พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154


    ตอนที่ ๑๕๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความมั่นคงจริงๆ ก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้มีการรู้ตรงลักษณะ แม้เพียงเล็กน้อยก็รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะของธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกว่าตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ในขณะนี้ก็เป็นธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ฟังเพื่อที่จะให้ถึงกาลที่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เป็นสัปปายกถาทั้งหมด

    ผู้ฟัง โดยปกติแล้วในชีวิตประจำวันของเรา อย่างเช่นลักษณะของโทสะ ตัวเราเอง เราไม่รู้ว่าเราเดือดร้อนใจ แต่เราสามารถที่จะมองเห็นผู้อื่นเดือดร้อนใจได้ สิ่งนี้ยังไม่ถึงขั้นพิจารณาตนเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเตือน ถ้าสามารถจะระลึกได้คือเตือน มีใครหรือไม่ แต่มีจิตที่กำลังเป็นกุศลหรืออกุศลจิตในขณะที่กำลังคิดถึงเรื่องนั้นๆ วันหนึ่งๆ เราพ้นเรื่องราวไม่ได้เลย สภาพธรรมมีจริงเกิด และดับเร็วมาก เหลือแต่เพียงนิมิตแม้แต่ขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่าเราอยู่ในโลกของความลวงที่มีความเข้าใจว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ แท้ที่จริงก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อจนกระทั่งเหมือนนิมิตที่ปรากฏให้ทรงจำไว้ว่ามีคน มีสัตว์ มีสิ่งนั้น สิ่งนี้ จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนกว่าออกจากโลกของนิมิต เพราะรู้ความจริงว่าลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็จะมีความเข้าใจในสัจจธรรม ๒ อย่าง คือ สมมติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ และจะรู้ตามความเป็นจริงว่าทวารไหน ขณะไหน เป็นสมมติสัจจะ ทวารไหน และขณะไหนเป็นปรมัตถสัจจะ และปัญญาที่จะอบรมจนกระทั่งรู้ความจริงก็คือได้รู้จักพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ว่าทรงตรัสรู้ สามารถที่จะเพิกสิ่งที่เคยทรงจำไว้เหนียวแน่นจนกระทั่งเป็นความจริง ไม่ว่าขณะไหนที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็สามารถจะเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาบ่อยๆ ไม่ใช่ว่าจะฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วเบื่อ แต่ขณะนั้นเป็นการเตือนให้รู้ว่าขณะนี้ ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ กำลังเป็นอย่างนี้ ถ้ารู้ตรงนี้หมดแล้ว มีเสียงปรากฏแล้วแต่ความเป็นตัวตนยังไม่พอที่จะทำให้คลายการติดในสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดแล้วดับ และไม่ได้เกิดต่อ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าลักษณะอื่นที่เกิดขึ้นทางหู หรือจิตที่คิดนึกก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมจึงเป็นการฟังเพื่อเข้าใจขึ้น จนกว่าสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมโดยไม่ลืมว่ายาก ละเอียด และก็ต้องมั่นคง คำพูดเหล่านี้จะทำให้ละความต้องการซึ่งเป็นคำสอนของพระองค์ที่ว่าเป็นไปเพื่อการละ คือละความต้องการที่อยากจะรู้ อยากจะเร็ว อยากจะได้ เป็นการค่อยๆ คลายการอยากจะรู้ อยากจะเร็ว อยากจะได้ เพราะรู้ตามความจริงว่าเป็นไปตามเหตุคือปัญญา

    ผู้ฟัง สภาพธรรมเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้นลักษณะความคิดของเราที่จริงๆ แล้วเมื่อศึกษาธรรม การพิจารณาเฉพาะจิต หรือเฉพาะตัวเรานั้นมีประโยชน์มากกว่าที่จะพิจารณาผู้อื่น แต่ในสภาพชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่เราจะพิจารณาผู้อื่น เช่น ลักษณะของโทสะ เราจะเห็นว่าคนอื่นโกรธ แต่ในลักษณะสภาพจิตของตัวเรา เราจะไม่ได้พิจารณา แล้วเราก็บังคับบัญชาไม่ได้ที่จะให้เราคิดพิจารณาเฉพาะโทสะของตัวเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า “เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน” เพราะว่าขณะนั้นมีลักษณะของปรมัตถธรรม แต่ไม่รู้ แต่ผู้มีปกติคือไม่ว่าขณะไหน เมื่อไร ก็มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นโดยไม่หวังว่าจะต้องรู้ทั่ว เร็วๆ นานๆ มากๆ แต่แม้เพียงชั่วขณะที่มีการรู้ลักษณะ ให้ทราบว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่ลักษณะนั้นไม่ได้ปรากฏกับสติเพราะว่าสติไม่ได้เกิด และก็เป็นปกติด้วย ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป อย่างไรก็เป็นประโยชน์ในการที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ทรงแสดงไว้ การจะรู้จักคนอื่น จริงๆ แล้วคิดเท่านั้นเอง เพราะโลกจะปรากฏได้ก็ต้องอาศัยทาง ๖ ทาง ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ ลืมคิดว่าขณะนั้นที่กำลังเป็นคนนั้น เป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะรู้มา ได้ยินมา ได้ฟังมา อกุศลจิตเกิดมากมายก็คือจิตคิดของเราเองทั้งหมด คนนั้นอยู่ที่ไหน ถ้าเราจะเล่าเรื่องของใครสักคนหนึ่งซึ่งได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เวลานี้คนนั้นอยู่ที่ไหน บางคนก็อาจจะตอบว่าเขาไม่ได้อยู่ตรงนี้ เขาอยู่บ้านเขา หรือบางคนอาจจะบอกว่าเขาไปต่างประเทศหรือไปอยู่ที่ไหนก็ตามแต่ แต่นั่นก็ยังคงเป็นความคิดนึก เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ใกล้สิ่งที่มีกำลังปรากฏในขณะนี้ยิ่งขึ้นว่า ไม่ว่าเราจะคิดถึงคนนั้นว่าเขาอยู่ที่นี่ เขาอยู่ที่อื่น เขาตายแล้ว เขาจากไปแล้วหรืออะไรทั้งหมด ก็คือเป็นความคิดนึกของเราเอง เวลาที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สติจะรู้ลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพคิด ยังไม่ต้องไปถึงว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะดับแล้ว

    ผู้ฟัง ปัญญาที่เป็นสมมติสัจจะกับปัญญาที่เป็นปรมัตถ์สัจจะ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความว่าปัญญา ๒ ประเภทนี้ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สมมตินี่มีจริงไหม เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีคำเราก็ไม่สามารถจะรู้ว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร แต่ขณะที่กำลังเห็น ต้องสมมติหรือไม่ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีจริง นั่นคือปรมัตถ์ แต่ถ้าจะรู้ว่าหมายความถึงสภาพที่กำลังปรากฏทางตาก็ต้องมีสมมติบัญญัติเรียก เพื่อให้เข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมนี้ ไม่ได้หมายความถึงสภาพธรรมอื่น ถ้ามีความเข้าใจว่าขณะไหนเป็นปรมัตถ์ มีลักษณะจริงๆ เกิดแล้วปรากฏโดยที่ไม่มีใครบังคับบัญชาสักอย่างเดียว แม้แต่เห็นขณะนี้ก็ไม่ได้บังคับบัญชาให้เกิดให้ดับ เสียงที่กำลังปรากฏหรือจิตที่ได้ยินก็ไม่มีใครบังคับบัญชาให้เกิดให้ดับ แม้แต่จิตที่คิดนึก ก็ไม่มีใครที่ไปบังคับบัญชาให้เกิดให้ดับได้ เพราะฉะนั้นก็สามารถจะรู้ได้ สิ่งที่มีจริง เป็นจริง เป็นธรรมนั้นมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง นี่คือรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม และก็จะรู้ด้วยว่าความคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ต้องเป็นทางใจ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กำลังเห็นคน แยกแล้วใช่ไหม ช่วงขณะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็คือทางตาจริงๆ จะมีการทรงจำว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็จะแสดงให้เห็นว่าจิตเกิดดับเร็วแค่ไหน เพราะเหตุว่าไม่ได้มีความเข้าใจความต่างของขณะที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏกับเป็นการคิดนึกทรงจำ สัณฐานหรือนิมิตของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเป็นปกติธรรมดา เมื่อเห็นก็เป็นท่านอาจารย์ เห็นเป็นดอกไม้ทันที เป็นลักษณะที่มีการปรากฏทางตา มีแข็งเกิดขึ้น หรือว่ามีความรู้สึกอะไรต่างๆ ตรงนั้นเป็นปรมัตถ์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพปรมัตถ์จะมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง มีลักษณะจริงๆ ปรากฏแต่ละทาง

    ผู้ฟัง หลงลืมสติ มีบ่อยมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่ากว่าสติจะเกิดจริงๆ เป็นปกติ และต้องละการยึดถือขณะนั้นด้วย ก็จะเห็นได้ว่าก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน เพราะว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด ถ้ายังไม่รู้จริงๆ โดยที่เป็นความมั่นคงขึ้น โดยที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น โลภะ และความเห็นผิดก็จะแทรกเข้ามาได้ มีความเป็นเราที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม และเป็นอนัตตา ก็จะเป็นปัจจัยให้เห็นประโยชน์ว่าสำคัญที่สุดคือการฟังเพราะว่าเราบังคับอะไรไม่ได้ เราคุ้นเคยกับโลภะมาก ทางตา เราคุ้นเคยกับการที่จะไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นเราคุ้นเคยกับเรื่องราว และเราก็พอใจในเรื่องราว สิ่งนี้เป็นอะไร เป็นกระเป๋า เป็นรองเท้า เป็นหนังสือ เป็นอะไร ก็เป็นเรื่องราวทั้งหมด ความพอใจของเราในเรื่องราวนั้นมากมายมหาศาล จนกระทั่งลืมว่าแท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นเราจะสังเกตกิเลสของเราที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น วันนี้ไม่รู้เลยว่ามาก เพราะทีละน้อย ทีละนิด ทีละหน่อย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้ามีอะไรที่ปรากฏว่าเป็นความพอใจอย่างมาก จึงเริ่มเห็น และความพอใจอย่างมากแต่ละชาติจะมีมากแค่ไหน ที่จะพาไปสู่อะไร นอกจากการกระทำทุจริตหรือว่าวนเวียนไปสู่สังสารวัฏฏ์ ถ้าเข้าใจความหมายที่เป็นอนัตตา ที่เป็นไปตามการสะสม ก็จะรู้ว่าการสะสมการฟังธรรมแม้เพียงเล็กน้อย ประโยชน์มาก และก็ต่างกับทางฝ่ายอกุศล ซึ่งทางฝ่ายอกุศลไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจในความเป็นจริงของธรรมว่าเป็นเพียงสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยบังคับบัญชาไม่ได้ และก็ต้องเป็นไปตามการสะสม ทำให้แต่ละบุคคลก็มีอัธยาศัยต่างกัน และก็จะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานแสนนาน ก็ยิ่งจะเห็นประโยชน์ของการฟัง แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรฟัง เราอาจจะไปเที่ยวกับญาติพี่น้อง พอกลับมาเราก็ฟังได้ หรือจะตรึกตรองถึงธรรม ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ คือเป็นผู้ที่เห็นคุณของการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาที่ค่อยๆ สั่งสม สะสมไปทีละเล็ก ทีละน้อย ก็จะทำให้มีอัธยาศัยในการที่จะฟังธรรม และยิ่งฟังก็ยิ่งเห็นความละเอียด ค่อยๆ เข้าใจในความละเอียดขึ้นก็จะทำให้มีการไม่ประมาทในการที่จะไตร่ตรองให้เป็นธรรมที่ถูกต้อง และอบรมเจริญต่อไป ก็เป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนว่าถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ก็จะฟังธรรมมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องบังคับ ก็จะรู้อัธยาศัยที่สะสมมาเมื่อไร เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เรียนถามว่า เราจะต้องทำความเข้าใจไหมว่าลักษณะสภาพธรรมของการสะสมของจิต เจตสิกที่พูดถึงนั้นเป็นลักษณะแบบนี้ เราจะไปบังคับบัญชาให้อยากจะรู้เพิ่มมากขึ้น อยากจะอ่าน ก็ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ความเป็นตัวตนนี่ลึกมาก และก็ละเอียดด้วย ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยเราจะไม่รู้ว่าเราศึกษาธรรมเพื่ออะไรหรือเพราะอะไร เพราะว่าบางคนไม่ใช่เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพื่อไตร่ตรองให้เข้าถึงความละเอียด ความลึกซึ้ง การละคลายความไม่รู้ แต่เพราะอยากจะรู้เรื่อง อยากจะรู้ชื่อ อยากจะได้ชื่อเยอะๆ แต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่สนใจเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังพระสูตร หรืออ่านหนังสือธรรมหรือพระไตรปิฎกก็ตามแต่ ขณะที่กำลังศึกษาไตร่ตรองให้เข้าใจในสิ่งที่มี ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน จนเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นคนที่ศึกษาธรรมจะรู้ได้ว่าเมื่ออ่านแล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือว่าเพียงแต่อ่านแล้วจบแล้วเล่มนี้ แล้วไปอ่านเล่มต่อไป จะได้รู้ว่าตรงนี้อยู่ตรงไหน เป็นเรื่องเดียวกันอย่างไร ชื่ออะไร นั่นไม่ใช่การศึกษาเพื่อละ หรือเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ คุณศุภักษรขับรถไปทำงานใช่ไหม ฟังธรรมในรถหรือไม่

    ผู้ฟัง ฟังค่ะ

    ท่านอาจารย์ นั่นก็เป็นประโยชน์ ไม่ได้หมายความว่าขาดการฟัง ก็ยังหาโอกาสทุกโอกาสที่จะฟังธรรม และก็อาจจะฝืนใจสำหรับบางคน แต่ฝืนไปก่อน แต่เพราะมีการสะสมมาที่จะฟัง ต่อไปก็จะเห็นประโยชน์ แต่ทั้งหมดเมื่อยังมีกิเลสอยู่มากมายจากการสะสมมาในสังสารวัฏฏ์ แม้สติสัมปชัญญะเกิดก็เห็นอกุศลบ้าง ถูกไหม หรือว่าสะสมมาจนกระทั่งเป็นผู้ที่มีอกุศลทั้งนั้น พอสติสัมปชัญญะเกิดก็เห็นแต่กุศล นั่นก็ผิดปกติ เพราะปกติแม้ขณะนี้เป็นอกุศล แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าเวลาสติสัมปชัญญะเกิดก็จะรู้จะเห็นในสภาพซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นอกุศล ซึ่งก่อนนั้นเคยรำคาญใจมาก เป็นเราบ้าง ทำไมเป็นอย่างนี้อย่างนั้น แต่เมื่อรู้ว่าขณะนั้น ลักษณะนั้นๆ ก็เป็นธรรม ก็จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาเกิดขึ้นแล้วไม่คลายความไม่รู้ ไม่ใช่ปัญญา แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ฟังแล้วฟังอีก ถ้ายังไม่ค่อยๆ แม้แต่จะคลายสักเพียงเล็กน้อยโดยที่รู้ว่าสติคืออย่างไร สิ่งที่กำลังปรากฏทั้งหมดผ่านไป แล้วก็มีนิมิต มีสัณฐานของสิ่งนั้นเสมอ กับการที่สิ่งนี้ปรากฏแล้วก็มีลักษณะนี้ไม่ได้ต่างกันเลยแม้เพียงเล็กน้อยนิดเดียวที่รู้ว่านี่ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรม คนนั้นก็จะรู้ได้ว่าต่อไปก็จะมีการคลายความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งหลายคนก็กล่าวว่าแสนยากเพราะว่าเคยจำไว้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลตลอด แต่ว่าหนทางที่จะคลายมีหนทางเดียวคือสติสัมปชัญญะที่ค่อยๆ รู้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ไปคลายโดยการทำอย่างอื่น เพราะทำอย่างอื่นเพราะโลภะ ไม่รู้เลย ไม่เห็นเลยว่าขณะนั้นเป็นโลภะที่ต้องละ ทรงแสดงไว้ว่าสมุทัยคือโลภะเป็นสิ่งที่จะต้องละ แต่ไม่เห็น แล้วก็ไปทำด้วยโลภะ เพราะฉะนั้นจะรู้ความจริงได้อย่างไร เป็นเรื่องการละคลาย

    ผู้ฟัง เรียนถามว่าการอ่านกับการฟัง อย่างไหนจะสงบกว่ากัน

    ท่านอาจารย์ อ่านเพื่อสงบหรืออ่านเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง อ่านเพื่อความเข้าใจธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทำไมถึงถามว่าสงบกว่ากัน

    ผู้ฟัง คือการใช้จักษุหรือการใช้โสต จะทำให้สงบ

    ท่านอาจารย์ สงบประเภทไหน

    ผู้ฟัง ทางกาย จิต

    ท่านอาจารย์ ต้องละเอียด กุศลทุกประเภทสงบ แต่ว่าระดับของความสงบต่างกัน ประกอบด้วยปัญญาหรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา

    อ.อรรณพ ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาธรรมไม่ว่าจะเป็นจากการฟังหรือจากการอ่าน เป็นประโยชน์ทั้งนั้น และเราก็ไม่ต้องเลือกว่าอย่างใดจะทำให้เกิดความสงบหรือเกิดความเข้าใจมากกว่ากัน แล้วแต่โอกาส แล้วแต่จังหวะที่ว่าอะไรเป็นโอกาสของกุศลที่จะเข้าใจจากการอ่าน เข้าใจจากการฟัง

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ของการอ่านก็มี ประโยชน์ของการไตร่ตรองธรรมก็มี แต่ถ้าเราอยู่เพียงลำพังความคิดของเราก็เป็นไปเฉพาะตัว แต่ถ้าเราได้มีการร่วมสนทนาก็จะทำให้มีความคิดกว้างขวาง เพราะเหตุว่าได้ฟังความคิดความเข้าใจของบุคคลอื่นด้วย ก็มีการสนทนาเรื่องนี้เมื่อวานนี้ก็พูดถึงเรื่องการฟังวิทยุ การอ่านหนังสือ และก็การติดต่อทางอินเตอร์เนต ก็มีผู้ที่บอกว่าแม้กระนั้นก็ยังไม่เท่ากับได้มีโอกาสสนทนากัน เพราะเหตุว่าได้มีการฟัง ได้มีการแลกเปลี่ยน ได้รู้ว่าความละเอียดของธรรมส่วนไหนที่บุคคลหนึ่งได้พบ และอีกคนหนึ่งก็ไปพบส่วนอื่น ก็จะทำให้มีความเข้าใจชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นประโยชน์ก็คือว่าสนทนาธรรมจะทำให้ได้รับความครบถ้วนทุกอย่างด้วย เพราะต่างคนก็ต่างไปอ่านมา ไตร่ตรองมา ก็ยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยน ได้เพิ่มเติมความรู้ด้วย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าสงบจากอกุศล ทีนี้เมื่อสงบจากอกุศล สงบ สันติ นิพพาน สิ่งนี้หมายความว่าลึกลงไปอีกหรืออย่างไร ช่วยตรงนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วถ้ากล่าวถึงนิพพานก็เรียกว่าสุดยอดของความสงบ ไม่มีสงบใดจะเสมอเหมือน เพราะเหตุว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยสักอย่างเดียว ที่วุ่นวายเพราะเกิดขึ้น เราพูดถึงปัญหาใหญ่ๆ เรารู้สึกว่าเกิดมาแล้วก็มีปัญหารอบตัว สมัยเด็กก็มีปัญหาวัยเด็ก สมัยโตก็มีปัญหาวัยโต ไม่เห็นมีใครพ้นจากปัญหาเลย วันนี้มีปัญหาไหม มีแล้วหรือยังปัญหา หรือไม่มีเหมือนกัน เกิดมาแล้วมีปัญหาไหม บางคนก็วันนี้จะรับประทานอะไรดี ปัญหาหรือไม่ ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ตราบใดที่เป็นอกุศลเป็นปัญหาทั้งหมดโดยไม่รู้ตัว แหล่งของปัญหาก็คืออวิชชาที่ทำให้มีการเกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วที่จะไม่มีปัญหาเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าปัญหาเล็กๆ หรือว่าปัญหาใหญ่ๆ ปัญหาที่ชินจนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา แต่ถ้าจะรู้อกุศลทั้งหมดเป็นปัญหา แต่ขณะใดที่เป็นกุศล สงบจากจากปัญหา เพราะว่าขณะนั้นสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ จนกระทั่งสงบจริงๆ คือไม่มีการเกิดอีกเลย เมื่อมีการเห็น มีปัญหาแล้ว มาจากการเห็น มีเรื่องราวคิดนึกต่างๆ คิดนึกเป็นกุศลหรืออกุศลส่วนใหญ่ ทุกอย่างเป็นปัญหาทั้งหมดไม่ว่าจะรับประทานอาหาร เป็นอยู่อย่างไร จะหลับ จะนอน ที่นอน ห้องน้ำ เป็นปัญหาทั้งนั้น ค่อยๆ แก้ปัญหาไปด้วยความคุ้นเคยชินเหมือนกับว่าไม่เดือดร้อน แต่ถ้าไม่มีเลยจะดีไหม ไม่มีการเกิดขึ้นเลย นั่นคือผู้ที่มีปัญญาจนกระทั่งรู้ว่าถ้าไม่มีการเกิดจะไม่มีทุกข์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าจะต้องไปถึงแม้แต่การเกิดก็เป็นทุกข์ ก็ละเอียดไปอีก ถ้าไม่มีการเกิด ก็ไม่ต้องดับ อะไร นี่เกิดแล้วต้องดับ เกิดแล้วไม่ดับไม่ได้ เกิดมาเพื่อดับ เท่านั้นเอง เกิดแล้วก็ดับๆ หรือว่าถ้าจะกล่าวอย่างธรรมดาชาวบ้าน เกิดเพื่อตาย แต่เราคิดถึงว่าคนเราเกิดมาแล้วที่ไม่ตายไม่มี ที่เกิดเพื่อตาย แต่เราคิดถึงสมมติมรณะคือตายจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น แต่ถ้าพูดถึงขณะจิตก็คือตายอยู่ทุกขณะ นี่ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งที่สามารถที่จะเห็นได้จริงๆ ว่าเป็นทุกข์ ถ้ายังไม่ตายก็อยู่เพื่อตายอีก ที่อยู่ทุกวัน ทุกวัน เพื่อตายแน่ๆ วันหนึ่งก็เพียงแค่อยู่ไปเพื่อตาย แต่ระหว่างที่ยังไม่ตายอยู่ไป แล้วก็พอกพูนอกุศล ความติดข้องโลภะ โทสะ โมหะ มากมาย เพราะฉะนั้นขณะใดที่อยู่ แล้วก็จะต้องตาย แต่ก่อนตายก็ยังมีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก ที่จะต้องคลายการที่จะเกิดอีกมากมาย ก็จะทำให้สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรเป็นปัญหา อะไรเป็นทุกข์ และความสงบจริงๆ ความสงบจากทุกข์ทั้งหลายได้ จากปัญหาทั้งหมดก็คือไม่เกิด จะถึงไหม ด้วยปัญญาถึงได้ แต่ไม่เร็ว นี่ก็เป็นกถาที่ทำให้ละโลภะ ไม่ใช่ไปต้องการเร็ว แต่ว่าต้องการความจริงที่ว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดเมื่อมีการอบรม ทีละเล็ก ทีละน้อย พ้นจากความเห็นผิดที่จะไปทำอย่างอื่นมาแค่นิดดียว แต่ยังมีโลภะอีกมากมายที่จะกั้นไปตลอดทาง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าความสุขที่เป็นสุดยอดก็คืออารมณ์นิพพาน ขั้นฟัง ไม่ใช่ขั้นประจักษ์ ผมจะถามว่าพระนิพพานกับจิต เจตสิก อารมณ์ของนิพพานมีอารมณ์ของปัญญาไหม เพราะปัญญาเป็นปัญญาเจตสิก หรือแม้กระทั่งปัญญาก็ไม่มีในอารมณ์ของนิพพาน

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าถ้ากล่าวในลักษณะที่ว่านิพพานเป็นปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป เพราะเหตุว่า จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดดับ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ