พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153


    ตอนที่ ๑๕๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ก็ขอกล่าวถึงท่านผู้หนึ่ง ท่านก็เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินมาก แรกเริ่มเดิมทีท่านก็มีกระเป๋าหนังอย่างดี ก็ราคาแพง นำเข้าจากต่างประเทศ เดี๋ยวนี้ท่านก็ถือย่าม สบาย เบา ไม่เดือดร้อน ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนว่าใครจะคิดอย่างไรถ้าเรามีความพอใจ เราไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ได้ไปว่ากล่าวใคร ไม่ได้ไปอิจฉาริษยาใคร แต่ทำกุศลมากๆ ทุกอย่างที่จะเป็นไปได้ คนอื่นก็จะต้องชื่นชมในสิ่งที่เป็นความดี และสิ่งภายนอกก็เป็นภายนอกจริงๆ ภายนอกจะปิดบังอย่างไรก็ตามไม่สามารถที่จะบังจนไม่เห็นจิตใจที่แท้จริงได้ถ้ามีการกระทำออกมาทางกาย ทางวาจา เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีกุศลจิตเสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าชาวโลกจะกล่าวอย่างไรก็ตาม กุศลจิตก็ยังเป็นกุศลจิต มีความพอใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พร้อมกันนั้นก็ให้ทรัพย์สมบัตินั้นเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ก็เป็นที่น่าอนุโมทนา ไม่เห็นจะมีใครว่าอะไร ถ้าใครจะว่าอะไรเพราะเหตุว่าคนนั้นเห็นผิด เข้าใจผิดเท่านั้นเอง ถ้าคนเขลาติเตียน คุณเด่นพงศ์หวั่นไหวไหม แต่ถ้าบัณฑิตติเตียน คุณเด่นพงศ์หวั่นไหวไหม

    ผู้ฟัง ผมเองไม่ค่อยจะหวั่นไหว แต่ผมรู้สึกรำคาญ

    ท่านอาจารย์ รำคาญเป็นอะไร เป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง โทสะนิดๆ หน่อยๆ ก็ช่าง ผมก็ยังคิดว่าผมทำถูก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจธรรมให้มากขึ้นนี่เป็นประโยชน์ที่สุด เพราะว่าเราจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน

    ผู้ฟัง อย่างเราศึกษาพระธรรม เราพอจะระลึกได้ถึงสภาพของโทสะที่เกิด ทีนี้พอเราระลึกได้ บางครั้งเราก็มีความอดทนต่อสภาพธรรมที่เกิด ไม่ไปประทุษร้ายผู้อื่นทางกาย วาจา แต่ทีนี้บางวันไม่มีสาเหตุอะไร แต่ตอนเช้ามาก็อารมณ์เสียตั้งแต่เช้าซึ่งก็รู้สึกว่าเป็นสภาพธรรมของโทสะ แต่ว่าไม่มีสาเหตุที่ไปกระทบกระทั่ง เรียนถามสภาพธรรม และการสะสมของโทสะในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ โทสะไม่เปลี่ยนลักษณะเลยไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร จะน้อยจะมากวันไหน ไม่มีสาเหตุอะไรก็รู้สึกสะสมมาที่จะเกิดความไม่สบายใจโดยที่ขณะนั้นก็ไม่ได้มีเหตุที่จะทำให้เราคิดว่าเพราะเรื่องนั้นหรือเพราะอย่างนี้ แต่ก็เป็นความรู้สึกไม่สบายใจที่เกิดขึ้น บางวันก็รู้สึกแช่มชื่น เบิกบาน จริงๆ แล้วทั้งหมดแสดงถึงความเป็นอนัตตา แล้วเราก็ข้ามความเป็นอนัตตาซึ่งมีให้เห็นอยู่ แม้ในเรื่องที่บางวันก็เกิดไม่สบายใจขึ้นมา แล้วบางวันก็แจ่มใส แค่นี้ก็ผ่านไปแล้ว ทำไมไม่เห็นว่านี่คืออนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เพราะเหตุว่ายังมีความเป็นเรา ก็ยังมีความสงสัยในทุกอย่าง ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็เกิดแล้ว สงสัยอะไร ในเมื่อที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิดได้ จึงเป็นอย่างนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่จะไม่เป็นไปกับเรื่องราว กับความเป็นเรา วันนี้ทำไมเป็นอย่างนี้ วันก่อนเป็นอย่างไร ก็คือให้รู้ในลักษณะที่เป็นธรรมขึ้น ไม่ใช่เราในขณะนั้น แค่นี้เราก็ข้ามไปทั้งวัน เพราะว่าถึงเราจะฟังธรรมมากสักเท่าไร วิตกของเราก็ยังไม่มีปัจจัยปรุงแต่งที่จะรู้ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างโทสะเกิดมีลักษณะของโทสะซึ่งทุกคนก็รู้ว่าไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่สภาพธรรมอื่น มีลักษณะอื่นปรากฏ ควรจะเพื่อรู้ เพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง แต่กลับให้สงสัยว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าการฟังพระธรรมของเราจะไม่ปรารถนา ไม่ได้ต้องการอะไร แต่ให้มีความมั่นคงที่จะให้รู้ว่าธรรมเป็นอนัตตา ไม่ว่าธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่เกิดปรากฏก็เพื่อที่จะละความเป็นเรา มิฉะนั้นเราก็ไม่มีความตั้งต้นที่จะมีความมั่นคงในความเป็นอนัตตา เราก็ติดตามเรื่องราวไปตลอด

    ผู้ฟัง โทสะเกิด รู้ว่าเป็นสภาพของโทสะ แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าหยุดอยู่ตรงนั้นหรือว่าหมดไป แต่ว่ายังต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราว

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด ถ้าเป็นสติปัฏฐานสิ่งนั้นหมดแล้ว สิ่งอื่นเกิด สติปัฏฐานตามรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ตามรู้ไม่ใช่ไกลเลย เหมือนปกติ เพียงแต่ว่าขณะนั้นเพราะสติระลึก สิ่งที่เคยปรากฏเหมือนไม่ชัด ลักษณะนั้นชัดเพราะสติที่กำลังรู้ แต่ความหมายของชัดที่นี่ ไม่ได้ชัดด้วยปัญญาที่สามารถจะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดดับ แต่ชัดเพราะสติรู้ตรงนั้น เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ว่าขณะใดไม่หลงลืมสติแม้ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะนั้นชัดเมื่อสติกำลังรู้ตรงนั้น เพื่อปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และเป็นเพียงสิ่งนั้นเท่านั้นด้วยจะเป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เราก็กำลังอบรมความเข้าใจทุกครั้งที่สนทนาเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นพื้นฐานพระอภิธรรมก็เพราะเหตุว่ากว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงความเป็นจริงว่าเป็นอภิธรรมจริงๆ ซึ่งใครก็ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดเพราะเมื่อเกิดแล้วดับทันที แล้วสภาพธรรมอื่นก็เกิดสืบต่อเหมือนไม่ดับ แต่ก็ไม่เคยรู้ความจริง เพราะฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมก็จะเกิดติดตามไปจนถึงขณะที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ต่างกัน แต่มีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่านี่เป็นธรรม ไม่ว่าจะกล่าวถึงโลภมูลจิตซึ่งเกิด โทสมูลจิต โมหมูลจิต หรือกุศลจิต เป็นสิ่งที่เข้าใจจากการฟัง แต่ลักษณะนั้นจริงๆ ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็เริ่มเข้าใจพื้นฐาน นี่คือพื้นฐานที่จะรู้ว่านั่นเป็นธรรมที่มีลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ไปสนใจเรื่องอื่น เพราะเรากำลังข้ามลักษณะที่มีจริง ฟังเรื่องราวลักษณะนั้นก็มีปรากฏ แต่ก็ขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ตรงลักษณะนั้น ขณะนั้นก็เป็นความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานที่จะทำให้มีความมั่นคงว่าไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่าในปัจจุบันที่เราระลึกได้ว่า ลักษณะของโทสะที่เกิดกับตัวเราก็คือความหลงลืมสติ แล้วก็เป็นความคิดนึก แล้วก็เป็นตัวเราที่คิดถึงสภาพโทสะ แต่ยังไม่ใช่สติระลึก

    ท่านอาจารย์ อาศัยการฟัง ทำให้มีการรู้ แต่คิดถึงคำ เพราะว่าลักษณะนั้นดับแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในขณะนี้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็จะรู้ว่าเพียงอาศัยระลึก เพราะว่าจะติดอยู่ตรงนั้นไม่ได้ มีสภาพธรรมอื่นเกิด และปรากฏ ถ้ายังติดอยู่ตรงนั้นก็คือว่าขณะนั้นไม่ใช่เพียงอาศัยระลึกเพราะมีความเป็นเราอยู่ตรงนั้น ความเป็นเรานี้ละเอียดมาก และก็เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่การยึดมั่นในสภาพธรรมด้วยความเป็นเราที่เป็นสักกายทิฏฐิ ก็จะรู้เมื่อสิ่งนั้นกำลังมี กำลังเป็นอย่างนั้น ก็จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นความเห็นผิดที่ยังเหลืออยู่ ที่ยังมีความติด ยังยึดในสภาพธรรมนั้นอยู่

    ผู้ฟัง ลักษณะความรุ่มร้อน หงุดหงิด หรือประทุษร้ายแม้กระทั่งตัวเองในขณะที่โทสะเกิด เราสัมผัสได้ เรารู้ได้ แต่ไม่มีสติปัญญาหรือไม่มีแม้กระทั่งว่าจะทำอย่างไรให้ผ่อนคลายลง

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาคิดว่าคนอื่นรู้เหมือนคุณสุกัญญาหรือไม่ เวลาโกรธก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเมื่อมีการฟังก็เริ่มที่จะมีความคิดถึงลักษณะที่กำลังปรากฏโดยชื่อ แต่ก็เป็นเราที่คิดถึง

    ผู้ฟัง แต่อยู่ในช่วงของทุกข์โทมนัส

    ท่านอาจารย์ ลักษณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่ใช่เรา ทุกข์ก็ตาม โทมนัสก็ตาม ก็ไม่ใช่เรา ที่จะรู้จริงๆ ก็คือว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีลักษณะอย่างนั้น ดังนั้นที่คุณสุกัญญาคิดว่าขณะนั้นเป็นทุกข์ เป็นเราทุกข์ ใช่ไหม แล้วจะทำอย่างไร ขณะนั้นก็คือว่ายังไม่มีความมั่นคงที่จะรู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นธรรมเท่านั้น จึงคิดจะทำอย่างไร เห็นไหม ความเห็นถูกหรือความเห็นผิดที่คิดว่าจะทำอย่างไร เห็นไหม ความเป็นตัวตนแอบแฝงละเอียดมาก เพียงแค่คิดว่าจะทำอย่างไรก็คือเรา เพราะฉะนั้นกว่าจะพ้นจากความเป็นธาตุของโลภะ ความติดข้องด้วยความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนานมาก แต่ต้องเริ่มจากการที่รู้หนทางที่ถูก ถ้ายังคงมีหนทางที่ผิดที่จะทำ แทนที่จะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้สภาพธรรมที่ได้ฟังมาว่าเกิดแล้วก็ดับ แต่ลักษณะนั้นก็ยังไม่ได้ปรากฏเพราะว่าปัญญายังไม่สมบูรณ์พอ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราจะไปทำอะไรทั้งสิ้น ตราบใดที่ขณะนั้นจะทำอะไร หรือว่าจะทำอย่างไร นั่นคือยังไม่ออกจากความเห็นผิดที่เป็นหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง กว่าจะพ้นแม้แต่เพียงออกไปจากการยึดถือในความเห็นผิดในการปฏิบัติก็ยาก แต่อาศัยการฟังก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะเป็นเรื่องละวางทั้งหมดออกจากความเห็นผิดในข้อปฏิบัติก่อน แต่ก็มาอีกเพราะว่ายังมีอยู่ มีเหตุปัจจัย นี่คือความตรงกับความเป็นจริงซึ่งผู้นั้นจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่านี่เพียงแค่เข้าใจ ถึงเวลาก็เป็นอย่างนั้น แต่ปัญญาที่ได้สะสมมาก็จะทำให้มีการระลึกได้เรื่อยๆ แค่รู้ว่าหนทางนี้ยากก็ประเสริฐแล้วสำหรับการที่จะไม่เป็นผู้ประมาท และไม่ไปหนทางอื่น นี่คือการสะสมสัจจญาณที่มีความมั่นคงในอริยสัจ ๔ การศึกษาพระธรรมต้องไม่ลืมจุดประสงค์ เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรือไม่ว่าจะเป็นอกุศลก็ตาม รู้จริงๆ ว่ามีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี่เป็นหนทางที่จะทำให้ไม่ยึดถือสภาพธรรมใดๆ ว่าเป็นตัวตน มิฉะนั้นก็จะมีความเป็นเรา ไม่พอใจสิ่งนี้ อยากจะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดี เพราะฉะนั้นจะไม่เห็นการติดในกุศลเพราะเหตุว่าไม่พอใจในอกุศล แต่พอใจในกุศล เพราะฉะนั้นเวลากุศลเกิดขึ้นก็มีความพอใจ และก็ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่าเป็นเพียงธรรมแต่ละประเภทเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง โทสะมาทำให้เราขุ่นเคืองใจ เราก็มีความสำคัญตนในขณะนั้นว่าทำไมจะต้องมาทำกับเราอย่างนี้ สิ่งนี้ใช่สภาพธรรมหรือไม่ คือยังไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ที่คุณสุกัญญากล่าวถึง จิตเกิดดับมากหรือไม่

    ผู้ฟัง มาก

    ท่านอาจารย์ หลายประเภทหรือประเภทเดียว

    ผู้ฟัง ก็น่าจะหลายประเภท

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเห็นเหมือนได้ยินด้วย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ฉันใด เวลาที่รู้สึกว่าสภาพธรรมนี้น่าจะเกิดในขณะนั้นเพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าเป็นต่างขณะจึงได้เข้าใจว่าขณะที่มานะเกิด มีความรู้สึกไม่สบาย จิตที่สำคัญตนจะสบายได้อย่างไร ใช่ไหม ขณะนั้นก็เลยเข้าใจว่าเกิดร่วมกับโทสะ แต่ความจริงต้องเป็นจิตต่างประเภท เพราะว่าขณะใดที่มีความยึดถือ มีความติดข้อง จึงมีความสำคัญในสิ่งนั้น เพราะมีความคิดว่าเป็นเรา เราสำคัญก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดร่วมกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องแยกกัน มานะไม่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต มานะกับโทสะจะเกิดร่วมกันไม่ได้ มานะจะเกิดร่วมกับโลภะ

    ผู้ฟัง แต่เกิดสลับกันได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เหมือนเห็นกับได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่ได้พร้อมกัน

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็น่าจะมีโมหะของความไม่รู้อยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดมีแต่ไม่รู้เมื่อไร

    ผู้ฟัง มานะไม่เกิดร่วมกับโทสะ แล้วโทสะเกิดร่วมกับอะไรได้บ้าง

    อ.วิชัย โทสะไม่ได้เกิดเพียงประเภทเดียว แน่นอนว่าโทสะจะเกิดร่วมกับโมหะเป็นความไม่รู้ และก็อกุศลสาธารณะที่เป็นเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภทก็คือโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และ อุธัจจะ เจตสิก ๔ ประเภทนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท ส่วนในกลุ่มของโทสะก็จะมีเจตสิกที่สามารถเกิดเฉพาะกับโทสะเท่านั้น แต่ว่าเกิดไม่พร้อมกัน ซึ่งในกลุ่มของโทสะก็มีโทสเจตสิกประเภทหนึ่ง แล้วก็มีอิสสาประเภทหนึ่ง มัจฉริยะประเภทหนึ่ง แล้วก็กุกกุจจะอีกประเภทหนึ่ง เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะแต่ละอย่าง และก็เกิดไม่พร้อมกันด้วยดังที่กล่าวแล้ว

    อ.กุลวิไล ขณะที่มีความสำคัญตนขณะหนึ่ง แต่ขณะที่ไม่พอใจในอารมณ์นั้นก็อีกขณะหนึ่ง ซึ่งด้วยความรวดเร็วของจิต และเรามีการสะสมความติดข้องคำชม ดังนั้น ถ้าใครมาติเตียนเราจะไม่ชอบ เพราะฉะนั้นเราก็เกิดโทสะขึ้นมาในส่วนนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็จะเห็นความรวดเร็วของจิต และถ้าเราสะสมความติดข้องมาก โทสะก็เกิดมาก และจะเห็นกำลังของโทสะ บางทีก็เกิดนานโดยที่มานะนิดเดียวแล้วก็หายไปแล้ว นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันเห็นถึงความที่อกุศลจิตมีจริง แต่ถ้าเราไม่เห็นถึงสภาพธรรมที่มีจริง ก็ยากที่จะเห็นถึงความเป็นธรรม ส่วนใหญ่เราก็จะรู้โดยชื่อ แต่ต้องรู้โดยลักษณะของสภาพธรรม แต่ก่อนที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ต้องขั้นของการฟังพระธรรมที่ทรงแสดง รู้ถึงความเป็นนามธรรม และรูปธรรม สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมแล้วมีสภาวะ มีลักษณะ ถ้าเราเข้าถึงลักษณะที่มีจริงแล้วจะเป็นปัจจัยให้เรารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง การสนทนาเรื่องที่เป็นสัปปายะจะช่วยละโทสะได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังสนทนาเรื่องที่เป็นสัปปายะหรือไม่ สัปปายะคือสบายที่จะทำให้จิตน้อมไปสู่การที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งถ้าปัญญาไม่เกิดไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปละคลายอกุศลได้ ขณะนี้ถ้าทราบว่าการสนทนาธรรมเป็นสัปปายกถาที่จะทำให้กุศลจิตเกิด เพราะจะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็ขณะใดที่มีการสนทนาที่ทำให้เข้าใจธรรม รู้ความจริงของสภาพธรรม ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ โกรธใคร

    ผู้ฟัง ก็คือเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ให้รู้จักสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่ได้ฟังจะเกื้อกูลปรุงแต่งให้รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้โดยไม่หวัง แต่กถาที่เป็นพระพุทธพจน์ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการละ ละโลภะ ละความติดข้องเพราะเหตุว่าโลภะนี่มีมากมายเหลือเกิน หลายระดับด้วย ถ้ายังคงมีความติดข้องอยู่ก็กั้น ไม่สามารถที่จะทำให้รู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เป็นไปเพื่อการละอกุศล เพื่อกำจัดอกุศล เพื่อละความไม่รู้ เพราะว่าอกุศลทั้งหลายก็เกิดจากความไม่รู้ทั้งหมด

    อ.ธิดารัตน์ สภาพอกุศลเช่น โทสะก็จะต้องค่อยๆ ละไปทีละเล็กทีละน้อย เช่น สัปปายกถาที่ยกขึ้นมากล่าว จะหมายถึงเรียกว่าเป็นธรรมสัปปายะด้วย หรือเป็นธรรมที่เหมาะที่ควร

    ท่านอาจารย์ พระธรรมทั้งหมดเป็นสัปปายกถาที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรม และเจริญกุศลยิ่งขึ้น

    อ.ธิดารัตน์ แล้วถ้าหากทำให้แค่มีศรัทธา กุศลเล็กๆ น้อยๆ

    ท่านอาจารย์ ตามกำลังของความรู้ความเข้าใจ คนที่ฟังธรรมก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีศรัทธาเสมอกัน หรือสามารถที่จะบรรเทาโทสะได้เสมอกัน ต้องแล้วแต่การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ถ้าเข้าใจว่าทั้งหมดที่นั่งที่นี่ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่แต่ละจิตก็สะสมสืบต่อมานานแสนนาน มีการปรุงแต่งของอกุศลธรรมามากมาย แม้แต่วิตกที่จะตรึกคิดไปในวันหนึ่งๆ ก็เรื่องของอกุศลทั้งนั้น แต่ว่าถ้าได้ฟังธรรมให้เข้าใจแล้วก็ไม่มีใครไปบังคับอะไร ไม่ว่าจะคิดอะไรก็ตามเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็เพราะการสะสมทั้งหมด ให้รู้ความเป็นธรรม ถ้ายังเป็นเราก็ไม่ได้ดับกิเลสอะไรได้เลย

    อ.ธิดารัตน์ การที่ว่ากุศลจิตเกิดขึ้นก็เหมือนกับเป็นการค่อยๆ ละอกุศลประเภทนั้นๆ ไปทีละเล็กทีละน้อยก่อนใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็สะสมกุศลที่จะมีกำลังที่จะเกื้อกูลต่อการที่จะดับกิเลส ถ้าใครก็ตามไม่รู้ว่าวันหนึ่งๆ มีอกุศลมากแค่ไหน ไม่มีทางที่กุศลจะเจริญได้ ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในความละเอียดของธรรม จากการที่หลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วเหตุใด เมื่อตื่นขึ้นกิเลสมาจากไหน ก็แสดงให้เห็นว่ามีการสะสม แล้วกิเลสมาทางไหน ทางตา เห็นเกิดแล้วไม่รู้ตัว แล้วมากมายสักแค่ไหน นี่เพียงแค่ธรรมดาที่ไม่รู้ แต่เวลาที่รู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีเรื่องราวต่างๆ ก็ยังมีอกุศลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโลภะหรือโทสะ จากการที่ได้เห็น ได้ยิน เพียงแค่ธรรมที่ปรากฏก็ยังเป็นอกุศลแล้ว ถ้ายิ่งเป็นสัตว์ บุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ พ้นหรือไม่ จากการสะสมของอกุศล แล้วก็มีกำลังระดับไหน ปกติแล้วธรรมดาทุกคนก็มีกาย วาจา ตามปกติของอกุศล เคลื่อนไหวไปทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยโลภะบ้าง ด้วยความขุ่นใจบ้าง แต่เมื่อไรที่มีวาจาไม่ดีเกิดขึ้น แม้แต่เป็นวาจาหยาบ ขณะนั้นเห็นไหมว่ามาจากไหน การสะสมทีละเล็กทีละน้อยทางฝ่ายอกุศลก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีวาจาอย่างนั้นเกิดขึ้น นี่แค่วาจา แล้วก็วาจาก็ไม่ได้มีแต่ผรุสวาจา (คำหยาบ) คำที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ ยังมีวาจาที่ไม่จริงด้วย มีกำลังกล้าถึงกับจะพูดสิ่งที่ไม่จริง เพราะฉะนั้นการสะสมในสังสารวัฏฏ์ซึ่งยาวนานรู้ไม่ได้ในอดีต ก็จะทำให้ปรากฏเมื่อมีเหตุปัจจัย แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจึงสามารถที่จะรู้ได้

    ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรม และให้รู้ว่าการที่กุศลจะเกิดก็ไม่ง่าย และการที่พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ การอบรมที่จะให้มีความเห็นถูกต้องจริงๆ ก็ละเอียด และก็ยากมาก นี่ก็เป็นประโยชน์เหมือนเป็นการที่มีเกราะป้องกันการที่จะไม่ให้ไปสู่ความเห็นผิด เพราะมีความรู้จริงๆ ว่ายาก เพราะฉะนั้นไม่มีตัวตนที่จะไปพยายามทำให้ง่าย หรือไม่มีความเป็นตัวตนที่อยากจะได้ผลเร็วๆ แต่เป็นผู้ที่ตรงที่จะต้องสะสมความเข้าใจ ความละเอียด ความลึกซึ้งของธรรมจนกว่าจะเป็นปัญญาของตัวเองที่ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น ก็จะทำให้มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ไม่ไปทางผิด ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าเมื่อได้ฟังธรรมโดยที่ว่าไม่รู้จริงๆ ก็จะทำให้ผิดได้ และผิดนี่จะเห็นได้ว่าไม่รู้ตัวเลย เช่น คำถาม คำถามใดก็ตามที่จะทำในขณะนั้นที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏเป็นอกุศลจะทำอย่างไร นั่นคือธรรมทั้งหมดที่ได้ฟัง ความหมายของ “อนัตตา” อยู่ที่ไหน ความหมายของคำว่า “ธรรม” อยู่ที่ไหน มีความมั่นคงแค่ไหนที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม ถ้ามีความมั่นคงจริงๆ ก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้มีการรู้ตรงลักษณะ แม้เพียงเล็กน้อยก็รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะของธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ในขณะนี้ก็เป็นธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ฟังเพื่อที่จะให้ถึงกาลที่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เป็นสัปปายกถาทั้งหมด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567