พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167


    ตอนที่ ๑๖๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ผู้ฟัง ที่เรามาศึกษาธรรม ก็เพื่อจะประกอบกรรมใหม่ เพื่อที่จะให้ผลที่เกิดในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ถ้าเรามีอดีตซึ่งเราจะต้องได้รับผลของอกุศลวิบาก แต่ว่าปัจจุบันเราประกอบเหตุที่จะได้เป็นกุศลวิบากต่อไป จะสามารถที่จะทอนกำลังหรือว่าแบ่งปันได้บ้างไหม

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ประเสริฐสุดไม่ใช่เป็นเพียงความรู้สึกสุข ทุกข์ วันหนึ่งๆ ทุกคนหวังสุข และไม่ชอบทุกข์เลย คำถามเมื่อสักครู่นี้ ก็คือวิบากที่จะให้ผลเป็นทุกข์จะลดน้อยลงไปบ้างได้ไหม ใช่หรือไม่ แต่วิบากที่เป็นสุข คงไม่ต้องการให้ไปทอนหรือไปตัด นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราคิดว่าสำคัญมาก แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือปัญญา ถ้าเราได้สามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรม เราจะกังวลหรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะปัญญาสามารถเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีปัจจัยที่เหมาะสมที่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น ต้องเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ปัญญาจะทำให้กุศลต่างๆ เจริญขึ้น ทั้งความอดทนเวลาที่ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็อดทนได้ หรือประสบกับสิ่งที่น่าพอใจก็ยังอดทนที่จะไม่ให้เป็นโลภะอย่างรุนแรง แล้วแต่กำลังของปัญญา และกุศลอื่นๆ ก็เจริญด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของการฟังธรรม หรือการที่จะอบรมเจริญปัญญา แต่ความเห็นถูกก็จะเป็นสังขารขันธ์ซึ่งจะนำมาซึ่งกุศลประการอื่นๆ ด้วยความเห็นถูก ถ้าเรารักสุข เกลียดทุกข์ คนอื่นก็เหมือนกัน จะต่างกันอย่างไร แล้วเราจะไปเบียดเบียนเขาหรือไม่ เราไม่ได้ทำอกุศลกรรมแล้วเพราะเรารู้ มีเมตตาใช่หรือไม่ เพราะเหตุว่า ทุกคนจะรู้สึกอบอุ่นสบายใจถ้ามีเพื่อน มีคนที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูล มีความหวังดี เมื่อเป็นอย่างนี้เราจะเป็นคนที่ช่วย แล้วเกื้อกูล มีความหวังดีต่อคนอื่นใช่หรือไม่ ถ้าเรามีปัญญา เราก็จะรู้เลย มีความเข้าใจในความทุกข์ของคนอื่นซึ่งก็เป็นกรุณา คนที่มีความทุกข์หลายรูปแบบเหลือเกิน ชีวิตนี่ต่างกันมาก ทุกข์แต่ละชีวิตก็ต่างๆ กันไป แต่ก็เป็นทุกข์ ถ้าเราสามารถที่จะช่วยให้เขาคลายทุกข์ได้ โดยกาย โดยวาจา หรือโดยความหวังดีซึ่งเป็นใจ ซึ่งจะทำให้การกระทำทุกอย่างเป็นไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ทั้งกับบุคคลอื่น แล้วก็กับตนเองด้วย เพราะขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ใช่เห็นแก่ตัว ไม่ใช่คิดถึงแต่ประโยชน์ของตน เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจ และเห็นประโยชน์ของปัญญา โดยเฉพาะออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีปัญญา กองทุกข์ทั้งมวล ทุกชาติ เมื่อเกิดมาแล้วมีใครบ้างที่ไม่เป็นทุกข์ แต่ว่าทุกชาติต้องเป็นอย่างนี้เรื่อยไป ออกไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นก็จะเริ่มเห็นประโยชน์ของปัญญา เห็นคุณของปัญญา เห็นพระคุณของพระรัตนตรัยที่เราได้สะสมมาจนกระทั่งเป็นปัจจัยให้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ไตร่ตรอง ได้อบรม ได้เจริญขึ้น เพื่อละคลายอกุศลจนดับได้เป็นสมุทเฉจ

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงกังวล อดีตที่ได้ผ่านมาแล้ว ถ้าเป็นพระโสดาบันไม่เกิดในอบายภูมิ แม้ว่ากรรมนั้นมีโอกาสที่จะให้เกิดในอบายภูมิ แต่ด้วยคุณธรรมของพระโสดาบัน พร้อมทั้งปัญญาที่สามารถที่จะดับกิเลส คือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และการสงสัยในสภาพธรรมทำให้ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่จะเป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี และจะเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้าไปเกิดในอบายภูมิ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราก็เห็นประโยชน์ของปัญญามากกว่าอย่างอื่น และก็สิ่งใดที่ผ่านไปแล้วก็แล้วแต่ ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังเห็น เพราะอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วจึงเห็นอย่างนี้ ขณะนี้ ถ้าจะเห็นอย่างอื่นก็เพราะอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว ขณะนี้มีเสียงกำลังปรากฏ เพราะอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้เสียงนี้เกิดปรากฏ และจิตได้ยินเสียงนี้ นี่ก็คือว่าให้เข้าใจจริงๆ ว่าทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ต้องคิดถึงเรื่องราวใดๆ เพราะว่าตัวธรรมจริงๆ ขณะนั้นเป็นผลของกรรม ส่วนเรื่องราวก็เป็นการทรงจำ เป็นความนึกคิดในสิ่งที่ปรากฏ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ไม่ควรกังวล ก็คืออดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว กังวลนัยนี้ ก็คือว่าห่วงว่าจะเกิดหรือไม่ จะทอนลงได้ไหม แต่ควรจะเห็นโทษของอกุศล ถ้าใครกำลังได้รับความลำบาก แน่นอน คนอื่นไม่ได้ทำให้เลย อดีตกรรมที่กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น กุศลกรรมเจริญเพราะปัญญา ก็จะทำให้ค่อยๆ ละคลายหรือลดกำลังของอกุศลซึ่งจะกระทำต่อไปโดยอกุศลนั้นไม่เกิดเพราะว่าปัญญาสามารถจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ในสภาวะของชีวิตของแต่ละบุคคลก็จะไม่เหมือนกัน บุคคลที่อยู่ในความทุกข์ และความขัดสน ถึงแม้จะมีโอกาสฟังธรรม ก็ไม่ได้เป็นเหตุที่จะมีเหตุ และปัจจัยที่จะเกื้อกูล ให้เขาสามารถที่จะมีกุศลหรือบำเพ็ญกุศล หรือสละในขั้นทานได้

    ท่านอาจารย์ ทำไมห่วงเรื่องทาน กุศลขั้นอื่นก็มี ศีลเป็นมหาทาน ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแต่ทำร้าย ไม่มีประโยชน์เลย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าสภาวะของแต่ละบุคคล ที่ประสบกับทุกข์เคราะห์กรรมอะไรทั้งหลายจะมาปิดกั้นการฟังธรรมหรือการศึกษาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องมาจากอดีตกรรมที่สะสมมาแล้ว บุคคลหนึ่งซึ่งไม่น่าจะลืมคือ สุปปพุทธกุฏฐิ ขอทานโรคเรื้อน ยากจน ขัดสนแสนสาหัส ตัวอย่างที่จะรู้ว่าใครขัดสนมากน้อยแค่ไหนก็ต้องชีวิตของสุปปพุทธกุฏฐิ ซึ่งทั้งยากจนด้วย และก็ยังเป็นโรคร้ายด้วย วันหนึ่งๆ คืนหนึ่งๆ รู้สึกว่าจะนอนน้อยมากเพราะว่าร่างกายต้องทนทุกข์ทรมาน แต่ในที่สุดก็ได้ฟังพระธรรม และก็ได้เป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ใครจะมีชีวิตแบบไหนก็ตามแต่ ก็ควรสะสมปัญญา เพราะเราไม่รู้ชีวิตข้างหน้าของเราว่าจะเป็นแบบไหน แต่ว่าถ้ามีปัญญามีโอกาสได้ฟังพระธรรมไตร่ตรองพระธรรม ถึงกาลที่จะเข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้สุปปพุทธกุฏฐิก็คงไม่คิดว่าตัวเองจะถึงความเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้เฝ้าได้ฟังพระธรรม ในชีวิตที่ยากไร้ลำบากมาก ใครเป็นคนจน คนที่ไม่มีกุศลธรรมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม มีทรัพย์สมบัติก็เหมือนจนเพราะว่าไม่พอ โลภะไม่เคยทำให้พอเลย

    ผู้ฟัง ผลของการฟังพระธรรม และก็เข้าใจพระธรรมมากยิ่งขึ้น ความทุกข์ทางกายก็มี แต่ว่าทุกข์ทางใจก็จะน้อยลง การศึกษาธรรมท่านอาจารย์มีความเห็นว่าควรเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นเลยหรือไม่ว่าอะไรทำให้คนเรามาเกิด

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วแต่ว่าได้ยินได้ฟังอะไร ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องสภาพธรรมที่เป็นจิต เข้าใจลักษณะของจิต ถ้าศึกษาธรรมเข้าใจเรื่องเจตสิก ฟังเรื่องเจตสิก ก็เข้าใจเรื่องเจตสิก ถ้าศึกษาเรื่องกรรมก็รู้ว่ากรรมได้แก่เจตนาเจตสิกซึ่งความจริงก็เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ว่าเวลากล่าวถึงกุศลกรรม และอกุศลกรรม เราก็พอจะรู้ได้ว่าขณะนี้เองที่เป็นจิตขณะนี้ จริงๆ แล้วโดยตำราเป็นอะไร กุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้จริงๆ เลยว่าขณะไหนเป็นอะไรจนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าปัญญาขั้นฟังเป็นระดับหนึ่ง เพื่อที่จะให้เข้าถึงการเข้าใจธรรมตัวจริงๆ หรือสภาวธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ต้องถึงระดับนี้ด้วย แต่ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังบ่อยๆ

    ผู้ฟัง ในขั้นการฟังพอเข้าใจ แต่เมื่อเวลาธรรมจริงๆ ปรากฏก็ยังไม่รู้อยู่ดี

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังอีกบ่อยๆ ให้เข้าใจขึ้นในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ลำบากตรงนี้ว่า ถ้ากรรมทำให้เกิด ก็ยังไม่รู้ว่ากรรมคืออะไร ก็ต้องเริ่มต้นใหม่อีก

    ท่านอาจารย์ วันใดที่ได้ยินเรื่องกรรมก็เข้าใจเรื่องนั้น วันใดที่ได้ยินเรื่องผลของกรรมก็เข้าใจเรื่องนั้น วันใดที่ได้ยินเรื่องกิเลสก็เข้าใจเรื่องกิเลส คือฟังแล้วก็เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

    ผู้ฟัง อาจารย์บรรยายอย่างนี้คือเหมือนผมทำอะไรไม่ได้เลยเพียงแต่ฟัง

    ท่านอาจารย์ ฟังจนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา และไม่มีตัวตน ถ้าฟังแล้วเพิ่มความเป็นตัวตนเมื่อใด ก็ไม่ได้ละความเป็นตัวตนเลย " พระธรรมทั้งหมดเพื่อละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหมด" เริ่มจากการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะเข้าใจถูกเห็นถูกว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ถ้ายังไม่ถึงระดับที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสมุทเฉจ ก็อบรมโดยการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ในขณะที่ฟัง ก็รู้เรื่องว่ามันเป็นธรรมเกิด เป็นจิตเกิด เจตสิกเกิด เป็นรูปเกิด แค่นี้ยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ อย่างน้อยขณะนี้ก็รู้ความต่างของขณะที่เข้าใจโดยการฟัง และสติยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดก็รู้ความต่างว่าลักษณะที่ได้ยิน ได้ฟังมาทั้งหมดเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ละทาง เมื่อสติสัมปชัญญะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง การที่กล่าวว่าไม่มีตัวเรา ในวันหนึ่งๆ ไม่ว่าเราจะพูด เดิน ยืน นั่ง นอน ก็ไม่ใช่ลักษณะของความเป็นตัวเราใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอะไร

    ผู้ฟัง มีเหตุ และปัจจัยทำให้เราจะต้องคิดทำสิ่งเหล่านั้น

    ท่านอาจารย์ เราเรียนจิตประเภทต่างๆ หลังจากจิตเห็นแล้วจิตคิด ใช่หรือไม่ แล้วเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน ก็เดี๋ยวนี้เองหลังจากที่เห็นแล้วก็คิด จะมีเราอีกต่างหากหรือว่าเป็นจิตที่เกิดดับสืบต่อ หลังจากเห็นแล้วทางตา จักขุทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น และจิตทางมโนทวารก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อหลายวาระ และก็ยังจำไว้ด้วยว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร นั่นคือคิด

    ผู้ฟัง แต่ว่าในวันหนึ่งๆ มีเหตุที่จะต้องให้เราไปทำทุกอย่างเลย ลืมตาขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่รูป อะไรทำได้ ถ้าไม่ใช่นามอะไรคิดได้ คิดที่จะทำ และก็มีการกระทำ เพราะฉะนั้น คิดเป็นอะไร และการกระทำเป็นอะไร เป็นเราหรือว่าเป็นจิต เจตสิกที่เกิดขึ้นคิด แล้วเป็นปัจจัยให้รูปนั้นไหวไปตามความคิด เพราะถ้าไม่มีรูปเลย จิตก็คิดไป รูปอะไรก็ไม่มีที่จะไหวไปทำอะไรก็ไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่าไม่ได้มีแต่รูป ถ้ามีแต่รูป รูปก็เคลื่อนไหวทำอะไรเป็นกุศล อกุศลใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น ทำกรรมอะไรไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่ามีจิต และเจตสิกซึ่งไม่ใช่รูป จิต และเจตสิกเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะทำอะไร ขณะนั้นเป็นความต้องการสิ่งที่จะทำให้รูปไหวไป โดยที่เราไม่ต้องคิดก่อน คนที่จะลุกขึ้นยืนก็ไม่ต้องมานั่งคิดว่ายืน แต่ว่ายืนแล้วเพราะจิตต้องการจะยืนมีเป็นปัจจัยให้รูปนั้นไหวขึ้นเป็นอาการยืน

    ผู้ฟัง ก็หมายถึงลักษณะสภาพธรรมในชีวิตประจำวันแต่ละขณะจิต แต่ถ้าสมมติว่าเป็นวันหนึ่งๆ ที่เราคิดวางแผนที่จะทำอย่างโน้นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็คือจิตคิด คิดอะไร ก็คือจิตคิด รูปคิดไม่ได้ และจิตเกิดตลอด เกิดแล้วก็ดับ ก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดสืบต่อ และก็ดับ และก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ถ้าไม่เรียกชื่อว่าคุณสุกัญญาก็เป็นจิต เจตสิก ใช่ไหม ถ้าไม่เรียกชื่อว่าคุณพิศมัย ก็เป็นจิต เจตสิก เพียงแต่ว่าทั้งหมดเป็นจิต เจตสิก ซึ่งเรียกชื่อต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงจิต เจตสิกอะไรขณะไหน ขันธ์ไหน ของใคร

    ผู้ฟัง เมื่อศึกษาธรรมไปถึงจุดๆ หนึ่ง ทุกคนก็จะไปลงที่ว่าลักษณะของความที่ไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ คิดเท่านั้นว่าไม่มีตัวตน ถ้าไม่คิดว่าไม่มีตัวตน ก็คิดเรื่องอื่น ขณะที่คุณสุกัญญากำลังพูดว่าไม่มีตัวตน เพราะจิตคิดคำนี้ เสียงเปล่งออกมาเป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดจากจิตไหวไปกระทบฐานของเสียง โดยไม่ต้องตระเตรียมอะไรเลยทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็วตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้าในขณะใดไม่ได้คิดว่าไม่มีตัวตน ขณะนั้นก็คิดเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น คิดก็คือคิด ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรเมื่อไหร่ก็คือคิด เพราะไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว

    ผู้ฟัง เช่นนั้น สภาวะที่ไม่ใช่ตัวตนอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ จิต เจตสิก รูป ตัวอยู่ตรงไหนถ้าแข็งกำลังปรากฏ ตัวอยู่ตรงไหน แข็งเป็นแข็ง เป็นเราหรือไม่ แล้วตัวตนอยู่ที่ไหน ขณะนี้กำลังเห็น แต่ก่อนไม่เคยรู้เลย เป็นลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งต่างกับรูปธาตุซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นามธาตุคือธาตุรู้ มีจริงๆ ต่างกับรูปธาตุ เพราะรูปธาตุไม่สามารถจะรู้อะไร แต่นามธาตุเป็นธาตุต่างหากจากรูป และมีจริง ใครจะบังคับให้ธาตุนี้ไม่เกิดก็ไม่ได้เพราะธาตุนี้มี ถ้าคิดจะบังคับไม่ให้ธาตุนี้เกิด ก็เหมือนกับบังคับไม่ให้แข็งเกิด ไม่ให้หวานเกิด คิดที่จะบังคับอย่างนั้น แต่ความจริงบังคับแข็งไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ บังคับหวานไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ฉันใด บังคับนามธาตุไม่ให้เกิดขึ้นรู้ก็ไม่ได้ นี่คืออนัตตา ไม่ใช่เรา ความหมายของไม่ใช่ตัวตนก็คือ เป็นธาตุหรือเป็นธรรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อประมวลแล้ว ก็คือนามธาตุประเภทหนึ่ง และรูปธาตุอีกประเภทหนึ่ง

    ผู้ฟัง เมื่อก่อนผมพยายามจะแยกระหว่างสีกับเสียง คือในขณะที่ผมฟังธรรม ก็อ่านหนังสือพิมพ์ไปด้วย ซึ่งในขณะนั้นไม่มีสติระลึก ก็รู้สึกว่าเราเพียรพยายาม มีตัวเราจะต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อสติเกิดขึ้น ระลึกลักษณะสภาพธรรมทันที สังเกตลักษณะที่ปรากฏขึ้นมา ขั้นแรกสังเกตว่าเราจะไม่ค่อยรู้อะไร ไม่รู้ลักษณะของเสียงเป็นอย่างไร ลักษณะของสีเป็นอย่างไร เมื่อเราสังเกตไปเรื่อยๆ ความรู้ของเราก็จะเพิ่มขึ้นมาเองโดยที่ไม่ต้องไปทำอะไร นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมประสบมา ขอให้อาจารย์ช่วยเพิ่มเติมด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนาที่ได้กล่าวถึงการที่ได้ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา และเป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่าในเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดก็ไม่ได้มีความจงใจ แล้วแต่ว่าการฟังที่ได้มีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น เวลาที่สติเกิดก็รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่หลงลืมสติ

    อ.วิชัย ขอสนทนาเรื่อง"สารัมภะ" คือ ความแข่งดี ซึ่งในอรรถกถาท่านกล่าวว่า การแข่งดีโดยที่เป็นฝ่ายอกุศลอย่างหนึ่ง เป็นฝ่ายกุศลอย่างหนึ่ง ท่านก็ยกตัวอย่างว่า ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล เช่น ถ้าเห็นคนอื่นใส่เครื่องประดับ และก็อยากจะทำให้ยิ่งกว่านั้น ท่านอธิบายความแข่งดีว่า "ทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น" ถ้าเป็นฝ่ายของกุศล ท่านก็อธิบายเกี่ยวกับเรื่องของบุคคลที่ถวายภัตตาหารหนึ่งที่ ก็มีเจตนาที่จะถวายให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น หรือภิกษุที่เรียนหนึ่งนิกาย เห็นภิกษุอื่นเรียน ๑ นิกาย ก็ใคร่จะเรียน ๒-๓ นิกายขึ้นไป เรียนถามท่านอาจารย์ว่าลักษณะของความแข่งดี ดูลักษณะคล้ายๆ จะไม่ดี จะเป็นทางฝ่ายอกุศล แม้แต่การที่จะคิด

    ท่านอาจารย์ แข่งดีจริงๆ หมายความ ถึงว่าต้องการที่จะดีมากกว่าคนอื่น ถึงใช้คำว่า “แข่งดี” เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นอกุศลที่เห็นได้ชัดก็ตามที่คุณวิชัยกล่าว ถ้าเห็นเขามีเครื่องประดับมากๆ ก็อยากจะแข่งดีคือมีให้มากกว่าเขา ทั้ง ๒ บุคคลยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แล้วก็ยังไม่หมดสิ้นสังสารวัฏฏ์ ยังไม่หมดกิเลสแน่นอน แต่ว่าบางคนก็อาจจะมีปัจจัยที่จะทำให้มีความคิดในทางกุศลเพิ่มขึ้น แต่ว่าถ้าเป็นในลักษณะของการที่จะเป็นอกุศล บุคคลนั้นก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นกำลังคิดอย่างนั้นด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะเหตุว่า เราใช้คำว่าดี แต่จริงๆ ถ้ามีแข่งก็ไม่น่าจะดีเลย เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสอยู่ แต่กิเลสก็จะทำให้ปรากฏออกมาต่างกันเป็น ลักษณะ ๒ อย่างคือ แข่งกันในทางอกุศลที่จะมีเครื่องประดับมากๆ หรือแข่งในทางกุศล ก็ยากที่จะเข้าใจเพราะว่าสภาพของจิตเป็นสภาพที่ละเอียด ที่ใช้คำว่า “ซับซ้อน” ไม่ได้หมายความว่าจิตหนึ่งดวงซับซ้อน แต่หมายความว่าการเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วซับซ้อน ทำให้เราเข้าใจผิดได้ คิดว่าเวลาที่มีความสำคัญตน สภาพของจิตไม่สบายเลย แล้วทำไมทรงแสดงว่ามานะความสำคัญตนไม่ได้เกิดกับโทสะ ทั้งๆ ที่เวลาที่มีความสำคัญตนขณะไหน ความรู้สึกต้องไม่สบายแน่นอน แต่ว่าที่ยังมีมานะ มีความสำคัญตนเพราะว่ามีโลภะ มีความยึดติดในสภาพนั้นว่าเป็นเรา ซึ่งไม่ใช่ความเห็นผิดแต่ว่าเป็นลักษณะของมานะฉันใด เวลาที่กล่าวถึงสภาพธรรมที่เกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก ยิ่งยากที่จะรู้ แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ตรงเมื่อไหร่ ก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ว่าการตรงต้องตรงตามลำดับคือ ตรงโดยการที่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้เป็นนามธรรม หรือไม่ใช่สภาพรู้ ยังไม่สามารถที่จะถึงหิริโอตตัปปะของลักษณะของกุศลจิต หรือว่าอหิริ อโนตตัปปะของลักษณะของอกุศลจิต เพียงแต่ว่าลักษณะนั้นทำให้เราสามารถที่จะอบรมความรู้ว่าเป็นสภาพธรรมดับเร็วมากทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวได้เลยว่าทันทีที่สติระลึกตามความเป็นจริงสิ่งนั้นดับแล้ว เพียงแต่ว่าสะสมความรู้ว่ากำลังระลึกลักษณะรู้ หรือว่าลักษณะที่ไม่ใช่ลักษณะรู้ฉันใด การที่จะรู้ละเอียดถึงสภาพธรรมที่เป็นการแข่งดีที่ใช้ว่ามี ๒ อย่าง เราก็ต้องพิจารณาว่าถ้าเป็นลักษณะของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่มากๆ จะแข่งดีในทางอกุศล แต่ถ้าเป็นลักษณะของผู้ที่เบาบางหรือว่าคิดไปในเรื่องของกุศล แต่ก็ยังมีอกุศลเจือปนที่ทำให้แข่งดี ซึ่งความจริงเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องละ ที่ลืมไม่ได้เลย พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อละอกุศล และจนถึงละกุศลทั้งหมดเลย ตัวอย่างที่คุณวิชัยพูดก็ต้องแยก ถ้าเป็นลักษณะที่แข่งดีต้องเป็นอกุศล แต่แข่งในทางกุศล หรือว่าในทางอกุศลที่ท่านกล่าวไว้ แต่ลักษณะของการแข่งดีจะเป็นกุศลไม่ได้ แล้วก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องรู้สภาพจิตของตัวเอง เพราะเหตุว่ามานะจริงๆ ละเอียดมาก ผู้ที่จะดับมานะได้คือผู้ที่ถึงอรหัตตมรรคถึงจะดับได้ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นมานะอย่างหยาบๆ แต่มานะอย่างละเอียด มานะของพระอนาคามีเป็นต้น ผู้ที่เป็นปุถุชนก็คงคิดไม่ถึงว่าจะมีได้อย่างไร ในลักษณะไหน

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าเป็นการกระทำที่ยิ่งกว่านั้นด้วยกุศลจิตก็ไม่เรียกว่าแข่งดี

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นแข่งดีต้องเป็นอกุศล ก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณา เช่น คนที่เห็นว่าคนอื่นถวายทานเพียงที่เดียว แต่ก็มีศรัทธาที่จะถวายเพิ่มขึ้นเพราะเห็นว่าน้อยไป ควรจะถวายมากกว่านั้น หรือของที่ถวายเป็นของที่ไม่ประณีต และก็อยากจะให้สิ่งที่ได้ถวายเป็นของที่ประณีตเพื่อประโยชน์แก่พระภิกษุหรือผู้รับ ขณะนั้นก็ไม่ใช่การแข่งดี แต่ว่าถ้าแข่งดีที่ท่านกล่าวไว้ก็มี ๒ อย่าง คือ แข่งดีในทางอกุศลเรื่องของเงินทอง ทรัพย์สิน เครื่องประดับ และแข่งดีในทางกุศล แต่แข่งดีก็ยังคงเป็นแข่งดี ซึ่งแข่งดีต้องเป็นอกุศล แต่ว่าศรัทธาที่เกิดขึ้นที่เห็นว่าควรจะถวายอาหารที่ประณีตขึ้นหรือว่ามากกว่านั้นก็เป็นกุศลศรัทธา เพราะเหตุว่าเราคิดถึงเรื่องแข่งดีซึ่งเป็นเรื่องของมานะ ความจริงอกุศลมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นมีอกุศลเกิดแทรก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ