พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
ตอนที่ ๑๗๗
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ ถ้าจะใช้ภาษาธรรมก็คือสติเกิด แต่ความจริงไม่ใช่ชื่อสติเกิด แต่ลักษณะของสติซึ่งระลึกทำกิจรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่เป็นเรื่องที่ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ละความไม่รู้ อย่าขวนขวายที่จะคิดว่าอยากจะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้เท่ากับที่ได้ฟัง เป็นไปไม่ได้เลย เช่น โมหมูลจิตต่างกันเป็น ๒ ประเภทคือโมหมูลจิตที่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วยประเภทหนึ่ง และโมหมูลจิตที่ไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วยอีกประเภทหนึ่ง เราฟังเรื่องของธรรมทั้งหมดที่มีที่ตัว แต่ว่าเราจะไปรู้ลักษณะของโมหมูลจิตที่ต่างกันเป็นโมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับวิจิกิจฉา และโมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุทธัจจะที่ไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่ใช่ว่าเมื่อฟังเท่าไหร่ก็จะไปรู้เท่านั้น แต่ฟังให้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นสิ่งที่มีที่ตัวโดยที่ไม่เคยรู้มาก่อน และแม้จะรู้ก็รู้เพียงชื่อต่างๆ เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดดับเร็วมาก แล้วถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด จะชื่อว่ารู้ลักษณะนั้นไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ลักษณะนั้นก็กำลังปรากฏ เช่น ทางตาก็กำลังปรากฏอยู่แน่นอน เพราะว่ามีจิตที่เห็น แต่จะรู้ความต่างว่าขณะใดที่ไม่หลงลืมสติซึ่งต้องเป็นปกติ เพราะฉะนั้นเพียงผิดปกตินิดเดียว จะทำให้ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม การที่มีการผิดปกติเกิดขึ้นเพราะโลภะก็ไม่รู้ว่าที่ผิดปกตินิดเดียวเพราะมีความต้องการที่จะรู้จึงมีความจงใจบ้าง มีความตั้งใจบ้าง มีการกระทำต่างๆ บ้าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว คือฟังแล้วก็รู้ว่าประโยชน์ของการฟัง ก็เพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด แต่ไม่ได้หมายความว่ามุ่งหวังพยายามหาทางจะไปทำให้สติสัมปชัญญะเกิด เพราะโลภะจะเข้ามาตลอดถ้าปัญญาไม่สามารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นผิดหนทาง ด้วยเหตุนี้ในอริยสัจ ๔ โลภะเป็นสมุทัย ถ้าไม่เห็นละไม่ได้ จะละโลภะได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเป็นไปด้วยโลภะอยู่เรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้แม้ขณะที่ฟัง อาจหาญ ร่าเริง ไม่หวั่นไหวที่จะเข้าใจธรรมว่า แม้ธรรมที่กำลังปรากฏก็เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถที่จะอบรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้งได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตนหรือไม่ใช่ด้วยความอยาก
เพราะฉะนั้นกถาใดคือคำพูดใดที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้เกิดโลภะ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าคำนั้นส่งเสริมให้มีตัวตนที่จะทำ หรือว่าส่งเสริมให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่าธรรมเป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตา นี่คือการละขั้นหนึ่งคือละขั้นความเห็นผิดซึ่งเกิดจากการไม่เคยฟัง แล้วเวลาที่ฟังแล้วจะมีความเห็นถูกมากเท่าไหร่ ก็คือว่าถ้าเห็นถูกก็รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนี้เป็นธรรม ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ชั่วขณะนั้นก็จะไม่มีเราซึ่งไปแสวงหาหรือไปทำอะไร แต่เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมมั่นคงแค่ไหน ก็ต้องอาศัยการฟัง และก็ต้องรู้ว่าหนทางจริงๆ ที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เป็นหนทางละ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีความต้องการขึ้นเมื่อใด ปัญญาที่ได้สะสมมาก็รู้ว่าหนทางนั้นผิด ก็จะถอยกลับจากการที่จะกระทำผิด แต่จะค่อยๆ คุ้นกับสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องยาก แต่ให้ทราบว่าอริยสัจทั้ง ๔ ลึกซึ้ง นี่คือความลึกซึ้งของหนทางด้วยที่จะทำให้ละความต้องการ มิฉะนั้นแล้วความต้องการไม่มีอะไรจะละได้เลย ถ้าไม่ใช่เป็นความเห็นถูกของตัวเองจากการฟัง
ผู้ฟัง เรียนถามถึงสภาวะลักษณะของจิตที่หวั่นไหว ก็สรุปได้ว่าไม่มั่นคงเพราะมีโลภะ เช่นนี้จะเป็นคำตอบได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ต้องไปเอาชื่ออันนี้เป็นอะไร ไปลงช่องไหน แต่ให้ทราบความจริงว่าธรรมเป็นอย่างนี้ และชื่อต่างๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจความเป็นอนัตตา แต่ถ้ายังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะนั้น รู้เพียงชื่อ จะมีประโยชน์หรือไม่ ไขว่คว้าหาชื่อมารู้ แต่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ใช้ชื่อนั้นเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังธรรม ประโยชน์อย่างเดียวก็คือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตายิ่งขึ้น การที่จะให้เราไปจำพระไตรปิฎกทั้งหมดพร้อมทั้งอรรถกถาเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่ท่านพระอานนท์ และก็ไม่ใช่บุคคลในครั้งอดีตด้วย แต่ว่าปัญญาของเราที่สามารถจะเข้าใจขึ้นด้วยการละความไม่รู้ อย่างนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และก็มีความมั่นคงที่จะเข้าใจแม้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เผลอๆ อัตตาก็เข้ามาอีกแล้วใช่หรือไม่ จะทำอย่างโน้น จะรู้อย่างนี้ หรืออะไรต่างๆ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าการฟังต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจากการทรงประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเพื่อให้บุคคลทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมค่อยๆ เข้าใจขึ้น รู้ขึ้น เประโยชน์อยู่ตรงนี้ แต่ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจหรือว่าจะจำเพียงชื่อแล้วอยากจะรู้ชื่อ ซึ่งมีบางท่านก็ถามว่าขณะนี้เป็นเมตตาหรือเป็นกรุณา หรือเป็นมุทิตา หรือเป็นอุเบกขา ขณะนี้เป็นตัวอย่างในชีวิตประจำวัน กำลังคิดถึงเรื่องราวของขณะจิตซึ่งเกิดแล้วดับแล้วด้วย แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าเมตตาคืออะไร เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิด ไม่ต้องมานั่งสงสัยว่านี่เมตตาหรือกรุณา เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องถามกันว่าแล้วตรงนั้นเป็นเมตตาหรือกรุณา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ยังมีความสงสัย เพราะมีความไม่รู้ ขณะนั้นก็คือไม่ได้เข้าถึงหรือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพียงแต่จำชื่อ แต่ถ้าเราค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมหรือในคำที่เราได้ยินได้ฟัง เราจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะเหตุว่าคำนั้นหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นถ้าสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามกำลัง ขณะนี้จะเข้าใจโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์หรือไม่ เข้าใจเรื่องราว แต่ตราบใดที่แม้มีลักษณะนั้นแต่สติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะนั้นก็ยังต้องสงสัย แล้วก็ยังต้องถามว่า แล้วนี่ใช่หรือไม่ ใช้คำว่า “แล้วใช่หรือไม่ ” และ“เป็นอย่างนี้หรือไม่” ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญญาคือเข้าใจ เป็นความเข้าใจของเราเองทีละเล็กทีละน้อยค่อยๆ เพิ่มขึ้น
อ.ธิดารัตน์ การศึกษาธรรม แม้จะเป็นการศึกษาเรื่องราวแต่เรื่องราวนั้นก็มีลักษณะของสภาพธรรมด้วย การศึกษาที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง แล้วก็สงสัย ความสงสัยนั้นจะเป็นวิจิกิจฉาใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจความหมายของวิจิกิจฉา เราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นหรือไม่ ไม่อย่างนั้นเราก็พูดชื่อไปตลอดใช่หรือไม่ และเราก็ยังจะต้องถามกันอยู่อีกว่าเป็นหรือไม่
อ.ธิดารัตน์ ถ้าสงสัยชื่อก็น่าจะเป็นความไม่รู้ จริงๆ ก็เป็นความสงสัยของตัวเองเหมือนกันที่ว่ายังตัดสินใจไม่ได้ชัดเจน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้คนอื่นตัดสิน แต่ธรรมที่ได้ยินได้ฟังจากพระไตรปิฎกส่วนหนึ่งส่วนใดหรืออรรถกถา ฟังด้วยการไตร่ตรอง ด้วยการพิจารณาของตนเอง และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นก็จะเป็นคำตอบที่ชัดเจน เพราะว่าได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจตสิก ข้อความในอรรถกถาก็มี เพราะฉะนั้นถ้าค่อยๆ ได้อ่านหรือพิจารณาก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ดีกว่าที่จะให้คนอื่นตอบ เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะให้คนอื่นตอบก็หมายความว่าเราไม่รู้เลยแน่นอนที่เรารู้แต่ชื่อ ไม่ว่าเราจะศึกษามา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็มีคำถามอยู่ แต่ถ้าไม่ถาม เพราะอ่านอีก ฟังอีก พิจารณาอีก ค่อยๆ เข้าใจอีก ก็ไม่ถามเพราะว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง บางครั้งก็ต้องถาม แต่เมื่อถามก็ต้องใช้ชื่อ อาจารย์ก็บอกว่า เราใช่ชื่ออีกแล้ว แต่ก็ต้องพูดออกมาเป็นชื่อ
ท่านอาจารย์ คำถามของในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ขอให้มีความละเอียดว่า มีหรือไม่ ที่ถามว่า ใช่หรือไม่ นี่เป็นจิตใช่หรือไม่ นั่นเป็นวิจิกิจฉาใช่หรือไม่ คำถามเช่นนี้มีหรือไม่ในพระไตรปิฎก หรือถ้าสงสัยเรื่องขันธ์ ท่านก็จะพูดเรื่องขันธ์ เพื่อให้เข้าใจความหมายของขันธ์ แต่ไม่ใช่ถามว่านี่ขันธ์ใช่หรือไม่ และให้ท่านผู้นั้นตอบว่า"ใช่"หรือ"ไม่ใช่" ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของพระวินัยนั่นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจด้วย เช่น ขณะนี้ได้ยินคำว่า “ขันธ์” เป็นปรมัตถธรรม เป็นจิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นก็มีทั้งเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ ภายใน ภายนอก แสดงไว้หมดเลย แล้วจะมาถามว่านี่ขันธ์ใช่หรือไม่ กับการที่จะบอกให้เข้าใจว่าการที่จะรู้ขันธ์นั้นรู้ได้อย่างไร ไม่ใช่ให้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเวลานี้เราได้ยินคำว่า “ขันธ์” จริง และเราได้ยินคำอธิบายด้วย ว่า ขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมที่เกิดดับ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดเป็นขันธ์ แล้วขันธ์ก็หลากหลายต่างกันไป แต่อย่างไรจึงจะเป็นปัญญาของตัวเองที่รู้จักขันธ์ ไม่ใช่รู้จักความหมายของคำว่า “ขันธ์” และไม่ใช่รู้จักเพียงชื่อขันธ์ เพราะว่าลักษณะของขันธ์ก็มีทั้งอดีต อนาคต หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ ขณะที่ได้ยินเสียง ถ้าไม่รู้ลักษณะของเสียงนี้ซึ่งหมดไปแล้ว และก็มีเสียงใหม่เกิดขึ้น ขณะนั้นจะรู้หรือไม่ว่านี่คือความหมายของขันธ์ ลักษณะของเสียงที่ต่างกัน หยาบกับละเอียด ไกลกับใกล้ เลวกับประณีต ภายในภายนอก ไม่ใช่ให้เราไปจำคำนิยามของคำว่า “ขันธ์” สามารถบอกได้อธิบายได้ แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงจะรู้จักขันธ์ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด แล้วกำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ คืออดีตแล้วใช่หรือไม่ รู้จักแล้วใช่หรือไม่ว่าสิ่งนี่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วหมดไป เพราะฉะนั้นนี่คือความหมายของขันธ์ เป็นตัวขันธ์ ไม่ใช่เป็นชื่อที่จำว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง แต่ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดก็เป็นเพียงชื่อ หยาบอย่างไร ละเอียดอย่างไร ภายนอกอย่างไร ภายในอย่างไร ก็ไม่เคยรู้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าการฟังธรรมคือตัวธรรมล้วนๆ ไม่ใช่ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วสงสัยว่า คนนี้เขาเมตตาหรือเขากรุณา อย่างนั้นไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเวลาที่สนทนาธรรมหรือฟังธรรมก็คือว่ามีธรรมเรื่องธรรมให้เราได้เข้าใจธรรม แต่ไม่ใช่ไปถามให้ใครตัดสิน ถ้าถามให้ใครตัดสินคือเขาไม่ได้ฟังธรรมด้วยความเข้าใจของเราเอง จะต้องพึ่งคนอื่นตลอดไป ถ้าเขาบอกว่าใช่ ถ้าเขาบอกว่าไม่ใช่ แล้วความจริงเป็นอะไรกันแน่ใช่หรือไม่ หรือคนนี้บอกว่าใช่ คนนั้นบอกว่าไม่ใช่ แล้วความจริงเป็นอะไรกัน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ปัญญาของเราเอง ไม่ตรงตามพุทธประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะถึงการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทรงแสดงพระธรรมให้ผู้อื่นเกิดปัญญาของตนเองเมื่อได้ฟังพระธรรมเข้าใจ เพราะฉะนั้น ขันธ์ คือตัวอย่างให้รู้ว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วเราคิดว่าเราจำได้แล้ว เราเข้าใจแล้วโดยคำ แต่จริงๆ เรารู้ลักษณะของขันธ์หรือไม่ และจะรู้ได้อย่างไร นี่เป็นประโยชน์กว่า
อ.ธิดารัตน์ กรณีเช่นนี้หมายถึงว่าเรามีความไม่รู้มาก เมื่อมีความไม่รู้มากย่อมมีความสงสัยตามมาก ซึ่งอาจจะเกิดสลับกันด้วยความไม่รู้ก็ได้ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างไรก็เป็นธรรมทั้งหมดเลยแล้วเราไม่ได้รู้ เพราะฉะนั้นจะรู้ก็คือศึกษาเข้าใจ ขณะที่เราเข้าใจคนอื่นจะบอกว่าเราไม่เข้าใจได้หรือ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ แล้วต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาด้วย รู้ว่าเป็นธรรม และรู้ว่าเป็นอนัตตา แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของธรรมซึ่งมีจริงๆ เป็นตัวจริงๆ ให้รู้ว่าที่ทรงแสดงไม่ใช่แสดงให้เราจำชื่อ แต่ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงมีขั้นฟัง คือ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ตามลำดับ
ผู้ฟัง สติสัมปชัญญะที่รู้ตามความเป็นจริงโดยการฟัง หรือการศึกษา ถึงแม้จะเป็นนิมิตอนุพยัญชนะ ก็ยังช่วยได้ในระดับหนึ่ง ขอให้อาจารย์ช่วยขยายความ อีกประการหนึ่งคืออย่างไรที่สติสัมปชัญญะจะระลึกการลดละสักกายทิฏฐิหรืออัตตานุปาทาน ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาหรือไม่ได้ฟังพระธรรมจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏไม่ได้เลย ขอคำขยายความตรงนี้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ห้ามเลยว่าไม่ให้ใช้พยัญชนะ มิฉะนั้นก็ไม่มีการพูด การกล่าวธรรมใช่หรือไม่ ก็ต้องเข้าใจว่าต้องมีคำ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษาด้วยประการทั้งปวง แม้แต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมโดยนัยของขันธ์ โดยนัยของอายตนะ โดยนัยของธาตุ โดยนัยปัจจัย โดยนัยปฏิจสมุปบาท ทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลให้ผู้ที่ฟังเข้าใจความเป็นอนัตตาของสิ่งที่มี และกำลังปรากฏ ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมด้วยสติสัมปชัญญะก็หมายความว่าความต่างของสติขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นฟังธรรม ขั้นสมถะ จะต่างกับขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่กว่าความเข้าใจจะเกิด และเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ต้องอดทน และไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่ามีแน่นอน และก็จะเห็นได้ว่าปัญญาของแต่ละคนที่สะสมมา สะสมที่จะเข้าใจระดับไหน เข้าใจเรื่องราวถูกต้อง แต่ว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้แต่กิจหน้าที่ของสติ เป็นสภาพที่ใช้พยัญชนะว่าระลึกรู้ ถ้าไม่ใช้จะรู้ได้อย่างไรว่าสติต่างกับศรัทธา ต่างกับหิริ ต่างกับโอตตัปปะ แต่ที่ใช้คำว่า “เป็นสภาพที่ระลึกรู้” ไม่ใช่เจตนา ไม่ใช่สัญญา ไม่ใช่เจตสิกอื่น ก็เพราะเหตุว่าเวลาที่สติเกิด ทำกิจรู้ที่ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งปกติมีแล้วขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตามี เสียงมี แข็งมี คิดมี ทุกอย่างมี แต่ว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ตรงลักษณะนั้น เพราะฉะนั้นจึงใช้พยัญชนะว่า “ระลึก” เพราะว่าสิ่งนี้มีเกิดแล้วๆ ก็รู้ลักษณะ แต่ถ้าคนที่ติดพยัญชนะก็คิดตามภาษาไทยว่าเวลาที่ระลึก เราระลึกนานใช่ไหม ลองระลึกถึงอดีต หลายคำไหม เรื่องราวต่างๆ ยาวทีเดียวใช่หรือไม่ นั่นคือระลึก แต่เวลาที่สติเกิดทำกิจระลึกรู้ ไม่ต้องไปคิดถึงคำว่าสติเกิดระลึกรู้ เพราะขณะนั้นลักษณะของสภาพธรรมปรากฏกับสติที่เกิด และรู้ตรงลักษณะนั้น นี่เป็นการที่จะรู้ความต่างของการจำเพียงคำ และเข้าใจความหมายของคำ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นทำกิจ ไม่มีใครต้องไปบอกไปย้ำว่าสติเกิดระลึกเพราะว่าสติระลึกตรงนั้น ไม่ต้องบอกว่าทำกิจด้วย หรือไม่ได้เกิดหรือระลึกรู้ เพราะว่ากำลังรู้ตรงนั้นแล้ว เพราะว่าสติเกิดก็ทำกิจหน้าที่ของสติที่รู้ตรงลักษณะสภาพธรรมซึ่งถ้าฟังด้วยดี ด้วยความเข้าใจที่ละเอียด ก็จะไม่ลืมที่ว่าจิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ และเมื่อจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วก็จะรู้ลักษณะของอารมณ์หรือว่าจะรู้อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ทีละอย่าง รู้หลายอย่างไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่แข็งปรากฏ ขณะนี้ทุกคนพิสูจน์ได้ ขณะที่แข็งปรากฏ ถ้าเป็นปัญญาที่สมบูรณ์จะไม่มีอะไรเหลือเลย โลกนี้ทั้งหมดว่างเปล่า มีแต่ธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้แข็ง นั่นคือระดับของปัญญาที่สามารถจะเห็นความจริงว่าขณะนั้นไม่มีเราเลย เพราะเหตุว่ามีแต่ธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้ลักษณะที่แข็งที่กำลังปรากฏ และโดยการศึกษาว่าเราจะทราบว่าขณะนั้นจะมีเจตสิกอะไรบ้างที่เป็นโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยทำกิจการงานในขณะนั้น นั่นคือขั้นศึกษา แต่ที่จะรู้ว่าสติเกิดหรือหลงลืมสติก็คือว่าแม้มีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏแต่ละทาง เช่นทางตาในขณะนี้ก็มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งต่างกับทางอื่นกำลังปรากฏ ทางหูก็มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับทางอื่น ทางหูเป็นเสียงที่กำลังปรากฏ ใช้คำนี้แต่ไม่ต้องไปนึกถึงคำว่าเสียงเลย เวลาที่กำลังได้ยินจะได้ยินอย่างอื่นไม่ได้นอกจากสภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าการฟังต้องเป็นความละเอียดที่จะรู้ว่าผู้ที่มีปัญญาที่ได้อบรมแล้วจะรู้อย่างไร และผู้ที่กำลังอบรมเจริญปัญญาก็ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ อบรมด้วยความมั่นคง แล้ววันหนึ่งก็สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแม้แต่พระสารีบุตร ท่านก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าการที่ท่านเชื่อในอริยสัจจ์ ๔ ไม่ใช่เชื่อตามพระผู้มีพระภาค แต่เพราะเหตุว่าท่านได้ประจักษ์ลักษณะนั้นด้วยตัวเอง แล้วอย่างไหนจะถูกต้อง เชื่อตามแต่ไม่ใช่ความคิดของตัวเองความเข้าใจของตัวเอง กับการที่สามารถจะรู้จริงๆ ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนั้นตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ความเชื่อที่มั่นคงของท่านมาจากปัญญาของท่านเองซึ่งประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง นี่คือการที่จะรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด กับสติสัมปชัญญะไม่เกิดที่เป็นหลงลืมสติ
ผู้ฟัง การฟังเพื่อลดละสักกายทิฏฐิตรงนี้
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ละชื่อ
ผู้ฟัง ละสภาพ
ท่านอาจารย์ ไม่รู้ลักษณะของแข็ง และสภาพที่รู้แข็ง ถ้าไม่รู้ก็ยึดถือแข็งว่าเป็นเรา ร่างกายของเราแข็ง และสภาพที่กำลังรู้แข็งก็เป็นเราที่กำลังรู้ เพราะฉะนั้นการละก็คือว่าเมื่อได้ฟังแล้วก็เข้าใจ ก็ละการไม่รู้ที่เกิดจากการไม่เคยได้ฟังเลย และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด ก็ละความไม่รู้ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด เพราะรู้ว่าสติสัมปชัญญะมีอย่างนี้ และเมื่อเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมขึ้น ขณะนั้นละความสงสัย และความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าแล้วเราจะไปเห็นเมื่อไหร่ว่าเราละแล้ว เพียงสติสัมปชัญญะเกิดก็ละความสงสัยว่าสติสัมปชัญญะมีลักษณะอย่างไร และถ้ามีความเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็คือการค่อยๆ รู้ว่าไม่ใช่เราเพราะว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมาคิดว่าตอนไหน ตรงไหนที่เราละ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แม้แต่การฟังวันนี้ ขณะนี้ ก็ละความไม่รู้
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180