พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180


    ตอนที่ ๑๘๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ บางท่านก็ฟังทางวิทยุบ้าง บางท่านก็ฟังทางเอ็มพี ๓ หรือทางเทป แต่ท่านก็ไม่มา ฟัง เพราะว่าวันอาทิตย์ก็มีหลายแห่งใช่หรือไม่ ท่านก็ไปเย็บปักถักร้อย จัดดอกไม้ ทำอาหารหรืออะไรๆ เพราะว่าท่านเรื่อยเฉื่อยหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่คนอื่นก็ไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ตราบใดที่มีเม็ดพืชของศรัทธา ประมาทไม่ได้ จะเจริญเติบโตหรือว่าอยู่กับที่ก็แล้วแต่ ก็เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัย ทรงแสดงธรรมโดยประการทั้งปวงก็เพื่อที่จะเกื้อกูล แต่ก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ไม่ใช่ว่าจากหน้ามือแล้วก็ไปเป็นหลังมือได้ เว้นผู้ที่ได้อบรมเจริญมาแล้วพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งชีวิตของท่านเป็นชีวิตธรรมดา ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลยในครั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีว่าบุคคลนี้จะได้เป็นพระโสดาบัน เหมือนสุปปพุทธกุฏฐิขอทานโรคเรื้อนด้วย อาหารก็ไม่มี แล้วใครจะคิดว่าบุคคลนี้ฟังธรรมแล้วก็จะได้เป็นพระโสดาบันบุคคล นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละภพแต่ละชาติ เราไม่สามารถที่จะรู้ถึงสิ่งที่ได้สะสมมาแล้วถ้าไม่ใช่พระผู้มีพระภาค บางคนฟังธรรมแล้วก็ง่วงนอนก็มี ก็จริง แต่ถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เป็นไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะเรื่อยเฉื่อยต่อไปเพราะเหตุว่าบังคับก็ไม่ได้ แล้วก็เร่งรัดก็ไม่ได้ แต่ต้องเป็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์

    ผู้ฟัง เมื่อศึกษาใหม่ๆ ก็อยากอ่าน อยากศึกษาก็มี บางครั้งก็เรื่อยเฉื่อย รู้สึกว่าก็รู้อยู่ไปเรื่อยๆ วันๆ ก็ดีสบายดี ป่วย ไม่สบาย เดี๋ยวก็หายแล้ว ก็สบายดี

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องรู้เหตุด้วย จะสบายอย่างนี้ไปกี่ชาติเพราะว่าอย่างไรๆ ต้องป่วย ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องประสบกับทุกข์มากมายเมื่อมีการเกิด ต้องรู้เหตุที่จะไม่เรื่อยเฉื่อยได้ด้วยการคบหาสมาคม ถ้าเราคบหาสมาคบกับผู้ที่พาเราเรื่อยเฉื่อย เราก็เรื่อยเฉื่อยไปด้วยกัน แต่ถ้าเราคบหาสมาคมกับผู้ที่คอยให้เราเห็นประโยชน์จนกระทั่งในที่สุดเราจะรู้เองว่าสิ่งที่มีประโยชน์แท้จริงคือความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สิ้นทุกข์ ถ้าบอกว่าสิ้นทุกข์นี่ทุกคนรู้สึกจะถูกใจ แต่ถ้าบอกให้สิ้นสังสารวัฏฏ์ก็คงยังเฉยๆ เพราะว่ายังไม่ได้สนใจที่จะสิ้นสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้ารู้มากกว่านั้นอีกก็คือว่าเมื่อมีเกิดแล้วก็มีดับตลอดไปไม่หยุดเลย แล้วสิ่งที่เกิดดับก็คือโลภะบ้าง โทสะบ้าง กุศลบ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แล้วก็หมดไปไม่มีอะไรเหลือเลย เป็นอย่างนี้เอง ถ้าได้ฟังบ่อยๆ ก็จะเห็นความไม่มีสาระของสภาพธรรมซึ่งเรายึดถือไว้มากมาย

    อ.วิชัย วิจิกิจฉาที่ทรงแสดง ๘ ประการ เช่น ถ้าเป็นไปในขันธ์ในส่วนอดีตกับวิจิกิจฉาเป็นไปในขันธ์ส่วนอนาคต ลักษณะของวิจิกิจฉาแตกต่างกันหรือไม่

    ผู้ฟัง อดีตก็คืออดีต แต่ในขณะนั้น ก็มีปัจจุบันคั่นซึ่งสะสม ส่วนตัวคือ คิดง่ายๆ ว่า นี้เป็นผลในอดีตเพราะเราเจริญเหตุ เหตุดีไม่ดีเราก็รับผล เพราะฉะนั้นจะบอกว่าสงสัยเหมือนกันนั้น ต้องไม่เหมือนแน่นอน ไม่เหมือนโดยการสะสม

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวโดยลักษณะของวิจิกิจฉาคืออย่างไร

    ผู้ฟัง คือการสงสัย

    อ.วิชัย คือการสงสัยลังเล ตัดสินใจไม่ได้ ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่ แต่ถ้าหากเรามีปัญญา ความสงสัยก็จะลดน้อยลง

    อ.วิชัย ขณะนี้กำลังเห็น ถ้าโมหะคือความไม่รู้เกิดขึ้น ความไม่รู้นั้นปกปิดในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรคด้วยหรือไม่ ความไม่รู้ที่เกิดขึ้นในสิ่งที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ไม่รู้ก็ปกปิด

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยถามคุณสุรีย์เพื่อที่จะได้ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไรตามความคิดความเข้าใจ เพราะเหตุว่าที่คุณสุรีย์พูดไม่ได้พูดถึงความสงสัย แต่พูดถึงเรื่องอื่นคือการสะสมด้วย แต่เราควรจะพูดเฉพาะลักษณะของความสงสัยก่อน คือว่าแต่ละเรื่อง ถ้าจะเข้าใจอะไรๆ ก็ให้พูดถึงเรื่องนั้นตรงประเด็นนั้น

    ความสงสัยเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเพราะว่าเกิดร่วมกับความไม่รู้จึงสงสัย ถ้ารู้แล้วก็ไม่สงสัยนี่แน่นอน และคุณวิชัยถามเพื่อที่จะได้ฟังความเห็นของคุณสุรีย์ว่าคุณสุรีย์เข้าใจอย่างไร ความสงสัยในอดีตกับความสงสัยในอนาคตเหมือนกันหรือไม่ อดีตเป็นขันธ์หรือไม่ อนาคตเป็นขันธ์หรือไม่ ขณะนี้เป็นขันธ์หรือไม่ ถ้าสงสัยในอดีต สงสัยในขันธ์หรือไม่ หมายความว่าเราจะพูดให้เข้าใจจริงๆ ในเรื่องความสงสัยเพราะว่าแสดงไว้ในอดีต ในอนาคต ทั้งในอดีต และอนาคตด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราพบในพยัญชนะอย่างนี้ แล้วเราจะเข้าใจอย่างไร ถ้าเป็นความคิดของเรา เราคิดเรื่องราว เกิดมาแล้วในชาติก่อน ชาติหน้า สงสัยในชาติก่อนชาติหน้า สงสัยได้ แต่ว่านั่นสงสัยเรื่อง ไม่ได้สงสัยในสภาพธรรม แต่ถ้าเราจะรู้ว่าถ้าไม่มีขันธ์ ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป เรื่องมีได้หรือไม่ ไม่ว่าจะชื่ออะไร จะชื่อพระเจ้ามหาสุทัศนะ จะชื่ออะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป เรื่องต่างๆ มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นความจริง จริงๆ ก็คือสภาพธรรม เมื่อไม่รู้จึงสงสัยในธรรม เช่น ขณะนี้ เราหรือจิต หรือเจตสิก หรือรูป ถ้าคนที่ไม่ได้ฟังเลย ก็เป็นเราแน่นอน รูปหรือเจตสิกหรือจิต ก็ไม่รู้ แต่ทั้งหมดนั่นคือเรา เพราะด้วยความไม่รู้จึงยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา จิตเป็นขันธ์หรือไม่ เจตสิกเป็นขันธ์หรือไม่ รูปเป็นขันธ์หรือไม่ สงสัยในขันธ์ หรือในเรื่องชื่อ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นเรื่องชื่อไม่สงสัยเลย คนนี้ไม่ใช่คนนั้น ท่านอนาถบิณฑิกะไม่ใช่ท่านพระสารีบุตรใช่หรือไม่ ชื่อนี่เราไม่สงสัย แต่ขันธ์สงสัยหรือไม่ มีลักษณะอย่างไรต่างกับท่านพระสารีบุตร ต่างกับท่านอนาถบิณฑิกะอย่างไร แต่ตามความเป็นจริงก็คือถ้าไม่มีสภาพธรรมชื่อต่างๆ ก็ไม่มี บุคคลต่างๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นความไม่รู้ ความสงสัยของเรา สงสัยในสภาพธรรม โดยเฉพาะที่ใช้คำว่าขันธ์ สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับอย่างเร็ว ไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมด้วยความเป็นตัวตน แต่ต้องด้วยปัญญาที่เจริญอบรม และคลายความไม่รู้ เมื่อคลายความไม่รู้ซึ่งปิดกั้นลักษณะที่แท้จริงของของสภาพธรรมในขณะนี้ ปัญญาจึงสามารถแทงตลอดประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ เพราะว่าสภาพธรรมเกิด และดับอย่างเร็วมาก ยับยั้งไม่ได้เลย เมื่อเกิดแล้วดับอย่างเร็ว ที่เหลือก็คือนิมิตของสังขาร ซึ่งจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้จะกล่าวว่าปัจจุบัน หรือจะกล่าวว่าในอดีต หรือจะกล่าวว่าอนาคต เพราะว่าปัจจุบันนี่สั้นมากเป็นอดีตไปแล้ว และอนาคตก็มาถึงแล้วด้วย ขณะที่ปัจจุบันหมดไป อนาคตก็มาถึง ก็เป็นปัจจุบันอีก เพราะฉะนั้นการสงสัยในขันธ์ ในอดีต ในอนาคต ก็คือในลักษณะที่ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็ทำให้สงสัยทุกอย่างซึ่งเป็นความจริงแม้แต่ปฏิจสมุปบาทหรืออริยสัจจะ

    ผู้ฟัง จิตนี้เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องมีปัจจัยเกิดด้วย จึงมีความสงสัยว่าสังขารธรรมที่ปรุงแต่งสภาพธรรมที่ให้ปรากฏกับปัจจัยทั้งหลายนั้นใช่อย่างเดียวกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า “ปัจจัย” มากมาย หมายความถึงสภาพธรรมซึ่งอุปถัมถ์หรือทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจะเกิดโดยที่ไม่มีปัจจัยไม่ได้เลย เพราะว่าปัจจัยเป็นสภาพธรรมที่อุปถัมภ์หรือทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นปัจจัยก็คือสภาพธรรมนั้นเอง โดยทั่วไปเราจะรู้ได้ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แต่เราไม่รู้ปัจจัยนั้น เช่น ขณะเห็น ทรงแสดงว่า "จิตเห็น"ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เกิดได้เลย แต่ "จิตเห็น" ก็มีเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้น คือกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้ขณะนี้ "จิตเห็น" เกิดขึ้นเห็น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้รู้สามารถที่จะรู้ถึงปัจจัยที่จะทำให้"จิตเห็น"ในขณะนี้เกิด แต่ผู้ไม่รู้จะไม่รู้เลยว่า"จิตเห็น"ที่เกิดในขณะนี้เกิดเพราะมีปัจจัยอะไรบ้าง

    ปัจจัยที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดมี ๒๔ ปัจจัย โดยมากก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน แต่สภาพที่เป็นบัญญัติจะเป็นปัจจัยโดยประการเดียวคือเป็นอารัมมณปัจจัย นอกจากนั้นแล้วก็เป็นสภาพธรรมทั้งนั้นที่เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดขึ้น เช่น ในขณะนี้กรรมทำให้จักขุปสาทรูปเกิด ซึ่งเราก็ไม่รู้อีก เราเกิดมาก็มีตาแล้ว แม้เกิดก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แม้จักขุปสาทเกิดก็ไม่รู้ว่าเกิดได้อย่างไร แต่ก็มีกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิด ซึ่งบางคนถ้ามีเจตนาที่จะประทุษร้ายคนอื่นเพื่อไม่ให้จักขุปสาทรูปเกิด ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตที่มีกำลังที่ได้กระทำกรรมแล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่เป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิด เพราะต้องการไม่ให้จักขุปสาทรูปเกิด

    เพราะฉะนั้นการกระทำใดๆ ที่เราคิดว่าเราทำกับคนอื่น ความจริงขณะนั้นเป็นอกุศลของเราเอง เมื่อเกิดแล้วไม่ไปไหนเลย เพราะว่าสภาพของจิตเกิดแล้วก็ดับไป แต่การดับของจิตขณะที่ดับไปนั้นก็เป็นอนันตรปัจจัย ทำให้จิต และเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงปัจจัยนี้ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าจิตขณะหนึ่งดับ แต่ว่าอะไรมีอยู่ในจิตนั้นซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดก็สืบต่อสะสมเป็นอุปนิสัยหรืออุปนิสสยปัจจัย เพราะฉะนั้นทุกอย่างแม้แต่เจตนาที่ไม่ต้องการที่จะให้คนอื่นมีตา จึงทำการเบียดเบียนเขา ขณะนั้นก็เป็นการสะสมของความต้องการที่จะไม่ให้มีจักขุปสาทรูปเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เมื่อเป็นผลของกรรมนั้น ผู้นั้นก็ไม่มีจักขุปสาทรูป เราก็ไม่รู้เลยว่า เหตุใดบางคนมีจักขุปสาทรูป เหตุใดบางคนไม่มีจักขุปสาทรูป และเมื่อมีจักขุปสาทรูปแล้วก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นเหมือนกัน แล้วแต่ว่ากรรมของใครเป็นปัจจัย เป็นผลของกุศลกรรมเมื่อไร ก็เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ นี่ก็คือความหมายของปัจจัยซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะปัจจัยเดียว

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่สามารถที่จะเข้าใจปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือทุกๆ ปัจจัยได้ทั้งหมด ก็ยังเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งได้ อยู่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องทราบว่าสังขารขันธ์ได้แก่อะไร ทุกครั้งที่จะกล่าวถึงคำไหน ไม่ใช่กล่าวลอยๆ แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ว่านามธรรมก็ได้แก่จิต และเจตสิก รูปธรรมเป็นสังขารขันธ์หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตเป็นสังขารขันธ์หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นสังขารขันธฺ์

    ผู้ถาม. เจตสิกที่เหลือ

    ท่านอาจารย์ เจตสิก ๕๐ ประเภท เว้นเวทนาเจตสิกกับสัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นสังขารขันธ์หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจเกิดขึ้น จิตที่มีความเข้าใจเกิดร่วมด้วยดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ความเข้าใจนั้นไม่ได้สูญหายไปไหนเลย แต่สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังอีก ความเข้าใจที่ฟังครั้งหลังๆ ก็จึงเพิ่มขึ้นจากการเข้าใจครั้งแรก ด้วยเหตุนี้เมื่อปัญญาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ที่สะสมไว้ก็ปรุงแต่งทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ เพราะเหตุว่าเราศึกษาธรรม เราจะทราบได้ว่าเรารู้จักชื่อ เรารู้จักเรื่องของธรรม แต่เราไม่ได้รู้จักตัวจริงของธรรม อวิชชาอยู่ที่ไหน อยู่ที่ไม่เห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่สามารถที่จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราพอใจในขณะนี้คืออะไร เป็นรูปธรรมที่เป็นอัสสาทะคือแช่มชื่นทำให้เกิดโสมนัส เราก็ไม่รู้เลย แต่เราก็มีความติดข้องในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ไม่ใช่ว่าเราต้องไปรู้ชื่อว่านี่เรียกว่าอะไร นั่นเรียกว่าอะไร แต่มีความเข้าใจถูกต้องว่าขณะนี้เราฟังธรรมเพื่อจะเข้าใจสิ่งที่มีตั้งแต่เกิดโดยไม่รู้ ไม่สามารถจะรู้ได้ถ้าไม่ฟัง แต่เมื่อฟังแล้วเริ่มมีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีแล้ว และกำลังมีในขณะนี้ และจะมีต่อไป นี่คือสังขารขันธ์ที่จะสืบต่อไป แล้วก็ทำให้เราสามารถที่จะรู้ความต่างของปัญญาระดับที่เพียงฟัง สามารถที่จะอ่านออก แปลได้ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามที่ได้ทรงแสดง เพราะว่าอาจจะมีความเข้าใจในพยัญชนะที่อาจจะมีความหมายไม่ตรงกับสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่าคำหนึ่งๆ ก็มีความหมายหลายอย่าง แล้วแต่ว่าความเข้าใจจะตรงกับความหมายของสภาพธรรมหรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบได้ว่าอวิชชาไม่ได้ไกลไปไหนเลยไม่ได้ไกลตัว ทำไมเรามีอกุศลมากมายโดยไม่รู้ตัวด้วย เพราะไม่รู้ ซึ่งก็ไม่รู้ และก็ไม่รู้ต่อไปเรื่อยๆ ก็เต็มไปด้วยความไม่รู้นั่นเอง แต่เมื่อฟังแล้วก็เริ่มมีความเข้าใจขั้นการฟังจากการที่ไม่เคยฟังมาก่อน แต่อวิชชายังมีตราบใดก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นต้องรู้จุดประสงค์ การฟังแต่ละชาติเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา ทั้งหมดเพื่อดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ถามว่า กำลังคิดเป็นเราหรือไม่

    ผู้ถาม. เป็น

    ท่านอาจารย์ คิดเป็นเราหรือ ปรมัตถธรรมมีอะไรบ้าง

    ผู้ถาม จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังคิดเป็นอะไร

    ผู้ฟัง กำลังคิดก็เป็นตัวเราคิด

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    ท่านอาจารย์ นอกจากปรมัตถธรรมมีอะไรอีกหรือไม่ มีเราอีกต่างหากหรือไม่ ไม่มีใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังคิด อะไรคิด

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต เจตสิก ต้องค่อยๆ เข้าใจจนกว่าจะสามารถรู้ลักษณะของจิต เพราะขณะนี้พูดเรื่องจิต ทั้งๆ ที่จิตก็กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดเกิดดับ แต่ไม่รู้ลักษณะของจิตเหล่านั้นเลย เพราะฉะนั้นฟังจนกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้ปัญญาอีกขั้นหนึ่งเกิดพร้อมสติสัมปชัญญะๆ ไม่ต้องกลัวสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องคิดว่าอีกนานแสนนานเราจะมีสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การฟังขณะใดค่อยๆ สะสม ถ้าเข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะแล้วก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิดได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจสติสัมปชัญญะ แล้วจะไปทำให้สติสัมปชัญญะเกิดก็เป็นไปไม่ได้เลย และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดก็ไม่ใช่เราอีก ใช้ชื่อตรงเลย "สติสัมปชัญญะ" แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ทั้งหมดก็คือให้รู้ความจริงว่าเป็นธรรม จนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเราได้

    ผู้ฟัง จากการศึกษา และการฟังพระธรรม ทำให้เราพอจะทราบได้ว่าลักษณะจิตประเภทนี้ที่เกิดกับเราในขณะนี้เป็นอกุศลจิต แต่ก็ยังไม่ใช่ลักษณะของปรมัตถธรรมที่แท้จริง

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นการคิดนึกเรื่องสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะนี้ก็คิด จิตกำลังเห็นก็คิดแล้ว จิตกำลังเห็น แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เห็น สภาพเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ ธาตุเห็น ไม่ได้รู้ลักษณะนั้นเลย เพราะฉะนั้นการฟังด้วยดี ก็จะทำให้เข้าใจจริงๆ ว่าถ้าไม่มีความรู้ขั้นฟังเป็นขั้นต้นอย่างถูกต้อง การที่สติสัมปชัญญะจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจะฟังอย่างไรก็ตาม ควรที่จะได้เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะ มิฉะนั้นการเรียนของเราทั้งหมดจะเป็นการจำเพียงชื่อไปทุกชาติเลย และการจำชื่อก็เหมือนกับการศึกษาเรื่องใดๆ ก็เป็นเพียงชื่อเท่านั้น วิชาการอื่น ทั้งหมดเป็นบัญญัติเป็นเรื่องราวเป็นชื่อ เพราะเหตุว่าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดดับที่ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ทุกคนก็เห็นว่าเราชอบอะไรใช่หรือไม่ เมื่อครู่นี้ก็รับประทานขนมอร่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นเกิดดับ "อาทีนวะ" คือโทษของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด โทษของกามที่เราพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะไม่รู้ความจริงว่าสิ่งนั้นเกิดแล้วดับ ขอกล่าวถึงเรื่องที่ค่อยๆ ไตร่ตรองเพื่อให้เข้าใจว่าสภาพธรรมเกิดดับ เพราะมีปัจจัยเกิดแล้วต้องดับ ที่เกิดแล้วไม่ดับไม่มี ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาพธรรมนั้นที่เกิดแล้วดับจริงหรือไม่ ต้องจริง เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ไม่ปรากฏแต่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดหรือไม่ เกิด แล้วดับหรือไม่ ดับ แต่ไม่ปรากฏ แล้วสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็มีปัจจัยปรุงแต่งปรากฏแล้วดับหรือไม่ ทั้ง ๒ อย่างนี้จะต่างกันอย่างไร สิ่งที่ไม่ปรากฏแต่เกิดดับก็ไม่เป็นที่ตั้งของความติดข้อง แต่สิ่งใดก็ตามที่เกิดปรากฏเป็นที่ตั้งของความติดข้อง และเราจะเห็นไหมว่าเสมอกัน เพราะสิ่งที่ปรากฏมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สิ่งที่ไม่ปรากฏมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นการเกิดแล้วก็ไม่รู้ความจริงมีโทษแค่ไหน ทำให้ติดข้องตลอดไปในสังสารวัฏฏ์ กว่าจะรู้ความจริงที่จะละเพราะไม่มีใครสามารถที่จะละโดยไม่รู้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เราละ ไม่มีเรา เป็นธาตุหรือเป็นธรรม คือ จิต เจตสิก ที่เป็นนามธรรม จึงสามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจากขั้นการฟัง การเข้าใจ และการที่สติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง สภาพธรรมเพียงเกิด ระลึก แล้วก็ดับ

    ท่านอาจารย์ สำหรับสภาพธรรมไหน

    ผู้ฟัง ที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมไหนระลึก

    ผู้ฟัง สติเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องรู้ด้วยว่าสภาพธรรมอย่างไหนก็เป็นอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ทำกิจอย่างนั้น จะไม่สับสนกันเลย สภาพธรรมที่เป็นเอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์แต่ไม่ใช่สติเจตสิก เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวว่าสภาพที่ระลึก ขณะนั้นถ้าเป็นกุศล ก็เป็นสติเจตสิก แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจก็จะสับสนกับอกุศลที่เป็นวิตกเจตสิก เพราะว่าวิตกเจตสิกก็คิด บางคนก็เข้าใจว่าขณะที่คิดก็คิดเรื่องอะไรก็ได้ ระลึกทรงจำเรื่องอะไรก็ได้ เพราะมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ลักษณะความคิดที่ไม่ใช่สติเจตสิกก็คิดเป็นอกุศลได้ ในขณะที่กุศลจิตเกิดก็มีทั้งสติเจตสิก และมีวิตกเจตสิกด้วย นี่คือความละเอียดที่จะเห็นได้ว่าเพียงหนึ่งขณะจิตเราไม่รู้อะไรบ้าง แต่เหตุที่เราเรียน เรารู้เพื่ออะไร เพื่อค่อยๆ สะสมความเห็นถูกว่าไม่มีเราเลยสักขณะเดียว เป็นสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วมากในขณะนี้ไม่มีใครสามารถจะยับยั้งได้เลย เกิดดับสืบต่อเร็วอย่างนี้ ไม่ปรากฏการเกิดดับเลย จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก็จะเข้าใจความหมายที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก แม้แต่คำว่า “ขันธ์” ก็สามารถที่จะเข้าใจเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด

    ผู้ฟัง เห็นแล้วก็คิด หรือในขณะที่พูดหรือสนทนาต่างๆ ก็ตามเป็นความคิดที่เกิดขึ้นซึ่งจะต่างกับในขณะที่นอนหลับแล้วก็ฝันซึ่งขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ความคิดนึกก็มี ความคิดทั้ง ๒ ลักษณะนี้มีความต่างกันอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ เราใช้คำว่า “ฝัน” แต่ว่าการที่จิตจะรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่ภวังคจิตเพราะว่าภวังคจิตไม่มีอารมณ์ที่ปรากฏเลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567