พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123


    ตอนที่ ๑๒๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ความเห็น แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นอกุศล เป็นไปตามความคิดนึก เพราะเหตุว่าเวลาที่นอนหลับสนิทไม่มีความเห็นผิด ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรหมดเลยทั้งสิ้น เวลาที่ฝันก็แล้วแต่ใครที่สะสมความเห็นผิดมาอาจจะคิดว่ากำลังฆ่าสัตว์บูชายัณเป็นการที่เราจะล้างบาปได้ หรืออะไรก็แล้วแต่ สะสมมาอย่างไรความคิดอย่างนั้นก็เกิดได้ แต่ในขณะที่มีการเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ก็ปรากฏว่าหลังจากที่เห็นแล้วรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด " รู้ " อย่าลืมเห็นแล้วรู้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นขณะนี้ ธรรมพิสูจน์ได้ทุกขณะ ขณะนี้เห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นโลภะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เพราะว่าขณะนี้เราจะไม่พูดถึงจิตอื่น แต่จะพูดถึงจิตที่มีทิฏฐิคือความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะที่กำลังเห็นแล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร หลังจากที่เห็นแล้วขณะนั้นเป็นความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับจิตหรือไม่ มีผู้ที่สงสัยแล้วก็ถามว่าพระอรหันต์ท่านดับกิเลสหมดเลย ไม่มีกิเลสเกิดแล้ว แต่เวลาเห็นท่านจำได้ว่าเป็นอะไร ขณะนั้นสัญญาของท่านเป็นสัญญาความจำประเภทไหน ถ้าศึกษาแล้วก็ตอบได้ใช่ไหม เพราะว่าสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เห็นแล้วไม่รู้ เป็นความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นจึงมีโลภะเกิดร่วมด้วยบ้าง แล้วก็มีโทสะเกิดร่วมด้วยบ้าง แล้วแต่ว่าจะมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับผู้ดับกิเลสหมดอย่างพระอรหันต์ท่านก็มีสัญญาความจำ เห็นแล้วท่านก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นสัญญาของพระอรหันต์เป็นสัญญาที่จำอะไร ไม่มีความเห็นผิดแน่นอน นี่ก็เป็นเครื่องที่แสดงให้เห็นว่าแม้ไม่ใช่พระอรหันต์ ขณะที่มีการเห็นแล้วรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ถ้าไม่มีความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็ไม่ใช่ทิฏฐิเจตสิก

    ผู้ฟัง ขอให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างเห็นผิดด้วยความเป็นเรากับว่าเป็นของเรา จำได้ว่าเป็นของท่าน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะมีความจำที่เกิดกับจิตทุกประเภท ก็แสดงให้เห็นว่าเราจะต้องมีความเข้าใจสิ่งที่เราเคยได้ยินบ่อย ซ้ำ เช่น บัญญัติ ปรมัตถ์ สัญญาหรือว่าความจำ แต่ธรรมเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถูกต้องขึ้น ตรงขึ้นที่จะเห็นว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทุกคนควรจะคำนึงถึงก็คือความเห็นผิดซึ่งเป็นอันตรายมาก คำสอนที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วก็กำลังปรากฏด้วย เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงการศึกษาธรรมที่ถูกต้องก็จะทำให้ถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นโดยสติสัมปชัญญะที่กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเว้นไม่ใช้คำว่าสติก็ได้ เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วเข้าใจ กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ นั่นคือต้องมีสติแล้ว และนอกจากสติแล้วต้องมีปัญญาด้วย ไม่ใช่มีแต่สติแล้วก็ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ นี้คือหนทางเดียวที่จะดับความเห็นผิดทุกประการได้โดยรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าดับสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นเรา ทิฏฐิความเห็นหลากหลายมากมายต่างๆ นาๆ ก็เกิดไม่ได้เลย แต่ที่ยังมีความเห็นผิดต่างๆ มากมายก็เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลแล้ว ไม่ใช่พระโสดาบันก็ยังคงมีกาละที่จะเกิดการยึดถือว่าขณะนั้นเป็นเรา แต่ว่าปกติในชีวิตประจำวันก็พิจารณาได้ว่ามีโลภมูลจิตประเภทไหน มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือว่าไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย และความเห็นผิดมีตั้งแต่อย่างหยาบ เห็นได้ง่ายๆ เช่น ไปกราบไหว้ต้นกล้วย งูขาวหรืออะไรก็แล้วแต่ และมีความคิดว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคา บางคนก็ขอน้ำคงคากลับมาฝากจากแม่น้ำคงคา นี่ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ว่าความคิดในขณะนั้นคิดอะไร ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย แต่ตัวเองสามารถที่จะรู้ได้ ยิ่งเมื่อมีการศึกษาธรรมแล้ว ธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่เวลาที่มีความเข้าใจลักษณะของธรรม ก็จะมีสติสัมปชัญญะอีกขึ้นหนึ่ง ซึ่งเมื่อธรรมใดเกิดปรากฏ แต่ก่อนไม่เคยรู้ลักษณะนั้นเลย แต่ขณะใดที่มีการเริ่มมีลักษณะนั้นปรากฏให้ค่อยๆ รู้ ให้ค่อยๆ เข้าใจ นั่นคือการอบรมเจริญปัญญาที่จะเห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นหนทางเดียวที่จะละความยึดถือความเห็นผิดซึ่งจะเป็นมูลรากของความเห็นผิดอื่นๆ ทั้งหมดได้ แต่ถ้าไม่ละเอียด และก็ไม่ละ คิดว่าจะไปทำอะไร ให้รู้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าการศึกษาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นคือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท แต่น่าสนใจมากที่จะรู้ว่าความเห็นผิดในวันหนึ่งๆ ของแต่ละคนมีหรือไม่ และมีแบบละเอียดหรือมีแบบหยาบ หรือก่อนนั้นตอนเป็นเด็กๆ เคยหรือไม่ อยากจะสอบได้ก็ให้ใครไม่ทราบ เช่น พระ หรืออะไร มาเป่ามาเสกปากกา

    อ.กุลวิไล โลภะเป็นสภาพธรรมที่ติดทุกอย่างยกเว้นโลกุตตรธรรม เพราะฉะนั้นเขาติดทั้งปรมัตถธรรม และก็บัญญัติด้วย ขณะที่เราเห็น ขณะนั้นเราก็มีความติดเหมือนกัน ติดในบัญญัติ เพราะว่าการเห็นเป็นโต๊ะ เป็นสิ่งของต่างๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นบัญญัติแน่นอน ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความติดข้องในบัญญัตินั้นด้วย แต่ไม่ใช่ขณะที่เป็นความคิดเห็นว่าโต๊ะมีจริง คนมีจริง นั้นเป็นความเห็นผิดที่มีความคิดในสภาพธรรมที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แต่ถ้าความติดในบัญญัติเพราะเรามีสัญญาจำอยู่แล้วว่าสิ่งนี้เรียกว่าโต๊ะ สิ่งนี้เรียกว่าคน แต่ว่าเราก็ยังมีความติดข้องที่จะเห็น ที่จะได้ยิน ที่จะสัมผัสในสิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ปกติธรรมดาก็จะรู้ได้ว่าเป็นโลภมูลจิต ถ้าได้ฟังธรรมแล้วก็จะไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ได้ดับทิฏฐานุสัย เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทใช่หรือไม่ เพียงขั้นฟังก็รู้ว่ายังไม่ได้ดับกิเลส ยังไม่ได้ดับความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐานุสัย เพียงแต่ว่าวันหนึ่งวันใดจะเกิดทิฏฐิเกิดร่วมกับจิตในลักษณะใด ถ้าคลาดเคลื่อน เช่น หนทางปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมคลาดเคลื่อนขณะไหน ขณะนั้นคือความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ผมมีความเข้าใจของผมขณะนี้คนธรรมดาสามัญอย่างเราถ้าเห็นโต๊ะเห็นเก้าอี้เป็นสัญญาด้วย และในขณะเดียวกันก็อาจจะเห็นผิดเลยไปว่า นี่เป็นโต๊ะเป็นอะไร แต่พระอริยบุคคลท่านเห็นท่านหยุดแค่สัญญาแค่นั้นไม่ได้คิดต่อไปอีก บางทีเราอาจจะเห็นว่าโต๊ะนี่ไม่สวยไม่งามไปเลย อย่างนั้นใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มิได้ พระโสดาบันท่านก็พูดเรื่องโต๊ะสวย โต๊ะไม่สวยได้ และก็เห็นเป็นต้นไม้ดอกไม้ไปตามปกติได้ เป็นบุตรเป็นหลานได้ แต่จากการอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔ ท่านจะไม่มีความเห็นผิดใดๆ ในสิ่งที่ปรากฏ ท่านรู้ว่าขณะนั้นก็คือสัญญาที่จำบัญญัติ แต่ว่าไม่ได้มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับวิปลาส ๓ จะมีสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล พระโสดาบัน จะไม่มีวิปลาสทั้ง ๓ ในความเห็นผิด แต่ยังมีสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม เพราะว่าสะสมมามากที่จะพอใจในสิ่งที่งาม

    ผู้ฟัง เห็นดอกไม้งาม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส

    ผู้ฟัง เห็นสวยเห็นงาม

    ท่านอาจารย์ เป็นสัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาสที่เห็นสิ่งที่ไม่งามว่างาม เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข แต่จะไม่มีสัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาสในสภาพที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคลทั้งหลายเห็นดอกไม้งามต่างจากที่เราเห็นว่าสวย ว่างาม

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นการที่จะแสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ จะเป็นจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดหรือไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็เทียบพระอริยบุคคลกับปุถุชนธรรมดา อย่างพระโสดาบันท่านเห็นลูกสุนัขน่ารัก ท่านก็ชอบ คนธรรมดาที่ไม่ใช่พระโสดาบัน ถ้าเป็นคนชอบสุนัข เห็นลูกสุนัขน่ารักก็ชอบ ขณะนั้นจิตประเภทเดียวกัน โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปยุตต์ เพราะเหตุว่าไม่มีความเห็น มีแต่โลภะในสิ่งที่ปรากฏ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วท่านดับความเห็นผิด เพราะว่าท่านอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับสัญญาวิปลาสที่เคยเห็นว่าเที่ยง ที่เคยเห็นว่าเป็นเรา แต่ยังมีสัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งามว่ายังงามอยู่ เพราะไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุขยังมีอยู่เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์ นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้นอย่างเด็กๆ เกิดมาไม่มีความเห็นเรื่องโลก เรื่องความเห็นผิดใดๆ เกิดมาเห็นแล้วก็ชอบ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ต้องเป็นโลภมูลจิตที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยฉันใด เวลาโตแล้วจนถึงขณะนี้เป็นชีวิตประจำวัน เราก็พอจะรู้ได้ว่าขณะไหนเป็นโลภมูลจิตที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ในขณะที่รับประทานอาหารอร่อย เห็นสิ่งสวยๆ งามๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นก็มีความติดข้องเมื่อไร ก็เป็นโลภมูลจิตซึ่งไม่มีทิฏฐิความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย

    แต่ถ้ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ที่เห็นได้แม้แต่ผู้ที่ได้ศึกษาธรรมแล้ว แล้วไม่เข้าใจความจริงก็คือเห็นผิดในหนทางปฏิบัติที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง ผู้ที่เห็นถูก สัจจญาณในอริยสัจ ๔ คือในหนทางที่ทำให้สามารถประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ได้ โดยที่ไม่ไปคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดหรือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ขณะนี้มีลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏ ถ้าปัญญาจะเกิดก็คือค่อยๆ เข้าใจถูกจากการฟัง และก็ไม่เป็นลูกศิษย์ของโลภะที่จะไปทำอย่างอื่น เพราะเหตุว่าขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นมีความเข้าใจว่าหนทางอื่นเป็นหนทางที่ถูก ขณะนั้นไม่ใช่สัจจญาณ

    ผู้ฟัง พระอริยบุคคลกับปุถุชนอย่างเรา เห็นดอกไม้สวย ถึงระดับที่เห็นดอกไม้ว่าสวยด้วยกัน ปุถุชนอาจจะเห็นต่อไปอีกว่าอยากได้ อยากซื้อ ส่วนพระอริยบุคคล

    ท่านอาจารย์ ก็อยากได้ ก็ซื้อ

    ผู้ฟัง แล้วต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ท่านอนาถบิณฑิกะท่านก็เป็นพ่อค้า นางวิสาขามิคารมาตาก็ค้าขาย ต่างกันตรงที่ว่าไม่มีโอกาสที่จะมีความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรมเกิดอีกเลย สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล อย่างเรามีทิฏฐานุสัย ขณะที่ฟังธรรม ความเห็นผิดไม่เกิด ขณะที่เข้าใจความไม่เกิด แต่มีโอกาสที่จะเกิดเพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับความเห็นผิด

    ด้วยเหตุนี้นอกจากทิฏฐิความเห็นที่เป็นสักกายทิฏฐิ และเป็นความเห็นอื่นแล้ว ก็ยังมีสีลัพพตปรามาสที่เป็นกายคันถะ หรืออุปาทาน การยึดมั่นในหนทางปฏิบัติที่ผิด หนทางนั้นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ความเห็นผิดในขณะนั้นเกิดขึ้น เข้าใจผิดว่าเป็นหนทาง เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะดับสีลัพพตปรามาสกายคันถะ และอุปาทานได้ ก็ต้องเป็นโสตาปัตติมรรคจิต ซึ่งเริ่มที่จะเห็นความเห็นผิดในหนทางปฏิบัติทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะค่อยๆ

    ผู้ฟัง ผมตีความคำว่า “สัญญา” “ความจำ” ของเราในฐานะปุถุชน เราจำเห็นดอกไม้สวยๆ ไปเรื่อยๆ อยากได้ไปเรื่อยๆ อาจจะมีความเห็นผิดอะไรต่างๆ ไป แต่พระอริยบุคคลท่านฝึกจิตดีแล้ว เห็นแค่ว่าเป็นสัญญาความจำแค่นั้น แล้วก็ไม่มีทิฏฐิต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นสำหรับพระโสดาบันท่านมีโลภมูลจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะครบทั้ง ๔ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสก็มี เกิดร่วมกับอุเบกขาก็มี มีกำลังก็มี หรือว่ามีกำลังอ่อนก็มี แต่ไม่มีโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือจะไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับจิตของท่านอีก ต่างกันตรงนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น พระโสดาบันจะเหมือนปกติธรรมดาทุกอย่าง ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นพระโสดาบัน ถ้าคนนั้นไม่เป็นพระโสดาบัน และถ้าไม่ได้สนทนาธรรมกันก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง ทิฏฐิมีประกอบกับโทสะ โมหะด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิเจตสิกจะไม่เกิดกับโมหมูลจิต และโทสมูลจิต นี่เป็นความละเอียด เหมือนกับว่าขณะนี้จิตเห็นกับจิตได้ยินไม่ได้เกิดพร้อมกัน ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังคงอยู่ แล้วก็มีการได้ยินด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับทิฏฐิเจตสิกเป็นความยินดีในความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิดจึงต้องเกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต ไม่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต

    ผู้ฟัง โทสะ คือ โกรธ

    ท่านอาจารย์ ขณะเดียวดับแล้ว ไม่ใช่โลภะ ไม่มีความเห็นเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ผมโกรธ ผมจะทุบ ผมจะตี

    ท่านอาจารย์ หลายขณะเลย จิตเกิดดับทีละหนึ่งขณะ แล้วความรวดเร็วทำให้ดูเสมือนว่าต่อกันเป็นคุณเด่นพงศ์ทั้งวัน

    ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกว่าถ้าตายแล้วไม่เกิดอีก ก็จะฆ่าเลย

    ท่านอาจารย์ คนละขณะ ตั้งแต่ขณะที่เป็นภวังค์ เป็นปัญจทวาราวัชชนะ หรือมโนทวาราวัชชนะทีละหนึ่งขณะ อย่างนี้คือการที่จะเข้าใจถูกขึ้นว่าไม่มีเรา เพราะเป็นจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็เป็นอนัตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ระหว่างทิฏฐิวิปลาสที่หนักกับทิฏฐิวิปลาสที่เบา เราจะสังเกตได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสักกายทิฏฐิก็เป็นสามัญ เพราะว่าทุกคนที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลก็มีการเข้าใจว่าสิ่งที่มีเป็นเราหรือว่าเป็นของเรา แต่ว่าไม่ได้มีความเห็นอื่นนอกจากนี้ไปอีกไกลมาก มีผู้สร้าง มีการสามารถที่จะทำอะไรให้พ้นจากบาปได้หรืออะไรอย่างนั้น

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็คือขั้นที่ค่อนข้างที่จะหนัก

    ท่านอาจารย์ ยังมีความเห็นผิดอีกมากมายเพราะเหตุว่ายังมีสักกายทิฏฐิ ยังไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่มีเรา เมี่อไม่มีเราก็มีความเห็นเรื่องมีเราทั้งนั้นเลย ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ถึงเราจะรู้เพียงเรื่องราวว่าไม่มีเรา แต่ว่าเวลาที่เราต้องการตั้งใจที่จะทำอะไรบางอย่างอย่างเช่นเรียนให้สำเร็จหรือว่าสอบให้ได้ หรือว่าทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จก็มีความเป็นเราซึ่งมีทิฏฐิวิปลาสอยู่

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีทิฏฐิมีความเห็นหรือไม่ ข้อสำคัญที่สุด เหมือนอย่างเวลานี้ถ้าถามคุณวรศักดิ์ ดอกไม้สวยไหม สวย ถ้าพระโสดาบันท่านเห็น แล้วถามพระโสดาบันว่าดอกไม้นี้สวยไหม ท่านจะตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าท่านชอบก็คงตอบว่าสวย

    ท่านอาจารย์ ใช่ ก็เหมือนกัน จิตเดียวกัน ประเภทเดียวกัน มีโลภะเกิดร่วมกัน และก็มีโสมนัสเวทนาถ้าเป็นความโสมนัส มีความสุขหรือสบายใจที่เห็น แต่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยทั้งสองคน เพราะว่าเรากำลังพิจารณาถึงโลภมูลจิตที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ประเด็นอยู่ตรงนี้ แสดงให้เห็นว่าธรรมเป็นสิ่งที่รู้ง่ายหรือรู้ยาก แม้แต่เราจะกล่าวว่าเห็นขณะนี้เป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป นี่แค่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้กับเห็นเท่านี้เอง ยังไม่ได้ไปถึงทิฏฐิ แต่ก็เป็นสิ่งที่รู้ยากแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่จะรู้จริงๆ จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าขณะนั้นมีความเห็นผิดหรือไม่ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดจะเห็นการยึดถือลักษณะสภาพธรรมนั้นอย่างหนึ่งอย่างใด ทางหนึ่งทางใด ลักษณะหนึ่งลักษณะใดหรือไม่ ไม่ใช่กล่าวรวมๆ ว่ามีความเห็นผิด อย่างมีโลภะ ทุกคนมีโลภะ แต่ขณะนี้โลภะทางไหน โลภะกำลังชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่กำลังปรากฏทางหูที่ยังไม่ดับ มีสิ่งนั้นปรากฏให้เกิดความติดข้อง ฉันใด เวลาที่จะกล่าวว่าสักกายทิฏฐิ เราศึกษาจากตำรับตำราได้ยินได้ฟังว่าในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ คือในขันธ์ ๕ ใช่หรือไม่ ยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา นี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็เข้าใจตามนั้นด้วย แต่ลักษณะของทิฏฐิ ถ้าไม่รู้จะกล่าวไม่ได้ว่า ขณะนั้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เหมือนกับขณะนี้ยึดถือขันธ์ไหน ต้องบอกมาทีละอย่างใช่ไหม และก็ต้องมีการยึดถือขณะนั้นกำลังปรากฏ และก็ต้องรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และก็เป็นนามธรรมฉันใด ที่จะรู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิก็เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด เพราะถ้าไม่เห็นถ้าไม่รู้ดับสักกายทิฏฐิไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ จะรู้ว่ามีทิฏฐิการยึดถือสภาพธรรมนั้นหรือไม่ หรือมีแต่เพียงความพอใจ ก็คือว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ทางตา เราก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี มีแต่สิ่งที่กำลังปรากฏกับจิตเห็น ในขณะนั้น หลังจากนั้นจะมีการยึดถือจิตที่เห็นว่าเป็นเราหรือไม่ ถ้าขณะนั้นยึดถือจิตนั้นว่าเป็นเราก็สามารถที่จะมีปัญญารู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม แล้วคลายการยึดถือลักษณะนั้น ที่เรากล่าวว่าละความติดข้องในนามธรรม แต่นามธรรม ยังไม่ได้ปรากฏ แล้วไปละคลายความติดข้องนามไหน รูปไหน ใช่หรือไม่ ต่อเมื่อใดที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏ แล้วก็ยังมีความยึดถือสภาพธรรมนั้นเพราะเหตุว่าการที่จะดับสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ง่าย ต้องตามลำดับ ต้องเป็นสติปัฏฐาน ต้องเป็นวิปัสนาญาณแต่ละขั้น แล้วก็จะดับได้เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตเกิด เพราะว่ามีการรู้ในสภาพที่เป็นทิฏฐิจริงๆ ในขณะนั้นที่กำลังติดข้อง จึงรู้ว่าขณะนั้นยังมีความเป็นเราอยู่มากหรือน้อยแล้วแต่กำลังของวิปัสสนาญาณ

    ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการที่จะเข้าใจสภาพธรรมต้องอาศัยการฟัง ปริยัติขาดไม่ได้เลย ขณะที่ฟังเรากำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรม ค่อยๆ มีความเข้าใจขึ้น ต้องกล่าวว่าเป็นความเข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง แต่ความเข้าใจก็จะอบรมไป ทำให้ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจนกว่าจะรู้แจ้งจริงๆ ได้ ถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถ้าความเข้าใจคลาดเคลื่อนนั่นคือความเห็นผิด

    ผู้ฟัง กว่าความเข้าใจจะถูกต้องจริงๆ ก็ต้องฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจไปทีละนิดๆ

    ท่านอาจารย์ ความลึกซึ้งหลายระดับ หลายขั้น หลายชั้นมาก ที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าปัญญาเท่านั้นจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ เมื่อสภาพนั้นกำลังปรากฏ แล้วจึงจะค่อยๆ เห็นถูกขึ้น

    ผู้ฟัง ที่ว่าเข้าใจแล้วก็เพียงเข้าใจตามเรื่องราวที่ท่านอาจารย์กล่าวเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วยังไม่เคยเห็นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เข้าใจความหมายของปริยัติ การศึกษาไม่ใช่ตัวหนังสือ แต่ศึกษาแล้วให้เข้าใจว่ากำลังศึกษาสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะพูดเรื่องโลภมูลจิต มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย เกิดร่วมกับอุเบกขาหรือเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    26 ม.ค. 2567