พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
ตอนที่ ๑๖๑
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ เราไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้ว่าจิตขณะต่อไปจะเป็นอะไร ต่อเมื่อใดเกิดแล้วจึงรู้ว่ามีปัจจัยที่จิตนั้นจะเกิดขึ้น แสดงถึงความเป็นอนัตตาว่าไม่ใช่เรา บังคับบัญชาไม่ได้ สภาพธรรมทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ
ผู้ฟัง เพียงแต่เรารับรู้เฉยๆ
ท่านอาจารย์ ไม่มีเราต่างหาก ที่เป็นเราก็คือจิต เจตสิก ต้องเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นเห็น เป็นได้ยิน เป็นคิดนึก เป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ ไม่มีเราไปทำอะไรเลย ฟังให้เข้าใจว่าไม่มีเรา นี่เป็นความถูกต้องเพราะความจริงไม่ใช่เรา ก็ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เรา และไม่มีเรา
ผู้ฟัง ยังไม่แจ่มชัด ยังไม่เข้าใจชัดเจนถึงจะมีอาการต่างๆ ขึ้นมา
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง
ผู้ฟัง ความสงสารแล้วช่วยเหลือ กับเมตตาแล้วช่วยเหลือ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็ต้องทราบลักษณะของพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต้องต่างกันทั้ง ๔ "เมตตา" คือขณะที่จิตเป็นกุศลที่จะให้ผู้อื่นได้รับความสุข "กรุณา" ก็คือเมื่อบุคคลนั้นมีความทุกข์ เราก็คิดหรือมีความหวังดีที่ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ "มุทิตา" ก็คือเมื่อใครได้ดีมีสุข เราก็ยินดีในกุศลกรรมที่เขาได้ทำมา ที่ทำให้เขาได้รับสิ่งนั้นๆ "อุเบกขา" ก็คือเมื่อเราไม่สามารถที่จะช่วยอะไรได้ ทุกอย่างก็เป็นไปตามกรรม
ผู้ฟัง “สังเวช” จัดอยู่ในประเภทของอกุศลมูลจิตประเภทของโลภะหรือไม่
อ.วิชัย จริงๆ แล้วสังเวช กล่าวถึงว่า เป็นเหตุให้เกิดความเพียร หมายถึงว่า เช่น สังเวชวัตถุ ก็จะมีที่ตั้งแห่งความสลดสังเวช อย่างเช่น อบายภูมิ ชาติ ชรา มรณะ ต่างๆ ก็เป็นเหตุให้เกิดความเพียรในการที่จะอบรมเจริญกุศลต่างๆ เป็นกุศล
ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันที่ต้องพบกัน เราก็ควรที่จะช่วยเหลือเขาหรือไม่
อ.อรรณพ ช่วยเหลือเขาอย่างไร เขาต้องการความช่วยเหลืออย่างไร และเราสามารถจะช่วยเหลือเขาได้แค่ไหน จริงๆ ปัญหาเป็นความคับแค้นใจของเราที่จะเป็นผู้ให้มากกว่า เมตตาน้อยนิด เป็นความคับแค้นใจว่า ทำไมเราตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ เราจะต้องให้หรือไม่ ถ้าไม่ให้เราก็รู้สึกไม่สบายใจ แต่จะให้ก็รู้สึกไม่สบายใจ เป็นความคับแค้นใจ นั่นก็คือสภาพธรรม ที่เราสนทนากันหลายสัปดาห์ โทสเจตสิก ซึ่งไม่ใช่เรา ได้เหตุปัจจัยที่เกิด ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอนาคามีก็ฟังธรรมต่อไป เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาว่าเราควรจะให้หรือไม่ และเรามีกำลังให้เขาได้แค่ไหน และให้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเขาจริงๆ
ท่านอาจารย์ เมตตา คือความเป็นเพื่อน ความเป็นเพื่อนคือไม่เป็นศัตรู พร้อมที่จะช่วยเหลือรับฟังความทุกข์ยาก ความเห็น อาจจะให้ความคิดหรือคำแนะนำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นเมตตาไม่ได้เกี่ยวกับการให้เลย บางคนก็อาจจะคิดว่าเมตตาก็คือต้องให้ แต่ความจริง "ให้"เป็นกุศลจิต โดยที่ว่าถ้าเป็นคนที่เห็นประโยชน์จริงๆ ก็จะไม่ให้เพราะกลัว ไม่ให้เพราะรักหรือด้วยอคติใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่ให้เพราะชัง ไม่ใช่ให้เพราะหลง แต่เป็นผู้ที่รู้ประโยชน์ของการให้ว่าที่ให้ไปแล้วจะเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างไร นี่ด้วยความเป็นเพื่อน ถ้าเราไม่เป็นเพื่อนกับเขา เราก็ให้อย่างเดียว เขาจะเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่เขา นั่นคือความไม่เป็นเพื่อน แต่ถ้ามีความเป็นมิตร คือความหวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูลช่วยเหลือในทางความคิดด้วย ในเหตุผล ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อมีเมตตาแล้วจะต้องให้ บางคนก็เห็นสุนัขที่กลางถนน หรือกลางตรอกกลางซอยก็มีเมตตา ในขณะที่มีเมตตาก็หวังที่จะให้สุนัขก็ได้กินอาหารดีๆ อร่อย แต่ขณะนั้นมีโลภะหรือเปล่า เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ที่จะต้องรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ไม่ใช่หมายความว่าการไม่ให้เป็นอกุศล แต่ต้องหมายความว่าให้ด้วยมีเหตุผล และก็เป็นประโยชน์ อย่างนั้นก็จะเป็นเพื่อนที่แท้จริง
ผู้ฟัง ความไม่พอใจในอกุศลจิตของผู้อื่น ซึ่งในชีวิตประจำวัน จะเกิดบ่อยมาก และก็จะเป็นไปได้มาก ยิ่งศึกษาธรรมมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความรู้สึกไม่พอใจในอกุศลจิตของผู้อื่น
ท่านอาจารย์ ก็จะต้องทราบตามความเป็นจริง เรามักจะมีผู้อื่นในความคิด แสดงว่าเรายังไม่ได้เข้าใจในตัวธรรมจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นธรรมจริงๆ จะมีแต่เพียงจิตที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นสิ่งของก็ได้ เป็นบุคคลก็ได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงขณะนั้นเป็นความจำในสิ่งที่เคยจำไว้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เรื่องราวเป็นอย่างนี้ ทำความไม่ดีอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นจิตที่คิดนึก ด้วยอกุศลจิต คือโทสะ การที่เราศึกษาธรรม คือเพื่อที่จะฟังแล้วฟังอีก ให้ทราบว่าที่เราเคยจำไว้ว่าเป็นคน สัตว์ เป็นเรื่องราวต่างๆ แท้ที่จริงแล้วถ้าจิตไม่เกิดคิด เรื่องราวนั้นก็ไม่มี และความคิดของเรามากมาย เราก็จะพิจารณาว่าสิ่งที่เราคิดเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เช่น เวลาที่นอนหลับสนิท ไม่มีเรื่องอะไรเลย อยากจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ คือไม่ต้องมีเรื่อง ไม่ต้องมีอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน นี่คือเรารู้ลักษณะของจิตที่กำลังหลับสนิทเป็นภวังค์ว่าไม่มีใครสักคนเดียว แต่นั่นเป็นภวังคจิต ยังไม่ถึงเป็นสมุทเฉทที่จะไม่มีจริงๆ คือจิต เจตสิกไม่เกิดอีกเลย
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการฟังของเราต้องค่อยๆ ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีอยู่ โดยยังไม่รู้ลักษณะนั้นเลย เพียงแต่ฟังเรื่องราว ขณะที่กำลังคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น ขณะนั้นก็เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นคิด เราไม่รู้ตรงนี้เลย มีแต่ความเป็นเรื่องคนไม่ดี คนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี แล้วเมื่อไรจะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วก็ไม่มีเรา และไม่มีเขา มีแต่สภาพธรรมซึ่งจะต้องอบรมขัดเกลาความไม่รู้ การยึดถือสภาพธรรมนั้นจนกว่าจะประจักษ์จริงๆ ว่าเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ที่กำลังคิด ประโยชน์จริงๆ ของการศึกษาบ่อยๆ เรื่องนั้นเรื่องนี้ในพระไตรปิฎกก็เพื่อให้ถึงความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าแท้ที่จริงแล้วก็เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป
ผู้ฟัง ถ้าอย่างลักษณะนี้ เหมือนกับเราเพิกเฉยกับบุคคลอื่นหรือไม่
ท่านอาจารย์ มีเราเพิกเฉย แต่ขณะที่กำลังเป็นเรากำลังเพิกเฉยไม่ได้รู้ความจริงว่าไม่มีเรา การฟังธรรมไม่ใช่ให้เราเริ่มจะไปวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าทำอย่างนี้จะเป็นกุศล จะเป็นอกุศล นั่นคือ เราเป็น แต่ความจริงจิตมีปัจจัยเกิดแล้วดับ นี่คือฟังจนกว่าจะถึงกาลที่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้เริ่มด้วยการเข้าใจที่ถูกต้อง ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ปะปนกัน ตามความเป็นจริง เช่น ทางตา ตอนนี้ก็อาจจะพูดถึงบ่อยๆ เพราะว่าหลงลืม เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ พยัญชนะที่ใช้คำว่า “รูปารมณ” หรือว่า “รูปารมณ์” หมายความถึง สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา หมายความว่าเมื่อมีจิตเห็น ต้องมีสิ่งนี้ปรากฏจะมีสิ่งอื่นไม่ได้เลย แยกชัดเลย ไม่ได้บอกว่าทางตาเห็นคน แต่สิ่งที่เห็นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นรูปารมณ์ เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏเมื่อมีจิตเห็นเกิดขึ้น นี่คือความจริง เพราะฉะนั้น โลกของความจริงที่กว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น จากการฟัง พิจารณาเข้าใจแต่ละชาติ จนกระทั่งเมื่อกล่าวถึงรูปารมณ์ เราสามารถจะรู้ได้ทันทีว่าหมายถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วปัญญาก็จะอบรมเจริญจนประจักษ์ความจริงซึ่งเกิดแล้วดับ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ สิ่งที่เราเรียนทั้งหมดไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนๆ ก็อาจจะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องนามธรรม รูปธรรม เรื่องสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และชาติหนึ่งๆ ก็สั้นมาก ชาติหน้าก็คงจะได้ยินอีก ก็เป็นเรื่องของการสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูก โดยไม่ใช่มีเรากำลังสะสม แต่ให้ทราบตามความเป็นจริงว่าขณะที่มีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นก็จะค่อยๆ สะสมความเห็นถูกจนกว่าจะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด ซึ่งก็เป็นปกติด้วย
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นธรรมดา เป็นปกติ แต่ว่ามีความรู้ความเห็นถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มิฉะนั้นก็จะมีตัวเรา ถ้าอย่างนั้นเราก็กลายเป็นคนไม่เดือดร้อนอะไร กลายเป็นไม่สนใจในคนอื่น ใครที่แม้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็ยังรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรด้วย ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเรา เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น จะให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็น แล้วก็ไม่ต่อไปถึงว่าสิ่งนั้นปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานอย่างไร เป็นบุคคลใด เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทั้งหมดในชีวิตก็คือจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ค่อยๆ รู้จุดประสงค์ของการฟังว่าเพื่อสะสมความเข้าใจที่จะละความไม่รู้ และก็ละความติดข้อง
ผู้ฟัง ในวันหนึ่งๆ ที่เรานึกคิดถึง หรือว่าคาดหวังในบุคคลอื่น สิ่งนี้ก็คือการคิดนึกของเราเอง
ท่านอาจารย์ แน่นอนๆ เดี๋ยวนี้ไม่มีใช่หรือไม่ เพราะไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้น เรื่องใดที่มีก็คือชั่วขณะที่มีจิตคิดเรื่องนั้นๆ ก็มีในขณะนั้น
ผู้ฟัง แต่เราไม่รู้ตัวเลยว่าขณะนั้นคือเราคิด
ท่านอาจารย์ ต้องฟังพระธรรม ถ้าไม่ฟังพระธรรม ใครจะรู้ และฟังให้เข้าใจจริงๆ ด้วยเพื่อการละ ไม่ใช่เพื่อการต้องการที่จะรู้มากๆ แต่ว่าเพื่อละความไม่รู้ ละความติดข้องไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่เป็นกรรมของเราที่ของจะหายก็คือหายไป แต่เราคิดเสียว่าให้เขาแล้วกัน ถึงแม้เขาจะมีเจตนาก็ให้เขาไป ถ้าเราคิดในแง่นี้ กรรมส่วนที่เขากระทำจะลดลงหรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง จิตไหนทำกรรม ไปลดจิตไหน ที่กรรมได้กระทำไปแล้ว กรรมก็สะสมสืบต่อในจิตนั้น พร้อมที่จะให้ผลเป็นวิบาก ใครจะไปทำอะไรกับจิตอื่นได้ จิตไหนเป็นอย่างไรก็สะสมสืบต่อในจิตนั้น แล้วเวลาของหายต้องการอะไร ต้องการไม่ให้โทมนัส หรือต้องการให้เกิดความคิดว่าเอาไปเถอะ ใครก็ได้ หรือว่าต้องการอะไร การศึกษาพระธรรมต้องเป็นคนตรง ความเสียดาย มีใครห้ามได้ ห้ามไม่ได้ เกิดแล้วปรากฏให้เห็นความเป็นอนัตตา แต่ไม่รู้ เป็นเราเสียดาย เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เป็นธรรมซึ่งไม่รู้ทั้งนั้นเลย ได้แต่ฟังเรื่องราวของธรรมโดยละเอียด เจตสิกประกอบเท่าไร อะไรเท่าไร แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังเกิดขึ้นปรากฏเป็นไป แม้แต่ความเสียดายก็เกิดปรากฏให้รู้ลักษณะที่เสียดายก็เป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าการฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเรื่อง ที่เราไม่รู้มากมาย เป็นชื่อต่างๆ มากมาย แต่ต้องฟังให้รู้จุดประสงค์ว่า ฟังเพื่อให้เข้าถึงว่าความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่าทุกอย่างเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน จะไม่ให้เสียดายก็ไม่ได้ เสียดายก็เกิดแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งเราอาจจะข้ามไป คือไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ เป็นสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอย่างละเอียดเลยในพระไตรปิฎก เพียงฟัง แต่ว่ายังไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น จนกว่าจะรู้ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะเป็นจริงอย่างที่ได้ศึกษามาทั้งหมด แต่ว่าจะต้องมีความเข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่ไปติดเรื่องราว อยากจะทำอย่างนั้น อยากจะให้ไม่เสียดาย อยากจะคิดว่าใครจะเอาไปก็เอาไปให้หมดหรืออะไรอย่างนั้น นั่นคือความคิด แต่จะกีดกั้นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิด ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ปรากฏแล้ว ไม่ใช่หลบหลีกเลี่ยง แต่อาจหาญที่จะรู้ว่านี่คือสิ่งซึ่งไม่รู้ว่าเป็นธรรมประเภทไหน ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นปัญญาไม่ใช่อื่นเลย อบรมความเห็นถูกความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏว่าตรงตามที่ได้ฟังได้ศึกษามามากน้อยแค่ไหน ก็จะค่อยๆ เข้าถึงปฏิปัตติ ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสภาพธรรม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ เป็นของใคร ใครทำให้เกิด ไม่อยากให้เกิดก็ยังเกิดตามเหตุตามปัจจัย เพื่อคลายความเป็นเรา ขั้นแรกที่สุดไม่ใช่ไปละคลายอะไรเลย นอกจากละความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน
ผู้ฟัง ถ้าอย่างเราคิดว่าบุคคลทุกคน ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี เพราะเขามีความขัดสนในชีวิต เขาจึงประพฤติปฏิบัติไม่ดีอย่างเช่นเป็นโจร หรือ เป็นคนลักเล็กขโมยน้อย สิ่งนี้ก็เป็นความคิดที่ยังไม่ตรงใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เขาก็จะต้องลักเล็กขโมยน้อยไปอีกในชาติหน้า เพราะว่าเขามีอกุศลที่สะสมไป ทางที่ดีที่สุดไม่ใช่ให้เขาสะสมอกุศลต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปแล้วนี่เอง จะให้ผล ก็คือเกิดอีก ก็เป็นคนทุกข์ยากอีก เมื่อทุกข์ยากอีก ก็ถือเอาของที่คนอื่นไม่ได้ให้มาเป็นของตัวเอง
ผู้ฟัง เวลาที่โทสะมีกำลังน้อยๆ และก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หมดหนทางที่จะช่วยตัวเอง
ท่านอาจารย์ ของจริง ตัวจริงทั้งหมด แต่ไม่รู้จริง ก็ยังมีความเป็นเราที่อยากจะไม่เป็นอย่างนั้นบ้าง หรือว่าทำไมเราไม่คิดให้ทันให้รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ขณะนี้หมดแล้ว แต่ก็มีเหตุปัจจัยคือความจำที่จะทำให้คิดถึงอีก พระธรรมที่ทรงแสดงไว้คือหนทางเดียวจริงๆ ไม่ใช่หนทางอื่น คือรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตราบใดที่ยังไม่รู้ ก็ยังเป็นเราที่วุ่นวาย เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข ห้ามไม่ได้เลย แสดงถึงความเป็นอนัตตาจริงๆ รู้เพียงแค่นี้ว่าห้ามไม่ได้เลย ทุกอย่างเป็นอนัตตาก็เกิดอีกตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ให้ห้าม แต่ว่าสิ่งใดที่เกิดแล้วปรากฏ ที่เมื่อสักครู่นี้เรากล่าวถึง ไม่ลืมว่าเกิดแล้วปรากฏ เป็นสิ่งที่ควรจะเข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้น แต่เวลานี้สิ่งนี้กำลังปรากฎอยู่ขณะนี้ แต่ใจเราคิดเรื่องอื่น ข้ามสิ่งที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นทางเดียวจริงๆ ที่จะทำให้ขณะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่ว่าเราคิดว่าแล้วจะไม่ให้เกิดอีก ไม่ให้แรงถึงขนาดนี้อีก ให้น้อยกว่านั้นอีก นั่นคือความหวัง แต่เป็นไปไม่ได้เลยเพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อาจจะมีการกระทำที่เกิดขึ้นสำหรับแต่ละคนในแต่ละวันโดยไม่ได้รู้ล่วงหน้าเลยว่าจะพูดจะทำจะคิดอย่างนั้น แต่ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมก็ คือรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสิ่งนั้นมีลักษณะอย่างนั้นเกิดขึ้น หนทางเดียวคืออะไร ถ้ายังไม่รู้ทางนี้ก็จะต้องเป็นความคิดหรือความต้องการ และก็พยายามไปพากเพียรที่จะไม่ให้เกิดโดยที่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย หนทางนี้ คือ อะไรหนทางเดียว สติปัฏฐานเท่านั้นเอง ไม่มีอย่างอื่นเลยในสังสารวัฏฏ์ ใครจะรู้ว่าชีวิตของแต่ละคนผ่านมาแล้วมากน้อยแค่ไหน และจะมีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้าอีก แม้ในชาตินี้หรือในชาติต่อๆ ไป แต่จากตัวอย่างในพระไตรปิฏก ก็แสดงถึงชีวิตของแต่ละท่าน ที่เลือกไม่ได้เลย และก็น่าอัศจรรย์มาก เวลาที่มีเหตุที่จะทำให้เกิดสภาพนั้นๆ อย่างรัชชุมาลา ก็ถูกนายตบตีเตะต่อยศอกเข่าสารพัด จนกระทั่งโกนผมหมด ก็ยังเอาเชือกไปคาดไว้เพื่อที่จะรัด และก็ดึงมาทำร้ายร่างกาย ใครจะรู้ ใครจะหวัง ชาติก่อนนั้นก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาประสบอย่างนี้ คือไม่ห่วงใย ว่าอะไรจะเกิดชาติไหน เพราะว่ารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีปัจจัยพร้อมที่จะให้เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เสียงที่กำลังปรากฏขณะนี้ เปลี่ยนให้เป็นเสียงอื่น เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ แม้แต่เห็น แม้แต่คิดนึกทุกอย่าง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่ได้ฟังต้องเข้าถึงความหมาย เราได้ยินบ่อยๆ ทุกอย่างเป็นธรรม ผ่านไปแล้ว เหมือนเข้าใจแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า "สังขารธรรม" ธรรมที่จะเกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดไม่ได้ "สังขตธรรม" ปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด คือเดี๋ยวนี้ปรากฏให้เห็นว่าเกิดแล้ว ทั้งหมดก็คือการฟัง และก็ค่อยๆ เข้าใจ แม้แต่คำแรกๆ ที่เคยได้ยินก็จะสอดคล้องไปเรื่อยๆ จนถึงกาลที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถ้าไม่มีพื้นฐานอย่างนี้ที่มั่นคง สติปัฏฐานก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ความจริง ก็เป็นเรื่องราวไปตลอดชาติ และก็เป็นแต่เพียงการฟัง ด้วยการเข้าใจเรื่องราวเท่านั้น
ผู้ฟัง กำลังโกรธมากมีเหตุมีปัจจัย แล้วก็คิดไปอีกว่าโกรธอย่างนี้มีโอกาสที่จะต้องออกทางวาจา
ท่านอาจารย์ ก็คิดอีก
ผู้ฟัง ใช่ แล้วก็ระลึกถึงว่าตอนนี้มีอย่างอื่นเกิดปรากฏหรือไม่ มันก็ไม่เคยมีในช่วงที่เรากำลังโกรธ มันไม่เห็นอะไรเลย
ท่านอาจารย์ เพราะไม่มีปัจจัยที่จะเกิดคิดอย่างนั้น แต่การฟังบ่อยๆ เราจะรู้ไม่ได้เลยว่าวันไหน สติระดับไหนจะเกิด แต่เมื่อมีปัจจัยก็เกิดได้ แต่ถ้าไม่มีปัจจัยเลยก็ไม่มีทางที่จะเกิด หรือถ้าปัจจัยไม่พอก็เกิดไม่ได้ เป็นธรรมดา และก็ไม่ใช่เราด้วย แล้วก็เกิดแล้วด้วย แล้วก็หมดแล้วด้วย และก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏที่ไม่รู้ เพียงแต่ฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ก็จะค่อยๆ รู้ว่าที่จริงฟังเพื่อเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าสามารถเข้าใจได้ ทรัพย์สมบัติจะหายไปสักเท่าไรก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่าได้รู้ความจริงว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน
ผู้ฟัง จริงๆ ถามว่าเดือดร้อนหรือไม่ แต่จริงๆ คือโกรธมากกว่า
ท่านอาจารย์ โกรธนั่นคือเดือดร้อน เราไปจำแนกเองต่างหากว่าเป็นเรื่องเป็นราว ว่าเราเป็นทุกข์กังวลหรือเปล่า หรือว่าเพียงแค่หงุดหงิด ขุ่นใจ ขณะนั้นประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ไม่สบายใจนี่แน่นอน
ผู้ฟัง ในช่วงนั้นพยายามคิดถึงว่าอภัยๆ ก็ไม่ได้เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ก็เป็นความพยายาม แล้วก็เป็นความคิด จะคิดอย่างนั้นก็ไม่เหมือนกับการรู้ลักษณะนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน จะเริ่มเห็นคุณของสติปัฏฐานว่าเป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะทำให้อะไรๆ ก็ไม่เกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ได้
ผู้ฟัง คือตอนนี้รู้ว่าลักษณะอย่างนี้คือโกรธ รู้บ่อยเข้าๆ ๆ เมื่อโกรธ เราก็จะรู้ว่าลักษณะนี้เป็นลักษณะของความโกรธ คือรู้จักตัวจริงของโกรธในขั้นพิจารณา เรียนถามว่า สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานให้สติเกิดภายหลังได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ แต่ละคนก็มีการสะสมมาต่างๆ ถ้าเราไม่คำนึงถึงว่าเราจะเตรียมตัวสู้กับอะไรที่จะเกิดข้างหน้า แต่เราเพียงเข้าใจ ไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจนกระทั่งเป็นความเข้าใจขึ้น สิ่งนั้นก็จะทำให้ไม่ว่าเราจะอ่านพระสูตร ได้ฟังพระอภิธรรมหรือว่าได้รู้เรื่องของพระวินัย เราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นประกอบให้เราเห็นลักษณะของสภาพจิตหลากหลาย
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180