พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156


    ตอนที่ ๑๕๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘


    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าความรู้สึกเป็นทุกข์กับเป็นสุขเกิดกับกายวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ แต่ตัวกายวิญญาณไม่ได้รู้ความสุขหรือความทุกข์ กายวิญญาณต้องรู้เย็นหรือร้อนทางกายที่กระทบ

    ผู้ฟัง แล้วจิตที่รู้สภาพของเป็นสุขกับเป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ชอบ เรายังไม่กล่าวถึงเลย รู้ไหมว่าชอบ

    ผู้ฟัง ทราบค่ะ

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะที่ชอบได้ทางไหน

    ผู้ฟัง ทางใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นลักษณะที่เจ็บ

    ผู้ฟัง ก็ทางใจ จิตรู้ทางใจกับความคิดนึกเป็นคนละอย่างกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมหรือว่าเป็นบัญญัติไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม เช่น เห็นคน อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง แต่ความทรงจำคิดนึกว่าเป็นคน ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นคน คนจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางใจสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งความคิดนึกก็เป็นอารมณ์ทางใจ

    ท่านอาจารย์ ทางใจรู้ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง ลักษณะที่ต่างกันระหว่างตึงกับเจ็บ ถ้าจะเป็นอารมณ์ เป็นเวทนา ถ้าจะระลึกถึงเวทนา ก็จะระลึกได้แค่เวทนาที่เป็นทุกข์ใจ ลักษณะของเวทนาที่จะระลึกขณะที่เป็นตึง

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราจะคิดถึงคำต่างๆ ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่เวลาที่ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แทนที่เราจะไปบอกว่ากายานุปัสสนา ไม่ต้องบอกได้ไหม ถ้าขณะนั้นสติกำลังรู้ตรงลักษณะที่เป็นรูปหนึ่งรูปใดที่กาย ซึ่งรูปทางกายที่ปรากฏตามปกติจะพ้นจากเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่สติกำลังรู้ตรงนั้น เราจะบอกว่าเป็นเวทนานุปัสสนาไม่ได้ เพราะเหตุว่ากำลังรู้รูปที่กายก็ต้องเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือแทนที่จะเอาตัวหนังสือมาแล้วพยายามว่าถ้าตรงนี้ก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมจริงๆ เกิดปรากฏก็เปลี่ยนไม่ได้ ถ้ากำลังมีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วก็รู้ลักษณะที่รู้สึก เพราะว่าจริงๆ แล้ววันหนึ่งๆ ก็มีลักษณะทั้งนามธรรม และรูปธรรมเกิดดับสลับเร็วมาก ซึ่งถ้าสติไม่เกิดจะไม่มีทางรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดเลย เพราะว่าลักษณะนั้นเกิดแล้วดับแล้วทุกขณะอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ อย่างทางตา สติก็ไม่ได้ระลึก เพราะฉะนั้นจิตเห็นก็ดับไปพร้อมกับอุเบกขาเวทนา และเจตสิกอื่นๆ

    ด้วยเหตุนี้ เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด และก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมใด เราก็เรียกอย่างนั้นเพราะกำลังมีลักษณะนั้นเป็นอารมณ์ ถ้าระลึกลักษณะที่เป็นความรู้สึก จะเป็นความรู้สึกอะไรก็ได้ไม่จำกัดเลย สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ เฉยๆ ก็ได้ ดีใจก็ได้ เสียใจก็ได้ มีปรากฏในชีวิตประจำวัน และขณะใดที่สติระลึกความรู้สึกไหน เราก็เรียกตามนั้นตามความเป็นจริงว่าเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะไปบอกว่ากายาก็ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเรามาสงสัยว่า นี่จะเป็นกายานุปัสสนา หรือนี่จะเป็นเวทนานุปัสสนา ไม่ใช่อย่างนั้น แล้วแต่เมื่อสติเกิด มีลักษณะใดเป็นอารมณ์ก็ตามความเป็นจริง ถ้ามีเวทนาเป็นอารมณ์ กำลังรู้ลักษณะเฉพาะนั้นก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่คือการที่สติสัมปชัญญะจะรู้ตรงแล้วค่อยๆ เข้าใจในลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน แล้วจึงจะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปได้ รูปตึง เพราะฉะนั้นต่อไปรู้สึกเวทนา

    ผู้ฟัง ในความรู้สึกคือรูปตึงเกิดขึ้น และความรู้สึกที่เราไปรู้ตึง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเรื่องราวแต่มีลักษณะ ในขณะนี้ถ้าถอดเรื่องราวออกหมดด้วยความเห็นถูกเป็นโลกปรมัตถธรรม ไม่มีชื่อเลย แต่มีลักษณะที่ปรากฏแต่ละทาง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเปลี่ยนไปให้เป็นเสียงที่ปรากฏทางหูก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมต่างกันไปแต่ละทาง แต่เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมซึ่งเกิด และปรากฏแล้วจึงได้ดับไปทีละอย่าง ก็ทำให้หลงยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ ด้วยความเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เกิดดับ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ขั้นฟังยังไม่พอ ยังจะต้องรู้จริงๆ โดยที่เมื่อไรสติเกิด เมื่อนั้นก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ต่างกับลักษณะอื่น เพราะว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าตอนนั้นเรารู้สึกเพราะว่าตึง เรารู้สึกแล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ในความตึงเป็นธรรมดาใช่ไหม ความรู้สึกตึงเป็นธรรมดา ขณะนั้นต้องเป็นจิตจึงสามารถจะรู้ลักษณะที่ตึงได้ ถ้าไม่มีจิต ลักษณะที่ตึงก็ไม่ปรากฏ คือปรากฏไม่ไ้ด้เลย และจิตที่สามารถรู้ตึงได้ ก็ไม่สามารถรู้เห็นได้ จิตนั้นเห็นไม่ได้แต่รู้ตึงได้ เพราะฉะนั้นจิตที่รู้ตึงก็เป็นจิตที่สามารถจะรู้ตึงที่กระทบกับกายปสาท รู้ตึงก็หมดแล้ว เพราะฉะนั้นต่อไปรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ว่ารู้สึกไม่สบายหรือสบาย

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าไม่สบาย วันนี้อาจจะมีหลายคนที่ไม่ค่อยสบาย ก็รู้ต่างกับความรู้สึกวันก่อนๆ เพราะวันก่อนๆ รู้สึกสบายแต่วันนี้ไม่สบาย แต่นั่นเป็นธรรมดา เพราะเหตุว่าไม่ได้มีความเข้าใจลักษณะที่ไม่สบายว่าลักษณะนั้นเป็นไม่สบายกายหรือว่าไม่สบายใจ ถ้าเป็นไม่สบายกาย ความรู้สึกไม่สบายกายก็ยังคงเป็นเวทนาเพราะยังเป็นความรู้สึกไม่สบายแต่ว่าเกิดต่างที่ ถ้าเป็นไม่สบายใจ ไม่ได้อาศัยกายเลย ความรู้สึกไม่สบายนั้นก็มี เพราะฉะนั้นเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด เราไม่ต้องไปนึกถึงทวาร ไม่นึกถึงคำ แต่มีลักษณะซึ่งตรง เปลี่ยนทวารไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ระลึกถึงความรู้สึกก็คือขณะนั้นมีความรู้สึกที่กำลังปรากฏลักษณะนั้นเป็นอย่างไร เป็นความรู้สึกประเภทไหน ก็คือจริงๆ แล้วที่ความรู้สึกจะปรากฏได้ จิตที่สามารถจะรู้ความรู้สึกได้ต้องเป็นทางใจ เพราะเหตุว่าทางกายก็จะรู้แต่เฉพาะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ทางตาก็จะเพียงเห็น

    ผู้ฟัง ถ้าจะแข็ง ก็รู้ลักษณะเดียวก็คือแข็ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่สติระลึกไม่มีอะไรที่ปรากฏนอกจากลักษณะที่แข็ง เพราะฉะนั้นจึงรู้ในลักษณะที่แข็งว่าเป็นรูปชนิดหนึ่ง สิ่งนี้จบไปแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วถ้าแข็งเกินปกติที่เป็นทุกข์ที่เกิดจากเวทนา

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะที่กำลังระลึก เราไม่ได้ระลึกแข็งที่ผิดปกติ เพราะว่าถ้าระลึกแข็งที่ผิดปกติ ลักษณะของแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ ลักษณะอื่นไม่ปรากฏเลย ก็ยังคงเป็นลักษณะของรูปอยู่

    ผู้ฟัง ของรูปที่แข็ง แต่พอมาเวทนา

    ท่านอาจารย์ ไม่มาแล้ว แต่หมายความว่าเมื่อหมดแล้วจะสืบต่อหรือไม่สืบต่อก็ตามแต่ เพราะว่าจิตจะต้องเกิดดับสืบต่อไม่ขาดสาย เพราะฉะนั้นแล้วแต่ว่าเราจะรู้ อย่างไม่ขาดสายนี่เป็นไปไม่ได้ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดอีกแล้วรู้อะไร เพราะฉะนั้นเมื่อครู่นี้รู้แข็งหมดแล้ว แล้วต่อไปคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็มีความรู้สึกเจ็บ

    ท่านอาจารย์ รู้สึกเจ็บ ขณะนั้นกำลังรู้เจ็บ จะรู้ลักษณะของเจ็บได้ทางไหน ทางใจ เมื่อเป็นสติปัฏฐานก็เป็นประเภทของเวทนา ในเมื่อสติกำลังรู้ลักษณะที่เจ็บ ยังจะต้องมาเป็นประเภทนั้นประเภทนี้หรือ

    ผู้ฟัง ขณะที่รู้เจ็บไม่ใช่เป็นประเภท แต่อยากได้คำอธิบายที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ อย่างไรๆ ถ้าอยากได้คำอธิบายจะไม่เข้าใจ แต่ถ้ารู้ว่าเมื่อกำลังรู้เจ็บ เมื่อเจ็บเป็นความรู้สึก ภาษาบาลีก็เป็นสติที่ระลึกที่ความรู้สึก ซึ่งชื่อเต็มๆ ก็คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้นเอง แต่เราต้องรู้ว่าไม่ไปปนกับชื่อ แต่ความจริงก็คือถ้าจะเรียกเป็น ๒ ภาษา สติกำลังรู้ลักษณะที่เจ็บ เพราะฉะนั้นเจ็บภาษาบาลีว่าเวทนา และสติที่ระลึกลักษณะของเวทนาก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งความจริงก็คือสติระลึกลักษณะเจ็บ จะใช้ภาษาอะไรก็ตามแต่ ไม่ใช่เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วมาใส่หมวดนี้ว่าเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่คือเราไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราเข้าใจก็คือว่าเมื่อสติระลึกลักษณะของเวทนาความรู้สึก ความรู้สึกเจ็บ ภาษาบาลีเป็นทุกขเวทนา และทุกขเวทนาก็เป็นเวทนาประเภทหนึ่ง และสติที่กำลังรู้ลักษณะนั้น ขณะนั้นก็เป็นการรู้ลักษณะของความรู้สึกซึ่งภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าภาษาไทยหรือว่าไม่ต้องใช้ภาษาอะไรก็คือสติกำลังรู้ลักษณะของเวทนา แล้วเราต้องมาสงสัยเรื่องชื่อ แล้วจะเอาไปใส่หมวดไหนอย่างไรหรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะนั้นไม่ต้องใส่ชื่อ

    ท่านอาจารย์ นี่คือความเข้าใจจริงๆ ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของธรรม แต่ไม่ใช่เอาไปใส่ชื่อโน่นชื่อนี่ หมวดนั้นหมวดนี้

    ผู้ฟัง ถ้าเรามีสติระลึกถึงจิต

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติเกิด แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง สติเกิดในขณะที่จิตติดข้อง นี่ก็เป็นการระลึกของจิตที่มีลักษณะติดข้อง

    ท่านอาจารย์ เรากำลังจะหาชื่อ แต่จริงๆ เวลาที่สติเกิดระลึกลักษณะที่ติดข้อง หรือระลึกลักษณะสภาพจิตที่มีเป็นใหญ่เป็นประธาน ถ้าระลึกลักษณะของจิตที่เป็นธาตุรู้ ขณะนั้นเราจะเปลี่ยนชื่อเป็นเวทนานุปัสสนาได้ไหม ในเมื่อกำลังรู้ลักษณะของจิต ภาษาบาลีก็คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ภาษาไทยก็คือสติกำลังรู้ลักษณะที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ ตัวจริงๆ แต่ไม่ใช่ไปเกี่ยวกับชื่อ ชื่อก็เป็นเรื่องของภาษาเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าธัมมานุปัสสนา พิจารณาธรรม หรือสติที่รู้ธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็เอาชื่อมาเรียงอีก เอาชื่อมาเรียงแล้วอะไรเป็นธรรมบ้าง ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นขณะนั้นกำลังระลึกอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ต้องใช่ชื่อ อย่างที่เราเห็น แล้วระลึกได้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปธรรม ในขณะนั้นอาจจะไม่มีชื่อหรือเรื่องราวว่าเป็นรูปหรืออะไร แต่ในขณะที่เราสามารถที่จะเห็น

    ท่านอาจารย์ สติกำลังระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเรียกอะไร จะเรียกแล้วใช่ไหม หรือไม่ต้องเรียกก็รู้ว่าขณะนั้นกำลังค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะที่ปรากฏ กำลังมีลักษณะที่ปรากฏ กำลังรู้ตรงลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่ขณะที่คิดเรื่องราวอะไร ขณะนั้นจะปฏิเสธได้ไหมว่าขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้ลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง เรียนถามเกี่ยวกับเรื่องเวทนา คือ มีทั้งเวทนา ๓ และเวทนา ๕ บางครั้งก็ไม่ทราบว่ามีอุเบกขาหรืออทุกขมสุข ไม่ทราบว่าจะใช้ในกรณีไหนเวลาที่ฟังธรรมจะได้เข้าใจว่าเวทนา ๓ หมายถึงอะไร เวทนา ๕ หมายถึงอะไร

    อ.วิชัย บางครั้งก็มีการจำแนกโดยเวทนา ๓ หมายถึงว่ากล่าวถึงทั้งทุกขเวทนา และโทมนัสรวมในทุกขเวทนา และสุขเวทนา และโสมนัสเวทนารวมในสุขเวทนา ส่วนอุเบกขาหรืออทุกขมสุขเวทนาก็เป็นอย่างเดียวกัน แต่โดยมากจะใช้คำว่า อทุกขมสุข แต่บางแห่งใช้อุเบกขาเวทนาก็มี แต่อุเบกขาจะมีความหมายเป็น ๑๐ อย่าง แต่ว่ามีความหมาย๑ คือเวทนุเบกขาซึ่งก็หมายถึงเวทนา ซึ่งอุเบกขาจะมีความหมายกว้าง แต่ว่าถ้าอทุกขมสุขเวทนาก็หมายถึงเฉพาะเวทนาที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ คือ อุเบกขาเวทนาเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแล้วว่าความรู้สึกมี ๓ อย่าง ถ้าไม่กล่าวแยกทางกายกับทางใจ แต่ถ้า ๕ อย่างก็คือแยกกายกับใจ จะใช้คำอะไรก็แล้วแต่

    อ.ธิดารัตน์ การจำแนกโดยเวทนา ๓ อย่าง "สุขเวทนา" มีทั้ง ๒ ประเภทคือสุขหรือโสมนัสเวทนา คือ สุขที่เกิดทางกาย เป็นสุขที่เกิดทางกายเกิดกับกายวิญญาณ ๑ อย่าง และสุขเวทนาซึ่งเป็นโสมนัสเวทนาซึ่งเกิดได้ทางใจ ๒ อย่าง ส่วน "ทุกข์" หมายถึงทุกข์ทางกายที่เป็นทุกขกายวิญญาณ และโทมนัสซึ่งเกิดทางใจ ซึ่งท่านก็แยกไว้ ส่วน"อทุกขมสุข" ท่านก็หมายถึงอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว

    ผู้ฟัง ขอสนทนาเรื่องจิตที่รู้เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังนั่ง แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นเพียงแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง ปัจจุบันนี้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องว่าขณะนี้กำลังนั่ง และเห็นว่าเป็นเพียงธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ขอถามต่อไปอีกว่า เห็นเมื่อไรว่าเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เดี๋ยวนี้ ธรรมเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในขณะนี้ กำลังนั่งขณะนี้แล้วเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นรูป ได้ยินเสียง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกออกเป็นแต่ละทาง

    ผู้ฟัง จะเป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความเห็นถูก และมีความเข้าใจในขณะใด ขณะนั้นเป็นความเห็นถูก

    ผู้ฟัง จากมีความเจ็บแล้วก็เกิดความเดือดร้อนคือรู้ว่าหลังจากเจ็บแล้วเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่ใช้คำว่าหลังจากเจ็บแล้วเดือดร้อนก็แยกกันอยู่แล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง แยกกัน แต่ว่าลักษณะที่ปรากฏหลังจากเจ็บคือเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เดือดร้อน กำลังเดือดร้อน เจ็บเหมือนอย่างเจ็บกายหรือไม่ เจ็บที่กายกับเดือดร้อนเหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนเพราะแยกกันอยู่แล้ว ที่กายก็เป็นทุกขเวทนา ถ้าใจก็เป็นโทมนัสเวทนา

    ผู้ฟัง เราก็ทราบว่าโทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิต แล้วขณะที่สติสามารถระลึกได้ว่าเป็นโทมนัสเวทนา

    ท่านอาจารย์ ระลึกลักษณะที่โทมนัส หรือระลึกว่าเป็นโทมนัสเวทนา

    ผู้ฟัง ระลึกลักษณะที่เป็นโทมนัส

    ท่านอาจารย์ สภาพโทมนัส ลักษณะเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าระลึกว่าเป็นโทมนัสเวทนา

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคิดถึงชื่อ มีชื่อออกมาเลย โทมนัสเวทนา ก็คิดถึงคำแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วถ้าระลึกว่า สิ่งนี้เป็นโทสะ

    ท่านอาจารย์ ระลึกว่าก็เป็นชื่ออีก ชื่อโทสะออกมาแล้ว

    ผู้ฟัง กำลังจะเรียนถามว่า ลักษณะของโทสมูลจิตกับลักษณะของโทมนัสเวทนาในสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะปรากฏแยกขาดออกจากกัน หรือพิจารณาเห็นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่คือพื้นฐานพระอภิธรรม คือ ต้องมีความเข้าใจความต่างของจิตกับเจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏคืออารมณ์ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็หลากหลาย แล้วแต่ว่าจะเป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นสัญญา เจตนา อะไรก็หลายประเภทที่เกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่สามารถจะรู้ถึงธาตุที่กำลังเป็นใหญ่ในการรู้แจ้ง ขณะนั้นต้องต่างกับความรู้สึก เพราะความรู้สึกขณะนั้นก็จะต้องมี คือ ถ้าเป็นทางกายก็เป็นสุขหรือทุกข์ ถ้าเป็นทางใจก็เป็นโสมนัส โทมนัสหรืออุเบกขา

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า เจตสิก เช่น ผัสสะนี่ไม่สามารถจะรู้ได้ในสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริง เดี๋ยวนี้มีผัสสเจตสิกเกิดทุกขณะจิตเลย รู้ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้ด้วยความเข้าใจหรือว่าด้วยความคิดนึก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่องราวว่าขณะใดก็ตามที่จิตเกิด จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ประเภท๑ คือ ผัสสเจตสิก นี่คือเรื่องราว แต่ขณะนี้สติสามารถจะรู้ลักษณะของผัสสเจตสิกได้ไหม ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง จริงๆ น่าจะรู้ได้ถ้ามีปัญญา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ กล่าวถึงเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้รู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไรจะรู้ได้

    ผู้ฟัง ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไร

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นเรื่องไม่ทราบนี่เป็นเรื่องที่เราไม่รู้ตามการสะสมว่าแต่ละคนสะสมปัญญาระดับไหน

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ตามถ้าเป็นธรรม หรือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส ก็ต้องรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ใครรู้ ตรัสไว้ทั้ง ๓ ปิฎกเลย แล้วใครรู้ทั้ง ๓ ปิฎก

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้ารู้ แต่ว่าสามารถรู้ตามได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตามกำลัง ไม่อย่างนั้นจะมีสาวกประเภทต่างๆ หรือ ตั้งแต่อัครสาวก มหาสาวก ปกติสาวก

    ผู้ฟัง แต่ก็มีคำกล่าวว่าเป็น ๑ ไม่มี ๒ และไม่เป็นอื่น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และใครจะเป็นพระอริยบุคคลต้องรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญญาระดับเดียวกันเท่ากันหมด ท่านพระสารีบุตรรู้เท่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ และท่านพระมหาโมคคัลลานะจะรู้เท่าพระสารีบุตรหรือไม่

    ผู้ฟัง กลับมาในเรื่องของลักษณะของจิต และเจตสิก ถ้าลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏ แล้วสติสามารถระลึกได้ ก็คือลักษณะสภาพธรรมนั้นให้เราศึกษา แต่ว่าไม่จำเป็นต้องไปแยกประเภทหรือว่าไปรู้ชื่อใช่ไหม เช่น จิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีสิทธิ์จะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกเจ็บเป็นความรู้สึก จริงๆ ก็เปลี่ยนความรู้สึกนั้นให้เป็นจิตไม่ได้แน่นอน เพราะว่าความรู้สึกที่เป็นทุกข์หรือความรู้สึกที่เป็นสุขก็มีลักษณะอย่างนั้น แต่ไม่ใช่สภาพของจิตที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่เวทนาเป็นเพียงความรู้สึกต่างๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์หรือเป็นอุเบกขา

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อสติระลึกรู้สภาพธรรมก็ย่อมจะระลึกรู้สภาพจิตได้เช่นเดียวกันใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อย่างนั้นเราไม่เรียน เรียนแล้วรู้ไม่ได้ แต่ว่าเมื่อเรียนแล้วฟังแล้ว เข้าใจแล้วว่าขณะนั้นมีจิต แล้วรู้ลักษณะของจิตได้อย่างไร นี่คือการที่ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของจิตได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง ต้องเรียน ต้องพิจารณา ต้องใส่ใจ ต้องรู้หนทางด้วย ไม่ใช่ให้เราไปจัดสรรว่าให้ระลึกลักษณะของจิตว่าต่างกับเจตสิกนั้นๆ แต่ว่าลักษณะของจิตก็ต่างกับเจตสิก เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องจากการฟังว่าสภาพธรรมมีลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิดระลึกขณะนั้นก็จะรู้ลักษณะเฉพาะลักษณะนั้นไม่ปะปนกัน คือถ้าเป็นลักษณะของจิต ขณะนั้นจะเป็นลักษณะที่เป็นใหญ่เป็นประธาน มนินทรีย์นี่ใหญ่มากไม่มีขอบเขตที่จำกัดเลย เป็นนามธาตุไม่ใช่รูปหนึ่งรูปใด เช่น เสียงก็ยังมีเสียงแค่นี้หรือเสียงดังขนาดนั้นก็แล้วแต่ แต่ว่าลักษณะของนามธาตุก็เป็นเพียงธาตุที่เป็นนาม ที่ไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น และก็เป็นใหญ่จริงๆ เมื่อเกิดขึ้นก็จะเป็นธาตุรู้ ถ้าขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของจิต แต่สำหรับความรู้สึกก็เปลี่ยนไม่ได้อีก จะให้ความรู้สึกเจ็บจะไปเป็นจิตก็ไม่ได้ จะให้ความรู้สึกเป็นสุขจะไปเป็นจิตก็ไม่ได้ จะให้ความรู้สึกทุกข์โทมนัสไปเป็นจิตก็ไม่ได้ และลักษณะของสุขเวทนาก็ไม่ใช่ลักษณะของทุกขเวทนา ลักษณะของโสมนัสเวทนาก็ไม่ใช่ลักษณะของสุขเวทนา

    เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมเป็นจริงในขณะนั้นที่สติสัมปชัญญะกำลังรู้ตรงลักษณะนั้นจริงๆ ก็จะเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่เราเรียนมาทั้งหมดไม่ใช่ไม่มี และเราอาจจะฟังเรื่องราว และก็ผ่านไปโดยที่ว่าลักษณะนั้นๆ ก็ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ลักษณะนั้นด้วยความเข้าใจถูก ลักษณะนั้นสั้นมากทุกอย่าง รูปธาตุก็เกิดดับเร็วแต่นามธาตุก็ยิ่งเร็วกว่านั้น เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดคือลักษณะของสภาพธรรมใดก็ตามที่ปรากฏแล้วดับ ไม่มีทางที่จะประจักษ์แจ้งได้เลยว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะเพราะว่าเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดตรงลักษณะ ไม่มีคำ มีลักษณะที่แสดงความเป็นสภาพนั้นๆ ว่าเป็นธรรมที่มีลักษณะนั้น ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น แล้วทั้งวันก็คือมีลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นจริงๆ ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ดิฉันคิดว่าดิฉันคงจะเข้าใจผิดอะไรสักอย่างแน่ เพราะดิฉันเข้าใจว่าการที่กล่าวว่าที่ระลึกรู้สภาพธรรมก็คือสติเป็นตัวที่จะระลึก แต่ว่าที่ฟังมาว่าการที่จะรู้ลักษณะของกุศลหรืออกุศลก็คือเจตสิก ต้องรู้สภาพรู้ก่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เช่นนั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567