พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
ตอนที่ ๑๔๒
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อละความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโลภะได้แล้ว โลภะที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะละได้ด้วยอะไร เพราะยังมีอยู่ ยังไม่ได้ดับไปก็จะต้องมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น โดยที่ขณะใดก็ตามที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจะไม่มีความเห็นผิดเกิดปรากฏเป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นพระโสดาบันก็จะเห็นสภาพธรรมละเอียดขึ้น แม้แต่ความติดข้องซึ่งเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างหยาบ ก็เริ่มจะเห็นว่าการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมีทั้งอย่างหยาบ และก็อย่างเบาบางด้วย เพราะฉะนั้นเมื่ออบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ถึงการรู้แจ้งพระนิพพานอีกด้วย ก็เป็นปัจจัยให้ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างหยาบ เมื่อเป็นพระสกทาคามีก็อบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไป หิริโอตตัปปะก็จะเห็น และละอายในอกุศลแม้อย่างละเอียดที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ละเอียดกว่า พระสกทาคามี เมื่อได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็สามารถที่จะดับความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหมด ไม่เกิดอีก แต่ก็ยังมีกิเลสที่เห็นภพชาติยังเป็นสุข เพราะว่าสำหรับผู้ที่จะเห็นทุกข์ก็เห็นตามลำดับ ถ้าไม่รู้ว่าเพราะมีการยึดถือว่าเป็นเราก็ติดข้องมาก แต่พอรู้ว่าไม่มีเรา ความติดข้องก็ยังมีแต่ไม่มีความเป็นเรา จนกระทั่งถึงการที่ว่าแม้ไม่มีการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมีความติดข้องในภพ ในกุศลจิตที่ไม่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังคงไม่มีหิริโอตตัปปะ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อไรเพราะว่าอบรม และก็เห็นโทษ และก็ค่อยๆ มีหิริโอตตัปปะเพิ่มขึ้นในสภาพที่เป็นเพียงชั่วคราว และก็ดับไป ก็สามารถที่จะดับกิเลสได้หมดเป็นสมุทเฉทด้วยอรหัตตมรรคจิต
ถ้ากล่าวถึงธรรมก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าเราจะเคยฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏมาแล้วมากน้อยเท่าไรในชาตินี้หรือในชาติก่อนๆ สิ่งที่กำลังปรากฏก็ยังคงปรากฏ ไม่ได้หายไปไหนเลย มีอยู่ทุกวัน ทุกขณะที่มีตาเห็นสิ่งที่ปรากฏ จิตเกิดขึ้นรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งหนึ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหูขณะนี้ก็มีสิ่งหนึ่งที่กำลังปรากฏทางหู เราก็ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงตั้งแต่นานแสนนานมาแล้ว แต่ความรู้ความเข้าใจของเราจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ไม่ได้ไปอยู่ที่ตัวเลขหรือว่าชื่อต่างๆ แต่ให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่าพระธรรมที่ทรงแสดงๆ ให้ผู้ที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้มีความค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้นตั้งแต่ขั้นของการฟังว่าชีวิตของเราก็ไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังปรากฏนี้เลย แต่ว่าเราไม่เคยรู้เพราะว่าถูกปิดบังด้วยความไม่รู้ และด้วยการยึดถือว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ซึ่งความจริงสิ่งที่เที่ยงไม่มีเลย เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏจากขั้นการฟัง เพราะสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้มีเพราะรู้ ถ้าไม่มีการเห็นสิ่งนี้จะปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีการได้ยินซึ่งเป็นสภาพรู้ เสียงก็ไม่สามารถจะปรากฏได้ ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้มี แต่ว่ารู้ว่ามีเมื่อมีจิตหรือสภาพรู้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะได้ฟังว่าปรมัตถธรรมมี ๔ คือจิต เจตสิก รูป นิพพาน เราเพียงคุ้นหูกับชื่อ แต่ชื่อที่คุ้นหูก็จะทำให้เราฟัง และมีความเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังกล่าวถึงมีจริงๆ ในขณะนี้ และสามารถจะพิจารณาไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความรู้ถูก ความเห็นถูกตามที่ทรงแสดงทุกประการ ไม่ใช่ลืมไปเลยว่าขณะนี้มีสภาพธรรม และก็มีเรื่องราวอยู่ในหน้านั้นบรรทัดนี้ หนังสือเล่มนี้ แต่ทั้งหมดก็เพื่อที่จะให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาธรรมหรืออภิธรรมก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าศึกษาธรรมที่มีจริง และกำลังปรากฏ แม้แต่บางคำที่เราอาจจะได้ยินชินหู สิ่งที่มีคือขณะนี้ทุกคนมีกาย เพียงรู้ ถูกต้องไหม แค่นี้ แค่คำเดียว กายนี้เพียงรู้ ถ้าไม่มีสภาพรู้กายจะปรากฏได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกว่าเราจะเข้าถึงความหมายของรู้ หรือสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นสิ่งที่เราจะขาดการไตร่ตรองไม่ได้ สิ่งที่มี เพียงรู้จริงๆ เพราะเหตุว่ารู้แล้วก็ดับไป เพียงรู้ยังไม่พอเพราะว่าใครๆ ก็รู้ ถามใครดูว่าเห็นไหม เขาก็ตอบว่าเห็น แต่เขาไม่สามารถจะรู้ว่าเห็นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นธรรมเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้นเพียงธาตุรู้ที่มีก็ยังไม่พอ เพียงอาศัยระลึก ต้องมากกว่านั้นอีก เห็นก็ผ่านไป หรือเวลานี้เห็นก็กำลังมี เพียงรู้ว่ามี แต่ยังไม่ใช่ปัญญาที่ต้องอาศัยระลึกคือสติจะระลึกที่ไหนในเมื่อสิ่งที่มีจริงก็มี แล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟังคือสิ่งที่มีจริงก็ยังมีอยู่ แล้วค่อยๆ รู้สิ่งนั้นขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นระดับขั้นใด แต่ว่าถ้าถึงระดับขั้นที่เพียงอาศัยระลึก เราก็เข้าใจเพิ่มขึ้นใช่ไหม สิ่งนี้ที่รู้ว่ามีแล้วยังสติเพียงอาศัยระลึกเพื่อรู้ว่าสิ่งนั้นมีชั่วขณะ เช่น กำลังเห็น เมื่อได้ยิน ชั่วขณะเห็น เพราะว่าขณะที่ได้ยินไม่ใช่เห็น ขณะที่กำลังได้ยินเสียง เสียงชั่วขณะที่กำลังได้ยิน แต่ไม่ใช่ขณะที่เห็น นี่คือความจริงซึ่งกว่าจะฟัง และสามารถที่จะอบรมปัญญาความรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนชิน จนละคลายความไม่รู้ ละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา และก็มีความรัก ความชังในสิ่งที่ปรากฏ และก็เพิ่มความรู้ว่าเพียงอาศัยระลึกเพราะทันทีที่ระลึกมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ อย่างหนึ่งกำลังให้ระลึกแล้วก็หมดไป นี่คือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะให้เข้าถึงอรรถความเหมายของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเกื้อกูลให้สัตว์โลกสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีอะไรที่จะจริงกว่านี้ ถ้าไม่ปรากฏจะจริงได้อย่างไร สิ่งที่ดับไปแล้วไม่กลับมาอีก สิ่งที่ยังไม่เกิดไม่มีใครจะรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่กำลังมีอาศัยระลึกเพื่อรู้ความจริง ทั้งหมดที่เคยเป็นเราเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ถ้ารู้ความจริง จริงๆ เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ นี่คือการฟังของเราไม่ว่าจะเป็นขั้นอนุบาล ขั้นต้นอย่างไร ก็มีความมั่นคงที่เป็นสัจจญาณ บางท่านก็บอกว่าชีวิตของเขาก็เหมือนเดิม จะไม่เหมือนเดิมได้อย่างไร ตามการสะสม การฟังพระธรรมก็ตามการสะสมที่เคยสนใจ และเคยฟัง แต่ถ้าเทียบส่วนวันหนึ่งที่ฟังกับวันที่ไม่ได้ฟัง ไม่ได้คิดถึงพระธรรมก็น้อยมาก เพราะฉะนั้นถ้าเทียบส่วนไปอีก ขณะที่สติสัมปชัญญะที่เกิดรู้ตรงลักษณะธรรมดาๆ อย่างนี้รู้ตรงลักษณะที่ปรากฏให้รู้ จะน้อยมากกว่าขณะที่หลงลืมสติแล้วก็เพลิดเพลินไป แต่ว่าทุกคนมีความเพลิดเพลินทั้งนั้น เพราะเหตุว่ามีโลภะ มีโทสะ แต่เพลิดเพลินโดยไม่รู้ว่าเป็นธรรม กับเพลิดเพลินเหมือนเดิมตามการสะสม แต่ยังมีโอกาสที่จะเข้าใจถูกว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ทั้งๆ ที่กำลังเพลิดเพลินเหมือนเดิม ก็ยังมีโอกาสที่สติปัฏฐานจะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น นี่คือความต่างกันที่จะเห็นได้ว่าไม่มีใครบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือตัวตนที่สามารถจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แต่ให้ทราบว่าทุกอย่างในขณะนี้เกิดแล้วจึงปรากฏตามเหตุตามปัจจัย
เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟังธรรม และมีปัญญาระดับขั้นต่างๆ จนถึงขณะที่มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมได้บ้างก็จะต่างกับคนซึ่งสนุกด้วยกัน แต่ว่าไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พระธรรมทั้งหมดเพื่อละ แต่ว่าถ้ามีความคิดที่จะต้องการเมื่อไร แสดงว่าลืมแล้วว่าไม่มีเรา แต่ว่าสิ่งนี้เกิดแล้วต่างหาก จะหนีพ้นไปจากสิ่งที่กำลังปรากฏก็ด้วยการคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่พ้น หมายความว่าถ้าไม่มีสภาพธรรมแล้ว อะไรๆ ก็ไม่มี แต่เมื่อมีแล้วก็ไม่รู้ต่างหาก ก็เป็นความต่างกันที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราจะมีความตั้งใจจะเป็นพระโสดาบันชาตินี้ หรือว่าจะให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ เพราะว่านั่นคือโลภะซึ่งไม่เคยรู้ คิดว่าดี แต่เป็นวัญจกธรรม ธรรมที่หลอกลวงทำให้หลงเข้าใจผิดว่าขณะนั้นถูกต้อง แต่ตามความจริงขณะใดก็ตามที่มีการทำด้วยความเป็นเรา ด้วยความจงใจ หรือเพียงคิดจะทำ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของตัวตน แต่ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจ และมีความมั่นคงว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดแม้ในขณะนี้ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น เพราะเกิดแล้ว จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่าถ้าไม่เคยมีปัจจัยที่สะสมมา สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือการที่จะเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในเรื่องความเป็นอนัตตา แต่ต้องอาศัยความอดทนมาก เพราะว่าธรรมเป็นสิ่งที่จริง รู้ได้ แต่ต้องเป็นปัญญาของตนเองที่ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้นตามลำดับ โดยที่ว่าไม่ให้มีโลภะชักพาไปที่อื่น เพราะเหตุว่าที่อยู่มาจนถึงขณะนี้ในสังสารวัฏฏ์ก็เพราะโลภะความติดข้อง
ผู้ฟัง โดยปกติในชีวิตประจำวันของเรา ปัญจทวารจะเกิดมากกว่ามโนทวาร แต่ก็มีการกล่าวว่าทางมโนทวารเกิดมากกว่าปัญจทวาร
ท่านอาจารย์ ปัญจะ แปลว่าห้า ทวาร แปลว่า ทาง การที่จิตแม้ว่าเป็นสภาพรู้ก็ยังต้องอาศัยปัจจัยเฉพาะทางที่จะรู้สิ่งนั้นๆ เช่นตา จักขุปสาทมี เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ถึงกาลที่จะเห็น ใครก็ยับยั้งไม่ได้ แม้ว่ากำลังเป็นภวังค์เช่นหลับสนิทก็ต้องตื่น เพราะเหตุว่าถึงกาลที่กรรมจะให้เห็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นถ้าได้ศึกษาทราบว่ารูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายหรือสภาวรูปทั้งหมดมีอายุที่สั้นมาก เล็กน้อยมาก ใช้คำว่า “ปริตต” หมายความว่าสั้นแสนสั้น เพียงแค่ ๑๗ ขณะจิต ลองคิดดูขณะนี้จิตเกิดดับสืบต่อจนไม่ปรากฏว่าจิตขณะไหนดับแล้วทั้งหมด เพราะฉะนั้นรูปที่มีอายุนานกว่าจิตคือมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะจะสั้นแค่ไหน เมื่อเห็นแล้วสามารถจะจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น ต่างกันแล้วเวลาที่เห็นมีสิ่งที่ปรากฏเป็นจักขุทวารวิถีจิตหนึ่งใน ๕ ทวาร เพียงเห็นแต่ไม่มีใครเลยสักคน เพียงเห็นก็สามารถที่จะรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ขณะนั้นเป็นมโนทวาร ขณะนี้คุณสุกัญญาเห็นอะไร
ผู้ฟัง เห็นท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ขณะไหนเป็นจักขุทวาร
ผู้ฟัง ขณะเห็น
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นรู้ไหมว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพียงเห็นเฉยๆ แล้วรูปก็ดับไปเร็วมาก จะรู้ไหมว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพียงรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา
ผู้ฟัง ไม่น่าจะทราบ
ท่านอาจารย์ นั่นคือจักขุทวาร เพราะฉะนั้นการสืบต่อของจักขุทวารวิถีจิตที่เห็นแล้ว รูปดับแล้ว จิตที่เกิดต่อเป็นภวังคจิต ไม่ใช่จิตเห็น แต่เป็นจิตที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ยังไม่ถึงขณะสุดท้ายของชาตินี้ เพราะฉะนั้นก็ดำรงความเป็นบุคคลนี้โดยทำภวังคกิจ ซึ่งหมายความว่าขณะที่เป็นภวังค์หรือขณะที่จิตกำลังทำภวังคกิจจะไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก นี้คือความหมายของภวังคจิตซึ่งกระทำภวังคกิจ เมื่อรูปดับไป สิ่งที่ปรากฏทางตามีอายุแค่ ๑๗ ขณะดับไปแล้ว ภวังคจิตต้องเกิดสืบต่อ รู้ไหม
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะนี้เหมือนเห็นอยู่ตลอดเวลา ปิดบังไหม นอกจากนั้นเวลาที่ภวังคจิตเกิดต่อจากทางจักขุทวารวิถีจิตดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตต่างหากที่รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ พร้อมทั้งการจำหลายวาระทีเดียวจึงจะรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอะไร ไม่มีชื่อเลย ยังไม่ได้นึกถึงชื่อ แต่สามารถรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร นี่คือทางมโนทวาร ขณะนี้กำลังเห็นใช่ไหม เห็นดับไหม
ผู้ฟัง ดับ
ท่านอาจารย์ แน่หรือ รู้ว่าเห็นดับแต่เหมือนไม่ดับ นี่คือการปิดบัง ทั้งๆ มีมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ และมีภวังคจิตเกิดต่อก็ไม่ได้ปรากฏเลย มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏสืบต่อเหมือนไม่ได้ดับ นี่คือทางปัญจทวารซึ่งขณะนี้ก็เป็นจักขุทวารวิถีซึ่งปิดบังมโนทวารวิถี ขณะนี้คุณสุกัญญากำลังได้ยินเสียงทางไหน
ผู้ฟัง ทางหู
ท่านอาจารย์ ทางโสตทวาร เสียงก็มีอายุแค่ ๑๗ ขณะจิตแล้วก็ดับ ต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์ รู้ไหมว่าเป็นภวังค์
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ และหลังจากนั้นจึงจะเข้าใจว่าเสียงที่ได้ยินหมายความว่าอะไรทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็ไม่มีอะไรที่ปรากฏว่าดับ และมโนทวารก็ไม่ได้ปรากฏเลยทั้งๆ ที่มีแต่ก็ถูกทางปัญจทวารปกปิดไว้ อย่างคิดนึก เราคิดทั้งวัน เห็นแล้วก็คิด แต่ "เห็น" นี้คิดไม่ได้ จิตเห็นแค่เห็น จิตคิดก็อีกขณะหนึ่ง คนละประเภทด้วย และโดยชาติก็ต่างกัน จิตเห็นเป็นผลของกรรม ใครก็บันดาลไม่ได้ ถึงกาลที่กรรมจะให้ผลโดยทำให้เห็นหรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีใครสามารถจะยับยั้งการให้ผลของกรรมได้เลย เพียงแต่ให้รู้ว่าขณะไหนกรรมไหนจะให้ผลทางใด เมื่อไร แต่ว่าจิตคิดนึกไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นจิตคิดนึกเป็นทางมโนทวารก็แสดงให้เห็นว่าแม้กำลังเห็นอยู่ก็คิด เพราะฉะนั้นทางปัญจทวารก็ปิดบังไม่ให้รู้ว่าทางมโนทวารเป็นอย่างไร ซึ่งมโนทวารมืดสนิทไหม เพราะว่าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏเหมือนกับทางนั้นๆ แต่สามารถที่จะรับรู้ต่อได้ เพราะฉะนั้นการรับรู้ต่อจากทางปัญจทวาร ถ้าทางมโนทวารไม่ปรากฏ จะไม่เห็นความเล็กน้อยของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายในขณะนี้ นี่คือสิ่งซึ่งถูกปกปิดไว้ด้วยอวิชชาความไม่รู้ และด้วยความพอใจติดข้อง เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแม้มีจริง แต่อวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นสามารถที่จะอบรมจนแทงตลอด ซึ่งบัญญัติหรือสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่สามารถที่จะปิดบังได้เพราะว่าสภาพนั้นปรากฏตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง จิตเห็นเป็นสภาพรู้ เข้าใจว่าสภาพรู้โดยทั่วๆ ไปอยู่ที่ใจ
ท่านอาจารย์ ชี้ตรงไหนที่ว่ารู้ที่ใจ ชี้ตรงไหนก็เป็นรูปทั้งนั้นไม่ใช่นามธรรม นามธรรมไม่มีรูปร่างใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการเข้าใจต้องเข้าใจโดยละเอียด โดยตลอด โดยใกล้ชิดต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้น ถ้ากล่าวว่านามธรรมไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ต้องแยกแล้วใช่ไหม ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นแสงสว่างเป็นสีสันต่างๆ ไม่ใช่นามธรรม แต่เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งสามารถปรากฏได้ทางตา เพราะฉะนั้นนามธรรมไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น ไม่ใช่สีสันวัณณะ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส เป็นเพียงธาตุรู้หรือสภาพรู้
ผู้ฟัง ลักษณะของนามธรรม เช่น จิตเกิดจากหทยวัตถุ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ มีหทยวัตถุเป็นที่เกิด ในภูมิที่มีรูป ถ้าเป็นภูมิที่ไม่มีรูป จิตเกิดได้โดยไม่ต้องมีหทยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิด นี่แสดงให้เห็นความต่างกันโดยเด็ดขาด นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ สามารถที่จะเกิดโดยไม่อาศัยรูปก็ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพรู้ ขณะนั้นจะไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น ถ้าเจือปนหมายความว่าไปคิดถึงแล้ว ไม่ใช่ขณะนั้นรู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ถึงความแยกขาดของนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นสภาพธรรมต่างชนิด แล้วแต่ว่าถ้าเป็นไปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จึงอาศัยรูปเกิดขึ้น แต่ถ้าในภูมิที่ไม่มีรูป นามธรรมก็เกิดได้โดยเหตุปัจจัย คือ โดยเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน แยกกันไม่ได้ เป็นสหชาตปัจจัย
ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏคือรูปกับนาม แต่เราไม่จำเป็นต้องลงไปถึงขนาดว่าทางปัญจทวารหรือมโนทวารหรือไม่
ท่านอาจารย์ นั่นชื่อ ถ้ากำลังมีลักษณะสภาพธรรมปรากฏไม่ต้องเรียกชื่อเลย อย่างแข็ง และสติรู้ลักษณะนั้น แข็งเป็นสภาพรู้ที่มีแข็งปรากฏเพราะมีสภาพที่รู้แข็งจึงได้ปรากฏ แต่แข็งนั่นก็เป็นเพียงอาศัยระลึกเมื่อสติเกิด ระลึกลักษณะที่แข็งนั้นต่อ เพราะว่าวันหนึ่งๆ ก็จะมีการรู้แข็งเป็นประจำถ้ามีกายปสาทกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แต่สติไม่ได้รู้ตรงนั้น แต่ขณะใดที่กำลังรู้ตรงนั้น เพียงอาศัยระลึก เราจะมีความเข้าใจที่ชัดเจนถ้าได้ปัญญาอบรมแล้วว่าเพียงอาศัยระลึกเพราะดับแล้ว แต่ถ้าสิ่งนั้นยังไม่ได้ดับ ก็อาศัยระลึกต่อไปเพื่อที่จะเข้าใจความต่างของนามธรรม และรูปธรรม
ลักษณะของมโนทวาร ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็คิดนึกได้ใช่ไหม โดยชื่อ ขณะนั้นเราบอกว่าเป็นมโนทวารแน่ๆ เพราะว่าไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส โดยชื่อ รู้ว่าเป็นมโนทวาร แต่ลักษณะของจิตที่ไม่ใช่จิตเห็น จิตได้ยิน ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นจะเป็นการรู้ทางมโนทวารได้ไหม เพียงรู้ชื่อใช่ไหมว่าขณะนั้นคิด เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็จะต้องละเอียด และไตร่ตรอง เช่น สงสัยว่ามโนทวารนี่อยู่ที่ไหน เมื่อไร ก็คือขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คือคิด ตอนกลางคืนนอนแล้วก็คิดใช่ไหม ไม่ได้ดูโทรทัศน์ ก็ยังคิด ขณะที่คิดไม่ได้รู้ว่าจิตนั้นไม่ใช่จิตเห็น จิตได้ยิน และก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจะชื่อว่ารู้จักมโนทวารไม่ได้ เพราะว่ายังคงเป็นเราคิด
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180