พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
ตอนที่ ๑๔๑
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ คือจะต้องค่อยๆ เข้าใจ กำลังเล่าเรื่องเป็นสติหรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ การฟังธรรมก็เพื่อให้เป็นปัญญาของเราเอง สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะไหนเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คิดนึกนี่ทางใจ แต่จิตที่คิดเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าขณะที่กำลังเริ่มเล่าเรื่องเป็นจิตที่คิดใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ผู้ฟัง เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ คือ ต้องเป็นผู้ตรง เราต้องค่อยๆ รู้ ยังไม่ต้องไปรู้ถึงนิพพาน แค่นี้ยังไม่รู้ถ้าเทียบดูสำหรับผู้อยากรู้นิพพาน อยากประจักษ์แจ้งนิพพาน เพียงแค่นี้ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้นิพพานก็เป็นไปไม่ได้ ขณะนั้นที่เล่าเรื่อง ตอบอีกครั้งหนึ่ง เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต
ผู้ฟัง เป็นอกุศลจิต
ท่านอาจารย์ เพราะอะไรจึงกล่าวว่าเป็นอกุศล
ผู้ฟัง เพราะอยากจะรู้ว่าเป็นสติหรือไม่
ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่ารู้จักโลภะไหม
ผู้ฟัง รู้จัก
ท่านอาจารย์ โลภมูลจิตกำลังเกิด กำลังเล่าเรื่องต่างๆ ในขณะนั้น
ผู้ฟัง เรามีฉันทะใคร่ที่จะรู้ ใคร่ที่จะศึกษา สิ่งนี้เขาอาจจะใคร่ที่จะรู้ว่าสิ่งที่เราเรียนธรรมมาแล้วสติอาจจะระลึกได้ว่าที่เรียนมานั้นถูกต้องหรือไม่ ก็เรียนถามผู้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าไปปัดอยู่ที่โลภะหมด ดิฉันก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วย เพราะบางขณะจิตเขาใคร่ที่จะรู้ได้ มีฉันทะที่จะรู้ มีฉันทะที่จะศึกษา
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าฉันทเจตสิกต่างกับโลภเจตสิก โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ต้องการ อยาก เพลิดเพลินเป็นต้น ขณะที่โลภะเกิด ฉันทเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่ว่าขณะที่โลภะเกิดไม่มีฉันทเจตสิก แต่จะมีทั้งฉันทเจตสิก และโลภเจตสิก สำหรับขณะที่เป็นกุศล จะมีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นแม้จะกล่าวว่าฉันทะจะเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่ก็ต้องรู้ว่าขณะที่อกุศลเกิดเช่นโลภะก็มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว เพราะฉะนั้นขณะนั้นมีทั้งฉันทเจตสิก และโลภเจตสิก แม้ขณะที่เป็นโทสมูลจิตกำลังขุ่นเคืองใจ มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีความพอใจในความโกรธ ในสภาพที่โกรธ ความโกรธจึงเกิดร่วมกันในขณะนั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะกล่าวโดยที่ว่าไม่รู้ หรือว่าประมวล หรือว่าอย่างหยาบๆ ว่าต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คนที่มาฟังธรรม เวลาที่คิดจะมาฟัง ที่จะได้เข้าใจธรรม ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ก่อนจะมาฟังก็ต้องแต่งตัว กำลังแต่งตัวเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มีความตั้งใจจะมาฟัง จนกระทั่งถึงเดินแต่ละก้าวเข้ามาที่มูลนิธินี้ ขณะนั้นจะรู้ได้ไหมว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา การอบรมสติสัมปชัญญะขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ และแม้ว่าขณะนั้นสภาพธรรมนั้นปรากฏก็เพียงขั้นต้น รู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรมหรือลักษณะที่เป็นนามธรรม เพราะความจริงขณะที่สติระลึกลักษณะที่แข็ง กำลังมีแข็ง ขณะนั้นก็จะค่อยๆ ชินกับแข็งซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปนั่งคิดนึกว่าขณะนั้นเป็นรูปธรรม หรือว่าเวลาที่เป็นสภาพคิดนึกก็ตาม เพราะว่าเราไม่ได้มีแต่เห็น เมื่อเห็นแล้วก็คิดต่อไปทำให้จำสิ่งที่กำลังปรากฏได้ ขณะนั้นก็คือว่ากำลังนึกคิดเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะที่คิดนึกจะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ที่จะกล่าวว่าคิดนึกไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล เป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะแม้ขณะคิดนึกนั้นก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้น ขั้นต้นไม่ใช่ไปรู้สภาพธรรมที่แม้เป็นกุศลก็เกิดแล้วดับ แม้เป็นอกุศลก็เกิดแล้วดับ แต่ขณะที่กำลังมีลักษณะของสภาพรู้ที่เราไม่เคยชิน แม้แต่จะกล่าวอยู่ตลอดเวลาว่าขณะเห็นขณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีรูปร่าง และกำลังเห็น แม้ว่าจะพูดอย่างนี้ แต่ธาตุซึ่งเป็นนามธาตุที่เห็นก็ไม่ได้ปรากฏในลักษณะของความเป็นธาตุซึ่งไม่มีอะไรเจือปนเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีการรู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะนั้นเพื่อที่จะรู้ว่าไม่ใช่เราที่คิด ไม่ใช่เราที่เป็นกุศล อกุศล แต่ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่การที่สามารถจะไปรู้ได้ในสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็วว่าขณะนั้นเป็นอะไร นอกจากจะถึงขณะที่ปัญญาสมบูรณ์จริงๆ สามารถที่จะรู้ชัดในความเกิดดับ ไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ลักษณะนามธรรมแต่ละลักษณะก็ปรากฏที่เห็นว่าเป็นนามธรรม เช่น ความรู้สึก ไม่ใช่ความคิด แต่ความคิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ในขณะนั้นได้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็รู้เพียงว่าเป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ขณะนี้ทุกคนกำลังนั่งฟังธรรม เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสลับกันไปนี่ถูก แต่ถ้าบอกว่าเป็นกุศลตลอดเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องเป็นผู้ที่ตรงตั้งแต่ขั้นของความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นคุณวิจิตรเดินเข้ามา ขณะที่แต่ละก้าวเข้ามาฟังเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ผู้ฟัง เดินเข้ามาด้วยกุศลจิต
ท่านอาจารย์ เวลาที่เดินเข้ามา ต้องเห็นถึงจะเดินเข้ามาได้ใช่ไหม เห็นแล้วก็ยังต้องคิดด้วย มิฉะนั้นก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร ถูกต้องไหม ขณะที่คิดนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล?หรือขณะที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นเห็นรองเท้าที่ถอดไว้ เห็นกระถางต้นไม้ ไม่ใช่เพียงเห็น แต่ว่ารู้สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ผู้ฟัง กำลังจะถามว่าเดินเข้ามา
ท่านอาจารย์ เบียดเบียนใครหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เบียดเบียน
ท่านอาจารย์ มีเจตนาประทุษร้ายหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นอกุศลจิตที่ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ
ผู้ฟัง ไม่มีวิบากหรือ
ท่านอาจารย์ สะสม เป็นปัจจัย เดี๋ยวนี้มีวิบากไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ขณะไหน
ผู้ฟัง เห็น
ท่านอาจารย์ ขณะเห็นเท่านั้น ถ้าคิดไม่ใช่วิบาก สภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว ให้ทราบว่าเมื่อเห็นแล้วก็จะต้องรู้รูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น ขณะที่กำลังรู้รูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็นเป็นจิตอะไร เป็นกุศลหรือไม่ มองเห็นเป็นรองเท้าอย่างนี้เป็นกุศลหรือไม่ ต้องมีเห็นแล้วก็คิดถึงรูปร่างสัณฐาน ขณะที่รู้รูปร่างสัณฐานนั้นไม่ใช่เห็นเป็นการคิดนึกถึงสัณฐาน ขณะนั้นเป็นกุศลหรือไม่
ผู้ฟัง เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ เป็นกุศลที่เป็นไปในทาน ในศีล หรือในภาวนา ถ้ากล่าวว่าเป็นกุศล ที่คุณวิจิตรกล่าวว่าเข้าใจแล้วเป็นความเข้าใจขั้นฟัง ความเข้าใจแล้วขั้นไตร่ตรองในเหตุผล หรือว่าเป็นความเข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ ว่าเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นคำว่า “เข้าใจแล้ว” เป็นการไตร่ตรอง ยังมีเรื่องที่จะต้องไตร่ตรองอีกมาก เพราะฉะนั้นยังไม่แล้ว
ก็เป็นโอกาสที่จะได้ทบทวนเรื่องของจิตที่ประกอบด้วยเหตุ และจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุที่มีชื่อในภาษาบาลีว่า “อเหตุกะ” ไม่มีโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ส่วนสเหตุกะก็หมายความถึงขณะที่มีเจตสิกที่เป็นเหตุคือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นอกุศลเหตุเกิดร่วมด้วย หรือมีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ซึ่งเป็นโสภณเหตุเกิดร่วมด้วยเพื่อที่จะได้เข้าใจโดยที่ไม่ต้องไปท่องเลย
ฉันทเจตสิกเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ ไม่เกิดกับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ อเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมี ๑๘ แล้วก็มีโมหมูลจิตอีก ๒ ประเภทที่ไม่ประกอบด้วยฉันทเจตสิกซึ่งก็มีเหตุผล สำหรับอเหตุกจิต ผู้ที่มาใหม่หรือว่าอาจจะยังไม่ได้อ่านหนังสือ อาจจะไม่ทราบว่า ๑๘ นั้นเป็นอะไรบ้าง ก็ไม่ต้องจำชื่อภาษาบาลีก็ได้ แต่ถ้าพูดภาษาไทยก็สามารถที่จะรู้ว่าภาษาบาลีคืออะไร “จิตเห็น” เป็นผลของกรรม เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก หรืออโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ซึ่งจะรวมเรียกว่าเหตุ ๖ ไม่มีเจตสิกทั้ง ๖ เกิดร่วมด้วยเลย ไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็น เพราะเหตุว่าบังคับให้เห็นเกิดตามความต้องการได้ไหม มีฉันทะที่จะให้เห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้ และก็เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ไหม ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น สำหรับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น จิตเห็น กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตได้ยิน กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตได้กลิ่น กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตลิ้มรส กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตรู้สิ่งที่กำลังกระทบกายเดี๋ยวนี้ ที่เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตสิบประเภทที่ไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีเหตุทั้ง ๖ เกิดร่วมด้วย และไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุว่าเลือกไม่ได้ ขณะนี้เกิดแล้วเพราะอุปัตติเหตุ การกระทบกันของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากับจักขุปสาท เลือกไม่ได้ เมื่อเป็นผลของกรรมที่จะทำให้เห็นเกิดขึ้น แม้ว่ากำลังเป็นภวังค์ ก็จะต้องมีการที่ไหวคือจะสิ้นสุดกระแสของภวังค์ และเมื่อภวังค์ไม่เกิดขึ้นทำกิจของภวังค์อีกต่อไปเป็นภวังคุปัจเฉทะ ภวังค์สุดท้ายไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป หลังจากนั้นก็มีจิตที่มีสิ่งที่กระทบอารมณ์ แม้ขณะนั้นยังไม่เห็น เป็นปัญจทวาราวัชชนจิตรู้ว่ามีอารมณ์กระทบทาง ๕ ทวาร หรือมโนทวาราวัชชนจิตรู้ว่าอารมณ์กระทบทางใจ ขณะนั้นก็ไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย คิดไม่ออก จำไม่ได้ อยากคิดออก พยายามสักเท่าไร ความต้องการที่เป็นฉันทะหรือไม่ เป็นไปไม่ได้
นี่แสดงให้เห็นว่า การที่เราจะรู้ว่าฉันทเจตสิกไม่เกิดกับอเหตุกจิตทั้ง ๑๘ และโมหมูลจิต ๑๒ เพราะเลือกไม่ได้ที่จะเห็น ที่จะได้ยิน ที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้แต่ที่จะคิดนึก ให้เห็นความวิจิตรของธรรม ทุกคนคิดหลากหลายมากมาย บางคนก็ชอบดูโทรทัศน์เรื่องนี้ บางคนก็ไม่ชอบเรื่องนี้ ชอบเรื่องอื่น ก็เป็นเรื่องความคิดซึ่งบังคับไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะคิดเรื่องอะไร ต่างกับขณะที่ชอบ ถ้าชอบให้ทาน ก็ยังมีอีกว่า ทานประเภทไหน บางคนชอบสนทนาธรรม ให้ธรรมเป็นทาน บางคนชอบให้วัตถุเป็นทาน บางคนให้วัตถุเป็นทานแต่ไม่ให้อภัย ไม่มีอภัยทานเลย นี่แสดงให้เห็นว่า การสะสมแม้แต่ในเรื่องทานเรื่องเดียว ก็ยังมีฉันทะที่หลากหลายต่างๆ กันไป ทางฝ่ายอกุศลก็เช่นเดียวกัน ถ้าถามว่าใครชอบสีอะไร จะตอบเป็นเสียงเดียวกันไหมคะ หรือหลายเสียง หลายใจ หลายสะสม เพราะฉะนั้นฉันทะก็จะเกิดร่วมกับอกุศลด้วย และกุศลด้วย แล้วแต่จะเป็นประเภทใด นี่แสดงให้เห็นว่า การเข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ต้องท่อง แต่เข้าใจในเหตุผลว่า ฉันทเจตสิกเป็นสภาพที่เกิดกับจิต แต่ไม่เกิดกับอเหตุกจิต และโมหมูลจิต เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะเลือกอารมณ์ได้
ผู้ฟัง อย่างที่ฟังท่านอาจารย์ก็ต้องเป็นสภาพโดดๆ สภาพเดียวที่ระลึก
ท่านอาจารย์ สติเกิด ๑ ขณะ ก็จะต้องรู้หนึ่งอารมณ์ ทีละอย่าง
ผู้ฟัง ก็จะไม่ซ้ำกัน ไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อน หรือไม่เป็นเรื่องเป็นราว สมมติเราคิดว่า ขณะนี้มีจิตของเราเป็นอกุศลจิต อย่างนี้ก็เป็นกอบเป็นกำ เป็นก้อน
ท่านอาจารย์ ต้องคิดทีละคำ
ผู้ฟัง ก็ยังไม่ใช่สติระลึก
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ แต่ต้องเข้าใจว่า ขณะใดที่เป็นกุศลขณะนั้นจะมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับกุศลทุกประเภท หรือจะกล่าวให้กว้างกว่านั้นอีกก็คือขณะใดเป็นจิตที่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นวิบาก หรือกิริยาที่เป็นโสภณ ก็ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องไม่รู้มีมาก ใช่ไหม ไม่ใช่รู้แล้ว ต้องค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง เวลาที่เราฟังไปเรื่อยๆ สภาพธรรมต่างๆ เช่น ปัญญาจะอบรมสติเอง โดยไม่ใช่เป็นตัวเราที่ทำอะไรได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งทั้งทางฝ่ายกุศล และทางฝ่ายอกุศล
ผู้ฟัง เราศึกษาไปแล้วจะพอระลึกได้บ้างว่า จิตของเราขณะนี้มีกุศลบ้าง มีอกุศลบ้าง ก็แค่เพียงคิดนึก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีปัญญาหลายระดับ สำเร็จจากการฟังคือ ฟังเข้าใจจริงๆ แล้วก็ทำให้คิดนึกในทางที่ถูกต้อง เข้าใจขึ้นได้ และเป็นเหตุให้กาย วาจาดีขึ้น เพราะฉะนั้น นอกจากจะมีสุตมยญาณ ยังมีสีลมยญาณเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าเป็นผลจากการเข้าใจธรรม เช่น ที่มีท่านหนึ่งพูดอะไรเร็ว ตรงไปตรงมา ท่านก็จะใช้คำที่เป็นอกุศล เมื่อนั่งแท๊กซี่แล้วไม่เลี้ยวตามที่ท่านต้องการ แต่เวลาเกิดระลึกได้ ขณะนั้นไม่ใช่ท่าน แต่เพราะการฟัง ทำให้มีจิตระดับที่คิด แต่ขณะนั้นก็ต้องเป็นผู้ละเอียดเพราะเหตุว่ามีทั้งโลภะ มีทั้งโทสะ และมีทั้งสติที่เกิดกับกุศลจิตที่ทำให้วิรัติคำที่จะกล่าวออกไปด้วย
ผู้ฟัง สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่สติระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ นี้เป็นเรื่องราวขั้นปริยัติ ถ้าเข้าใจขั้นปริยัติถูกต้องก็ทำให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นปฏิปัตติ แต่ถ้าปริยัติไม่ตรง ไม่ถูก ทำอย่างไรสติสัมปชัญญะก็เกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนั้นการศึกษาจึงต้องเจริญตามลำดับ ในขั้นฟังก็ต้องเข้าใจจริงๆ เป็นปัจจัยให้มีการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมเป็นขั้นปฏิปัตติ จะทำให้ถึงขั้นปฏิเวธ คือสามารถประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง เช่น ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเสียง เป็นกลิ่น คิดนึก ไม่ว่าจะเป็นโกรธ ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็สามารถจะรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงพูดตามว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่เพราะสติระลึกจึงรู้ว่า ลักษณะนั้นๆ เป็นธรรม จนทั่ว
ผู้ฟัง ขอคำอธิบาย คำว่า “วิปลาส”
ท่านอาจารย์ วิปลาสก็เป็นอกุศลที่คลาดเคลื่อนจากลักษณะของสภาพธรรม โดยเข้าใจผิด หรือเพราะจิตกับเจตสิกที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม อกุศลจิตเกิดขึ้นเมื่อไร ให้ทราบว่าวิปลาสเมื่อนั้น นี่เป็นขั้นต้น เพราะเห็นว่าเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับแต่ไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็วิปลาส
อ.วิชัย วิปลาส ๓ คือ สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส วิปลาสจะมีวัตถุ ๔ คือ วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข วิปลาสในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน และวิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างาม จึงเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวันของเรายังมีสัญญา มีจิต มีทิฏฐิ บางกาลก็เกิดที่มีความเห็นเป็นไปอย่างนั้น มีสัญญา ความทรงจำ หรือมีจิต มีทิฏฐิที่เห็นในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์เห็นว่าเป็นสุข คือการไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงนั่นเอง เพราะฉะนั้นการละที่เป็นสมุจเฉทตั้งแต่พระอริยบุคคลขึ้นไป ก็จะละตามลำดับขั้นของพระอริยบุคคล
ผู้ฟัง ขณะใดที่โลภมูลจิตประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นทิฏฐิวิปลาสก็ต้องมี ใช่ไหม
อรรณพ ถ้าวิปลาสด้วยทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ก็ยิ่งจำในความเห็นผิดนั้น พร้อมที่จะตรึกนึกถึงความเห็นผิดนั้นเพราะเคยจำความเห็นผิดพร้อมด้วยโลภะ เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ จิตก็วิปลาส
ผู้ฟัง ทั้ง ๓ ประเภท
อรรณพ เพราะฉะนั้นที่เกิดเรื่องราวต่างๆ เพราะจำได้ว่าบุคคลนี้เคยดีหรือไม่ดีกับเรา เมื่อเห็นบุคคลนั้น ความจำที่เคยจำไว้ ก็เป็นปัจจัยให้ตรึกนึกถึงสิ่งที่จำ และถ้าไม่จำที่เป็นอกุศล จะไม่ตรึกนึกถึงสิ่งที่เป็นอกุศลอีก เพราะฉะนั้นในทางตรงข้าม ในการศึกษาธรรมที่เราฟังธรรมขณะนี้ สัญญาเจตสิกก็จำ จำด้วยกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นการสะสมความจำความเข้าใจพระธรรมแม้ในขั้นเรื่องราว ขณะนั้นก็เป็นความจำที่ค่อยๆ มั่นคงขึ้น เมื่อความจำนั้นมั่นคง ความว่องไวของสติปัฏฐานก็เป็นไปได้ ท่านจึงกล่าวว่าสัญญาที่มั่นคงเป็นปัจจัยให้เกิดสติ เกิดปัญญา
วิชัย ขอเรียนถามท่านอาจารย์ คำว่า เห็นว่าสิ่งที่ทุกข์ว่าสุข คำว่า “ทุกข์” ในที่นี่จะมุ่งหมายถึงอะไร เพราะเหตุว่าต้องถึงระดับพระอรหันต์ถึงละได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความถึงทั่วๆ ไป แต่ต้องหมายความถึงไตรลักษณะ ลักษณะที่เกิดดับเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่เห็นลักษณะที่เกิดดับก็เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นสุข
วิชัย พระโสดาบันประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม สามารถละทิฏฐิทั้งหมด และสัญญา จิตในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยงได้ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตนได้
ท่านอาจารย์ รวมทั้งในสิ่งที่ไม่งามว่างามที่เกิดกับความเห็นผิด โดยฐานะของความเห็นผิด ละหมดทั้ง ๔ อย่าง
วิชัย ในเมื่อท่านก็ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมแล้ว แต่เหตุใดจึงละสัญญา และจิตในสิ่งที่ทุกข์ว่าเป็นสุข ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ก็คงต้องคิดถึงการละของพระอริยเจ้าตามลำดับขั้น ผู้ที่เป็นปุถุชนไม่รู้การเกิดดับเลย เพราะฉะนั้นก็ยังคงมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ไม่สุขว่าเป็นสุข ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ที่ไม่งามว่างาม โดยฐานะของปุถุชน แต่เมื่อได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็สามารถที่จะดับความเห็นผิดทั้งหมดในเรื่องทั้ง ๔ นี้ได้ แต่การสะสมที่เคยพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โดยไม่มีความเห็นผิด จะละด้วยอะไร เพราะเหตุว่าในชีวิตประจำวันเรามีความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโลภะ และมีโลภะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อละความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโลภะได้แล้ว โลภะที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะละได้ด้วยอะไร เพราะยังมีอยู่ ยังไม่ได้ดับไป ก็จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180