พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145


    ตอนที่ ๑๔๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เรารู้เลยว่าเสียงมีลักษณะอย่างนี้ๆ เดิมป็นเรารู้ แต่จริงๆ ก็คือจิตกำลังรู้แจ้ง ได้ยิน เสียงอะไรก็เสียงนั้นแต่ละเสียง เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียงที่กำลังปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจในขณะที่กำลังได้ฟัง พอไหมที่จะเข้าใจจริงๆ ไม่ลืม และสามารถที่จะรู้ต่อไปไม่ว่าจะผ่านพยัญชนะเรื่องจิตอีกกี่ประเภท จิตชาติอะไร จิตภูมิอะไร ก็ไม่พ้นไปจากสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏนั่นเอง นี่คือลักษณะของธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา เมื่อมีปัจจัยจึงเกิดได้ ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ และมีปัจจัยของจิตประเภทใด จิตประเภทนั้นเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นได้ นี่คือสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็เริ่มเข้าใจว่าเรากำลังฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะโดยนัยอะไรต่างๆ โดยตัวหนังสือ ฟังได้ เข้าใจชื่อได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นภาวะนั้นได้ เพราะเหตุว่าปัญญาต้องเจริญขึ้นตามลำดับ ลำดับนี้ก็เพียงไม่ลืมที่จะรู้ว่า “ไม่มีเรา” ขณะที่กำลังฟัง มีความเข้าใจขึ้น แต่เมื่อไม่ได้ฟังก็เป็นเราอีก เพราะฉะนั้น ก็เห็นความต่างของปัญญาว่าเกิดจากอะไร ปัญญาไม่ใช่ไปนั่งหลับตาแล้วจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ หรือจะเข้าใจความจริงได้ แต่ต้องเป็นการฟัง และเป็นการฟังที่ถูกต้องว่าฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อคิดเรื่องอื่น แต่ว่าฟังเพื่อเข้าใจคำที่ได้ยินจริงๆ หรือไม่ มั่นคงหรือไม่ ถ้าเข้าใจแล้วไม่ต้องทำอะไรแม้แต่จะไปท่องก็ไม่ต้องท่อง

    ผู้ฟัง ถึงเราจะฟังขนาดไหน เราก็ยังไม่รู้สภาพของจิตจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะว่าเมื่อที่ผ่านมา เราเข้าใจว่าจิตเราคิดหรือว่าจิตใจเราดี จิตใจคนนี้มีเมตตา ไม่ใช่ลักษณะของจิต

    ท่านอาจารย์ ก็คือจิต แต่ไม่ใช่เรา เพราะไม่รู้จึงเป็นเรา และก็ไม่รู้ธาตุที่เป็นจิต เพราะว่าได้ยินชื่อจิต เข้าใจได้ว่ามีจิต แต่ลักษณะของจิตเดี๋ยวนี้กำลังเกิดดับ กำลังรู้ทุกอย่างที่ปรากฏเพราะจิตรู้ ถ้าไม่มีจิตทุกอย่างจะปรากฏไม่ได้เลย ไม่มีอะไรจะปรากฏได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ตลอดชีวิตก็คือเพราะจิตเกิดรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงได้ปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังไม่ใช่สภาพของจิตที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องเป็นปัญญาที่สามารถระลึกลักษณะนี้ ที่กำลังเป็นจิตด้วยความค่อยๆ เข้าใจที่ถูกต้องจนกระทั่งประจักษ์แจ้งธาตุที่เป็นจิต ไม่มีเรา ไม่มีใคร ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น แต่เป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง ที่เรากล่าวว่าเรามีโลภะ โลภะที่ปรากฏกับเราคือความอยากหรือว่าความต้องการ ถ้าจะพิจารณาน่าจะเป็นเจตสิกที่ปรากฏมากกว่าที่จะเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ แน่นอนเพราะจิตโลภไม่ได้ จิตติดข้องไม่ได้ จิตเพียงรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง โลภมูลจิตกับโลภเจตสิก สภาพธรรมก็แตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่แตกต่างกันเพราะเหตุว่าเจตสิกเป็นนามธรรมซึ่งเกิดกับจิตมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท โลภะสภาพที่ติดข้องต้องการ ไม่สละ เป็นสภาพของเจตสิก ๑ ใน ๕๒ และโลภะจะเกิดกับอะไร ต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่ปรากฏ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ ถ้าเป็นโทสะ โทสะเป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่งเกิดกับจิต ลักษณะของจิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ซึ่งโทสะขุ่นใจไม่พอใจ ไม่ติดข้องในอารมณ์นั้น แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์

    ผู้ฟัง เหตุใด จึงต้องมีภวังคจิตดำรงภพชาติด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเข้าใจสภาพของจิต ธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่ง เมื่อจิตขณะหนึ่งดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะอื่นเกิดสืบต่อ เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีปัจจัยนี้ เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ คนๆ หนึ่งจะมีจิตเกิดพร้อมกัน ๒ ขณะไม่ได้ เมื่อจิตเกิดแล้ว ตัวจิตเอง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้ง ๒ เป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่าเมื่อจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันดับแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทีละ๑ ขณะ เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อดับไปแล้วก็ไม่เป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกเกิดสืบต่ออีก

    ผู้ฟัง ที่มีสืบต่อนั้นเนื่องจากอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะความเป็นธาตุนั้นซึ่งใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของธาตุนั้นไม่ได้ เช่น รูปธาตุ ธาตุดินใครจะเปลี่ยนแปลงให้หวานก็ไม่ได้ ต้องแข็ง เพราะฉะนั้นนามธาตุซึ่งเป็นจิต ใครจะเปลี่ยนแปลงความเป็นจิตไม่ได้ และความเป็นจิตหนึ่งประการก็คือเป็นปัจจัยให้ทันทีที่จิตนั้นดับ จิต เจตสิกอื่นเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่นซึ่งใครก็จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะความเป็นปัจจัยของสภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ได้

    ผู้ฟัง คือจะเกิดดับๆ ไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ทีละ๑ ขณะ โดยที่ขณะก่อนไม่ได้กลับมาอีก ไม่มีทางที่จิตขณะก่อนจะกลับมาเกิดอีก

    ผู้ฟัง ภวังคจิตจะมีเจตสิกอยู่ในภวังคจิตด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่าสภาพธรรม นามกาย (กาย) เกิดพร้อมกัน ไม่มีสภาพธรรมที่เกิดเพียงอย่างเดียวได้เลย จะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมกันเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเกิดจะไม่มีเจตสิกเกิดไม่ได้เลย และเวลาที่เจตสิกเกิดก็จะไม่มีจิตเกิดไม่ได้ แต่เวลาที่จิตหนึ่งขณะเกิดจะมีเจตสิกเกิดร่วมกันอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท นี่อย่างน้อยที่สุดโดยเราไม่รู้ เพราะฉะนั้นปัญญาของเราแค่ไหน ที่เราเรียนจริงๆ เราเรียนเพื่อให้เข้าถึงความคลายการยึดถือว่าเป็นเราด้วยการที่ค่อยๆ เข้าใจแม้ขั้นการฟังก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง จนกระทั่งสามารถถึงขณะเวลาที่มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ปัญญาสามารถที่จะสามารถสละ ละความติดข้องได้ตามลำดับขั้น นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาซึ่งไม่มีหนทางอื่น

    ผู้ฟัง แสดงว่าสร้างปัญญาเจตสิกไว้โดยการฟัง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจไม่มีเราเลย เป็นจิต เจตสิก ขณะนี้ มีเห็น ก็ไม่ใช่เรา ขณะที่เข้าใจ เข้าใจก็ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง อย่างนี้ภวังคจิตก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจคำแรกที่ว่าสภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น จะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดด้วยกัน พร้อมกัน จะเกิดแยกกันแต่ละอย่างไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จะตอบคำถามได้ทั้งหมด จิตไหนไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงว่าไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วจะตอบว่าไม่มี เพราะว่าจิต และเจตสิกต้องเกิดด้วยกัน เกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน

    ผู้ฟัง เช่น ตอนที่หลับลึกๆ

    ท่านอาจารย์ ตอนไหนก็แล้วแต่ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ถ้ามีคนถามว่าขณะที่หลับมีจิตไหม ต้องมี มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม จะตอบว่าอย่างไร ก็ต้องตอบว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่คือความเข้าใจจากการฟัง เพราะว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่ใช่จากใครอื่นเลยสักคน นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่ทรงตรัสรู้ความจริง แสดงพระธรรมให้คนอื่นได้มีโอกาสค่อยๆ เข้าใจจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม และดับกิเลสได้หมดสิ้นเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย เพราะฉะนั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย ถ้ามีความเข้าใจแม้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้ประจักษ์ แต่ความเข้าใจในเหตุผลในความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็จะทำให้เราไม่หลงทาง และก็ไม่คลาดเคลื่อน และก็มีความมั่นคงด้วย

    ผู้ฟัง เช่น ตัวผมหลับอยู่

    ท่านอาจารย์ นั่นคือตัวผมหลับ แต่ความจริงจิตเกิดขึ้นทำกิจการงานของจิตนั้นๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ได้หยุดเลยสักขณะเดียว จิตเป็นสภาพที่เกิดแล้วทำกิจของจิตนั้นๆ ไม่ทำกิจไม่ได้ จิตที่เกิดต้องมีหน้าที่เฉพาะจิตนั้นๆ เช่น เห็น จะทำหน้าที่ได้ยินไม่ได้เลย เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เห็นแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง แต่ตอนหลับ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตนั้นเกิดขึ้นทำภวังคกิจ ถ้าใช้คำว่าภวังค์หรือภวังคจิตก็ตาม หรือว่าภวังคกิจก็ตาม หมายความถึงกิจหน้าที่ของจิตซึ่งทั้งหมดนี้มี ๑๔ กิจ กิจแรกภาษาบาลีใช้คำว่า “ปฏิสันธิกิจ” หมายความถึงจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิต คือจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน ไม่มีระหว่างคั่นเลย ทันทีที่จุติจิตเกิดแล้วดับไป ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะรู้ว่าจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนอยู่ในภพใด ภูมิใด หรือว่าก่อนจุติจิตเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทใด แต่ถ้าเกิดในมนุษย์ ในสวรรค์ ๖ ชั้น ก็ให้ทราบได้ว่าเป็นผลของจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นกุศลจิต เป็นกามาวจรจิตที่เป็นกุศล ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกุศลเกิดขึ้นในภพภูมิที่เป็นสุคติ เมื่อเกิดขึ้นขณะแรกแล้วจิตก็ดับ และอนันตรปัจจัยก็ทำให้จิตเกิดสืบต่อ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินเลย แต่ทำภวังคกิจดำรงภพชาติยังไม่ตาย เพราะฉะนั้นคนหลับไม่ใช่คนตาย หลับแล้วก็ต้องตื่น เป็นเราหรือไม่ หรือเป็นการเกิดดับสืบต่อของจิต ยาวนานมามากในสังสารวัฎฎ์ เกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ ดำรงภพชาติ

    ผู้ฟัง ปฏิจสมุปบาท อวิชชา ปัจจัยยา สังขารา คำว่า “สังขาร” เป็นปัจจัยทำให้เกิดภวังคจิตอย่างหนึ่งหรือไม่

    ท่านอาจารย์ การฟังต้องมีพื้นฐานตามลำดับ เพราะว่าถ้าจะเข้าใจปฏิจสมุปบาทโดยไม่มีพื้นฐานเลยจะจำแต่เพียงชื่อ แต่การศึกษาธรรมไม่ใช่จำชื่อ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกต้องถึงจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริง เมื่อไรเริ่มเข้าใจ ขณะนั้นเริ่มเข้าใจตามจุดประสงค์ที่ศึกษา และก็จะอบรมความรู้ ความเห็นถูกนี้ไปจนกว่าจะประจักษ์แจ้งอริยสัจ ๔

    ปฏิสนธิจิต ๑ ภวังคจิต ๑ จุติจิต ๑ นี่เป็นชื่อกิจ จิตทั้ง ๓ นี้ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก นี่พูดคร่าวๆ ตามที่จะเข้าใจได้ แต่จริงๆ แล้ววาระหนึ่งของการเห็นจะมีจิตอื่นๆ เกิดร่วมด้วยไม่ใช่แต่เฉพาะแต่จิตเห็นเท่านั้น แต่ให้ทราบว่าขณะใดก็ตามที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องเป็นภวังคจิต ยังไม่ใช่จุติจิต เพราะว่ายังไม่ใช่จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ และไม่ใช่ปฏิสนธิจิตเพราะว่าปฏิสนจิตก็ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะใดที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นต้องเป็นภวังคจิตดำรงภพชาติต่อไปจนกว่าจะถึงจุติจิต ถามว่า จุติจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง มี แล้วอะไรเป็นตัวยึดเหนี่ยวให้ภวังคจิตยังคงอยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีตัว ธรรมเป็นธรรม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง เนื่องจากยังมีการรวมประชุมอยู่ของรูปนามหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยังมีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นไปก็เป็นไป ดับเหตุปัจจัยหมดก็ไม่มีการเกิดขึ้นเป็นไปอีกต่อไป

    อ.วิชัย ไม่ทราบว่าการเกิดขึ้นมามีปัจจัยอะไรให้เกิดการปฏิสนธิเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเทวดา ขณะปฏิสนธิมีอะไรเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะเหตุว่าแต่ละท่าน สัตว์ภูมิต่างๆ ก็มีการกระทำกรรม มีการกระทำเป็นปัจจัย เพราะเหตุว่าไม่ใช่พระอรหันต์ จุติจิตของพระอรหันต์เมื่อดับแล้วก็ไม่มีจิตเกิดสืบต่ออีก แต่เมื่อบุคคลยังมีพืชเชื้ออยู่ ยังมีกรรมในอดีตเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในภูมิต่างๆ หลังจากจุติจิตแล้ว เกิดเป็นมนุษย์ก็เพราะว่าเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

    ผู้ฟัง กุศลกรรม

    อ.วิชัย มีกุศลกรรมในอดีต และกุศลก็เป็นขั้นกามาวจรที่ทำให้เกิดในมนุษย์หรือเทวดา ถ้าเป็นอกุศลกรรมจะให้ผลเกิดที่ไหน ให้เกิดในอบายภูมิ ๔ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย หรือสัตว์นรก และเมื่อให้เกิดแล้ว เช่น กรรมนั้นเมื่อให้เกิดเป็นมนุษย์ หลังจากปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็ดับแล้ว กรรมนั้นยังไม่หมดผล ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ เมื่อมีกรรมมากมายในอดีตก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากที่เห็นทางตาบ้าง ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัสก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมในอดีตที่จะเป็นปัจจัยให้วิบากเกิดขึ้น แต่ว่าที่เป็นชนกกรรมคือนำเกิด เมื่อให้ผลเป็นปฏิสนธิแล้วกรรมนั้นยังไม่หมด ก็เป็นปัจจัยให้เกิดภวังคจิตจนกว่าที่จะมีกรรมมาตัดรอนหรือว่าหมดผลของกุศลกรรมที่เกิดเป็นมนุษย์ และก็จะเป็นภวังคจิต และดวงสุดท้ายที่เป็นจุติจิต และมีกรรมอื่นเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดในภูมิอื่นต่อไป

    ผู้ฟัง รูปเราเห็นได้ว่าแปรเปลี่ยน แก่ไป ผิวหนังหย่อนยาน ขอถามว่าจิตแปรเปลี่ยนไปตามวัยวุฒิหรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตของเด็กเกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ ไม่เปลี่ยนเลย ไม่ว่าจะอยู่ในภพใด ภูมิใด เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ตรง และก็ไม่ลืม อรูปพรหมบุคคลมีจิตเกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ก็ต้องดับ

    ท่านอาจารย์ เร็วเท่ากันไหม เท่ากัน นี่คือสัจจธรรม เพราะฉะนั้นก็คือไม่ว่าจิตจะเกิดที่ไหน วัยไหน จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง อย่างมนุษย์เราที่เห็นๆ จิตแปรเปลี่ยน ความนึกคิดแปรเปลี่ยนไปตามวัยวุฒิ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะนั่งคิดถึงเรื่องนี้กับการที่เราจะรู้จุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าเพื่อให้มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าวันหนึ่งๆ เราห้ามเห็นไม่ได้ ห้ามได้ยินก็ไม่ได้ แล้วเรื่องราวของสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยินก็ทุกข์บ้าง สุขบ้างตลอดเวลา หวั่นไหวไปตามเรื่อง ภาพที่เห็น และความคิดนึก เพราะฉะนั้นหนทางเดียวก็คือไม่ลืมว่าขณะนี้สิ่งนั้นๆ ไม่ได้มีเหลือเลย แต่สิ่งที่กำลังปรากฏกำลังมีอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่แม้เพียงเล็กน้อยในชาติหนึ่งๆ ก็ยังเป็นประโยชน์กว่าความคิดแล้วก็สุข ทุกข์ มหาศาลในวันหนึ่งๆ ในแต่ละชาติ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราสามารถที่จะมีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่าประโยชน์จริงๆ ก็คือแม้ว่ากำลังได้ยินเรื่องราวที่น่าเศร้าใจหรือว่าเรื่องราวที่น่าดีใจก็ตามแต่ จิตขณะนั้นหวั่นไหวแล้วเพราะสุข และทุกข์ เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่จะพ้นจากความหวั่นไหว ก็คืออยู่ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง หรือในขณะที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ สิ่งนั้นมีจริงๆ แต่ไม่หวั่นไหวโดยรู้ว่าตรงนั้น ลักษณะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่คิดหรือว่าเป็นสภาพธรรมที่เห็น นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ว่าเพียงแต่เรียนไปทั้งหมดมากมาย ทั้งอวิชชา ทั้งปฏิจสมุปบาทหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบันธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่เลือกด้วย จะเป็นเรื่องราวที่คิดนึกตามคำที่ได้ยินก็ได้ แต่รู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง อาจารย์กำลังอบรมให้อยู่ในปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่สิ่งที่กำลังปรากฏคือปัจจุบันธรรม

    ท่านอาจารย์ โดยไม่เลือก "ไม่" ก็รู้ได้ "เลือก"ก็รู้ได้ "คิด" ก็รู้ได้

    ผู้ฟัง แต่ส่วนใหญ่จะไปอยู่กับอดีต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อไรเราจะเริ่มอบรมสิ่งที่ยังไม่ได้เคยเกิดเลยให้เกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดแล้ว ให้ค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่อดีตดับไปแล้ว แต่จิตก็ยังไปคิดอดีตอยู่เสมอ

    ท่านอาจารย์ จิตคิดจริงเพราะว่าคิดแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จริงก็คือสิ่งที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วในขณะนี้โดยไม่เลือก ใครไปเลือกให้จิตนั้นเกิด ให้คิดอย่างนั้น ให้เข้าใจอย่างนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ปรากฏแล้วให้รู้ตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ห้ามนึกคิดก็ห้ามไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ห้าม

    ผู้ฟัง ก็จะไม่ค่อยอยู่ในปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ ทำไมไม่ห้าม ทำไมไม่ห้ามคิดนึก

    ผู้ฟัง ห้ามไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะห้ามไม่ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของความเป็นตัวตน ตัวเรากับของเรา เป็นลักษณะต่างกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตประจำวัน มีอะไรเป็นของคุณสุกัญญาบ้างที่ตัว

    ผู้ฟัง ถ้าที่ตัวเรา ก็แขนเรา ตาเรา

    ท่านอาจารย์ เป็นของเราใช่ไหม

    ผู้ฟัง เป็นของเรา ก็เป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวเราหรือเป็นของเราก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะคิดอย่างไร เหมือนช้อนของเรา เหมือนผ้าของเรา เหมือนเสื้อของเรา ก็โดยนัยเดียวกัน ก็ของเรา แต่ว่านี่เป็นตัวของเรา นั่นเป็นของๆ เรา ฟันของเรา ไม่ใช่ของคนอื่น แต่เป็นของเรา นั่นคือความเป็นเราด้วยของเรา

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะที่ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล ยังมีความเข้าใจว่าไม่มีตัวเรา

    ท่านอาจารย์ คนที่เป็นพระโสดาบันไม่มีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดในสภาพธรรมว่าเป็นของท่านเลย ไม่มีความเห็นผิดแต่ยังมีความเป็นของท่าน แต่ไม่มีความเห็นผิด

    ผู้ฟัง มีคนมาว่ากล่าวเราๆ ก็มีความรู้สึกว่าทำไมจะต้องเป็นเรา อย่างนี้เป็นลักษณะของมานะหรือไม่

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราจะเห็นมานะหยาบๆ แต่ไม่มีใครว่าเลย นั่งอย่างนี้มีมานะได้ไหม ก็ยังได้ เราด้วยความสำคัญในเรา นั่นเป็นลักษณะของมานะ เราด้วยมานะ ยังไม่ต้องมีใครว่าเลย ก็เป็นเราแล้ว

    ผู้ฟัง ที่เราศึกษาพระธรรม แล้วเราจะต้องละสัตว์ บุคคล ตัวตน นี่ก็ครอบคลุมหมดทั้ง ๔ ที่กล่าวใช่ไหม ทิฏฐิ ตัณหา มานะ แต่ที่จริงแล้วโดยชีวิตประจำวัน โดยสภาพธรรมนั้นรวมๆ กันอยู่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567