พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
ตอนที่ ๑๕๙
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ เวลาที่เรามีความพอใจเกิดขึ้น เรามีความรู้สึกว่าเราชอบ แต่ว่าเห็น มีหรือไม่ขณะที่เราว่าเราชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด กำลังชอบ กำลังเพลิน ก็มีเห็นมีได้ยินสลับ เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะแยกรู้ขณะที่ต่างกันฉันใด การที่เราจะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ ขั้นแรกเพียงสามารถที่จะเข้าใจในความเป็นนามธรรมของสภาพธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลภะหรือโทสะ จะไม่มีการเรียกชื่อ หรือว่าจะไม่มีการรู้ความต่างซึ่งสลับกันหรือว่าไม่ปรากฏ อย่างคำถามที่ว่าก็แสดงให้เห็นว่าก่อนที่เราจะไปกล่าวว่าเรารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนี้ หรือสภาพนี้เป็นอะไร เป็นโลภะหรือเป็นโทสะ หรือเราพอใจอย่างนั้นจะเป็นลักษณะของฉันทะหรือโลภะ ก็ต่อเมื่อเรารู้ก่อนว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม และความละเอียดถึงจะค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้น ก็เป็นการเพียงกล่าวตามความเป็นจริงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ แต่ว่าไม่ใช่ความสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แม้แต่ลักษณะของโลภะกับโทสะซึ่งต่างกัน
ผู้ฟัง เข้าใจยากพอสมควร
ท่านอาจารย์ ก็มี แล้วก็เกิด แล้วก็ดับไป หมดแล้ว แล้วก็เกิดใหม่อีก แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วอีก แล้วเมื่อไรจะรู้จริงๆ ก็ต้องรู้ในลักษณะที่ปรากฏความเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก่อน เพื่อที่จะไม่ใช่เรา และนามธรรมที่รู้ก็หลากหลาย ลักษณะใดที่ปรากฏที่พอจะรู้ได้ก็รู้ได้
ผู้ฟัง ถ้าศึกษาธรรมในเรื่องรูปธรรม และนามธรรม ถ้าเป็นนามธรรม เราเข้าใจหรือยังว่าลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ฟังวันนี้แล้ว ผู้ฟังเหมือนกับผมก็ต้องกลับไปทบทวนสิ่งที่ได้ฟังมาตั้งแต่ต้นใหม่
ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ จากการฟังบ่อยๆ
ผู้ฟัง นั่นไม่เป็นรูปแบบ ก็เหมือนเป็นรูปแบบ
ท่านอาจารย์ รูปแบบอะไร
ผู้ฟัง ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ไม่ใช่รูปแบบ เป็นอย่างนั้น ขณะนี้มีเห็น แล้วเราก็ใช้ชื่อทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี จักขุวิญญาณ จิตรู้โดยอาศัยจักขุปสาท ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลานี้สิ่งที่กำลังปรากฏ จิตเห็นแจ้ง รู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็พูดเพื่อจะให้เข้าถึงสภาพธรรมที่กำลังเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ ไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเลย ในขณะนี้ที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟัง แล้วก็ไม่ได้ระลึก ไม่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่กำลังทำหน้าที่อย่างนั้น ก็ไม่มีการที่จะสามารถรู้ลักษณะของสภาพจิตได้ เพียงแค่รู้เรื่องราวว่าจิตเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นจิตที่ไม่เคยขาดเลยแม้ขณะเดียว ทำกิจหน้าที่ต่างๆ
ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้ท่านอาจารย์จึงกล่าวอยู่เสมอว่าถ้าผู้ใดสติเกิดก็จะรู้ทันทีว่าในขณะที่หลงลืมสติ หรือขณะที่สติเกิดก็จะมีลักษณะของสภาพธรรมเกิดสลับคั่นกันในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ กำลังรู้ลักษณะ มีลักษณะที่กำลังปรากฏ ชั่วขณะที่กำลังรู้ ไม่มีชื่อ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีความคิดใดๆ เพราะว่ากำลังมีเฉพาะลักษณะที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย
ผู้ฟัง ถ้าเป็นชื่อขึ้นมาเมื่อไร ขณะนั้นล่วงเลยลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่คิด เปลี่ยนประเภทแล้ว
ผู้ฟัง เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะสะสม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง มีผู้ที่อบรมแล้ว เจริญแล้ว รู้แจ้งสภาพธรรมแล้วมากมาย เพราะฉะนั้นผู้ฟังในขณะนี้ก็กำลังอบรมอย่างนั้นจนกว่าจะรู้แจ้งโดยที่ไม่ไปมีความต้องการที่จะรู้ หรือไปเป็นพระโสดาบันอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนั้นเป็นโลภะที่ทำให้เป็นความตั้งใจอย่างนั้น
ผู้ฟัง ฉันทะเป็นเจตสิก เป็นนามธรรม เป็นฝ่ายอกุศลก็ได้ ใช่ไหม
อ.ธีรพันธ์ ก็ต้องแยกว่าฉันทเจตสิกเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่ว่าอกุศลไม่ทั้งหมด เว้นโมหมูลจิต ๒ ประเภท ประเภท ๑ ก็คือวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ คือมีความสงสัยเกิดร่วมด้วย และก็อุทธัจจะสัมปยุตต์ ขณะนั้นจิตก็ซัดส่ายฟุ้งซ่าน ขณะนั้นไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะที่เป็นโมหมูลจิต ๒ ประเภทนี้ ไม่มีใครที่พอใจจะสงสัยเพราะเกิดขึ้นมาเอง ความลังเลสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นจริงอย่างไร ไม่มีใครมีความพอใจที่จะสงสัยอย่างนั้น แต่ฉันทเจตสิกจะเกิดกับโลภมูลจิตก็ได้ โทสมูลจิตก็ได้ พอใจที่จะโกรธ พอใจที่จะผูกโกรธ พอใจที่จะยินดีติดข้อง และฉันทเจตสิกก็ไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง นอกนั้นฉันทะเกิดได้หมด
ผู้ฟัง ฉันทเจตสิกอยู่ในหมวดธรรมของอิทธิบาท ๔ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) อย่างนี้จะเป็นฝ่ายกุศล
อ.ธีรพันธ์ ถ้าเป็นอิทธิบาทต้องเป็นไปเพื่อความสำเร็จ หรือเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ฉันทะที่เกิดกับระดับจิตที่เป็นอกุศลไม่ได้เป็นฉันทะที่เป็นไปเพื่อความสำเร็จ ถ้าเป็นอิทธิบาทต้องเป็นไปเพื่อความสำเร็จ จะไม่เกิดกับอกุศลจิต ต้องแยกประเภทกัน เกิดกับกุศลก็จริง เกิดกับอกุศลก็จริง แต่ต้องรู้ว่าไม่เกิดกับอกุศลประเภทไหนด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดกับโลภมูลจิต และโทสมูลจิต ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล แต่ถ้าเป้นฝ่ายกุศล มีปัญญาก็มีฉันทะเกิดร่วมด้วย ไม่มีปัญญาก็มีฉันทะเกิดร่วมด้วย
อ.ธิดารัตน์ กล่าวถึงอิทธิบาท “อิทธิ” หมายถึงว่าเป็นฤทธิ์หรือความสำเร็จต่างๆ และก็เป็น “บาท” เฉพาะหรือว่าเบื้องต้น เป็นธรรมที่ทำให้สำเร็จขั้นฌาณก็ได้ หรือว่าสำเร็จมรรคผลก็คือธรรมที่เป็นฝ่ายของโพธิปักขิยธรรม ก็คือทำให้บรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้นในขณะนั้นตั้งแต่ธรรมที่เป็นไปเริ่มต้นตั้งแต่สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นธรรมที่ทำให้บรรลุฌาณมรรคผล ในขณะนั้นก็ต้องมีอธิบดีซึ่งมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คือปัญญา เป็นอธิบดีในขณะนั้น ส่วนคำว่า “อิทธิบาท ๔” ท่านแสดงไว้ว่าเป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้น และก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ผู้ที่จะบรรลุฌาณได้ก็ต้องประกอบด้วยปัญญา หรือผู้ที่จะบรรลุมรรคผลได้ก็ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ประกอบด้วยปัญญา
ผู้ฟัง ขอสนทนาเรื่องเมตตา ในขณะที่เราระลึกรู้ว่าเรามีความโกรธแล้ว เมื่อเราเห็นโทษของโทสะ ก็จะทำให้ความโกรธตรงนั้นน้อยลง เราทำโทษตัวเองในขณะที่โทสะเกิด เราไม่ได้ทำโทษคนที่เป็นปฏิปักษ์เลย เราก็มัวแต่ไปโกรธเอาๆ แต่เขาก็สบายดี นั่งฟังธรรมดี แต่ใจเรานี่ไปโกรธเขา เพราะฉะนั้นถ้าได้เห็นโทษของตัวเอง โทสะจะน้อยลง
ท่านอาจารย์ ธรรมต้องละเอียด และต้องสอดคล้อง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องถือว่าใครจะถืออย่างไร เราจะถืออย่างนี้ หรือคนอื่นจะถืออย่างนั้น หรือจะถือตามเขาดีหรืออย่างไร แต่ธรรมก็คือธรรม เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึงเมตตา ต้องไม่ลืมกรุณา มุทิตา อุเบกขาด้วย ถ้าเมตตาตัวเอง กรุณาตัวเองหรือไม่ มุทิตาตัวเองหรือไม่ อุเบกขาตัวเองหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำใดก็ตามในพระไตรปิฎก ต้องพิจารณาตามความเป็นจริงด้วย เวลาที่เราเกิดไม่มีเมตตา ขาดเมตตา เกิดความโกรธขึ้น หรือความคิดที่จะไม่ให้คนอื่น ไม่มีความเมตตา แต่ว่าเมตตาตัวเองก่อนทำอย่างไร ที่จะทำให้เกิดเมตตาคนอื่น ก่อนนี้ ก่อนที่จะเมตตาตัวเอง โทสะไม่ชอบใคร มีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ใช่หรือไม่
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเป็นโทสะ ไม่ชอบใคร
ผู้ฟัง บางทีก็ไม่ชอบโต๊ะ เราเกิดเตะขึ้นมาแล้วมันเจ็บ
ท่านอาจารย์ อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับเมตตาแล้ว โทสะเป็นโทสะ เมตตาเป็นเมตตา โทสะเกิดโดยที่ไม่ต้องมีสัตว์ บุคคลได้ แต่ถ้าเมตตาต้องมีสัตว์ บุคคล
อ.ธิดารัตน์ ขอสนทนาด้วยในข้อนี้ เมตตาตัวเองรู้สึกว่าจะใช้กันมาก ซึ่งจริงๆ แล้วมาพิจารณาดู ท่านก็แสดงว่าเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาในสัตว์ทั้งหลาย คือต้องเป็นสัตว์อื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา เพราะในขณะบุคลที่กำลังเมตตาก็คือบุคคลนั้นกำลังมีเมตตาจิตซึ่งเป็นกุศลจิตเกิดอยู่ เพราะฉะนั้นก็คือเป็นผู้ที่มีเมตตา และก็เมตตากับคนอื่น ก็คือเป็นมิตร เป็นเพื่อนกับบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นการที่จะใช้คำว่าเมตตาตัวเอง คิดว่าคงจะใช้ไม่ได้ แต่ถ้าจะใช้ว่าบุคคลนั้นกำลังมีเมตตากับสัตว์อื่นหรือบุคคลอื่นหรือกรุณาบุคคลอื่น อย่างนี้คิดว่าจะถูกต้องกว่า
ท่านอาจารย์ และถ้าจะพิจารณาโดยละเอียดที่จะกล่าวว่าเมตตาในตนก่อนความจริงไม่ใช่ ข้อความว่า “มีตนเป็นพยาน” หมายความว่าเรารักสุข คนอื่นก็รักสุข เราเกลียดทุกข์ คนอื่นก็เกลียดทุกข์ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจว่าเหมือนกัน เราก็จะมีความเมตตาในบุคคลอื่นได้ ว่าเขาเองก็ต้องรักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน ทำไมเราจะไปเพิ่มทุกข์ให้เขา
อ.ธิดารัตน์ และถ้าเป็นการพิจารณาที่จะให้เมตตาเกิด ควรจะปรารภตนเอง และปรารภผู้อื่น
ท่านอาจารย์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีเมตตาต่อตนเอง แล้วอย่างที่ผู้ถามกล่าวเมื่อสักครู่นี้ก็น่าจะพิจารณาให้ละเอียดขึ้น เช่นเข้าใจว่าเวลาที่เกิดโกรธคนอื่น ไม่เมตตา ก็กลับมาคิดถึงตัวเองว่าถ้าเราสะสมความโกรธนี้ เราก็จะมีมาก นี่ไม่ได้คิดถึงคนอื่น คิดถึงตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าเมตตาจริงๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ไม่ใช่เพื่อเรา จะได้ไม่สะสม หรือว่าเพื่อเราจะได้เป็นคนดี แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นเพื่อคนอื่น เมตตาบุคคลอื่น ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข ปรารถนาให้เขาพ้นจากทุกข์ ยินดีด้วยในความเจริญของเขา ในสิ่งที่ดีที่เขาได้ และมีความเป็นอุเบกขาคือไม่หวั่นไหวถ้าไม่สามารถที่จะเป็นไปในเมตตากรุณา ก็คือว่าสัตว์ทั้งหลายก็ต้องเป็นไปตามกรรม แต่ว่าไม่ได้เพื่อตัวเรา ต้องเป็นสัตว์บุคคล
ผู้ฟัง การเจริญฌาณ ขณะที่อยู่ในฌาณก็คือข่มกิเลส ข่มนิวรณ์ได้ ในขณะซึ่งข่มนิวรณ์ได้ ก็จะเข้าใจว่าเพื่อตัวเองอีก ไม่ใช่เพื่อคนอื่นเหมือนกันหรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวกัน เพราะเหตุว่ากุศลจิตต้องมีอารมณ์ เช่นเดียวกับจิตทั้งหลายต้องมีอารมณ์ แต่อารมณ์ของกุศลจิตที่เป็นเมตตาโดยมีสัตว์บุคคลอื่น เจริญพรหมวิหาร หมายความว่ามีบุคคลอื่น และก็มีเมตตาต่อบุคคลนั้นๆ เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่าเราจะไปนั่งเจริญเมตตาพรหมวิหาร โดยที่ชีวิตประจำวันของเราไม่ได้มีเมตตาเพิ่มขึ้นเลย เพราะว่าจริงๆ แล้วเมตตาเป็นสภาพของจิตที่เป็นกุศล มากหรือน้อยใครรู้ ไม่ใช่ว่าเรารักตัวแล้วก็อยากจะมีกุศลมากๆ นั้นไม่ใช่ แต่ขณะใดที่มีความหวังดีกับบุคคลอื่น หวังดีจริงๆ เช่นที่สนทนาเรื่องของท่านเศรษฐีท่านก็มีความเชื่อเรื่องมงคลตื่นข่าว ท่านก็ไม่อยากจะให้คนอื่นแม้เป็นคนอื่นก็ไม่อยากจะให้เขาได้สิ่งที่ไม่ดี นี่คือเมตตาต่อบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นความเมตตาของเราๆ รู้ว่าจริงๆ แล้วเราเมตตาได้แค่ไหน เอาคนที่ใกล้ชิด เราเมตตาหรือรัก แค่นี้ก็จะลำบากแล้วใช่ไหม ที่จะแยกเมตตากับรัก เพราะเหตุว่ารักนี่เป็นความติดข้อง หวังดีด้วยความรัก รักด้วยความติดข้อง แต่จริงๆ รักหรือว่าเมตตา ถ้าเมตตาก็คือว่าขณะนั้นเสมอกัน จริงๆ รู้ว่าขณะใดเป็นความรักที่ติดข้องในบุคคลที่เราติดข้อง และขณะใดเป็นความเมตตาแม้ในบุคคลที่เราติดข้อง ไม่อย่างนั้นก็แยกไม่ออกระหว่างรักกับเมตตา คนที่อยู่ด้วยกัน พ่อแม่ พี่น้อง บุตร หลาน สามี ภรรยา ก็จะต้องมีขณะจิตที่ต่างกันเป็นอกุศล และเป็นกุศล คงจะไม่มีใครที่ไม่โกรธคนที่รัก แต่เวลาที่โกรธคนที่รัก ขณะนั้นมีเมตตาหรือไม่ ถ้าไม่รักไม่โกรธ แต่ถ้าเมตตาแล้วไม่โกรธ นี่เป็นความที่ต่างกัน
เพราะฉะนั้นกุศลกับอกุศลเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่ว่าใครบอกให้เราเจริญเมตตาก็เจริญ ใครบอกเมตตาตนก็เมตตาตัวเองใหญ่โดยไม่รู้ว่าเมตตาตัวเองขณะไหน เมตตาจริงๆ เมตตาตัวเองขณะไหน หรือว่ารักตัวเอง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของความรู้ ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญกุศลจิตขั้นภาวนาต้องด้วยปัญญา และสติสัมปชัญญะ ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะก็เจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ได้อยู่ที่ท่อง แต่อยู่ที่สภาพจิต เราจะมีความรู้ว่าคนในบ้านมาก่อนเพราะว่าใกล้ชิด ใช่ไหม เรารักหรือเมตตาต้องแยกขณะจิตก่อน และต้องรู้ว่าศัตรูใกล้ของเมตตาก็คือโลภะ เหมือนเมตตาใกล้ชิดมากแต่ความจริงเป็นความติดข้อง ถ้าเมตตาจริงๆ ต้องเสมอกันไม่ว่าบุคคลจะเป็นที่รักหรือที่ชัง และก็จากบุคคลในบ้านใกล้ชิด บุตรหลาน ญาติพี่น้อง คนที่อยู่ร่วมบ้าน ผู้ที่ช่วยเหลือกิจการในบ้าน เราเมตตาเขาแค่ไหน ถึงจะไปแผ่ออกไปตั้งแสนไกล กายของเราหรือวาจาของเราที่มีต่อเขาด้วยเมตตาแค่ไหน ระดับไหน กาลไหน มากขึ้นหรือน้อยลง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่เพิ่มขึ้น แล้วเราจะไปเมตตาใครที่ไหนทั่วสารทิศถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ความจริงใจด้วย เป็นแต่เพียงอยากจะได้กุศล และก็ไม่รู้ว่ากุศลคืออะไรเมื่อไร ก็ทำทุกสิ่งด้วยความต้องการ
เพราะฉะนั้น เราจะไม่รู้เลยว่าโลภะทำให้เรามีความเข้าใจผิด ความเห็นผิด ความไม่รู้ เพราะเหตุว่ามีความติดข้องมากมายมหาศาล ทุกอย่างที่ทำไปด้วยโลภะที่จะอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ แต่ขณะใดที่มีปัญญาเห็นโลภะตามความเป็นจริง เมื่อนั้นก็จะคลายโลภะได้ แต่ถ้ายังไม่เห็นโลภะ อย่างคนที่ทำกุศลก็เคลิบเคลิ้มหวังผลของกุศล ขณะนั้นจะละสังสารวัฏฏ์ได้ไหมเพราะเหตุว่ากุศลอย่างนี้จะทำให้เกิดในชั้นไหน ชั้นดาวดึงส์มีสวนนันทวัน ชั้นดุสิตมีผู้ที่มีปัญญาอะไรต่างๆ นี่ก็เป็นเรื่องที่มีความละเอียด ถ้าไม่เห็นโลภะ ไม่สามารถที่จะละโลภะได้ และถ้าละโลภะไม่ได้ก็ไม่สิ้นสุดสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าโลภะที่มีอยู่เป็นประจำจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เห็นผิดด้วยแรงหรือด้วยกำลังของโลภะนั่นเอง ด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเห็นถูก
ผู้ฟัง พระโพธิสัตว์ อยู่ด้วยพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาใช่ไหม
อ.อรรณพ ก็ต้องเข้าใจพรหมวิหารก่อน วิหารก็คือเครื่องอยู่ ธรรมที่เป็นเครื่องอยู่อันประเสริฐหรือของพรหม พรหมก็คือผู้ประเสริฐ ธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของผู้ประเสริฐ มีอยู่ ๔ ประการก็คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือผู้ที่มีอัธยาศัยที่เป็นกุศล ที่จะมีเมตตาต่อสัตว์ บุคคลอื่น มีกรุณาในสัตว์ บุคคลต่างๆ มีมุทิตาพลอยยินดีกับการได้รับวิบากที่ดีของสัตว์ บุคคลต่างๆ และก็มีความมั่นคงไม่หวั่นไหว เมื่อสัตว์ บุคคลอื่นได้รับเคราะห์กรรมซึ่งเป็นไปตามกรรม เพราะฉะนั้นนี่คือกุศลจิตในชีวิตประจำวันซึ่งมีเล็กๆ น้อยๆ ส่วนผู้ที่จะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขามากขึ้น ก็คือผู้ที่เริ่มสะสมเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในชีวิตประจำวันอย่างนี้ตามความเป็นจริงก่อนจนกว่าที่จะมีกำลัง
ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันของคนปัจจุบันสามารถจะเจริญปัญญาจนถึงขั้นฌาณได้ไหม
ท่านอาจารย์ ฌาณคืออะไร
ผู้ฟัง ฌาณเป็นเครื่องเผากิเลส
ท่านอาจารย์ ฌาณคืออะไร ถ้ายังไม่รู้แล้วจะเจริญได้ไหม ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าได้หรือไม่เพราะเจริญไปแล้วก็ไม่รู้ว่าฌาณคืออะไร
ผู้ฟัง เป็นความสงบ สงบอย่างแนบแน่น
ท่านอาจารย์ ระดับไหน
ผู้ฟัง สงบมาก ถ้าอย่างนั้นในชีวิตประจำวันไม่น่าจะเจริญฌาณได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคลได้ไหม ในครั้งอดีตกับในครั้งนี้ต่างกันมาก เพราะฉะนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย สำหรับเมตตา พรหมวิหารยังไม่ต้องถึงฌาณ เจริญคืออย่างไร
ผู้ฟัง เจริญก็คือสะสมให้มากขึ้น
ท่านอาจารย์ เมื่อไร
ผู้ฟัง เมื่อมีสภาพธรรมปรากฏ
ท่านอาจารย์ เช่น
ผู้ฟัง เช่น เมื่อมีผู้ที่เขาไม่มีความสุข คือมีความหวังดีอยากให้เขามีความสุข
ท่านอาจารย์ ต่อใคร
ผู้ฟัง ต่อสัตว์ ต่อบุคคล
ท่านอาจารย์ งูเห่า ได้ไหม
ผู้ฟัง ต้องมีปัญญา ไม่เช่นนั้นมีโทษ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าต้องเจริญ ต้องอบรม และเป็นเรื่องของใจของเราที่จะรู้ว่าเมตตาคืออย่างไร มีความเป็นมิตร ไม่ใช่มีความเป็นพิษ เมตตาแมงป่องได้ไหม งู มด ทุกอย่างที่มีชีวิต มีเมตตาคืออย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตา ก็จะรู้ลักษณะของเมตตา และก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเมตตาอะไร ไม่เมตตาอะไร สัตว์ชนิดไหน คนชนิดไหนด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าเมตตาแม้ในชีวิตประจำวันเจริญขึ้นแค่ไหนก่อนที่จะกล่าวถึงฌาณจิต
ผู้ฟัง เมตตาคนพาล ได้ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าจะเจริญก็คือต้องมีเมตตาคือเป็นมิตร หวังดี ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน แต่ไม่ใช่เป็นไปกับคนพาล
ผู้ฟัง ไม่คลุกคลี ต้องอยู่ห่างใช่ไหม
สภาพของโทสะ จากที่ได้เรียนมาก็ทราบว่ามัจฉริยะที่เกิดกับโทสะ
ท่านอาจารย์ โทสเจตสิกกับมัจฉริยเจตสิก ต่างกัน
ผู้ฟัง แต่ลักษณะของมัจฉริยะ เวลาเกิดขึ้นครั้งใดมีความรู้สึกว่ามีความติดข้อง ก็มีความรู้สึกสับสน คิดว่าเกิดกับโลภะอยู่เรื่อย
ท่านอาจารย์ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ขณะที่ติดข้อง ความรู้สึกจะเป็นอย่างไร ต้องรู้ถึงเวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ขณะที่กำลังติดข้อง มีความพอใจในสิ่งที่กำลังติดข้อง แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นอุเบกขาหรือโสมนัสเวทนา แต่เวลาที่มัจฉริยะเกิดรู้สึกพอใจหรือไม่
ผู้ฟัง มีหวงแหน
ท่านอาจารย์ ไม่พอใจ ใช่ไหมขณะนั้น เวลามีมัจฉริยะความตระหนี่ หวงแหน เพราะเหตุว่าไม่ต้องการให้สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจสาธารณะกับบุคคลอื่น อยากจะให้เป็นของเราเท่านั้น ขณะที่ติดข้องเป็นลักษณะของโลภะ แต่ขณะที่ไม่ต้องการจะให้สิ่งของนั้นเป็นของบุคคลอื่นหรือว่าสาธารณะกับคนอื่น แบ่งปันร่วมกันกับบุคคลอื่น สังเกตได้จากเวทนาความรู้สึกว่าขณะนั้นไม่ปกติ ขณะนั้นต้องเป็นโทมนัสเวทนา และความรู้สึกขณะนั้นก็ไม่สบายใจ และก็มีโทสะเกิดร่วมด้วยคือปฏิฆะตรงกันข้ามกับโลภะ เพราะฉะนั้นมัจฉริยะก็เกิดกับโทสมูลจิต
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180