พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147


    ตอนที่ ๑๔๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ วิตกเป็นสภาพที่คิดนึก เป็นเจตสิก เป็นธรรมที่มีจริง มีหน้าที่ตรึก วันหนึ่งๆ คิดแต่เรื่องอื่นหมด ใช่ไหม แต่ที่แม้จะฟังก็กำลังตรึกถึงสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทั้งหมดนี้ก็คือการปรุงแต่งของสภาพธรรมที่เกิด เมื่อได้ยินแล้วก็เป็นกุศลจะแยบคาย ไม่แยบคายอย่างไรก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจในขั้นการฟังอย่างมั่นคงว่าขณะนี้ก็มีธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แม้ในขณะที่กำลังเห็นเริ่มใกล้เข้ามาอีกหน่อย ขณะนี้เองธาตุเห็น ลักษณะที่เห็น สภาพที่เห็นก็คือไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ถ้าคุณสุกัญญาฟังวันนี้แล้วอยากจะให้รู้ลักษณะสภาพเห็นหรือธาตุรู้ทันทีเป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ แต่เมื่อฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจแล้วไม่ลืมถึงความต่างกันของสิ่งที่ปรากฏ หรือสภาพที่กำลังเห็น ในครั้งนี้ก็จะเหมือนกับบุคคลที่ได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สะสมการที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นจึงสามารถที่จะกล่าวได้ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแจ่มแจ้ง เพราะเหตุว่าพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่พูดถึงสิ่งที่ไม่มี แต่กว่าจะเป็นความเข้าใจถึงระดับนั้นต้องเป็นผู้ที่มีขันติคือความอดทน เพราะเหตุว่าสิ่งใดที่จริงพร้อมที่จะพิสูจน์ไม่ผิด และก็เป็นปกติด้วย แต่ที่จะรู้ได้ก็ต้องเป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญาระดับนี้ ก็รู้ได้ว่ายังไม่ถึงการที่ประจักษ์แจ้ง แต่วันหนึ่งถึงได้โดยการที่เริ่มรู้ความต่างกันของขณะที่ใช้คำว่า “หลงลืมสติ” หมายความถึงสติที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สติขั้นทาน ขั้นศีล เพราะฉะนั้นก็จะรู้ความต่างกันด้วยตนเอง ต้องเป็นปัญญาของตนเองจริงๆ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา เราก็ว่าเป็นรูปเพราะไม่รู้อะไร แต่ความคิดนึกน่าจะเป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าความคิดมีอยู่ ต้องเกิด และก็คิดได้ทุกเรื่อง คิดได้ทุกอย่าง แม้แต่คิดอย่างนี้

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่ลักษณะของนามธรรมใช่ไหม เพราะเป็นบัญญัติเรื่องราวความนึกคิด

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง ลักษณะของสิ่งที่รู้ เช่น รู้รูป รู้ลักษณะของเจตสิกอย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่คิดเรื่องราวอะไรเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง วิตกเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เกิดกับจิตเป็นนามธรรม เมื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมจึงรู้ความต่างของนามธรรม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นความนึกคิดที่บอกกับตัวเองว่าเป็นนามธรรมก็ผิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่บอกกับตัวเองขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง แค่รู้ว่านี่คือนามธรรมตามที่ศึกษาเล่าเรียน แต่ยังไม่ใช่ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แน่นอน เช่นในขณะนี้กำลังเห็น เราจะต้องบอกไหมว่าเห็นเกิดจากการกระทบกันของสิ่งที่ปรากฏทางตากับจักขุปสาท นี่คือการที่เราคิด แต่ขณะนั้นไม่ได้มีการเข้าใจความเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น เวลาที่คุณสุกัญญาคิดแล้วไปบอกว่าคิดเป็นนามธรรม นี่ก็เหมือนกัน ขณะไหนกำลังกระทบสัมผัสรู้แข็ง แข็งปรากฏ ก็บอกว่าที่กำลังรู้แข็งเป็นนามธรรม แทนที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่รู้ ขณะนั้นที่แข็งมีปรากฏก็มีลักษณะที่กำลังรู้แข็งด้วย นี่ก็เป็นสิ่งที่จะเห็นได้ว่าความคิดเกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะเคยคิดมามากมายจนกระทั่งแม้มีการรู้ตรงลักษณะนั้นก็คิดต่อทันที ขณะที่กำลังคิดต่อไม่ใช่กำลังค่อยๆ เข้าใจถูกต้องในสภาพที่เป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏกับสภาพเห็น

    ท่านอาจารย์ สภาพเห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏแต่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง คือนาม เห็น

    ท่านอาจารย์ เรียกชื่อถูก แต่ว่าลักษณะจริงๆ รู้อย่างนั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราจะศึกษาเรื่องโลภมูลจิตกี่ประเภท หรือโทสะ หรือกุศล หรือว่าลักษณะใดๆ ก็ตามที่ได้ยินได้ฟัง แต่ถ้ายังไม่รู้ลักษณะจริงๆ ก็หมายความว่าเราเข้าใจเรื่องราวของสิ่งนั้น เวลาที่สภาพธรรมปรากฏก็ตรงตามที่ได้ศึกษา ต้องตรงด้วย จะต่างกันไม่ได้ แต่เป็นความรู้ต่างขั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเรียนเรื่องโลภมูลจิต เราเรียนชื่อหรือว่าขณะนี้ถ้ามีความติดข้องเกิดขึ้น ก็รู้ นี่คือความต่างกัน แม้กำลังติดข้องก็ไม่รู้ เช่น ดอกไม้นี้ เห็นแล้วก็ติดข้องทันที ก็ยังไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นความติดข้องซึ่งต่างกับเห็น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าต้องเข้าใจถูกต้องจริงๆ เมื่อได้ฟังแล้วก็รู้ว่าจะต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันด้วย และความติดข้อง ติดข้องระดับไหน ถ้าติดข้องมีโสมนัสความรู้สึกเป็นสุขอย่างมาก ดีใจ ตื่นเต้น ปิติ ขณะนั้นก็รู้ว่าหมายความถึงความติดข้องประเภทหนึ่ง และความติดข้องประเภทนี้มีกำลังกล้าที่จะเกิดขึ้นเองตามการสะสม ไม่มีใครชักชวนบอกว่าสีนี้ก็สวย หรืออะไรอย่างนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นก็เป็นโลภะที่มีกำลังกล้าเพราะเกิดขึ้นเอง ก็เป็นการจะรู้สิ่งที่มีจริง และรู้สิ่งที่มีจริงนั้นละเอียดขึ้นว่าเป็นระดับของโสมนัสหรือระดับของอุเบกขา หรือมีกำลังกล้าที่จะเกิดเองหรืออาศัยการชักจูงของคนอื่นหรือของความลังเลที่ยังไม่เกิดขึ้นทันที ก็เป็นเรื่องที่รู้ตัวเอง รู้เรื่องจริง รู้สิ่งที่มีจริงๆ และชื่อต่างๆ ก็ต้องตรงตามที่ประมวลไว้เป็น ๘ ประเภท

    ผู้ฟัง จะว่าความรู้ต่างขั้น อะไรคือความต่าง

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้คุณวิจิตรรู้ลักษณะของธาตุรู้ไหม

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ รู้โดยอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้คือนามรู้

    ท่านอาจารย์ รู้โดยอย่างไรว่าเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้

    ผู้ฟัง ก็คือเห็นทางตา ได้กลิ่นทางจมูก

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพรู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็ต้องรู้ด้วยเพราะรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของสติไหม

    ผู้ฟัง ก็รู้ว่าเป็นรูปเป็นนาม

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้จะรู้ลักษณะของเห็นไม่ได้เลยถ้าไม่รู้ลักษณะของสติ เมื่อสักครู่นี้คุณวิจิตรบอกว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป รู้ว่าเห็นเป็นนาม ใช่ไหม ดิฉันถามคุณวิจิตรว่ารู้ลักษณะของสติไหม

    ผู้ฟัง สติคือการระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ตอบว่าอย่างนี้ แต่ลักษณะของสติเวลาเกิดเป็นอย่างไร ถ้ามีความเข้าใจว่ารู้ลักษณะของนามธรรม และรูปแล้ว จะต้องอบรมเจริญอะไรต่อไปอีกหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องฟังจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความละเอียดจริงๆ เพียงแค่ได้ยินชื่อ เห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมเท่านั้นไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่ความรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เป็นแต่เพียงได้ยิน และเข้าใจความต่าง

    ผู้ฟัง คือเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง รู้ว่าเป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นอะไรน่าจะลึกซึ้งพอหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เด็กเล็กๆ รู้ไหมว่าได้ยินเสียง

    ผู้ฟัง รู้ แต่ว่าไม่รู้ว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม

    ท่านอาจารย์ ถ้าบอกเด็กว่าเสียงเป็นรูป ได้ยินเป็นนาม เด็กจะรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ เด็กไม่รู้

    ท่านอาจารย์ รู้ ถ้าให้ความรู้เด็กว่าสภาพที่ไม่รู้อะไรมีไหม เช่นแข็ง เขากำลังจับหมอนอยู่ ก็ลักษณะที่อ่อนไม่รู้เลยว่าใครมาจับต้อง อ่อนก็คืออ่อน ถ้าจับโต๊ะ โต๊ะก็ไม่รู้ว่ามีใครมาจับต้อง โต๊ะไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไร โต๊ะไม่หิว โต๊ะไม่โกรธ โต๊ะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง เด็กเข้าใจไหมถ้ากล่าวอย่างนี้

    ผู้ฟัง ถ้าอธิบายก็อาจจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนต้องอธิบาย เมื่ออธิบายแล้วเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง ก็เป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ ผู้ใหญ่ฟังแล้วเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง ก็มีหลายๆ คนที่ยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าอธิบายแล้วก็คงเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เมื่ออธิบายแล้วทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง ไม่แน่

    ท่านอาจารย์ เป็นคุณวิจิตรดีกว่า คนอื่นไม่แน่ คุณวิจิตรเข้าใจใช่ไหม

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสติ เพียงขั้นเข้าใจ บอกใครก็เข้าใจระดับนี้ได้

    ผู้ฟัง รู้ลักษณะของสติ สติมีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะบอกว่ารู้เห็นเป็นนามธรรมไม่ได้ เพียงแต่จำได้เพราะได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ได้กำลังประจักษ์หรือรู้จริงๆ ในลักษณะที่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง รู้ลักษณะก็คือ สติรู้ว่าสิ่งนั้นคือสี สิ่งนั้นคือเสียง สิ่งนั้นคือกลิ่นยังไม่พอหรือ

    ท่านอาจารย์ ก็ธรรมดา บอกเด็กๆ ก็รู้

    ผู้ฟัง แล้วผู้ใหญ่รู้แค่นั้นก็ยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง แล้วต้องรู้ลึกซึ้งถึงขนาดไหน

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเราคิดว่าเรามีโลภะ ความอยากมากๆ ก็จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เราไม่ทอดทิ้ง จะทำให้เรามีมุมานะอย่างนั้นจะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นทางโลก ความคิดของคุณเด่นพงศ์ก็สามารถจะทำให้สำเร็จสิ่งที่ต้องการได้ในทางโลก เพราะเหตุว่ามีโลภะเป็นเครื่องกระตุ้นที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ประสงค์ได้ ไม่สิ้นสุด แต่ว่าสำหรับทางธรรม การที่จะรู้นี้ต้องรู้ว่าเป็นการละความไม่รู้ ความไม่รู้ในอะไร ไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นคนที่ยังไม่ได้ฟังธรรมจะไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร ถ้าสนทนาธรรมก็จะถามว่าขณะนี้อะไรจริง ก็หาไม่ได้เลยว่าแท้ที่จริงก็คือขณะนี้ที่จริง และขณะที่จริงรู้หรือไม่ว่าคืออะไร เขาก็ไม่สามารถที่จะบอกได้อีกว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้คืออะไร นั่นคือเรื่องของอวิชชา ความไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจวิชาการทางโลกก็ไม่ได้ทำให้พ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ พ้นจากความยินดียินร้าย พ้นจากความทุกข์ต่างๆ นาๆ ซึ่งมีปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเราสามารถจะเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงว่าไม่มีใครบังคับ สิ่งนี้เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย และสิ่งที่มีเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เรายังไม่รู้เลยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็หลงยึดถือไปตลอดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตว่าเป็นเราโดยไม่รู้ความจริงว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่คิดถึงว่าเราอยากจะรู้หมด หรือว่ารู้มาก หรือว่ารู้เร็ว หรือว่ารู้ความต่างกันของฉันทะ รู้ความต่างกันของโลภะ ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้เลย คือเพียงแต่เหมือนกับผู้ที่ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ ฟังเพื่อความเข้าใจขึ้นในสิ่งที่ไม่ได้ยินได้ฟังมาก่อนเท่านั้น เพราะว่าถ้าไม่มีความรู้ขั้นต้น การที่เราจะรู้สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง ที่กำลังปรากฏจะเจริญไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราไม่ไปเอาความเจริญทางอื่น ไม่ได้มีความเป็นตัวตนที่อยากจะรู้ โลภะบ้าง ฉันทะบ้าง สันโดษบ้าง แต่ว่าแม้สิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะค่อยๆ คลายความเป็นเรา มิฉะนั้นถ้ามีความเป็นเราที่ต้องการ แล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ แล้วก็จะห่างเหินไปจากความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่รู้ยาก แม้กำลังปรากฏก็ปรากฏกับอวิชชา และโลภะ ไม่ได้ปรากฏกับสติ และปัญญา เพราะฉะนั้นเวลาที่เราไปทางโลก เราจะมีความก้าวหน้าในเรื่องการงาน ในเรื่องอะไรทุกอย่าง แต่เมื่อมาถึงทางธรรมต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าปัญญาทั้งหลายที่สูงจนกระทั่งสามารถจะดับกิเลสได้ต้องมาจากขั้นเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้องขึ้น

    เราจะต้องรู้ว่า มีผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลคือผู้ที่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่กว่าท่านจะเข้าใจได้ ท่านเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ในแต่ละชาติ ในชาตินี้ถ้าเราได้มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้จะช้า แม้จะน้อย แต่ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจสิ่งนี้เพิ่มขึ้นอีกในชาติต่อๆ ไปเป็นการสะสม แต่ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในชาตินี้ ต่อไปอย่างไรๆ ก็ไม่มีการที่จะเข้าใจขึ้นได้ และวิชาการทั้งหมดจะช่วยให้เราพ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายในสังสารวัฏฏ์ไม่ได้เลย แม้จะมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็หมดภายในพริบตาเดียวได้ เพราะฉะนั้นอะไรจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง สิ่งไหนมีค่าที่สุดในชีวิต สมบัติ เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย สำหรับผู้ที่ประจักษ์ความจริงก็จะทราบว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ เห็นการเกิดขึ้นจากไม่มี แล้วมี แล้วก็หามีไม่ ไม่ใช่ระยะยาว ทุกขณะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็จะทำให้คลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งจะทำให้คลายความทุกข์ทั้งหมด และจะทำให้คลายความต้องการด้วย ข้อสำคัญที่สุดเวลานี้มีความต้องการมาก แต่ไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่จะต้องละ แต่กลับเป็นสิ่งที่อยากจะไปรู้

    ผู้ฟัง แสดงว่าผมอยากมากไปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าไม่อยากมากไป เราก็ไม่ศึกษา

    ท่านอาจารย์ มิได้ ศึกษาเพราะเหตุว่าเป็นประโยชน์ ศึกษาเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์สูงสุด และก็ยากด้วย เมื่อยากแล้วจะรู้อย่างรวดเร็วไม่ได้ เมื่อรู้อย่างรวดเร็วไม่ได้ถึงกาลของอกุศลจะเกิด เขาก็เกิดเป็นไปอย่างมากมาย มีการท้อถอย มีการเบื่อหน่ายต่างๆ แต่จากการสะสมการเห็นประโยชน์แม้ทีละเล็กทีละน้อย ถ้าสะสมมากขึ้นจะไหลไปทางอกุศลสักเท่าไร สิ่งที่สะสมมาก็ค่อยดึงกลับมาถึงประโยชน์ของการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้โดยการที่ไม่ทิ้งไปเลย แต่ว่าวันหนึ่งๆ เราไหลไปตามอกุศลมาก อาสวะไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่การสะสมของการเห็นประโยชน์ของธรรมที่ได้สะสมมาแล้วมากน้อยต่างกันก็ปรากฏกับแต่ละบุคคลว่า เบื่อหรือไม่ คิดว่าไม่มีเวลาพอหรือไม่ บางกาลก็ว่าทำอย่างโน้นสนุกกว่า ดีกว่า หรือจำเป็นกว่า นั่นก็เป็นเรื่องจริง ซึ่งแสดงให้เห็นการสะสมตรงตามความเป็นจริงว่าใครก็บังคับบัญชาไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดยังเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่า แม้ว่าชาตินี้อาจจะได้เข้าใจธรรมขึ้นเพียงเล็กน้อยแต่ถูก ต่อไปข้างหน้าก็จะไม่หลงผิด ไม่ไปทางผิด และก็รู้ว่าอบรมเจริญต่อไปได้

    ผู้ฟัง ผมอยากได้ความรู้สึกที่ท่านอาจารย์กำลังพูด ทำอย่างไรผมถึงจะรู้สึกว่าแม้ได้เพียงแต่ละนิดๆ ก็น่าจะภูมิใจไปก่อน ผมสังเกตตัวเองเรื่องศีลก็พยายามรักษาศีลไปได้บางข้อ ยกตัวอย่างๆ ไม่ดื่มสุรา ผมก็ไม่ดื่มไปเป็นปีสองปี แต่ทำไมก็กลับมาดื่มอีก

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ใช่พระโสดาบัน

    ผู้ฟัง ผมไม่ฆ่าสัตว์ เอายากันยุงทิ้งหมด แต่บางทีโมโหก็ทำอีก

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้เป็นความจริง เพราะฉะนั้นจะต้องไม่ใช่ไม่รู้จะทำอย่างไร เห็นกำลังของกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ กิเลสที่ยังไม่ดับ ถ้ายังไม่มีปัจจัยพอที่จะเกิดก็ยังไม่เกิด แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดก็เกิด ใครทำอะไรได้ คือให้เข้าใจว่าธรรมเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ผมเลยจะตีความคำว่า “โลภะ” ถ้าโลภะในทางกุศลก็น่าจะดี ถ้าโลภะในทางอกุศลก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ดีจนกระทั่งคุณเด่นพงษ์เบื่อ ดีอย่างนั้นไม่ใช่เลย เพราะว่าเขาต้องการแล้วไม่ได้ การที่เราถูกครอบงำด้วยโลภะ ซึ่งพระไตรปิฎกก็ใช้คำว่า “เป็นทาสของโลภะ” เป็นทาสไม่ใช่แค่วันสองวัน จะพ้นจากความเป็นทาสได้อย่างไร โลภะไม่ปล่อยง่าย พร้อมที่จะพาไปทางหนึ่งทางใดก็ได้ที่อยาก พอเบื่อทางนี้ แน่นอน โลภะพาไปทันที

    ผู้ฟัง สรุปว่าโลภะ แม้จะเป็นไปในทางกุศลก็ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ แม้แต่สติสัมปชัญญะเกิดแล้ว โลภะก็ไม่ได้ดับ จะติดตามไปโดยตลอดจนกระทั่งปัญญารู้จริงๆ จึงละได้ ถ้าปัญญาไม่รู้จริงๆ ก็ละไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็ให้ค่อยๆ ฟังต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ อย่าทิ้งประโยชน์สูงสุดคือความเข้าใจถูก จะเล็ก จะน้อย จะช้าจะนานเท่าไรก็ไม่ทิ้ง

    ผู้ฟัง จะขอสนทนาในเรื่องของความต่างขั้นของปัญญา ทุกครั้งที่ได้ฟังอาจารย์พูดถึงเรื่องของการเห็น ก็จะคิดตามเรื่องราวที่อาจารย์พูดว่ามีสิ่งที่เห็นปรากฏกับสิ่งที่เรารู้เห็นปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สภาพรู้

    ผู้ฟัง สภาพรู้ปรากฏ ก็จะเป็นปัญญาในการฟังเรื่องราวที่อาจารย์กล่าวให้ฟัง

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นทุกคนรู้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาเพราะมีสภาพเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ จะกล่าวว่าขณะนี้เข้าใจลักษณะของธาตุรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของธาตุรู้ซึ่งต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือปัญญาต่างขั้น

    ผู้ฟัง เวลาที่เรากระทบกระทั่งกับบุคคลรอบข้าง อย่างเช่นเดินชนกัน เราเกิดความไม่ชอบขึ้นมา เกิดโมโห เกิดมานะถือตนวาทำไมเขามาชนเรา ขณะที่เกิดตรงนั้น จิตเรามีสภาพรู้ว่ามานะกำลังเกิด ตรงนี้คือความต่างขั้นของปัญญากับเรื่องเห็น ต่างกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ นี่คือการคิดนึก

    ผู้ฟัง ก็ยังเป็นเรื่องของการคิดนึกเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็ยังเป็นเราคิดว่าทำไมเขามาชนเรา และขณะนี้เรากำลังมีโทสะ โทสะมีลักษณะอย่างนี้ ก็คิดถึงโทสะเป็นคำแล้วใช่ไหม มีลักษณะอย่างนี้ แต่ว่าลักษณะของโทสะจริงๆ โดยสภาพที่ไม่ใช่เรา เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นไม่ใช่เรา เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ขณะนั้นถ้ารู้อย่างนี้ก็ละคลายการยึดถือ ละคลายความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อยมากในสิ่งที่ปรากฏเพราะว่ากำลังรู้ตรงลักษณะ

    ผู้ฟัง คือเรารู้ตรงลักษณะโทสะว่ากำลังเกิด

    ท่านอาจารย์ โดยไม่มีคำ

    ผู้ฟัง โดยไม่มีคำว่ามานะหรือโทสะด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคำก็คือจิตคิดคำทีละคำ ขณะนั้นไม่ใช่มีลักษณะของโทสะ

    ผู้ฟัง อาจารย์กำลังจะบอกว่าเป็นอัตโนมัติของตัวเอง ทันทีที่เกิดก็ละคลายเลย

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่เราได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งที่เราจะให้เกิดกับเราไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงมีการรู้ว่าความเข้าใจเป็นขั้นๆ ขั้นเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมขั้นฟัง แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะจริงๆ ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นกำลังมีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจตรงลักษณะนั้นซึ่งเร็วมาก สภาพธรรมทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก แม้แต่เพียงสติที่ใช้คำว่า “ตามรู้” พร้อมกันทันที ถ้าเราศึกษาเราได้ยินได้ฟังว่ามโนทวารเกิดสืบต่อจากทางปัญจทวารเร็วเหมือนนกเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะ เงาก็ปรากฏ ไม่ได้แยกจากกันเลย เพราะฉะนั้นไม่ต้องใช้คำว่ามโนทวาร ปัญจทวารอะไรเลย เพราะว่าแยกไม่ได้ ขณะที่กำลังเห็นเหมือนได้ยินด้วย ยังห่างกว่าขณะที่มีการเห็นทางตา แล้วมโนทวารวิถีรู้พร้อมกัน จะใช้พร้อมกันคือเป็นการที่กล่าวโดยนัยที่ให้เห็นว่าเกือบจะแยกกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ความจริงก็มีภวังค์คั่น และก็มีจิตเกิดต่อหลายขณะ นี่ให้เห็นว่าเร็วแค่ไหนขณะที่เหมือนเห็นกำลังเห็นขณะนี้ แล้วได้ยินยังเหมือนพร้อม แต่ตัดได้ยินออก เอาเพียงแค่เห็นทางจักขุทวารกับมโนทวารที่รู้สิ่งที่ทางตากำลังเห็นจะเร็ว และจะเหมือนกับยิ่งกว่าพร้อมแค่ไหน เพราะฉะนั้นสติไม่ต้องคิดเลยว่ามีลักษณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นความคิด แต่ทันทีที่มีสิ่งที่ปรากฏ และรู้ตรงนั้นยังไม่ได้ไปตรงอื่น นั่นคือลักษณะของสติสัมปชัญญะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567