว่าเป็นอกุศลจิตประเภทแรกที่จะต้องดับด้วยโสตาปัตติมรรค คือผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลจะไม่มีโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดอีกเลย ไม่ว่าความเห็นผิดในขณะนั้นจะเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ อุเบกขาเวทนาหรือเกิดร่วมกับโสมนัส หรือเป็นโลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดอย่างมั่นคงที่มีกำลัง หรือว่าเป็นโลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยที่ไม่มีกำลังเท่ากับขณะที่เป็นความเห็นผิดที่มั่นคง เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ากว่าจะดับหรือก่อนจะดับทิฏฐิได้ ต้องรู้จักทิฏฐิตามความเป็นจริง มิฉะนั้นก็ดับไม่ได้ และทิฏฐิก็ออกมาหลายรูปแบบ หลายรูปแบบนี่จิตใครหรือจิตเรา ไม่ต้องไปคิดถึงคนอื่น ตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวไว้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่เรานั่นเอง เพียงแต่เราจะรู้ว่าขณะไหนเป็นความเห็นผิดอะไร เป็นความเห็นผิดระดับไหน
เพราะฉะนั้นที่จะรู้จักจิตนี้ ก็คือเมื่อได้ฟังแล้วก็รู้ว่ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่ขณะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยจะไม่รู้ตัว ขณะที่กำลังมีโลภะ รู้หรือไม่ รู้ลักษณะของโลภะว่าไม่ใช่โทสะแต่เป็นเรา เพราะฉะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือเปล่าที่ยึดถือโลภะนั้นเป็นเรา แต่ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ความเห็น แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นอกุศล เป็นไปตามความคิดนึก เพราะเหตุว่าเวลาที่นอนหลับสนิทไม่มีความเห็นผิด ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรหมดเลยทั้งสิ้น
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180