พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169


    ตอนที่ ๑๖๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ลืมว่าแท้ที่จริงทุกคนได้กระทำกรรมมาแล้ว และก็ได้มีผลของกรรมเกิดขึ้นในขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง สิ่งที่ปรากฏเหมือนกันหมดเลย แต่ใจของเราต่างหากที่คิดรำคาญหรือว่าเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจ และขณะนั้นเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรา ซึ่งจริงๆ แล้วเวลาที่มีคนอื่นชั่วขณะที่คิด ถ้าไม่คิดเรื่องยาวๆ ของคนนั้นว่าเป็นลูก เป็นหลาน ทำอะไรต่างๆ ที่เราไม่พอใจก็จะไม่มีเลย แสดงให้เห็นว่าเราต้องแยก เข้าใจให้ถูกต้องในโลกของปรมัตถธรรม กับในโลกของบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ซึ่งหลังเห็นแล้วไม่มีใครหยุดคิดได้เลย แล้วแต่ว่าจะคิดเป็นอะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่าถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาจริงๆ คือเรา บุคคลอื่นขณะนั้นเป็นแต่เพียงเรื่องที่เราคิดถึง แต่เราจะไปให้เขามีเมตตาอย่างเรากำลังมีไม่ได้ จะให้เขามีกุศลจิตอย่างที่เรากำลังมีไม่ได้ แต่เมตตาของเราพร้อมทั้งกาย วาจา ใจหรือไม่ ถ้าเป็นกายกรรม เราอาจจะทำการช่วยเหลือแบบกระแทกกระทั้นรุนแรง ก็จะเป็นความอ่อนโยนขึ้น เพราะรู้จริงๆ ว่ากาย วาจา ที่เป็นไปตามสภาพของจิต ถ้าจิตดี กายก็ดี การกระทำทุกอย่างก็จะอ่อนโยนนุ่มนวล เพราะขณะนั้น เป็นไปตามสภาพของจิตที่ดี ใครรู้ เราเองเป็นฝ่ายที่รู้ แม้แต่การเปลี่ยนที่ท่าอาการก็เพราะจิตขณะนั้น เราก็รู้อีกว่าถ้าจิตขณะนั้นเป็นอกุศลก็จะเป็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อกุศลเกิดขึ้นมีความเมตตาทางกายเกิดขึ้น การกระทำทางกายก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ทางวาจาก็เช่นเดียวกัน ถ้าเขายังไม่สามารถที่จะรับรู้พระธรรมได้ เราก็มีวาจาด้วยความเมตตาประการอื่น ตามความสามารถที่จะกระทำต่อเขาได้ มีวาจาที่น่าฟัง และพร้อมกันนั้น การที่จะอบรมหรือสอนใครต้องดูกำลังของผู้รับด้วย ถ้าเป็นเด็ก เราจะสอนอย่างผู้ใหญ่ก็เป็นไม่ได้เลย หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้สะสมมาที่จะใคร่ครวญไตร่ตรองพระธรรม เขาก็รับไม่ได้อีกเหมือนกัน แต่เราอาจจะแทรกเมื่อถึงกาลที่สมควรด้วยคำเล็กๆ น้อยๆ ขณะนั้นก็เป็นเมตตา เป็นวจีกรรม ทางมโนกรรมก็คือรู้เลยว่าอย่างไรๆ ก็ตาม เราไม่พ้นจากสิ่งที่เราได้กระทำมาแล้ว เพราะฉะนั้น แม้แต่คิดถึงใคร เคยขุ่นข้อง เคยไม่พอใจ ขณะนั้นคิดด้วยความเมตตาว่าบุคคลใดก็ตามที่ได้กระทำอกุศลกรรมไว้แล้ว เมื่อถึงกาลที่อกุศลกรรมให้ผล ใครก็ช่วยไม่ได้ มารดาบิดาก็ช่วยไม่ได้ ญาติพี่น้องมิตรสหายก็ช่วยไม่ได้ ก็จะทำให้เรามีแต่การที่จะคิดเป็นมิตร และก็ช่วยเหลือคนอื่น

    ผู้ฟัง บางครั้งเราเมตตาอย่างเดียวไม่พอ ต้องกรุณาด้วย เช่น เราไปดูแลคนโรคจิต เขาไม่รู้เรื่อง ไปอธิบายอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง ต้องพาเขาไปทำทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เบียดเบียนกำลังทรัพย์หรืออะไรต่ออะไร บางครั้งเราทำไปพอใจก็ต้องทำ ไม่พอใจก็ต้องทำ ปีต้นๆ ก็รู้สึกอึดอัดเบียดเบียนเวลา เบียดเบียนทุกอย่าง เมื่อภายหลังๆ ก็ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ถือว่าเป็นหน้าที่

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วถ้าเข้าใจถูก ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นกำลังอบรมบารมี ทุกคนชอบคำนี้มาก “บารมี”

    ผู้ฟัง แต่ก็ไม่ใช่ง่าย ยากมากๆ

    ท่านอาจารย์ กุศลเกิดยากกว่าอกุศลแน่นอน แต่อบรมบารมีได้ เจริญบารมีได้ เมื่อมีความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อยสะสมไปเรื่อยๆ เพราะว่าถ้ารู้จริงๆ ว่าเราสะสมอกุศลมามากเหลือเกิน ขณะใดที่เป็นกุศลจิต และจะได้ทำกุศลก็ทำทันทีเพื่อเป็นการสะสมจนกว่าจะมีกำลัง มิฉะนั้นโอกาสก็เป็นของอกุศลต่อไป และก็สะสมอกุศลต่อไปอีก

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กรุณาขยายคำว่า “กรุณา”

    ท่านอาจารย์ ช่วยเมื่อบุคคลนั้นมีทุกข์ ให้เขาสบายขึ้นพ้นจากทุกข์

    ผู้ฟัง คนที่เราช่วย เขาก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น ผู้ที่กำลังมีกรุณาจะรู้การกระทำในขณะนั้นว่าประกอบด้วยกรุณามากน้อยแค่ไหน

    ผู้ฟัง แต่เราทุกข์

    ท่านอาจารย์ บังคับไม่ได้ มีเหตุให้ที่จะเกิดความรู้สึกไม่แช่มชื่น ความรู้สึกนั้นก็เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เราก็ไม่ข้ามขั้นใช่ไหม เกิดก็เกิด เกิดแล้วก็หมดไป ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนอยู่ได้เลยสักขณะเดียว เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไป พระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้แต่ละคนที่กำลังมีทุกข์ค่อยๆ คลายทุกข์ไปได้ด้วยความเข้าใจในพระธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อกุศลจิตเกิดมีความเข้าใจในเรื่องของกรรม ที่ได้กระทำไว้ และจะต้องมารับผลของกรรม ในขณะที่เป็นเรื่องเป็นราวนั้น ก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทั้งสองลักษณะนี้ อย่างใดที่จะขัดเกลาในเรื่องของอกุศลมากกว่ากัน

    ท่านอาจารย์ ก่อนจะได้ฟังธรรม มีเราแล้วก็มีเรื่องราวมาก แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็คือเข้าใจถูกต้องว่าถ้าไม่มีธรรม คือปรมัตถธรรม ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป เราก็ไม่มี เรื่องราวต่างๆ ก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี เพราะฉะนั้น จุดประสงค์แม้จะได้ฟังอย่างนี้ กว่าจะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ก็จะต้องอาศัยการน้อมไปที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่าสิ่งที่มีจริงๆ ก็คือจิต เจตสิก รูป เรื่องราวต่างๆ ก็จะสั้นลง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้อธิบายเรื่องวิบากจิตที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็ได้สรุปว่า ถึงจะฟังสักแค่ไหนถ้าหากว่าลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ไม่ปรากฏก็จะมีผลน้อยมาก

    ท่านอาจารย์ ผลอะไรที่ว่าน้อยมาก

    ผู้ฟัง ผลที่จะเข้าใจตัวจริงของธรรมซึ่งเป็นวิบากกรรม ทั้งๆ ที่เข้าใจอย่างนี้ ท่านอาจารย์ก็บอกว่านั่นเป็นเพียงเรื่องราวของสภาพธรรมเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นความจริงโดยตลอด ไม่ผิดเลย ขณะนี้กำลังเห็น ตอบตามตำราได้ใช่หรือไม่ เป็นอะไร เป็นวิบาก นี่คือคำพูดที่คุณประทีปกล่าวเมื่อสักครู่นี้ รู้หมดอกุศลจิตมี ๑๒ เวลาที่อกุศลกรรมได้กระทำแล้ว จะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ ประเภท ก็รู้อีก แล้วก็รู้ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นวิบาก กำลังได้ยินก็เป็นวิบาก กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายก็เป็นวิบาก แต่รู้จริงๆ หรือเปล่าว่าไม่ใช่เรา คำว่า “วิบาก”หมายความว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นสภาพของจิตซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงเป็นเรื่องที่มีหลายระดับ ฟังเข้าใจแต่ยังคงเป็นเราอยู่ พิสูจน์ได้เลย ถ้าถามทุกคนตอบได้หมด แต่ก็ยังเป็นเรา ยังไม่ได้เป็นธรรม และยังไม่ได้รู้ความต่างของวิบากกับกุศล และอกุศลด้วย เพราะว่าโดยชื่อทราบใช่ไหม หลังเห็นแล้วก็ต้องคิด แล้วก็คิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ด้วยโลภะติดข้องต้องการหรือด้วยโทสะ ที่เรากำลังศึกษาเรื่องโทสะ ถ้าเราจะเพียงแต่กล่าวจำนวนก็ไม่มีประโยชน์เลยใช่ไหม ทุกคนก็รู้กุศลจิตมี ๑๒ ประเภท เป็นโลภมูลจิต ๘ เป็นโทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ ประเภท แค่นี้จบ แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องมีความเข้าใจในเหตุ และในผล จนกระทั่งชีวิตประจำวันซึ่งเราไม่เคยคิดเลยว่าเป็นวิบากขณะไหน เป็นกุศลขณะไหน เราก็ต้องแยกให้ถูกต้อง แม้แต่ขณะที่กำลังเห็นว่าชั่วขณะที่เห็นโดยนัยของพระสูตร จะไม่กล่าวโดยละเอียดถึงจิตประเภทอื่นซึ่งเกิดสืบต่อ แต่ในขณะที่เห็นแล้ว มีการพอใจ ไม่พอใจในสิ่งที่เห็น แล้วที่ทรงแสดงไว้เร็วกว่าที่เราคิด ยังไม่ทันเป็นคน สัตว์ วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพียงลักษณะนั้นปรากฏ โลภะ โทสะ โมหะ หรือกุศลจิตก็เกิดแล้ว อย่างนี้จะรู้ได้อย่างไร ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ได้อบรมที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไม่ว่าจะทรงแสดงประเภทของธรรมใด เช่น จิตจะแสดงถึงลักษณะของจิต เจตสิกแต่ละประเภทก็แสดงลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทให้เราไม่สับสนว่าเวทนาความรู้สึกไม่ใช่โลภะ ความรู้สึกเป็นอย่างหนึ่ง และความติดข้องต้องการที่เกิดร่วมกันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดเราเรียน เราเข้าใจ แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของสภาพธรรมเฉพาะแต่ละอย่างซึ่งทรงแสดงโดยละเอียดกว่าที่ใครจะเข้าใจได้ เพราะว่าไม่ใช่เป็นเพียงแต่ทรงแสดงเรื่องของลักษณะ แต่ทรงแสดงกิจของสภาพธรรมนั้น อาการที่ปรากฏของสภาพธรรมนั้น และเหตุใกล้ให้เกิดสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้นผู้ฟังก็เริ่มจะเห็นความห่างไกลของปัญญาระดับฟัง กับระดับที่สามารถจะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม มีคำที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก คุณธิดารัตน์จะยกข้อความที่เป็นความลึกซึ้งนี้ให้ผู้ฟังได้ฟังด้วย ถ้าจะได้รู้จักตัวของเราเองจริงๆ ฟังธรรมแล้วปัญญาของเราแค่ไหน

    อ.ธิดารัตน์ ข้อความในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่มที่ ๑๑ ของมหามงกุฏ บทว่า "คัมภีร คำว่ามีที่ตั้งอันญาณของบุคคลอื่นยังไม่ได้ ยกเว้นพระตถาคต เหมือนมหาสมุทรอันจงอยปากยุงหยั่งไม่ถึงฉะนั้น"

    ท่านอาจารย์ "เหมือนมหาสมุทรอันจงอยปากยุงหยั่งไม่ถึง" ทุกคนหรือไม่ นี่คือข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ถ้าเราประมาท เราก็คิดว่าเราเข้าใจธรรมมากแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย สิ่งที่ดูเป็นธรรมดา ความลึกซึ้ง ถ้าได้รู้แจ้งความจริงก็จะต่างกับเพียงฟัง ซึ่งอุปมาเหมือนมหาสมุทร ซึ่งจงอยปากของยุงหยั่งไม่ถึง เพราะฉะนั้น ก็อดทนต่อไปที่จะเป็นผู้ตรงที่จะรู้สภาพธรรมตามความจริงว่า แม้ว่าจะได้ฟังก็ตามแต่ แต่ความห่างไกลของระดับขั้นของการฟัง และเริ่มเข้าใจ กับการประจักษ์แจ้งก็ต้องไกลกัน และโดยเฉพาะผู้ที่ได้ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใครจะหยั่งถึงความหมายได้ทั่วถ้วน เพียงแต่ว่ากำลังสติปัญญาของใครที่สะสมมาระดับไหนก็สามารถที่จะเข้าใจได้ในระดับนั้น ถ้าไม่พิจารณาบางประโยคที่บางท่านกล่าวก็อาจจะเข้าใจผิดได้ บางท่านอาจจะกล่าวว่า ขณะนี้ท่านไม่หวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม นอกจากอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ คนอื่นฟังอาจจะคิดว่าท้อถอยแล้วคนนี้ ทำไมไม่ไปเพียรมากๆ ทำอะไรที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ความจริงพระธรรมทั้งหมดทรงแสดงให้ละโลภะ แต่ก่อนนั้นบุคคลนั้นไม่รู้เลยว่ามีโลภะระดับไหนที่คิดว่าจะตั้งอกตั้งใจทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแต่ไม่ใช่หนทาง ไม่มีวันที่จะรู้ความจริงได้ เพราะว่า ถ้ารู้ความจริงก็คือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ สามารถที่จะคลายความไม่รู้ในความหมายของคำว่า “รูปารมณ์” สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากับการที่คิดนึกสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าค่อยๆ เข้าใจขึ้นแม้ว่าจะเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เริ่มเข้าใจถูกในลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นแต่เพียงธาตุหรือสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งกำลังปรากฏได้ เพราะกระทบกับจักขุปสาท ก็จะค่อยๆ คลายการที่ยึดมั่นว่ามีคน มีสัตว์จริงๆ เพราะว่าเห็น แต่ความจริงเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ จำ และก็คิดนึก มั่นคงว่ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้จริงๆ จนกว่าจะรู้ ค่อยๆ รู้ทีละนิดทีละหน่อย เมื่อไรก็ได้ขณะไหนก็ได้แล้วแต่ปัจจัยปรุงแต่ง นี่ก็คือความเข้าใจของคนจะต่างกันว่า บางคนคิดว่าถ้าบอกว่าชาตินี้ก็เพียงแต่จะอบรมความรู้ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น นี่แสดงว่าโลภะที่เคยหวังไว้มากๆ และค่อยๆ ลดลงไปแล้วตามความเข้าใจถูก มิฉะนั้น ก็จะมีแต่โลภะที่จะทำให้เห็นผิดเข้าใจผิดตลอดไป นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเข้าใจจริงๆ จะรู้ความหมายที่ทรงแสดงว่าพระธรรมทั้งหมดเพื่อละ แต่ว่าต้องรู้จริงๆ ว่าละอะไร สิ่งที่ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ด้วยโลภะก็ไปเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นได้ เช่น การรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    พระคุณเจ้า กรุณา คือการช่วยเหลือบุคคลที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก เช่นผู้ที่ประสบทุกข์ภัยทางธรรมชาติ บางครั้งเราไปช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และทำให้เรารู้สึกไม่ดี ต่อเหตุการณ์หรือบุคคลนั้น ก็ควรจะหลีกเลี่ยงถ้าหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ควรจะมนสิการว่าเป็นวิบากของเรา

    อ.สมพร การที่เราจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ก็ยากเหมือนกัน แต่ว่าคนทั้งหลายเกิดมาด้วยกรรมของตน จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น เราก็ช่วยได้นิดหน่อย ช่วยได้โดยที่ว่าให้ตั้งอยู่ในศีลบ้าง ในทานบ้าง ในธรรมที่ถูกต้องบ้าง เราก็แนะนำในบุญกิริยาวัตถุ สิ่งที่นอกจากบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แล้วก็ไม่มี การช่วยเหลือก็ต้องดูเหตุการณ์ ช่วยเหลือเพื่ออนุเคราะห์ ช่วยเหลือเพื่อเป็นที่พึ่งแก่เรา และบุคคลทั่วๆ ไปด้วย

    พระคุณเจ้า บางครั้งเราอาจจะไปพบบุคคลที่เป็น "วิสภาคะ" กับเรา อาตมาเคยทดลองกับตัวเองว่า คนๆ นี้เป็น "วิสภาคะ" แก่เรา เราไม่ชอบเขา เขาก็ไม่ชอบเรา เกิดเขามาคุยกัน ก็มาทำเป็นกระมิดกระเมี้ยน ทำเป็นมารยาทดีก็จริง แต่ว่าโทสะก็เกิดขึ้นตามมาตลอด เราระลึกถึงสภาวะคือโทสะอยู่ อาจารย์ก็เลยบอกว่าเราควรจะหลีกเลี่ยง พยายามห่างวัตถุที่เป็นอาฆาตวัตถุออกไป อกุศลจิตของเราจะได้ไม่เกิดขึ้น เมื่ออกุศลจิตไม่เกิดขึ้น โอกาสที่เราจะเจริญศีล สมาธิ ปัญญา หรือให้ทาน รักษาศีล เจริญบุญกิริยาวัตถุก็จะง่ายกว่าที่จะไปพบสิ่งที่เป็น "อาฆาตวัตถุ" หรือเป็น "วิสภาคะ" แก่เรา

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทราบได้ว่าขณะต่อไปจะเห็นอะไร พระคุณเจ้าจะไปที่โน่นก็คงจะไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้แต่ผู้ที่ได้รับภัยพิบัติ ก็ไม่ได้รู้ล่วงหน้ามาก่อนเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างให้ทราบว่ามีปัจจัยก็เกิด และสำหรับเรื่องของการช่วยเหลือ การช่วยบุคคลอื่นเป็นกุศลจิต แต่ว่าผู้รับพร้อมที่จะรับสิ่งที่เราช่วยหรือไม่ เพราะว่าความทุกข์มีหลายรูปแบบ ทุกข์ไม่มีที่อยู่อาศัย และทุกข์อะไรๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นได้ว่าการช่วยเหลือของแต่ละบุคคลตามความถนัด และตามความสามารถ ผู้ใดมีความสามารถในเรื่องการสร้างที่พักก็ช่วยในเรื่องนั้น ผู้ใดมีความสามารถที่จะสะสมอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะบริจาคก็ช่วยเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็มีกุศลจิตตามความถนัด ถ้าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจธรรม ก็จะมีความเข้าใจว่า ช่วยคนอื่นถ้าเขายังมีความเห็นผิด หรือว่ามีความไม่รู้ ช่วยเท่าไรก็ไม่จบเพราะว่ายังคงมีความเห็นผิดต่อไป และก็ยังมีอกุศลต่อไปซึ่งจะทำให้ทำอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องได้รับอกุศลวิบากซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกภพทุกชาติ

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าบุคคลใดพร้อมที่จะฟังสิ่งที่มีเหตุผล เราก็อาจจะสนทนากับเขา แต่เรื่องการช่วยเหลือ ถ้าเราจะนำพระคัมภีร์ไปอ่านหรือพูดเรื่องราวแบบเทศนาก็อาจจะไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจขณะนั้นได้มากตามสมควร เท่ากับสิ่งที่เขากำลังเป็น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการสนทนาธรรมในเรื่องที่เขาพร้อมที่จะเข้าใจได้ในขณะนั้น เช่น ทุกคนไม่มีใครหวังว่าสิ่งที่ร้ายๆ จะเกิดขึ้น แต่ว่าทุกคนเมื่อมีกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อกรรมนั้นถึงกาลที่ให้ผลก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างของผู้ที่ได้รับภัยพิบัติร่วมกันมีนานาอาชีพ นานาวัย ต่างกันไปโดยประการต่างๆ เมื่อถึงกาลที่กรรมของแต่ละบุคคลจะให้ผลก็ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้เลย อย่างนี้ก็ค่อยๆ แสดงให้เขาเห็นความจริงว่าทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เขาก็จะเริ่มเข้าใจความหมายของอนัตตา และก็ยังแสดงให้เห็นว่าการที่เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว แต่ละคนได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน บางคนก็รอดชีวิตได้แต่ก็มีบาดแผลมีอะไรต่างๆ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการให้ผลของกรรมซึ่งก็ต่างกันไป ถ้าสามารถที่จะทำให้เขาเข้าใจได้ถูกต้องในเรื่องของกรรม และผลของกรรม ก็จะทำให้เขาค่อยๆ คลายความเศร้าเสียใจว่าทำไมเขาถึงได้รับผลอย่างนี้ โดยที่เขาไม่รู้ว่าเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องพร้อมทั้งผู้รับ และผู้ให้ด้วย แต่ถ้าเป็นคนที่เขาไม่อยู่ในฐานะที่รับฟังอะไรได้ กำลังทุกข์โศกอย่างสาหัสถึงกับจิตแพทย์ ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของยา หน้าที่ของหมอ นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนซึ่งถ้ามีกุศลจิตจะช่วย ก็ช่วยตามกำลังด้วยปัญญาที่รู้ว่า เขาสามารถจะเกิดความเข้าใจถูกต้องได้แค่ไหน แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทุกข์ก็มาซ้ำแล้วซ้ำอีกทับถม ไม่เรื่องนั้นก็เรื่องนี้ แต่ถ้ามีปัญญาขึ้น ไม่ว่าทุกข์ใดๆ จะมาในรูปแบบใด เขาก็สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกได้ ก็ตามฐานะของแต่ละบุคคล ตามเพศด้วยว่าเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต

    ผู้ฟัง สภาพจิตของตัวเราเองในขณะที่เห็นเหตุการณ์ หรือว่าประสบกับเหตุที่ผู้อื่นได้รับทุกข์ แล้วทำให้เราไม่อยากจะเห็นภาพนั้น เพราะว่ากำลังของกุศลเราไม่มี แล้วเราก็วิ่งหนีๆ จากอกุศลนั้นที่เราพบ เพราะเราก็ไม่อยากจะเห็นไม่อยากจะพบ เพราะเป็นสภาพของความสลดใจ แต่ว่าจริงๆ แล้วจากการศึกษาธรรม อย่างนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ กำลังมี ๒ ฝ่าย กำลังของ "หิริโอตตัปปะ กับกำลังของอโนตตัปปะ" เพราะฉะนั้นเราก็รู้ได้เลยว่า ขณะนั้นเมื่อมีสิ่งที่เกิดเฉพาะหน้า อะไรมีกำลัง "หิริโอตตัปปะ" มีกำลังจะช่วยเพราะว่าที่นั่นไม่มีใครอีกแล้ว และเขาก็อยู่ในฐานะที่ลำบาก กำลังเป็นตายเท่ากันก็แล้วแต่สถานการณ์ ถ้ากุศลจิตเกิดก็ช่วย แต่ถ้า "อหิริกะ อโนตตัปปะ" มีกำลัง ก็ไปเลย เพราะว่าไม่สามารถจะช่วยได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมทั้งหมดซึ่งจากการฟัง และการไตร่ตรอง เราก็จะรู้ได้ว่าเราสะสมปัจจัยสำหรับสถาการณ์ใด บางคนง่ายที่จะมีเมตตา แต่ยากที่จะกรุณา หรือว่าอาจจะมีความกรุณาด้วย แต่ไม่ถึงกับสามารถจะไปช่วยได้ ก็รู้กำลังความสามารถของตัวเองด้วยว่าอาจจะช่วยไม่เป็น แทนที่จะรอดก็อาจจะซ้ำเติมอาการหนักขึ้นก็ได้หรืออะไรอย่างนั้น แต่ไม่ใช่เรื่องแก้ตัว ธรรมต้องตรง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล

    ในบรรดาธรรมที่เป็นพรหมวิหาร เมตตา การที่มีความหวังดี เป็นมิตรต่อผู้อื่น ที่จะเจริญขึ้นคือไม่เลือกเลยว่าบุคคลนั้นเป็นใคร ไม่ใช่กับมิตรสหายเมตตาได้ แต่เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ มีใครเป็นโรคชนิดไหนมากระทบก็เกิดความรังเกียจ ขณะนั้นก็คือไม่เมตตา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เมตตาเป็นสิ่งที่ดี เรามีระดับไหน สำหรับกรุณา คือมีความเข้าใจ เห็นใจในความทุกข์ของคนอื่น แต่ว่ามีกำลังถึงขนาดช่วยได้หรือไม่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ