พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
ตอนที่ ๑๗๐
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ แม้แต่เมตตาเป็นสิ่งที่ดี เรามีระดับใด สำหรับ "กรุณา" คือความเข้าใจ มีความเห็นใจในความทุกข์ของคนอื่น แต่ว่ามีกำลังถึงขนาดช่วยได้หรือไม่ หรือว่าก็สงสาร ก็เข้าใจ ก็เห็นใจ แต่ว่าไม่สามารถที่จะช่วยได้ เพราะว่าสะสมมาที่จะไม่ไปเข้าใกล้เลือดหนองอะไรพวกนี้ก็เป็นไปได้ "มุทิตา" ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คือผลของกุศลกรรม ยินดีด้วยในผลของกุศลนั้นหรือไม่ ง่ายหรือยากสำหรับแต่ละบุคคล "อุเบกขา" ความไม่หวั่นไหว เมื่อไม่สามารถที่จะช่วยได้ด้วยประการทั้งปวง ก็รู้แน่นอนว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้เป็นที่รัก มารดา บิดา บุตร มิตรสหายก็เป็นผู้ที่มีกรรมเป็นของๆ ตนก็ไม่หวั่นไหว
เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ง่ายต่อการที่จะมีเมตตาหรือง่ายต่อการที่จะมีกรุณาระดับใด ง่ายต่อการที่จะมีมุทิตา ง่ายต่อการที่จะพิจารณาถึงกรรม และมีความเข้าใจ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าบุคคลนั้นจะได้รับสุขทุกข์เพราะอะไร เป็นใคร แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่จะรู้ได้ และก็รู้ว่ายังขาดอะไร ก็อาจจะเป็นผู้ที่อบรม แต่ละคนแต่ละหนึ่งตามการสะสม จะเหมือนกันไม่ได้เลย มีความยิ่งหย่อน แม้ในเรื่องของพรหมวิหาร ในเรื่องของอธิบดี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวๆ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เราก็จะไปคลายเครียด ก็คือวิ่งไปหาโลภะ ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าเป็นอกุศลจิตทั้งคู่ แต่เราก็ยังปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ก็เครียดต่อ ใช่หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ไม่พ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าผู้ที่มีปัญญาก็สามารถที่จะแยกได้ ว่าขณะที่มีความเพลิดเพลินซ้ำอีกแล้ว ก็ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทุกวัน ซ้ำอีกแล้ว เรื่องก็ซ้ำ ถ้าเป็นเรื่องที่เราสนใจ เราจะติดตามซ้ำกี่วัน ก็อยู่ตรงนั้นแหละ เรื่องใหม่ก็มาอีก ก็ซ้ำอีก ก็ไม่พ้นจากอกุศลธรรม
เพราะฉะนั้น เราจะหวังว่าจะมีกุศลมากๆ และอกุศลน้อยๆ ถูกหรือไม่ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็พูด ก็เข้าใจในเรื่องกุศลว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่กำลังของอะไรมีมากกว่า ถ้าอกุศลมีมากกว่า รู้อย่างนี้ก็สะสมกุศลเพื่อที่จะให้มีกำลัง ก็แค่นี้เอง คือหน้าที่ๆ เราจะต้องสะสมกระทำต่อไป ไม่ใช่ว่าเราจะไปอยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยพยายาม หรือโดยคิดที่จะบันดาลได้ทางอื่น โดยเฉพาะเรื่องของปัญญา จะต่างกับกุศลระดับอื่นเพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่เจริญช้า เติบโตช้ามาก
ผู้ฟัง คือเรื่องเมตตาพอจะได้ แต่เรื่องกรุณาอย่างที่อาจารย์ว่าคนเจ็บป่วย มีโรคหรือเป็นแผล ปกติดิฉันจะเป็นคนที่เกิดโทสะ ถ้าช่วยจะยากมาก อย่างนี้เราจะต้องฝึกฝนอบรมใหม่ให้ช่วยได้ไหม หรือจะปล่อยไปอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครไปบอกให้ใครทำอะไรได้เลย เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
ผู้ฟัง แต่ถ้าเราไม่ขวนขวายที่จะดีขึ้น ก็จะกลายเป็นความประมาท และก็ปล่อยไปตามอกุศล
ท่านอาจารย์ นั่นก็คือความคิดของตัวเองใช่ไหม ก็ถูกต้อง สะสมมาอย่างไรที่จะคิดอย่างไรขณะไหนก็เกิดขึ้นคิดอย่างนั้นในขณะนั้น ถึงเวลาจริงๆ ก็รู้
ผู้ฟัง แต่ถ้าทำไม่ได้
ท่านอาจารย์ นั่นสิ ถึงเวลาจริงๆ ก็รู้ว่าสะสมมาที่อะไรจะเกิดขึ้นในขณะนั้นก็ต้องเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น
ผู้ฟัง แล้วจะเป็นโทษต่อไปใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อกุศลเป็นโทษหรือไม่
ผู้ฟัง เป็น แต่ก็ต้องสะสมกุศลเพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ แต่ละบุคคลคิดได้ แต่ขณะนี้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ คือกำลังฟังเพื่อเป็นการสะสมความเห็นถูก เข้าใจถูก เพราะว่าถ้าเป็นปัญญา เป็นความเห็นถูกจะนำมาซึ่งกุศลทุกประเภท ไม่ใช่ว่าเมื่อเกิดปัญญาแล้วกุศลอื่น จะไม่เจริญเลย แต่เมื่อมีปัญญาแล้วก็จะเป็นปัจจัยให้กุศลอื่นเจริญขึ้นด้วย
ผู้ฟัง กุศลอื่นเจริญ แต่กุศลตรงนี้ไม่เจริญ
ท่านอาจารย์ ก็รู้ตัวเอง ขณะนี้คิดอย่างไร ก็ตามการสะสมที่จะคิดอย่างนี้
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมโดยประการทั้งปวงเพื่อให้เจริญกุศลซึ่งจะดับอกุศลทั้งหมดได้ นี่คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วเราจะทำตามได้แค่ไหน ตามการสะสม
ผู้ฟัง ถ้าเราทำได้เท่าที่เราทำแล้วได้ไหม
ท่านอาจารย์ ได้ไหม ก็คือเราก็ทำไปแล้ว ไม่มีการอนุญาต ไม่มีการบอก การสั่งอะไรเลย เข้าใจแล้วก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แม้ว่าทรงแสดงอย่างนี้ และสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้หรือเป็นอย่างอื่นตามการสะสมของแต่ละคน
ผู้ฟัง ถ้าเราทำไม่ได้ แล้วเราต้องฝืนทำหรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” ถ้าเข้าใจก็คือว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย สะสมปัจจัยที่จะทำให้เห็นถูก เข้าใจถูก และกุศลทั้งหลายก็จะเจริญขึ้น
ผู้ฟัง แต่กุศลนี้อาจจะอ่อนหน่อย
ท่านอาจารย์ คิดเอง ก็แล้วแต่คิด ยังไม่เกิดจะรู้ได้อย่างไร ขณะต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้
ผู้ฟัง แต่ถ้าเราฝึกอบรมที่จะกรุณาช่วยเขามากขึ้น จะได้ไหม
ท่านอาจารย์ ถามใคร ขออนุญาตใคร จะเชื่อใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าควรเจริญกุศลทุกประการ เพื่อจะละอกุศลให้ดับเป็นสมุจเฉท ใช้คำว่า “ควร” แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะคิดอะไรอีก
ผู้ฟัง กราบเรียนถามเรื่อง “อนุโมทนา” มีความสงสัยอยู่ว่า ถ้าเป็นกุศลที่เรากระทำ จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เช่นนี้ก็เป็นเหตุของกุศลที่จะทำให้เกิดผลของกุศลในภายหลัง แต่เมื่อคนอื่นทำกุศล แล้วเรามีจิตอนุโมทนา
ท่านอาจารย์ ขณะที่อนุโมทนาในกุศลของคนอื่น จิตที่อนุโมทนาเป็นกุศลหรือไม่
ผู้ฟัง ก็มีบ้าง
ท่านอาจารย์ ขณะที่อนุโมทนา ขณะนั้นที่อนุโมทนาในกุศลของบุคคลอื่น เป็นจิตที่เป็นกุศลหรือไม่ที่อนุโมทนา
ผู้ฟัง ตามที่ศึกษามาใช่ แต่จริงๆ ตามสภาพจริงของตัวเราเอง ขณะจิตที่เรากล่าวคำว่าอนุโมทนาด้วย แต่บางครั้งไม่ได้เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำที่กล่าว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพจิต วันนี้ ดอกไม้ที่บูชาสักการะพระบรมสารีริกธาตุสวยหรือไม่
ผู้ฟัง สวย
ท่านอาจารย์ คิดถึงผู้ที่จัดทำหรือไม่ คิดถึงผู้ที่มอบดอกไม้ให้หรือไม่ ขณะนั้นถ้าเกิดกุศลอนุโมทนา ก็ไม่ใช่เพียงแต่ว่าสวย แต่ถ้าไม่มีผู้จัดทำ และไม่มีดอกไม้ จะไม่มีสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เลย เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง เราสามารถจะอนุโมทนาในกุศลจิตของแต่ละบุคคลได้เสมอ เมื่อกุศลจิตเกิด ไม่ใช่เพียงแต่สวย แต่ยังคิดถึงกุศลจิตของผู้ที่จัดทำ ท่านที่มาแต่เช้า ก็จะเห็นว่า ดอกไม้เสร็จเรียบร้อย เพราะฉะนั้น ผู้จัดจะต้องใช้เวลาจัดนานสักเท่าไหร่ ในการนำมาซึ่งดอกไม้นั้นด้วย หรือแม้แต่อาหารหรือทุกอย่าง สวน ดอกไม้ หรืออะไรทุกอย่างก็เรียบร้อย อนุโมทนาในกุศลจิตของบุคคลอื่นหรือไม่ และขณะที่กำลังอนุโมทนา จิตขณะที่อนุโมทนาเป็นกุศลหรือไม่ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการที่เราต้องกล่าวอนุโมทนาๆ แต่จิตขณะนั้นผ่องใสเมื่อเป็นกุศล ระลึกถึงสิ่งที่ดีความดีของบุคคลอื่น
ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมก็เกิดด้วยเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลที่สะสมมา อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว จะให้คิดถึงผู้จัดหรือผู้บริจาค สำหรับตัวดิฉันเองก็ยังคิดไม่ได้ถึงขนาดนั้น
ท่านอาจารย์ ไม่อนุโมทนาเลยหรือ
ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว บอกว่าอนุโมทนา ก็ไม่ได้คิดลึกซึ้งเหมือนท่านอาจารย์กล่าว
ท่านอาจารย์ ไม่ได้คิดถึงอกุศลจิตของผู้ทำหรือ ตื่นแต่เช้าไหม เรากำลังนอนหลับสบาย ทุกก้านที่จัด และก็ใส่ลงไปในแจกัน เพื่ออะไร เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ขณะนั้นจิตของเราเป็นกุศลหรือไม่ ที่เห็นในกุศลของคนอื่น แต่ถ้าจะไปคิดว่า เขากำลังมีโลภะที่กำลังจัดดอกไม้ให้สวยๆ ขณะนั้นจิตของเราก็เป็นอกุศล ไม่ได้คิดถึงกุศล
ผู้ฟัง การอนุโมทนาในกุศลจิตของผู้อื่น
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้องด้วยคำพูด เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นเห็นความดีของคนอื่น และชื่นชมอนุโมทนาในความดีนั้น
ผู้ฟัง แล้วเราก็รู้ว่าสิ่งนี้คือกุศล
ท่านอาจารย์ ต้องเรียกชื่อหรือไม่ หรือว่าถ้าไม่เรียกอย่างนี้ไม่ใช่กุศล แล้วเราไม่ทำ หรืออย่างไร หรือต้องเป็นกุศลก่อน รู้ก่อนถึงจะทำ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การศึกษาธรรม จะศึกษาให้เข้าใจความต่างของกุศลจิต และอกุศลจิต ถ้าเป็นอกุศลจิตก็จะต้องประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ก็จะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ และกุศลก็จะต้องเป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของภาวนา ซึ่งถ้าเราศึกษาโดยละเอียด เราก็จะเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าทานนั้นไม่ใช่เพียงแต่การให้วัตถุสิ่งของ ขณะใดที่สละสิ่งใดที่เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น แม้แต่ธรรม แม้แต่การให้อภัย ก็ทำให้บุคคลอื่นมีความสุข เขาไม่ต้องเดือดร้อนเพราะความโกรธของเราหรือเพราะความคิดเบียดเบียนของเรา
ผู้ฟัง ในวันนี้ ขณะที่เราฟังธรรม อย่างน้อยๆ จะต้องมีกุศลจิตแน่นอน และจะต้องมีสภาพของกุศลที่จะให้ผู้อื่นสามารถอนุโมทนาได้
ท่านอาจารย์ มีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง ก็กุศลที่เราประกอบในวันนี้
ท่านอาจารย์ นั่งอยู่ตรงนี้ฟังธรรม คนอื่นอนุโมทนา ซึ่งความจริงต่างก็อนุโมทนาในกัน และกันได้ เพราะว่าทุกท่านที่มาฟังด้วยกุศลจิต ไม่อย่างนั้นก็ ไปที่ไหนก็สนุกสนานรื่นเริงดีมีวงศาคณาญาติ เพราะว่าแต่ละบ้านก็มีพี่ มีน้อง มีบุตร มีหลาน มีความบันเทิงต่างๆ แต่ว่าสามารถที่จะละสิ่งเหล่านั้น แล้วก็มาเพื่อฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นก็อนุโมทนาทุกท่านที่สามารถที่จะมา และฟังพระธรรมได้ ขณะนี้ก็เป็นอนุโมทนาแล้ว
ผู้ฟัง นั่นคือลักษณะสภาพจิตของผู้อนุโมทนา แต่ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ถึงลักษณะจิตที่เราเป็นผู้ทำกุศล
ท่านอาจารย์ ก็คือผู้อนุโมทนา
ผู้ฟัง ลักษณะของการอุทิศส่วนกุศล จำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีชีวิตอยู่หรือว่าล่วงลับไปแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาที่ใช้คำว่า อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเขาอาจจะรู้ได้ แต่ว่าสำหรับบุคคลอื่นซึ่งยังไม่สิ้นชีวิต ถ้าเขาอาจจะรู้ได้ทางอื่น เราก็คงไม่ต้องอาศัยทางนี้ใช่หรือไม่ ไม่ต้องอาศัยทางประกาศว่าอุทิศส่วนกุศลนี้ให้บุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ทำกุศลแล้ว ใครจะอนุโมทนาก็ย่อมได้ทั้งนั้นเลย โดยที่เราไม่ต้องบอก เขาก็อนุโมทนาได้ แต่ถ้าเราเจาะจงให้บุคคลใด เราก็กล่าวถึงบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่คนนั้นยังไม่สิ้นชีวิต แล้วเราทำกุศล เจาะจงให้บางบุคคลได้ร่วมอนุโมทนา มารดาบิดาก็ได้ เราก็ไปกราบเรียนท่านว่าเราได้ทำกุศลอย่างนี้เพื่อท่านจะได้อนุโมทนา เพราะวันหนึ่งๆ ลูกหลานทำอะไรบ้างก็ไม่รู้ ไปทำสิ่งที่ไม่ดีมากมาย สนุกสนาน แต่ว่าสิ่งที่ดี ถ้าท่านเป็นผู้ที่หวังดีอนุโมทนาในกุศล อยากให้บุตรหลานได้เจริญทางฝ่ายกุศล เราก็ไปเรียนท่านว่าวันนี้เราได้ทำอะไรบ้าง ถ้าคุณสุกัญญายังมีมารดา บิดา คุณสุกัญญาก็บอกว่าวันนี้ไปเรียนธรรมตอนเช้า กลับกี่โมง อย่างนี้อะไรก็ได้ นั่นคืออุทิศส่วนกุศล หมายความว่าให้ท่านได้อนุโมทนาสำหรับบุคคลที่ยังมีชีวิตยู่ แต่ถ้าบุคคลที่ไม่มีชีวิต ล่วงลับไปแล้ว ก็อุทิศโดยการทำกุศล และอุทิศเป็นคำพูดให้ท่านได้ล่วงรู้ จะไปหาท่านก็ไม่ได้ ก็เพียงแต่ทำเท่าที่จะให้ท่านรู้ได้
ผู้ฟัง เช่น เราเป็นเพื่อนกัน ในวันอาทิตย์เราไม่มีโอกาสมา แต่เพื่อนเรามีโอกาสมา เราก็มีจิตอนุโมทนาในกุศล
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง โดยเขาก็ไม่ได้มาบอกเรา
ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น เป็นกุศลจิตของเราซึ่งเกิดจากการอนุโมทนายินดีด้วยในกุศลจิตของบุคคลอื่น ไม่ต้องใครรู้เลย อีกอย่างหนึ่งที่คุณสุกัญญากล่าวถึง และใครหลายๆ คนก็มักจะพูดว่า ได้บุญหนึ่งแก้ว "ได้" หรือว่า"จิตเป็นกุศล" สิ่งนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะว่าบางคนจะถามว่าได้บุญไหม ถ้าบอกว่าได้ก็ทำ ถ้าบอกว่าไม่ได้ก็ไม่ทำเพราะว่าหวังได้ แต่ขณะนั้นไม่เป็นบุญเลยทั้งหมด แต่ถ้าเป็นกุศลจิตเช่นนี้ใครก็จะเอาสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วไปที่อื่น ให้ล้มหายไปไม่ได้ เพราะว่าสิ่งนั้นเกิดแล้ว สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อๆ ไป ที่จะทำให้กุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมนั้นเกิดตามควร
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่คำนึงถึงว่าได้บุญ เลิกคิดเรื่องนี้ เอามาทำไม โลภะได้หนึ่งแก้ว หรือว่าวันนี้ได้สองแก้ว แต่ความจริงจิตเป็นกุศลหรือไม่ อย่างนี้น่าคำนึงถึง เพราะว่าอกุศลจิตเป็นอย่างหนึ่ง และกุศลจิตก็เป็นอย่างหนึ่ง อกุศลจิตก็เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม ส่วนกุศลจิตทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ก็เป็นกุศลได้
ผู้ฟัง ความรู้สึกของผมถ้าอนุโมทนาในกุศล อย่างเช่น จัดดอกไม้สวย หรืออุตส่าห์มาฟังธรรม ก็ขออนุโมทนาในกุศล
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ไม่ต้องขอ อนุโมทนาคือจิตยินดีด้วยในกุศลของบุคคลนั้น
ผู้ฟัง แต่ถ้าอุทิศส่วนกุศล หมายถึง คนที่ตายไปแล้ว ผมคิดอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ผมก็คิดอย่างนั้นอยู่ สมมติว่าผมจะไปทำบุญงานศพ ใส่ซองไป ๕๐ บาท ๑๐๐ บาทอะไรก็ตามแต่ แล้วผมก็จะเขียนว่าอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ถ้าเผื่อในกรณีอย่างนั้น เราไม่รู้จะเรียกว่าอนุโมทนายังไง
อ.กุลวิไล ถ้าเป็นกุศลที่เราจะอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ กุศลที่เราได้กระทำแล้วสามารถที่จะอุทิศให้ผู้อื่นล่วงรู้ และอนุโมทนาได้ แต่ก็แล้วแต่ว่าอยู่ในภพภูมิที่เขาสามารถจะรับได้ แต่แล้วแต่ว่าเป็นการอนุโมทนาในกุศลของผู้อื่น หรือทำกุศลแล้วอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้อื่น
ผู้ฟัง สมมติว่าผมทำบุญกฐินให้คุณพ่อ เป็นจำนวนแสนบาทล้านบาทก็ตามแต่ ผมก็อุทิศส่วนกุศลให้คุณพ่อที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วคนที่มาข้างๆ ก็บอกว่าอนุโมทนาด้วย อย่างนั้นถูกหรือไม่ ผมติดใจตรงใช้คำ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ควรที่จะเข้าใจความต่างกันในเรื่องของทานว่ามี ๓ อย่าง ทาน คือการให้ซึ่งบุคคลนั้นเป็นผู้ให้ ขณะที่ให้สำเร็จเสร็จไปแล้ว กุศลนั้นก็เสร็จแล้ว ได้กระทำไปแล้ว แต่ว่าเมื่อได้กระทำกุศลแล้ว ก็ยังสามารถที่จะเกิดกุศลโดยอุทิศกุศลที่ได้ทำให้บุคคลที่สามารถรู้อนุโมทนาคือให้เขาเกิดกุศลจิตของเขา นี่อีกประการหนึ่งแยกจากขณะที่ทานกุศลได้กระทำแล้ว เพราะว่าบางคนทำทานกุศลแต่ไม่ได้อุทิศส่วนกุศลก็มี เช่น เวลาที่ฟังพระธรรมเสร็จแล้วต่างคนต่างกลับหรือว่าอุทิศส่วนกุศล ก็เป็นกุศลอีกประเภทหนึ่งหรืออีกประการหนึ่ง
เพราะฉะนั้น นอกจากมีทานการให้ด้วยตัวเอง ก็ยังมีการอุทิศส่วนกุศลคือกุศลที่ได้กระทำแล้วให้คนอื่นสามารถที่จะอนุโมทนา ถ้าเขาสามารถจะรู้ได้ แต่ถ้าเขาไม่รู้ เขาก็ไม่อนุโมทนา กุศลจิตเขาก็ไม่เกิด แต่ผู้ที่อุทิศ ขณะอุทิศเป็นกุศลจิต ก็หลังจากที่ทานกุศลได้กระทำแล้ว ก็ยังมี "ปฏิทาน" คือการอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นด้วย และถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่สิ้นชีวิต เราก็อาจจะเรียนให้บุคคลนั้นทราบด้วยตนเองเพื่อกุศลจิตของท่านจะได้เกิด แต่ถ้าท่านล่วงลับไปแล้ว เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าท่านอยู่ในภูมิไหนภพไหน เพราะฉะนั้นก็อุทิศไปเพื่อว่าเมื่อท่านสามารถที่จะรู้ได้ก็จะเกิดกุศลจิตอนุโมทนา แต่เรื่องของท่านจะเกิดกุศลจิตหรือไม่เกิดกุศลจิต เราไม่สามารถจะล่วงรู้ได้ แต่จิตเราที่เกิดขณะอุทิศก็เป็นกุศล นี่ก็อีกอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งคือ ยินดีด้วยในกุศลจิตของบุคคลอื่นที่ใช้คำว่า "อนุโมทนา" แม้แต่ไม่พูด แต่ขณะที่กำลังอนุโมทนา คือยินดีด้วยในกุศลจิตของผู้อื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศลประเภทนี้
ผู้ฟัง รู้สึกว่าเรียนอย่างนี้ ค่อยๆ เปลี่ยนความรู้สึกของเราไปทีละนิดๆ แต่ก็กลับไปอีก
ท่านอาจารย์ ต้องฟังบ่อยๆ ถ้าเรามีอกุศลมากๆ แล้วเรารู้ว่ามีอกุศลมากๆ นั้นถูกต้อง ไม่ต้องไปรังเกียจเลย ดีกว่ามีแล้วไม่รู้มานานแสนนาน แล้วก็ไม่เคยรู้เลยว่าเรามีอกุศลมากถึงอย่างนี้ แต่ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ตอนที่เรามีอกุศลมากๆ แล้วไม่เข้าใจ เป็นอกุศลตลอดหมดไม่มีแม้แต่จะเข้าใจถูกว่าขณะใดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้วรู้ ตอนที่รู้ ขณะที่รู้เป็นความถูกต้อง เป็นกุศล เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงอาจหาญ ร่าเริง ที่จะรู้ความจริงทุกอย่างจนถึงอริยสัจจ์ ๔ เราจะไม่รู้เลยว่าจะต้องอาจหาญแค่ไหนจึงสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะแม้อกุศลจิตเกิด ไม่อาจหาญแล้ว เป็นเราแล้ว อาจจะโทมนัส อาจจะแย่มากอะไรอย่างนั้น แต่ถ้าอาจหาญมีความเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และก็มีความเข้าใจค่อยๆ ตรงขึ้น ถูกขึ้น จนถึงอาจหาญที่ว่าไม่ใช่เรา เพราะทั้งหมดที่แย่ลงก็คือเรา ที่ดีขึ้นก็เป็นเรา ทั้งหมดก็ยังเป็นเรา จนกว่าจะอาจหาญที่จะสละความเป็นเรา เพราะเหตุว่า เรามีบุคคลซึ่งเป็นที่รักมาก วงศาคณาญาติสนิทคุ้นเคยก็มากน้อยต่างกัน จะไม่มีคนเหล่านั้นเลย ไม่เหลือเลย แม้แต่เราก็ไม่เหลือ เพราะฉะนั้น จะต้องอาศัยความอาจหาญร่าเริงจึงสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะความเป็นเราจะคอยเข้ามา อาจจะเสียดาย หรือว่าทนไม่ได้ที่จะไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ว่าตามความเป็นจริงธรรมก็คือธรรม ต้องเป็นผู้ที่กล้าจริงๆ
จริงๆ แล้วเริ่มที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า “สังขารขันธ์” ที่เราได้ยินบ่อยๆ รูปขันธ์ไม่ใช่สภาพรู้ เวทนาขันธ์เป็นความรู้สึกซึ่งเราก็มี เช่น เวลาที่คุณเด่นพงศ์จะไม่พอใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ ขณะนั้นความรู้สึกก็เป็นโทมนัส สัญญาขันธ์ก็มี ก็มีคือจำ แม้แต่ขณะนี้ก็จำ จำทุกขณะจิต แต่สังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งจากการที่คุณเด่นพงศ์ไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้มาก่อน แต่หลังจากที่การฟัง ไม่ว่าจะเป็นสติ ศรัทธา อโลภะ อโทสะ หิริ โอตตัปปะ ทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งเกิดกับกุศลจิตจะปรุงแต่งอย่างละเอียดมาก ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าแม้แต่ขณะที่คิดอย่างนี้ เพราะได้ปรุงแต่งที่จะเป็นคำแต่ละคำตามความคิดแต่ละขณะ นี่ก็เริ่มเข้าใจสังขารขันธ์ที่จะรู้ว่าไม่มีเรา ถ้าพูดถึงขันธ์ ๕ ก็คือสภาพธรรมได้แก่ จิต เจตสิก รูป และรูปก็รู้ว่าคืออะไร เวทนาก็รู้ว่าคืออะไร วิญญาณก็รู้ว่าคืออะไร สัญญาก็รู้ว่าคืออะไร ทั้งหมดที่แต่ละคนจะคิดก็คือสังขารขันธ์
ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า จะคิดอย่างไรดี ตรุษจีนจะไหว้ดีหรือไม่ หรือจะทำอะไรดี ญาติก็จะรุมกันมาถาม ดิฉันก็บอกว่าจริงๆ แล้วส่วนกุศลที่ญาติจะได้รับ คือการทำบุญ และอุทิศส่วนกุศล ถ้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายเราไหว้อยู่ แล้วเราจะไปขัดคอก็เป็นการกระทำที่หักหาญน้ำใจ จะไหว้ก็ได้ แต่ก๋งกับยายกินอาหารที่เราตั้งไว้ไม่ได้แล้ว ตอนจุดธูปก็คิดให้ถูก อย่าไปคิดว่าเชิญเขามากินอาหารเหล่านี้ นี่เป็นการคิดที่ถูกต้องหรือไม่
อ.กุลวิไล พิธีกรรมตามประเพณีของแต่ละศาสนาโดยเฉพาะของชาวจีนที่เขามีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จริงๆ แล้วก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่ากุศลจิตเราเกิดหรือไม่ ขณะที่เราเคารพถึงพระคุณของบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว ก็เป็นความเห็นถูก แต่ถ้าเรากราบไหว้แล้วเราต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากท่าน หรือว่าเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนว่าท่านจะมาทานอาหารที่โต๊ะที่เราตั้งไหว้ ก็เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนที่ผิดไป
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180