พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168


    ตอนที่ ๑๖๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า เราคิดถึงเรื่องแข่งดีซึ่งเป็นเรื่องของมานะ ความจริงอกุศลมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นมีอกุศลเกิดแทรก เพราะฉะนั้น ถึงแม้ขณะที่กำลังถวายทาน และก็ไม่มีความรู้สึกว่าแข่งดี แต่มีความสำคัญตนไหม นี่ก็อีกอย่างหนึ่งซึ่งพร้อมที่จะเกิดขณะไหนก็ได้ในลักษณะที่ต่างกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ในลักษณะแข่ง เพราะว่าไม่ได้แข่ง แต่ว่าเวลาที่ถวายก็มีความสำคัญตนได้ ว่าเราได้ถวายสิ่งที่ประณีต เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการที่จะได้รู้จักลักษณะของอกุศลในลักษณะต่างๆ

    อ.อรรณพ เรื่องแข่งดีท่านแยกเป็น ๒ ประเภท ฝ่ายอกุศล และกุศล ถ้าแข่งดีด้วยมานะ เครื่องประดับอย่างนี้เป็นต้น ก็มีมานะเป็นในทางอกุศล หรือว่าแข่งดีที่ดูเหมือนเป็นไปในทางกุศลแต่ว่าด้วยมานะ ที่ท่านบอกว่า ความแข่งดีที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำให้ทวีคูณไปกว่านั้น ด้วยอำนาจแห่งมานะจัดเป็นอกุศล อย่างเช่นบรรพชิตที่เห็นบรรพชิตเหล่าอื่นเล่าเรียนหรือกล่าวธรรมมีประมาณเท่าใด ความแข่งดีที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำให้ทวีคูณขึ้นไปยิ่งกว่านั้นด้วยอำนาจแห่งมานะจัดเป็นอกุศล ส่วนคฤหัสถ์นั้นความแข่งดีที่เกิดขึ้นเพราะเห็นคนอื่นถวายสลากภัตร ๑ ที่ แล้วตนเองประสงค์จะถวาย ๒ หรือ ๓ ที่ จัดเป็นกุศล และสำหรับบรรพชิตเมื่อได้ทราบว่าภิกษุเรียน ๑ นิกายแล้วความแข่งดีเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยมานะ แต่เพราะได้เห็นภิกษุอื่นนั้นเรียนแล้ว ๑ นิกาย แล้วประสงค์จะครอบงำความเกียจคร้านของตนอย่างเดียว เรียนเอา ๒ นิกายจัดเป็นกุศล

    อ.ธิดารัตน์ ตามที่ท่านแสดงไว้ในที่นี้ท่านประสงค์เอาความแข่งดีที่เป็นอกุศล เพราะความแข่งดีที่เป็นอกุศลนี้ย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต ทำให้จิตไม่ผ่องใส เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต คือโดยความหมายนี้หมายถึงว่าแข่งดีนี้เป็น "อุปกิเลส" ท่านก็หมายถึงว่าแข่งดีในที่นี้จัดเป็นอกุศลอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ต้องเป็นอกุศลถ้าเป็นการแข่งดี ก็จะสังเกตได้ ถ้าเราเรียนด้วยความเป็นตัวตน จะเกิดการแข่งดีใช่ไหม มีความสำคัญในตนเอง ต้องการที่จะรู้มากกว่า ประโยชน์ ก็คือว่าไม่ได้ละอกุศลเลย ไม่ได้ขัดเกลากิเลส

    ผู้ฟัง มีเพื่อนที่เขามีความเป็นอยู่ดี ฐานะดี ไม่ขัดสน แต่เราก็เหมือนจิตแพทย์ของเขากลายๆ คือ เวลาที่เขามีปัญหา มีทุกข์ เขาจะต้องมาปรึกษา หรือโทรศัพท์มาหาตลอดเวลา หนูก็ไม่รู้จะกล่าวอย่างไรที่จะเป็นธรรมปลอบใจให้เขาคลายปัญหา แต่ละเดือน สองสามวันก็โทรมา เรื่องนี้จบ ก็ไปเรื่องนั้น เรียนถามอาจารย์ว่าควรจะพูดปลอบใจเขาในทางธรรมในชีวิตประจำวันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คงยาก เพราะเขาคงมีอุปนิสัยที่จะสนทนาเรื่องของเขาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เขาก็เห็นเราเป็นผู้ที่จะรับฟัง และก็อาจจะให้ความคิด ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์แก่เขาได้ เขาก็โทรศัพท์มาบ่อยๆ แต่ว่าสำหรับเราเอง เรารู้สึกอย่างไร ข้อสำคัญที่สุด คือเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะมีเพื่อนมีคนใกล้ชิด หรือคนห่างไกล ที่จะทำเราได้ยินได้ฟังเรื่องต่างๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เพื่อน แต่เรื่องในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็มี เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือเมื่อเราได้พูดกับเขา ใจของเราเป็นอย่างไรขณะนั้น

    ผู้ฟัง ใจของเราก็คิดสงสารเขา อยากจะมีคำพูดอะไรที่เขาหายทุกข์ พูดไปพูดมามันก็เหมือนเดิม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่า ถ้ายังไม่มีความเข้าใจพระธรรมจริงๆ อะไรก็ช่วยไม่ได้เลย ได้ยินได้ฟังแล้วก็หมดไป วันนี้เราอาจจะได้ยินได้ฟัง พอเราออกไปที่อื่น สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนี้ก็หมดไป แล้วก็มีเรื่องราวอื่นต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราสะสมความเข้าใจธรรม แล้วเราก็รู้ว่าธรรมมีอยู่ตลอดเวลา ขณะที่กำลังคิดก็เป็นสภาพคิด นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าเราไม่ลืมเป็นการสะสมที่จะทำให้ค่อยๆ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการฟังธรรม แต่เราจะฟังแล้วก็เข้าใจตามความเป็นจริงนี้มากน้อยแค่ไหน เราบอกไม่ได้เลย เพราะเป็นการค่อยๆ สะสมความรู้ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แต่ทุกอย่างในชีวิตทุกขณะก็เหมือนบทเรียนของความอดทน มีท่านผู้หนึ่งท่านก็มีมารดาก็อยู่กันไกล ท่านผู้นี้ก็เป็นชาวต่างประเทศอยู่ที่ออสเตรเลีย มารดาของท่านก็อยู่ที่อิตาลี มารดาก็รักลูกมาก ก็มีลูกคนเดียว เดี๋ยวก็โทรศัพท์มาแล้วก็พูดยาวมาก ลูกก็วางหู แล้วก็ไปทำอะไรต่างๆ พอกลับมาก็ครับๆ หรือว่าพูดด้วยนิดหน่อย แล้วก็วางต่อไป แล้วมารดาก็พูดต่อไปอีกยาว แล้วก็มาฟังทีหลัง คือไม่ฟังทั้งหมด เพราะว่าเขาก็คงจะรู้อุปนิสัยว่า ทั้งหมดก็คงยาวแล้วเขาก็คงไม่ได้ทำอะไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ การที่เราจะบอกให้บุคคลนั้นทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าทุกชีวิตจะมีความถูกต้องขึ้นเมื่อมีการเข้าใจพระธรรม โดยเฉพาะคือ เข้าใจตัวเองในขณะนั้นว่าจิตขณะนั้นเป็นอะไร เป็นเมตตา เป็นโทสะ หรือว่าหงุดหงิด แต่ทั้งหมดนี่คือ บารมี ถ้าเป็นกุศลที่จะสะสมความอดทน ความเมตตา ความเข้าใจจิตใจของผู้อื่น และก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล แต่ทั้งหมดนี่ก็แล้วแต่ จะทำอย่างไรก็คือว่า รู้อยู่แล้วว่าอย่างไรๆ เขาก็คงจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่คำบางคำของเราก็อาจจะทำให้เขาสบายใจ แต่เขาก็ต้องรบกวนเราอยู่เรื่อยๆ เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น เพราะเราเป็นเพื่อนของเขา

    ไม่ทราบท่านผู้อื่นมีความคิดอย่างไรในเรื่องนี้ เรื่องส่วนตัวของแต่ละคนก็มีมาก ต่างคนก็ต่างสะสมมาที่จะเป็นแต่ละบุคคลจริงๆ อะไรจะเกิดขึ้นกับใคร เมื่อไร ก็ไม่มีใครที่สามารถจะรู้ได้ แต่พระธรรมที่ได้เข้าใจแล้วก็จะทำให้บุคคลนั้นสามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล และก็ควรที่จะสะสมกุศลเพิ่มขึ้น

    อ.กุลวิไล มีจดหมายที่เขียนมาถึงท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์สอนว่า แม้จะทุกข์สาหัสมหาศาลเพียงใด ก็เป็นเพียงขณะจิตเดียว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ในตอนนี้หนูยังไม่แจ้งหรอก แต่บนกองทุกข์ที่ได้รับ จะมีหิริโอตตัปปะ จะขัดเกลากิเลส จะโยนิโสมนสิการ ได้เห็นภัยของอกุศล ความอาฆาต ความจองเวร หนูระลึกอยู่เสมอว่า เมื่อได้สร้างเหตุแห่งความดีแล้ว จะไม่ขอ เพราะย่อมให้ผลเมื่อถึงวาระ มีคำถามว่า อย่างนี้เรียกว่ากำลังขัดเกลากิเลสใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วผู้นั้น ควรจะเป็นผู้ได้ทราบว่า เวลาที่อกุศลจิตเกิด แล้วก็ภายหลังกุศลจิตสามารถที่จะเกิดได้ ในขณะใด ที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นอกุศลจิตก็ไม่เกิด ก็เท่ากับว่าเป็นการค่อยๆ ละ ค่อยๆ ขัดเกลา

    จริงๆ แล้วธรรมสำหรับฟัง พิจารณา และเป็นความเข้าใจของตนเอง

    อ.กุลวิไล พูดถึงมรสุมชีวิต ก็มีหลายท่านที่ประสบปัญหาเช่นนี้ กราบเรียนท่านอาจารย์ให้ข้อคิดคติอีกครั้ง

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดก็ต้องเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องธรรมไม่ใช่เรา แล้วก็เป็นอนัตตาด้วย คือบังคับบัญชาไม่ได้ สำหรับท่านผู้นี้ ท่านมีความเห็นถูกในเรื่องของกรรม เพราะรู้ว่า แต่ละคนก็มีกรรมเป็นของๆ ตน สิ่งใดก็ตามที่เป็นผลของกรรมที่เกิดในขณะนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ ว่าชาติก่อนเราได้ทำกรรมอะไรไว้ เพราะว่าสิ่งที่เห็นก็มี ๒ อย่าง สิ่งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ สิ่งที่ได้ยินคือเสียง ก็มี ๒ อย่างคือลักษณะที่น่าพอใจกับไม่น่าพอใจ ทางจมูกคือกลิ่น ก็มี ๒ อย่าง กลิ่นหอมกับกลิ่นเหม็น ทางลิ้นก็มีรสต่างๆ ทางกายก็มีการกระทบสัมผัส ขณะใดที่เจ็บปวด ไม่ใช่ว่าคนอื่นกระทำให้เลย แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นปัจจัยทำให้จิตซึ่งเป็นผลของกรรม คือวิบากจิตเกิดขึ้น รับรู้สิ่งที่กระทบกาย

    ถ้าเข้าใจในเรื่องของกรรม ผลของกรรม ก็ไม่มีเรา และก็ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะว่าได้กระทำกรรมแล้วในอดีตที่เป็นกรรมที่เป็นอกุศล ถ้าเป็นสุขเกิดขึ้น ก็เป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้วที่เป็นกุศล แต่ทั้งหมดก็ชั่วคราว ไม่ว่าเป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบาก จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และก็เป็นไปตามสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง ไม่มีใครที่สามารถจะอยากให้กุศลธรรมเกิดมากๆ โดยที่ว่าไม่ได้สะสมกุศลไว้ก่อน แล้วก็หวังเพียงว่าวันนี้อยากจะให้มีกุศลมากๆ แต่ควรจะเป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้รู้จริงๆ ว่าแม้แต่คำแรกที่ได้ยินได้ฟังคือคำว่า “ธรรม” เรามีความรู้ความเข้าใจในคำนี้มากแค่ไหน เพราะว่ามีธรรมกำลังปรากฏให้เราได้เข้าใจถูกต้องว่าปัญญาความรู้ของเราอยู่ในระดับที่ต้องฟังอีก พิจารณาอีก จนกว่าจะค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่า พระพุทธศาสนามีถึง ๓ ขั้น : ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูงสุด โดยขั้นสูงสุด คือสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยการประจักษ์แจ้งจากการที่ได้ฟัง และเข้าใจแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจธรรม ถ้ารู้ว่าเป็นธรรม จะโกรธธรรมอะไรเพราะธรรมมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป แต่เพราะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ก็ทำให้มีอกุศลประเภทต่างๆ เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง อกุศลจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แล้วเราพอสังเกตแล้วทราบได้ด้วยตัวเองว่ามีประโยชน์หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ว่ามีอกุศลมาก เราจะเจริญกุศลยิ่งขึ้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อยากจะเจริญกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจมีหลายระดับ เวลาที่อกุศลจิตเกิด ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกต้องสะสมมาที่จะรู้ว่าเป็นธรรม ขณะนั้นก็จะรู้ลักษณะของอกุศล ขณะที่เข้าใจถูกว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ถึงระดับนี้ เวลาที่อกุศลจิตเกิด โลภะเกิดขึ้นคืออยากไม่มีอกุศล นี่ก็เป็นความต่างกัน ระหว่างปัญญากับโลภะ ถ้าเวลาที่อกุศลจิตเกิด โลภะอยากจะมีอกุศล เพราะว่าไม่ชอบอกุศลนั้น แต่ถ้าเป็นปัญญาเข้าใจทันที ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ตรงตามที่ได้ฟังว่า "ทุกอย่างเป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม กุศลก็เป็นธรรม ทุกอย่างก็เป็นธรรม" เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมว่าสะสมมาพอที่จะตรึกหรือเกิดความคิด ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งว่าจะพิจารณาอกุศลนั้นอย่างไร

    เช่น จดหมายของท่านผู้ฟังก็แสดงให้เห็นว่าท่านมีการสะสมที่จะตรึก คือคิดถูกว่าจะไม่พยาบาท และก็เป็นระดับที่ว่ายังมีความเป็นตัวตน แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมความรู้ความเข้าใจมากกว่านั้น สติสัมปชัญญะเริ่มเกิด ขณะที่สติสัมปชัญญะเริ่มเกิด โลภะก็จะเข้ามาแทรกอีกได้ อยากจะให้เกิดมากๆ เป็นตัวตนที่มีการเริ่มที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความจงใจ ด้วยความหวัง ขณะนั้นจะไม่รู้เลยว่าโลภะมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็มีปัญญาหลายระดับ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็คือว่าสามารถที่จะละความยึดถือติดข้องว่าอกุศลนั้นเป็นเรา เพราะว่าได้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งชินกับลักษณะของสภาพธรรม แต่นี่ก็เป็นความหวังซึ่งจะค่อยๆ เกิดเป็นไปตามปกติ บางครั้งอกุศลก็เกิด บางครั้งกุศลก็เกิด บางครั้งกุศลระดับคิดเรื่องราวก็เกิด บางครั้งสติสัมปชัญญะก็รู้ตรงลักษณะนั้น แต่ว่าถ้ามีความเป็นตัวตนแทรกเมื่อไหร่ ก็พาให้เนิ่นช้าต่อไปอีก ขณะนี้ เดี๋ยวนี้เลย อกุศลเกิดแล้ว เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็มีความเดือดร้อนในอกุศลนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้ถูกหรือเปล่าว่าอกุศลเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดแล้วๆ ความจริงก็ดับแล้วด้วย แต่มีความไม่รู้ ขณะนั้นก็มีความต้องการไม่ให้จิตเป็นอกุศล นั่นก็เป็นโลภะซึ่งมองไม่เห็นเลย ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่จะต้องอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะว่าบังคับให้สภาพธรรมหรือปัญญาเกิดก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง สมมติว่าลักษณะของอกุศลเกิด แล้วเราระลึกได้ว่า ลักษณะนี้เป็นลักษณะของอกุศล แต่เรายังมีความหนัก ยังมีความเดือดร้อนต่ออกุศลนั้น ก็แสดงว่าเรายังไม่มีสติระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เป็นเราที่ระลึกถึงอกุศลที่กำลังเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นอย่างนั้น เข้าใจถูกอย่างนั้น ก็สามารถจะรู้ว่า ขณะหลงลืมสติกับขณะที่สติกำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นต่างกัน ปัญญาเป็นเรื่องที่ยาก ทุกคนหวังอยากจะให้เกิดมากๆ เกิดเร็วๆ แต่ต้องเป็นความเห็นถูกอย่างละเอียดที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิด ไม่ใช่ขณะอื่น ขณะเรียนก็เข้าใจทุกอย่างแต่เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดไม่เข้าใจแล้ว หายไปไหนแล้ว มีความเป็นเราที่อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าต้องอาศัยการฟังตลอดไป จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ แม้เป็นพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายก็ยังฟังพระธรรมต่อไปเพื่อที่จะรักษาพระธรรม มีท่านผู้หนึ่ง ท่านก็บอกว่าตอนบ่ายๆ ท่านจะต้องนอน แล้วก็ท่านก็จะกลับไปนอน แต่แล้วกุศลจิตก็เกิดขึ้น ฟังดีกว่าหรืออะไรประเภทนี้ เดี๋ยวกุศล เดี๋ยวอกุศลอยู่ตลอดเวลา แต่ก็แสดงให้เห็นว่าในที่สุดอะไรชนะ ทั้งๆ ที่ฟังแล้วรู้แล้วทุกอย่าง แต่กลับไปนอน นี่ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะฉะนั้น เราจะเข้าใจความหมายของ “พละ” หรือ “กำลัง” หิริโอตตัปปะ ความละอายต่ออกุศล ไม่ต้องอกุศลอะไร ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าเราไม่มีความละอายจริงๆ เราไม่ฟังหรอก เพราะเหตุว่า ไม่รู้ก็ไม่รู้ ไม่ละอาย แต่เพราะเหตุว่าไม่รู้แล้วไม่ควรที่จะไม่รู้ต่อไป ประโยชน์อะไรที่จะไม่รู้ ในเมื่อมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมให้เราสามารถเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฟังพระธรรมไม่มีใครรู้เรื่องสังขารขันธ์ทั้งหลายซึ่งเป็นเจตสิกแต่ละประเภท คือทั้งหิริ ทั้งโอตตัปปะ ทั้งอโทสะ อโลภะ "ตัตตรมัชฌัตตตา" อะไรทั้งหมดที่เป็นฝ่ายโสภณเกิดพร้อมกับกุศลจิตแล้วก็ดับพร้อมกัน

    เพราะฉะนั้น เราจะไม่รู้เลยแต่อาศัยขั้นฟัง แต่ขั้นฟังทำให้เราค่อยๆ มั่นคงในความที่ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลองเปรียบเทียบว่า ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ มีกุศลมากๆ แทนอกุศล แต่เป็นเรา กับการที่เราจะรู้ความจริงว่าบังคับบัญชาไม่ได้เลย แม้แต่ความคิดที่แต่ละคนก็กำลังคิดต่างๆ กันในขณะนี้ ก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง เจตสิกทั้งหลายซึ่งเกิดพร้อมจิต คิดถึงความวิจิตรของนามธาตุจะน่าอัศจรรย์ จิตก็เป็นนามธาตุชนิดหนึ่ง เจตสิกแต่ละชนิดก็เป็นนามธาตุแต่ละชนิด ซึ่งเกิดพร้อมกันได้อย่างไร ด้วยความเป็นสหชาตปัจจัย นี่คือผู้ที่ได้ทรงแสดงพระธรรม ทรงแสดงความละเอียดถึง ๑ ขณะจิต และก็แสดงความเป็นปัจจัยต่างๆ ซึ่งถ้าไม่คิด ก็เป็นเรา จะอัศจรรย์ไหม ก็ไม่อัศจรรย์เลย จิตเห็นเกิดขึ้นก็ธรรมดา แต่จิตเห็นไม่ใช่เจตสิก เป็นใหญ่เป็นประธาน กำลังรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ และก็ยังมีนามธาตุซึ่งก็ไม่มีใครไปบังคับหรือว่าไปบอกให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่นามธาตุนั้นต้องเกิดกับจิต มีปัจจัยแล้ว อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมระดับขั้นฟัง ไม่ใช่การเข้าถึงลักษณะของธาตุหรือของความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ สมบูรณ์ แม้แต่ขณะที่ฟังก็เริ่มเข้าใจในความเป็นธาตุในการอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ในการที่จะรู้ว่าเวลาที่อกุศลจิตเกิดขณะนั้น แล้วแต่ว่าปัญญาระดับไหน ปัญญาขั้นที่เห็นว่าเป็นอกุศล ขณะนั้นก็มีความคิด หรือว่ามีความตั้งใจ มีการสมาทานที่จะไม่กระทำทุจริตกรรมต่างๆ นั่นก็ระดับหนึ่ง แต่ว่าขณะที่สามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของธรรม เพราะว่าจริงๆ แล้ว ตั้งแต่เกิดจนตายมีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นอยู่ตรงนี้ เรายังอยากจะเป็นคนดี ใครๆ ก็ชม แต่ไม่รู้ความจริง หรือว่าอยากจะเข้าใจความจริง ซึ่งหากเข้าใจเมื่อไร ทุกคนจะเห็นอกุศลมากกว่ากุศลซึ่งถูกต้อง ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะเราจมอยู่ในอกุศลมานานแสนนาน ไม่ใช่วันนี้หรือชาตินี้เท่านั้น ชาติก่อนๆ นับชาติไม่ถ้วน ทั้งความไม่รู้ ทั้งความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ แล้วเราจะหวังให้หมดไปโดยเร็วเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ก็ทำให้เราเริ่มรู้ว่าอะไรจริง ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และก็เกิดดับสืบต่อเร็วมาก เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่มีแต่เห็น โลภะก็มี โทสะก็มี ความคิดนึกต่างๆ ก็มี เกิดดับสลับเร็วมาก แต่ปัญญาสามารถจะเริ่มเข้าใจถูก และก็เป็นผู้ที่รู้ฐานะตรงต่อความเป็นจริงว่าความรู้ของเราระดับใด เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าลูกศิษย์ของใครอยู่ที่ไหน และก็ไม่มีอกุศลจิตเกิดเลยนั้นไม่ใช่เลย ทุกท่านเป็นสาวกผู้ฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ไปแยกว่าเป็นลูกศิษย์ของใครที่ไหน แต่ว่าขณะที่ฟังมีความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่ฟังแค่ไหน เพราะเหตุว่า การรู้จริงเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะว่าอวิชชามีมาก และโลภะก็ทำให้หลง ทำให้ติดข้องต้องการที่จะไปสู่ความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ระวังจริงๆ รอบคอบจริงๆ เป็นผู้ที่ตรงต่ออริยสัจจะ ถ้าจะรู้ก็เป็นปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น มีท่านผู้หนึ่งท่านกล่าว แต่ก่อนพอฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ท่านก็หวังที่จะเป็นพระโสดาบัน แต่เมื่อได้เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ สิบปีต่อมา ท่านก็บอกว่าเพียงให้ท่านมีความเข้าใจถูกยิ่งขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อที่จะสะสมไปแต่ละชาติ

    ผู้ฟัง เราไปใช้นัยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่างนี้เป็นอย่างไน ฟังแล้วยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นผลของความเข้าใจของใครก็ของคนนั้น ถูกต้องหรือไม่ เช่น ถ้าเรามีหน้าที่ๆ จะต้องกระทำต่อใคร เราก็ลืม เราต้องไปเหนื่อย เราต้องดูแลมากมาย จิตก็เศร้าหมองว่าเหตุใดจึงต้องเป็นเรา ขณะนั้นก็อาจจะเกิดความขุ่นข้องหมองใจ แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน และกรรมก็คือว่าสาธารณะทั่วไปจริงๆ เวลาที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้น คือไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมใดๆ ที่กระทำแล้ว เวลาที่กรรมให้ผลก็ให้เห็นเหมือนกันหมด คนที่ฆ่าสัตว์ คนที่ลักทรัพย์ คนที่มีอกุศลจิตใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้ว พอถึงกาลที่กรรมให้ผลคือเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ลืมว่าแท้ที่จริงทุกคนได้กระทำกรรมมาแล้ว และก็ได้มีผลของกรรมเกิดขึ้นในขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง สิ่งที่ปรากฏเหมือนกันหมดเลย แต่ใจของเราต่างหากที่คิดรำคาญหรือว่า เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567