พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
ตอนที่ ๑๒๔
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ การศึกษาไม่ใช่ตัวหนังสือ แต่ศึกษาแล้วให้เข้าใจว่ากำลังศึกษาสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะพูดเรื่องโลภมูลจิต มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย เกิดร่วมกับอุเบกขาหรือว่าเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนามีกำลังมากหรือว่ามีกำลังน้อย
ผู้ฟัง จะกล่าวได้ไหมว่าท่านอาจารย์จะกล่าวอย่างไรก็คงไม่มีทางรู้ได้เด็ดขาดเพราะว่าเราไม่เคยประจักษ์จนกว่าจะบรรลุเป็นพระโสดาบัน
ท่านอาจารย์ แล้วก็จะเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจเพียงปริยัติเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้อบรมจนสามารถประจักษ์แจ้งความจริงตามที่ทรงแสดง จนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นสมุทเฉท นี่คือประโยชน์ของการศึกษา หรือการฟังพระธรรมในแต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าเป็นเรื่องราวที่เราจำไว้ทั้งนั้นเลยชาติหน้าก็ลืม ไม่ต้องชาติหน้า ลองไปหยิบพระไตรปิฎกหรือว่าจะส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ เช่น ปฏิสัมภิทามรรค อ่านไปสักสองสามหน้า พอวางลงไปจำได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะความเข้าใจของเราถึงความเข้าใจนั้นหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้เห็นถึงความต่างของพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลยกับผู้ที่เริ่มฟัง ผู้ที่เริ่มฟังค่อยๆ มีความเข้าใจขึ้น แต่ต้องไม่ประมาท ต้องรู้จุดประสงค์จริงๆ ว่า ฟังเพื่อเข้าใจเพื่ออบรมความเห็นถูกให้เป็นสัจจญาณที่มั่นคง ที่จะไม่ไปหาทางอื่นนอกจากรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ การฟัง ฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ การเข้าใจ เข้าใจเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นขั้นปริยัติ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ลักษณะ ซึ่งสิ่งที่กำลังปรากฏมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างไม่ปะปนกันเลย ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นเจตสิก ไม่ว่าจะเป็นรูป
อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์หมายถึงว่าถ้าเป็นสักกายทิฏฐิจะยึดถือในขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นลักษณะของปรมัตถธรรม
ท่านอาจารย์ มีสภาพธรรมปรากฏแล้วก็มีการยึดถือลักษณะนั้นว่าเป็นเรา
อ.ธิดารัตน์ ซึ่งถ้าเป็นมานะ ความสำคัญตนก็จะมีเรื่องราว
ท่านอาจารย์ มานะก็มีลักษณะของมานะได้ สภาพธรรมทั้งหมดเป็นแต่ละลักษณะ เกิดขึ้นทำกิจการงานหน้าที่ของสภาพธรรมนั้น แต่เพราะความไม่รู้ และก็มีการฟังเพียงเรื่องราว ก็เลยไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นมานะ ขณะไหนเป็นทิฏฐิ ขณะไหนไม่มีมานะ ไม่มีทิฏฐิ แต่เรียนไว้หมดเลย แต่ตัวจริงๆ ไม่รู้จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด
เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวว่าเวลาที่เราได้ยินคำว่า “โอฆะ” มีไหมคำนี้ในพระไตรปิฎก ห้วงน้ำเป็นกิเลส โอฆะ ๔ อะไรบ้าง ตอบได้โดยชื่อใช่ไหม กามโอฆะ เราอยู่ในกามโอฆะหรือไม่ แวดล้อมไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และก็ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือไม่ เป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ก็ไม่รู้ใช่ไหม ทิฏโฐฆะ อยู่ในห้วงน้ำของความเห็นผิดเมื่อเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่เกิดก็กามโอฆะใช่ไหม มากมาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เราได้ยินได้ฟังว่าลักษณะจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ถ้าบอกว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางโอฆะจริงหรือไม่ เห็นแล้วไม่รู้ความจริง ทะเลภาพทางตา จะเข้าใจความหมายของเกาะไหม ว่าสติปัฏฐานเป็นเกาะ ขณะนั้นมีลักษณะปรากฏให้รู้ว่าไม่ใช่เรื่องราว เป็นลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ สามารถที่จะรู้ว่าต้องเกิดจึงปรากฏ และถ้าเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ก็ประจักษ์การเกิดดับ ก็จะค่อยๆ ถ่ายถอนละคลายความเป็นเราจนกว่าสามารถที่จะดับได้เป็นสมุทเฉท
เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงก็คือให้เราเข้าใจจริงๆ ว่าเรากำลังอยู่ตรงไหน และเรามีความรู้ระดับไหน และหนทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์คือรู้จริงๆ ได้คืออย่างไร มิฉะนั้นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นโมฆะ ถ้าเราไม่อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ก็เท่ากับว่าฟังไปเฉยๆ ใช่ไหม แต่ว่าจริงๆ แล้วปัญญามีหลายขั้น สุตมยญาณ ปัญญาที่สำเร็จจากการฟังก็จะทำให้มีสีลมยญาณ กาย วาจาของเราก็จะเป็นไปในทางกุศลขึ้น เพราะรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล นี่คือผลที่เกิดจากการเข้าใจธรรม แต่ถ้ายังไม่รู้เหมือนเดิม ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเดิม อะไรก็เหมือนเดิม จะว่าเราเข้าใจธรรมไหม เข้าใจเรื่องราวแต่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม ไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้เห็นโทษจริงๆ ของสภาพธรรมที่เป็นอกุศล แต่ว่าถ้าฟังแล้วมีความเข้าใจจริงๆ ปัญญาซึ่งเป็นสังขารขันธ์ด้วยก็จะปรุงแต่งจนกระทั่งกุศลจิตก็เกิดเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ที่เราฟังกันมา ท่านอาจารย์บอกให้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งตามความเข้าใจของตัวเอง การระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นปัญญาอย่างเราๆ ที่กำลังฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็เป็นปัญญาขั้นการฟัง ซึ่งจากนี้ไปสู่การสังเกตสภาพธรรม คือก่อนที่จะไปรู้ต้องสังเกต แม้การสังเกตก็ยากมากใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่รู้ตามความเป็นจริงว่าคิดก็มี ขณะที่ฟังมีคิดด้วยแน่ๆ ไม่ใช่มีแต่ได้ยินอย่างเดียว แล้วถึงแม้ไม่ได้ฟังยังคิดก็ได้ แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา ลักษณะของสภาพธรรมจะรู้ได้ขณะนั้นโดยสติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่เราจะจงใจตอนนี้จะรู้หรือจะสังเกตหรือจะทำ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นก็จะต้องรู้ขณะที่สติเกิด เมื่อสติเกิดแล้วขณะนั้นรู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่สติไม่เกิด
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะที่สังเกตก็ยังเป็นขั้นคิดนึกอยู่ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างจะต้องรู้ด้วยตัวเอง จะต้องมีการเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม ถูกต้องขึ้น
ผู้ฟัง สิ่งนี้ก็จำเป็นด้วย ในขณะที่เรายังไม่เป็นพระโสดาบัน ทิฏฐานุสัยยังนอนเนื่องอยู่ เพราะฉะนั้นยังมีทางที่จะไปเป็นความเห็นผิดได้ สุดท้ายคือสักกายทิฏฐิ แต่ว่าเขาไม่ได้เกิดในขณะจิตนั้น ขณะจิตที่รีบทำงานคือโลภะ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าเราทำด้วยความติดข้องเนื่องจากมีทิฏฐานุสัยเป็นพื้นอยู่
ท่านอาจารย์ เวลากล่าวถึงอนุสัยกิเลส ผู้ที่ไม่มีก็คือพระอริยบุคคล และดับอนุสัยกิเลสไปตามลำดับขั้น แต่อนุสัยกิเลสในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดก็มี แต่ตัวทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานของทิฏฐิเจตสิก เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้แม้ขณะที่เป็นกุศล กำลังฟัง ก็ยังไม่ได้ดับอนุสัยกิเลสจนกว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล แต่ว่าการฟังอย่าคิดว่าไร้ผล ฟังแล้วก็มีความเข้าใจขึ้น แล้วความคิดของเราที่แต่ก่อนเคยคิดเรื่องวงศาขณาญาติ เรื่องไปเที่ยว เรื่องการงาน ก็จะมีปัจจัยทำให้คิดธรรมขึ้น เมื่อไรก็ได้โดยที่ไม่ได้ต้องเตรียมตัวมาก่อนเลย ก็อาจจะคิดเรื่องของธรรมแล้วก็จะค่อยๆ ปรุงแต่งจนกระทั่งฟังไปก็จะรู้ว่าขณะนี้สติสัมปชัญญะก็คือปกติธรรมดา แต่กำลังรู้ตรงลักษณะหนึ่งลักษณะใดของสภาพธรรม ไม่มีการตื่นเต้นหวั่นไหวหรือคิดว่าเกิดแล้ว หรือไม่เกิด หรืออะไร
เพราะเหตุว่าหนทางของพระธรรมก็คือว่าเป็นไปเพื่อการละ ถ้าติดข้องเมื่อไร ใคร มาแล้วรวดเร็ว เป็นลูกศิษย์เป็นอาจารย์กันต่อไปอีกของโลภะ
ผู้ฟัง ดิฉันสนใจอยากเข้าใจให้ลึกๆ ตรงที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าทะเลภาพกับทะเลชื่อ เพราะคิดว่าทั้งทะเลภาพกับทะเลชื่ออยู่ในสภาพของเรื่องของความคิดนึกใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เอง เห็นหนึ่งขณะทางปัญจทวารวิถีดับแล้ว ภวังค์คั่นอยู่ แล้วก็มโนทวารวิถีรับรู้ต่อ แล้วก็ยังรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร นี่คือรวดเร็วเหลือเกินเป็นไปตลอดเวลาตราบใดที่ยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ถ้ารู้ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเหมือนฟ้าแลบ สั้นขนาดนั้น นอกจากนั้นก็คือคิด แล้วก็มีฟ้าแลบอีกทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แลบจริงๆ เพราะเกิดแล้วดับเร็วมากเหลือแต่นิมิตคือสิ่งที่ปรากฏเหมือนยังอยู่
ผู้ฟัง ทะเลชื่อ หมายความว่าขณะนั้นภาพหรืออะไรต่างๆ ไม่ปรากฏ แต่มันเป็นเรื่องราวที่คิดถึง คนนั้นว่าเราตั้งแต่เมื่อวาน นั่นเป็นทะเลชื่อใช่หรือไม่ที่คิดถึงคำ
ท่านอาจารย์ ชื่อเป็นคำหรือไม่
ผู้ฟัง ชื่อเป็นคำ ตรงนี้ เพราะฉะนั้นละเอียดมากที่อาจารย์พูดถึงทะเลชื่อกับทะเลภาพ เพราะว่าเป็นในชีวิตประจำวัน และก็ทำให้เราเข้าไปคิดถึงว่า ขณะนั้นสภาพคิดเป็นไปในลักษณะใด คือกว้างออกไป และในที่สุดก็เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ คือการให้รู้ตามความเป็นจริงว่าความไม่รู้ในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นความรู้ที่เกิดกว่าจะได้รู้จริงๆ ก็ต้องอาศัยกาลเวลาจริงๆ ไม่ใช่ว่าด้วยความเป็นเรา ด้วยความจงใจ ด้วยความต้องการไปพยายามทำเมื่อไรก็คือผิดเมื่อนั้น
ผู้ฟัง พระอริยบุคคลท่านสมาทานธุดงควัตร ท่านก็ตั้งใจเจตนาว่าจะทำอย่างนี้ ฉันครั้งเดียว จะนอนกลางดิน กินกลางทราย ท่านก็มีความรู้สึกเหมือนกับเป็นตัวตน สภาพจิตของท่านกับเราคงจะต่างกันใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด เป็นหนทางที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดแล้วจะเห็นการสะสมของแต่ละคน ไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ทั้งหลาย อย่างท่านพระมหากัสสปะ ท่านก็เป็นเอตทัคคะในทางธุดงค์ เพราะอัธยาศัยที่ท่านสะสมมาที่จะไม่เป็นอย่างท่านพระสารีบุตรหรือท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ผู้ฟัง แต่ท่านก็ต้องตั้งใจเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ตั้งใจของผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ไม่ได้รู้เลยว่าไม่ใช่เรา แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลไม่มีเราแต่มีธรรม ความตั้งใจนี้มีแน่นอน เป็นเจตนาเจตสิก ไม่ต้องใช้ชื่อก็ได้ในภาษาบาลี เพราะลักษณะนั้นเป็นสภาพที่จงใจตั้งใจ จะใช้คำอะไรก็แล้วแต่ แต่ให้เข้าถึงลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกขณะ เห็นความละเอียดหรือไม่ เราไม่สามารถที่จะรู้เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณขณะนี้ เป็นสภาพที่ขวนขวายทำกิจกระตุ้นสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกัน นี่คือหน้าที่ของเจตนา แต่ว่าเวลาเป็นเรา เราตั้งใจ เราขยัน เราจะทำเพราะความไม่รู้ แต่ผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรมนี้รู้ว่าขณะนั้นก็ไม่ใช่เราตามการสะสมที่จะคิดอย่างไร ทุกคนขาดความคิดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่พระอริยบุคคล เป็นพระเสกขะ เป็นพระโสดาบัน จนถึงพระอนาคามี หรือว่าเป็นพระอเสกขะ ก็คิด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงคิดด้วย ไม่ใช่ไม่คิด ไม่มีใครที่ไม่คิด และก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้คิดเกิดขึ้นต่างๆ กันด้วย คนที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลก็คิด พระอริยบุคคลก็คิด แต่คนที่เป็นพระอริยบุคคลไม่มีความเห็นผิด คิดเหมือนกัน ค้าขายเหมือนกัน ทำธุรกิจเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
ผู้ฟัง ภิกษุบุคคลธรรมดาที่ยังไม่เป็นพระอริยะ ถ้าท่านไปสมาทานว่าอยากจะสมาทานธุดงค์ คือตั้งใจจะฉันมื้อเดียว จะห่มผ้าสามผืน กับพระอริยบุคคล สภาพจิตของท่านทั้งสองก็ต่างกันใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน อนุสัยยังไม่ได้ดับเลย ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลดับอนุสัย ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดอกุศลประเภทที่ได้ดับแล้ว
ผู้ฟัง คำว่า “ตั้งใจ” ของบุคคลธรรมดากับพระอริยบุคคล สภาพจิตต่างกันใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เปลี่ยนสภาพของเจตสิกไม่ได้ เปลี่ยนสภาพของจิตไม่ได้
ผู้ฟัง ขณะที่สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลระดับไหน
ท่านอาจารย์ เริ่มสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพธรรมใดเกิดปรากฏ
ผู้ฟัง ปัญญาจะมีความสามารถได้หรือ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีก็ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ไม่มีพระอริยบุคคลซึ่งเป็นสาวก
ผู้ฟัง ผมก็ไปเทียบกับมหาสติปัฏฐานสูตร ระดับไหนถึงจะรู้ทิฏฐิเจตสิกได้ นึกไม่ออกเลยว่าอยู่ตรงไหน
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเริ่มว่าทิฏฐิเป็นนามธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง ทิฏฐิเป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นขันธ์หรือไม่
ผู้ฟัง เป็นขันธ์
ท่านอาจารย์ เป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง สังขารขันธ์
ท่านอาจารย์ เป็นสังขารขันธ์ รู้ได้ไหมสังขารขันธ์ หรือรู้ไม่ได้
ผู้ฟัง รู้ยาก อย่างที่อาจารย์เคยบอก แม้แต่สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ก็รู้ยาก
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างรู้ยาก
ผู้ฟัง แม้แต่สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ก็รู้ยาก
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้ไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ รู้สิ่งที่ปรากฏเสียก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ใช่ปัญญาระดับนั้นก็อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ
ผู้ฟัง ที่อาจารย์เคยบอกบ่อยๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏก็เป็นโคจรรูป ๗ มี สี เสียง กลิ่น รส เย็น ฯ
ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกจะกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ควรรู้
ผู้ฟัง ก็ต้องปรุงต่อไปใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ก็อบรม อย่าท้อถอย หนทางนี้มีจริงๆ รู้ได้จริงๆ แต่ต้องอาศัยกาลเวลา
อ.ธิดารัตน์ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด สภาพธรรมซึ่งยึดรูปหรือจะเป็นเวทนา สัญญาต่างๆ ว่าเป็นตัวตน แต่เมื่อสติระลึกรู้ก็จะละความเป็นตัวตนนั้น ทำให้เริ่มเข้าใจสักกายทิฏฐิได้ดีขึ้นในลักษณะนี้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็น เห็นใครมากมาย ใช่ไหม แล้วเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือยัง นี่คือเริ่ม จะค่อยๆ มีความมั่นคง ฟังธรรมมาแล้วว่า รูปก็มีตั้ง ๒๘ แล้วก็รูปเดียวที่จะปรากฏทางตาได้ก็ขณะนี้ และจะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อกระทบกับจักขุปสาทด้วย ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาทก็ไม่มีทางที่จะปรากฏได้ แม้ว่ารูปนี้มี คนตาบอดไม่มีทางที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย แต่คนที่มีจักขุปสาทถ้านอนหลับก็ไม่ปรากฏอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนี้ปรากฏทางตาในขณะนี้ แล้วเข้าใจอย่างนี้หรือไม่ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นธาตุเป็นสิ่งที่มีจริงเปลี่ยนลักษณะไม่ได้ จะเปลี่ยนสิ่งที่ปรากฏทางตานี้ให้เป็นหอมหรือให้เป็นเปรี้ยวไม่ได้ ลักษณะนี้ก็คือปรากฏทางตา ปรากฏเมื่อไร ชาติก่อนแสนโกฏิกัปป์ บนสวรรค์หรือรูปพรหมหรือที่ไหนก็ตาม สิ่งนี้ก็จะปรากฏอย่างนี้ คือเป็นเพียงสิ่งที่แค่ปรากฏว่าเป็นอย่างนี้ นี่คือการเข้าใจความจริง ถ้าตราบใดที่เรายังไม่ได้ฟังบ่อยๆ ไม่ได้ระลึกบ่อยๆ ค่อยๆ ที่จะน้อมไปตามความจริงคือแค่นี้เอง คือเพียงแค่เห็นชั่วขณะที่เห็นด้วย ถ้าเป็นขณะอื่นนี่ก็ไม่ปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ว่าการที่เราเคยจดจำสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็นำมาซึ่งความคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวเป็นเหตุการณ์ของโลกเป็นทวีปต่างๆ เป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย จากสิ่งที่ปรากฏซึ่งเหมือนฟ้าแลบ ปรากฏแล้วดับไป แต่ว่าเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปจำเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นโลก อย่างนั้นก็เป็นเรื่องราวของสมมติบัญญัติ แต่ว่าถ้าเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือก็เป็นทิฏฐิวิปลาส เพราะฉะนั้นธรรมก็ต้องละเอียด แต่ให้รู้ว่าเมื่อไรก็ตามเช่นในขณะที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วเห็น คือในขณะนี้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ถ้าทำอย่างอื่นไม่มีวันที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งปรากฏทุกชาติ
เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้จะอยู่ที่ไหนก็ตาม ในขณะที่ได้ฟังพระธรรม เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แม้นานๆ จะครั้งหนึ่ง ก็จะเกิดความเข้าใจว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นความห่างของสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจากการฟัง ฟังหลายเดือน หลายวัน หลายปี ซ้ำไปเรื่องนี้ ฟังไปเท่าไร ยังไม่มีการน้อมไปอย่างนี้ แต่วันหนึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา
แล้วถ้าเป็นสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่เราจะทำ ไม่ใช่เราจงใจจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง เช่น ในขณะนี้เห็น แล้วก็ได้ยิน เราไม่ได้ไปบังคับไม่ให้ไม่ได้ยิน แต่เมื่อมีเห็นมีได้ยินก็จะรู้ได้ว่าสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐานกำลังรู้ตรงลักษณะไหน กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ นิดเดียวยับยั้งเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะมีการอบรมที่จะเข้าใจลักษณะของเสียง และก็มีความคิดแทรกคั่นก็จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่าความคิดก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง นี่คือการสามารถที่จะเห็นธรรมถึงปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่กำลังฟังทีละอย่าง ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น
อ.ธิดารัตน์ ในขณะที่เห็นจะมีการยึดทั้งรูปธรรม และก็นามธรรม ก็คืออย่างเช่นจิตที่เห็น เราเห็น จะเข้าใจได้อย่างไรว่าขณะไหนเรายึดรูปธรรมว่าเป็นตัวตนหรือว่ายึดในลักษณะของจิตเห็นซึ่งเป็นสภาพรู้
ท่านอาจารย์ จะเข้าใจเวลาที่การยึดถือเกิดหรือว่าการยึดถือไม่ได้เกิด ขณะนี้เห็นแล้วชอบสิ่งที่ปรากฏ ไม่ได้คิดเรื่องเห็น ไม่ได้ไปยึดเรื่องเห็นอะไรทั้งสิ้น แต่กำลังชอบสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นอะไรจะทำให้เรารู้ได้ว่าไม่ใช่เรา ลักษณะของความพอใจ และถ้าไม่รู้แล้วเราจะไปหาสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะก็คือรู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ไปฟังมาแล้วก็จะไปรู้สิ่งอื่นซึ่งไม่ได้ปรากฏในขณะนั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็นชอบหรือไม่ แค่ชอบยังไม่รู้เลย ทั้งๆ ที่กำลังชอบอยู่ใช่ไหม แล้วเราจะรู้อะไร ขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นเกิดร่วมกับโลภะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นอุเบกขาหรือโสมนัสก็เป็นจิตขณะหนึ่ง จัดว่าเป็นประเภทหนึ่งได้ เพราะว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ต่างกับขณะที่ไม่ได้มีโสมนัสเกิดร่วมด้วย ต่างกับขณะที่ไม่มีกำลัง ขณะนี้มีทิฏฐิหรือไม่ แล้วขณะนั้นเวทนาความรู้สึกเป็นอย่างไร มีกำลังหรือไม่ ก็คือสามารถที่จะเข้าใจได้แทนที่จะไปคิดถึงชื่อก่อน
อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวว่าโดยสภาพของอกุศลธรรมเป็นสภาพธรรมที่ไม่งาม เพราะฉะนั้นปุถุชนก็จะมีความวิปลาสได้ สำคัญว่าอกุศลเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าโดยเฉพาะที่เป็นพระอริยบุคคล เช่น พระโสดาบันท่านก็ดับวิปลาสในวัตถุทั้ง ๔ ได้หมดแต่ยังมีความวิปลาสที่เป็นจิตตวิปลาส และสัญญาวิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ฉะนั้นการรู้ที่ปัญญาต้องอบรมขึ้นไปคือต้องรู้ว่าแม้กุศลธรรมหรือธรรมมีการเกิดขึ้นดับไป นั่นก็คือความไม่งามด้วยใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่ใช่อยู่แค่พระโสดาบัน เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริง แม้ว่าจะไม่มีความเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา แต่ยังมีความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นปัญญาของท่านละเอียดขึ้น และเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ไม่มีการที่จะไปสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏสำหรับท่าน ก็ละเอียดที่จะมีหิริโอตตัปปะที่จะรู้ลักษณะของโลภะอย่างหยาบที่มีอยู่ก็เป็นสิ่งที่ไม่งาม เวลานี้มีปัญจทวาราวัชชนะหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ตอบได้ แต่รู้ลักษณะของปัญจทวาราวัชชนะหรือเปล่า
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180