พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176


    ตอนที่ ๑๗๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ แต่ถ้ากล่าวว่าขอเสื้อ ขอน้ำปลา ขอข้าว คุณวิจิตรเข้าใจใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีชื่อสำหรับเรียกให้เข้าใจ มิฉะนั้นก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้เลยว่าหมายความถึงสิ่งใด ถูกต้องหรือไม่ แต่แยกได้ว่าถ้าเป็นคำสมมติเรียกเป็นที่เข้าใจกัน นั่นคือสมมติสัจจะ ถ้าบอกว่าขอเสื้อ แล้วไปหยิบกางเกงมาให้ก็ไม่ได้ ใชไหม เสื้อก็สมมติกันว่าหมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีคำให้เป็นที่เข้าใจกัน หมายรู้กัน นั่นคือสมมติ แต่ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมก็จะมีจิต เจตสิก รูป ที่บัญญัติคำได้มากมายเลย ไม่ว่าจะเป็นวิชาการใดๆ ทั้งสิ้นทั้งหมด ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป แต่จะมีชื่อทางภาษาแพทย์ ภาษาวิทยาศาตร์ ภาษาก่อสร้าง ศิลปะ หัตถกรรม เกษตรกรรม อะไรมากมาย นั่นคือสมมติทั้งหมด แต่ถ้าเพียงแต่เราจะไม่เพียงจำ เพราะว่าการจำประโยชน์คือเพื่อเราจะได้ไม่สับสน ไม่เข้าใจผิด เป็นการเตือนให้รู้ว่าโมหมูลจิต ๒ ประเภทต่างกันอย่างไร แม้ว่ามีจำนวนเท่ากันคือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยจำนวนเท่ากัน แต่ต่างกัน เช่นนี้ก็คือว่าถ้ามีความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะไม่เพียงแต่จำจำนวนเท่านั้น แต่ประโยชน์ของจำนวนก็คือจะได้ไม่สับสน จะได้รู้ว่าทั้ง ๒ ดวงถึงแม้จะต่างกัน แต่ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยจำนวนเท่ากัน แต่เมื่อต่างกัน ก็ต้องประเภทของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่าง แต่จำนวนไม่ต่าง อันนี้ก็ค่อยๆ เข้าใจไปแต่ไม่ได้หมายความว่าให้มาจำทันที ๑๕ ดวง แล้วก็ชื่อต่างๆ ซึ่งอย่างไรๆ ก็คงไม่มีประโยชน์สำหรับเพียงจำ แต่ถ้าจะอาศัยความเข้าใจว่าอกุศลจิตทุกประเภทจะขาดโมหเจตสิกไม่ได้เพราะไม่รู้ เพราะมืดมน ไม่สามารถจะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ขณะนั้นเป็นอกุศล ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าโมหเจตสิกเกิดเมื่อไร ไม่รู้เมื่อนั้น หน้าที่รู้ไม่ใช่หน้าที่ของโมหเจตสิกเลย แต่หน้าที่ปิดบังไม่ให้รู้นั่นเป็นหน้าที่ของโมหเจตสิก เราจะค่อยๆ เข้าใจเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับอกุศลจิตก็จะรู้ได้ว่าในบรรดาอกุศลจิต ๑๒ ประเภท ลองคิดว่าอกุศลจิตประเภทไหนมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด อกุศลจิต ในบรรดาอกุศลจิต ๑๒ ประเภท อกุศลจิตประเภทไหนมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด นี่คือเริ่มคิด เริ่มคิดจากความเข้าใจที่แล้วมา เราก็เอามาประกอบแล้วก็ไตร่ตรองว่าอกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ ประเภท โลภมูลจิตมี ๘ โทสมูลจิตมี ๒ โมหมูลจิตมี ๒ ในบรรดาอกุศลจิต ๑๒ ประเภท อกุศลจิตประเภทใดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด

    ผู้ฟัง น่าจะเป็นโมหะ

    ท่านอาจารย์ ทำไมมี “น่าจะ” ด้วย ก็อาจจะเป็นจิตประเภทหนึ่งที่เป็นโมหะประกอบด้วยวิจิกิจฉาจะได้หรือไม่ คือไม่แน่ใจ แต่จริงๆ แล้วถ้าเราพูดถึงมูล ก็รู้แล้วว่าสำหรับโลภมูลจิตมี ๒ มูล โทสมูลจิตก็มี ๒ มูล ส่วนโมหมูลจิตมีมูลเดียวจะน้อยกว่าไหม เพียงเท่านี้ เพียงหนึ่งประเภทคือเรื่องของมูลก็จะเห็นได้ว่าโมหมูลจิตต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด คือน้อยกว่าทั้งโลภมูลจิต และโทสมูลจิต ค่อยๆ เข้าใจไป และเมื่อพูดถึงโมจตุกะ ๔ หมายความว่าโมหเจตสิกจะมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยอีก ๓ โดยยกโมหะขึ้นเป็นหัวหน้า อีก ๓ เจตสิกต้องเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลที่จะเกิดร่วมด้วยกับโมหเจตสิก ต้องเป็นอกุศล เจตสิกที่เป็นโสภณจะมาเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย อกุศลจิตจะมีเจตสิกซึ่งสาธารณะทั่วไปเกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ เกิดร่วมด้วย ๗ ดวงแน่นอน เพราะบอกแล้วจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดคือทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๕ ประเภทที่เป็นอกุศลวิบาก และอีก ๕ ประเภทที่เป็นกุศลวิบากรวม ๑๐ ดวงนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ นี่ก็แสดงว่าถ้ากล่าวถึงจิตทั้งหมด จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภท ต้องมีเพียง ๑๐ เท่านั้นไม่มากกว่านี้เลย

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าถ้าศึกษาเรื่องของจิตต่อไป เราจะมีความเข้าใจว่าเพราะเหตุใด จิตนั้นๆ จึงมีเจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดร่วมด้วย โมหมูลจิตมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ มี เจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีสัญญาเจตสิก มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกต้องเกิด ๗ ประเภท แทนที่จะไปท่องจำนวนโดยที่ไม่รู้ว่าได้แก่อะไรหรือคืออะไร เราก็ค่อยๆ พิจารณาหาเหตุผลว่าถ้าจะคิดถึงโมหมูลจิต เราคิดเอง ลองบวกเอง ลองหาเหตุผลเอง ว่าความจำของเรา ความเข้าใจของเราครบถ้วนหรือไม่ หรือว่าขาดตกบกพร่อง

    สำหรับคำถามของคุณสุรีย์ก็น่าจะคิดว่ามีคำตอบแล้วในพระไตรปิฎก แต่ว่าเราจะเข้าใจความหมายนั้นแค่ไหน เพราะเหตุว่าข้อความก็ชัดเจนของความต่างของอกุศลจิต ๓ ประเภทว่าสำหรับโลภมูลจิตนอกจากจะมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ก็ยังมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ชัดเจนเพราะว่าชื่อก็บอกแล้วว่ามีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อมีโลภะก็ต้องหมายความว่ามีโมหะเกิดร่วมด้วยจึงเป็น ๒ เหตุหรือ ๒ มูล สำหรับโทสมูลจิตมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เนื่องจากโมหเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลทุกประเภท ถ้าใช้โมหะก็ไม่มีความต่าง แต่เพราะเหตุว่าจิตประเภทนี้มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เรียกว่าโทสมูลจิต ให้เป็นที่เข้าใจว่าจิตนี้มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยพร้อมกับโมหเจตสิก

    เพราะฉะนั้น สำหรับอกุศลจิตอีกประเภทหนึ่งไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต แต่เป็นโมหมูลจิต เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจจิตนี้ก็คือว่าขณะใดที่ไม่ใช่โลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย และไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตประเภทโมหะ เพราะฉะนั้นที่กล่าวถึงก็คือโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ชัดเจน แสดงว่าโมหะก็มี ๒ ประเภท คือ มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วยประเภทหนึ่ง และไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ไม่มีทั้งวิจิกิจฉา และไม่มีทั้งอุทธัจจะมีหรือไม่

    ท่านอาจารย์ อุทธัจจะต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภทอยู่แล้วโมหเจตสิกเป็นเจตสิก ๑ ใน ๕๒ จะไปปนกับเจตสิกอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง หมายความว่าตัวเดียวของเขา ไม่ได้เกิดร่วมด้วยกับใครเลย

    ท่านอาจารย์ เวลาที่จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย โมหเจตสิกมีหลายชื่อ อวิชชาเป็นชื่อหนึ่งของโมหเจตสิก คือสภาพที่ไม่รู้

    อ.ธิดารัตน์ หมายถึงเวลาที่มีลักษณะของโมหะปรากฏกับจิตได้หรือไม่ ที่เป็นลักษณะเพียงความไม่รู้อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ คืออย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็จะมีความสงสัย ๒ อย่างคือ สงสัยลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และสงสัยชื่อว่าจะเรียกชื่ออะไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงไม่ใช่เรื่องของการเรียกชื่อ แต่ว่าไม่หมดความสงสัยใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นเวลาที่ขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศลจิต ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นโมหมูลจิต วิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นโมหมูลจิตประเภทหนึ่งเพราะเหตุว่าโมหมูลจิตมี ๒ อย่าง ๒ ประเภทไม่ใช่ประเภทเดียว ประเภทหนึ่งมีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย อีกประเภทหนึ่งไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ครบ

    อ.ธิดารัตน์ โมหะที่ประกอบกับอุทธัจจะ รู้สึกว่าจะเป็นความไม่รู้จริงๆ เพราะว่าขณะนั้นเป็นความไม่รู้ในอารมณ์ แม้กระทั่งอารมณ์ที่ปรากฏ ก็เป็นไปด้วยความไม่รู้ เป็นลักษณะที่รู้ได้ยากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะนั้นมี ใช่หรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ มี

    ท่านอาจารย์ มีโลภะเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ไม่มี

    ท่านอาจารย์ มีโทสะเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ไม่มี

    ท่านอาจารย์ มีความสงสัยเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นอะไร

    อ.ธิดารัตน์ เป็นโมหะ อุทธัจจะ

    ผู้ฟัง คือลักษณะที่ฟุ้ง มีกำลัง โมหะมีกำลังให้เรารู้สึกว่าความโง่ ความไม่รู้ว่ามี แต่เจ้าตัวฟุ้ง มันมองไม่เห็น ก็เลยรู้สึกว่ามีโมหะอยู่ตัวเดียว แต่ความจริงก็สัมปยุตต์ด้วยอุทธัจจะอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำนี้บ่อยเลย “ฟุ้ง” นี่เป็นอย่างไร ไปเรียกชื่อภาษาบาลีแต่ว่าลักษณะเป็นอย่างไร ได้ยินบ่อยมากเลย “ฟุ้ง” เป็นอย่างไร ตอบกันได้เร็วเลย ฟุ้งคืออุทธัจจะ แต่ลักษณะอย่างไร ฟุ้งนี่ เพียงแค่ขณะที่ไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นฟุ้งอะไร เหมือนเข้าใจ แต่ความจริงเข้าใจคำว่า “ฟุ้ง” อย่างไร

    ผู้ฟัง มีลักษณะที่คิดไปเรื่อยเปื่อย ไม่เป็นเรื่องเป็นราว

    ท่านอาจารย์ คิดด้วยโลภะมีหรือไม่ ไม่เป็นเรื่องเป็นราว แต่เป็นโลภะทั้งนั้นเลย คิดไม่เป็นเรื่องเป็นราว แต่เป็นโทสะทั้งนั้นเลย มีหรือไม่

    ผู้ฟัง มีได้

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร ขอทราบความหมายภาษาไทยที่บอกว่าฟุ้ง เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง แปลว่ากระจายไปในอากาศ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ กระจายไปในอากาศไม่ได้ เป็นจิต จะกระจายไปในอากาศได้อย่างไรอันนี้คือเราไม่ได้เข้าใจ แต่เราใช้คำ แล้วเราคิดว่าเราเข้าใจ

    อ.กุลวิไล ในอัฏฐสาลินีท่านขยายความเกี่ยวกับนิเทศของอุทธัจจะว่าเป็นอาการที่ฟุ้งซ่าน และก็เป็นความไม่สงบ

    ท่านอาจารย์ เช่นนี้จะชัดหรือไม่ ความไม่สงบของจิต เพราะขณะนั้นเป็นอกุศล แต่ว่าฟุ้งนี่ฟุ้งอย่างไร มีหลายอย่าง จะตอบว่าฟุ้งเป็นอุทธัจจะ แล้วโลภะเอาไปไว้ที่ไหน โทสะเอาไปไว้ที่ไหน คือความไม่รู้ และไม่สงบ เพราะขณะนั้นเป็นอกุศลต้องบอกด้วย

    ผู้ฟัง คนที่สติไม่สมประกอบก็คิดไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เขามีโลภะหรือเปล่าขณะที่กำลังคิด

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เขาสนุกร้องรำทำเพลงไม่เป็นเรื่อง

    ผู้ฟัง เขาก็ไม่ได้คิดว่าอยากจะไปได้โน่น อยากจะได้นี่

    ท่านอาจารย์ เขารู้ตัวหรือเปล่าว่าอยากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขณะไหน แค่เห็น ติดหรือยัง

    ผู้ฟัง คงจะไม่รู้ตัว

    ท่านอาจารย์ ขณะเห็นยังไม่รู้เลยว่าติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ แล้วจะไปรู้ในลักษณะของอุทธัจจะได้ไหม ขณะนั้นโลภะเกิด โลภะเป็นสิ่งที่จะรู้ได้มากกว่าอุทธัจจะหรือไม่

    อ.กุลวิไล ก็น่าจะพิจารณา เพราะว่าอุทธัจจเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ประเภท เพราะฉะนั้นขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นความไม่สงบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้วยโลภะหรือโทสะ หรือโมหะก็ตาม ก็เป็นสภาพที่ไม่สงบ และมีความฟุ้งซ่าน

    ผู้ฟัง บางทีมีแต่โมหมูลจิตอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ จะมีแต่โมหมูลจิตโดยไม่มีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม โมจตุกะ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ต้องเกิดพร้อมกัน ก็นับเป็นดวงก็ครบแล้ว เมื่อถึงตอนนี้จะหายไปไม่ได้

    อ.กุลวิไล ซึ่งในส่วนของโมหะ ๒ ประเภทนี้ เรายังต้องมีสนทนาอีกเพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา ท่านทรงแสดงไว้ด้วยว่าความสงสัยมีถึง ๘ อย่าง จะเห็นได้ว่าโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ผู้ที่ละได้คือพระโสดาบัน

    อ.วิชัย โมหมูลจิตก็หมายถึงจิตที่เกิดมีโมหะนั้นเป็นมูลหรือเป็นเหตุ โดยสภาพของโมหะก็เป็นความหลง ความไม่รู้ในอริยสัจจ์ ๔ บางแห่งก็จะกล่าวถึงความไม่รู้ ๘ อย่าง คือไม่รู้ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค และในขันธ์ที่เป็นไปในส่วนอดีต ขันธ์ที่เป็นไปในส่วนอนาคต ขันธ์ที่เป็นไปทั้งในส่วนอดีต และอนาคต และไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นก็คือในปฏิจสมุปบาท

    อ.อรรณพ โมหะเป็นสภาพที่มีทั้งโทษมาก และคลายได้ช้า และเราก็มีการสะสมความไม่รู้นี่มากมายตลอดสังสารวัฏฏ์ ในขณะที่มีความโกรธ มีความไม่พอใจ ขุ่นเคืองจะมากจะน้อย ขณะนั้นก็ไม่ได้เพียงลำพังแค่ความโกรธเท่านั้น ก็ยังมีสภาพธรรมที่เกิดประกอบร่วมด้วยคือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะรักจะชังประการต่างๆ ก็มีพื้นฐานส่วนสำคัญมาจากความไม่รู้นั่นเอง ฉะนั้นการที่จะละคลายได้ก็คือการศึกษาธรรม การอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสภาพที่ตรงข้ามกับโมหะก็คือปัญญานั่นเอง

    อ.ธีรพันธ์ โมหะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับอกุศลจิตทุกดวง ถ้าโมหเจตสิกเกิดขึ้นกับจิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉาสัมปยุตต์คือความสงสัย ขณะนั้นเป็นจิตที่ลังเล ตัดสินไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ตามความเป็นจริง ตัดสินไม่ได้ในอะไร ในสภาพธรรมที่เกิดขึ้น แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม สงสัยในสภาพธรรมต่างๆ สงสัยในคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีจริงหรือไม่ สงสัยในพระธรรมว่าพระธรรมนี่สามารถที่จะยังให้สัตว์ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพ้นจากทุกข์ได้ ธรรมนั้นสามารถให้สัตว์นั้นพ้นทุกข์ได้จริงหรือๆ ว่าสงสัยในคุณของพระสงฆ์ คำว่าพระสงฆ์คือผู้ที่ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตาม และสามารถที่พ้นทุกข์ได้ บุคคลประเภทนี้มีจริงหรือๆ ไม่ก็สงสัยในสิกขา ข้อประพฤติปฏิบัติในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา สงสัยในขันธ์ ขันธ์ที่เคยเป็นมาแล้วในอดีตชาติว่าเคยเป็นบุคคลไหน เมื่อเกิดมาแล้วเป็นบุคคลประเภทไหน มีสัณฐานอย่างไร เมื่อตายจากชาติหน้าแล้วไปเกิดในชาติอื่นเป็นอะไร หรือว่าสงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคตว่าในอนาคตเราจะเป็นใคร จากอนาคตแล้วตายไปเป็นบุคคลประเภทไหน นี่เป็นความสงสัยในสภาพธรรมที่เรียกว่าโมหมูลจิตที่มีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ คือมีความสงสัยสัมปยุตต์เกิดร่วมด้วย และอีกประเภทหนึ่งเป็นโมหมูลจิตที่มีอุทธัจจสัมปยุตต์เกิดร่วมด้วยเป็นประธาน คือเป็นโมหมูลจิตอีกประเภทหนึ่ง ทั้ง ๒ ประเภทนี้เกิดกับอุเบกขาเวทนาเท่านั้น โมหมูลจิตจะไม่เกิดกับโสมนัสเวทนา (ความยินดี) หรือว่าโทมนัสเวทนา (ความยินร้าย) แต่ว่ามีลักษณะเป็นกลางวางเฉย เฉยด้วยความไม่รู้ในสภาพธรรมทั้งหลาย

    อ.ธิดารัตน์ ลักษณะของโมหมูลจิตทั้ง ๒ ประเภท โมหมูลจิตดวงแรกที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ก็จะเป็นความไม่รู้ ไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ปกปิดสภาวะต่างๆ มีความมืดมนเป็นอาการปรากฏ มีอโยนิโสมนสิการ (ความไม่แยบคาย) ในขณะนั้น ส่วนวิจิกิจฉานอกจากจะไม่รู้ลักษณะอารมณ์นั้นตามความเป็นจริงด้วยลักษณะของโมหเจตสิกแล้ว ยังมีความสงสัยในลักษณะของอารมณ์นั้นว่าจะเป็นอย่างนี้ดีหรืออย่างนั้นดี อย่างเช่นสงสัยในลักษณะของนามธรรม จะเป็นลักษณะของนามธรรมหรือเป็นลักษณะของรูปธรรม จะเป็นลักษณะอย่างไร สงสัยในลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ เพราะยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    เรียนถามท่านอาจารย์ ว่าลักษณะของวิจิกิจฉาที่สงสัยที่เป็นข้อปฏิบัติในสิกขา ๓ จะมีความสงสัยอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็อย่างที่สงสัยกันอยู่ โดยมากถ้าเราคิดว่าเราได้ยินธรรมแล้วเราอยากจะรู้ว่าเป็นอะไร ขณะไหน เราก็พยายามคิด แต่ขณะที่สภาพธรรมเกิด เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการสงสัยว่าการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น แข็ง จะทำให้สามารถแทงตลอดในการเกิดดับ สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้หรือไม่ ขณะนั้นก็คือความสงสัย

    ผู้ฟัง คำว่า “ไม่หวั่นไหว” กับ “อาจหาญร่าเริง” ต่างกันอย่างไร มีความหมายลึกซึ้งอย่างไรแค่ไหนในการปฏิบัติธรรมคือการเจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของคำ จะใช้คำว่าหวั่นไหว ไม่หวั่นไหว อาจหาญ สมาทาน ร่าเริง แต่ที่ถูกต้องคือว่ามีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจถูกจะหวั่นไหวหรือไม่ ใครพูดใครบอก น่าเชื่อ น่าฟัง จะทำตามหรือไม่ เพราะคิดว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังคงจะถูกต้อง เพราะฉะนั้นเรื่องของปัญญาก็คือเป็นเรื่องของความเข้าใจถูก ความเห็นถูกจริงๆ ถ้าเห็นถูก เข้าใจถูก ไม่ว่าใครจะกล่าวว่าอย่างไร จะหวั่นไหวหรือไม่

    ผู้ฟัง หวั่นไหวในที่นี้ก็หมายความว่าลังเลสงสัย หรือว่าขาดวิริยะคือกล้าหาญ

    ท่านอาจารย์ ทั้งนั้นเลย อะไรก็ตามที่ขณะนั้นไม่ใช่กุศล และไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความเห็นถูกด้วย

    ผู้ฟัง แต่ถ้าบอกว่าไม่หวั่นไหวก็คือความไม่มีตัวตน จะได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่หวั่นไหวที่จะรู้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง นี่ประการหนึ่ง และสิ่งที่ทรงแสดงมีจริงสามารถที่จะพิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นก็จะไม่หวั่นไหวที่จะได้ฟัง และก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังตรงตามความเป็นจริงกับที่ได้ฟังหรือไม่ โดยมากท่านผู้ฟังจะเข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา นี่คือความรู้ขั้นฟัง แต่ว่าในเมื่อสะสมอวิชชา (ความไม่รู้) มามาก หวั่นไหวว่าจะไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือไม่ เพราะว่าบางคนเมื่อได้ฟังธรรมแม้ว่ามีจริง กำลังปรากฏ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้รู้อย่างที่ได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังแค่ไหนก็จะให้รู้ตามที่ได้ยินได้ฟังแค่นั้น นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะเหตุว่านั่นเป็นเพียงความรู้จากการฟัง แต่ว่าจะต้องรู้จริงๆ ว่าเป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะเห็นความต่างกันว่า ปัญญาเพียงขั้นเข้าใจไม่พอ เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นบางคนก็อาจจะไม่มีความมั่นคง ก็คิดหวั่นไหวที่จะไม่อดทนที่จะฟังให้เข้าใจขึ้น และก็รู้ความจริงว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดได้แม้เพียงชั่วจิตหนึ่งขณะ รวมทั้งเจตสิก รวมทั้งรูป สภาพธรรมทั้งหมด ต้องเข้าถึงความเป็นอนัตตาว่าเป็นสภาพธรรม ถ้าเรามีความเข้าใจที่มั่นคงอย่างนี้ ไม่หวั่นไหว ขณะนั้นโลภะก็ไม่สามารถที่จะทำให้เราหวั่นไหวไปในหนทางอื่นหรือในความคิดอื่น เพราะว่าโลภะเป็นสภาพที่มีกำลัง ฉลาด แต่ไม่ใช่ปัญญา สามารถที่จะแทรกเข้ามาได้ทุกขณะที่จะทำให้ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ บางคนที่สนทนากันท่านก็บอกว่าท่านได้ฟังธรรม แล้วท่านก็เริ่มเห็นลักษณะที่ต่างกันของสิ่งที่ปรากฏเป็นช่องๆ คือทางตานี่ก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็อย่างหนึ่ง นี่เป็นความคิดหรือเป็นการรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่าปัญญาเป็นเรื่องละเอียด แม้ว่าเราจะได้ยินคำว่า “นามธรรม” เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ซึ่งขณะนี้ก็มี แต่ต้องรู้ขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ที่กล่าวถึงขั้นนี้ หมายถึงขั้นสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติขั้นฟัง ก็จะต้องรู้เหตุที่สามารถให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ โดยรู้ว่าขณะนั้นมีการรู้ลักษณะ และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าจะใช้ภาษาธรรมก็คือสติเกิด แต่ความจริงไม่ใช่ชื่อสติเกิด แต่ลักษณะของสติซึ่งระลึกทำกิจรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567